ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมบันเทิง : Big Hero 6 เป็นฮีโร่ต้อง “อดทน” ต่อกิเลส  (อ่าน 1081 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด




<a href="https://www.youtube.com/v/z3biFxZIJOQ" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/z3biFxZIJOQ</a>

Big Hero 6 เป็นฮีโร่ต้อง “อดทน” ต่อกิเลส

แอนิเมชั่นจากค่ายดิสนีย์เรื่อง Big Hero 6 เกิดขึ้นในเมืองจากโลกจินตนาการ โดยเปิดเรื่องที่สังเวียนใต้ดินของการประลองหุ่นยนต์ ที่เหล่านักเล่นหุ่นยนต์บังคับมือสมัครเล่นมาลงสนาม ประลองความเก่งกาจหุ่นยนต์ของตน
       
       “ฮิโระ ฮามาดะ” เด็กหนุ่มวัย 14 ปี ก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาลงสนามพร้อมหุ่นยนต์ตัวจิ๋ว หน้าตาตลก ต่างจากหุ่นยนต์สง่างามของจิ๊กโก๋เจ้าถิ่น แต่ทว่ารูปลักษณ์ภายนอกไม่สามารถบอกความสามารถภายในได้ เพราะผลการแข่งขันปรากฏว่า หุ่นหน้าตาตลกของฮิโระ เฉือนหุ่นยักษ์ของเจ้าถิ่นไปแบบเหนือชั้น
       
       ผลการแข่งขันที่พลิกความคาดหมาย ทำให้เหล่าขาใหญ่ในสังเวียนไม่พอใจฮิโระ แต่ “ทาดาชิ” พี่ชายของฮิโระก็ขับมอเตอร์ไซค์มาช่วยได้แบบหวุดหวิด
       
       ฉากเปิดของเรื่อง สื่อให้ผู้ชมเห็นว่า ฮิโระเป็นเด็กหนุ่มอัจฉริยะในการประดิษฐ์หุ่นยนต์ แต่ทว่าความสามารถของเขากลับใช้ไม่คุ้มค่า อาจเป็นเพราะเด็กชายขาดพ่อแม่ตั้งแต่เล็ก เขามีเพียงป้า และพี่ชายดูแล จึงใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อย ทาดาชิจึงพยายามฉุดน้องรัก ให้ออกมาเห็นมุมมองใหม่ของโลกเทคโนโลยี ที่ทำประโยชน์ได้มากกว่าการแข่งหุ่นยนต์ เพื่อความสนุก
       
       ทาดาชิพาฮิโระมาที่ห้องแลบของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นศูนย์ปฏิบัติการของเหล่านักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ที่มาทำงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ในเชิงสร้างสรรค์
       
       ฮิโระได้พบกับเพื่อนต่างวัย คือ “ฮันนี่ เลมอน” สาวนักเคมี ซึ่งคิดค้นวิธีเปลี่ยนสสารของวัตถุต่างๆ “โกโก้ ทามาโกะ” สาวห้าวผู้เป็นเลิศด้านวิศวกรรม และคิดค้นจักรยาน ที่มีล้อเป็นจานบินลอยได้ “วาซาบิ” หนุ่มผิวสี ผู้คิดค้นพลาสม่าในการตัดวัตถุต่างๆได้อย่างง่ายดาย รวมถึง “เฟรด” หนุ่มอารมณ์ดีมาดเซอร์ ที่ไม่ได้เป็นนักเรียนที่นั่น แต่ก็คลั่งไคล้หนังไซไฟ เทคโนโลยี และความรู้ ด้านวิทยาศาสตร์ไม่แพ้คนอื่น
       
       แต่ไฮไลท์ที่ทาดาชิภูมิใจนำเสนอน้องชาย คือ “เบย์แม็กซ์” หุ่นยนต์สีขาวร่างอวบอ้วน น่ารักน่ากอด และทำงานได้เป็นเลิศในการวิเคราะห์ประมวลผลด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่เขาคิดค้นขึ้นมาให้มีหน้าที่ช่วยรักษาและดูแลสุขภาพของมนุษย์
       
       ฮิโระได้เจอกับ “อาจารย์คัลลาแฮน” นักวิชาการชื่อดัง ผู้ดูแลศูนย์ฯ ซึ่งทาดาชิบอกน้องชายว่า ที่นี่ไม่จำกัดอายุในการเข้าเรียน ขอเพียงแค่ในงานแสดงเทคโนโลยีประจำปี ต้องนำเทคโนโลยีไปแสดงให้อาจารย์คัลลาแฮน และกรรมการคนอื่นๆ พอใจ ก็สามารถรับใบผ่านเข้าเรียนได้เลย
       
       ฮิโระจึงเกิดแรงบันดาลใจครั้งใหญ่ เขากลับบ้านพร้อมความหวังครั้งสำคัญ ทุ่มเทค้นคว้าหาข้อมูล สร้างนวัตกรรมใหม่ เตรียมนำเสนอภายในงานแสดงเทคโนโลยีที่กำลังใกล้เข้ามา
       
       และแล้ววันสำคัญก็มาถึง เทคโนโลยีที่เขาคิดค้นเพื่อนำเสนอคือ “ไมโครบอท” หุ่นยนต์ตัวจิ๋ว ที่ไม่ได้มีรูปร่างเป็นหุ่นยนต์ แต่เหมือนเป็นชิ้นส่วนขนาดเล็กของเครื่องกลอะไรสักอย่าง เขาผลิตไมโครบอทนับพันนับหมื่นชิ้น ควบคุมด้วยเครื่องสั่งการที่สวมไว้บนศีรษะ ให้ไมโครบอทเปลี่ยนแปลงรูปทรงได้ตามที่ต้องการ
       
       แล้วผลงานสุดล้ำอนาคตของฮิโระ ก็เรียกเสียงปรบมืออย่างกึกก้อง ได้รับการตอบรับจากอาจารย์คัลลาแฮน รวมทั้งคณะกรรมการคนอื่นๆ ขณะเดียวกัน “เครอิ” นักธุรกิจ ก็เข้ามาขอซื้อผลงานนั้น เพื่อนำไปต่อยอดด้านธุรกิจ แต่ฮิโระปฏิเสธ เพราะอยากให้นำไปพัฒนาต่อยอดในเชิงวิชาการมากกว่า สร้างความไม่พอใจให้เครอิพอสมควร
       
       ในคืนนั้นมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เมื่อภายในงานเกิดเพลิงไหม้ มีคนบอกว่าอาจารย์คัลลาแฮนติดอยู่ภายใน ทาดาชิจึงวิ่งเข้าไปช่วย ก่อนที่จะเกิดระเบิดขึ้นภายในอาคาร และนั่นก็ทำให้ฮิโระต้องสูญเสียพี่ชายไปตลอดกาล
       
       หลังเหตุการณ์เศร้าสลด ฮิโระรู้สึกหมดอาลัยตายอยากในชีวิต ไม่อยากไปเรียนต่อ ได้แต่เก็บตัวอยู่ในห้อง จนวันหนึ่งเบย์แม็กซ์ หุ่นยนต์ซึ่งเสมือนเป็นตัวแทนพี่ชาย เปิดระบบการทำงาน เพื่อเช็คสุขภาพของฮิโระ และพบว่าเขามีความทุกข์ใจ ดังนั้น เบย์แม็กซ์จึงพยายามปฏิบัติการต่างๆ เพื่อให้ฮิโระอารมณ์ดีขึ้น และนำไปสู่การค้นพบความลับบางอย่างว่า ไมโครบอทของฮิโระยังไม่หายไปไหน แต่ถูกซุกซ่อนไว้ในโกดังร้างแห่งหนึ่ง ซึ่งเมื่อฮิโระกับเบย์แม็กซ์ลอบเข้าไปดู จึงพบว่า มีชายลึกลับสวมหน้ากากควบคุมไมโครบอททั้งหมด และพยายามจะใช้มันทำร้ายผู้บุกรุก
       
       เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ฮิโระกับเพื่อนๆ ได้แก่ ฮันนี่ เลมอน, โกโก้ ทามาโกะ, วาซาบิ และเฟรด วิเคราะห์กันว่า เครอิน่าจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการลอบวางเพลิง และขโมยไมโครบอทไป
       
       เมื่อต้องต่อกรกับผู้ร้ายซึ่งใช้เครื่องมือที่เขาคิดค้น ฮิโระจึงต้องสร้างโปรแกรมเพิ่มเติมให้เบย์แม็กซ์ กลายเป็นหุ่นที่มีทักษะการต่อสู้ และพัฒนาผลงานของเพื่อนให้เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการป้องกันตัว และจัดการกับพวกวายร้าย
       
       เมื่อเหล่าฮีโร่ทั้ง 6 (วัยรุ่น 5 คน รวมกับหุ่นยนต์เบย์แม็กซ์) เผชิญหน้ากับชายสวมหน้ากาก ผู้ใช้ไมโครบอทเป็นอาวุธ ความลับก็ถูกเปิดเผยว่า จริงๆแล้วชายคนนั้นหาใช่เครอิ แต่เป็นอาจารย์คัลลาแฮน ที่อาฆาตแค้นเครอิ เพราะลูกสาวของเขา เคยเข้าร่วมโครงการด้านเทคโนโลยี แล้วเกิดความผิดพลาด หายสาบสูญไปในหลุมของกาลเวลา นักวิชาการคนดังจึงวางแผนวางเพลิง และขโมยไมโครบอท เพื่อแก้แค้นส่วนตัว และหากใครคิดขวางทาง คัลลาแฮนก็ถือว่านั่นคือศัตรู
       
       ครั้งแรกฮิโระมีความแค้นที่คัลลาแฮนมีส่วนทำให้พี่ชายของตนเสียชีวิต เขาจึงขาดสติ และตัดสินใจเปลี่ยนชิพปฏิบัติการของเบย์แม็กซ์ หวังจะให้มันทำร้ายคัลลาแฮน แต่คัลลาแฮนหลบหนีไปได้ ฮิโระจึงได้สติกลับคืนมาว่า เบย์แม็กซ์ คือ ตัวแทนของพี่ชายที่เขารัก ซึ่งสร้างมันขึ้นมา ด้วยความตั้งใจให้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ มิใช่ทำลายชีวิตผู้อื่น
       
       การปะทะกันในครั้งที่สอง ฮิโระกับผองเพื่อนจึงเปลี่ยนวิธีคิด และใช้ความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจกัน จนสามารถจับอาจารย์คัลลาแฮนส่งตำรวจได้ในที่สุด
       
       ข้อคิดที่โดดเด่นของภาพยนตร์เรื่อง Big Hero 6 มีให้เก็บเกี่ยวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรู้จักใช้ความสามารถให้เกิดประโยชน์ถูกทาง ความสามัคคีในการเอาชนะอุปสรรค เป็นต้น แต่มีหลักธรรมทางพุทธศาสนาข้อหนึ่ง ซึ่งทำให้เห็นภาพชัดว่า หากจะก้าวสู่การเป็นฮีโร่ที่แท้จริง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีหลักธรรมเรื่อง “ขันติ”
       
       ดังจะเห็นว่า เมื่อตัวเอกอย่างฮิโระ รู้ว่าคัลลาแฮนคือผู้อยู่เบื้องหลังเรื่องร้ายๆ และทำให้พี่ชายของตนต้องเสียชีวิต เขาได้ขาดสติไปชั่วครู่ จึงเปลี่ยนชิพประมวลผลของเบย์แม็กซ์ ให้กลายเป็นหุ่นยนต์พิฆาต ซึ่งหากเบย์แม็กซ์ทำร้ายคัลลาแฮนได้สำเร็จ นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ฮิโระจะกลายเป็น "ฮีโร่" เพราะเด็กหนุ่มจะไม่ต่างจากผู้ร้ายอีกคน ที่ใช้กำลังมากกว่าเหตุผล และตัดสินโทษผู้อื่นด้วยวิธีนอกกฎหมาย
       
       “ขันติ” ซึ่งหมายถึง ความอดทนอดกลั้น เป็นหนึ่งใน “ฆราวาสธรรม 4” และเป็นหนึ่งใน “มงคล 38 ประการ” ที่พึงน้อมนำมาใช้ในชีวิต และจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่คนเก่งคนมีความสามารถทุกคนพึงมี
       
       เพราะขันติมิได้หมายถึงความอดทนต่อความยากลำบากทางกายเท่านั้น หากรวมถึงการอดทนอดกลั้นต่อกิเลสทั้งปวง เช่น อดทนต่อคำดุด่า อดทนต่อความโกรธ อดทนต่อความเกรี้ยวกราดที่จะไม่ทำให้ผู้อื่นเสียใจ และมีความแจ่มใสอยู่เป็นนิตย์
       
       ดังนี้แล้ว หากใครมีขันติอยู่ในใจ ย่อมลดการวิวาท ความขัดแย้งกับผู้อื่นได้อย่างเห็นผล ขณะเดียวกันบุคคลใดหากมีความสามารถ มีอำนาจเหนือผู้อื่น เมื่อใช้หลักขันติพ่วงเข้าไปเป็นหลักธรรม ในการดำเนินชีวิต บุคคลนั้นย่อมควรค่าแก่การยกย่องให้เป็นฮีโร่ตัวจริง
       
       (จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 170 กุมภาพันธ์ 2558 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)

จาก http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9580000012906
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...