ป้อมปราการแห่งพูนาคา (Punakha Dzong) ประเทศภูฏานก่อนจะเดินทางมาเยือนภูฏาน หลายคนบอกฉันว่า พูนาคาสวยที่สุดในช่วงที่ดอกศรีตรัง หรือ Jacaranda ออกดอกสะพรั่ง ออกกลีบดอกสีม่วงจัดรับฤดูใบไม้ผลิในเดือนพฤษภาคม แข่งกับสีขาวของแนวกำแพงปราการที่น่าเกรงขามของพูนาคา ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิทัศน์ที่สวยงาม …
ฉันเองอยากจะเห็นพูนาคาในช่วงดอกไม้สวยมาก แต่ยังน้อยกว่าความอยากเห็นเมืองที่งดงามแห่งนี้ในช่วงที่มีงานประเพณีประจำปีที่จะจัดขึ้นที่ซองก์ที่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดในภูฏานแห่งนี้ จึงเลือกที่จะเดินทางไปเยือนภูฏานในต้นเดือนมีนาคม
พูนาคาซอง หรือป้อมปราการแห่งพูนาคา เป็นซองก์เก่าแก่แห่งที่ 2 ของภูฏาน มีชื่อเต็มๆว่า Pungthang Dechen Phodrang ซึ่งมีความหมายว่า “พระราชวังแห่งความสุขสำราญ” เป็นที่ประทับของพระสังฆราชในฤดู หนาว เนื่องจากพูนาคามีอากาศไม่หนาวเย็นจนเกินไป ด้วยเหตุที่เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บน พื้นที่สูงเพียง 1,468 เมตร เท่านั้นเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ที่นี่จึงมีอากาศอบอุ่นกว่า
ในสมัยโบราณป้อมแห่งนี้มีความสูงเพียง 1,350 เมตร จนค่อยๆเริ่มเกิดชุมขนเป็นหมู่บ้านและโรงเรียนมัธยม … ถึงแม้ว่าพูนาคาจะเป็นเมืองเล็กๆ แต่กลับมีบทบาทสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของภูฏาน เพราะที่นี่เคยเป็นเมืองหลวงในช่วงฤดูหนาวมานานถึง 300 ปี
ท่านซับดรุง งาวัง นัมเกล ดำริให้สร้างพูนาคาขึ้นในปี พ.ศ.2180 โดยก่อนหน้านี้มีวัดที่ท่านงากี รินเซ็น ได้สร้างขึ้นไว้ก่อนแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.1871 ปัจจุบันจึงกลายเป็นป้อมเล็กและป้อมใหญ่หันหน้าเข้าหากัน ในอดีตท่านคุรุรินโปเชเคยเสด็จมาที่นี่ และพยากรณ์ไว้ว่า “บนขุนเขาด้านที่มีสัณฐานประดุจงวงช้าง บุรุษผู้มีนามว่า นัมเกล จะมาที่นี่”
มีตำนานที่เล่าขานกันอักว่า ท่านซับดรุง งาวัง นัมเกล ซึ่งเป็นพระลามะแห่งสำนักมังกรในทิเบต ภายหลับเหตุการณ์แย่งชิงเจ้าสำนักกัน ท่านได้หนีการปองร้ายมาลงมายังดิแดนตอนใต้ของทิเบต ซึ่งคือแผ่นดินภูฏานในปัจจุบัน
ข้าศึกล่าล่ามาทันที่จุดบรรจบกันของแม่น้ำโมกับแม่น้ำโพ ท่านจึงแสร้งทิ้งอัฐิของพระอาจารย์ใหญ่แห่งสำนักมังกรที่ท่านนำติดตัวมาด้วย อัฐิธาตุนี้ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนปรารถนา ทหารฝ่ายศัตรูจึงพากันงมหาในแม่น้ำ แต่ต้องล้มตายด้วยความหนาวและถูกทหารของท่านซับดรุงฯสังหารไปเป็นจำนวนมาก ที่หลงเหลือรอดชีวิตก็หนีกลับทิเบตกันหมด …
ชัยชนะครั้งนั้น ทำให้ท่านซับดรุงฯสร้างพูนาคาซองก์ ณ จุดบรรจบกันของทั้งสองลำน้ำนั่นเอง … พูนาคา จึงถือเป็นราชธานีแรก และเป็นสัญลักษณ์แห่งการสร้างชาติของชาวภูฏาน
นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ประวัติศาตร์เกิดขึ้นที่นี่หลายครั้ง เช่นในปี 1907 ใช้เป็นสถานที่จัดราชาภิเษกกษัตริย์องค์แรกของภูฏาน คือ สมเด็จพระราชาธิบดีที่ 1 อูเก็น วังชุก (Ugyen Wangchuck)
ในปี 1910 ใช้เป็นสถานที่ลงนามสนธิสัญญาพูนาคาระหว่างภูฏานกับอังกฤษ ว่าด้วยนโยบายต่างประเทศที่ภูฏานยอมรับการดำเนินนโยบายตามแนวทางอังกฤษ ในขณะที่อังกฤษต้องไม่ก้าวก่ายกิจการภายในของภูฏานเช่นกัน
ปี 1988 ใช้เป็นที่ประกอบพิธีอภิเษกสมรสของสมเด็จพระราชาธิบดีที่ 4 จิกมี ซิงเย วังชุก (Jigme Singye Wangchuck) โดยใช้พท้นที่ของวัดเดโชะ ซึ่งเป็นวัดหลวงที่ตั้งอยู่ในพูนาคา ซองก์
ท่านซับดรุง งาวัง นัมเกล ได้ใช้ป้อมแห่งนี้เป็นเมืองหลวงในช่วงฤดูหนาว เพราะเป็นเขตพื้นที่ต่ำกว่าเขตอื่นในภูฏาน ในช่วงฤดูหนาวฝ่ายบริหารของภูฏานจึงย้ายจากเมืองทิมพูมายังพูนาคาเป็นประจำทุกปี
ในช่วงฤดูหนาว ด้านหน้าของปูนาคาซองจะเป็นจุดที่แม่น้ำโพ (Po Chu) และแม่น้ำโม (Mo Chu) ซึ่งหมายถึง แม่น้ำพ่อ และแม่น้ำแม่ ตัวแทนของชายและหญิงไหลมาบรรจบกันพอดี เหมือนโอบกอดพูนาคาซองก์เอาไว้แนบแน่น
พูนาคาซองมีขนาดกว้าง 180 เมตร ยาว 72 เมตร มีหอกลางสูง 6 ชั้น ลักษณะรูปทรงคล้ายเรือลำใหญ่ ส่วนของโดมทองของพูนาคาสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2219 และเต็มไปด้วยจิตวิญญาณทางศาสนาและร่องรอยทางวัฒนธรรม
มีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำทั้งสองในระหว่างช่วงปี พ.ศ.2463-2473 แต่ก็มาถูกน้ำท่วมพังทลายเสียหายในภายหลัง ปัจจุบันได้มีการสร้างสะพานไม้ขนาดใหญ่ที่ทอดตัวข้ามสายน้ำไปสู่ตัวป้อมปราการขึ้นมาทดแทน ซึ่งไม่ใช่การป้องกันข้าศึกอีกต่อไป แต่เป็นการเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวจากแดนไกล
พูนาคา ซองก์ ประสบภัยธรรมชาติหลายครั้ง โดยเป็นภัยจากไฟไหม้ 6 ครั้ง จากแผ่นดินไหว 1 ครั้ง และจากน้ำท่วม 2 ครั้ง ในปี 1960 cละ 1994 เนื่องจากธารน้ำแข็งถล่มมาตามแม่น้ำโพ ไหลเข้าท่วมเมืองพูนาคา รวมทั้งซองก์แห่งนี้ด้วย ซึ่งในแต่ละครั้งสร้างความเสียหายใหญ่หลวง รวมถึงเอกสารทางประวัติศาสตร์มากมายที่สูญหายไปด้วย
ป้อมแห่งนี้ได้สร้างถูกขึ้นใหม่โดยพระราชดำริของพระมหากษัตริย์องค์ที่ 4 ได้นำช่างที่มีฝีมือเฉพาะด้านของประเทศ กว่า 1,000 คน และใช้เวลา 12 ปี จึงสร้างเสร็จ และได้เฉลิมฉลองเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2003
มีการอัญเชิญพระพุทธรูปรันจุงกัรชาปานี จากอารามราลุงในทิเบตขึ้นประดิษฐานไว้ โดยมีความเชื่อกันว่า พระพุทธรูปรันจุงกัรชาปานี คือรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่ศักดิ์สิทธิ์มาก จึงมีผู้คนที่มาเยือนพูนาคาซองเข้ามากราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พร้อมกับเยี่ยมชมศูนย์กลางการบริหารประเทศ
สถาปัตยกรรมของซองก์แห่งนี้จึงเต็มไปด้วยลวดลายและสีสัน เป็นการผสมผสานศิลปะของจีนและอินเดียเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เล่าขานถึงผู้พิทักษ์สี่ทิศ คือ นำโดซ (Numthose) กษัตริย์สีทองแห่งทิศเหนือ แภคซีโป (Phagchepo) กษัตริย์สีฟ้าแห่งทิศใต้ ยูลคอซุง (Yulkhorsung) กษัตริย์สีขาวแห่งทิศตะวันออก และเซนมิเซง (Chenmizang) กษัตริย์สีแดงแห่งทิศตะวันตก
นอกจากนี้ในส่วนที่สองของซองก์ ซึ่งอยู่ด้านหลัง เป็นส่วนสังฆาวาส ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่อนุญาตให้มีการบันทึกภาพด้านในของอาคาร … ส่วนนี้จะประกอบไปด้วยโบสถ์วิหาร 21 แห่ง
มีวิหารบูชาเทพจักรสัมวระในนิกายตันตระที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2526 รวมถึงงานศิลปะสวนงามที่ฝากไว้บนเสาวิหาร ภาพจิตรกรรมบนผนัง พระพุทธรูปดินเหนียว และรูปปั้นท่านซับดรุง งาวัง นัมเกล ที่เป็นงานฝีมือประณีตที่ช่างชาวภูฏานบรรจงสร้างสรรค์ออกมาเพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเคารพบูชา
หออุตเสะ เป็นที่เก็บรักษาประติมากรรมรูปพะโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสี่กรอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวภูฏานเรียกว่า เซ็นเรซิก (Chenrezig) และพระบรมสารีริกธาตุของพระศากยมุนีพุทธเจ้า
ที่สำคัญคือ ป้อมปราการแห่งนี้ ยังเป็นสถานที่จัดงานพระราชพิธีอภิเษกสมรส สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน กับ นางสาวเจตซุน เปมา ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นพระราชินีองค์ใหม่ แห่งราชอาณาจักรภูฏาน
ส่วนสังฆาวาสนี้ เป็นสถานที่ที่บรรดาพระนักบวชใช้เป็นที่ศึกษาพระธรรมวินัย … ในวันที่เราไปเยือนเห็นพระหนุ่มในจีวรสีเลือดนกมารวมกันในอาราม มีพระชั้นผู้ใหญ่นั่งบนอาสนะ เข้าใจว่าเป็นการทำกิจวัตรของสงฆ์
ส่วนสำคัญอยูที่บริเวณลานด้านใต้ ซึ่งเป็นอาคารที่เก็บสังขารศักดิ์สิทธิ์ของท่านซับดรุง นาวัง นัมเกล บุคคลสำคัญแห่งภูฏานผู้สร้างซองก์แห่งนี้ขึ้นมา
เราเห็นชาวภูฏานหลายคนสักการะอย่างนอบน้อมจากภายนอกอาคาร ที่นี่มีเพียงกษัตราธิราชเท่านั้นที่ผ่านเข้าไปได้ พูนาคาซองก์มีความสำคัญยิ่ง เพราะกษัตริย์ทุกพระองค์ต้องเสด็จฯมารับผ้าคล้องพระศอจากสังขารของท่านซับดรุงนี้ในพิธีราชาภิเษกสมรส
จาก
http://www.oknation.net/blog/Supawan/2012/05/08/entry-2