ผู้เขียน หัวข้อ: Xianggelila แชงกรีล่า ( Shangri-La ) ที่พร่าเลือน  (อ่าน 1164 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
นี่เป็นครั้งที่ 2 ที่ฉันมาเยี่ยมเยือนเมืองแห่งนี้...Xianggelila...หรือที่เราคุ้นหูกันในชื่อแชงกรีล่า Shangri-La...





ภาพเมืองเล็กๆ ในเขตเทือกเขาหิมาลัยที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 3,600 เมตร ทำให้ท้องฟ้าซึ่งดูเหมือนอยู่ใกล้แค่เอื้อมเป็นสีฟ้าสดใส ตัดกับทุ่งหญ้าสีน้ำตาลที่แทรกตัวอยู่ระหว่างเนินเขา มีฝูงจามรีเล็มหญ้าอย่างอ้อยอิ่งอยู่หน้าบ้านดินสีครีมทรงสี่เหลี่ยมแบบทิเบต ธงมนต์หลากสีสันที่ผูกอยู่ตามสถูปปลิวไสวไปตามสายลมแรง...งดงามตราตรึงใจราวกับดินแดนในฝัน...









กลับมาครั้งนี้แชงกรีล่าของฉันก็ยังคงสวยงามไม่แตกต่างไปจากเมื่อปีก่อนเท่าไรนัก เพียงแต่เหมือนว่าจะมีแสงไฟนีออนสว่างมากขึ้นหน่อยนึง แล้วผู้คนก็ใช้ Smart phone กันมากขึ้น...เหมือนกับในส่วนอื่นๆ ของโลกนั่นแหละ ฉันคิดขณะที่กำลังนั่งรถแท็กซี่เหมาจากสถานีรถบัสมุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมือง



คนแก่ๆ หน่อยจะเรียกเมืองแห่งนี้ว่า "Zhongdian" ซึ่งแปลงมาจากชื่อเมืองในภาษาทิเบตว่า Gyalthang...ก่อนเดินทางมาถึงที่นี่  ฉันถามเด็กๆ ที่ลี่เจียงว่า "รู้ไหมว่ารถบัสคันไหนไป Zhongdian? " เด็กๆ ทำหน้างง แล้วถามกลับมาว่า Zhongdian นี่เมืองไหน จนฉันต้องเปลี่ยนไปถามด้วยชื่อเป็น Xianggelila แทน สามีภรรยาชาวกว่างโจวที่พบกันระหว่างเดินทางก็เช่นเดียวกัน แม้พวกเขาจะกำลังนั่งกินอาหารอยู่ในเมืองเก่า Xianggelila แต่เขากลับถามแม่ค้าว่า Zhongdian อยู่ที่ไหน



ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ เมื่อปี 2001 นี้เอง Zhongdian ถูกเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ให้ไพเราะชวนฝันกว่าเดิมว่า "Shangri-La" ตามชื่อเมืองในจินตนาการ จากนิยายยุค 30's เรื่อง Lost horizon ของ James Hilton ซึ่งเป็นเมืองมหัศจรรย์อันงดงาม สงบและสันติที่ซ่อนอยู่ทางฝั่งตะวันตกของเทือกเขาคุนลุน นิยายเรื่องนี้โด่งดังมากถึงขนาดถูกนำไปสร้างเป็นหนังถึง 2 ครั้งด้วยกัน จนมีหลายต่อหลายเมืองพากันออกมาเคลมว่า "เมืองฉันนี่แหละคือแชงกรีล่า" ทั้ง Yating ในเสฉวน หรือหมู่บ้าน Hunza ที่พรมแดนจีน-ปากีสถาน แต่สุดท้ายรัฐบาลจีนผู้เล็งเห็นศักยภาพในการกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวของ Zhongdian ก็ฉกฉวยโอกาสนี้ โดยได้มอบชื่อ Shangri-La ให้กับเมืองเล็กๆ ชายแดนเขตทิเบตคามแห่งนี้ แต่ด้วยความที่ชื่อ Shangri-La ออกเสียงยากไปเสียหน่อยสำหรับคนจีน จึงเกิดชื่อใหม่ที่ถูกปรับให้เข้ากับลิ้นของคนจีน ชื่อนั้นก็คือ Xianggelila หรือ Shangri-La ในแบบจีนๆ นี่เอง จนกระทั่งชื่อเมืองเก่า Zhongdian ค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลา





ส่วนในเขตเมืองเก่าของ Xianggelila นั้นเต็มไปด้วยร้านรวงมากมายกระจายอยู่ตามตึก 2 ชั้นสไตล์ทิเบต  ทั้งร้านขายของที่ระลึกซึ่งมีแม่ค้าในชุดพื้นเมืองเยี่ยมหน้าออกชักชวนให้นักท่องเที่ยวเข้าไปดูกงล้อมนตรา หรือหวีเขาจามรีในราคาพิเศษ  ทั้งร้านอาหารปิ้งย่างที่บนเตามีเนื้อและผักนานาชนิดเสียบไม้เล็กๆ ย่างควันฉุยส่งกลิ่นหอมเรียกน้ำย่อยลอยไปตามลม ทั้งร้านกาแฟร้านเบเกอรี่ ที่มีบราวนี่ก้อนพอดีคำดูน่ากินวางโชว์อยู่หน้าเคาเตอร์  ทั้งเกสต์เฮาส์เล็กๆ ตกแต่งเก๋ไก๋ มีธงสีสดใสถูกโยงประดับประดาระหว่างตึก แม้ว่าจะเป็นเขตเมืองเก่า แต่ตึกเหล่านี้กลับเพิ่งถูกสร้างขึ้นใหม่ให้เป็นแบบ"ทิเบตแท้ๆ" แทนตึกเดิมซึ่งถูกทุบทิ้งเพราะดูจะ"ตามสมัย"เกินไป คงเหลือตึกเก่าจริงๆ อยู่เพียงไม่กี่หลังเท่านั้นเอง...ตอนที่ฉันรู้ ฉันเองก็ตกใจเหมือนกันว่า "เมืองเก่าอันสวยงามน่ารักแห่งนี้เป็นของเก่าปลอมหรือนี่!!"...แต่กระนั้นภายในตึกเก่าปลอมๆ เหล่านี้ก็มีคนทิเบตจริงๆ ซึ่งใช้ชีวิต อยู่อาศัย ทำมาหากิน เป็นไกด์ทัวร์ เปิดโรงแรม เปิดร้านอาหารอยู่ที่นี่...





นร้านอาหารหม้อไฟทิเบตที่ติดป้ายชื่อภาษาอังกฤษ ชาวทิเบตกลุ่มใหญ่กำลังนั่งดูข่าวทีวีกันอยู่ ชายชราเดินละจากหน้าจอมาต้อนรับฉันอย่างยิ้มแย้มพร้อมทั้งส่งเมนูอาหารให้ แม้ข้างในร้านจะอับๆ ทึมๆ แต่ก็อบอุ่น ชายวัยกลางคนปรี่เข้ามารอรับออเดอร์ สักครู่หญิงชราก็นำชามาเสิร์ฟ เธอชักชวนให้ฉันสั่งชาเนยจามรีแบบทิเบต อาหารเครื่องดื่มถูกเด็กวัยรุ่นหน้าตาคมเข้มทะยอยนำมาวาง วางเสร็จก็กลับไปดูทีวีต่อแล้วก็หัวเราะเฮฮา พลางพูดคุยกับเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันอย่างออกรส...ไปๆ มาๆ ร้านอาหารแห่งนี้มีพนักงานมากกว่าลูกค้าเสียอีก...ถึงอย่างนั้นก็เถอะ...หม้อไฟเนื้อจามรีตุ๋นมื้อนั้นอร่อยกลมกล่อมมากจริงๆ... 



คนขับแท็กซี่เหมาของฉันก็เป็นคนทิเบต ภายในรถแวนยี่ห้อ Toyota ของเขาห้อยผ้ามนต์ และมีกงล้อมนตราแบบตั้งโต๊ะที่ติดแถบพลังงานแสงอาทิตย์และมีช่องใส่ถ่าน ทำให้กงล้อมนต์ของเขาหมุนอยู่ตลอดเวลาทั้งกลางวันกลางคืน เขามีผิวสีน้ำตาลนวล รูปร่างผอม ตาเรียวยาวสีน้ำตาล จมูกโด่งเป็นสันสวย แต่ผมของเขาดูมันๆ คล้ายไม่ค่อยได้สระ ระหว่างขับรถเขาจะฟังเพลงทิเบต หรือไม่ก็เพลงภาษาจีนที่ร้องกับทำนองทิเบตเสมอ เขาออกเสียงภาษาจีนกลางไม่ค่อยชัด บางครั้งก็ดูติดจะเขินอายและตะขิดตะขวงใจที่จะพูดซ้ำเมื่อฉันถามเพราะไม่เข้าใจ แม้จริงๆแล้วที่ฉันถามเพราะไม่เก่งภาษาจีนไม่ใช่เพราะไม่เข้าใจแต่เฉพาะเขาก็ตาม



ด้วยความที่ Xianggelila ตั้งอยู่ชายแดนเขตทิเบตคามติดกับเขตของชาวฮั่นทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของแค้วนยูนนาน ไม่ห่างไกลนักจาก Lijiang เมืองท่องเที่ยวชื่อดัง รวมทั้งยังได้รับการโปรโมตจากรัฐบาลจีน ทำให้ Xianggelila กลายเป็นเมืองสำคัญของเขตปกครองตนเองทิเบต Diqing และมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีทีเดียว เมื่อเทียบกับเขตปกครองตนเองทิเบตอื่นๆ ที่นี่มีทั้งถนนคอนกรีตที่แม้จะขรุขระอยู่บ้างบางจุด  มีขนส่งมวลชนที่แม้จะไม่ทั่วถึงนัก มีสัญญาณโทรศัพท์ มีสนามบินเล็กๆ ที่เพิ่งเปิด มีโรงพยาบาลหลายแห่งที่แม้จะไม่ใหญ่เท่าไหร่ มี Supermarket มีร้านขายอุปกรณ์อีเล็กทรอนิค ที่แม้จะดูเก่าๆ แต่ก็มี MacBook มี iPhone ขายอยู่เหมือนกัน แลดูมีคุณภาพชีวิตที่ไม่เลวนัก





แม้จะไม่ได้ดีเท่าชาวจีนในเมืองใหญ่แต่ก็ไม่เหมือนกับภาพของชาวทิเบตชนเผ่าเร่ร่อนผู้ลำบากยากแค้น อยู่อาศัยตามกระโจม เลี้ยงสัตว์หากินตามมีตามเกิดอย่างที่เห็นบ่อยๆในหนังหรือสารคดี...ชาวทิเบตรุ่นใหม่ๆ ที่นี่ไม่ได้ใส่ชุดพื้นเมืองอีกต่อไปแล้ว แต่ก็ยังเห็นพวกเขานิยมห้อยประคำศักดิ์สิทธิ์คู่ไปกับชุดสมัยนิยม ส่วนชุดพื้นเมืองจะใส่ก็เฉพาะโอกาสพิเศษ หรือเป็นเครื่องแบบสำหรับไกด์ พนักงานโรงแรม หรือเป็นนักแสดงโชว์ต่างๆ นี่อาจเป็นของแลกเปลี่ยน เมื่อ"ความเจริญ"เข้ามา "วัฒนธรรมดั้งเดิม"ก็ค่อยๆ หายไป ...





กระนั้นหากมองว่า"วัฒนธรรม"เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น และปรับเปลี่ยนตัวเองไปทุกวันอยู่แล้ว การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็อาจเป็นเพียงการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่นี้เท่านั้นหรือเปล่า? ว่าแต่ปรับเปลี่ยนแค่ไหนถึงจะพอเหมาะพอดี?  ในโลกปัจจุบันที่มนุษย์ดำรงชีพด้วยเงินตรา ไม่ต้องพูดถึงประเทศที่มีเศรษฐกิจแบบทุนนิยมขนาดใหญ่อย่างจีน วัฒนธรรมมักจะถูกนำมาแปลงให้เป็นมูลค่า เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยว เกิดการกระจายรายได้ มีเงินไหลเวียนเข้ามาหล่อเลี้ยงชีวิตชาวบ้านและพัฒนาท้องถิ่น Xianggelila ก็เป็นเมืองหนึ่งที่วัฒนธรรมถูกนำมาสร้างมูลค่า...แต่หากวัฒนธรรมทิเบตซึ่งเป็นวัฒนธรรมชายขอบจางหายไปเสียล่ะ หากวัฒนธรรมกระแสหลักของชาวฮั่นไหลบ่าเข้ามาพร้อมกับนักท่องเที่ยวล่ะ...นี่อาจเป็นการบ้านของ Xianggelila ในอนาคต...





ระหว่างเดินเล่นในเมือง ฉันชอบถ่ายรูปตึกรามบ้านช่องและวิถีชีวิตผู้คนไปเรื่อยๆ คนส่วนมากมักจะยิ้ม และแอ็คท่าเก๋ๆ ให้กับกล้อง แต่ขณะที่ฉันกำลังยกกล้องขึ้นจะถ่ายลามะองค์หนึ่ง ท่านกลับเดินหลบไปอย่างรวดเร็ว...ทำให้ฉันเกิดความคิดว่า อีกสิ่งหนึ่งที่ชาวเมืองท่องเที่ยวจะต้องแลก อาจคือความเป็นส่วนตัวที่หายไป เมื่อชาวบ้านกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ท่องเที่ยว กลายมาเป็นส่วนประกอบของภาพถ่ายที่สวยงาม ไม่รู้ว่าเขาจะอึดอัดใจบ้างรึเปล่านะ?



ที่จตุรัสแสงจันทร์ (Moonlight square) ท้ายเมืองเก่ามีพิพิธภัณฑ์ของรัฐบาล สร้างขึ้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาและเป็นไปของ Xianggelila เปิดให้เข้าชมฟรี แม้ว่าฉันจะเคยได้อ่านเรื่องราวของทิเบต เรื่องการปฎิวัติวัฒนธรรมจีน การเผาวัดวาอาราม การเนรเทศองค์ดาไลลามะ จนถึงข่าวการประท้วง การจลาจล และการเผาตัวตายของชาวทิเบตเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและความเท่าเทียมกันทางสังคมระหว่างชาวทิเบตกับชาวฮั่น รวมถึงข่าวการปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐบาลจีนอยู่บ้าง แต่ข้อมูลในพิพิทธภัณฑ์นี้กลับถูกนำเสนออย่างสวยงาม มีภาพพระลามะออกมาคล้องผ้าต้อนรับกองทัพปลดปล่อยประชาชน ภาพชาวทิเบตเต้นรำแสดงความยินดีที่ได้รับการปลดปล่อยโดยกองทัพอันเป็นที่รัก







ในขณะเดียวกันก็มีข้อมูลว่าวัดลามะสำคัญ Sumtseling ถูกกองทัพปลดปล่อยประชาชนเผาทำลายในปี 1959 แต่ก็ถูกบูรณะขึ้นมาใหม่ในปี 1983 และปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเมืองที่รัฐบาลจีนให้เกรด AAAA ซึ่งฉันคิดว่าสวยงามมากจนน่าจะได้เกรด AAAAA อันเป็นเกรดสูงสุดด้วยซ้ำ ระหว่างเดินเล่นภายในวัดฉันแอบเห็นรูปบูชาขององค์ดาไลลามะที่รัฐบาลจีนประนามว่าเป็นผู้สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนของชาวทิเบต...ทำให้ฉันนึกสงสัยนักว่าภายใต้ข้อมูล 2 ชุดที่ย้อนแย้งกันเหล่านี้ ชาว Xianggelila อยู่กันอย่างไร และมีความรู้สึกอย่างไร?...



ถึงอย่างนั้นฉันก็ไม่เห็นความขัดแย้งอะไรที่นี่ ชาวบ้านต่างทำมาหากินกันตามปกติ ก็นะ...ฉันเป็นแค่นักท่องเที่ยวคนหนึ่ง...การที่ฉันไม่เห็นก็ไม่ได้แปลว่้าจะไม่มีความขัดแย้งอยู่เลย...แต่ที่แน่ๆ คือไม่เคยเกิดรุนแรงจนเป็นพาดหัวข่าว นั่นก็ทำให้ฉันกิดคำถาม...หรือจะเป็นเพราะการกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวของ Xianggelila?...เนื่องจากใน Xianggelila นั้นประชากรส่วนใหญ่เป็นคนทิเบตหรือชนกลุ่มน้อยพื้นถิ่น การกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ทำให้คนท้องถิ่นมีงาน มีรายได้ เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เข้าถึงสาธารณูปโภค บริการสาธารณสุข และการคมนาคมที่สะดวกสบายขึ้น ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำลง รู้สึกว่าได้รับการดูแลจากรัฐบาลจีนอยู่บ้าง นอกจากนี้ยังคุ้นเคยกับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม และมีที่ตั้งอยู่ชายแดนเขตทิเบตกับเขตของชาวฮั่น ห่างไกลจากใจกลางความขัดแย้ง อีกทั้งยังไ้ด้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวฮั่น...เพราะปัจจัยเหล่านี้หรือเปล่า ที่ไม่ทำให้เกิดบรรยากาศครุกรุ่นแบบนั้นที่นี่?...





ทุกๆ เช้าที่วัดบนเนินท้ายเมืองเก่าจะพลุกพล่านไปด้วยชาวบ้านที่พากันมาเดินสวดมนต์รอบกงล้อมนตรายักษ์ บ้างก็นับประคำในมือพร้อมกับงึมงำคำสวด บ้างก็หมุนกระบอกมนตราอันเล็กไปด้วย ควันธูปกรุ่นกลิ่นออกมาจากด้านหน้าโบถส์ซึ่งมีพระลามะกำลังง่วนกับการทำเทียนไขบ้าง ทำเครื่องถวายพระประธานบ้าง...พระสงฆ์ทิเบตก็ทำให้ฉันประหลาดใจไม่น้อยเช่นกัน ฉันที่คุ้นเคยกับพุทธศาสนาแบบหินยาน คุ้นชินกับพระสงฆ์ที่เคร่งขรึม รอบรู้ ศักดิ์สิทธิ์ และสูงส่ง ห้ามจับเงิน ห้ามถูกเนื้อต้องตัวสตรี ห้ามล้อเลียน แต่ที่นี่...





ฉันเห็นพระลามะขายประคำ ขายธงมนต์ ขายกงล้อมนตรา รับเงิน ทอนเงิน ท่องมนต์ให้พรผู้ซื้อและผู้บริจาค ขับรถเอง เดินดูคอมพิวเตอร์ ใช้ Tablet สวดมนต์ เข้ามาคุยเล่นกับนักท่องเที่ยว หัวเราะร่า ยักคิ้วหลิ่วตาล้อเลียนเมื่อเห็นฉันจ้องมองด้วยความฉงน..."ทำไมพระที่นี่ดูเหมือนเราๆ จังเลย" ฉันคิดหลังจากที่ผ่านช่วงตกตะลึงไปแล้ว ดูเป็นมนุษย์แสนธรรมดาอย่างเราๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะละเลยการปฎิบัติกิจของสงฆ์ ฉันเห็นพระท่านสลับเปลี่ยนเวรกันไปศึกษาธรรมะ สวดมนต์ ทำสมาธิ ดูแลซ่อมแซมวัด หาบน้ำ ทำกับข้าว ซักผ้า กระนั้นก็ยังอยู่ร่วมในสังคมเดียวกับเรา ขึ้นรถเมล์เบียดคนด้วยกัน เดินซื้อของในซูปเปอร์มาร์เก็ตเหมือนอย่างเราๆ ทำให้ฉันรู้สึกว่าพระสงฆ์ที่นี่ช่างดูเปิดเผย ดูเข้าถึงง่าย น่าจะพูดคุยปรึกษากันง่าย น่าจะเข้าใจเรา














"ศาสนาพุทธนี่ช่างแตกต่างหลากหลาย และมีอะไรมากมายที่น่าศึกษาจริงๆ กลับไปจะต้องลองศึกษาพุทธนิกายวัชรยานดูบ้างเสียแล้ว" ฉันคิดขณะเห็นลามะองค์หนึ่งถูกมือผู้หญิงเพื่อประคองประคำที่เธอเช่าไม่ให้ร่วงลงพื้น







Xianggelila ของฉันแม้จะไม่ได้งดงามไร้ที่ติราวกับเมืองสวรรค์ในจินตนาการ เป็นแชงกรีล่าที่อยู่ครึ่งๆ กลางๆ ระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมกับความเป็นสมัยใหม่ พร่าเลือนระหว่างความเป็นทิเบตกับความเป็นจีน สับสนระหว่างการเป็นเมืองสงบกับเมืองท่องเที่ยว แต่ก็เป็นแชงกรีล่าที่สวยงามในแบบของมันเอง แม้ว่าความเจริญจะทำให้ภาพเมืองสวรรค์อันแสนบริสุทธิ์ของแชงกรีล่าเปลี่ยนไป แต่ฉันคิดว่าหากมันทำให้ความเป็นอยู่ของชาวเมืองดีขึ้น ก็ดีกว่าการ Freeze แชงกรีล่าให้เป็นเพียงแค่สวรรค์ของนักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ฉันรักแชงกรีล่าในความพร่าเลือน ในความเปลี่ยนแปลง รักในความไม่สมบูรณ์แบบ และรักที่จะเห็นแชงกรีล่าค่อยๆ ก้าวเดินไป...แล้วถ้าโอกาสอำนวย...ค่อยพบกันอีกครั้งนะ Xianggelila







ปล. ระหว่างเรียบเรียงบันทึกการเดินทางชิ้นนี้ ในวันที่ 12 มกราคม ฉันก็ได้ทราบข่าวว่าเขตเมืองเก่าของ Xianggelila ถูกไฟไหม้ครั้งใหญ่ และใช้เวลากว่า 10 ชม.ในการดับไฟ เนื่องจากถนนที่แคบจนไม่สามารถนำรถดับเพลิงเข้าไปได้
(http://www.telegraph.co.uk/news/worldnews/asia/tibet/10565437/Blaze-destroys-ancient-Tibetan-town-dubbed-Shangri-La.html )

ร้านค้าหลายร้าน ผู้คนหลายคนที่ฉันได้พบผ่านระหว่างการเดินทางคงได้รับผลกระทบไม่น้อย ฉันขอแสดงความเสียใจ และหวังว่าพวกเขาจะยังคงมีชีวิตอยู่ และยังคงสู้ต่อไป นอกจากนี้ฉันขอขอบคุณพวกเขาเหล่านั้นที่ทำให้ฉันได้พานพบประสบการณ์การเดินทางอันมีคุณค่าทั้งสองครั้ง...ฉันคงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการส่งกำลังใจ กับการบันทึกเรื่องราวของ Xianggelila ก่อนที่จะถูกไฟไหม้ และแบ่งปันความงดงามของแชงกรีล่าในมุมมอง ในความทรงจำของฉัน ให้คนอื่นได้สัมผัสกับเสน่ห์ของสถานที่แห่งนี้บ้าง...





จาก http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=alitalia&date=04-02-2014&group=2&gblog=5
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...