ผู้เขียน หัวข้อ: ทำไมฉันไม่อาจเป็น “ซูชิ” ?? สารคดีมุมมองต่อการแบ่งแยก “ซุนนี-ชีอะห์”  (อ่าน 1117 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


สารคดีใหม่โดยผู้กำกับชาวอังกฤษ-อิรัก “ฮูดา ยะห์ยา อัลซูดานี” (Hoda Yahya Elsoudani) เกี่ยวกับการแบ่งแยกทางนิกายระหว่างซุนนี-ชีอะห์ (Sunni-Shia) จากมุมมองของเด็กหญิงสองพี่น้อง

เสียงรอบตัวพวกเขาดังขึ้นอื้ออึงและทั้งฉุนเฉียว สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้เด็กหญิงสองคนต้องออกจากสวนสาธารณะแห่งนั้น

นี่ไม่ใช่เป็นการทะเลาะกันธรรมดาๆ ในสนามเด็กเล่น แต่เป็นการถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนในหมู่ผู้ใหญ่ ที่ถูกจุดประกายโดยสองสาวเอง

เด็กหญิงทั้งสองชื่อ “นิมาห์” อายุ 10 ปี และ “โซเฟีย” อายุ 8 ปี  ที่ได้มีส่วนร่วมในสารคดี เรื่อง “ทำไมฉันจึงไม่สามารถเป็นซูชิ? (Why Can’t I be a Sushi?) “ซูชิ” ในบริบทนี้ไม่ได้หมายถึงอาหารญี่ปุ่นยอดนิยม แต่เป็นการนำศัพท์ 2 คำมารวมกัน คือคำว่า ซุนนี (Sunni) กับ ชีอะห์ (Shia) ซึ่งเป็นชื่อของสองสำนักคิดที่ใหญ่ที่สุดของโลกอิสลาม

จากประชากรมุสลิมทั่วโลก ซุนนีมีประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ และชีอะห์มีประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ โดยความตึงเครียดเกี่ยวกับการแบ่งแยก (sectarian) ระหว่าง 2 ฝ่ายได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มันเป็นปรากฏการณ์ที่รุนแรงขึ้นจากผลพวงของสงคราม ความตึงเครียดทางการเมือง และกลยุทธ์ของภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง

เพื่อพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับความแตกแยกของซุนนี-ชีอะห์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง ผู้สร้างสารคดี “ฮูดา อัลซูดานี” จึงได้สำรวจค้นหาสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านเด็กหญิงสองคนที่เป็นดารานำในการวิจัยของเธอ

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งสองสาวเดินทางไปทั่วสหราชอาณาจักร ทั้งพูดคุยกับนักการศาสนา นักประวัติศาสตร์ และสมาชิกชุมชนเกี่ยวกับแนวคิดของพวกเขาในเรื่องการแบ่งแยกทางนิกาย นี่คือสิ่งที่นำพวกเขาให้ไปยังชุมชนสปีคเคอร์อคร์เนอร์, ไฮด์ปาร์ค สวนสาธารณะที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันสำหรับการอภิปรายสาธารณะปฏิกิริยาที่พวกเขาได้รับ (การโต้เถียงอย่างดุเดือด) ไม่เป็นที่แปลกใจสำหรับ ฮูดา อัลซูดานี ที่กล่าวว่า มันเป็นเรื่องที่ “คาดการณ์ไว้แล้ว” เมื่อยกประเด็นที่มีความอ่อนไหวในภาวะตึงเครียดในปัจจุบัน

<a href="https://www.youtube.com/v/6q6mvqr-cys" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/6q6mvqr-cys</a>


ทำด้วยใจรัก

สารคดีชิ้นนี้ ฮูดา อัลซูดานี ทำขึ้นมาด้วยใจรัก เธอเติบโตมาในสหราชอาณาจักร เป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ อายุ 30 ปี เกิดจากพ่อแม่ชาวอิรักที่เป็นผู้ลี้ภัยหนีจากสงคราม และเธอหลงไหลมาตลอดในประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์

อัลซุดานี ระบุตัวเองว่าเป็น “ซูชิ” (Sushi) สาเหตุไม่ใช่เพราะพ่อแม่คนหนึ่งเป็นซุนนีและอีกคนเป็นชีอะห์ เธอบอกว่าทั้งสองเป็น “มุสลิมเท่านั้น” แต่ในความรู้สึกเธอว่าไม่ต้องการที่จะถูกระบุว่าเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง

“ฉันเติบโตมาโดยไม่ได้เป็นนิกายใดหรือกลุ่มใดๆ แต่ทุกคนที่คุณพบเจอต้องการที่จะทำให้คุณอยู่ในกล่องใดกล่องหนึ่งหรือผลักไปอยู่อีกกล่องหนึ่ง ฉันต้องการที่จะเอาสิ่งที่ดีที่สุดจากทั้งสองฝ่าย และดังนั้นจึงระบุตัวเองว่าคือการรวมกันของทั้งสอง”


“ฮูดา ยะห์ยา อัลซูดานี” (Hoda Yahya Elsoudani) ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี เรื่อง “ทำไมฉันจึงไม่สามารถเป็นซูชิ? (Why Can’t I be a Sushi?)

นี่เป็นแนวคิด ที่เธอพูดว่า ชาวมุสลิมบางส่วนพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจและยอมรับได้  จุดหนึ่งในภาพยนตร์พบว่า ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ผู้ให้สัมภาษณ์บอกว่าคุณต้องเลือกตัวตนอย่างใดอย่างหนึ่ง และไม่สามารถเป็นทั้งสองได้ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ท้าทายแนวคิดของอัลซูดานีอย่างมาก

นอกจากนี้ในการเชื่อมต่อสู่ตัวบท อัลซูดานียังถูกกระตุ้นให้ขบคิดประเด็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนนี้ “หลังจากได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในที่ต่างๆ เช่น ในซาอุดิอาระเบีย ในเยเมน อิหร่าน อิรัก… มันเหมือนว่าทุกที่ที่คุณไป มีวิธีคิดที่มุ่งร้ายเกลียดชังสูงขึ้นต่อกลุ่มตรงกันข้าม ฉันไม่เข้าใจว่าทำไมจึงเป็นแบบนี้ ในคัมภีร์กุรอานกล่าวว่า ‘ไม่มีการบังคับในเรื่องศาสนา’ ดังนั้นเราคือใครที่จะไปบังคับให้คนอื่นเป็นซุนนีหรือชีอะห์?”


สองพี่น้อง “นิมาห์” อายุ 10 ปี และ “โซเฟีย” อายุ 8 ปี  กับ “ฮูดา ยะห์ยา อัลซูดานี” ผู้กำกับฯ

เทคนิคใหม่ในการสัมภาษณ์

เป็นที่รู้กันว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากเพียงใด แต่อัลซูดานีก็พบแนวทางใหม่ในการแก้ปัญหาโดยการใช้เด็กหญิงสองคนเป็นผู้เดินเรื่องสัมภาษณ์ในสารคดีของเธอ

คำพูดส่วนใหญ่ของเด็กทั้งสองเขียนสคริปต์โดยอัลซูดานี (เธอประมาณการว่าราว 90 เปอร์เซ็นต์) แต่ฝีปากและความน่ารักของเด็กหญิงทั้งสองเผยให้เห็นถึงระดับวุฒิภาวะและความเข้าใจได้ไกลกว่าอายุของพวกเธอมากนัก

เมื่อถูกถามว่าเธอเลือกนักแสดงนำอย่างไร อัลซูดานีอธิบายว่า ตอนแรกเธอวางแผนที่จะออดิชันเด็กๆ เพื่อมารับบทดังกล่าว แต่นิมาห์และโซเฟียเป็น 2 คนแรกที่เธอได้พูดคุยด้วยเกี่ยวกับโปรเจกต์นี้ ทั้งสองเป็นลูกของเพื่อนสนิท เธอบอกว่าเธอพูดได้ทันทีว่าพี่น้องทั้งสองเหมาะมากที่จะช่วยเธอสำรวจค้นหาในประเด็นนี้และเป็นนักแสดงนำในสารคดี

“พวกเขาน่าทึ่งจริงๆ” เธอบอกกับสำนักข่าวมิดเดิ้ลอีสต์อาย “ฉันไม่คิดว่า จะทำงานนี้ออกมาได้ดีอย่างนี้ถ้าทำกับคนอื่น”

เทคนิคการใช้เด็กเป็นผู้เดินเรื่องไม่เพียงแต่ช่วยทำลายอุปสรรคในการพูดคุยกับคนแปลกหน้าต่อประเด็นปัญหาความขัดแย้งทางนิกายที่ละเอียดอ่อน แต่ยังเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของประเด็นปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อเด็กหลายล้านคนทั่วโลกที่ต้องสับสนจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการแบ่งแยกทางนิกายดังกล่าว

ความจริงที่ว่า เมื่อพวกเขาพูดกับเด็กนั้นประหนึ่งว่าเป็นการสัมภาษณ์ที่ผ่อนคลาย ทำให้พวกเขาครุ่นคิดมากขึ้นทั้งอาจจะพูดน้อยลง และระมัดระวังกว่าเมื่อเทียบกับกับการที่พวกเขาพูดคุยปัญหานี้กับคนรุ่นราวคราวเดียวกัน


“นิมาห์” (ขวา) และ “โซเฟีย” (ซ้าย) ในภาพยนตร์สารคดี เรื่อง “ทำไมฉันจึงไม่สามารถเป็นซูชิ?

การให้น้ำหนักโดยผู้เชี่ยวชาญ

โรคระบาดที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีนี้ก็คือความเชื่อที่ว่าชีอะห์มักเป็นผู้บิดเบือน อัลซูดานีอธิบายว่า สารคดีนี้ได้ให้เวทีแก่พวกเขาที่จะชี้แจงเรื่องความเชื่อของพวกเขา ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดมุ่งหมายหลักของเธอ “ฉันมีเพื่อนชีอะห์มากมายและฉันก็รู้สึกว่าผู้คนมักตัดสินพวกเขาอย่างผิดๆ มีความเข้าใจผิดอย่างมากมายและท้าทาย ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดมุ่งหมายใหญ่ที่สุดของฉัน ฉันอยากจะบอกเล่าในสิ่งเหล่านี้ ซึ่งที่สุดอาจจะเป็นไปได้…แค่อาจจะเป็นไปได้…ที่มันอาจเป็นจุดเริ่มต้นเริ่มของการทำลายอุปสรรคบางอย่างระหว่างเราทุกคน”

ตอนหนึ่งของสารคดี บุคคลหนึ่งที่เด็กหญิงทั้งสองได้ไปสัมภาษณ์ก็คือ เชค มูฮัมหมัด ซาอีด บะห์มันพูร นักการศาสนาชีอะห์

เมื่อถูกถามเกี่ยวกับความแตกต่างของชีอะห์และการปฏิบัติบางอย่างของชีอะห์ เขายอมรับว่า “ในชีอะห์นั้นมีหลายภาคส่วน ใช่ เป็นเรื่องจริงที่ว่าประชาชนบางส่วนปฏิบัติในสิ่งที่ไม่ได้รับการอนุมัติโดยนักการศาสนาชีอะห์”

เขาอธิบายต่อไปว่า ในกลุ่มศาสนาทั้งหมด ชีอะห์นั้นก็ไม่ได้เหมือนเป็นเนื้อเดียวกัน และมีกลุ่มที่แตกต่างกันในความเชื่อของชีอะห์

“ชีอะห์มีหลายกลุ่มที่แตกต่างกัน เหมือนกับกลุ่มความเชื่อต่างๆ ที่มีแขนงสาขาออกไป ในชีอะห์เราก็มีหลายแขนงย่อย เรามีชีอะห์สิบสองอิมาม (Twelver Shias) เรามีอิสมาอีลียะห์ (Ismailis) เรามีซัยดียะห์ (Zayidis) เป็นต้น ซึ่งนี่เป็นกลุ่มที่แตกต่างกันของชีอะห์”

และแม้ในกลุ่มเหล่านั้น เขาอธิบายว่า “มีคนที่เป็นกลุ่มหัวรุนแรง มีคนที่เป็นคนสายกลาง มีคนที่ปฏิบัติตามศาสนบัญญัติและมีคนที่ไม่ปฏิบัติ ดังนั้นเราต้องไม่ตัดสินความเชื่อด้วยการปฏิบัติของพวกเขา เราต้องตัดสินความเชื่อโดยวิถีทางที่ถูกอธิบายโดยนักการศาสนาของแนวทางนั้นๆ”

เมื่อถูกถามจากเด็กหญิงว่าทำไมถึงต้องขึ้นป้ายว่าใครเป็นกลุ่มไหน ทำไมไม่แค่พูดเพียงอย่างเดียวว่าเป็น “มุสลิม” เขาตอบว่า “นั่นเป็นความคิดที่ดีมาก แต่มันเป็นไปไม่ได้ ด้วยในความเป็นจริงผู้คนมีความแตกต่างกัน และเมื่อมีผู้คนที่มีความแตกต่างกันพวกเขาต้องเคารพความแตกต่างของผู้อื่น”

เขาให้การเปรียบเทียบว่า คุณไม่สามารถที่จะเป็นมนุษย์โดยปราศจากความเป็นชายหรือหญิง คุณต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง  แต่ไม่ว่าเป็นอย่างใดคุณก็ยังคงเป็นมนุษย์

ที่น่าสนใจ บะห์มันพูร ระบุว่า “ชาวมุสลิมต่อสู้กันในชื่อของศาสนา … แต่ผมไม่คิดว่าเป็นการต่อสู้เกี่ยวกับเรื่องศาสนา การต่อสู้นั้นเป็นประเด็นทางการเมือง ซึ่งมักถูกปลุกปั่นให้เกิดขึ้นด้วยสิ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางศาสนาจริงๆ” การให้น้ำหนักเกี่ยวกับการเมืองนี้เสมือนว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการแบ่งแยกทางนิกายซึ่งเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในช่วงเวลาของสารคดีชิ้นนี้


เด็กหญิงทั้งสองได้ไปสัมภาษณ์ เชค มูฮัมหมัด ซาอีด บะห์มันพูร นักการศาสนาชีอะห์

จุดของความขัดแย้ง

แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ยังตะขิดตะขวงที่จะกล่าวถึงบางส่วนของประเด็นละเอียดอ่อนและจุดขัดแย้งสำคัญที่เป็นข้อโต้เถียงระหว่างสองสำนักคิด เช่นคำถามเรื่องของการสืบทอดตำแหน่งผู้นำหลังจากการเสียชีวิตของศาสดามูฮัมหมัด หรือการทำร้ายตัวเองโดยชีอะห์บางกลุ่ม (ที่ซุนนีส่วนมากคัดค้าน) แต่อัลซูดานีก็ได้ระบุความจริงที่ว่าปัญหาหนึ่งที่ดูเหมือนว่าจะมีการขับเคลื่อนตอกลิ่มความขัดแย้งมากขึ้นระหว่างสองกลุ่ม คือการปฏิบัติโดยชีอะห์บางกลุ่มในการด่าทอสาปแช่งซอฮาบะห์ (สหาย) และภรรยาของท่านศาสดามูฮัมหมัด ซึ่งนี่คือที่มาของการสร้างความเจ็บปวดและรวดร้าวให้กับซุนนีที่เทิดทูนบุคคลเหล่านั้นในระดับสูงอย่างมาก

เพื่อทำความเข้าใจในจุดนี้ เด็กหญิงได้ไปสัมภาษณ์เชค อารีฟ อับดุลฮุซเซน ผู้อำนวยการสถาบันอัลมะห์ดีในเบอร์มิงแฮม และถามเขาเกี่ยวกับความจริงว่า การสาปแช่งสหายและภรรยาของท่านศาสดาเป็นเรื่องที่ถูกกำหนดและอนุมัติตามหลักการของชีอะห์หรือไม่

“นี่เป็นความเชื่อที่ผิดและเป็นอุตริกรรม” เขาตอบ “การสาปแช่งจะทำให้คนยังคงเป็นมุสลิมอยู่ได้อย่างไร? … ถ้าการสาปแช่งนำมาซึ่งการนองเลือด ความเป็นอริ สงคราม ความเกลียดชัง แล้วทั้งหมดนี้มันจะเป็นไปได้อย่างไรที่จะเกี่ยวข้องกับศาสนาซึ่งระบุว่าการตัดสินควรเป็นเรื่องของพระเจ้า? ”

โซเฟียได้ถามว่า ถ้าการปฏิบัตินี้ซึ่งต่อมาเข้าใจได้ว่าเป็นเหตุของการแบ่งแยกระหว่างสองกลุ่ม เขาพูดว่า “ในปัจจุบันมีการปฏิบัติที่ได้กลายเป็นความเชื่อในทั้งสองนิกายที่เป็นสาเหตุของความขัดแย้งเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น ชีอะห์รู้สึกว่าพวกเขาอาจจะต้องหมิ่นประมาทซอฮาบะห์ (สหาย) และภรรยาของท่านศาสดา ซึ่งนั่นไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อของชีอะห์ อาลี (ลูกพี่ลูกน้องและลูกเขยของท่านศาสดา) เคารพซอฮาบะห์ วงศ์วานของเขาต่างก็เคารพภรรยาของท่านศาสดา”

สุดท้ายเมื่อถูกถามว่าเขาเชื่อในความเป็นไปได้ที่จะเกิดความสามัคคีในหมู่ชาวมุสลิม เขาตอบโดยไม่ลังเลว่า “แน่นอน…แน่นอน”


การแบ่งแยกทางการเมืองหรือศาสนา?

หลายคนที่ให้สัมภาษณ์ รวมทั้งนักการเมืองอังกฤษอย่าง จอร์จ กัลโลเว (George Galloway) ชี้ให้เห็นว่าความตึงเครียดนั้นเกี่ยวข้องกับการเมืองมากกว่าเรื่องของความแตกต่างทางศาสนา

กัลโลเวชี้ให้เห็นว่า การแต่งงานระหว่างชาวชีอะห์และชาวซุนนีเป็นเรื่องหนึ่งที่พบมากเป็นเรื่องธรรมดาในอิรักและซีเรีย และเป็นหลักฐานแห่งความเป็นจริงว่า ไม่เสมอไปที่ระหว่างสองกลุ่มจะต้องเป็นปฏิปักษ์ เขาแย้งว่า “ผู้ที่ต้องการที่จะทำลาย” ประเทศเช่นซีเรียและอิรักคือผู้ที่ก่อให้เกิดความแตกแยก

“คนนอกที่บุกอิรักและเข้ายึดครองประเทศนี้ จงใจขยายความแตกต่างระหว่างซุนนีและชีอะห์เพื่อผลประโยชน์ของตนเองในตอนจบ พวกเขาอยากให้ชาวอิรักแบ่งแยกออกจากกันเพื่อให้พวกเขาสามารถฉกฉวย … ขโมยน้ำมันของอิรัก ขโมยเงินของอิรัก มันเป็นความมั่งคั่งและมันเป็นอนาคต แน่นอนว่ามีความแตกต่างระหว่างซุนนีและชีอะห์ และเป็นเช่นนี้เสมอไป แต่ในอิรักผู้คนไม่เคยสู้รบกับคนอื่นๆ ด้วยเหตุเหล่านี้ ในความเป็นจริงมีการแต่งงานระหว่างซุนนีกับชีอะห์… มีความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวซึ่งกันและกัน เป็นเรื่องธรรมดาสามัญมากในอิรัก แต่น้อยลงมากในขณะนี้”

แกลโลเวยังยืนยันว่าสิ่งที่เหมือนกันได้เกิดขึ้นในซีเรียขณะนี้ “บรรดาผู้ที่ประสงค์จะทำลายซีเรียได้สร้างความตึงเครียดระหว่างซุนนีและชีอะห์หนักหน่วงมาก และพวกเขาหวังว่าโดยการแบ่งแยกชาวซีเรีย จะสามารถขโมยซีเรียไปจากชาวซีเรียได้”

ในทำนองที่คล้ายกัน ดร.อนัส อัลติกรีตี ( Dr Anas al-Tikriti)  ซีอีโอของมูลนิธิคอร์โดบา (Cordoba Foundation) เมื่อถูกถามว่าเขายอมรับว่าปัญหานี้เป็นปัญหาทางการเมืองมากกว่าทางศาสนาหรือไม่ ดร.อนัส กล่าวว่า “ผมคิดว่าความขัดแย้งส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างซุนนีและชีอะห์  หรือชาวมุสลิมและชาวคริสต์ หรือชาวมุสลิมและชาวยิว มันเป็นเรื่องการเมือง ไม่ใช่เรื่องศาสนา”

“ผู้คนชอบที่จะทำให้พวกเขามีลักษณะเหมือนพวกเขามีศาสนา เพราะเมื่อคุณบอกว่า ‘ข้อขัดแย้งของผมกับคุณเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา’ ผมก็จัดการให้ได้รับการสนับสนุนมากขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่… พวกเขาต้องการที่จะอยู่ในฝั่งของพระเจ้า ดังนั้นเมื่อคุณพูดว่าการต่อสู้ของผมนี้เป็นเรื่องศาสนา คนเป็นจำนวนมากก็จะมาร่วม … มันไม่เกี่ยวกับศาสนา มันเกี่ยวกับการเมืองในท้ายที่สุด “เขากล่าวเสริม



เด็กหญิงไปสัมภาษณ์นักการเมืองอังกฤษ จอร์จ กัลโลเว

ตัวอย่างของการอยู่ร่วมกัน

สารคดีจบลงด้วยการที่เด็กหญิงสองพี่น้องได้พบปะกับครอบครัวหนึ่งซึ่งภรรยาคือ ดร.ยุสรอ อัลมุคตาร์ (Dr Yusra Al-Mukhtar) ที่เป็นชีอะห์ และสามี อัลฮัสซัน ยาซีน ที่เป็นซุนนี เมื่อถูกถามว่า จะส่งผลอย่างไรกับลูกชายของพวกเขา ฝ่ายสามี ยาซีน ตอบว่า “ผมคิดว่ามันทำให้เขาเป็นมุสลิม ด้วยวิถีทางที่เราตกลงในการเลี้ยงดูเขา เราตัดสินใจว่าเราไม่ต้องการที่จะติดป้ายเขาให้เป็นสิ่งใดๆ”

เมื่อถามถึงวิถีชีวิตประจำวันของพวกเขา และความเชื่อที่แตกต่างกันของพวกเขาที่ชัดเจน พวกเขาตอบว่า “ความเหมือนนั้นมีมากกว่าความแตกต่าง”

โซเฟียน้องคนเล็กดูเหมือนโล่งใจที่ได้พบกับการมีอยู่ของความสามัคคีและความรักในครอบครัวที่มีศรัทธาผสมรวมกัน เธอกล่าวว่า “ในที่สุดเราก็สามารถนอนหลับอย่างสบายใจ เมื่อได้รู้ว่ามีครอบครัวแบบดังกล่าวอยู่”

จุดหนึ่งที่น่าสนใจในสารคดี คือการที่โซเฟียถามผู้คนครั้งแล้วครั้งเล่าว่า “อะไรที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้คนเป็นพวกหัวรุนแรง?” และแต่ละครั้งคำตอบก็จะวนเกี่ยวข้องอยู่กับ “การขาดการศึกษา”, “ความไม่รู้”, “ขาดปัญญา” และ “การขาดความเข้าใจ”


สองสาวน้อย พบปะกับครอบครัวที่สามีคือ อัลฮัสซัน ยาซีน เป็นซุนนี ขณะที่ภรรยา คือ ดร.ยุสรอ อัลมุคตาร์ เป็นชีอะห์

สายใยแห่งความรักและความเคารพคือสิ่งสำคัญ

เมื่อถูกถามว่า มุมมองใดของเธอเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลมาจากกระบวนการถ่ายทำสารคดีนี้ อัลซูดานีอธิบายว่า “ได้เห็นมุมมองที่สุดโต่งจริงๆ จากทั้งสองด้าน” แต่เธอยืนยันว่า “ฉันเชื่อว่าผู้คนมีสิทธิที่จะเป็นในสิ่งที่พวกเขาต้องการ และเราทั้งหมดสามารถที่จะกลมเกลียวกันทั้งๆ ที่เรามีความแตกต่าง ดังนั้น ไม่… มุมมองของฉันยังไม่ได้เปลี่ยนไป”

“ข้อความโดยรวมของฉัน คือการที่คุณควรจะสามารถปฏิบัติตามความศาสนาของคุณตามแต่ที่คุณต้องการ (ตามที่คุณเชื่อ) แต่คุณยังคงต้องมีสายใยของความรักและความเคารพระหว่างคุณและคนอื่นๆ ได้อย่างไรกันที่มุสลิมจำนวนมากสามารถอยู่ร่วมกับผู้คนจากกลุ่มผู้มีศรัทธาที่แตกต่างกัน แต่พอมาถึงผู้คนที่มาจากความเชื่อเดียวกับตัวเอง เพียงแค่มีความแตกต่างกันเล็กน้อย ทว่าพวกเขากลับไม่สามารถจัดการกับมันได้?? “

“มันเป็นเรื่องง่ายเกินไปในขณะนี้สำหรับทั้งซุนนีและชีอะห์ที่จะเรียกอีกฝ่ายว่ากาฟิร (ผู้ปฏิเสธศรัทธา) ซึ่งที่จริงมันช่างน่าเศร้าและน่าผิดหวัง มันเป็นรูปแบบของความหยิ่งยโส แต่มันทำลายหัวใจของฉัน”

แม้จะมีอีเมลน่ารังเกียจที่เธอได้รับอันมาจากการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่เธอบอกว่านี่ไม่ได้ทำให้เธอท้อแท้ เธอมุ่งเน้นไปยังผู้ที่ให้การต้อนรับโครงการของเธอและโอบกอดความหมายที่เธอส่งออกไป และหากแม้จะไม่ได้ความสามัคคีก็ตามแต่อย่างน้อยความจำเป็นเร่งด่วนคือการการยอมรับ “ผู้อื่น” ให้มากขึ้น

ฮูดา อัลซูดานี กำลังอยู่ในช่วงของการเจรจาต่อรองเรื่องลิขสิทธิ์กับช่องทีวีต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันภาพยนต์ของเธอจะถูกแสดงในงานเทศกาลภาพยนตร์จำนวนมากทั่วโลก

แปล/เรียบเรียงจาก http://www.middleeasteye.net

จาก http://www.publicpostonline.net/9513

" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...