ผู้เขียน หัวข้อ: ชีวิตที่ต้องมีความอ้างว้างเป็นเพื่อน (พระไพศาล วิสาโล)  (อ่าน 1305 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานไตรสรณะสุจิปุลิ
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด

พระไพศาล วิสาโล

ชีวิตที่ต้องมีความอ้างว้างเป็นเพื่อน
โดย พระไพศาล วิสาโล

คนเรามักจะรู้สึกเหงาและว้าเหว่เมื่ออยู่ไกลบ้าน ห่างเหินจากมิตรสหาย
แต่บางครั้งแม้อยู่บ้านก็ยังรู้สึกเหงาและว้าเหว่อยู่นั่นเอง
ความรู้สึกดังกล่าวเกิดขึ้นด้วยหลายสาเหตุ
แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ มีอะไรบางอย่างขาดหายไปจากชีวิตของเรา

อะไรบางอย่างนั้นอาจได้แก่ เพื่อน คนรัก พี่น้อง พ่อแม่
หรือคนใกล้ชิดที่เคยเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา
หรือคนที่เรารู้สึกผูกพันด้วย แต่บางครั้งสิ่งที่ขาดหายไปนั้น
เราอาจไม่เคยมีมาก่อนเลย แต่จิตใจโหยหาอยู่ลึกๆ
เช่น ความรักที่จริงใจ ครอบครัวที่อบอุ่น หรือชุมชนที่เรารู้สึกสนิทแนบแน่น

ความเหงาและว้าเหว่อาจเกิดขึ้นท่ามกลางชีวิตที่เร่งรีบและกลุ่มชนที่พลุกพล่าน
แต่ไม่ว่ารอบตัวจะวุ่นวายเพียงใด ภายในใจนั้นกลับวังเวง เปล่าเปลี่ยวอย่างยิ่ง
เพราะลึกๆ เรารู้สึกแปลกแยกกับผู้คน หรือรู้สึกว่านี่ไม่ใช่ “ที่” ของเรา
กล่าวอีกนัยหนึ่ง เรากำลังโหยหา “บ้าน” ที่แท้จริง

บ้านที่ใจใฝ่หาอาจหมายถึงผู้คนหรือชุมชนที่มีความรู้สึกนึกคิดร่วมกับเรา
มีมุมมองหรือวิถีชีวิตเหมือนกับเรา พูดภาษาเดียวกับเรา
สามารถแบ่งปันความรู้สึกได้อย่างไม่ต้องปิดบัง
ชุมชนดังกล่าวอาจเป็นชุมชนที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง
หรือมาร่วมกันเป็นครั้งคราว อาจเป็นชุมชนทางชาติพันธุ์
ชุมชนทางการเมือง ชุมชนทางศาสนา
ชุมชนทางอินเตอร์เน็ต หรือแม้แต่แก๊งมอเตอร์ไซค์

เพียงแค่มีความเห็นต่างกับคนรอบตัว
ก็อาจทำให้บางคนรู้สึกเปล่าเปลี่ยวแปลกแยก
ถึงกับต้องแสวงหากลุ่มคนที่คิดตรงกัน
หลายคนที่รักทักษิณจึงรู้สึกอบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน เมื่อได้เข้าร่วมการชุมนุม
ของแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการ (น ป ก.) ที่ท้องสนามหลวง
เช่นเดียวกับชาวพุทธจำนวนมาก
รู้สึกเหมือนกลับบ้านเมื่อได้ไปสำนักสันติอโศกหรือวัดพระธรรมกาย

บางครั้งความรู้สึกเปล่าเปลี่ยวแปลกแยกหรือเหงาลึก
อาจเกิดขึ้นกับคนทั้งรุ่น จนเกิดความรู้สึกเหินห่างหมางเมิน
หรือถึงกับเป็นปฏิปักษ์กับคนที่เหลือ
เกิดความรู้สึกเป็น “เรา” กับ “เขา” อย่างชัดเจน
ดังคนหนุ่มสาวในอเมริกาและยุโรปช่วงคริสต์ทศวรรษ ๑๙๖๐
จนนำไปสู่เหตุการณ์จลาจลในปี ๑๙๖๘
และขยายมาสู่หลายประเทศในเอเชีย รวมทั้งไทย
ซึ่งประทุเป็นเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา และการแบ่งขั้วอย่างรุนแรงหลังจากนั้น

ความรู้สึกทำนองเดียวกันกำลังเกิดกับหนุ่มสาวชาวมุสลิมซึ่งเกิดในยุโรป
คนเหล่านี้ไม่รู้สึกผูกพันกับสังคมยุโรป
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาวนับถือ (หรือเคยนับถือ) ศาสนาคริสต์
ขณะเดียวกันก็ไม่รู้สึกแนบแน่นกับชุมชนชาวมุสลิมรุ่นพ่อแม่
ซึ่งแม้อพยพมาอยู่ยุโรปนับสิบปีแล้ว
แต่ยังมีรากเหง้าฝังลึกอยู่กับมาตุภูมิ (เช่น อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ)
หนุ่มสาวชาวมุสลิมเหล่านี้ไม่รู้สึกว่าประเทศเหล่านั้นเป็น “บ้าน” ของตัว
จึงรู้สึกอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวอยู่ลึกๆ ดังนั้นจึงง่ายที่เข้าร่วมกับกลุ่มหัวรุนแรง
ที่สามารถตอบสนองความต้องการ มีชุมชนที่ตนรู้สึกสนิทแนบแน่น
เป็นชุมชนที่มีความรู้สึกนึกคิดร่วมกันทั้งในด้านศาสนา
อุดมการณ์การเมือง และความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับสภาพสังคมที่เป็นอยู่

ทั้งหมดนี้กล่าวได้ว่าเป็นความเหงา ว้าเหว่ เปล่าเปลี่ยว หรือแปลกแยก
ด้วยเหตุผลทางสังคม คือการเหินห่างจากกลุ่มคนหรือชุมชนที่มีคุณลักษณะร่วมกัน
อันได้แก่ ชาติพันธุ์ อุดมการณ์ ศาสนา ภาษา วิถีการดำเนินชีวิต รสนิยม
รวมไปถึงรูปลักษณ์และอาการทางกาย (คนขี้เหร่หรือผู้ป่วยเอดส์
อาจรู้สึกแปลกแยกเมื่ออยู่ท่ามกลางคนสวยหรือคนมีสุขภาพดี)

อย่างไรก็ตามแม้จะได้มาอยู่ท่ามกลางผู้คนหรือชุมชน
ที่ให้ความรู้สึกเสมือน “บ้าน” แต่หลายคนกลับพบว่าความรู้สึกเหงา
อ้างว้าง ว่างเปล่า ก็ยังมารบกวนอยู่ เหมือนกับว่ายังมีบางอย่างที่ขาดหายไป
ความรู้สึกดังกล่าวอาจเรียกรวมๆ กันว่าความรู้สึกพร่อง
ความรู้สึกพร่องทำให้ชีวิตที่เคยมีรสชาติ กลายเป็นน่าเบื่อ จืดชืด
ชวนเซื่องซึม แต่ละวันผ่านไปอย่างซักกะตาย
จำนวนไม่น้อยหาทางออกด้วยการเที่ยวเตร่ สนุกสนาน หรือแสวงหาสิ่งตื่นเต้น
เร้าใจด้วยสิ่งเสพนานาชนิด ทั้งอาหาร เสียงเพลง และเพศรส
แต่ก็บรรเทาความรู้สึกดังกล่าวไปได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว
หลายคนคิดว่าทรัพย์สินเงินทองหรือความสำเร็จในอาชีพการงาน
จะช่วยกลบความรู้สึกพร่องและทำให้ชีวิตเติมเต็ม แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

มีนักธุรกิจคนหนึ่งซึ่งประสบความสำเร็จอย่างหาคนเปรียบได้ยาก
เขาสามารถกอบกู้ธุรกิจก่อสร้างของครอบครัว
ให้พ้นจากหนี้สินซึ่งสูงถึง ๗,๐๐๐ ล้านบาทได้ในเวลา ๓ ปี
และใช้เวลาอีก ๓ ปียกฐานะของบริษัทให้พุ่งทะยานจนติดอันดับ ๑ ใน ๕
ของธุรกิจประเภทเดียวกัน มีผลประกอบการปีละเกือบ ๒๐,๐๐๐ ล้าน
เขาได้รับการยกย่องนับถืออย่างสูงจากผู้คนในแวดวงธุรกิจ
แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายขึ้นมาอย่างไม่มีสาเหตุ
ขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน แต่ละวันผ่านไปเหมือนว่างเปล่า
เขารู้สึกว่าตัวเองไม่มีความหมาย เขาเคยพูดว่า
“ผมจะมีความหมายอะไร ก็เป็นแค่...มหาเศรษฐีหมื่นล้านคนหนึ่ง”

เงินทองและความสำเร็จทางอาชีพเป็นยอดปรารถนาของผู้คน
ใครๆ ก็คิดว่าเมื่อได้สิ่งเหล่านี้มาครอบครองแล้วชีวิตจะเปี่ยมสุข
แต่ประสบการณ์ของนักธุรกิจผู้นี้บ่งชี้ว่า หาเป็นเช่นนั้นไม่
แล้วอะไรล่ะที่จะทำให้เรารู้สึกเต็มอิ่มกับชีวิต
คำตอบของนักธุรกิจผู้นี้ก็คือ ตำแหน่งทางการเมือง
แล้วเขาก็ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการสมใจ

ตำแหน่งรัฐมนตรีเพียงแค่ ๓ ปี (และถูกเว้นวรรคเพราะการรัฐประหาร)
อาจน้อยเกินไปที่เขาจะบอกได้ว่า
อำนาจทางการเมืองเป็นคำตอบสุดท้ายของชีวิตหรือไม่
แต่ถ้าถามคนซึ่งเคยเรืองอำนาจถึงขีดสุดต่อเนื่องนานนับสิบปี
ในฐานะเผด็จการอย่างประธานาธิบดีมาร์คอสแห่งฟิลิปปินส์
คำตอบคือไม่ใช่แน่นอน

เมื่อครั้งยังครองอำนาจสูงสุด
มาร์คอสเคยถ่ายทอดความรู้สึกลงในบันทึกประจำวันว่า
“ผมเป็นคนที่มีอำนาจมากที่สุดในฟิลิปปินส์ ผมมีทุกอย่างที่เคยใฝ่ฝัน
พูดให้ถูกต้องก็คือ ผมมีทรัพย์สมบัติทุกอย่างเท่าที่ชีวิตต้องการ
มีภรรยาซึ่งเป็นที่รัก และมีส่วนร่วมในทุกอย่างที่ผมทำ
มีลูกๆ ที่ฉลาดหลักแหลมซึ่งจะสืบทอดวงศ์ตระกูล
มีชีวิตที่สุขสบาย ผมมีทุกอย่าง แต่กระนั้นผมก็ยังรู้สึกไม่พึงพอใจในชีวิต”

มาร์คอสมีทุกอย่างที่ใครๆ อยากจะมีกัน
ทั้งเงินทอง อำนาจ ครอบครัว แต่เขาก็ยังไม่มีความสุข
ทั้งนี้ก็เพราะมีบางอย่างที่ขาดหายไปจากชีวิตของเขา
ใช่หรือไม่ว่าสิ่งนั้นได้แก่ ความสงบเย็นในจิตใจ
ทั้งหมดที่เขากล่าวถึงล้วนเป็นสิ่งนอกตัวทั้งสิ้น
ซึ่งไม่สามารถนำความสงบเย็นมาสู่จิตใจได้อย่างแท้จริง
บางอย่างกลับนำความร้อนใจมาให้ด้วยซ้ำ
โดยเฉพาะทรัพย์และอำนาจซึ่งได้เท่าไรก็ไม่รู้จักพอ
ด้วยเหตุนี้เขาจึงไม่รู้สึกเต็มอิ่มกับชีวิตเสียที

ความสงบใจนั้นมีหลายระดับ
ระดับพื้นฐานก็คือ การมีสิ่งยึดเหนี่ยวในจิตใจ
สิ่งยึดเหนี่ยวที่สามารถทำให้เราอุ่นใจ
หายว้าวุ่น และไม่โดดเดี่ยวอ้างว้าง
ได้แก่สิ่งที่ทรงพลานุภาพและยิ่งใหญ่กว่าตัวเรา
อาทิ พระเจ้า เทพยดา หรือท้าวจตุคามรามเทพ
สำหรับชาวพุทธก็ได้แก่พระรัตนตรัย เป็นต้น
ไม่ว่าใครก็ตามหากยังเป็นปุถุชนอยู่ย่อมต้องการที่พึ่งทางใจ
ดังพระพุทธองค์ตรัสว่า
“บุคคลผู้ไร้สิ่งเคารพ ไม่มีสิ่งนับถือ ย่อมอยู่เป็นทุกข์”


แต่สิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจนั้นมักให้ความสงบใจได้ชั่วคราว
โดยเฉพาะในยามประสบทุกข์หรือประสบกับความผันผวนปรวนแปรในชีวิต
แต่ในยามปกติแม้มีที่ยึดเหนี่ยวแล้วก็ยังรู้สึกอ้างว้างว่างเปล่า
สาเหตุสำคัญก็เพราะลึกๆ ก็รู้สึกว่าชีวิตของตนนั้นไร้คุณค่า
ไม่มีความหมาย ไม่ว่าความสุขสบายจะมีมากมายเพียงใด
ก็ไม่สามารถกลบความรู้สึกว่างเปล่า หรือทำให้รู้สึกเติมเต็มขึ้นมาในจิตใจได้

หลายคนได้พบว่าชีวิตมีคุณค่าและเกิดความรู้สึกเต็มเปี่ยมกับชีวิต
เมื่อได้ลงมือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือช่วยเหลือผู้อื่น
อาสาสมัครที่ไปนวดเด็กกำพร้า
บางคนสารภาพว่าเธอเริ่มต้นด้วยความรู้สึกว่าไป “ให้” แก่เด็ก
แต่เมื่อทำไปสักพัก ก็พบว่าเด็กต่างหากที่ “ให้” แก่ตน
คือให้ความสุข และทำให้ชีวิตของตนมีคุณค่าและความหมาย

เราทุกคนล้วนมีจิตใจที่ใฝ่ดีด้วยกันทั้งนั้น การทำความดี เช่น
ช่วยเหลือผู้อื่น ย่อมยังให้เกิดปีติและความอิ่มเอมใจ
เป็นความสุขที่เกิดจากการเห็นผู้อื่นมีความสุข
และภาคภูมิใจที่ตนได้ทำสิ่งที่มีความหมาย
ทุกคนย่อมต้องการมีชีวิตที่ทรงคุณค่า
หากลังเลสงสัยในคุณค่าของชีวิตตนเมื่อใด
ย่อมหาความสงบได้ยาก นอกจากจะว้าวุ่นใจแล้ว
ยังถูกรบกวนด้วยความรู้สึกว่างเปล่าเบาหวิวอย่างยากที่จะทนได้

ความสงบใจยังเกิดได้จากการฝึกฝนอบรมจิตอย่างสม่ำเสมอ
จนความเร่าร้อนทะยานอยากหรือความโกรธมิอาจครอบงำได้
มีความสันโดษ พอใจในสิ่งที่มี และเปี่ยมด้วยเมตตาจิต รู้จักให้อภัย
ไม่ว่าโดยการทำสมาธิภาวนาหรือโดยการมองอย่างเป็นกุศลก็ตาม
ความสงบดังกล่าวเกิดจากหันมามองด้านใน หรือทำกับใจของตนเอง
ยิ่งกว่าที่จะไปทำกับคนอื่นหรือจัดการกับสิ่งรอบตัว
จึงมีความยั่งยืนกว่าความสงบจากภายนอก
เพราะสิ่งภายนอกนั้นยากที่จะควบคุมได้
ขณะที่จิตใจนั้นยังอยู่ในวิสัยที่เราสามารถดูแลได้มากกว่า
หากเข้าใจธรรมชาติของมัน

ชีวิตที่ขาดความสงบใจ เพราะไร้ที่ยึดเหนี่ยว อยู่อย่างไร้คุณค่า
และไม่รู้จักทำใจให้เป็นกุศล เป็นชีวิตที่ย่อมรู้สึกถึงความพร่องอยู่ลึกๆ ตลอดเวลา
แม้รอบตัวจะเต็มไปด้วยทรัพย์สมบัติ บริษัทบริวาร และมีอำนาจล้นฟ้าก็ตาม
เป็นความพร่องทางจิตวิญญาณ ซึ่งต่างจากความพร่องเพราะไร้ซึ่งวัตถุ
หรือความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวเพราะไร้ชุมชนที่ตนรู้สึกแนบแน่นด้วย

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า
แม้จะทำสิ่งที่มีคุณค่าเป็นอาจิณและหมั่นอบรมจิตอยู่เสมอ
ก็หาได้เป็นหลักประกันไม่ว่า เราจะปลอดพ้นจากความรู้สึกพร่องอย่างสิ้นเชิง
หรือรู้สึกว่าชีวิตเติมเต็มอย่างสมบูรณ์
ไม่น่าเชื่อว่าคนที่เผชิญกับภาวะดังกล่าวอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง
จนถึงขั้น “วิกฤตศรัทธา” คือ แม่ชีเทเรซา
ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นนักบุญที่โดดเด่นที่สุดของศตวรรษที่ ๒๐

เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการตีพิมพ์หนังสือรวมจดหมายของท่าน
ที่เขียนถึงบาทหลวงผู้รับสารภาพบาปตลอดเวลา ๖๖ ปีที่ทำงานรับใช้พระเจ้า
(Mother Teresa : Come Be My Light) เป็นครั้งแรก
ก็ว่าได้ที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณชนว่า
ท่านต้องเผชิญกับความรู้สึก “มืดมน ว่างเปล่า และหนาวเหน็บ”
ครั้งแล้วครั้งเล่าตลอด ๕๐ ปีสุดท้ายของท่าน
มีตอนหนึ่งท่านเขียนว่า “ศรัทธาของดิฉันอยู่ที่ไหน ลึกลงไปภายในไม่มีอะไร
นอกจากความว่างเปล่าและความมืดมน พระผู้เป็นเจ้า
ความเจ็บปวดที่มิอาจหยั่งรู้ได้นี้ช่างเจ็บปวดเสียเหลือเกิน
ดิฉันไม่มีศรัทธา ไม่กล้าเอ่ยถ้อยคำและความคิดที่เนืองแน่นในใจฉัน
และทำให้ดิฉันเป็นทุกข์อย่างเหลือล้น.....มีคนบอกดิฉันว่าพระเจ้ารักดิฉัน
แต่ความมืดมน หนาวเหน็บ และว่างเปล่านั้นมากมาย
เสียจนกระทั่งไม่มีอะไรสัมผัสวิญญาณของดิฉันเลย”

ความรู้สึกว่าพระเจ้าได้หายไปจากชีวิตของท่านได้เกิดขึ้นช่วงใกล้ๆ
กับที่ท่านเริ่มดูแลรักษาคนยากจนที่กัลกัตตา
และไม่เคยหายไปเลยจวบจนวาระสุดท้ายของท่าน ดังท่านเล่าว่า
“ความมืดมนที่ร้ายกาจเกิดขึ้นภายในใจดิฉัน ราวกับว่าทุกอย่างตายสิ้น
มันเป็นเช่นนี้ตั้งแต่ดิฉันเริ่มทำงาน (สงเคราะห์คนยากจน)”
ภาวะดังกล่าวทำให้ท่านรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้างอย่างยิ่ง
“ความโดดเดี่ยวอ้างว้างช่างทรมานยิ่งนัก
อีกนานเท่าใดที่หัวใจของดิฉันจะต้องทุกข์ทรมานแบบนี้”
จวบจน ๒ ปีสุดท้ายของชีวิตท่าน แม่ชีเทเรซาก็ยังเขียนถึง
“ความแห้งผากทางจิตวิญญาณ” ที่เกิดกับท่าน

น่าพิศวงมากที่ผู้ซึ่งศรัทธาพระเจ้าอย่างเหลือล้น
จนสละตนเพื่อพระองค์ได้ กลับรู้สึกอ้างว้างว่างเปล่าอยู่ในห้วงลึกของจิต
แต่ขณะเดียวกันก็น่าอัศจรรย์ ที่แม้ความทุกข์จะกัดกร่อนใจไม่เว้นแต่ละวัน
แต่ท่านก็สามารถทำสิ่งยิ่งใหญ่ให้แก่เพื่อนมนุษย์ได้อย่างต่อเนื่องถึงครึ่งศตวรรษ
แสดงให้เห็นถึงศรัทธาอันกล้าแกร่งอย่างยากจะหาผู้ใดเทียมเท่าได้


กรณีแม่ชีเทเรซาทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า
ความรู้สึกพร่องหรือความอ้างว้างว่างเปล่าทางจิตวิญญาณนั้น
เกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นเพราะยิ่งดิฉันต้องการพระองค์มากเท่าไร
ดิฉันก็เป็นที่ต้องการน้อยลงเท่านั้น” ดังที่ท่านเคยบันทึกไว้ใช่หรือไม่
หรือว่านี้เป็นปัญหาพื้นฐานของปุถุชนทั้งหลาย
ไม่ว่าจะเป็นใครก็หนีความรู้สึกพร่องทางจิตวิญญาณไปไม่ได้
ต่างกันที่มากหรือน้อย และรู้ตัวหรือไม่รู้เท่านั้น

ถ้าเป็นปัญหาพื้นฐานของปุถุชน
ความรู้สึกพร่องทางจิตวิญญาณเกิดขึ้นจากอะไร
มีรากเหง้าจากไหน เดวิด ลอย (David Loy)
นักปรัชญาชาวอเมริกันได้ให้อรรถาธิบายที่น่าสนใจ
โดยอาศัยแนวคิดแบบพุทธเรื่องอนัตตา กล่าวคือในความเป็นจริงแล้ว
อัตตาหรือตัวตนนั้นหามีไม่ แต่เป็นเพียงสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้นมาเอง
แล้วก็ยึดติดถือมั่นในอัตตานั้น โดยหลงคิดว่ามันมีอยู่จริงๆ
แต่ในส่วนลึกจิตก็รู้อยู่ลางๆ (หรือสงสัย) ว่ามันไม่มีอยู่จริง
ส่วนหนึ่งก็จากการสังเกตว่าตัวตนนั้นแปรเปลี่ยนอยู่เรื่อย
เดี๋ยวเป็นนั่น เดี๋ยวเป็นนี่ (เพียงแค่ดื่มเหล้าเสพยา ก็เปลี่ยนไปเป็นคนละคน
ยิ่งเกิดอุบัติเหตุทางสมอง ก็อาจกลายเป็นคนใหม่ไปอย่างสิ้นเชิง)
แต่จิตไม่สามารถยอมรับความจริงว่าตัวตนนั้นเป็นมายาภาพ
ดังนั้นมันจึงพยายามปฏิเสธความจริงข้อนี้
เพราะเท่ากับว่ามันเองก็หามีตัวตนหรือแก่นแท้ที่ยั่งยืนไม่

สิ่งที่จิตทำก็คือ กดข่มความรู้หรือความสงสัยดังกล่าวไว้
ทำนองเดียวกับที่หลายคนชอบกดความรู้สึกไม่ดีเอาไว้
(เช่น เกลียดแม่อยากทำร้ายพ่อ) แต่สิ่งที่ถูกกดนั้นมันไม่หายไปไหน
แต่ถูกเก็บไว้ในจิตไร้สำนึก และคอยผุดโผล่ในรูปลักษณ์อาการที่ผิดเพี้ยน
(เช่น เกลียดพ่อแม่ แต่ไม่ยอมรับ เลยไปโกรธเกลียดศาลพระภูมิแทนโดยไม่รู้สาเหตุ)
ในกรณีความสงสัยว่าตัวตนไม่มีอยู่จริงนั้น
อาการที่ปรากฏสู่การรับรู้ของจิตสำนึกคือความรู้สึกพร่อง
ว่างเปล่า โหวงเหวง ไม่มั่นคง เหมือนขาดอะไรบางอย่าง
แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร ความรู้สึกดังกล่าวผลักดันให้ผู้คนพยายามครอบครองสิ่งต่างๆ
ด้วยเชื่อว่าจะทำให้จิตใจรู้สึกเต็ม หรือมีที่ยึดเหนี่ยวเพื่อให้เกิดความมั่นคง
แต่ไม่ว่าจะมีเท่าไร ใจก็ยังรู้สึกพร่อง และไม่มั่นคงอยู่นั่นเอง
เพราะสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่การมีน้อยเกินไป
แต่อยู่ที่การไม่ยอมรับความจริงว่าตัวตนนั้นไม่มีอยู่จริงต่างหาก

ทางออกจึงได้แก่การยอมรับว่าตัวตนนั้นไม่มีอยู่จริง
เลิกปฏิเสธหรือเบือนหน้าหนีความจริงดังกล่าว
แต่การทำเช่นนั้นมิได้เกิดจากการคิด เพราะถึงคิดได้
จิตก็จะยึดเอาความคิดนั้นมาเป็นตัวตนอีกแบบหนึ่ง
คือถือเอาเป็น “ตัวกูของกู” การยอมรับความจริงดังกล่าว
จะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงก็จากการประจักษ์แจ้งด้วยปัญญาว่า
ไม่มีอะไรที่เป็นตัวกูของกูเลย และไม่มีอะไรที่ยึดติดถือมั่นเป็นตัวตนได้
เมื่อเห็นความจริงอย่างชัดแจ้งจนไร้ข้อสงสัย
การกดข่มความจริงจนไปสร้างความปั่นป่วนจากจิตไร้สำนึก
ก็ไม่มีอีกต่อไป ความรู้สึกพร่องก็เป็นอันหมดไปอย่างสิ้นเชิง

แม้ศาสนาต่างๆ จะช่วยลดความรู้สึกพร่องลงได้บ้าง
เช่น มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ
แนะนำวิธีทำใจให้สงบ มีสวรรค์และโลกหน้าที่ให้ความหวังว่า
จะบรรเทาความรู้สึกพร่องที่รบกวนจิตใจในโลกนี้ให้หมดไปได้
แต่ก็ยังไม่สามารถขจัดความรู้สึกพร่องไปได้อย่างแท้จริง
จนกว่าจิตใจจะประจักษ์แจ้งและยอมรับความจริงดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง

มองในแง่นี้ความรู้สึกพร่อง
จึงเป็นปัญหาสากลของคนทุกคนที่ยังเป็นปุถุชนอยู่
แต่ถึงจะยังไม่บรรลุธรรมอย่างถึงที่สุด
เราก็ยังมีหวังว่าจะบรรเทาความรู้สึกพร่องได้เป็นลำดับไป
หากใช้ชีวิตและรู้จักทำใจอย่างถูกต้อง
แต่ในระหว่างที่ยังไม่สามารถขจัดความรู้สึกดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง
เราก็เห็นจะต้องยอมรับว่าความเหงา อ้างว้าง ว่างเปล่า และเปล่าเปลี่ยว
เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เราต้องอยู่กับมันไปอีกนาน


คัดลอกมาจาก
http://www.budnet.org/

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=22300
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...