ผู้เขียน หัวข้อ: ลิงหลอกเจ้า ทะลวงวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ (น่าอ่านทั้ง 2 ฉบับ)  (อ่าน 1264 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ฉบับแท้ ดั้งเดิม เป็น ภาษาอังกฤษ ของ อาจารย์ ตรุงปะ

แปลไทย ออกมาเป็น สองฉบับ คือ





ลิงหลอกเจ้า ลอกคราบวัตถุนิยมทางศาสนา Cutting through spiritual materialism แปลโดย วีระ สมบูรณ์ และ พจนา จันทรสันติ.

เคยลงไว้ บางส่วน ลองไปอ่านได้ ตามลิ้ง ที่เหลือ ไปหาอ่านเอง ตาม หอสมุดแห่งชาติ ห้องสมุด ไม่ก็ สำนักพิมพ์เขาเลย

ลิงหลอกเจ้า : ลอกคราบวัตถุนิยมทางศาสนา ( โดย เชอเกรียม ตรุงปะ ) http://www.tairomdham.net/index.php/topic,4816.0.html

ลิงหลอกเจ้า : อริยสัจสี่ http://www.tairomdham.net/index.php/topic,2611.0.html

ลิงหลอกเจ้า : โพธิสัตวมรรค http://www.tairomdham.net/index.php/topic,2612.0.html

ลิงหลอกเจ้า : ศูนยตา http://www.tairomdham.net/index.php/topic,2613.0.html

 ลิงหลอกเจ้า : ตันตระ รูป คือ ประภัสสร http://www.tairomdham.net/index.php?topic=2615.0


อีกฉบับ เพิ่งแปล ล่าสุด เวอชั่นของ วิจักขณ์ พานิช (ตั้ม)



ทะลวงวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ
Cutting Through Spiritual Materialism

เชอเกียม ตรุงปะ บรรยาย
วิจักขณ์ พานิช แปล
คำนิยม โดย เขมานันทะ
คำนำ โดย เรจินัลด์ เรย์
สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง
พิมพ์ครั้งที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๔

ทะลวงวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ ไม่เพียงเปิดเผยกลลวงของอัตตาอย่างถึงแก่นเท่านั้น หากยังกระแทกกระทั้นอัตตาอย่างไม่ลดราวาศอก และสามารถสร้างความปั่นป่วนในจิตใจได้ แต่ถ้าตั้งสติให้ดี ก็จะพบว่า นั่นคือความปั่นป่วนของอัตตาต่างหาก จึงไม่ควรเดือดร้อนหรือหลงกลเข้าไปปกป้องมัน จะอ่านหนังสือเล่มนี้ให้ได้ประโยชน์ ต้องตั้งจิตไว้ก่อนว่า จะไม่ใจอ่อนต่อเสียงร่ำร้องวิงวอนของอัตตา หรือหวั่นไหวต่อความโกรธเกรี้ยวของมัน ขณะเดียวกันก็พึงอ่านด้วยใจที่เปิดกว้าง เพื่ออัตตาจะได้ถูกท้าทายและสั่นคลอนอย่างเต็มที่ โดยปราศจากการปกป้อง การอ่านหนังสือเล่มนี้จึงเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่เพียงฝึกใจให้เป็นกลางต่ออารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเท่านั้น หากยังเอื้อให้เกิดปัญญา นอกจากรู้เท่าทันพิษสงของอัตตาแล้ว ยังช่วยให้เราเห็นว่าความดีหรือคุณธรรมที่เรานึกว่ามีนั้น แท้จริงถูกอัตตาชักใยอยู่เบื้องหลังมากน้อยเพียงใด ส่วนการแสวงหาทางจิตวิญญาณที่เพียรทำอยู่นั้น อาจมิใช่อะไรอื่น หากคือการดิ้นรนทะยานอยากเพื่อปรนเปรอและพะเน้าพะนออัตตา ซึ่งเป็นยิ่งกว่านักลวงชั้นยอด เพราะกล่าวถึงที่สุดแล้วมันก็คือที่สุดแห่งกลลวงซึ่งเราทุกคนหลงเชื่อจนนึกว่ามันมีอยู่จริง ๆ

จาก http://www.visalo.org/prefaces/taluangWattuniyom.htm



ลองอ่าน ทะลวงวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ (Cutting Through Spiritual Materialism)

เชอเกียม ตรุงปะ บรรยาย / วิจักขณ์ พานิช แปล
สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, มีนาคม ๒๕๕๔

บนชั้นหนังสือหมวดธรรมะตามร้านในห้างสรรพสินค้า มีหนังสือเรียงเป็นตับว่าด้วยการบำบัดทุกข์บำรุงสุข ปกหนังสือสีสันสดใสออกไปทางแนวกุ๊กกิ๊กด้วยภาพประกอบแบ๊วๆ คนช่างตั้งแง่อาจจะเดินเลี่ยงไปอีกมุมที่มีหนังสือปรัชญาเซนและอะไรเทือกๆ นั้นยึดครองพื้นที่อยู่ พวกมันมักจะมีปกเรียบตามสกุลมินิมอลฯ สีออกน้ำตาลด้วยเยื่อกระดาษ หมึกจีน หมึกถั่วเหลือง ฯลฯ จนกระทั่งไล่เรียงไปยังคำสอนจากสำนักอันไม่จำกัดศาสนา นำทีมโดย OSHO และอื่นๆ อีกเทือกหนึ่ง

ทั้งหมดนั้นไม่ได้บอกอะไร และผมไม่ได้จะบอกอะไรคุณ

แต่หนังสือปกแดงที่กำลังจะพูดถึงนี้ น่าจะจัดพิมพ์ในรูปแบบที่ไม่ใช่หนังสือธรรมะ หลีกห่างให้ไกลจากตราสัญลักษณ์ประเภท ดอกบัว จักร วัชระ พระโพธิสัตว์แย้มยิ้ม และทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นความดีงาม

ในฐานะนักออกแบบ ผมคงจะฉีกปกหนังสือเล่มนี้ทิ้งไป ให้เปิดเปลือยเหลือแต่กระดาษบรรจุถ้อยคำข้างใน และจะดีที่สุดคือเราไม่ต้องรู้หรอก ว่าใครเป็นผู้แต่ง

ผมเคยเขียนรีวิวสั้นๆ ลงนิตยสาร WAY ฉบับที่ 42 ไว้ดังนี้:

แม้จะทำเป็นลืมๆ ชื่อธรรมาจารย์ทิเบตท่านนี้ไป บทบรรยายนั้นก็ยังน่าสนใจอยู่ดี เพราะมันยั่วเย้าเหล่าสาธุชนทั้งหลายจนสะอึกและหน้าชา เมื่อถ้อยคำเหล่านั้นกระเทาะลอกล่อนจนเผยความดัดจริตประดามีในตัว ‘ผู้มีศีลมีธรรม’

บรรยายที่สหรัฐอเมริกา ในยุคบุปผาชนยามที่จิตวิญญาณแห่งการแสวงหากำลังเบิกบาน แต่ช่างเหมาะเจาะกับอาการหลงทิศหลงทางทางศีลธรรมของสยามประเทศเสียจริง


. . .

ด้วยเนื้อที่อันจำกัด ประโยคสั้นๆ พวกนั้นอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือธรรมะปากร้าย แต่ก็ไม่ใช่เสียทีเดียว มันเพียงทุบทำลายความเชื่อบางอย่าง ทำให้เราสับสนงุนงงว่าอะไรกันแน่คือสิ่งที่ถูก สิ่งที่ควร

อ่านจบรอบแรกด้วยความมึนงง มีเหตุบางอย่างปะทะภายใน จนทำให้หยิบขึ้นมาอ่านซ้ำในบางบทบางตอน น่าแปลกที่ถ้อยความค่อยๆ ซึมลงไป และทางที่ดูยียวนกวนประสาทนั้น กลับเคลื่อนเผยตัวอย่างช้าๆ

สรุปสุดท้ายสำหรับหนังสือเล่มนี้ ขอยืมคำพูดของพี่คนหนึ่งในงานเสวนา “ผมคิดว่านี่ไม่ใช่หนังสือสำหรับอ่าน แต่เป็นคู่มือในการเตือนและตรวจสอบตนเอง”

จาก https://primitivesoul.wordpress.com/2011/06/21/cuttingthrough/



แนะนำทะลวงวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ

ทะลวงวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ

Cutting Through Spiritual Materialism

เชอเกียม ตรุงปะ บรรยาย
วิจักขณ์ พานิช แปล

คำนิยม โดย เขมานันทะ
คำนำ โดย เรจินัลด์ เรย์

สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง
พิมพ์ครั้งที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๔

จำนวน ๒๘๘ หน้า
ราคา ๒๐๐ บาท

หนังสือธรรมะเรต “ห” ที่ขัดต่อศีลธรรมและความสงบสุขของอัตตาอย่างแท้จริง ท้าทายความเชื่อเรื่อง “ศาสนา” ที่เคยมีมา และเปลี่ยนมุมมองต่อคำว่า “ธรรมะ” ไปโดยสิ้นเชิง ฉีกขนบงานแปลทางศาสนา ด้วยสำนวนภาษาที่เป็นกันเอง ติดดิน ตรงไปตรงมา และเต็มไปด้วยชีวิตชีวา

อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่านี่เป็นหนังสือธรรมะประเภทโฆษณาชวนเชื่อ ฮาวทู หรือเสริมสร้างสุข เลิกหวังไปเลยว่าจะเป็นหนังสืออ่านง่าย แฝงคติเตือนใจ หรือให้ข้อคิดคำคม หากจะจัดเรตติ้งให้หนังสือเล่มนี้ นี่คือหนังสือธรรมะเรต “ห” ที่ขัดต่อศีลธรรมและความสงบสุขของอัตตาอย่างแท้จริง เป็นธรรมะที่จะเปิดโปงทุกแง่มุมของการหลอกตัวเอง เปิดเผยกลไกการทำงานของอัตตา สติปัญญา และความเจ้าเล่ห์ของมันอย่างถึงรากและทะลุทะลวง จนอาจถึงขั้นเป็นภัยคุกคามต่อโลกอันสงบสุขและศีลธรรมของคนดีมีธรรมะทั้งหลายเลยทีเดียว

ผู้อ่านหนังสือเล่มนี้อาจรู้สึกราวกับโดนไม้ท่อนใหญ่ฟาดหัวเข้าอย่างจัง เพราะเนื้อหานำเสนอประเด็นท้าทายความเชื่อเรื่อง “ศาสนา” และเปลี่ยนมุมมองต่อคำว่า “ธรรมะ” ไปโดยสิ้นเชิง เช่น การปฏิบัติธรรมไม่ใช่หนทางสู่การพ้นทุกข์หรือสร้างสุข แต่คือการยอมรับและเผชิญทุกข์สุขตามที่เป็น ธรรมะไม่ใช่การตัดสินดีชั่ว ถูกผิด การกำจัดด้านมืดให้สิ้นซาก หรือการแบ่งแยกฝ่ายธรรมะจากฝ่ายอธรรม ไม่ใช่การพิพากษาว่าอัตตาเป็นสิ่งชั่วร้ายที่ต้องกำจัด แต่ต้องรู้ทันและเข้าใจมันอย่างทะลุปรุโปร่ง จนอัตตาไม่อาจมีอำนาจเหนือความรู้แจ้งของเราได้ เส้นทางจิตวิญญาณไม่ใช่เรื่องของการพยายามเปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนดีมีศีลธรรม หรือหลีกหนีจากชีวิตแบบโลกย์ๆ แต่คือการเป็นตัวของตัวเอง ยอมรับตัวเองอย่างที่เป็น ภาคภูมิใจในความเป็นคน และตระหนักว่าศักยภาพแห่งการรู้แจ้งไม่ใช่สิ่งที่ต้องสร้างขึ้นใหม่ ทว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวเราทุกคนอยู่แล้ว

ทะลวงวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ นำเสนอเนื้อหาที่กระตุ้นเตือนชาวพุทธให้หันกลับมาตระหนักในเรื่อง “วัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ” อันหมายถึงการใช้หลักธรรมคำสอน เทคนิคปฏิบัติ และภาพลักษณ์สูงส่งทางจิตวิญญาณ เพียงเพื่อการหลอกตัวเอง การเสริมสร้างอัตตา หรืออัตลักษณ์ทางศาสนา ศีลธรรม ความดี บุญบารมี ปัญญาญาณ ขั้นการบรรลุธรรม ฯลฯ อย่างปราศจากการนำพุทธธรรมมาฝึกฝนปฏิบัติจริงในชีวิต

หนังสือเล่มนี้เป็นบทบรรยายธรรมชิ้นสำคัญที่สุดของ เชอเกียม ตรุงปะ ที่ถ่ายทอดจิตวิญญาณแห่งพุทธธรรมในหัวใจคนหนุ่มรุ่นใหม่จากธิเบต สู่ผู้คนในโลกตะวันตกอย่างไม่ประนีประนอม พุทธศาสนาในโลกตะวันตกไม่ได้มีสถานะหรือต้นทุนทางสังคมใดๆ ให้ผู้ศรัทธาหยิบฉวยมาสร้างอัตลักษณ์ทางศาสนา อีกทั้งคนส่วนใหญ่ยังรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับข้อบังคับ กฎเกณฑ์ และความรู้สึกผิดบาปจากศาสนาที่พวกเขาเคยยึดถือมาหลายชั่วคนอีกด้วย ดังนั้นก่อนเข้าสู่เส้นทางพุทธศาสนา ผู้คนเหล่านี้จึงต้องการแผนที่ที่สามารถบอกถึงหัวใจและรายละเอียดของเส้นทางทั้งหมดด้วยความเปิดเผยตรงไปตรงมา และหนังสือเล่มนี้ได้แสดงแผนที่นั้นไว้อย่างครบถ้วน

แม้ Cutting Through Spiritual Materialism จะเป็นหนังสือสำคัญทางพุทธศาสนาสายวัชรยานในโลกตะวันตก และเป็นคำสอนแรกที่ เชอเกียม ตรุงปะ ถ่ายทอดในทวีปอเมริกาเหนือ ช่วงปี ค.ศ. ๑๙๗๐ และ ๑๙๗๑ แต่กล่าวได้ว่านี่เป็นหนังสือที่ “ไร้กาลเวลา” เพราะแม้จะผ่านมาถึง ๔๐ ปีแล้ว ทว่าแก่นพุทธศาสนาวัชรยานที่ได้รับการถ่ายทอดอยู่ในหนังสือเล่มนี้ยังคงสื่อสารได้กับผู้คนทุกยุคทุกสมัยและทุกวัฒนธรรม รวมทั้งสังคมไทยยุคปัจจุบันที่กำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงราก

บริบทของหนังสือเล่มนี้มีความคล้ายคลึงกับปรากฏการณ์ทางจิตวิญญาณที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ นั่นคือคำสอนทางศาสนามักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมสิ่งที่เข้ามาก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง (ซึ่งมักถูกมองในฐานะสิ่งคุกคาม) เราจะรู้เท่าทันอำนาจการบิดเบือนคำสอนทางศาสนาของอัตตาได้อย่างไร? คำสอนทางจิตวิญญาณควรถูกนำมาใช้ในการตั้งคำถามกับความเป็นไปของสังคมและตัวเราเองอย่างไร? การแสวงหาคุณค่าทางจิตวิญญาณของคนรุ่นใหม่ควรเป็นไปในทิศทางใดจึงจะสอดคล้องกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิต? เหล่านี้เป็นคำถามที่มีอยู่ในหัวใจของผู้แสวงหาสัจจะทุกยุคทุกสมัย

ในแง่สำนวนการแปล วิจักขณ์ พานิช ฉีกขนบงานแปลทางศาสนา ด้วยการใช้สำนวนภาษาที่เป็นกันเอง ติดดิน ตรงไปตรงมา และเต็มไปด้วยชีวิตชีวา เขาใช้ประสบการณ์จากการฝึกฝนอยู่ในสายปฏิบัติของ เชอเกียม ตรุงปะ ถ่ายทอดหัวใจสำคัญของการสื่อสารธรรมะที่ไปพ้นถ้อยคำ มีสไตล์การใช้ภาษาที่เต็มไปด้วยลูกเล่น สำนวน อุปมาอุปไมย คำประดิษฐ์ สแลง มุขตลก ยึดหลักการถ่ายทอดคำสอนปากเปล่า คือการใช้ภาษาพูด บทสนทนาโต้ตอบที่ไม่เป็นทางการ และมีความเป็นเสรีนิยมตามบริบทการสื่อสารธรรมะสู่คนหนุ่มสาวอเมริกันยุค ๗๐ ด้วยเหตุที่ว่า นั่นคือสิ่งสำคัญที่ทำให้งานชิ้นนี้มีความน่าสนใจและสามารถสื่อสารได้เหมาะสมกับบริบทที่พุทธศาสนาไทยในโลกสมัยใหม่กำลังเผชิญอยู่




นานาทัศนะต่อ "ทะลวงวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ"
 
พระไพศาล วิสาโล พระนักสันติวิธี  เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต

ทะลวงวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ ไม่เพียงเปิดเผยกลลวงของอัตตาอย่างถึงแก่นเท่านั้น หากยังกระแทกกระทั้นอัตตาอย่างไม่ลดราวาศอก และสามารถสร้างความปั่นป่วนในจิตใจได้  แต่ถ้าตั้งสติให้ดีก็จะพบว่า นั่นคือความปั่นป่วนของอัตตาต่างหาก จึงไม่ควรเดือดร้อนหรือหลงกลเข้าไปปกป้องมัน  จะอ่านหนังสือเล่มนี้ให้ได้ประโยชน์ ต้องตั้งจิตไว้ก่อนว่า จะไม่ใจอ่อนต่อเสียงร่ำร้องวิงวอนของอัตตา หรือหวั่นไหวต่อความโกรธเกรี้ยวของมัน  ขณะเดียวกันก็พึงอ่านด้วยใจที่เปิดกว้าง เพื่ออัตตาจะได้ถูกท้าทายและสั่นคลอนอย่างเต็มที่โดยปราศจากการปกป้อง  การอ่านหนังสือเล่มนี้จึงเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่เพียงฝึกใจให้เป็นกลางต่ออารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเท่านั้น หากยังเอื้อให้เกิดปัญญา  นอกจากรู้เท่าทันพิษสงของอัตตาแล้ว ยังช่วยให้เราเห็นว่าความดีหรือคุณธรรมที่เรานึกว่ามีนั้น แท้จริงถูกอัตตาชักใยอยู่เบื้องหลังมากน้อยเพียงใด”   
 
ภาวนา แก้วแสงธรรม บรรณาธิการแพรวสำนักพิมพ์
“ทะลวงวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ ทำลายโลกแห่งความดีงามที่เราเคยยึดมั่นถือมั่นลงอย่างราบคาบ  เราจะกลัวตัวเองจับใจแม้อ่านไปได้เพียงน้อยนิด  หนังสือเล่มนี้บอกเราว่า ธรรมะย่อยง่ายไม่ใช่ธรรมะ การปฏิบัติธรรมไม่ใช่กิจกรรมเพื่อความรู้สึกดีหรือเยียวยาตัวเอง  อ่านๆ ไปแล้วอาจถึงขั้นเบื่อหน่ายเส้นทางไปสู่นิพพาน  ไม่เหมาะสำหรับคนที่เป็นพุทธศาสนิกชนด้วยความหวัง ควรสงวนไว้อ่านเฉพาะผู้นิยมความจริงอันเจ็บปวดเท่านั้น”
 
อาจารย์วันรัก สุวรรณวัฒนา  คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“เล่มนี้เขาตบหน้าเราฉาดใหญ่ดีแท้... อ่านแล้วอุทานเลยว่า ‘เชี่ย กรูถูกหลอก (อีกแล้ว) มาตลอดทั้งชีวิตเลยหรือนี่!’  ตาสว่างทางจิตวิญญาณจริงอะไรจริง  เหมาะสำหรับผู้ที่เรียกตนเองว่า ‘พุทธศาสนิกชน’ ทั้งหลายที่เข้าวัด นั่งสมาธิและเป็นคนดี”
 
อาจารย์สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการพุทธศาสนากับสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาหัวหิน
“เสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้คือการถ่ายทอดพุทธศาสนาออกมาจากชีวิตสู่ชีวิต ไม่ใช่ถ่ายทอดจากตัวบทในคัมภีร์…พุทธศาสนาที่ออกมาจากชีวิต ไม่แข็งทื่อ ไม่พันธนาการ ไม่ข่มขู่ด้วยความผิดบาป (นรก) ไม่มอมเมาด้วยบุญกุศลเพื่อความสุขส่วนตัว (สวรรค์) ทว่าชวนให้เราไตร่ตรองอย่างลึกซึ้ง และมองความจริงตามที่เป็นเพื่ออยู่กับสุขทุกข์ในโลกของความเป็นจริง และจัดการกับทุกสิ่งด้วยสติปัญญาของเราเอง  ผมคิดว่าสังคมเราควรมีการนำเสนอพุทธศาสนาในแง่มุมที่ทำให้เราเคารพความเป็นมนุษย์ของตนเองและคนอื่นๆ  มั่นใจในความดีงามที่มีอยู่ในตนเองและเพื่อนมนุษย์ให้มากขึ้น”
 
รศ.ดร. วีระ สมบูรณ์  ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ (ผู้แปลร่วมกับ พจนา จันทรสันติ ในฉบับแปลปี ๒๕๒๘ ในชื่อ ลิงหลอกเจ้า : ลอกคราบวัตถุนิยมทางศาสนา )
"ขอชื่นชมที่ Cutting Through Spiritual Materialism ได้รับการแปลโดยผู้ที่ผ่านการศึกษาและประสบการณ์จาก Naropa Institute มาแล้ว  ผมเชื่อว่าฉบับแปลใหม่นี้จะได้รับการต้อนรับจากสาธารณชนและมีคุณูปการมากอย่างแน่นอน เพราะเวลานี้สถานการณ์ ‘วัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ’ กำลังแพร่หลายอยู่ทั่วไปในหลายมิติทีเดียว"
 
เพ็ญศิริ จันทร์ประทีปฉาย  อดีตหัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสาร สารคดี / ผู้ทำหน้าที่พิสูจน์อักษรหนังสือ ทะลวงวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ
"ในฐานะนักเดินทางบนเส้นทางแห่งจิตวิญญาณ ผู้มีคำถามสำคัญว่า เกิดมาทำไม? อยู่ไปเพื่ออะไร? จะมีชีวิตอย่างคนธรรมดาในโลกความเป็นจริง ทุกข์จริง เจ็บจริง และนำธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง โดยไม่ต้องทำตัวธรรมะธัมโมได้ไหม ?…ทะลวงวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ คือหนังสือที่ตอบคำถามเหล่านั้นอย่างตรงไปตรงมา ทะลุทะลวง ไม่ดัดจริต และไม่แคร์ความรู้สึกกันเลย แถมยังท้าทายความเชื่อที่เคยมีมา และเปลี่ยนมุมมองต่อคำว่า 'ธรรมะ' ไปโดยสิ้นเชิง
 
"เมื่อเริ่มอ่าน รู้สึกเหมือนโดนไม้ท่อนใหญ่ฟาดหัวเข้าอย่างจัง และถูกลากออกจากความฝันอันสวยงามสงบเย็น เมื่ออ่านจบ รู้สึกเหมือนได้รองเท้าคู่ใหม่ที่ให้อิสรภาพและความรื่นรมย์ในการเต้นระบำไปกับชีวิตและความทุกข์…อย่างมีทิศทาง
 
"ในฐานะคนอ่านหนังสือ ผู้ไม่อินกับสำนวนโวหารสูงส่งอลังการ นี่คือหนังสือซึ่งมีสำนวนการแปลเป็นกันเองราวกับบทสนทนาในกลุ่มเพื่อนสนิท วิจักขณ์มีศักยภาพในการใช้สำนวนแปลที่ธรรมดา ทว่าเต็มไปด้วยชีวิตชีวา 'ในแบบของเขา' เพื่อสื่อสารข้อความอันไม่ธรรมดาไปยังผู้คนในโลกปัจจุบัน ทั้งยังสามารถสร้างอารมณ์การอ่านที่หลากหลาย…สนุก ตลก เจ็บแสบ ประชดประชัน ตกใจ สับสน สิ้นหวัง ฯลฯ และซาบซึ้ง จนต้องเสียน้ำตาไปหลายตอน …จะว่าไปแล้ว การเขียนหนังสือด้วยสำนวนง่ายๆ และติดดิน แต่ให้อ่านสนุกด้วย เอาเข้าจริงก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป
 
"ในฐานะคนทำหนังสือ ผู้เชื่อมั่นว่าภารกิจสำคัญของวิชาชีพคือการทำงานที่มีคุณค่า นี่คืองานที่ตัดสินใจตอบรับทำในทันทีที่อ่านสองบทแรกจบลง การได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือที่เต็มไปด้วยพลังเล่มนี้ ถือเป็นความอิ่มใจครั้งสำคัญในชีวิต"

จาก http://vichak.blogspot.com/
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...