ผู้เขียน หัวข้อ: มองไทยในสื่อบันเทิง....อุโมงค์ผาเมือง : จาก ราโชมอน ถึง ล้านนาไทย  (อ่าน 1202 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


อุโมงค์ผาเมือง : จากราโชมอนถึงล้านนาไทย



  ‘ราโชมอน’ เป็นนวนิยายเรื่องเยี่ยมจากประเทศญี่ปุ่น มีความเป็นอมตะและเป็นที่ยอมรับกันของนักเขียน
และนักอ่านในหลาย  ๆ  ประเทศ   ด้วยการเล่าเรื่องที่แยบยล  แฝงปรัชญาไว้ให้ขบคิด เมื่อ อาคิระ กุโรซาว่า
ได้สร้างเป็นภาพยนตร์จนได้รับรางวัลระดับโลกหลายสถาบัน ส่งผลให้เขาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ระดับแนวหน้า
ของโลก และมีความเป็นอมตะเช่นเดียวกับผลงานภาพยนตร์ของเขา

        ‘ราโชมอน’ มีอิทธิพลต่อนักเขียนไทยอยู่มากทีเดียว นับตั้งแต่มีเรื่องแปลในภาษาไทยหลายฉบับ มีการ
นำมาสร้างเป็นละครเวทีหลายครั้ง  และเมื่อหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชได้นำมาเขียนเป็นบทละครเวที
โดยนำเรื่องเล่าของญี่ปุ่นสองเรื่องมาผสมผสานกัน  อันได้แก่ เรื่อง  ‘ราโชมอน’  กับเรื่อง ‘ในป่าละเมาะ’
ของเรียวโนสุเกะ อะคุตะงะว บทละครเวทีของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ จึงมีส่วนอย่างมากในการเผยแพร่เรื่อง
ราโชมอนในสังคมไทย


      แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันว่า ผลงานหลายเรื่องของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชได้รับแรงบันดาลใจ
มาจากนวนิยายของต่างประเทศ เช่น หลายชีวิต ไผ่แดง กาเหว่าที่บางเพลง แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่า
นวนิยายของท่านแม้จะดัดแปลงมาจาก   นวนิยายของต่างประเทศ   แต่เมื่อนำมาเขียนเป็นภาษาไทยและใช้
บรรยากาศแบบไทย ๆ แล้ว กลับไม่เหลือเค้ากลิ่นอายของต่างประเทศเลยแม้แต่น้อย หากกลับแสดงบทบาท
ของวรรณกรรมในฐานะกระจกส่องสะท้อนให้เห็นถึงสังคมไทยในด้านต่าง ๆ ได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะท่าน
ไม่ละเลยที่จะใส่ปรัชญาของความเป็นไทย โดยเฉพาะปรัชญาพุทธศาสนาไว้ในงานของท่าน


        ในปี พุทธศักราช 2554   หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล  ได้แรงบันดาลใจจากเรื่อง   ‘ราโชมอน’
โดยดัดแปลงมาจากบทละครเวทีของ  หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช  มาสร้างเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่อง
‘อุโมงค์ผาเมือง’ โดยใช้ฉากถ้ำหรืออุโมงค์ ซึ่งเป็นสถานที่ฝังศพหรือเอาศพมาทิ้งไว้ในถ้ำ แทนฉากประตูผี
ตามต้นฉบับดั้งเดิม วิธีการเล่าเรื่องยังเป็นการเล่าในมุมมองของตัวละครแต่ละตัว โดยมีตัวละครอย่างสัปเหร่อ
ซึ่งถือว่าเป็นชนชั้นที่ต่ำต้อย ถูกดูหมิ่นดูแคลนจากคนอื่น ๆ ซึ่งตัวละครตัวนี้ได้กลายเป็นคนที่สามารถเชื่อมโยง
เรื่องราวและชี้ให้เห็นถึงสันดานดิบของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี

         การดัดแปลงเรื่องเล่า  ของญี่ปุ่นให้มาเป็น  ‘อุโมงค์ผาเมือง’   โดยใช้ฉากบรรยากาศของล้านนาในปี
พุทธศักราช 2011 จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างบรรยากาศและเนื้อหาให้สอดคล้องกับฉากรวมถึงยุคสมัย
ที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น    ตัวละครที่ทำให้หน้าที่เป็นผู้เล่าเรื่องคือ  พระกับชายตัดฟืน ผลัดกันเล่า โดยตัวละคร
สัปเหร่อเป็นผู้สรุปเรื่องราวและชี้ให้เห็นถึงความจริงที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง




          พระในเรื่องนี้ เป็นผู้ที่ต้องการละทิ้งความสุขทางโลก ได้ผ่านการศึกษาพระธรรมวินัย ได้เห็นการเกิด
การเจ็บ การตาย โดยคิดว่านั่นคือ ‘สัจธรรมของชีวิต’ การเข้าถึงพุทธศาสนาผ่านตำราและการมองดูชีวิต
อย่างผิวเผิน มิอาจทำให้พระเข้าถึงปรัชญาชีวิตอย่างแท้จริงได้  ท่านยังคงไม่เข้าใจ ‘ชีวิต’ และมองไม่เห็น
ทางออกของชีวิต ส่วนตัวละครคนตัดฟืน  ซึ่งเป็นชายยากจนเข็ญใจ  เลือกที่จะปิดบังเรื่องราวบางส่วนไว้
เพื่อความอยู่รอดของตนเอง ส่วนตัวละครสัปเหร่อ กลายเป็นคนที่อ่านโลก อ่านชีวิตได้อย่างทะลุปรุโปร่ง
และแสดงความเข้าใจ   ชายตัดฟืนได้อย่างแท้จริง  การสนทนาโต้ตอบของสัปเหร่อกับชายตัดฟืนกลับให้
ปรัชญาที่ลึกซึ้งแก่พระหนุ่ม




    เรื่องราวอันเป็นปริศนาว่า นักรบ ผู้กล้าตายเพราะเหตุใด ใครเป็นคนฆ่า โจรป่า ก็อ้างว่าตนเป็นคนฆ่า
เพื่อแสดงความกล้าหาญต่อหน้าคนอื่น ทั้งที่ความเป็นจริงเขากลับอ่อนแอและขี้ขลาด เช่นเดียวกับท่านนักรบ
ซึ่งใคร ๆ ต่างมองว่าเขาเป็นนักรบผู้กล้าหาญ ความจริงแล้วเขากลายเป็นคนที่ขี้ขลาดที่สุด ทั้งโจรป่าและนักรบ
จึงมีชีวิตอยู่ด้วยความลวง  ส่วนหญิงบาป   ซึ่งกล้าสารภาพว่า  เธอฆ่าผัวของตัวเองนั้น  ก็ยอมให้ถูกพิพากษา
เพื่อล้างมลทินให้แก่ตนเอง    และต้องการให้ผู้ฟังเห็นว่าตนเป็นเมียที่ดี   และไม่อาจทนได้ที่ถูกสามีของตน
เหยียดหยามความเป็นหญิงของตนเอง   ตัวละครทั้งสามตัวนี้    ต่างก็แสดงออกต่อสังคมอย่างหนึ่ง   ทั้งที่
ในความเป็นจริงแล้วมีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง แม้กระทั่งนักรบ เมื่อวิญญาณของเขาเข้าสิงร่างของคนทรงแล้ว
เขาก็ยังแสดงความกล้าหาญด้วยการบอกว่า เขาฆ่าตัวตาย และไม่เห็นว่าใครเป็นคนฆ่าเขา เจ้าเมืองและผู้ฟัง
ต่างมืดแปดด้าน ส่วนผู้ให้การแต่ละคนล้วนแสดงออกถึงความกล้าหาญเพื่อปกปิดตัวตนที่แท้จริงของตน


        ปริศนา ‘ราโชมอน’ อันเป็นที่มาของ ‘อุโมงค์ผาเมือง’ คืออะไร ทำไมตัวละครจึงต้องปิดบังความจริง
ที่เกิดขึ้น ผู้ประพันธ์ทั้งต้นฉบับและถึงผู้ดัดแปลงไปสู่ฉบับต่าง ๆ ยังคงปริศนานี้ไว้ และกลายเป็นตัวแบบ
ของเรื่องเล่าแบบหนึ่งไปโดยปริยาย

         ปริศนาดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า แต่ละคนต่างก็มีชีวิตในแบบของตน มีรายละเอียด มีเหตุผล และมีแนวทาง
ในการดำเนินชีวิตของตนเอง  สิ่งที่เราเห็นจากการแสดงออกของใครคนหนึ่งนั้น  อาจมิใช่ตัวตนที่แท้จริง
ของเขาก็ได้  เมื่อพิจารณาในแง่นี้แล้ว ปริศนาดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงลักษณะอันเป็นสากลของมนุษยชาติ
ไม่ว่าจะเกิดในชาติไหน   ชนชั้นใด   หรือช่วงเวลาใด   ยุคสมัยใด    ต่างก็มีลักษณะดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่ง
ในกมลสันดานของตน




  ‘อุโมงค์ผาเมือง’ เป็นภาพยนตร์ที่ฉีกแนวไปจากภาพยนตร์ไทยเรื่องอื่น ๆ ทั้งในด้านของเนื้อหาและวิธี
การเล่าเรื่อง   เมื่อพิจารณาถึงองค์ประกอบทางศิลปะแขนงต่าง ๆ ที่มารวมไว้ในเรื่อง ก็จะเห็นถึงความประณีต
และบรรจงเป็นอย่างยิ่ง   ที่สำคัญก็คือ เมื่อดู ‘อุโมงค์ผาเมือง’ แล้ว จะทำให้เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ซึ่งมี
ไม่แตกต่างกัน อีกทั้งยังทำให้ผู้ชมหยั่งถึงความเข้าใจในชีวิตอีกด้วย

          ภาพยนตร์เรื่อง ‘อุโมงค์ผาเมือง’ จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งในการพยายามสร้างภาพยนตร์ไทยให้แตกต่าง
และเข้าถึงคำว่าศิลปะในทุกแขนง ประการสำคัญคือ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ยกระดับรสนิยมของคนดูชาวไทย
ให้ยอมรับความหฤหรรษ์ของการเสพสื่อบันเทิงอย่างหนึ่งก็คือ ‘การตีความ’ โดยเฉพาะเมื่อตีความภาพยนตร์
แล้วก็ต้องตีความชีวิตด้วย   อันจะเป็นการเข้าถึงชีวิตของตนเอง และเข้าถึงชีวิตของผู้อื่นได้อย่างแท้จริง
เมื่อเข้าใจทั้งตนเองและผู้อื่นแล้ว   ก็จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ เพราะในความจริงแล้ว เราก็ไม่ต่าง
จากการอยู่ในอุโมงค์อันดำมืด   แสงแห่งปัญญาเท่านั้นที่จะฉายส่องให้เกิดความสว่างกระจ่างแจ้งให้แก่เรา...


          ความพยายามของหม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล ในการเชื่อม ‘ราโชมอน’ จากวัฒนธรรมของญี่ปุ่นมาสู่
‘อุโมงค์ผาเมือง’ ในวัฒนธรรมของล้านนา จึงเป็นข้อยืนยันได้ถึงลักษณะสากลของมนุษย์ และทำให้ประจักษ์ว่า
‘ศิลปะย่อมส่องทางให้แก่กันเสมอ’


จาก http://www.all-magazine.com/ColumnDetail/allColumDetail/tabid/106/articleType/ArticleView/articleId/1579/-.aspx



<a href="https://www.youtube.com/v/WXYR5ktaNBM" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/WXYR5ktaNBM</a>
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...