ผู้เขียน หัวข้อ: ไซอิ๋ว (ฉบับเดินทางสู่พุทธภาวะ) อารัมภบท  (อ่าน 1953 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
อารัมภบท
 
จากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยคลื่นยักษ์สึนามิในวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ ผู้เขียนได้เห็นเหตุการณ์ของความทุกข์ยาก เห็นความสับสนในพฤติกรรมของประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรต่างๆ นักการเมือง ทั้งในระดับภูมิภาคอันดามัน ระดับรัฐบาล ยังรวมไปถึงบุคคลภายนอก จากภายในประเทศและต่างประเทศที่เข้ามาเกี่ยวข้อง
 
สัมผัสที่ได้รับมีความหลากหลายของความรู้สึก อาทิเช่น ความตาย ความเสียหาย ความพลัดพราก ความตระหนก ความสูญเสีย การแสวงหา การรอคอย การอยู่รอด ความวิตก ความกังวล ความหวัง ความเมตตา ความช่วยเหลือ ความเอื้ออาทร การช่วงชิงในความดีเพื่อความเด่น การคิดแสวงหาประโยชน์ในลาภ ยศ ชื่อเสียง ฯลฯ
 
ติดตามด้วย คำถาม เกิดขึ้น ตามมาอีกอย่างมากมาย ???







 เกิดขึ้น ดังมากขึ้น สับสนมากขึ้น ...
 
๖ เดือนผ่านไปหลังเหตุการณ์ สถานะการณ์เลวร้ายลงไปอีกเพราะ ไม่มีนักท่องเที่ยวกลับมาดังที่คาดการณ์ไว้ จากความเชื่อเดิมๆ จากหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตทำให้เข้าใจว่า นักท่องเที่ยวจะกลับมาท่องเที่ยว อีกภายในระยะเวลาอันสั้น ประมาณการว่า ๒ ถึง ๓ เดือน เพียงแต่คาดคะเนว่าครั้งนี้อาจจะใช้เวลานานกว่าเล็กน้อย หากเร่งจัดทำกิจกรรม ทำการประชาสัมพันธ์ คงสามารถกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวกลับมาเร็วขึ้น งบประมาณจึงใช้ไปจัดทำกิจกรรมให้มีขึ้น เพื่อการออกข่าวประชาสัมพันธ์อย่างมากมาย
 
แต่แล้วเหตุการณ์หาได้เป็นเช่นดั่งคาดไม่ กลับเลวร้ายรุนแรงมากยิ่งขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เมื่อสายการบินต่างๆทะยอยพากัน ยกเลิกเที่ยวบินอย่างเงียบๆไปที่ละสายการบิน
 
จนกระทั่ง ๖ เดือนผ่านไป มีเหลือเพียง ๕ ถึง ๖ สายการบินเท่านั้น ที่ยังคงทำการบินอยู่จากเดิมที่มีมากกว่า ๒๐ สายการบิน ส่วนสายการบินที่เหลือแม้ยังคงทำการบินอยู่ กำลังพิจารณาลดเที่ยวบินลงเพื่อความอยู่รอด
ความวิตกกังวลเริ่มขยายผลอย่างกว้างขวาง ทุกกลุ่มต่างวิเคราะห์ สถานะการณ์ แล้วลงความเห็นกันว่าหากปล่อยให้สถานะการณ์เป็นดั่งเช่นนี้ ไม่ดำเนินการอะไรบางอย่าง คงใช้ระยะเวลา ๒ ถึง ๓ ปีเป็นอย่างน้อย สภาวะการณ์ยากจะกลับคืนสู่สภาวะปกติเช่นเดิมในระยะเวลาอันสั้นได้
 
ในที่สุดผลกระทบต่างๆที่น่าหวาดหวั่นก็ได้เกิดให้เห็นชัดเจนขึ้น ผลกระทบอันดับแรก คือ การประกอบการทุกชนิดไม่ใช่เพียง ธุรกิจทางการ ท่องเที่ยวเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แม้แต่ร้านอาหาร ร้านค้า ที่ทำมาค้าขาย กับคนท้องถิ่น ต่างพากันเงียบเหงา มีรายได้ลดลง เหลือเพียงร้อยละ ๑๐ ถึง ๑๕ จากที่เคยได้รับในอดีต
 
ด้วยสภาวะแห่งการอยู่รอด ด้วยสภาวะของการว่างงาน ด้วยสภาวะแห่งการประหยัด ลดการใช้จ่าย เพื่อเตรียมพร้อมกับสถานะการณ์อันไม่ แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า การเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอด มีให้เห็นในหลายรูปแบบ บ้างเลิกจ้างพนักงาน บ้างลดเงินเดือน บ้างตัดค่าใช้จ่าย บ้างเลิกกิจการ บ้างย้ายถิ่นฐาน ไม่เว้นแม้แต่การโยกย้ายสถานที่ประกอบการ
 
ด้านผลกระทบทางสังคม ได้เกิดขึ้นทั้งในทางกว้างและทางลึก ไม่ว่าการสูญหายตายจากของคนในครอบครัวอันเป็นที่พึ่ง ภาวะไร้งาน ภาระหนี้สินเพิ่มพูน ครอบครัวแยกจากกัน การกระจัดกระจายของคน จากที่เคยอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก ต้องโยกย้ายเปลี่ยนแปลงแยกจาก อย่างฉับพลันเพื่อความอยู่รอด ความทุกข์ได้แผ่ขยายกระจายไปอย่างทั่ว ถึงทุกครอบครัว
 
อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางภาวะการณ์อันเลวร้ายที่เกิดขึ้น ยังมีสิ่งที่ดีงามให้ได้พบเห็นอยู่ บ้างมีการบริจาคเงินและสิ่งของมากมายจนเกินที่จะจัดการให้ดีได้ บ้างเข้าช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความจริงใจในรูปแบบ อาสาสมัคร บ้างใช้กำลังกาย และกำลังความคิดเข้าแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
 
เมื่อภาระกิจช่วยเหลือเสร็จสิ้น ต่างแยกย้ายสลายตนกลับไป บุคคลเหล่านี้เมื่อได้พบเห็นแล้วรู้สึกเป็นสุขใจยิ่ง นับว่าเป็นทรัพยากรบุคคลอันสูงค่าของประเทศโดยแท้ แต่ในขณะเดียวกันยังให้มีสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้พบเห็น จนทำให้รู้สึกหดหู่ด้วยเช่นกัน
 
               
นั่นคือการฉวยโอกาสในหลากหลายรูปแบบได้เกิดขึ้น บ้างคือผู้แอบอ้างความเสียหายที่ได้รับจากภัยสึนามิ เพื่อมาขอแบ่งปันและรับประโยชน์ บ้างคือบุคคลที่พร้อมด้วยตำแหน่งและฐานะ กลับคอยฉกฉวยโอกาส สร้างภาพของความช่วยเหลือ หวังเพียงเพื่อผลของการประชาสัมพันธ์ ที่จะสร้างชื่อเสียงอันฉาบฉวยเพื่อประโยชน์แห่งตน บ้างคือบุคคลผู้แฝงกายดำรงตำแหน่งสาธารณะ กลับแสวงหาผลประโยชน์สู่ตน ในขณะที่ผู้คนมีความทุกข์เข็ญอยู่ หนำซ้ำกลับยังคิดว่าตนเป็นผู้ที่ฉลาดสามารถ
 
บุคคลเหล่านี้กลับมีให้เห็นอยู่ และนับวันจะทวีจำนวนมากขึ้นทุกวัน ทั้งนี้ทั้งนั้น หรือเป็นเพราะเหตุที่ว่า สังคมเราได้ขาดหายบางสิ่งไปเช่น หิริ (ความละอายแก่ใจที่ประพฤติปฏิบัติในการทำชั่ว) และ โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวไม่อยากเข้าใกล้ความชั่ว อยากหนีให้ไกลห่างต่อความชั่ว ในการทำบาป และทุจริต) หรือ อาจไม่เข้าใจว่าเป็นธรรมในข้อนี้ จึงทำตามอย่างกันมากขึ้น
 
ในที่สุดการระดมความคิด การระดมสรรพกำลัง และทรัพยากรจึงได้เกิดขึ้น การแก้ไขปัญหาเริ่มเข้าสู่ทิศทางที่ถูกต้อง ๑ ปีผ่านไปบรรยากาศทางการท่องเที่ยวเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ปรากฏให้เห็นถึงความเคลื่อนไหว ปัญหาต่างๆเริ่มคลี่คลายลง นั่นคือการพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า แนวทางแห่งสัมมาทิฎฐิ ย่อมเป็นหนทางออกจากทุกข์สำหรับทุกสิ่งอย่างแท้จริง
 
 
๑ ปีภายหลังเหตุการณ์สึนามิ ความทุกข์ยาก ความต้องการ ความช่วยเหลือ ผู้มีหน้าที่เริ่มตระหนักถึงภาระรับผิดชอบ การแก้ไขปัญหา เริ่มดำเนินการให้เห็นบ้าง ปัญหาต่างๆเริ่มมีความคลี่คลาย แต่ยังคงมีอยู่อีกเป็นจำนวนมากที่ยังหลุดรอด ตกหล่น ละเว้น ที่ยังไม่ทันแก้ไขให้ลุล่วงให้หมดไป ปัญหาทางการเมืองที่ได้สะสมมาเป็นเวลานาน ได้ประทุขึ้นเนื่องจาก เกิดการแสวงหาประโยชน์ที่ปราศจากจริยธรรมที่ดีงามของผู้มีอำนาจ ส่งผลให้สังคมมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางความคิดอย่างรุนแรง ทัศนคติที่มีอยู่ลึกๆ อยู่ในจิตของแต่ละคนได้ผุดขึ้นมาต่อสู้กันอย่างเปิดเผยและรุนแรงอย่างขาดสติ บังเกิดความวุ่นวายขึ้น มีความสับสนเป็นอย่างยิ่ง ความแตกแยกขยายตัวไปทั่วทุกส่วนเสี้ยวของมุมเมือง สังคมขาดความสงบสุข
 
นั่นคือ การเมืองอนาถาแบบไทยๆ ที่ขาดซึ่งสัมมาปัญญา และได้สะสมมาอย่างยาวนาน เป็นการเมืองในรูปแบบที่สร้างขึ้นหรือเลียนแบบกันมาโดยขาดซึ่งปัญญา คือเพียงการแบ่งข้างและเอาชนะกัน คือเพียงการให้ร้ายต่อกัน คือเพียงเพื่อชื่อเสียงของตนเองด้วยการทำลายชื่อเสียงคู่แข่งขัน คือเพียงเพื่อปกป้องอุดหนุนจุนเจือกลุ่มของตน คือเพียงเพื่อให้ได้มีศักดิ์สถานะในสังคม คือเพียงเพื่อฉวยโอกาสเข้าถึงผู้มีอำนาจ และข้อมูลเพื่อการหาประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ฯลฯ แต่หาใช่การเมืองที่มุ่งแสวงหาสิ่งที่ดีสุดเพื่อพัฒนาให้บังเกิดความดีความงามความเจริญให้เกิดขึ้นในสังคม และมีความยั่งยืนไปถึงอนุชนรุ่นต่อๆไป







 การเมืองที่นักการเมืองได้แสดงบทบาทไว้อย่างผิดๆ มาอย่างยาวนานและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในระยะหลัง ทำให้ประชาชนขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง ประชาชนมีความรู้สึกว่า กำลังขาดทิศทางและเป้าหมาย ในการดำรงชีพทั้งต่อตนเองและต่อสังคม ในขณะที่สังคมมีความเสื่อมทรามลงทุกวัน ด้วยปัญหาต่างๆที่ยากจะแก้ไขเพิ่มมากขึ้น ดูเหมือนว่าสังคม จะเปลี่ยนเป็นสังคมที่ขาดความหวัง เป็นสังคมที่ขาดเมตตาธรรม เป็นสังคมที่มีความระแวงต่อกัน เป็นสังคมที่ขาดความไว้วางใจต่อกัน เป็นสังคมที่ขาดการพึ่งพาอาศัยต่อกัน เป็นสังคมที่มีความสับสน จนดูเหมือนจะไม่เข้าใจว่า หลักการของความดีความงามที่ควรยึดถือเป็นอย่างไร สิ่งที่เรียกว่า ความดีคืออะไร?
 
ในที่สุดความเอื้ออาทรที่มีความหมายที่แท้จริง กำลังสูญสลายหายไป ความเชื่อถือไว้วางใจต่อกันสูญหายไป ธรรมะที่ใช้ยึดถือในการครองตน และปฏิบัติต่อผู้อื่นกำลังเป็นสิ่งที่ไม่มีผู้ใดรู้จัก จนอาจเกิดเป็นคำถามจากคนรุ่นต่อๆไป ที่อาจจะตะโกนร้องถามหาว่า
 
คำศัพท์โบราณ ที่เขียนอ่านว่า จริยธรรม นั้นคืออะไร?
 
มีความหมายอย่างไร? มีใครรู้จักบ้าง? ค้นหาได้ที่ไหน?
 
ปัญหาทางสังคมต่างๆกำลัง ทับถมทวีคูณ ปัญหาเหล่านี้มีแนวโน้ม ว่าจะฝังรากลึกลงไปจนเป็นสิ่งปรกติในวิถีชีวิต และเยาวชนกำลังซึมซับ รับอิทธิพลจากสิ่งเหล่านี้ไปยึดถือเป็นแนวทางปฎิบัติของตน ไม่สามารถแบ่งแยกความดีความชั่วออกจากกันได้ ความแตกแยกทางสังคม มีความรุนแรงมากขึ้น และส่อเค้าว่าอาจจะเกิดความรุนแรงถึงขั้นนองเลือดได้ เพราะการได้ประโยชน์ด้วยวิธีกลโกง หรือการได้มาโดยไม่คำนึงถึงวิธีการ ที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ยึดถือว่าเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว หรืออาจจะเป็นเพราะว่า
 
การเมืองไทย คือ กระบวนการหล่อหลอมคนดีให้เป็นคนเลว ?
 
ในที่สุดประชาธิปไตยก็เข้าสู่ตาจนและสดุดหยุดลง แต่เหตุไฉน กลับเป็นที่พอใจของคนส่วนใหญ่?
 
ท่ามกลางสังคมที่ไร้ความหวัง ในขณะที่การเมืองยังคงมีความขัดแย้ง อย่างไม่เลิกรา ปัญหาสังคมเกิดขึ้นให้พบเห็นมากขึ้นทุกวัน จนดูเหมือนจะแก้ไขหรือหาทางออกไม่ได้ ความสับสนจึงได้ก่อตัวขยายผลออกไป อย่างไม่จบสิ้น เกิดกระแสแห่งความเชื่อในการเคารพบูชาเทพ แพร่หลายขยายออกไปทั่วทุกภาคของประเทศ จนเสมือนหนึ่งจะเข้ามาทดแทน ศาสนาพุทธที่นับถือกันอยู่ และมีความเป็นไปอย่างน่าหวั่นใจเป็นอย่างยิ่ง
   
 
ด้วยสับสนในความเชื่อ ระหว่างการนับถือเทพ กับการนับถือศาสนาพุทธ การนับถือทั้งสองเรื่องกำลังจะไม่แตกต่างกันเท่าใด พิเคราะห์ ดูหยาบๆ อย่างผิวเผิน ดุจดั่งเป็นเรื่องเดียวกัน ด้วยพระสงฆ์ในพุทธศาสนา รับการนิมนต์เข้าร่วมทำพิธีปลุกเสกวัตถุมงคล เสมือนหนึ่งบูชาเทพแทน องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ซึ่งเป็นศาสดาแห่งตน ประชาชนทั่วไปจำนวนมาก ต่างแสวงหามาคล้องประดับคอตน ด้วยสิ่งที่ได้รับฟังจากการเล่าขาน เกิดความเชื่อในรูปแบบต่างๆกัน ต่างจึงต้องมีไว้ติดกับตัว หรือว่าสิ่งเหล่านี้ จะกลายเป็นหลักธรรมในการครองตนและประคับประคองสังคมให้ดำรง คงไว้ สร้างความผาสุก ทำให้สังคมมีความสุขสงบในเบื้องหน้าสืบไป







 ปัญหาที่ประเทศไทยเราเผชิญอยู่นี้ ได้สะสมมากทับถมทวีพูนจน ยากจะสะสางแก้ไขให้หมดสิ้นไปได้ แล้วปัญหาใดเล่าที่สำคัญที่สุด ควรแก่การ แก้ไขสะสางก่อน
 
นับว่าปัญหาเรื่องของ “คน” เป็นปัญหาใหญ่ ที่ทำให้ประเทศชาติไม่สามารถพัฒนาให้สังคมเกิดสันติสุขได้ ด้วยเป็นสังคมที่ขาดการใช้คุณธรรม จริยธรรมเป็นเกณฑ์ในการวัดคุณค่า และระดับของคนที่ควรแก่การเคารพ นับถือ เป็นสังคมที่ขาดภูมิคุ้มกันจากความชั่ว จึงเป็นสังคมที่ขาดบันทัดฐาน ในการอยู่ร่วมกัน เพราะว่าสังคมได้ขาดหายสิ่งที่เป็นรากฐานสำคัญของ ความพร้อมในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข คือการพัฒนาคนให้มีจิตใจที่ดี มีคุณธรรม มีจริยธรรม มีหิริ โอตตัปะ
 
แต่นับวันทุกภาคีในสังคมได้ละเลยไม่ใส่ใจ ด้วยความนิยมนับถือ ในทรัพย์ ฐานะ ตำแหน่ง อันเป็นเมฆหมอกแห่งควาามเลอะเลือน ที่ทำให้ทุกคนในสังคม มองหาหลักธรรมในการครองตนไม่ได้
 
หากเป็นเช่นนี้เนิ่นนานไป “จริยธรรม”คงโดนโรคร้าย (กิเลสและ ตัณหา) รุมเร้าจนทรุดโทรม และอาจล้มหายตายสูญจากไปได้ จึงนับจากนี้เป็นต้นไป สมควรเป็นภาระที่นักการเมือง ข้าราชการ องค์กรต่างๆ และทุกภาคีในสังคมที่จะพิจารณาเป็นพันธกิจ และดำเนินการเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะนักการเมืองผู้อาสาที่จะทำงานเพื่อสังคม ข้าราชการผู้ควรเป็นแบบอย่างของการปฏิบัติตน ผู้นำองค์กรต่างๆ ผู้นำชุมชน ในแต่ละระดับ และวงการต่างๆ ผู้เป็นที่พึ่งของชาวบ้านควรเป็นผู้ชี้นำทางความคิดปฏิบัติ ให้กับสมาชิกขององค์กรรับรู้และเข้าใจ บุคคลเหล่านี้ต้องรับภาระดังกล่าว ที่จะนำเสนอตนเองให้เห็นเป็นแบบอย่างของความดีงาม
 
แต่หากบุคคลดังกล่าว กลับพิจารณาว่าเรื่องดังกล่าว หาใช่สาระที่น่าสนใจไม่ ยังลุ่มหลง (โมหะ) ต่อวิธีการที่ทำให้ได้รับความชื่นชอบอย่างฉาบฉวย ด้วยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือเพียงเพื่อให้มีตำแหน่ง เพื่อได้แสดงศักดิ์ ฐานะ ในการไปปรากฏตัวให้ทั่วในทุกแห่งหน ด้วยมีความรวบรัดกว่า สร้างความน่าเชื่อถือได้รวดเร็วกว่า แม้ว่าจะมีเนื้อหาสาระหรือไม่ก็ตาม หรือแม้กระทั่งบางครั้ง ถึงกับขาดซึ่งจริยธรรมให้เห็น ด้วยการใช้ตำแหน่งที่ครองอยู่ฉกฉวยโอกาส แสงหาผลประโยชน์เพื่อสร้างฐานะที่มั่งคั่ง และ คาดคิดไปว่าจะได้รับการนับถือว่าเป็นผู้สามารถ
 
หากเป็นเช่นนี้ ท่านอาจลืมเลือนหน้าที่และพันธกิจที่แท้จริง นั่นคือ การปฏิบัติหน้าที่ในการคิดค้นแสวงหา และดำเนินการพัฒนาสร้าง สรรสิ่งที่ดีงามให้เกิดขึ้นในสังคม ตามเจตนารมณ์ในการเข้าไปเป็นผู้แทนของปวงชน หรือเป็นผู้นำในชุมชนและองค์กรตามรูปแบบประชาธิปไตย ที่เข้าใจกัน และพบเห็นกันอยู่ในโลกใบนี้
 
แต่ในประเทศไทย ดูเสมือนสิ่งที่สะท้อนให้ได้เห็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นเพียงรูปแบบที่ยึดถือและตามอย่างกันในเรื่องเหล่านี้ ไม่ว่าหน่วยงานใด องค์กรใด หรือ บุคคลใด คือ การสร้างภาพเพื่อการประชาสัมพันธ์อย่างฉาบฉวย คือการแสวงหาและฉกฉวยโอกาส และประโยชน์ คือการแก้เกมทางการเมืองหวังแพ้ชนะกันเป็นที่ตั้ง คือความริษยามุ่งร้ายทำลายกัน คือการใส่ร้ายให้ผู้อื่นเลวร้าย ดุจดั่งว่าตนเองนั้นเป็นผู้ดีงาม คือการขาดความรับผิดชอบต่อคำพูดของตนเอง คือเพื่อให้ได้รับคะแนนเสียงหรือให้ได้รับความนิยมชมชอบ จนกลายเป็นวัฒนธรรมการเมืองไทยที่ว่า การให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียงจากการเลือกตั้ง คือเนื้อหาของความเป็นประชาธิปไตย หากประชาธิปไตยของไทยยังมีเนื้อหามีรูปแบบ เพียงเท่านี้ และยังคงนำเสนอผ่านนักการเมืองที่ไร้อุดมการณ์เหล่านี้ สถานะการณ์เช่น ในรอบ ๗๕ ปีที่ผ่านมาคงวนเวียนกลับไปกลับมาให้เราได้ เห็นอยู่ตลอดไปเฉกเช่น ภาพยนตร์ หรือละคร เพียงเปลี่ยนแปลงผู้แสดง เท่านั้น
 
ปรากฏการณ์ดังกล่าวข้างต้นนั้น เราท่านคงได้เห็นวงจรแห่งความเสื่อม เป็นปัญหาที่ไม่ใช่หน้าที่ของใครมาแก้ไข แต่เราท่านนั้นเองคงต้องเป็นผู้แก้ไขเอง มิฉะนั้นคงไม่สามารถหลุดพ้นวงจรนี้ไปได้ และหากยังรักษาวัฒนธรรมเดิมๆว่า ปัญหาที่พบเห็นเป็นภาระของคนอื่น ตนเป็นผู้มีหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์เท่านั้น และยิ่งหารู้ไม่ว่าการวิจารณ์ที่เกินความเป็นจริงหรือ บิดเบือนจะกลับกลายให้มีความเสื่อมมากยิ่งขึ้น เพราะหาได์ค้นหาว่าปัญหาเหล่านี้มาจากไหน (สมุหทัย)
 
ผู้เขียนวิเคราะห์ว่าทั้งหมดนี้มาจากปัญหาเรื่อง “คน” หรือ "ตัวกู" นั่นเอง เนื่องจาก “คน” กับ “ศาสนา” กำลังห่างกันออกไปทุกขณะ อาจจะเป็นด้วยรูปแบบพิธีกรรมต่างๆทำให้ดูเหมือนว่า ศาสนาเป็นเรื่องของคนอีกสังคมหนึ่งที่ล้าหลัง หรือเป็นเรื่องของคนอีกภพหนึ่ง และอาจด้วยเหตุแห่งความเป็นนามธรรมของศาสนา ในขณะที่สังคมมีความเจริญทางรูปธรรม ให้เห็นชัดมากกว่าเพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่มองเห็นได้ชัด ย่อมทำให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายกว่า เพราะเรื่องของศาสนา เป็นการให้ความรู้ความเข้าใจความเป็นมาเป็นไปตามธรรมชาติของจิต เพื่อนำไปปฏิบัติพัฒนาจิตใจ ประคับประคองจิต ไม่ให้หลงผิด ไปในมรรคาแห่งมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็น หรือทำความเข้าใจได้ยาก หรือหาได้มีผลตอบสนองให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ชัดเจน
 
แต่ความจริงแล้วทั้ง ๒ เรื่อง เป็นเรื่องเดียวกัน โดยไม่สามารถแยกจากกันได้เลย ด้วยสิ่งที่ปรากฏเป็นรูปธรรมให้เราเห็นนั้น เป็นผลพวงที่เกิดขึ้นจากกระบวนการที่พัฒนาขึ้นมาจากจิตใจของแต่ละ “คน” จึงอาจกล่าว ได้ว่า “จิตคนเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน - สังคมเปลี่ยน จิตคนเปลี่ยน”

จาก http://www.khuncharn.com/index.php

อีกฉบับ ของ ท่าน อาจารย์ เขมานันทะ http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=maekai&month=10-07-2008&group=15&gblog=1

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 02, 2016, 06:03:13 pm โดย มดเอ๊กซ »
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
Re: ไซอิ๋ว (ฉบับเดินทางสู่พุทธภาวะ) อารัมภบท
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: สิงหาคม 02, 2016, 05:56:29 pm »


 ได้มีผู้ร้องขอให้ผู้เขียนช่วยรวบรวมและเรียบเรียงเรื่อง “ไซอิ๋ว” จากที่ได้เคยเผยแพร่หรือแสดงความคิดเห็นไว้ในเวทีต่างๆในอดีต ประกอบกับ ประสบการณ์สำคัญๆ ที่ผู้เขียนได้ประสบมาในชีวิตหลายครั้งหลายตอน จึงบันดาลใจให้ผู้เขียนคิดที่จะรวบรวมและเรียบเรียง “ไซอิ๋ว” ฉบับเดินทางสู่พุทธภาวะ “พุทธภาวะ = สัมมาทิฏฐิ (มีปัญญาที่เห็น อย่างถูกต้องชอบธรรม)” ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น เพื่อให้มีการศึกษาเนื้อหาพุทธธรรมในอีกมิติหนึ่งที่เข้าใจได้ง่าย ทำให้รู้สึกว่าศาสนาพุทธไม่ได้ซับซ้อนยากที่จะเข้าใจอย่างที่คิด เพราะเนื้อเรื่องไซอิ๋วนั้นมีรายละเอียดของเรื่องราวที่กล่าวถึง พระถังซัมจั๋ง และคณะระหว่างเดินทางไปยังอินเดีย เพื่อนำพระไตรปิฎกกลับมายังเมืองจีน ในระหว่างทางได้เผชิญกับปีศาจต่างๆ มากมาย
 
แต่จะหามีผู้รู้หรือไม่ว่า เรื่องราวในการเดินทางและอุปสรรคต่างๆ ของพระถังซัมจั๋งนั้น ได้มีการนำมาเปรียบเทียบกับธรรมะในพุทธศาสนา เพราะเรื่อง “ไซอิ๋ว” คือ การเดินทางของจิตไปสู่การหลุดพ้น ในแต่ละขั้น แต่ละตอนนับตั้งแต่การเผชิญกิเลสตัณหาชั้นหยาบสุด ไปจนถึงชั้นที่ละเอียดสุด
 
เรื่อง “ไซอิ๋ว”ฉบับเดินทางสู่พุทธภาวะนี้ คือ การศึกษาธรรมะผ่านวรรณกรรมชิ้นนี้ จะพบว่าพุทธศาสนามีหลักธรรมที่ง่ายๆ ไม่สลับซับซ้อนแต่อย่างใด สามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยากเท่าใดนัก ซึ่งคงเป็นไปตามเจตนารมณ์ ของผู้ประพันธ์วรรณกรรมที่มีมาแต่เดิม
 
“ไซอิ๋ว” ฉบับที่ท่านจะได้อ่านนี้ ขอทำความเข้าใจก่อนว่า เป็น “ไซอิ๋ว” ฉบับที่ท่าน อู่ เฉิงเอิน (Wu Cheng-En) ในยุคสมัยแห่งราชวงศ์หมิง (ค.ศ. ๑๕๐๐-๑๕๘๒) ได้แต่งเรื่องราวขึ้น โดยได้ซ่อนเนื้อหาธรรมไว้อย่างชาญฉลาดและแยบยล ทำให้ผู้อ่านมีความสนุกและเข้าใจ ในเนื้อหาธรรมที่แฝงอยู่ได้ง่าย จูงใจให้ผู้สนใจผู้เริ่มต้นสามารถศึกษาธรรมะ อย่างละเอียดลึกซึ้งต่อไปได้



 จากเจตนาดั้งเดิมของท่าน อู่ เฉิงเอิน เข้าใจว่าคงมีเจตนาจะสอน ธรรมะในรูปแบบลักษณะของนิทานทางศาสนา แต่เมื่อกาลเวลาที่ผ่านไป แต่ละยุคแต่ละสมัยได้มีผู้ที่คัดลอก หรือแปลเรื่อง ได้เลือกเอาเฉพาะ เพียงบางตอนที่สนุกๆ (ยิ่งคัดลอก ยิ่งเลอะเลือน) โดยไม่ได้นำส่วนขยายความที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาธรรมะมาเผยแพร่ด้วย
 
เรื่อง “ไซอิ๋ว” ในกาลเวลาต่อมาจึงกลายเป็นเพียงเรื่องสนุกๆ เล่าขานให้ผู้ใหญ่และเด็กฟังกัน และในบางเรื่องกลับกลายเป็นความเชื่อ ความศรัทธา จนกระทั่งตัวละครต่างๆเหล่านั้น ได้กลับกลายมีตัวมีตนขึ้นมา บ้างกลายเป็นเทพต่างๆ ให้เราได้กราบไหว้บูชากันตราบเท่าทุกวันนี้
 
เมื่อครั้งยังเยาว์วัย ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านหนังสือของท่านอู่ เฉิงเอิน ซึ่งแปลโดยพระประทีป ปทีโป แห่งสวนโมกขลาราม กับนายสันต์ ทวีกิติกุล และมีการอธิบายขยายความหมายของตัวละครในเรื่อง “ไซอิ๋ว” ทำให้เกิดความเข้าใจธรรมะที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ชัดเจนขึ้น ทั้งสามารถตีความ อีกทั้งจดจำเนื้อหาธรรมได้ง่าย ทำให้การศึกษาธรรม ไม่รู้สึกเบื่อหน่าย อยากติดตามว่าเรื่องราวจะเป็นอย่างไร พยายามค้นหา ทำความเข้าใจว่า เหตุการณ์ต่างๆในเรื่องตรงกับธรรมในข้อใด
 
ครั้นเมื่ออ่านจนจบ จึงพบว่าแท้จริงแล้ว “ไซอิ๋ว” เป็นเรื่องของ การเดินทางในใจของคนเรา หาได้เป็นการเดินทางไปแสวงหาพระไตรปิฎกของพระถังซัมจั๋ง ดังที่ปรากฏเพื่อความสนุกเพียงอย่างเดียวไม่ แต่กลับเป็นเนื้อหาที่ว่าการที่พระถังซัมจั๋งได้เดินทาง เพื่อแสวงหาจนพานพบพระไตรปิฎก แล้วนำกลับมาถวายแด่พระเจ้าถังไทจงฮ่องเต้นั้น คือการเดินทาง ทางจิตเพื่อเข้าถึงสู่พุทธภาวะ (นิพพาน) นั่นเอง
 
ผู้เขียนมีความประทับใจ ยึดเป็นแนวทางในการศึกษาธรรม ครั้นนำมาเปรียบเทียบใช้ในการดำเนินชีวิตยิ่งทำให้เข้าใจชัดเจนมากขึ้น
 
การเรียบเรียงครั้งนี้จึงยังคงโครงเรื่องเดิมไว้ แต่ได้เรียบเรียงใหม่ เพื่อทำความเข้าใจให้ง่ายมากยิ่งขึ้น โดยนำตัวละครและอาวุธมาเปรียบเทียบ เทียบเคียงกับธรรมะควบคู่กันไป และขยายความไว้ในตอนท้ายเรื่อง แต่ละตอนเป็นการเปรียบเทียบเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า ตัวละครใด สิ่งใด หมายถึงธรรมะใด ซึ่งจะช่วยให้ทำความเข้าใจในธรรมะแต่ละบทได้ง่ายขึ้น
 
อนึ่งในการเรียบเรียงเนื้อหาธรรมะ เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน ที่กระทบต่อความศรัทธาและความเชื่อถือ ดังนั้นหากการเรียบเรียงครั้งนี้ มีเนื้อหาที่คลาดเคลื่อนไป หรือกระทบต่อความเชื่อถือที่มีมาแต่เดิม ผู้เขียนหาได้อวดตนเป็นผู้รู้พุทธธรรมไม่ และไม่ได้มีเจตนาที่ทำให้พุทธธรรม มีเนื้อหาเปลี่ยนไป ซึ่งอาจเป็นด้วยความอ่อนด้อยในการประพันธ์ ผู้เขียนกราบขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย
 
อย่างไรก็ตามเพียงเพื่อเจตนารมณ์ที่ว่า วรรณกรรมนี้ได้ประพันธ์ไว้ในอดีตมีคุณค่ายิ่ง สมควรที่เรียบเรียงถ่ายทอดสืบต่อๆกันไป ดังนั้นหากการเรียบเรียงครั้งนี้ สร้างคุณประโยชน์ใดๆเกิดขึ้น ขอมอบสิ่งดีงามทั้งมวล ให้กับผู้ประพันธ์วรรณกรรมในอดีต ตามที่ได้เอ่ยมาข้างต้น ที่ได้บรรจงสร้าง สรรไว้...
 
“ไซอิ๋ว” เท่าที่เราทราบกันอยู่ในปัจจุบันเป็นเรื่องราวของพระสงฆ์ ชื่อ ถังซัมจั๋ง พร้อมด้วยศิษย์ทั้งสามคือ เห้งเจีย ตือโป้ยก่าย และซัวเจ๋ง อาสาที่จะเดินทางไปยังไซที เพื่อค้นหาพระไตรปิฎกและนำกลับมาถวายพระเจ้าถังไทจง ในระหว่างทางได้พบอุปสรรคที่ต้องเผชิญเข้าต่อสู้เอาชนะ กับปีศาจเพื่อที่จะสามารถเดินทางบรรลุถึงไซทีได้
 
แต่ละตอนนำความสนุกสนานเพลิดเพลินมาให้กับผู้อ่าน เพราะเนื้อเรื่องทำให้ตื่นเต้นไปกับการผจญภัยของคณะเดินทางไปไซที ที่พานพบอุปสรรคที่ต้องเผชิญกับเหล่าปีศาจในรูปแบบต่างๆ รู้สึกชื่นชมและประทับใจในความสามารถของเห้งเจีย หงุดหงิดไปกับพฤติกรรมของตือโป้ยก่าย ก่อนจะเดินทางร่วมกันไปสู่ไซที ผู้อ่านต้องมาทำความเข้าใจกับ ตัวละครใน “ไซอิ๋ว” เสียก่อน

แนะนำตัวละคร


พระเจ้าถังไทจง


  พระถังซัมจั๋ง






รูปปั้นพระถังซัมจั๋ง ณ วัดห่านป่าใหญ่ เมืองซีอาน

 ตัวละครแรกของเรื่องนั่นคือ พระถังซัมจั๋ง (พระไตรปิฎกแห่ง พระราชวงศ์ถัง มาจากคำว่า ถัง+ซัม+จั๋ง ซึ่งมาจากคำว่า ถัง = ราชวงศ์ถัง / ซัม = สาม / จั๋ง = ตะกร้า หรือ ปิฎก) ในเรื่อง พระถังซัมจั๋ง (เปรียบดุจ ขันติ = ความอดทนเพื่อบรรลุถึงสิ่งที่ดีงาม) ขันอาสาพระเจ้าถังไทจง (เปรียบดุจศรัทธา = ความเชื่อถือ เชื่อมั่นในสิ่งที่ดีงาม) ไปเชิญพระไตรปิฎก
 
พระองค์ได้ทรงเกิดสุบินว่า เดินทางเข้าไปยังนรกภูมิ ได้พบ ขุมนรก ๑๘ ขุม ได้แก่
 
ขุมที่ ๑ ผูกก้อนหินขนาดใหญ่ทั้งมือและเท้า แล้วเอาเชือกผูกกลางตัว ดึงขึ้นไปอยู่ที่สูง ทำให้อึดอัดและเจ็บปวดได้รับความทรมานอย่างมาก
 
ขุมที่ ๒ ขังไว้ในที่มืดแม้มือตัวเองยังมองไม่เห็น ทำให้รู้สึกหวาดกลัว อ้างว้าง และโดดเดี่ยว
 
ขุมที่ ๓ ลงไปอยู่ในบ่อไฟที่ไม่มีวันดับ ทำให้เกิดความเร่าร้อนอย่าง ไม่มีวันสิ้นสุด
 
ขุมที่ ๑ ถึง ๓ นี้สำหรับผู้ที่ทำบาปฆ่าสัตว์ ตัดชีวิต
 
ขุมที่ ๔ มีหนอนมาเกาะกินที่ปาก เพื่อเป็นอาหารได้รับความทรมานอย่างยิ่ง
 
ขุมที่ ๕ ถูกเอาเบ็ดเกี่ยวที่ลิ้น แล้วถูกดึงลากออกมาอย่างไม่สิ้นสุด เจ็บปวดยิ่ง
 
ขุมที่ ๖ ถูกถลกหนังออก แล้วราดรดด้วยน้ำเกลือสุดแสนจะปวด แสบปวดร้อน
 
ขุมที่ ๔ ถึง ๖ นี้ สำหรับ ผู้ไม่ซื่อตรง อกตัญญู ไม่มีธรรมะอยู่ในใจ หรือปากว่านับถือ แต่ในใจสาปแช่ง เข้าข่ายเป็นคนหน้าพระแต่ใจปีศาจ ทำนองปากหวานใจคด
 
ขุมที่ ๗ เอาใส่ลงในที่โม่หิน แล้วโม่ให้ละเอียด
 
ขุมที่ ๘ เอาใส่ลงในครกหิน แล้วตำให้ละเอียด
 
ขุมที่ ๙ ให้เกวียนบรรทุกเหล็กเต็ม เข็นขึ้นทับ
 
ขุมที่ ๗ ถึง ๙ สำหรับคนที่มีแต่ความหลอกลวง แต่งฝีปาก ให้คนหลงจนต้องเสียทรัพย์และไม่มีความสุข
 
ขุมที่ ๑๐ เอาลงไปในน้ำเน่าที่เหม็นที่สุด มึนหัวและแสบจมูกอย่างยิ่ง
 
ขุมที่ ๑๑ ถูกถลกหนัง แล้วให้กาปาก เหล็กจิกกิน เจ็บปวดแสบ ไปทั่วกาย
 
ขุมที่ ๑๒ ลากไส้ของนักโทษออกมา เจ็บปวดทรมานอย่างยิ่ง
 
ขุมที่ ๑๐ ถึง ๑๒ สำหรับผู้ค้าขายฉ้อโกง มักดูถูกผู้อื่นเป็นคนโง่ ดูถูกคนจน คนต่ำต้อย
 
ขุมที่ ๑๓ เอาใส่หม้อต้มน้ำมันเดือด จนละลาย
 
ขุมที่ ๑๔ เอาเลื่อยชักกลางตัว
 
ขุมที่ ๑๕ เอานักโทษโยนขึ้นไปภูเขาดาบ
 
ขุมที่ ๑๓ ถึง ๑๕ สำหรับผู้ทำบาปมีจิตริษยา สอพลอ ใช้อำนาจ เบียดเบียนคนซื่อตรงที่อยู่ในศีลในธรรม ให้ได้รับความเดือดร้อน
 
ขุมที่๑๖ ให้ลงไปในบ่อเลือด เพื่อกินน้ำเลือด
 
ขุมที่ ๑๗ เอาใส่ลงในบ่อน้ำกรด
 
ขุมที่ ๑๘ เอาตาขอเกี่ยวท้องดึงขึ้น
 
ขุมที่ ๑๖ ถึง ๑๘ สำหรับคนบาป ล่อลวงเอาทรัพย์ผู้อื่นมาเป็นของตัว
 
ภายหลังจากตื่นจากสุบิน พระเจ้าถังไทจงฮ่องเต้ (ศรัทธา = ความเชื่อมั่นในสิ่งที่ดีงาม) รู้สึกหวาดกลัวสำนึกถึงบาปบุญคุณโทษ รู้สึกผิด ชอบชั่วดี ทำให้พระองค์มีความศรัทธาเชื่อมั่นในพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก และต้องการส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักและศึกษาพระพุทธศาสนาจึงมี พระประสงค์ที่จะอาราธนาพระไตรปิฎกมายังเมืองจีน
 
พระถังซัมจั๋ง (ขันติ - ความอดทนเพื่อบรรลุสิ่งที่ดีงาม) ขันอาสา ที่จะจาริกไปไซที (อินเดีย = นิพพาน) เพื่อไปเข้าเฝ้าต่อหน้าพระพักตร์ของพระยูไล (พุทธภาวะ = สัมมาทิฏฐิ) ตถาคตเจ้า ณ วัด ลุยอิมยี่ และจะได้ขออัญเชิญพระไตรปิฎกกลับมายังเมืองจีน
 
(ความหมายในส่วนนี้ หมายความว่า ก่อนที่จิตจะเดินทางเข้าสู่พุทธภาวะเพื่อกำหนดรู้ถึงสภาวะธรรมแห่งสัมมาทิฏฐินั้น จำต้องมี “ศรัทธา” ขึ้นก่อน และเมื่อมี “ศรัทธา” ในทางอันเป็นประเสริฐเช่นนี้แล้ว จึงจะบังเกิด ”ขันติ” ติดตามมา ในอันที่จะตั้งมั่นของจิตใน“สัจจะ” อธิษฐานที่ว่าจะทำการ หมั่นศึกษา ประพฤติ ปฏิบัติด้วยความอดทน เพื่อที่จะเดินทาง ให้บรรลุถึง สภาวะแห่งธรรม-ธรรมชาติ นั่นเอง) และทั้งหมดจึงเป็นที่มาของเรื่อง


พญามุ้ยเกาอ๋อง 


เห้งเจีย

 พญามุ้ยเกาอ๋อง หรือ ซึงหงอคง หรือ ซีเทียนใต้เซีย หรือ เห้งเจีย (ปัญญา - การหยั่งรู้ในเหตุและผลของความดี ความชั่ว) จะด้วยเจตนาของ ฟ้า ดิน (ธรรมชาติ) หรืออย่างไรไม่มีใครทราบได้ๆ สร้างลิงตนหนึ่ง (โพธิจิต-ปัญญา) ขึ้นมาจากหินก้อนหนึ่ง (ธรรมชาติไม่ได้ให้มาเพียงแต่ธาตุทั้ง ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น แต่ให้ปัญญามาด้วย)
 
เดิมเป็นลิงสามัญ (มิจฉาปัญญา -ปัญญาที่ไม่สงบนิ่งเป็นสมาธิ เปรียบประดุจ ลิงที่ไม่สามารถนิ่งอยู่เฉยได้ ซุกซนจนเกิดความวุ่นวาย) และด้วยเจตนาของฟ้าดิน (ธรรมชาติ) อีกเช่นกัน จึงให้เจ้าลิงตนนี้ เมื่อเติบใหญ่มีอิทธิฤทธิ์กำลังกล้าแข็งขึ้น สามารถปกครองบรรดาเหล่าลิงทั้งหลาย จนลิงเหล่านั้นที่เป็นบริวารต่างพากันยกให้ลิงตนนี้ขึ้นเป็นใต้อ๋อง และฟ้า ดิน (ธรรมชาติ) ยังให้เห้งเจียตนนี้มีคุณลักษณะที่แปลกแยกออกไป จากลิงทั้งหลายคือ เป็นลิงที่มีผิวขาวเผือกผ่อง (โพธิจิตนั้นย่อมบริสุทธิ์ อยู่โดยธรรมชาติ เฉกเช่นมนุษย์ทุกผู้เกิดมา ย่อมมีจิตอันเป็นบริสุทธิ์ ครั้นเมื่อเติบใหญ่ขึ้น มักสั่งสมการเรียนรู้ทั้ง โดยสัมมาทิฏฐิ และ มิจฉาทิฏฐิ หากไม่ได้รับการอบรม ฝึกฝนบ่มเพาะ และนำไปปฏิบัติในแนวทางแห่งสัมมาทิฏฐิแล้ว การเรียนรู้ที่สั่งสมมาจะบังเกิดให้มีมิจฉาทิฏฐิรุนแรงมากขึ้น จนสัมมาทิฏฐิต้องเสื่อมถอยหายไป จิตต้องจมอยู่ในความเสื่อมของความเป็นอัตตา = ตัวกู ของกูมากขึ้นตามลำดับ)
 
ลิงเผือกตนนี้ หรือ พญามุ้ยเกาอ๋องปกครองลิงต่างๆเป็นปกติดีอยู่ ด้วยความเป็นลิงตามสัญชาติญาณ ที่มักไม่อยู่นิ่ง มีความทะยานอยาก ที่แสวงหาสิ่งที่อยู่สูงขึ้นไปอีก คือประสงค์ที่จะพ้นจากความชรา ต้องการความเป็นอมตะ จึงพุ่งทะยานออกจากถ้ำจุ้ยเลี่ยมต๋อง สืบหาธรรมวิเศษ เดินทางไปจนถึงไซทีแต่ไม่พบผู้ใด (ไซทีหรืออินเดีย = นิพพาน แต่เนื่องจากยังเป็นมิจฉาปัญญาอยู่ ทำให้ไม่เข้าใจในนิพพาน พบเห็นแต่เพียงว่าเป็นความว่างเปล่า = คือการไม่พบผู้ใด) จนในที่สุด ได้ไปถึงเกาะลังกาพบท่านโผเถโจ๊วซือ ( โจ๊วซือ = สังฆนายก)
 
เมื่อท่านโผเถโจ๊วซือถามไถ่ที่มาที่ไปของพญามุ้ยเกาอ๋องแล้ว จึงรู้ว่าลิงเผือกตนนี้ยังไม่มีชื่อ ดังนั้นท่านโผเถโจ๊วซือ จึงคิดตั้งชื่อให้ว่า “ซึงหงอคง” ซึงหงอคงได้เรียนรู้วิชาจากท่านโผเถโจ๊วซือจนสามารถ แปลงกายได้ ๗๒ อย่าง (สภาวะธรรม ๗๒ อย่าง, ส่วนโป้ยก่ายแปลงกายได้ ๓๖ อย่าง รวมกัน แปลงกายได้ ๑๐๘ อย่าง เท่ากับจำนวนตัณหา ๑๐๘ ส่วนซัวเจ๋ง อนันตริก สมาธิ นั้นแปลงกายไม่ได้เลย) และขนของซึงหงอคง ที่มีอยู่ ๘๔,๐๐๐ เส้น (ปริยัติใน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์) ทุกเส้นแปลงเป็นลิงได้ จึงทำให้มีอิทธิฤทธิ์เพิ่มมากขึ้นด้วยสุตตพละ (กำลังความสามารถที่เกิดขึ้นจากการ ฟัง,การเรียน) ทำให้สามารถฆ่าปีศาจ (กิเลส ตัณหา) คือ ความไม่รู้ (อวิชชา) ซึ่งต่อมานับเป็นประโยชน์ยิ่งในการเดินทางไปไซที เมื่อเรียนรู้วิชาจนหมดสิ้นแล้ว จึงขอลาอาจารย์กลับมายังถ้ำจุ้ยเลี่ยมต๋อง แล้วตั้งตนเป็นใหญ่ในหมู่ปีศาจทั้งหลาย
 
อยู่มาได้ระยะเวลาหนึ่ง ซึงหงอคงเห็นว่าอันความสามารถของตน นั้นถ้าหากได้อาวุธวิเศษมาคู่กายน่าจะดีไม่น้อย ครั้งแรกแสวงหาอาวุธ ที่ทำด้วยเหล็กมาได้ถึง ๑๘ อย่าง ( คือ ความเข้าใจชัดถึงมูลธาตุ ๑๘ ได้แก่ อินทรีย์ ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อารมณ์ ๖ ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ และ วิญญาณ ๖ ได้แก่ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และ มโนวิญญาณ)
 
แต่ยังรู้สึกว่าเป็นเพียงอาวุธธรรมดา หามีฤทธิ์เดชเหมาะสมกับความสามารถอย่างตนไม่ ตนนั้นสมควรที่จะมีอาวุธที่วิเศษกว่านี้ จึงดำดิ่ง ลงใต้บาดาลไปขออาวุธจากพระยาเง่าก๊วงเล่งอ๋อง (ฉันทะ) เทพผู้รักษาท้องทะเล กับน้องทั้ง ๓ คือ เง่าคำเล่งอ๋อง (วิริยะ) เง่าหยุนเล่งอ๋อง (จิตตะ) และเง่าสุนเล่งอ๋อง (วิมังสา) รวมเป็น ๔ เทพผู้รักษาท้องทะเล (ผู้เป็นใหญ่ในน้ำทั้ง ๔ หมายถึง คุณธรรมที่มีคุณสมบัติเยือกเย็น ได้แก่ อิทธิบาท ๔ = ทางแห่งความสำเร็จ ๔ ประการ ประกอบด้วย
 
๑. ฉันทะ-ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น
 
๒. วิริยะ-ความพยายามทำสิ่งนั้น
 
๓. จิตตะ-ความเอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้น
 
๔. วิมังสา-การพิจารณาใคร่ครวญหาเหตุผลในสิ่งนั้น)
 
ซึงหงอคงแสดงอิทธิฤทธิ์ให้เทพทั้ง ๔ เห็นเป็นประจักษ์ เทพทั้ง ๔ จึงมอบอาวุธวิเศษให้มา ได้แก่ รองเท้าทำด้วยใยบัว ใส่แล้วเหาะเหิน เดินอากาศได้ เกราะทองคำ สามารถป้องกันอาวุธได้ หมวกทองคำปีกหงส์ สวมศีรษะแล้วแคล้วคลาดจากภัยทั้งปวง (โพธิจิตนั้น พลิกผันแปรเปลี่ยนได้รวดเร็ว ไม่มีใครสามารถจับได้ไล่ทัน) นอกจากนี้ ยังทำให้มีความสามารถตีลังกาได้ไกลถึง ๑๘,๐๐๐ โยชน์ เป็นระยะทางจากเมืองไต้ถังถึงไซที (โพธิจิตสามารถเข้าถึงนิพพานได้ เพียงขณะจิตเดียว) แต่ซึงหงอคงยังหาพอใจไม่ พระยาเล่งอ๋องจึงแนะว่า ให้ดำดิ่งลึกลงไปสู่สะดือทะเล แล้วจะพบอาวุธวิเศษอยู่
 
ณ ก้นทะเลซึงหงอคงได้พบตะบองยักษ์ฝังค้ำยันทะเลกับท้องฟ้าไว้อยู่ ซึงหงอคงตรงเข้าใช้พละกำลังโยกถอน จนสะเทือนเรือนลั่นไปทั่วทั้งท้องทะเล ใต้บาดาล ขุมนรก และสวรรค์ชั้นฟ้า ในที่สุดสามารถโยกถอนตะบองยักษ์ออกมาได้
 
อาวุธวิเศษนี้ คือ ตะบองวิเศษ ยู่อี่กิมซือเป๋ง (แปลว่า ตะบองปลอกทองได้ดังใจ) ที่มีน้ำหนักถึง ๑๓,๕๐๐ ชั่ง ตะบองยู่อี่นี้ใหญ่เล็กยืดได้หดได้ดังใจนึก สามารถเล็กจนเก็บเหน็บไว้ในรูหูได้ (เปรียบดังจิตมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาอย่างรวดเร็ว นึกคิดจะทำอะไรต่างๆ ทั้งการใหญ่และเล็กได้ดังใจนึก)



 เมื่อได้อาวุธสมใจแล้ว ก็บุกตะลุยลงไปยังขุมนรก ซึ่งเป็นดินแดนของเงี่ยมฬ่ออ๋อง (มัจจุราช = กิเลสอันละเอียดที่เกิดมาพร้อมกับชีวิต แต่กบดานอยู่ภายในจิต คือโอฆะ ๔ = วังวนแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ได้แก่
 
๑. กาม-ความอยาก ความใคร่
 
๒. ทิฏฐิ-ความเห็นผิด
 
๓. ภพ-ภาวะชีวิตของสัตว์ มี ๓ ภพ ได้แก่ กามภพ รูปภพ และ อรูปภพ
 
๔. อวิชชา-ความไม่รู้จริง มีด้วยกันทั้งสิ้น ๘ อวิชชา ได้แก่ความไม่รู้ใน ๘ เรื่อง คือ
 
(๑.) ทุกข์-สภาวะที่ไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้
 
(๒.) สมุหทัย-เหตุทำให้เกิดทุกข์
 
(๓.) นิโรจน์-การดับทุกข์
 
(๔.) มรรค-หนทางแห่งการดับทุกข์
 
(๕.) อดีต-เวลาที่ล่วงผ่านไปแล้ว
 
(๖.) อนาคต-เวลาที่ยังมาไม่ถึง
 
(๗.) ทั้งอดีตและอนาคต-เวลาที่ล่วงผ่านเลยไป และยังมาไม่ถึง
 
(๘.) ปฏิจจสมุปบาทสภาพแห่งทุกข์ที่เกิดขึ้น เพราะเหตุแห่งปัจจัยต่อเนื่องกันมา)
 
เมื่อถึงขุมนรก ซึงหงอคงตรงเข้าทำการลบบัญชีตายของตน และบริวารเสียสิ้น (หมายความว่า โพธิจิตนั้นไม่มีวันแตกดับ)
 
พระยาเล่งอ๋อง และพระยาเงี่ยมฬ่ออ๋อง จำต้องพากันหนีขึ้นไปบนสวรรค์ ยื่นฎีกาต่อเง็กเซียนฮ่องเต้ (ผู้เป็นใหญ่บนสวรรค์ = ปรมัตถธรรม อภิธรรม ธรรมที่ยิ่งใหญ่) พระองค์จึงมีบัญชา ให้จับตัวซึงหงอคงมาลงโทษ แต่ท่านพรหมท้ายเสียงเล่ากุน(อุเบกขา = วางใจให้เป็นกลางไม่เอนเอียงด้วยความชอบหรือชัง เป็นความรู้สึกเฉยๆไม่สุข ไม่ทุกข์) ออกอุบายว่า ซึงหงอคงนั้นมีฤทธิ์มากเพียงแต่มีความทะยานอยาก หากมอบตำแหน่งสักอย่างให้ซึงหงอคง น่าจะเป็นการเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องสู้รบกัน อีกทั้งยังจะได้ซึงหงอคงมาอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของสวรรค์อีกด้วย เป็นการทดใช้พลังเถื่อนของโพธิ์ให้มาสู่ฝ่ายสวรรค์ (บุญ = ความประพฤติชอบ ทางกาย วาจา และใจ) จะได้ป้องกันไม่ให้โพธิจิต ไปคบหาสมาคมกับภูตผี มิฉะนั้นอาจจะเป็นภัยต่อสวรรค์ในภายหลังได้
 
เง็กเซียนฮ่องเต้ดำริได้จึงได้ถ่ายทอดคำสั่งแต่งตั้งให้ซึงหงอคงไปเป็นแม่กองเลี้ยงม้า “เป๊กเบ้อุน” (เลี้ยงม้า กวาดขี้ม้า) ครั้งแรกเมื่อได้ฟัง เห้งเจีย ดีใจมากที่สวรรค์มอบตำแหน่งสำคัญให้ตน ให้รู้สึกยินดียิ่งรีบรุดขึ้นสวรรค์ เพื่อไปรับตำแหน่ง
 
หลังจากรับตำแหน่งแล้ว อยู่ไปๆจึงเริ่มรู้นึกคิดได้ในภายหลังว่า ตำแหน่งที่ตนได้รับการแต่งตั้งนั้น เป็นเพียงแม่กองเลี้ยงม้าเท่านั้น จึงนึกรู้ได้ว่าตนโดนหลอกแล้ว คิดว่าความสามารถของตนนั้นมีมากมาย แต่กลับให้มาเลี้ยงม้า
 
คิดดังนั้นจึงโกรธทำลายสิ่งของต่างๆ แล้วเหาะกลับมายังที่อยู่ของตน ที่ถ้ำจุ้ยเลี่ยมต๋อง (โพธิจิตที่ยังเถื่อนด้วยมิจฉาทิฏฐิอยู่นั้น ย่อมหาพอใจเพียง บุญที่ไร้เกียรติไม่) ฝ่ายปีศาจตระกูลต๋อกกั๊ก ๒ ตน (ได้แก่ มานะ = การถือตน กับ อติมานะ = ถือตนจนข่มผู้อื่น ถือตัวว่าเหนือเขา) ได้ทีเข้ามาสวามิภักดิ์ แล้วยุยงซ้ำเติมอีกว่า ความสามารถอย่างท่านนั้นยิ่งใหญ่นัก สมควรจะเป็นซีเทียนไต้เซีย (แปลว่าเป็นใหญ่เสมอฟ้า) จึงจะถูกต้อง ซึงหงอคงได้ฟังเป็นที่ชอบใจในคำเรียกหานี้ยิ่งนัก
 
เมื่อเป็นดังนี้ ทางเง็กเซียนฮ่องเต้จอมสวรรค์ เห็นซึงหงอคงบังอาจที่ไม่แยแสต่อตำแหน่งที่สวรรค์แต่งตั้งให้ แถมทำลายข้าวของ แล้วยังไปสมคบกับปีศาจอีก อีกทั้งยังตั้งตนเองเป็นซีเทียนใต้เซียอีกด้วย จึงสั่งถักทะลีทีอ๋อง (กุศล = ผลบุญจากการทำความดี สภาวะจิตที่ดีขึ้น สูงขึ้น) แม่ทัพสวรรค์พร้อมโลเฉีย (เจตสิก = ธรรมที่ประกอบกับและปรุงแต่งจิต) ลงไปปราบซึงหงอคง (ใช้พลังของ บุญกุศลไปน้อมนำให้โพธิจิตเข้าใจในความดี การทำดี) ซึงหงอคงบอกว่า ตนจะยอมสวามิภักดิ์ต่อสวรรค์ก็ได้ ถ้าหากแต่งตั้งให้ตนเป็น ซีเทียนไต้เซีย (ใหญ่เสมอฟ้า)
 
โลเฉีย (เจตสิก = ธรรมประกอบและปรุงแต่งให้กับจิต) ได้ฟังแล้วโกรธ จึงเข้าสู้รบแต่จะแสดงอิทธิฤทธิ์ใดๆ ซึงหงอคงสามารถแปลงกาย ในรูปแบบต่างๆสู้ได้หมด หนำซ้ำยังตลุยรุกไล่จนสามารถตีกองทัพสวรรค์พ่ายแพ้กลับไป ซึ่งหงอคงหรือซีเทียนไต้เซีย (มิจฉาปัญญา) ได้ใจในชัยชนะ จัดงานเฉลิมฉลองกันเป็นการใหญ่ ทั้งลิง (โพธิจิต หรือ ปัญญา การหยั่งรู้ในเหตุและผลของความดี ความชั่ว) และผี (กิเลส ความชั่ว ที่แฝงอยู่ในจิต) จึงคบหากันสนิทสนมแนบแน่นยิ่งขึ้น
 
ทางสวรรค์ต้องการทดใช้พลังของโพธิจิต ให้ไปสู่หนทางบุญให้ได้ ในที่สุดจึงยอมแต่งตั้งซึงหงอคงให้เป็นซีเทียนไต้เซียตามที่ต้องการ แต่ไม่มอบกิจธุระใดๆให้กระทำ เพียงให้แต่ตำแหน่งเท่านั้น เพื่อให้เป็นไปตามอัสมิมานะ(การถือตน) ของซึงหงอคง (มิจฉาปัญญา) และยังให้สร้างหอขึ้น ๒ หอ คือ หอเย็นระงับใจ และ หอเก็บรักษาอารมณ์
 
นอกจากนั้นยังประทานสุราที่บรรดาเซียนดื่มกินให้ ๒ คนโท (คือ ปิติ = ความอิ่มใจที่เกิดขึ้นจากการระงับใจ และ สุข = ความสำราญในการเก็บรักษาอารมณ์) พร้อมด้วย ดอกไม้ทองคำสิบกิ่ง (หมายถึง กุศลกรรม ๑๐ บท คือ การกระทำความดี ๑๐ อย่างได้แก่ กายกรรม (กาย) ๓ อย่าง วจีกรรม (วาจา) ๔ อย่าง มโนกรรม (ใจ) ๓ อย่าง
 
กายกรรม ๓ อย่างได้แก่
 
๑.ปาณาติปาตาเวรมณี - เว้นจากการทำลายชีวิต
 
๒. อทินนาทานา เวรมณี - เว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้
 
๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี - เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
 
วจีกรรม ๔ อย่างได้แก่
 
๔. มุสาวาทา เวรมณี - เว้นจากการพูดเท็จ
 
๕. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี - เว้นจากการพูดส่อเสียด
 
๖. ผรุสาย วาจาย เวรมณี - เว้นจากการพูดคำหยาบ
 
๗. สัมผัปปลาปา เวรมณี - เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
 
มโนกรรม ๓ อย่างได้แก่
 
๘. อนภิชฌา - ไม่โลภคอยจ้องอยากได้ของเขา
 
๙. อพยาบาท - ไม่คิดเบียดเบียนเขา
 
๑๐.สัมมาทิฏฐิ - ความเห็นชอบ ตามทำนองคลองธรรม )
 
เพื่อเป็นการระงับไม่ให้ซีเทียนไต้เซียทำชั่ว เมื่อซีเทียนไต้เซียได้ตำแหน่งมีที่อยู่ใหม่และยังมีคนคอยปรนนิบัติให้อย่างดี รู้สึกชอบใจยิ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไปได้สักระยะหนึ่ง เริ่มรู้สึกว่าตนไม่มีกิจใดๆ มีเพียงแต่ชื่อ ตำแหน่งหามีการงานที่แท้จริงใดไม่ (เพราะความสุขจากการทำบุญที่แท้จริงนั้น เพียงเป็นความอิ่มเอมใจที่ได้รับจากการทำบุญ ทำความดี นับว่าเป็นกุศล (สภาวะของจิตที่ดีขึ้น สูงขึ้น) แต่หาใช่ความสุขจากการทำบุญความดี แล้วได้รับการสรรเสริญเยินยอ หรือได้รับตำแหน่ง หรือ ได้รับชื่อเสียง เป็นการตอบแทน หากยึดถือเช่นนี้แล้ว เมื่อไม่ได้รับสิ่งตอบแทนดังกล่าวจะกลับกลายเป็นความร้อนรุ่ม ซึ่งถือเป็นอกุศล หาใช่กุศลไม่) ซึงหงอคง คิดว่าช่างน่าเบื่อเสียนี่กระไร จำต้องแสวงหาว่าบนสวรรค์มีอะไรที่ดีกว่านี้อีกหรือไม่ (โพธิจิตที่ยังเถื่อน หรือยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ จึงคอยแต่จะแสวงหาว่า น่าจะมีสิ่งที่สูงค่ามากกว่าบุญกุศลเสมอ)
 
ดังนั้นจึงตีลังกาเข้าพบเง็กเซียนฮ่องเต้ เพื่อขอให้มอบงานให้ทำบ้าง เง็กเซียนฮ่องเต้จึงมอบให้ซีเทียนไต้เซีย ใช้เวลาว่างในการตรวจตรารักษา สวนชมพู่ ๓ สวน (ไตรปิฎก) โดยมีนางฟ้า ๗ องค์ เป็นพนักงานเก็บชมพู่ (พระอภิธรรมปิฎก มีด้วยกัน ๗ คัมภีร์ ได้แก่ ๑ธัมมสังคณี ๒วิภังค์ ๓ธาตุกถา ๔ ปุคคลบัญญัติ ๕กถาวัตถุ ๖ยมก ๗ปัฏฐาน) เมื่อได้งานเฝ้าสวนชมพู่ไม่นาน ซีเทียนไต้เซียลอบเข้าไปในสวนแอบกินชมพู่ทุกวัน
 
ซีเทียนไต้เซียแอบกินชมพู่ที่มีอยู่จนหมด แล้วอยู่มาวันหนึ่ง มีการเตรียมงานเลี้ยงของบรรดาเซียน ซีเทียนไต้เซียเห็นว่านางฟ้า กำลังเตรียมอาหารทิพย์ สุราทิพย์ (สุขในบุญ ชวนให้มึนเมา) ให้บรรดาเซียนได้ดื่มกิน จึงเสกให้นางฟ้า ทั้ง ๗ ให้ไม่รู้สึกตัว แล้วแอบเข้าไปกินอาหารทิพย์ สุราทิพย์ในงานเลี้ยงจนมึนเมา หลงพลัดเข้าไปในเขตของท่านพรหมท้ายเสียงเล่ากุน(อุเบกขา) พบเห็นของวิเศษมากมาย เลยเแอบขโมยกินยา อายุวัฒนะ และยาวิเศษต่างๆ ที่อยู่ในคนโททั้ง ๕ ใบ (๑.วิตก = การคิด ปักจิต ลงสู่อารมณ์ ๒. วิจาร = การตรอง พิจารณาอารมณ์ ๓. ปิติ = ความอิ่มใจ ๔. สุข = ความสำราญใจ ๕. เอกัคคตา = จิตแน่วแน่อยู่ในอารมณ์เดียว หรือสมาธิ ซึ่งเป็นองค์แห่งปฐมฌาน) ซีเทียนไต้เซียรู้ตัวว่าได้ทำความผิด จึงเหาะหนีลงมาอยู่ที่ถ้ำจุ้ยเลี่ยมต๋องตามเดิม
 
เง็กเซียนฮ่องเต้ทรงทราบ จึงสั่งให้ทัพสวรรค์โดยถักทะลีทีอ๋อง (กุศล ความดีงาม) แม่ทัพสวรรค์ พร้อมโลเฉีย (เจตสิก ธรรมปรุงแต่ง ประกอบจิต) ปุดเฉีย(ทาน การให้) ท้าวกิมกัง จัตรุโลกบาล (กัลยาณมิตร ๔) ทัพดาวยี่สิบแปดดวง (รูป ๒๘ = สภาวะที่เปลี่ยนไปด้วยเหตุแห่งปัจจัย ต่างๆ) ดาวทั้งเก้า (สัตตาวาส ๙ = ภพที่อยู่ของสัตว์) สิบสองง่วนสิน (สันโดษ ๑๒ = ความยินดีของตนที่ได้มาด้วยความเพียร ๑๒ ประการ) ในขณะ เดียวกัน ทางซีเทียนไต้เซีย มีปีศาจต๊อกกั๊กกุยอ๋อง (มานะ = ถือตน, อติมานะ =  ถือตนจนข่มผู้อื่น) เป็นทัพหน้า ปรากฏว่าทัพสวรรค์พ่ายแพ้ยับเยิน ย่อมแสดงให้เห็นได้ว่า ขณะนี้ซีเทียนไต้เซียมีความสามารถแข็งกล้ามากขึ้น เพราะได้กินชมพู่จากสวนชมพู่ ๓ สวน (ไตรปิฎก) สะกดนางฟ้าทั้ง ๗ (อภิธรรม ๗ คัมภีร์) ชมพู่ทิพย์ ๓๖๐๐ต้น (พระสูตร) อายุวัฒนะ ในคนโททั้ง ๕ (ปฐมฌาน ได้แก่ วิตก วิจาร ปิติ สุข และ เอกัคคตา) ยากที่ผู้ใดจะปราบได้อีกแล้ว
 
พระโพธิสัตว์กวนอิม (เมตตา = ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข) จึงได้เชิญยี่หนึงจินกุน พระนัดดาของเง็กเซียนฮ่องเต้ ร่วมกับพี่น้องทั้ง ๖ (สัมมาทิฏฐิ ๗) นำอาวุธวิเศษของพรหมท้ายเสียงเล่ากุน (สมถะ = ฝึกจิต ให้สงบเป็นสมาธิ) ขว้างลงบนหัวของซีเทียนไต้เซียทำให้อ่อนแรงลง จึง สามารถที่จะจับตัวของซีเทียนไต้เซีย(โพธิจิตเถื่อน = มิจฉาปัญญา)ได้
 
เมื่อจับได้แล้ว ยี่หนึงจินกุนกับพี่น้องทั้ง ๖ (สัมมาทิฏฐิ ๗ = ความเห็นว่าเที่ยง) ตรงเข้า ไปเอาอาวุธไปข่มขู่ไว้ (ข่ม) จากนั้นเอาเชือกวิเศษมาผูก(ผูก) แล้วเอามีดวิเศษมาเสียบเข้าที่กระดูกสันหลัง (เสียบ) จึงจะสามารถมัดตัวนำไปถวาย ต่อเง็กเซียนฮ่องเต้ได้ ( ข่ม ผูก เสียบ เป็นเคล็ดในการฝึกจิต)
 
เง็กเซียนฮ่องเต้รับสั่งให้ นำซีเทียนไต้เซียไปประหารชีวิต ปรากฏว่าไม่ว่าจะทำด้วยวิธีใด จะใช้ดาบฟัน เผาด้วยไฟ ใช้สายฟ้าฟาด ก็ไม่สามารถทำให้ซีเทียนไต้เซียตายได้ เพราะว่าซีเทียนไต้เซียได้ลบชื่อตัวเองออกจากบัญชีตายของพญาเงี่ยมฬ่ออ๋อง แล้วยังมีพลังสวรรค์จากการได้กิน ชมพู่ทิพย์ (ไตรปิฎก) นอกจากนั้นยังได้กินสุราทิพย์และยาอายุวัฒนะของพรหมเสียงเล่ากุน (อุเบกขา) อีกด้วย
 
เมื่อเป็นเช่นนี้ เง็กเซียนฮ่องเต้ จึงรับสั่งมอบซีเทียนไต้เซีย (โพธิ์ที่ยังเถื่อนอยู่) ให้พรหมท้ายเสียงเล่ากุนนำไปหลอมในเบ้าหลอมวิเศษ เพื่อจะได้หลอมตัวซีเทียนไต้เซียที่มียาวิเศษในตัว ทำเป็นยาอายุวัฒนะ ขึ้นมาใหม่
 
แต่แล้วซีเทียนไต้เซียกลับถีบเบ้าหลอมพังพินาศ เอาตะบองยู่อี่ไล่ตี หมู่เทพยดาจนหนีเตลิดเปิดเปิงไปสิ้น แล้วยังบุกเข้าไปยังที่ประทับของเง็กเซียนฮ่องเต้ หมู่ทหารเทพต่างเข้าล้อมไว้และคุมเชิงกัน หารบพุ่งอะไรกันไม่เพียงล้อมเอาไว้ เง็กเซียนฮ่องเต้เล็งเห็นว่าความสามารถของ ซีเทียนไต้เซีย ขณะนี้ไม่มีผู้ใดทานได้ ดำริได้ ดังนั้นจึงแจ้งให้เทพบุตร ไปนิมนต์พระเซ็กเกียมองนี่ฮุดโจ๊ (พระยูไล - พระพุทธเจ้า หรือ พุทธภาวะ) ณ วัดลุยอิมยี่เขตเมืองโซจ๋อก (โลกุตระ = เขตพ้นวิสัยความสุขทางโลก) ประเทศไซที (นิพพาน = การดับสิ้นของกิเลส ตัณหา) ให้เสด็จมาช่วยห้ามศึกบนสวรรค์
 
ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้า (พุทธภาวะ) ทรงเสด็จมาถึงซีเทียนไต้เซีย (มิจฉาปัญญา) กำเริบเสิบสานจาบจ้วงเย้ยหยันอวดศักดา ว่าตนนั่นแหละ สมควรเป็นจอมสวรรค์แทนเง็กเซียนฮ่องเต้ (นี่แหละ มิจฉาปัญญา ความอหังการของโพธิจิตที่ยังเถื่อนอยู่) เพราะตนนั้นมีความสามารถมากทำอะไรได้ทุกอย่าง มีชีวิตเป็นอมตะ แม้แต่ตีลังกาครั้งหนึ่งได้ระยะทางถึง ๑๘,๐๐๐ โยชน์ (ระยะทางจากเมืองไต้ถัง ถึง ไซที หมายความว่า โพธิจิต สามารถบรรลุนิพพานได้ในพริบตาเดียว) พระยูไล (พุทธภาวะ) จึงต่อรองขอให้ซีเทียนไต้เซีย (โพธิจิตที่ยังเถื่อน หรือปัญญาที่ยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ) ให้แสดง อิทธิฤทธิ์ โดยให้เหาะหนีพ้นอุ้งมือของพระองค์ให้ได้ก่อน หากทำได้จึงจะมอบตำแหน่งจอมสวรรค์ให้ ซีเทียนไต้เซียคิดว่าได้ทีรีบรับคำท้าพลัน กระโดดขึ้นไปอยู่บนอุ้งมือของพระยูไล จากนั้นเริ่มกระโดดตีลังกาเหาะไปจนสุดแรง
 
ผ่านไปครู่หนึ่ง คิดว่าตนคงมาไกลพอสมควร ครั้นมองไปข้างหน้าพบเสาหิน ๕ ต้น (ขันธ์ ๕) ซีเทียนไต้เซียเข้าใจว่าคงเป็นรากของฟ้า คิดว่าตนคงจะมาสุดขอบฟ้าแล้วกระมัง จึงได้หยุดลงพร้อมเซ็นชื่อและปัสสาวะ ทิ้งไว้เป็นหลักฐาน ณ เสาหินนั้น จะได้กลับไปยืนยันกับพระยูไลว่าเหาะมาไกลสุดขอบฟ้า พร้อมได้ทิ้งหลักฐานเพื่อพิสูจน์ไว้แล้ว จากนั้นตีลังกากลับไปหาพระยูไล
 
เมื่อมาถึงยังหน้าพระพักตร์ของพระยูไล แจ้งความสิ่งที่ตนเองได้กระทำมา พระยูไลไม่ว่ากระไร เพียงแต่ขอให้หันหน้ากลับไปเหลียวมอง ดูที่นิ้วของพระองค์ แล้วซีเทียนไต้เซียจึงพบว่า ตนเองหาได้พ้นจากอุ้งมือของพระยูไลไม่ เพราะเสาหิน ๕ ต้น (ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) นั้นเป็นนิ้วมือของพระยูไลนั่นเอง เพราะลายมือและปัสสาวะของซีเทียนไต้เซีย ยังปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐานอยู่ที่นิ้วทั้ง ๕ ของพระยูไล
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
Re: ไซอิ๋ว (ฉบับเดินทางสู่พุทธภาวะ) อารัมภบท
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: สิงหาคม 02, 2016, 06:02:16 pm »


 แต่ซีเทียนไต้เซียหายอมแพ้ไม่ (โพธิจิตเถื่อนยังไม่รู้เรื่องขันธ์ ๕) คิดจะกระโดดเหาะหนีไป พระยูไลจึงจับซีเทียนไต้เซียไว้ แล้วคว่ำพระหัตถ์ ครอบซีเทียนไต้เซียลงมาบนพื้นโลก บังเกิดเป็นภูเขา ๕ ยอดติดกัน ทับขังซีเทียนไต้เซียไว้ภายใน และให้ซีเทียนไต้เซียกินน้ำเหล็กหลอมละลายทุกครั้งที่หิว (เปรียบดังความพยายามของโพธิจิตที่ต้องการ ไปสู่มรรคผลแห่งพุทธภาวะแต่ยังไม่มีความรู้ในขันธ์ ๕ ย่อมเป็นอุปสรรคสำคัญที่ไม่สามารถจะบรรลุถึงมรรคผลได้เลย เปรียบดุจดังถูกภูเขาแห่งขันธ์ ๕ ทับขังไว้ ครั้นยึดมั่นว่าตัวกู ของกูขึ้นมาคราใดให้เป็นทุกข์ ดุจดังกินน้ำเหล็กหลอมละลาย ยามหิวฉันนั้น)
 
เรื่องราวของการเดินทางไปสู่พุทธภาวะ จึงจะเริ่มนับตั้งแต่ซีเทียนไต้เซีย (มิจฉาปัญญา) ถูกทับขังไว้ รอให้พระถังซัมจั๋ง (ขันติ) มาช่วย และทำการบวชให้ โดยการสวมมงคลสามห่วง (ไตรลักษณ์ ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ทุกครั้งที่แผลงฤทธิ์ โดยพระถังซัมจั๋งจะร่ายมนต์คาถา ทำให้มงคลบีบรัดศีรษะเจ็บปวดยิ่ง (การกำกับจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในไตรลักษณ์) และเปลี่ยนชื่อจากซึงหงอคงเป็นเห้งเจีย เพื่อให้ร่วมเดินทางไปไซที (นิพพาน = การดับสิ้นของกิเลส) ในฐานะสานุศิษย์ของพระถังซัมจั๋ง
 
การเดินทางของพระถังซัมจั๋งนั้น ยังมีผู้ร่วมเดินทางไปด้วยนอกจาก เห้งเจีย แล้วยังมีตือโป้ยก่าย ซัวเจ๋ง กับม้าขาว ใช้เป็นยานพาหนะ อีกทั้งยังมี พระโพธิสัตว์กวนอิมคอยให้ความช่วยเหลือ ตลอดการเดินทาง




ตือโป้ยก่าย

 ตือโป้ยก่าย (ศีล = ความประพฤติ ดีงามทางกาย และวาจา ตามข้อพึงปฏิบัติ) เดิมเป็นเทพบุตรอยู่บนสวรรค์มียศ เป็นถึงผู้บัญชาการ ทหารเรือ ในแม่น้ำทงทีฮ้อ แต่ได้กระทำทุศีลจึงถูกสวรรค์ลงโทษ ให้มาจุติในท้องแม่สุกร และถูกสาปให้เป็นปีศาจอยู่ในภูเขาฮกลิ่นซัว ถ้ำหุ้นจางต๋อง
 
การที่ตือโป้ยก่าย (ศีล = ความประพฤติตามข้อปฏิบัติในการควบคุม กายและวาจาให้บังเกิดความดีงาม) มีรูปร่างเป็นหมูนั้น เพราะว่าหมูเป็นสัตว์ที่มีปากยาว มีไว้เพื่อคอยแต่จะบริโภค และนินทาผู้อื่น หูยาวเพื่อประโยชน์ที่จะคอยรับรู้แอบฟังอันเป็นต้นเหตุที่จะทุศีล หมูเป็นสัตว์ที่รวมไว้ ซึ่งความตะกละ ละโมบและโสโครก เพราะบริโภคไม่เลือก ตือโป้ยก่าย (ศีล = การประพฤติ ดีงามทางกายและวาจา) มักถูกเห้งเจีย (ปัญญา การหยั่งรู้ในความดี ความชั่ว) บังคับให้หุบปาก เพราะเพียงแค่การหุบหูหุบปากเท่านี้ ศีลจะมีมาเอง
 
ตือโป้ยก่ายมีอาวุธเป็นคราด ๙ ซี่ (สังฆคุณ = คุณสมบัติของ พระสงฆ์ ๙ ประการ) เป็นอาวุธประจำกาย อีกทั้งแปลงกายได้ ๓๖ อย่าง
 
เมื่อปีศาจหมู ตือโป้ยก่ายได้พบพระโพธิสัตว์กวนอิม (เมตตา = ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข) ได้สัญญาว่า จะรอพบพระถังซัมจั๋ง เพื่อติดตามไปไซที โดยได้ชื่อใหม่จากพระโพธิสัตว์กวนอิมว่า “ตือหงอเหนง”


ซัวเจ๋ง

 ซัวเจ๋ง (สมาธิ = จิตตั้งมั่นสงบแน่วแน่) เป็นปีศาจเงือกที่อยู่ใต้น้ำ ก่อนเป็นเทพอยู่บนสวรรค์ กระทำความผิดแล้วถูกสาปให้เป็นปีศาจเงือก จมอยู่ใต้ลำน้ำลิ้วซัวฮ้อ (สมาธิแห่ง ชีวิต = อนันตริกะสมาธิ มีอยู่แล้วในธรรมชาติ แต่จมอยู่ ยังไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เพราะยังเป็นมิจฉาทิฐิอยู่) ครั้นเมื่อได้พบพระโพธิสัตว์กวนอิม จึงได้ถูกนำมาใช้ในทางสัมมาทิฐิ พระโพธิสัตว์กวนอิมจึงตั้งชื่อให้เป็น ซัวหงอเจ๋ง แปลงกาย อะไรไม่ได้เลย มีความละมุนละม่อม มักเดินตามหลัง และหาบเสบียงของชีวิต (สมาธิ เป็นปัจจัยที่คอยเกื้อหนุนส่งเสริมในการดำเนินชีวิต ให้มีความสุข สงบ) และคอยเฝ้าดูพระถังซัมจั๋งซึ่งมีความเลื่อมใสในพุทธศาสนา และมุ่งมั่นที่จะเดินทางไปไซที (นิพพาน = การดับกิเลส จนสิ้น)
 
(หมายความว่า สมาธิจะคอยประคับประคอง ศรัทธา + ขันติ เพื่อให้จิตแน่วแน่มั่นคงไว้ในการเดินทางไปสู่สภาวะธรรม)




พระถังซัมจั๋ง

 พระถังซัมจั๋ง (ขันติ = ความอดทน เพื่อบรรลุสิ่งที่ดีงาม)เดิมคือ หลวงจีนเหี้ยนจึงเปรียบดุจพระน้องยาเธอของพระเจ้าถังไทจงฮ่องเต้ (ศรัทธา = ความเชื่อถือ เชื่อมั่นในสิ่งที่ดีงาม) ด้วยพระถังไทจงฮ่องเต้ ได้เสด็จลงไปยังนรกเป็นเวลา ๓ วัน ได้พบเห็นอบายภูมิและวิญญาณที่ได้รับโทษทัณฑ์ต่างๆ พระองค์มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา และมีพระประสงค์ที่จะอัญเชิญพระไตรปิฎกมา เพื่อมาเผยแผ่ให้ประชาชนได้ศึกษา หลวงจีนเหี้ยนจึงขันอาสาเดินทางไปไซทีเพื่อพบองค์พระยูไล ขออาราธนานำพระไตรปิฎกกลับมายังเมืองจีน
 
พระถังไทจงฮ่องเต้จึงตั้งชื่อหลวงจีนเหี้ยนจึงใหม่ว่า ถังซัมจั๋ง (ไตรปิฎกแห่งราชวงศ์ถัง = ขันติ) และยังได้รับของวิเศษ ๓ อย่าง จากพระโพธิสัตว์กวนอิม ก่อนที่จะเดินทางไปอาราธนาพระไตรปิฎกคือ
 
ผ้ากาสาวพัสตร์ (วินัยระเบียบแนวทาง ในการฝึกฝนควบคุมความประพฤติ)
 
ไม้เท้า (พหูสูต - ได้ยินได้ฟังมาก)
 
และมงคล ๓ ห่วง (ไตรลักษณ์ - อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)
 
ม้าขาว (วิริยะ = ความเพียรที่จะละความชั่ว) แต่เดิมเป็นมังกรเป็นบุตรของพญาเล่งอ๋องแห่งทะเลตะวันตก ได้ไปจุดไฟเผาปราสาทบิดา ด้วยความน้อยใจจึงได้รับโทษจากสวรรค์ถูกประหารชีวิต ระหว่างรอถูกประหารอยู่นั้น พระโพธิสัตว์กวนอิมมาถ่ายโทษให้ แล้วพระโพธิสัตว์กวนอิมมีคำสั่งให้มารอพระถังซัมจั๋งที่บึงเองเส้งข้างภูเขาฉั๋วปั๋วซัว โดยแปลงกายเป็นม้ามังกร เพื่อเป็นพาหนะให้กับพระถังซัมจั๋งใช้เดินทางไปไซที
 
กวนอิม คือ พระอวโลกิเตศวร (อว+โลก+อิศวร = พระผู้เป็นใหญ่ ผู้ซึ่งแผ่บารมี ลงมายังสัตว์โลก) เป็นตัวแทนของเมตตา ตลอดเรื่องราวใน “ไซอิ๋ว” บ่อยครั้งที่เห้งเจีย (ปัญญา = การหยั่งรู้ถึงความดี ความชั่ว) ต้องเหาะไปขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์กวนอิม (เมตตา = ปรารถนาให้ผู้อื่นมีสุข) จึงจะสามารถชนะปีศาจต่างๆได้ (ปีศาจต่างๆ = กิเลส คือ ความชั่ว และตัณหา ความทะยานอยากที่แฝงอยู่ในจิต) เห้งเจียเข้าพบพระโพธิสัตว์กวนอิมบ่อยครั้ง หมายถึง ปัญญาที่ประกอบด้วยเมตตา คือ สัมมาปัญญา = จิตที่หยั่งรู้ในความดีความชั่ว และปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข นับเป็นธรรมชั้นสูง เพราะหากการที่มีเพียงปัญญา หยั่งรู้ดีชั่วแต่ขาดความเมตตา มักจะทำให้เกิดมิจฉาทิฏฐิได้ง่าย หลงติดเข้าไปในกระแสแห่งกิเลส อันประกอบด้วย กิเลสมูล (โลภมูล = โลภ / โทสะมูล = โกรธ / โมหะมูล = หลง) ทำให้เกิดความหลงในตัวกู ของกู ถือตัวถือตนว่าเก่งกาจ เป็นผู้สามารถด้วยความหลงเช่นนี้ จะพัฒนาแก่กล้า จนกระทั่งคิดจะเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อประกาศศักดาสามารถในความเป็นตัวกู ของกู ด้วยไม่มีเมตตา ปราศจากจิตที่ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขมาค้ำจุนเอาไว้ อันเป็นมิจฉาทิฏฐิที่เบียดเบียนผู้อื่น
 
 
ดังนั้นปัญญาที่ประกอบด้วยเมตตา จึงเป็นธรรมชั้นสูงที่ปุถุชนควรพยายามเข้าใจ และฝึกฝนให้อยู่ในแนวทางแห่งสัมมาทิฐินี้ ย่อมทำให้สังคมเกิดสันติสุข สำหรับรูปลักษณ์ของพระโพธิสัตว์กวนอิมอวโลกิเตศวรของธิเบต ศิลปินได้เขียนเป็นรูปกึ่งหญิงกึ่งชาย ซึ่งความจริงนั้นเป็นชายบ้าง เป็นรูปร้อยหน้าพันมือ ส่วนในประเทศจีนนั้นเรียกว่ากวนอิมเนี่ยเนี้ย กำหนดเป็นเพศหญิงโดยเหตุผลว่า ความเมตตากรุณาอันใหญ่หลวงนั้น พึงเทียบเท่า มารดารักบุตร
 
ในเรื่อง การเดินทางไปไซที (นิพพาน = การดับกิเลสจนสิ้น) เป็นการเสนอเรื่องการเดินทางของคณะพระถังซัมจั๋งเพื่อไปพบพระยูไล และขออาราธนา นำพระไตรปิฎกกลับมาถวายแด่พระเจ้าถังไทจง ถึงแม้การเดินทางครั้งนี้ จะต้องเผชิญและต่อสู้กับปีศาจต่างๆ (กิเลส = ความชั่ว ที่แฝงอยู่ในจิต เป็นเหตุทำให้เศร้าหมอง) หน้าที่ต่อสู้กับปีศาจจะตกเป็นของเห้งเจีย(ปัญญา = การหยั่งรู้ความดีความชั่ว) ด้วยความรู้เท่าทันปีศาจ คือ รู้เท่าทันกิเลสนั่นเอง แต่เห้งเจียก็หาใช่จะรู้เท่าทันโดยตลอดไม่ ด้วยเพราะความเป็นมิจฉาทิฏฐิในระยะแรก ดังนั้นเมื่อถึงคราวอับจน ทำให้พระถังซัมจั๋งโดนปีศาจจับตัว และในหลายๆครั้งที่เห้งเจียสู้ไม่ได้ พระโพธิสัตว์กวนอิมจะออกมาช่วยเสมอ
 
โดยในเรื่องจะให้เห้งเจีย (ปัญญา = การหยั่งรู้เหตุและผลของความดี ความชั่ว) ต่อสู้กับกิเลสก่อนจนกว่าหมดแรงและเข้าที่คับขัน พระโพธิสัตว์ จึงจะออกมาแนะวิธีชี้ให้เห็นเหตุ หากยังเกินกำลังจะแนะบอกให้เห้งเจียไปเข้าเฝ้าพระยูไล ดังนั้นเห้งเจียจึงมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระยูไลหลายครั้ง หลายหนจนชำนาญทาง
 
เรื่องราวไซอิ๋วจึงเป็นเรื่องที่ ลิง หมู เงือก รวม ๓ พี่น้อง แปลงกายได้ ๑๐๘ อย่าง หรือจิตรู้เท่าทันกิเลส ตัณหา ๑๐๘ นั่นเอง ร่วมกันเดินทางไป อัญเชิญพระไตรปิฎก ในอีกนัยหนึ่งคือจิตที่มุ่งแสวงหานิพพานจำเป็นต้องใช้ปัญญา ศีล สมาธิ ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว (เอกัคตาจิต = จิตรวมเป็นหนึ่ง) มุ่งหน้าสู่นิพพาน และระหว่างทางได้พบกับกิเลส ในบางครั้งต้องใช้ปัญญาเข้าแก้ไข แต่ในบางครั้งต้องใช้ศีลเข้ามาช่วย หรือบางครั้งใช้สมาธิมาช่วย ในวิธีต่างๆกัน อันได้แก่อริยมรรค (มรรค ๘) ซึ่งพอจะจัดเป็นหมวดหมู่ของมรรค ๘ เป็น ๓ กลุ่ม ได้ดังนี้
 
กลุ่ม ปัญญา = การหยั่งรู้เหตุและผลของความดีและความชั่ว มีมรรค ๒ ประการ ได้แก่
 
๑. สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ คือ การกำหนดรู้ในไตรลักษณ์ ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กำหนดรู้ในอริยสัจจ์ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุหทัย นิโรจน์ มรรค ย่อมกำหนดรู้ในความเป็นกุศล อกุศล
 
๒. สัมมาสังกัปโป ดำริชอบ ในกุศลวิตก ๓ ประการได้แก่ ดำริในการออกจากกาม ดำริในการไม่พยาบาท ดำริในการไม่เบียดเบียน
 
กลุ่ม ศีล = ความประพฤติที่ดีงามทั้งกายและวาจา มีมรรค ๓ ประการ ได้แก่
 
๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ ในวจีสุจริต ๔ คือ เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดหยาบคาย เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
 
๔. สัมมากัมมันโต กระทำชอบ ในกายสุจริต ๓ คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
 
๕. สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีพชอบ คือ เว้นจากการประกอบในมิจฉาชีพ เพียรประกอบสัมมาชีพ และ
 
กลุ่ม สมาธิ = จิตที่ตั้งมั่น สงบแน่วแน่ มีมรรค ๓ ประการ ได้แก่
 
๖. สัมมาวายาโม พยายามชอบ คือ ความเพียร ๔ อย่าง เพียรระวัง ไม่ให้บาปอกุศลเกิดขึ้น เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรทำกุศล ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพียรรักษาธรรมที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อมไป
 
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ สติปัฏฐาน ๔ ได้แก่ มีสติรู้เท่าทันเรื่องกาย มีสติรู้เท่าทันในเวทนา มีสติรู้เท่าทันสภาพและอาการของจิต มีสติ รู้เท่าทันธรรม และ
 
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ ฌาน ๔ ได้แก่ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตฌาน
 
ในระหว่างเดินทางในช่วงแรก (โลกียะ = ความสุขที่เป็นวิสัยในทางโลก ที่ประกอบด้วยอาสวะ) ดังนั้นเห้งเจีย(ปัญญา) จึงยังลุกลี้ลุกลนและเถื่อนอยู่ ส่วนตือโป้ยก่าย(ศีล) ยังเต็มไปด้วยความอยากในการบริโภค มักเผลอที่จะกระทำทุศีล หรือ คอยจะหยุดเพื่อบริโภค ดุจดังความตะกละของหมู ที่กินไม่เลือกจึงมักไปติดกับดักของปีศาจ(กิเลส)อยู่เสมอ ในระยะต้นๆจึงมีเรื่องขัดแย้งและทะเลาะกันกับเห้งเจียตลอดเวลา จนกระทั่งเริ่มเข้าเขตโซจ๋อก (โลกุตระ = พ้นวิสัยของความสุขทางโลก) เห้งเจียกลายเปลี่ยนเป็นเรียบร้อยขึ้น ส่วนโป้ยก่ายค่อยระงับความอยากได้และใช้ปัญญามากขึ้น ซัวเจ๋ง (สมาธิ) ค่อยๆซึมซับปัญญาจากเห้งเจีย
 
ดังนั้นเมื่อเข้าเขตโซจ๋อก(โลกุตระ = พ้นวิสัยความสุขทางโลก) เจ้าสามเกลอ เห้งเจีย ตือโป้ยก่าย ซัวเจ๋ง เริ่มมีความเป็นหนึ่งเดียว (เอกัคตาจิต) จึงเป็นเหตุที่ว่า ศีลอันใด สมาธิอันนั้น สมาธิอันใด ปัญญาอันนั้น
 
การเดินทางมีการเผชิญกับปีศาจต่างๆ มากมายหลากหลายรูปแบบ ปีศาจจะมีฤทธิ์เดชที่มากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ กิเลส ตัณหา ที่มีความละเอียดอ่อน มากยิ่งขึ้นที่ฝังแน่นอยู่ในจิต หากไม่กำหนดจดจ่อเพื่อรู้เท่าทันแล้ว บางครั้งแยกไม่ออกเอาเลยว่าเป็นกิเลสหรือไม่ จะทำให้หลงติดอยู่ไม่สามารถเดิน ทางสู่ความหลุดพ้นต่อไปได้
 
ยิ่งเมื่อเข้าใกล้เขตโซจ๋อก(โลกุตระ = พ้นวิสัยความสุขทางโลก) ปีศาจจะมีฤทธิ์มากจนสามารถแปลงกายเป็นเห้งเจียตัวปลอม ตือโป้ยก่ายตัวปลอม ซัวเจ๋งตัวปลอม เป็นปีศาจที่มีอิทธิฤทธิ์เท่าเทียมกันกับตัวจริง จนยากที่จะเอาชนะได้ ต้องอาศัยพระโพธิสัตว์กวนอิมมาช่วย เพราะว่ากิเลส หรือตัณหา นั้น บางครั้งมิสามารถเอาชนะได้ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา แต่เพียงอย่างเดียว แต่บางครั้งต้องอาศัยความเมตตา (กวนอิม)เข้าช่วยเหลือ
 
จนในที่สุด เมื่อเห้งเจีย (ปัญญา = การหยั่งรู้เหตุและผลของความดี ความชั่ว) ตือโป้ยก่าย(ศีล = การประพฤติดีงามทั้งกาย และวาจา) และซัวเจ๋ง (สมาธิ = จิตตั้งมั่น สงบแน่วแน่) สามารถเอาชนะตัวปลอมของตนเองได้ ณ จุดนี้จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้การเอาชนะปีศาจทำได้ง่ายขึ้น เพราะว่า มิจฉาปัญญา ได้กลายเปลี่ยนเป็น สัมมาปัญญา มิจฉาศีล ได้กลายเปลี่ยนเป็น สัมมาศีล มิจฉาสมาธิ ได้กลายเปลี่ยนเป็น สัมมาสมาธิ และรวมกันเป็นหนึ่งไม่มีความขัดแย้งกัน เป็น เอกัคตาจิต สามัคคีช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
 
นอกเหนือจากนี้ ยังมีปีศาจที่มีฤทธิ์เดชมากถึงกับแปลงกายเป็นพระยูไลปลอม ปีศาจที่ว่านี้เป็นกิเลสที่เรียกว่าวิปัสสนูปกิเลส (วิปัสสนา + อุปกิเลส) เป็นอุปกิเลสที่เกิดขึ้นในระหว่างวิปัสสนา เป็นความเพลิดเพลินไปกับความสุขความอิ่มเอมใจที่เกิดขึ้น จนยึดมั่นสำคัญผิดไปว่าตนได้บรรลุอรหัตผลแล้ว ในเรื่องเมื่อพระถังซัมจั๋งได้พบกับพระยูไลปลอม ทำให้พระถังซัมจั๋ง (ขันติ = ความอดทนเพื่อบรรลุสิ่งที่ดีงาม) เข้าใจผิดว่าบรรลุถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ไม่คิดจะเดินทางต่อ แต่เห้งเจีย (ปัญญา) รู้เท่าทัน เพราะว่าเห้งเจียตีลังกาไปไซทีนับครั้งไม่ถ้วน ย่อมรู้ว่าพระยูไล (พุทธภาวะ = สัมมาทิฏฐิ) นั้นเป็นอย่างไรจึงสามารถปราบปีศาจ และหลุดพ้นออกมาได้
 
เมื่อรู้จักตัวละครต่างๆในเรื่องกันแล้ว คราวนี้เรามาร่วมเดินทางไป ด้วยกันกับคณะของพระถังซัมจั๋ง เพื่อดูว่าพระถังซัมจั๋งจะไปพบอะไรบ้าง เมื่อพร้อมแล้ว ขอให้ท่านจงตามผู้เขียนมาร่วมเดินทางเข้าไปในจิตใจของเรากัน ณ บัดนี้



" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...