ครูกับศิษย์ วิปัสสนาบนหน้าข่าว โดย พิสุทธิ์ เกรียงบูรพา
ความสัมพันธ์ฉันครูและศิษย์ ในชีวิตจริง บางครั้งก็สลับกันได้ ...
ครู ก. จบ ปริญญาตรีมาใหม่ๆ ก็มาเป็นอาจารย์สอนคณิตศาสตร์ นาย ข. ตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมปลาย สอนเก่งจนนาย ข.ได้ดี สอบเอนท์ติดวิศวะ เรียนกระทั่งจบดอกเตอร์ บรรจุเป็นอาจารย์สอนปริญญาโท ซึ่งวันหนึ่งครู ก. เข้ามาเรียนต่อปริญญาโทในภาควิชาที่นาย ข. สอนพอดี .... หากรักใคร่กันดี ไม่มีอัตตาอะไรมากมาย ต่อไปนี้เวลานาย ก. และนาย ข. เจอกัน ต่างคนก็เลยต่างเรียกว่าอาจารย์ เหมือนกันทั้งคู่
เห็นไหมครับว่า โลกมันกลม (ฝรั่งว่า The world is small) ลูกศิษย์กับ อาจารย์ บางครั้งก็สลับกันไป สลับกันมา น่ารักดี …
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ก็ตกกรณีคล้ายๆ กัน เมื่อครั้งยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะอยู่นั้น ก็มีพราหมณ์หัวก้าวหน้า (กล้าคิด กล้าทำนอกกรอบความเชื่ออย่างอนุรักษนิยม) อย่างท่านโกณฑัญญะ เป็นอาจารย์ทางด้านจิตวิญญาณ ตั้งแต่ประสูติกระทั่งเติบใหญ่วัย ๒๙ พรรษา เจ้าชายสิทธัตถะพร่ำเรียกหาแต่อาจารย์โกณฑัญญะ ให้ช่วยตอบคำถามแห่งชีวิตมากมาย ทั้งๆ ที่ยังทรงวัยเยาว์ แต่กลับมีหลายๆ คำถามที่พราหมณ์ไอคิวสูงยังตอบไม่ได้เลย
กระทั่งพระองค์ต้องเข้าป่าหาคำตอบด้วยตัวเอง กระทั่งตรัสรู้โพธิญาณ พบหนทาง ตัดรากถอนโคนกิเลสตัณหา หักโครงเรือนปฏิจจสมุปบาทสายเกิดทุกข์ได้อย่างสะบั้น ดับทุกข์สิ้นเชิง ในอีก ๖ ปีต่อมา
คราวนี้เมื่ออดีตอาจารย์โกณฑัญญะพบพระองค์ปีติล้นพ้น เต็มใจก้มกราบแทบพระบาท ผู้เคยเป็นอาจารย์กลายเป็นศิษย์ ส่วนผู้เป็นศิษย์กลับกลายเป็นอาจารย์ หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าเป็นอาจารย์ตลอดกาลสำหรับท่านอัญญาโกณทัญญะ (หลังท่านบรรลุพระโสดาบันแล้ว พระพุทธองค์ ทรงเรียกเป็น อัญญาโกณฑัญญะ, ความหมายคือ โกณฑัญญะ รู้แล้วหนอๆ) เลยทีเดียว
ผู้เป็นอาจารย์ ย่อมมีใจเมตตา สอนกันแบบเทวิชาให้ศิษย์อย่างหมดไส้หมดพุง ทั้งยังมีใจเป็นพรหมวิหาร คือแม้ศิษย์จะได้สภาวะจิต หรือสภาวธรรมที่ก้าวหน้าไปกว่าผู้เป็นอาจารย์ พวกท่านก็ล้วนแต่ยินดี มีแต่มุทิตาจิตให้ เพียงแต่ไม่สามารถแนะนำอะไรเพิ่มเติมได้มากกว่านั้น เพราะศิษย์ได้รู้ไปมากกว่าอาจารย์แล้ว ได้แต่ส่งเสริม อนุเคราะห์ เกื้อหนุนกันไป อย่างเช่น พระป่าสมัยกึ่งพุทธกาล หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ท่านเป็นพระอาจารย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ผู้ถ่ายทอดวิชากรรมฐานให้แก่หลวงปู่มั่นจนหมดภูมิ กระทั่งความก้าวหน้าในจิตตภาวนาของศิษย์ เขยิบไปไกลกว่าอาจารย์แล้ว วันหนึ่งหลวงปู่มั่นขอโอกาสถามเพิ่มเติม ก็ได้คำตอบจากท่านอาจารย์เสาร์ว่า ...
“สมาธิท่านผาดโผน ขนาดไปเดินจงกรมในอากาศอย่างนั้น ใครจะไปแนะนำอะไรได้อีกเล่า?”
…
ความสัมพันธ์ของครูและศิษย์ บางครั้งก็ดุเดือด ...
อย่างเช่น ครูบาฮวงโป ... หลานศิษย์เซนฝ่ายบรรลุฉับพลัน (Sudden Knowledge) ของท่านเว่ยหลาง (สังฆปริณายกแห่งเซนองค์สุดท้ายของโลก) พำนักอยู่ฝ่ายใต้ ครั้งหนึ่งท่านครูบาได้เข้าร่วมในที่ประชุมแห่งหนึ่ง ที่สำนักงานข้าหลวงควบคุมเกลือแห่งพระจักรพรรดิ ซึ่งในการประชุมคราวนั้นมีจักรพรรดิ ไต้-ซุง ในขณะที่สมาทานศีลอย่างสามเณรรวมอยู่ด้วยคนหนึ่ง
สามเณรได้สังเกตเห็นท่านครูบา เข้าไปในห้องโถงตั้งเครื่องบูชา และทำการหมอบกราบต่อพระพุทธรูปสามครั้ง
เนื่องจากเหตุนั้น สามเณรได้ถามท่านครูบาว่า "ถ้าเราไม่ต้องแสวงหาอะไรจากพุทธะ ธรรมะ หรือสังฆะแล้ว พระคุณเจ้าหมอบกราบสามครั้งเช่นนั้นเพื่อแสวงหาอะไร?
ท่านครูบาตอบว่า “แม้ว่าเราไม่แสวงหาอะไรจากพุทธะ พระธรรม หรือพระสงฆ์ก็ตาม มันเป็นธรรมเนียมของเราที่จะต้องแสดงความเคารพโดยวิธีนี้”
“แล้วการทำเช่นนั้น มันได้สนองเจตนาอะไรของเราให้สมประสงค์ได้บ้าง?” สามเณรได้ขืนซักต่อไป จนทำให้ถูกตบโดยกะทันหันข้าครั้งหนึ่ง
สามเณรได้ร้องขึ้นว่า “โอ ท่านนี่หยาบจริง!”
ท่านครูบาได้ร้องขึ้นว่า “หยาบชนิดไหนกัน จงนึกว่าเป็นการทำให้เห็นความแตกต่าง ระหว่างละเอียดกับหยาบก็แล้วกัน” กล่าวดังนั้นแล้วก็ตบหน้าสามเณรเข้าอีกฉาดหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สามเณรเอง ต้องแจวอ้าวไปที่อื่น
วิธีการที่ครูเซนสอนศิษย์นั้น ไม่แตกต่างจากพระป่าในประเทศไทยที่สอนศิษย์ และไม่แตกต่างจากพระบ้านที่ปฏิบัติเข้มสอนศิษย์ เช่นเดียวกับครูบาอาจารย์พระทุกนิกายที่สอนศิษย์ ทุกสำนัก ทุกนิกายที่สอนตรงทางเดียวกับพระพุทธเจ้า ต่างมีวิธีการสอนศิษย์ชนิดดุเดือดกันทั้งนั้น เพื่อให้ศิษย์ตื่นจากความฝัน หรือหลุดออกจากความยึดติด ไม่ก็ทำกระเทาะอัตตาตัวตนให้กระเด็นออก ด้วยวิธีจากจิตถึงจิต ที่ลอกเลียนกันไม่ได้
การสอนและการเรียนอย่างนี้ เกิดขึ้นตามสถานการณ์ที่กระทบในเวลานั้น คาดเดาไม่ได้ ครูจะทำให้ศิษย์โพล่ง หรือหลุดออกจากกับดักทีี่ติดอยู่ในในทันทีด้วยวิธีการที่คาดไม่ถึง และภาวะความเป็นครูกับศิษย์นี้ ลึกซึ้งนัก ไม่เพียงแต่การสอนที่่ดุเดือดแต่ความเมตตาก็เหลือประมาณด้วยเช่นกัน ครูบาเซน เวลาสอนศิษย์ก็จะไหว้ศิษย์ ให้เกียรติศิษย์มาก เพราะท่านรู้ว่า วันหนึ่ง ศิษย์ก็จะมาเป็นครู ยิ่งไปกว่านั้น ศิษย์จะมาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต!
ศิษย์อาจารย์ ผันเปลี่ยน เวียนสลับ
ชีวิตหนึ่ง อาจเปลี่ยนปรับ กันหลายหน
ความสัมพันธ์ อันลึกซึ้ง ทั้งสองคน
ล้วนส่งผล ต่อการ บรรลุธรรม
ความก้าวหน้า ของธรรม อยู่ที่จิต
อันพุทธะ คือจิต ที่ลึกล้ำ
เมื่อลุถึง จิตจึง อยู่เหนือกรรม
หมดสมมุติ ในความ สัมพันธ์เอยฯ
จาก
http://www.komchadluek.net/news/lifestyle/218821