อิตถีโพธิสัตว์บทความโดย กิตติ วัฒนะมหาตม์
ศาสนาพุทธนิกายวัชรยาน โดยเฉพาะในฝ่ายทิเบต อันพัฒนามาจากนิกายมหายานนั้น มีพระโพธิสัตว์ เทพเจ้าและเทพนารีเป็นอันมาก ซึ่งมิได้ปรากฏในพุทธประวัติ แต่กลับทรงมีบทบาทสำคัญเป็นส่วนหนึ่งของหลักการทางศาสนา ที่เห็นได้ชัดก็คือ
พระโพธิสัตว์ตารา (Tara) และพระโพธิสัตว์เพศหญิงอีกหลายองค์ ทรงได้รับการสักการบูชาในระดับสูงมาก
ยิ่งในยุคปัจจุบัน ที่ชาวยุโรปและอเมริกันจำนวนมากเกิดความตื่นตัวและให้ความสนใจในศาสนาพุทธวัชรยานทิเบต ที่ได้รับการเผยแพร่และตั้งรกรากอย่างมั่นคงในโลกตะวันตกมาหลายสิบปีแล้ว เหล่านี้ก็ยิ่งทรงเป็นที่รู้จักแพร่หลาย และทรงได้รับการสักการะบูชามากกว่าพระโพธิสัตว์ที่สำคัญที่สุดในทางมหายานและวัชรยาน อย่างพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเสียด้วยซ้ำไป
การที่ได้รับความนิยมในการนับถือบูชาอย่างสูงในระดับสากล โดยเฉพาะในสังคมของผู้ใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาในด้านปัญญาญาณเช่นนี้ ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการโฆษณาชวนเชื่อ แต่แสดงให้เห็นถึงคุณวิเศษหลายประการของอิตถึโพธิสัตว์ทั้งหลาย อันเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้นับถือชาวตะวันตกที่ปฏิเสธทั้งโลกวิทยาศาสตร์ และกรอบแห่งความศรัทธาตามแบบศาสนาคริสต์ คนเหล่านี้ย่อมจะไม่รับเชื่อสิ่งใดด้วยเพียงอาศัยจินตนาการ ความงมงาย และความเพ้อฝันเป็นแน่
ความจริง คนไทยเราก็คุ้นเคยกับเทวปฏิมาของพระโพธิสัตว์เพศหญิงเหล่านี้อยู่ระดับหนึ่ง เพราะอย่างน้อย ประติมากรรมรูปเทวสตรีฉลองพระองค์แบบทิเบตขนาดห้อยคอและขนาดตั้งหน้ารถ ซึ่งคนไทยเราเอามาขายในนามของพระแม่อุมา หรือพระมหาโพธิสัตว์กวนอิมปางทิเบตนั้น แท้ที่จริงล้วนเป็นเทวรูปของ พระศยามตาราโพธิสัตว์ ทั้งสิ้น
และ ณ เวลานี้ เทวปฏิมาของพระแม่เจ้าทั้งหลายเหล่านี้ยิ่งปรากฏให้เห็นมากขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งในตลาดท่าพระจันทร์ที่กล่าวแล้ว ไปจนถึงร้านที่จำหน่ายเทวรูปต่างๆ ในศาสนาฮินดู ไม่ว่าจะดำเนินกิจการโดยชาวอินเดียหรือชาวไทยก็ตาม โดยเฉพาะผู้ค้าเทวรูปแหล่งใหญ่ในท่าพระจันทร์รายหนึ่งถึงกับยืนยันว่า “พระทิเบต” ขณะนี้กำลังได้รับความนิยมมากทีเดียว
ผมจึงเห็นสมควรนำเรื่องราวของอิตถึโพธิสัตว์ที่สำคัญในศาสนาพุทธนิกายวัชรยานเหล่านี้ มากล่าวถึง “โดยสังเขป” ในบทความนี้ เพื่อให้ทุกท่านที่สนใจได้มีอะไรที่เป็นเหมือน shortnote สำหรับเรื่องราวของอิตถีโพธิสัตว์เหล่านี้โดยเฉพาะ ส่วนถ้าใครอยากอ่านยาวๆ ก็มี website ภาษาไทยกล่าวถึงโดยละเอียดอยู่แล้วทุกองค์ หรือจะให้ผมเขียนเป็นพ็อคเก็ตบุ๊คก็ได้นะครับ ถ้ามีเสียงเชียร์มากพอ
จะขอลำดับเรื่องราวของอิตถีโพธิสัตว์แต่ละองค์ ตามความนิยมในปัจจุบันนะครับ
พระโพธิสัตว์ตารา (Tara) ถือกำเนิดจากรัศมีสีเขียวอันเปล่งออกมาจากพระเนตรของพระธยานิพุทธอมิตาภะ อีกคัมภีร์หนึ่งว่าพระนางตาราเกิดจากน้ำตาของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ เมื่อมองเห็นว่าสัตว์โลกมีแต่ความทุกข์ น้ำพระเนตรของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหยดหนึ่งร่วงลงไปในหุบเขาเกิดเป็นทะเลสาบ ต่อมาก็มีดอกบัวทิพย์ดอกหนึ่งผุดขึ้นมาในทะเลสาบนั้น เมื่อดอกบัวบานออกภายในก็ปรากฏรูปพระนางตารา ในขณะที่ตำนานบางฉบับกล่าวว่า พระนางตาราเกิดจากรังสีธรรมของพระอมิตาภะพุทธะ
พระนางตาราทรงได้รับการบูชาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๘ - ๑๑ ในอินเดียเหนือ และแพร่หลายที่สุดในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๗ โดยพระภิกษุอสังคะเป็นผู้ริเริ่ม โดยถือว่าเป็นชายาของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์
เชื่อกันว่า แนวคิดการบูชาพระนางตาราเริ่มขึ้นในอินเดียเพื่อต่อต้านพิธีกรรมสตีของอินเดียครับ
พระนางทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นมารดาของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลายในด้านของกรุณา ซึ่งยังคงเป็นคติความเชื่อของชาวมองโกเลียอยู่ในปัจจุบันนี้ ภาพลักษณ์ของพระนางส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลมาจากพระนางสิริมหามายาเทวี มารดาของพระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า
พระนางตาราทรงได้รับความนิยมนับถือมากในทิเบตจนกระทั่งปัจจุบันนี้ทุกวันนี้ครับ เรียกกันว่า
พระเทวีโดลมา (Dol-ma) ทรงมีทิพยฐานะเป็นเทวีแห่งความเมตตากรุณาและทรงเป็นราชินีสวรรค์ ว่ากันว่าศาสนาพุทธวัชรยานทิเบตนั้นนับถือพระนางเป็นเทพสูงสุดเลยทีเดียว
แต่เดิมพระนางตารามีเพียง ๒ รูป คือวรรณะขาวและเขียว ต่อมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีถึง ๒๑ รูป หรือ ๒๑ ปางด้วยกัน แต่ที่นิยมนับถือกันมากนั้นมีอยู่เพียง ๒ ปาง เท่านั้น คือ
พระสิตตาราโพธิสัตว์ หรือพระนางตาราวรรณะขาว บางทีก็เรียกว่า พระจินดามณีจักรตารา เป็นเทวีประจำเวลากลางวัน ทรงประทานความเข้าถึงพุทธธรรม ความเข้าถึงธารณีมนต์ทุกบท ทรงให้จิตวิญญาณในการเข้าถึงพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวง ทรงประทานโอกาสในการทำความดีให้แก่ผู้บูชาได้หลุดพ้นจากวิบากกรรมทั้งปวง ทรงเป็นองค์แรกที่ผู้สนใจใคร่รู้และศรัทธาในพุทธนิกายมหายานวัชรยานควรบูชา
พระศยามตาราโพธิสัตว์ หรือพระนางตาราวรรณะเขียวแก่ เป็นเทวีประจำเวลากลางคืน ประทับนั่งห้อยพระบาทบนดอกบัว มี ๒ กร พระหัตถ์หนึ่งทำปางวรัทมุทรา อีกพระหัตถ์ถือดอกบัวตูมสีขาว เมื่อเป็นชายาของพระธยานิพุทธอโมฆสิทธิจะประทับนั่งขัดสมาธิ และบนพระหัตถ์ที่ถือดอกบัวนั้นจะมีรูปวิศววัชระ พระศยามตาราโพธิสัตว์ยังมีอีกหลายรูปและมีนามเฉพาะในแต่ละรูปนั้นเช่นเดียวกับพระสิตตารา และเป็นวรรณะที่ได้รับความนิยมนับถือมากในทิเบต
วรรณะอื่นๆ ของพระนางตาราที่ปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งเช่นกัน คือ กุรุกุลลา หรือวรรณะแดง และ เอกชฎา หรือวรรณะฟ้า ทั้งสองวรรณะนี้เป็นพระนางตาราในปางดุร้ายทั้งสิ้น
สรุปแล้วพระนางตาราทรงมีวรรณะครบตามตระกูลพระธยานิพุทธ ๕ ตระกูล จึงทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นศักติของพระธยานิพุทธทั้ง ๕ องค์ด้วย
มนต์สำหรับบูชาพระสิตตาราโพธิสุตว์ คือ โอม ตาเร ตุตตาเร ตุเร มามะ อายุหะ ปุณญะ ชะญาณะ ปุษติม กุรุ สวาหะฯ
และมนต์สำหรับบูชาพระศยามตาราโพธิสัตว์ คือ โอม ตาเร ตุตตาเร ตุเร สะวาหะฯ
อิตถึโพธิสัตว์ ที่ได้รับความนิยมบูชาเป็นอันดับสองรองจากพระนางตารา ก็คือ
พระนางปรัชญาปารมิตา (Prajnaparamita)
ในเทววิทยามหายานอธิบายไว้ว่า ทรงเป็นมหาเทวีที่เกิดจาก
มหาปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร ที่มีบทบาทสำคัญตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๖-๑๒ พระนางทรงมีฐานะเป็นมารดาของพระพุทธเจ้า หรือเป็นภาคสำแดงของพระอักโษภยะพุทธะ เป็นสัญลักษณ์ของสุญตา
คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตร เป็นคัมภีร์สำคัญของพุทธศาสนานิกายมหายานครับ ชาวพุทธในฝ่ายมหายานเชื่อกันว่าเป็นคัมภีร์เก่าแก่มีมาแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นว่า มนุษย์ในช่วงเวลานั้นยังไม่มีปรีชาญาณพอจะศึกษาคัมภีร์ฉบับนี้ได้ จึงทรงมอบให้พวกนาครักษาไว้ในเมืองบาดาล ครั้นเวลาล่วงมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๔ นาคารชุนจึงได้ไปนำคัมภีร์นี้มาจากเมืองบาดาลมาให้ชาวพุทธได้ศึกษาเล่าเรียนกัน
มหาเทวีปรัชญาปารมิตาทรงได้รับความนิยมมากในอินเดียตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑ ได้รับการยกย่องว่าเป็นเทวีผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ ผู้ที่ต้องการศึกษาวิชาความรู้โดยเฉพาะพระธรรมให้แตกฉานจะต้องบูชาพระนางปรัชญาปารมิตา ในคัมภีร์สาธนะมาลามีสาธนะถึง ๙ บทที่บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับมหาเทวีองค์นี้ (สาธนะที่ ๑๕๑-๑๕๙) และมีอยู่ ๒ บทที่กล่าวว่าพระนางทรงอยู่ในตระกูลของพระธยานิพุทธอักโษภยะ
แต่โดยทั่วไปแล้ว มิได้ถือกันพระนางสังกัดตระกูลใดแน่นอน เพราะในเทวรูปพระนางปรัชญาปารมิตาที่ทรงมีพระพุทธรูปอยู่บนศิราภรณ์นั้น พระพุทธรูปองค์นั้นก็มีทั้งที่เป็นพระธยานิพุทธอักโษภยะ และพระธยานิพุทธอมิตาภะ
เทวรูปพระนางปรัชญาปารมิตามีเศียรเดียว และส่วนมากจะมี ๒ กร ที่มี ๔ กรก็มีบ้าง และมี ๓ วรรณะ คือ สิตปรัชญาปารมิตา หรือวรรณะขาว, ปิตปรัชญาปารมิตา หรือวรรณะเหลือง และ กนกปรัชญาปารมิตา
มนต์สำหรับบูชาพระนางปรัชญาปารมิตา คือ โอม คะเต คะเต ปะระคะเต ปะระสัมคะเต โพธิ สะวาหะฯ
พระโพธิสัตว์เพศหญิงในศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน-วัชรยานนอกจากนี้ ยังมีอีกหลายองค์ที่ทรงได้รับความนิยมนับถือกันมาก บางองค์กลายร่างมาจากธารณีมนต์และภูมิต่างๆ ตลอดจนบารมี (ปารมิตา) ต่างๆ อีกด้วย
ดังเช่น ในคัมภีร์นิษปันนโยควลีได้พรรณนาถึงเทพนารีทั้ง ๑๒ ที่กลายร่างจากธารณีมนต์คือ พระสมาตี พระรัตโนลกา พระอุษณีษวิชยา พระมารี พระพรรณศวรี พระชางคุลี พระอนันตมุขี พระจุณฑา พระปรัชญาวรรธนี พระสรวกรรมาวรณวิโศธนี พระอักษญาณการัณฑา และพระสรวพุทธธรรมโกศวดี เทพนารีทั้งหมดนี้อยู่ในตระกูลพระธยานิพุทธอโมฆสิทธิ
ในบรรดาอิตถีโพธิสัตว์เหล่านี้ ที่ทรงมีบทบาทเป็นที่นับถือกันแพร่หลายอยู่ในศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน-วัชรยาน อาจลำดับได้ดังต่อไปนี้ครับ
๑) พระมาริจีโพธิสัตว์ (Marichi) เป็นเทวีแห่งแสงอาทิตย์ยามเช้า ในทางเทววิทยาอธิบายว่ากลายรูปมาจาก พระอุษาเทวี ในคัมภีร์พระเวทของศาสนาพราหมณ์ ในคัมภีร์สาธนะมาลามีสาธนะถึง ๑๖ บทที่บรรยายถึงเทพนารีองค์นี้ในรูปแบบต่างๆ กันถึง ๖ รูปแบบ มี ๑, ๓ และ ๖ พักตร์ และมีพระกร ๒, ๘ ,๑๐ และ ๑๒ กร ตามคติเดิมทรงปราศจากพระชงฆ์เช่นเดียวกับพระราหู แต่นิยมวาดหรือปั้นหล่อให้มีพระชงฆ์ครบสมบูรณ์
อิตถีโพธิสัตว์องค์นี้ มักประทับบนราชรถที่ลากด้วยหมู ๗ ตัว บังคับโดยสารถีซึ่งไม่มีขาเช่นกัน เหมือนกับสุริยเทพในศาสนาพราหมณ์ที่ทรงราชรถลากด้วยม้า ๗ ตัว บังคับโดยพระอรุณซึ่งไม่มีพระชงฆ์ครับ
พระมาริจีอยู่ในตระกูลของพระธยานิพุทธไวโรจนะ ทรงได้รับการนับถือกันมากในทิเบตและจีน โดยพระลามะในทิเบตนิยมบูชาเทพนารีองค์นี้ในเวลาเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น
พระนางทรงเป็นองค์เดียวกับ เต๋าบ้อ หรือพระแม่ดวงดาวในศาสนาเต๋าของจีน ซึ่งได้รับการบูชาในฐานะองค์ประธานของกิ่วอ๊วง หรือคณะเทพยดาทั้ง ๙ ในเทศกาลกินเจของชาวจีนโพ้นทะเล รวมทั้งในประเทศไทยด้วยครับ
มนต์สำหรับบูชาพระมาริจี คือ โอม มาริจี สะวาหะฯ
๒) พระจุณฑา หรือ จุณฑีโพธิสัตว์ (Chunda) เป็นหนึ่งในกลุ่มเทวี ๑๒ องค์ที่กลายร่างมาจากธารณีมนตร์ แต่บางคัมภีร์เช่นในคัมภีร์มัญชูวัชระมณฑล หรือแม้แต่คัมภีร์นิษปันนโยควลีเองกลับกล่าวว่าทรงอยู่ตระกูลของพระธยานิพุทธไวโรจนะ เทพนารีองค์นี้ทรงมีพระนามอื่นอีก เช่น จุนทรา จันทะ จันทรา หรือจุณฑวัชรี ในคัมภีร์สาธนะมาลามีสาธนะอยู่ ๓ บทบรรยายถึงพระนางว่าทรงมี ๔ กร หรือ ๑๖ กร โดยรูปที่มี ๔ กรนั้นสองพระหัตถ์ทำปางสมาธิ อีกสองพระหัตถ์ถือสร้อยประคำและคัมภีร์
ส่วนรูปที่มี ๑๖ กรจะถือสร้อยประคำ ดอกบัว หม้อน้ำอมฤต พระขรรค์ ขวาน คันศร ลูกศร พระหัตถ์ที่เหลืออาจทำปางวรัทมุทราและวิตรรกะมุทรา
การบูชาพระจุณฑาทำได้โดยท่องมนต์บทจุณฑาธารณี เชื่อกันว่าพระนางจะสถิตอยู่กับสานุศิษย์ผู้นั้นจนกว่าจะบรรลุสิทธิ
จาก
http://shreegurudevamantra.blogspot.com/2015/12/blog-post_28.html