ผู้เขียน หัวข้อ: พระไพศาล วิสาโล: มองทะลุกรอบพุทธ กระเทาะแก่นศาสนา  (อ่าน 1092 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานไตรสรณะสุจิปุลิ
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
พระไพศาล วิสาโล: มองทะลุกรอบพุทธ กระเทาะแก่นศาสนา

คำถามที่ถูกเถียงกันมาในช่วงหนึ่งก็คือ ไทยเป็นรัฐแบบไหนกันแน่ “รัฐทางโลก” หรือ “รัฐศาสนา” เพราะถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญไทยจะเปิดกว้างให้ประชาชนเป็นอิสระในการเลือกนับถือศาสนา แต่ในความเป็นจริงแล้ว สังคมไทยนั้นยังคงมีความเป็น “รัฐกึ่งศาสนา” อยู่พอสมควร ทั้งในเรื่องของการปกครอง วัฒนธรรม รวมไปถึงการเมืองในองค์กรพุทธด้วยกันเอง

ในทางกลับกันวัตรปฏิบัติของประชาชนส่วนใหญ่ก็ถูกกล่อมเกลาทั้งผ่านการศึกษาในระบบ การประชาสัมพันธ์ทางความคิดผ่านสื่อต่างๆ ให้มีความโน้มน้าวมาทางพุทธ และด้วยความศาสนาพุทธเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยเป็นเวลาหลายร้อยปี ผ่านการบอกเล่าและตกแต่งเพิ่มเติมจนเนื้อหามีความเปลี่ยนแปลง จนเกิดคำถามว่า สิ่งใดคือพุทธแท้? แล้วพุทธแท้มีจริงหรือไม่?

โครงการ Redefine Thailand โดย SIU จากการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พยายามค้นหาคำตอบนี้ผ่านการพูดคุยกับผู้ที่สนใจประเด็นเรื่องพุทธศาสนา ในความเป็นไปของสังคมที่มีพลวัตรเช่นนี้ศาสนายังคงมีความสำคัญกับการดำรงชีวิตหรือไม่ ร่วมสนทนาธรรมกระเทาะเปลือพุทธไปกับ พระไพศาล วิสาโล พระนักกิจกรรมและผู้นำทางความคิด กับสิ่งที่ตั้งอยู่และเป็นไป



SIU: สวัสดคีรับ วันนี้มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับพทุธศาสนาอยากจะขอเรียนถามกับพระไพศาลในหลายประเด็นเช่นในเรื่องอัตลักษณ์ของ คำว่าพุทธ ที่กำลังเผชิญปัญหาอยู่ในปัจจุบันนี้ อยากทำความเข้าใจให้มากขึ้น ดังนั้นจะขอเริ่มคำถามแรกเลย อยากถามพระอาจารยว่าพุทธ ที่รู้จักและคุ้นเคยอยู่ทุกวันน้ี มีฐานที่มาและประวัติศาสตร์อย่างไรบ้าง

เมืองไทย เรานับถือพุทธศาสนามาช้านาน อย่างน้อยก็ 800-900 ปี หรืออาจจะ 1,000 ปีขึ้นไป แต่ว่าสมัยก่อนพุทธศาสนาที่ชาวบ้านนับถือมีหลากหลายมาก มีหลายนิกาย คำว่านิกายสมัยก่อน ไม่ตรงกับสมัยนี้ เช่นเชียงใหม่มี 18 นิกาย นิกายในที่นี้คงไม่ใช่นิกายแบบที่เราเข้าใจ ว่าหมายถึงเถรวาทหรือมหายาน แต่เป็นกลุ่มพระสงฆ์ที่มีสายการปฏิบัติแบบเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม พุทธศาสนาที่คนไทยสมัยก่อนนับถือมีความหลากหลายทั้งในเรื่องของการประพฤติปฏิบัติและการตีความ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการปรับตัวตามวัฒนธรรมของท้องถิ่น เป็นอย่างนั้นเรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากประเทศไทยเริ่มมีการก่อตัวขึ้นมาในรูปของรัฐชาติ คำว่ารัฐชาติหรือ nation state หมายถึงทุกอย่างต้องรวมศูนย์ ต้องมีวัฒนธรรมของชาติ ต้องมีภาษาของชาติ ต้องมีศาสนาของชาติ ต้องมีประเพณีของชาติ

คำว่าชาติมันเรียกร้องให้ต้องมีการรวมศูนย์หรือการทำให้มีมาตรฐานเดียวกัน มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน  ดังนั้นพระพุทธศาสนาก็จะต้องมีความเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น  ผลก็คือคณะสงฆ์ที่เดิมมีความหลากหลายและมีความเป็นอิสระต่อกัน ก็กลายมาเป็นหนึ่งเดียวกันโดยรวมศูนย์อยู่ที่องค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ คือมหาเถรสมาคม นี่คือสมัยรัชกาลที่ 5  มหาเถรสมาคม บุคคลที่อยู่สูงสุดคือในหลวงรัชกาลที่ 5

ท่านเป็นสังฆราชโดยพฤตินัย เพราะพ.ร.บ.สงฆ์ รศ. 121 กำหนดให้มหาเถรสมาคมเป็นที่ปรึกษาของพระองค์ โดยไม่มีการระบุตำแหน่งพระสังฆราชเอาไว้ หลังจากนั้นก็เกิดคณะสงฆ์แห่งชาติขึ้นมา ในขณะเดียวกันก็มีความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดความคิด การตีความทางพระพุทธศาสนา หรือการสอนพุทธศาสนาอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน

โดยอิงกับพระไตรปิฎกหรืออิงกับคัมภีร์ โดยมีสมเด็จมหาสังฆราชเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเป็นผู้นำสงฆ์ขณะนั้นเป็นผู้มีบทบาทสำคัญมาก

<a href="https://www.youtube.com/v/OtzkVwNzjUg" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/OtzkVwNzjUg</a>

SIU: ท่านเป็นสมเด็จพระอนชุาของรัชกาลที่ 5 ใช่ไหมครับ

 ใช่ พอถึงรัชกาลที่ 6 ท่านเป็นสกลมหาสังฆปรินายก หรือเป็นสังฆราชกลาย ๆ แต่ก่อนหน้านั้นท่านเป็นเสมือนกับมือขวาของในหลวงรัชกาลที่ 5 ในเรื่องเกี่ยวกับคณะสงฆ์ เพราะฉะนั้นท่านจึงพยายามผลักดันให้ความคิดความเชื่อทางพุทธศาสนาเป็นไปในแนวทางเดียวกัน เลยเกิดพุทธศาสนาแบบทางการขึ้น พุทธศาสนาแบบทางการนี้ออกมาจากกรุงเทพ แล้วแพร่ไปตามชนบทโดยผ่านพระสงฆ์ซึ่งได้รับการศึกษาแผนใหม่ ซึ่งทีแรกเป็นพระธรรมยุต

ต่อมาก็เป็นพระมหานิกายเป็นกำลังสำคัญ เพื่อที่จะนำเอาความคิดและการปฏิบัติแบบพุทธที่อิงพระไตรปิฏกและตีความให้สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ ให้แพร่กระจายและเป็นที่ยอมรับทั่วประเทศซึ่งต้องใช้เวลานานมาก แต่ว่าในที่สุดก็ทำได้สำเร็จ โดยอาศัยหลักสูตรการศึกษาทั้งของสงฆ์และฆราวาส รวมทั้งผ่านการสอน การเทศน์ของพระที่เป็นไปอย่างเป็นเอกภาพพอสมควรโดยเฉพาะในส่วนที่ใกล้ศูนย์กลางอำนาจรัฐ

สิ่งนี้ทำให้เกิดความเชื่อและการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาที่เป็นหนึ่งเดียวกันตกทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะในหมู่คนที่มีการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือพระสงฆ์ แต่ว่าในส่วนที่เป็นชายขอบจะมีความเชื่ออีกแบบหนึ่ง ซึ่งต่างจากคำสอนที่เป็นมาตรฐานที่ออกมาจากส่วนกลาง ความเชื่อแบบนี้ตอนนี้เริ่มผุดเริ่มโผล่ขึ้นมาก

SIU: ในปัจจุบัน คนพดูกันมากขึ้นว่าพุทธมีปัญหาและปัญหาของพุทธที่คนพูดถึงกันไม่ใชปััญหาในการผิดพระวินัยแบบเดิมอีกแล้วใช่ไหมครับ

ชาวพุทธที่เป็นชนชั้นกลางส่วนใหญ่จะมีความคิดทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม ในแง่ที่มองว่าบ้านเมืองนี้มีคนดีก็พอแล้ว จะปกครองด้วยระบบอะไรก็แล้วแต่ ขอให้มีคนดีปกครองก็จบ จะเป็นเผด็จการก็ได้ จะเป็นประชาธิปไตยก็ได้แต่ระยะหลังชาวพุทธจำนวนมากที่เป็นชนชั้นกลางมีความคิดเปลี่ยนไปในทางที่เห็นว่า ประชาธิปไตยมีปัญหาแล้ว เพราะว่าเป็นระบบที่ไม่ส่งเสริมให้คนดีขึ้นมาปกครอง

กว่าจะปกครองประเทศได้ก็ต้องซื้อเสียง พอมีอำนาจก็คอรัปชั่น เพราะฉะนั้นชาวพุทธจำนวนไม่น้อยจึงมีความคิดในทางที่ไม่ค่อยส่งเสริมประชาธิปไตยเท่าที่ควร  แต่จะเรียกร้องให้มีคนดีขึ้นมาเป็นผู้ปกครอง โดยไม่ต้องอาศัยการเลือกตั้งก็ได้ นี่เป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์มากว่า ในยุคที่บ้านเมืองกำลังเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ชาวพุทธที่มีการศึกษากลับคิดสวนทางกับประชาธิปไตย

อาตมาคิดว่านี่เป็นประเด็นหนึ่งที่ชาวพุทธถูกวิพากษ์วิจารณ์มากในระยะหลัง ยังไม่ต้องพูดถึงการนับถือพุทธศาสนาแบบบริโภคนิยม เรื่องนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมานานแล้ว แต่ไม่ได้หนาหูเท่ากับระยะหลังที่ชาวพุทธมีความคิดสวนทางกับประชาธิปไตย ส่วนความคิดของชาวพุทธที่นับถือพุทธศาสนาแบบบริโภคนิยม

ทำบุญเพื่อจะได้ร่ำรวยหรือมั่งมี หรือเพื่อตัวเองจะได้มีชีวิตที่สะดวกสบาย เป็นการทำบุญที่เจือกิเลส อีกทั้งยังมีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่น้อยลง คือไม่สนใจที่จะช่วยเหลือคนอื่น  นี่เป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์กันมานานแล้ว แต่ตอนหลังก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นว่า มีความคิดที่เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตย



SIU: อะไรที่ที่ทำให้เกิดความคิดที่ว่าพุทธกับประชาธิปไตยควรจะเดินไปทางเดียวกันหรือสวนทางกันขึ้นมา

ความคิดแบบนี้มีมานานแล้ว ความคิดที่ว่าถ้ามีคนดีปกครองก็พอแล้ว หรือมองว่าสังคมมีปัญหาเพราะคนไม่มีศีลธรรม  เพราะฉะนั้นถ้าเราทำตัวให้ดี  มีศีลธรรม หรือถ้ามีคนดีมากขึ้นสังคมก็จะดีไปเอง ความคิดแบบนี้เป็นความคิดที่อาตมาเชื่อว่ามีมานานแล้ว โดยมองว่าประเทศคือหมู่บ้าน  อย่างในหมู่บ้าน ถ้าชาวบ้านเป็นคนดี มีผู้ใหญ่บ้านที่ดี  หมู่บ้านจะสงบเรียบร้อย

แต่ประเทศไม่ใช่หมู่บ้าน ประเทศมีความซับซ้อนกว่าหมู่บ้าน แต่คนจำนวนไม่น้อยยังมีความคิดว่าประเทศเหมือนหมู่บ้าน และผู้ปกครองเหมือนกับผู้ใหญ่บ้าน หรือบางทีก็คิดว่าประเทศคือครอบครัว ผู้นำคือพ่อ ความคิดแบบนี้มีมานานแล้ว คือเอาครอบครัวมาเป็นแม่แบบหรือเป็นโมเดลของประเทศ มันเป็นสิ่งที่ผิดฝาผิดตัว เพราะครอบครัวเป็นสิ่งที่ไม่ซับซ้อนแต่ประเทศมีความซับซ้อนมาก อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องโครงสร้างเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

อาตมาคิดว่าความคิดแบบนี้มีทุกสังคม ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งหรือจีน มีในทุกศาสนาไม่ว่า คาทอลิก โปรเตสแตนต์ ฝรั่งที่เป็นอนุรักษ์นิยมก็มีความคิดแบบนี้ คือมองว่าถ้าหากทุกคนเป็นคนดี บ้านเมืองก็จะเรียบร้อย ที่บ้านเมืองวุ่นวายก็เพราะผู้คนประพฤติผิดศีลธรรม  อย่างผู้นำศาสนาของอเมริกาบางคนเคยพูดว่า เหตุการณ์ ๑๑ กันยาเกิดขึ้นเพราะศีลธรรมของคนอเมริกันตกต่ำ จึงถูกพระเจ้าลงโทษ

อาตมาจึงคิดว่าความคิดทำนองนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก  ไม่ได้มีแต่เมืองไทยเท่านั้น   มีมานานแล้วและปัจจุบันก็แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย ในทุกสังคมคนจะมองปัญหาด้วยมุมมองแบบง่ายๆ การมองแบบนั้นอาจใช้ได้กับครอบครัว อาจใช้กับหมู่บ้าน แต่มีปัญหาแน่ถ้าเอามาใช้มองปัญหาของประเทศ

ปัญหาอย่างหนึ่งที่เกิดกับชาวพุทธไทยเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะชนชั้นกลางก็คือ มีความเป็นปัจเจกนิยมสูงมาก ปัจเจกนิยมหมายความว่า  สนใจแต่เรื่องตัวเอง ไม่สนใจเรื่องสังคม  ซึ่งเมื่อปฏิบัติอย่างสุดขั้วก็กลายเป็นคนเห็นแก่ตัว ไม่สนใจว่าสังคมจะเป็นอย่างไร และไม่สนใจจะช่วยเหลือเอื้อเฟื้อใคร ใครเดือดร้อนก็บอกว่าเป็นกรรมของเขา ฉันไม่ช่วย  ขืนช่วยจะกลายเป็นการแทรกแซงกรรมของเขา หรือทำให้เจ้ากรรมนายเวรของเขามาเล่นงานฉัน

ความคิดแบบนี้มีผลต่อการมองปัญหาสังคม คือมองว่าที่สังคมเกิดปัญหาก็เพราะตัวบุคคล เช่น ที่บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ เพราะว่านักการเมืองคอร์รัปชั่น คำพูดแบบนี้จะได้ยินบ่อยๆ ปัญหาเกิดขึ้นในสังคมเพราะคนไม่ดี คือมองปัญหาว่าเกิดจากตัวตัวบุคคล เวลาที่พบว่าตำรวจไม่ดี ก็มองว่าเป็นเรื่องของตัวบุคคล เวลาพระมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น ก็จะบอกว่าเป็นปัญหาของพระรูปนั้น จะมองปัญหาในเชิงบุคคล จะไม่มองปัญหาในเชิงโครงสร้าง ว่าโครงสร้างมันมีปัญหาหรือไม่

ถ้าไตร่ตรองให้ดีจะพบว่า การที่มีพระผิดวินัยจำนวนมาก มันสะท้อนว่าโครงสร้างของคณะสงฆ์กำลังมีปัญหา ระบบการศึกษาของคณะสงฆ์กำลังมีปัญหา ตำรวจคอร์รัปชั่นมากแสดงว่าโครงสร้างการปกครองของตำรวจมีปัญหา หรือมีปัญหาตั้งแต่ระบบการศึกษาของตำรวจ ในทางการเมืองก็เช่นกัน เวลานักการเมืองคอร์รัปชั่นมากๆ แสดงว่ามีปัญหาในเชิงโครงสร้าง ทำให้เกิดคนที่คอร์รัปชั่นมากขึ้นเรื่อยๆ หรือเอื้อให้คนที่ทุจริตขึ้นมามีอำนาจ



SIU: ความเชื่อแบบพทุธเดิมท่ีไทยมีทำให้เรามองทกุอย่างไปที่ตัวบคุคล ไม่ได้มองไปท่ีโครงสร้าง ลักษณะการมองแบบน้ันเป็นปัญหาหรือไม่

คนสมัยใหม่มีความคิดแบบปัจเจกบุนิยมสูงมาก ระบบบริโภคนิยมก็เน้นการบริโภคของปัจเจก เช่น การดูหนัง สมัยนี้คนไม่ค่อยดูหนังในโรงหนังแล้วแต่จะดูหนังคนเดียวในบ้าน โดยติดตั้งโฮมเธียเตอร์บ้าง ดูจากเครื่องเล่นดีวีดีบ้าง   เวลาฟังเพลงก็ฟังคนเดียวด้วยเครื่องไอพอดหรือเครื่องเล่น MP3

ขณะที่โฆษณาเครือข่ายโทรศัพท์บางแห่งก็โฆษณาว่า “มีชีวิตในแบบคุณ”  เพราะอะไร เพราะว่าคนปัจจุบันเน้นความเป็นปัจเจกบุคคลสูงมาก ถ้าคุณจะเป็นศิลปินคุณจะต้องไม่เหมือนใคร ไม่ว่าจะเป็นดาราหรือจิตรกรก็แล้วแต่ นี่เป็นอิทธิพลของสังคมสมัยใหม่ ที่ทำให้เราเป็นปัจเจกบุคคลสูงมาก

ความคิดที่เน้นสิทธิเสรีภาพของปัจเจกมาจากไหน มาจากสื่อสมัยใหม่  มาจากวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งมีอิทธิพลต่อชาวพุทธมาก โดยเฉพาะชนชั้นกลาง แม้นับถือพุทธศาสนา แต่ขณะเดียวกันก็รับเอาความคิดแบบปัจเจกนิยมของฝรั่งเข้ามาไม่น้อย

ทำให้เกิดการนับถือศาสนาแบบปัจเจกนิยม รวมทั้งนับถือศาสนาแบบบริโภคนิยมด้วย เช่น การไปตามสำนักต่างๆเหมือนกับการไปช็อปปิ้งตามห้างต่างๆ  ชนชั้นกลางที่มีการศึกษา โดยเฉพาะในเมืองจะมีการประพฤติปฏิบัติ การนับถือพระพุทธศาสนาที่เน้นความเป็นปัจเจกบุคคลมาก

SIU: ประเด็นเกี่ยวกับพุทธน้ันพูดถึงกันอย่างเจาะจงมากข้ึน เช่นมีการใช้คำว่าพุทธไทยเถรวาทซึ่งคิดว่าแต่เดิมไม่ค่อยมีการใช้คำน้ี การที่เริ่มเจาะจงไปที่คำคุณศัพท์อย่าง พุทธไทยเถรวาท เป็นการบอกเป็นนัยหรือไม่ว่าพุทธในไทยเร่ิมมีการแบ่งสายมากขึ้น

สมัยปู่ย่าตายาย พุทธศาสนาที่คนไทยรู้จักมีแค่พุทธเดียว คือพุทธแบบไทยเถรวาท ดังนั้นจึงไม่ค่อยมีใครพูดแบบเจาะจงว่าพุทธเถรวาท เพราะว่ามันคือพุทธอย่างเดียวที่คนรู้จัก แต่ในปัจจุบันมีพุทธหลายแนวเข้ามา ทั้งพุทธจีน พุทธญี่ปุ่น พุทธมหายาน พุทธวัชรยาน  อันนี้เป็นธรรมดาของโลกาภิวัตน์

เพราะฉะนั้นเวลาพูดถึงพุทธศาสนา มันเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีคำคุณศัพท์ตามมา เพื่อกำหนดให้ชัดว่าที่พูดถึงพุทธคือพุทธอะไร พุทธเถรวาท พุทธมหายาน  หรือพุทธวชัรยาน แม้แต่พุทธเถรวาท ก็ยังมีแบบไทย แบบพม่า แบบลังกา ดังนั้นจึงต้องระบุให้ชัดเจน  ปัจจุบันนี้มันมีความหลากหลายสูงมากจนต้องพูดกันให้ชัด สมัยก่อนคนอเมริกาก็มีแค่อเมริกัน ตอนหลังมี Asian American,  Native American,  Hispanic American,  Afro-American

เพราะว่ามีคนหลายเชื้อชาติเข้ามา ก่อนหน้านี้คนที่เป็นอเมริกันก็ล้วนมีเชื้อสายยุโรปทั้งนั้น แต่ตอนหลังก็มีมาจากอเมริกาใต้  เอเชีย  รวมทั้งอินเดียนแดง และคนดำก็ถูกยอมรับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอเมริกัน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาในยุคโลกาภิวัตน์ ต้องมีเรื่องนี้อยู่แล้วเพราะเป็นยุคของความหลากหลาย

SIU: ผู้คูนในปัจจุบันมีวิถีแบบพุทธตามความเข้าใจของตัวเอง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเริ่มมีกลุ่มคนที่เป็นฆราวาสปฏิบัติกิจกรรมทางพุทธมากขึ้น เช่นพนักงานบริษัทซึ่งส่วนมากเป็นผู้หญิงด้วย มีทั้งการสวดภาวนาต่างๆ และใช้เวลาว่างที่ตัวเองมีไปเข้าศูนย์ภาวนา สามารถอธิบายความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร

เดิมศาสนาทุกศาสนาล้วนมีศูนย์กลางอยู่ที่นักบวชหรือวัด อย่างพุทธเถรวาท ศูนย์กลางเมื่อก่อนอยู่ที่พระ อยู่ที่วัด แต่ว่าวิถีชีวิตของสังคมสมัยใหม่ในปัจจุบันฆราวาสมีการศึกษามากขึ้น ทำให้พึ่งพาพระน้อยลง ชีวิตของฆราวาสจึงเริ่มเหินห่างจากพระและวัดมากขึ้น สมัยก่อนเราต้องเรียนหนังสือในวัด จะดูมหรสพความบันเทิง เช่น ลิเก ก็ต้องไปที่วัด หรือไปงานวัด ป่วยก็ต้องไปขอสมุนไพรจากพระ

แต่เดี๋ยวนี้ทุกอย่างออกนอกวัดหมด เช่น เรียนหนังสือที่โรงเรียน  หาความบันเทิงในโรงหนัง ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล มันจะมีสถาบันต่างๆเป็นสถาบันแบบทางโลกเกิดขึ้นเเพื่อรองรับความต้องการของฆราวาส เพราะเรามีสถาบันในทางโลกจำนวนมาก

นอกจากเหินห่างแล้ว ฆราวาสจำนวนมากยังมีความรู้สึกว่าพระมีความรู้น้อยกว่า อีกทั้งพระปฏิบัติตัวไม่น่านับถือ ไม่น่าศรัทธา เพราะฉะนั้นชาวพุทธที่เป็นฆราวาสจึงเลือกที่จะปฏิบัติพุทธศาสนาที่ไม่อิงพระ ไม่อิงวัด ครูบาอาจารย์ที่มาสอนก็เป็นฆราวาสมากขึ้น สถานที่ปฏิบัติธรรมก็ออกจากวัดมากขึ้น เพราะวัดไม่ค่อยสงบ พลุกพล่าน สกปรก ไม่สะดวก ที่จอดรถไม่มี แออัด เขาจึงหันไปปฏิบัติธรรมตามรีสอร์ท ตามโรงแรมซึ่งถูกจริตเขา

นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้วัดพระธรรมกายได้รับความนิยม เพราะว่าวัดธรรมกายสงบ สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่เหมือนกับวัดในกรุงเทพ ลองเข้าไปดูวัดในกรุงเทพ บรรยากาศผิดกับวัดธรรมกาย แบบนี้ทำให้คนชั้นกลางที่มีจริตแบบหนึ่ง คือชอบความสะอาดและความเป็นระเบียบ รู้สึกว่าพระส่วนใหญ่ล้าสมัย บางทีรู้สึกว่าพระมีความรู้น้อยกว่าตนเอง ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นความจริง

อีกทั้งเห็นว่ามีพระผิดวินัยมากมาย ความศรัทธาจึงลดลง เขาจึงหันมาปฏิบัติในหมู่ของตัวเอง เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ฆราวาสนิยม” ขึ้นมา  ปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในญี่ปุ่นมานานหลายสิบปีแล้ว เพราะคนญี่ปุ่นเขารู้สึกว่าพระหรือนักบวชในศาสนา ไม่น่าศรัทธา ไม่น่าเลื่อมใส เขาก็หันมาสร้างชุมชนศาสนาของเขาเอง

นิกายใหม่ๆในญี่ปุ่นเป็นฆราวาสนิยมทั้งนั้นเลย ก็เป็นกระบวนการที่กำลังเกิดขึ้นในไทยเช่นกัน เป็นผลสืบเนื่องมาจากการพัฒนาของสังคมสมัยใหม่ อาตมาคิดว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วไป ในสังคมที่ศาสนาเคยมีศูนย์กลางอยู่ที่วัด

SIU: คิดว่าในอนาคตต่อไป พุทธควรปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างไรเพื่อตอบสนองกับปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งวิถีชีวิตที่มันเปลี่ยนแปลงไปมากขนาดนี้ด้วย

อาตมาคิดว่า การนับถือะพุทธศาสนาในสังคมไทยในปัจจุบัน  โดยเฉพาะหมู่ชนชั้นกลางต้องปรับตัวมาก เพราะสังคมตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลงมากแล้ว บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ชาวบ้านมีสำนึกทางการเมืองและต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น  พุทธศาสนาเองต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตย ความคิดที่สวนทางกับประชาธิปไตยจะทำให้พุทธศาสนาถูกผู้คนทิ้งห่างออกไปเรื่อยๆ

อาตมาคิดว่าพุทธศาสนาไม่ได้ขัดขวางประชาธิปไตย การที่เรามองประชาธิปไตยในเชิงลบเพราะว่าเรามองแบบไม่ครบถ้วน เรามองว่า แค่คนดีปกครองก็พอแล้ว จะเป็นระบบอะไรก็ได้ไม่สำคัญ แต่ในส่วนลึก ๆก็คิดว่า ถ้าเป็นเผด็จการหรือปกครองโดยคนหมู่น้อยจะดีกว่า อันนี้เป็นการมองแบบปฏิเสธอิทธิพลโครงสร้าง แต่พุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธอิทธิพลโครงสร้างและปัจจัยแวดล้อม ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงจัดตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมา

เพราะว่าคณะสงฆ์เป็นโครงสร้าง เพื่อหล่อหลอมนักบวชหรือภิกษุแต่ละคนให้มีความเจริญงอกงามในธรรม คนเราถ้าไม่มีโครงสร้างหรือองค์กรมารองรับการประพฤติปฏิบัติของบุคคล อาจจะทำให้ธรรมะไม่สามารถจะเจริญงอกงามได้  ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนาจึงให้ความสำคัญกับคำว่าวินัยด้วย จึงมีชื่อเรียกอย่างหนึ่งว่าธรรมวินัย คือมีทั้งวินัยและธรรมะ

วินัยไม่ใช่ข้อปฏิบัติหรือข้อห้าม แต่หมายถึงระเบียบชีวิต ระบบสังคม ซึ่งชาวพุทธส่วนใหญ่มองข้าม  การที่พระพุทธเจ้าให้ความสำคัญมากกับคณะสงฆ์ ก็เพราะทรงเห็นว่าคณะสงฆ์จะเป็นแบบอย่างของระบบสังคมที่เสริมสร้างระเบียบชีวิต นำไปสู่การพัฒนาหรือความเจริญงอกงามทางจิตใจ

ระเบียบชีวิตระบบสังคมเป็นสิ่งที่ต้องมองในภาพกว้างด้วย สมัยนี้ก็รวมถึงระบบกฎหมาย ระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง ทั้งหมดนี้จัดอยู่ในสิ่งที่พระพุทธเจ้าเรียกว่าวินัย ชาวพุทธทุกวันนี้นับถือพุทธศาสนาแค่ครึ่งเดียว คือสนใจธรรมะแต่มองข้ามวินัย นี่เป็นปัญหาของชาวพุทธในปัจจุบัน

อาตมาคิดว่า ชาวพุทธในปัจจุบันจะต้องให้ความสำคัญกับระบบสังคมหรือโครงสร้างมากขึ้น ต้องนับถือพระพุทธศาสนาอย่างครบถ้วนไม่ใช่แค่ครึ่งเดียว ในขณะเดียวกันการนับถือพุทธศาสนาโดยเน้นเรื่องการทำจิต คือปล่อยวาง แต่ไม่สนใจการแก้ไขสังคมหรือสิ่งแวดล้อม ก็ไม่ถูก อันนี้เรียกว่าทำจิตแต่ไม่ทำกิจ

ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยไม่สนใจสังคม บ้านเมืองจะคอร์รัปชั่นอย่างไร สังคมจะวุ่นวายอย่างไร หรือสิ่งแวดล้อมจะเน่าเสียอย่างไร ฉันไม่สนใจ คนยากจนจะมีมากแค่ไหนฉันไม่สนใจ ฉันจะปล่อยวางอย่างเดียว แบบนี้ไม่ถูกทำจิตแล้วต้องทำกิจด้วย ปฏิบัติธรรม ฝึกฝนตนเองอย่างเดียวไม่พอ ต้องให้ความสำคัญกับวินัย หรือระบบสังคมหรือสิ่งแวดล้อมทางสังคมด้วย

พูดง่ายๆ ชาวพุทธจำนวนมาก นับถือพระพุทธศาสนาแบบกระท่อนกระแท่น หรือแบบไม่ครบถ้วน อาตมาคิดว่าถ้านับถือศาสนาให้ครบถ้วน จะเห็นความสำคัญของการสร้างระบบ การปฏิรูปโครงสร้างให้ดี ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย การส่งเสริมให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้คนมากขึ้น

อาตมาคิดว่านี่คือสิ่งที่ชาวพุทธต้องใส่ใจและพยายามปรับตัว ไม่ใช่ปรับตัวเพื่อให้เหินห่างจากธรรมวินัย แต่เป็นการปรับตัวเพื่อเอาธรรมวินัยมาใช้อย่างจริงจังมากขึ้น



SIU: การปรับตัวให้ศาสนาพุทธเข้ากับประชาธิปไตยจะแก้ปัญหาความแข็งกร้าวขององค์กรทางพุทธในปัจจุบันได้อย่างไร เช่น มหาเถรสมาคมที่มีปัญหาอยู่ ได้ไหม?

มหาเถรสมาคมในตอนนี้ เหมือนเสือกระดาษ แข็งกร้าวแค่ท่าทีและคำพูด ถ้าพูดภาษาชาวบ้านคือไม่มีน้ำยา ถ้ามหาเถรสมาคมเป็นอย่างเมื่อ 80 ปีก่อน กรณีอย่างธรรมกายก็จบไปนานแล้ว

อาตมามองว่า มหาเถรสมาคมมีแต่ความคิดที่แข็งตัว แต่ว่าไม่มีอำนาจ  จะเรียกว่าเสือกระดาษก็ไม่ผิด นี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลง อาตมาคิดว่ามหาเถรสมาคม และการปกครองคณะสงฆ์ต้องมีการปฏิรูปมากขึ้น ต้องมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ต้องมีส่วนร่วมจากพระสงฆ์ในท้องถิ่นต่างๆ มากขึ้น

ต้องมีการกระจายอำนาจไปสู่สงฆ์ในท้องถิ่นมากขึ้น ขณะเดียวกันการคณะสงฆ์ในท้องถิ่นก็ต้องให้ฆราวาสมามีส่วนร่วมมากขึ้น แม้กระทั่งในวัดเองฆราวาสก็ต้องมีส่วนร่วมมากขึ้น พูดง่ายๆ คือต้องคืนวัดให้กลับไปเป็นของประชาชน สมัยก่อนวัดเป็นของชาวบ้าน พระเป็นแค่ผู้อาศัย แต่ตอนนี้วัดกลายเป็นของเจ้าอาวาสไปแล้ว

เจ้าของวัดที่แท้จริงคือคณะสงฆ์ในกำกับของมหาเถรสมาคม ที่จริงมันไม่ตรงกับความเชื่อดั้งเดิมของชาวบ้าน ชาวบ้านสมัยก่อนเขามองว่าวัดเป็นของเขา พระเป็นผู้อาศัย ตอนที่อาตมาอยู่ที่วัดป่ามหาวันเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว เมื่อออกพรรษา ชาวบ้านจะนิมนต์ขอให้อยู่ต่อ ทั้งที่อาตมาเป็นเจ้าอาวาสอยู่แล้ว แต่ชาวบ้านยังขอให้อยู่ต่อ เพราะเขารู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของวัด พระเป็นผู้อาศัย

SIU: นอกจากท่าทีการปรับตัวเข้าหาประชาธิปไตยแล้ว ในโลกปัจจุบันชาวพุทธเองต้องอยู่กับคนต่างศาสนาด้วย มีคนวิจารณ์ว่าชาวพุทธไทยพูดถึงพุทธโดยมีความรู้สึกว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เหนือกว่าศาสนาอื่น แนวคิดนี้มันมีที่มาที่ไปและควรต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง

มนุษย์มักจะเชื่อว่าตัวเองหรือพวกตัวเองประเสริฐกว่าคนอื่นเสมอ ชาวคริสต์ก็คิดแบบนี้ต่อศาสนาอิสลาม ชาวมุสลิมก็คิดแบบนี้ต่อศาสนาคริสต์และศาสนาพุทธ

SIU: แม้แต่ในหมู่ปัญญาชนที่ศึกษาเรื่องศาสนาเปรียบเทียบก็เป็นหรือครับ

นี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ มนุษย์ปุถุชน ย่อมมีอัตตา มีอหังการ มีมานะ  มีความถือตัวว่าเหนือกว่า แม้กระทั่งชาวอิสลามที่นับถือนิกายสุหนี่ ก็คิดว่านิกายสุหนี่สูงกว่า ดีกว่านิกายชีอะห์ ชาวนิกายชีอะห์ก็คิดว่าตัวเองสูงกว่า ดีกว่านิกายสุหนี่ โปรเตสแตนท์ก็คิดว่าตัวเองสูงกว่าคาทอลิก คาทอลิกก็คิดว่าตัวเองดีกว่าโปรเตสแตนท์ พุทธแบบไทยก็คิดว่าตัวเองเหนือกว่าพุทธแบบพม่า แต่พุทธแบบพม่าเขาก็คิดว่าเขาเหนือกว่าพุทธแบบไทย มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์

อาตมาไม่เชื่อว่านี่เป็นปัญหาเฉพาะชาวพุทธ แต่ถ้าปฏิบัติธรรมหมั่นมองตนอย่างจริงจัง จะรู้เท่าทันอัตตาและตัวตน แบบนี้จะมีความอ่อนน้อมถ่อมตนมากขึ้น  จะไม่ดูถูกคนอื่นว่าต่ำกว่าตัวเอง แต่จริงๆ แล้วการดูถูก มันเกิดขึ้นเต็มไปหมด การแบ่งสีแบ่งขั้วก็ทำให้มีการดูถูกกัน เสื้อเหลืองดูถูกเสื้อแดง เสื้อแดงดูถูกเสื้อเหลือง เสื้อเหลืองบอกว่าแกเป็นควายแดง ส่วนเสื้อแดงก็บอกว่าแกเป็นแมลงสาป

การดูถูกเป็นเรื่องธรรมดามากของมนุษย์ที่ยังไม่รู้เท่าทันกิเลสของตัวเอง อันนี้เป็นสิ่งที่ชาวพุทธต้องกลับมารู้เท่าทันกิเลสตัณหาของตัวเองให้ได้ แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาของชาวพุทธที่เดียว แต่เป็นปัญหาของมนุษย์ทั้งหมด แม้กระทั่งชนเผ่าก็ดูถูกกันเอง กะเหรี่ยงกับม้งก็ดูถูกกัน  การดูถูกนั้นมีอยู่ทั่วไป อเมริกันก็ดูถูกอังกฤษ อังกฤษก็ดูถูกอเมริกัน

SIU: คนเป็นชาวพุทธที่ถูกพูดถึงเป็นชาวพุทธที่กำลังมองคนอื่นต่ำกว่าในด้านศีลธรรม นี่เป็นปัญหาแบบหนึ่งที่ต้องปรับตัวหรือไม่

ชาวพุทธมักจะมองความดีแบบแคบๆ คือต้องมีศีล 5 ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ใครที่กินเหล้าและสูบบุหรี่ถือว่าเป็นคนไม่ดี  อาตมาคิดว่าจะต้องมองให้กว้าง อย่าไปมองว่าคนที่ไม่มีศาสนาหรือไม่นับถือศาสนาแย่กว่าคนที่นับถือศาสนา ซึ่งไม่จริง

คนที่เคร่งศาสนาแต่ว่าเอาเครื่องบินไปชนตึกเวิลด์เทรดก็มี คนที่นับถือศาสนาแต่เอาปืนไปยิง เอาระเบิดไปปาผู้บริสุทธิ์ก็มี  เพราะฉะนั้นการมองว่าฉันนับถือศาสนาฉันประเสริฐ แต่แกไม่มีศาสนาแกแย่ มองแบบนี้ไม่ถูกต้อง เราต้องดูศาสนาที่ตัวเนื้อแท้ว่า การประพฤติปฏิบัติของเขาเป็นอย่างไร เขาอาจจะท่องศีล 5 ไม่ได้ แต่ว่าเขาไม่ได้เบียดเบียนใคร  ซึ่งเป็นการถือศีล 5 อยู่แล้วในตัว




อาตมาคิดว่าชาวพุทธต้องไม่มองคนด้วยมาตรฐานที่แคบๆ ต้องไม่สรุปว่าใครดีใครเลว เพียงเพราะว่าเขามีศาสนาหรือไม่ อาตมามองว่านับถืออะไรไม่สำคัญเท่ากับนับถืออย่างไร คุณนับถือพุทธ แต่นับถือด้วยความยึดมั่นถือมั่น เกิดอหังการ์ อันนี้เป็นอันตราย นับถือพุทธแต่ว่าทำบุญให้ทานเพื่อหวังรวย อยากมีอยากเอา

พระพุทธเจ้าเรียกว่าเป็นมิจฉาปฏิปทา ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ผิดทาง หรือคนที่ยกตนข่มท่านว่าตัวเองมีศีลมากกว่า มีคุณวิเศษมากกว่า พระพุทธเจ้าเรียกคนแบบนี้ว่าเป็นอสัตบุรุษ เป็นคำที่แรงมาก

เพราะฉะนั้นคุณนับถืออะไรไม่สำคัญ อยู่ที่นับถืออย่างไร และปฏิบัติตัวอย่างไร รวมทั้งปฏิบัติกับคนอื่นอย่างไรด้วย ถึงไม่นับถือศาสนาแต่คุณมีความเคารพต่อคนที่คิดต่างจากตัวเอง คุณมีความเมตตากรุณา อันนี้อาตมาว่าประเสริฐกว่าคนที่นับถือศาสนาเฉพาะรูปแบบ

สรุปก็คือเราต้องมีความใจกว้าง ไม่มองคนต่างศาสนาว่าแย่ และแม้คนที่ไม่มีศาสนา ก็ไม่ได้แปลว่าเขาเป็นคนไม่ดี เขาอาจมีศีล มีเมตตา มีความเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนมนุษย์ ยิ่งกว่าคนมีศาสนาก็ได้

SIU: ในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง และศาสนาพุทธเองก็เผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ถ้าจะทำให้พุทธศาสนายังคงมีความหมายอยู่ ควรจะปรับตัวอย่างไรบ้าง ในแง่ของปุถุชนทั่วไป

ในแง่ของชาวพุทธ ที่อาตมาพูดตั้งแต่แรกคือ เมื่อนับถือพระพุทธศาสนาก็ควรนับถือให้ครบถ้วน ทำจิตและทำกิจด้วย บำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ปฏิบัติธรรมไม่พอ ต้องให้ความสำคัญกับวินัยด้วย ต้องมีทั้งความลึกและความกว้าง

พระพุทธศาสนาเน้นธรรมะที่ทำให้ชีวิตทั้งลุ่มลึกและกว้าง ลุ่มลึกคือรู้ทันกิเลสที่แฝงเร้น หมั่นขัดเกลากิเลสตนเอง จนกระทั่งถึงภาวะที่ไม่มีความยึดมั่นในตัวตน เห็นความจริงว่า จริงๆ แล้วตัวตนไม่มี เป็นแค่มายา

ขณะเดียวกันธรรมะก็ทำให้ชีวิตเรากว้างขึ้นคือเผื่อแผ่ เกื้อกูลผู้อื่น เอาใจใส่สังคม รับผิดชอบต่อส่วนรวม มีเมตตากรุณา และเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างของผู้คน ถ้าหากว่าชีวิตมีทั้งความลึกและความกว้าง อาตมาคิดว่าการนับถือพระพุทธศาสนาจะเป็นการจรรโลงสังคม จะช่วยให้สังคมเป็นไปได้ด้วยดี  ไม่ใช่แค่ทำดีที่ตัวเองอย่างเดียว แต่ยังช่วยให้ระบบหรือโครงสร้างของสังคมเอื้อต่อความผาสุกของผู้คนด้วย

ถ้าเป็นประชาธิปไตยก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยเพื่อสนองประโยชน์ส่วนตนหรือส่งเสริมตัวใครตัวมัน แต่เป็นประชาธิปไตยที่ส่งเสริมให้เกิดการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน เป็นประชาธิปไตยที่ส่งเสริมความเป็นมนุษย์ ถ้าเป็นทุนนิยมก็ไม่ใช่ทุนนิยมที่แล่เนื้อเถือหนังคนที่มีอำนาจหรือมีทุนน้อยกว่า แต่ต้องเอื้อเฟื้อเกื้อกูลคนที่มีอำนาจและทุนน้อยกว่าด้วย ช่วยให้เกิดความเสมอภาคมากขึ้น และมีความเหลื่อมล้ำน้อยลง นี่เป็นประเด็นที่ชาวพุทธต้องสนใจนอกเหนือจากการทำตัวให้ดี นอกจากให้ทาน รักษาศีล หรือการเจริญภาวนา

จาก http://www.siamintelligence.com/phra-phaisal-interview/
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...