แสงธรรมนำใจ > หยาดฝนแห่งธรรม
ผลไม้ในสวนธรรม
ฐิตา:
พระพุทธภาษิต
การไม่ทำบาปทั้งสิ้น ๑
การยังกุศลให้ถึงพร้อม ๑
การทำจิตของตนให้ผ่องใส ๑
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
15/69 มหาปทานสูตร
ธรรมดาไฟย่อมเกิดขึ้นที่ไม้สีไฟ อันบุคคลสีอยู่ ไฟเกิดขึ้นแต่ไม้ใด
ย่อมเผาไม้นั้นเองให้ไหม้ ความโกรธย่อมเกิดขึ้นแก่คนโง่เขลาเบาปัญญา ไม่รู้จริง
เพราะความแข่งดี แม้เขาก็ถูกความโกรธนั้นแหละเผาลน
42/408-409 จุลลโพธิชาดก
สิ่งใดพร่อง สิ่งนั้นดัง สิ่งใดเต็ม สิ่งนั้นสงบ คนพาลเปรียบด้วยหม้อน้ำที่มีน้ำครึ่งหนึ่ง
บัณฑิตเปรียบเหมือนห้วงน้ำที่เต็ม
39/631 นาลกสูตร
สัตว์ทั้งหลายประพฤติชอบในเวลาใด เวลานั้นย่อมชื่อว่าเป็น ฤกษ์ดี มงคลดี
สว่างดี รุ่งดี ขณะดี ยามดี
31/477 สุปุพพัณหสูตร
ประโยชน์ได้ล่วงเลยคนโง่เขลา ผู้คอยฤกษ์อยู่ ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์
ดวงดาวจักทำอะไรได้
42/20-21 นักขิตตชาดก
ผู้ใดรีบด่วนในเวลาที่ควรช้า และช้าในเวลาที่รีบด่วนผู้นั้นเป็นพาล ย่อมประสบทุกข์
เพราะไม่จัดแจงโดยอุบายอันชอบประโยชน์ของผู้นั้นย่อมเสื่อมไป
41/447-448 สัมภูตเถรคาถา
ความดี คนดีทำได้ง่าย
ความดี คนชั่วทำยาก
ความชั่ว คนชั่วทำได้ง่าย
ความชั่ว พระอริยเจ้าทั้งหลายทำได้ยาก
38/213 อานันทสูตร
ภูเขาหินล้วนเป็นแท่งทึบ ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะลมฉันใด
บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะนินทาและสรรเสริญฉันนั้น
บัณฑิตทั้งหลายผู้อันสุขหรือทุกข์ถูกต้องแล้ว ย่อมไม่แสดงอาการสูง ๆ ต่ำ ๆ
38/33-44 คาถาธรรมบท
ผู้ชนะย่อมก่อเวร ผู้แพ้ย่อมก่อทุกข์ ละความชนะและความแพ้เสียแล้ว
จึงสงบระงับ นอนเป็นสุข
23/165 ปฐมสังคามวัตถุสูตร
เธอทั้งหลายจงลุกขึ้นเถิด จงนั่งเถิด เธอทั้งหลายจะได้ประโยชน์อะไรด้วยความหลับ
เพราะความหลับจะเป็นประโยชน์อะไรแก่เธอทั้งหลายผู้เร่าร้อนเพราะโรค คือ กิเลส
มีประการต่าง ๆ ถูกลูกศร คือ ราคะ เป็นต้น แทงแล้วย่อยยับอยู่
39/527-528 อุฏฐานสูตร
ฐิตา:
หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล
วิปัสสนานี้มีผลอานิสงส์ใหญ่ยิ่งกว่าทาน ศีล พรหมวิหารภาวนา
ย่อมทำให้ผู้เจริญนั้นมีสติไม่หลงเมื่อทำกาลกิริยา มีสุคติภพ คือมนุษย์และโลกสวรรค์
เป็นไปในเบื้องหน้าหากยังไม่บรรลุผลทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ถ้าอุปนิสัยมรรคผลมี
ก็ย่อมทำให้ผู้นั้นบรรลุมรรคผลทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานได้ในชาตินี้นั่นเทียว
อนึ่ง ยากนักที่จะได้เกิดมาเป็นมนษย์ เพราะต้องตั้งอยู่ในธรรมของมนุษย์คือ ศีล ๕ และกุศลกรรมบท ๑๐
จึงจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ชีวิตที่เป็นมานี้ก็ได้ด้วยยากยิ่งนักเพราะอันตรายชีวิต
ทั้งภายในภายนอกมีมากต่าง ๆ การที่ได้ฟังธรรมของสัตตบุรุษ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ก็ได้ด้วยยากยิ่งนัก
เพราะกาลที่เปล่าว่างอยู่ ไม่มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกยืดยาวนานนัก บางคาบบางสมัย
จึงจะมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกสักครั้งสักคราวหนึ่ง เหตุนั้น เราทั้งหลายพึงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด
อย่าให้เสียที่ที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนานี้เลย
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
การบำรุงรักษาสิ่งใด ๆ ในโลก... การบำรุงรักษาตนคือใจเป็นเยื่ยม จุดที่เยี่ยมยอดของโลกคือใจ
ควรบำรุงรักษาด้วยดี ได้ใจแล้วคือได้ธรรม เห็นใจแล้วคือเห็นธรรม รู้ใจแล้วคือรู้ธรรมทั้งมวล
ถึงใจตน แล้วคือถึงพระนิพพาน
ใจนี้ คือ สมบัติอันล้ำค่า จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองข้ามไป
คนพลาดใจคือคนไม่สนใจปฏิบัติต่อดวงใจดวงวิเศษในร่างนี้ แม้จะเกิดสักร้อยชาติพันชาติ ก็คือผู้เกิดพลาดอยู่นั่นเอง
ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ จะแยกกันไม่ได้ หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ต้องอิงอาศัยกันอยู่ฉันใดก็ดี
ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ก็อาศัยกันอยู่อย่างนั้น สัทธรรมสามอย่างนี้ จะแยกกันไม่ได้เลย
ไม่ว่าธรรมส่วนใด ถ้าสำคัญ “ตน” ว่าเสวย เป็นอันผิดทั้งนั้น
ติดดี นี่แก้ยากกว่าติดชั่วเสียอีก
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
คนเราทุกวันนี้เป็นทุกข์เพราะความคิด
ถ้ามีเวลาสำหรับหายใจ ก็ต้องมีเวลาสำหรับภาวนา
การฟังแต่ละครั้งนั้นควรให้ได้อรรถรสของปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ จึงจะเป็นสาระแก่นสาร
การเริ่มต้นปฏิบัติวิปัสสนาภาวนานั้น จะเริ่มต้นโดยวิธีไหนก็ได้ เพราะผลมันเป็นอันเดียวกันอยู่แล้ว
ที่ท่านสอนแนวปฏิบัติไว้หลายแนวนั้น เพราะจริตของคนไม่เหมือนกัน จึงต้องมีวัตถุ สี แสง
และคำบริกรรม เช่น พุทโธ อรหัง เป็นต้น เพื่อหาจุดใดจุดหนึ่งให้จิตรวมอยู่ก่อน สงบแล้ว
คำบริกรรมนั้นก็หลุดหายไปเอง แล้วก็ถึงรอยเดียวกัน รสเดียวกัน คือ มีวิมุติเป็นแก่น มีปัญญาเป็นยิ่ง
สิ่งอันประเสริฐมีอยู่เฉพาะหน้าแล้วไม่สนใจ กลับไปหวังไกลถึงสิ่งที่เป็นแต่เพียงการกล่าวถึง
เป็นลักษณะของคนไม่เอาไหนเลย ก็ในเมื่อมรรคผลนิพพานในศาสนาสมณโคดมในปัจจุบันนี้ยังมีอยู่อย่างสมบูรณ์
กลับเหลวไหลไม่สนใจ เมื่อถึงศาสนาพระศรีอาริย์ก็ยิ่งเหลวไหลมากกว่านี้อีก
การปฏิบัติให้ปฏิบัติเพื่อสำรวม เพื่อความละ เพื่อความคลายกำหนัดยินดี เพื่อความดับทุกข์
ไม่ใช่เพื่อเห็นสวรรค์ วิมาน หรือแม้พระนิพพาน ก็ไม่ต้องตั้งเป้าหมายเพื่อจะเห็นทั้งนั้น ให้ปฏิบัติไปเรื่อย ๆ
ไม่ต้องอยากเห็นอะไร เพราะนิพพานมันเป็นของว่าง ไม่มีตัวตนหาที่ตั้งไม่มี หาที่เปรียบไม่ได้ ปฏิบัติไปจึงจะรู้เอง
ผู้ปฏิบัติที่แท้จริงนั้น ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงชาติหน้าชาติหลังหรือนรกสวรรค์อะไรก็ได้
ให้ตั้งใจปฏิบัติให้ตรงศีล สมาธิ ปัญญา อย่างแน่วแน่ก็พอ ถ้าสวรรค์มีจริงถึง ๑๖ ชั้นตามตำรา ผู้ปฏิบัติดีแล้ว
ก็ย่อมได้เลื่อนฐานะของตนได้โดยลำดับ หรือถ้าสวรรค์นิพพานไม่มีเลย ผู้ปฏิบัติดีแล้วในขณะนี้
ก็ย่อมไม่ไร้ประโยชน์ ย่อมอยู่เป็นสุข เป็นมนุษย์ชั้นเลิศ
การไปหลายสำนักหลายอาจารย์ การปฏิบัติจะไม่ได้ผล เพราะการเดินหลายสำนักนี้
คล้ายกับการเริ่มต้นใหม่เรื่อย ๆ เราก็ไม่ได้หลักธรรมที่แน่นอน บางทีก็เกิดความลังเล งวยงง
จิตก็ไม่มั่นคง การปฏิบัติก็เสื่อม ไม่เจริญคืบหน้าต่อไป
ฐิตา:
หลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี
ตามกระแสพระธรรมเทศนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าทุกข์เป็นของไม่ควรละ แต่เป็นของควรต่อสู้
ความทะยานอยากได้สุขหรือไม่อยากให้มีทุกข์ต่างหากเป็นของที่ควรละ
ผู้ที่จะพ้นทุกข์ได้ในโลกนี้ ก็ล้วนแล้วแต่ยกทุกข์ขึ้นมาเป็นเหตุทั้งนั้น
ผู้ที่ไม่เห็นคุณค่าของความเพียรแล้ว อาจคิดว่าความขยันหมั่นเพียรในภารกิจต่าง ๆ มันเป็นทุกข์ลำบาก
เหนื่อยยากมิใช่หรือ จริงดังนั้นคนตกน้ำไม่ยอมว่ายมีหวังตายโดยถ่ายเดียว จะรอดมาได้
แต่เฉพาะคนที่ว่ายน้ำได้หมายพึ่งตนเองเท่านั้น
ทุกข์กับความเพียรเท่านั้นที่มีค่ามากในโลกนี้ หากไม่มีทุกข์กับความเพียรเสียแล้ว ใคร ๆ ในโลกนี้
จะไม่ทำความดีเพื่อพ้นทุกข์ในโลกนี้และโลกหน้า ตลอดถึงพระนิพพาน
สมาธินี้ถ้าสติอ่อน ไม่สามารถรักษาฐานะของตนไว้ได้ย่อพลัดเข้าไปสู่ภวังค์เป็น “ฌาน”
ถ้ามีสติสัมปชัญญะแก่กล้าขึ้นเมื่อไรย่อมกลายเป็น “สมาธิ” ได้เมื่อนั้น
เมื่ออยู่ใน “สมาธิ” นั้นเล่า ก็มิไช่ว่าจิตจะโง่เง่าซึมเซอะแต่มันมีความผ่องใส พิจารณาธรรมอันใด
ก็ปรุโปร่งเบิกบาน “ฌาน” ต่างหาก ที่ทำให้จิตสงบแล้วซึมอยู่กับสุขเอกัคตาของฌาน
ขออย่าได้เข้าใจว่า “ฌาน” กับ “สมาธิ” เป็นอันเดียวกัน
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ความโง่อันสงบจากนิวรณ์ทั้ง ๕ ยังดีกว่าความกล้าหลงเข้าไปในกามทั้งหลายเป็นไหน ๆ
หลักอนัตตา ในทางพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยปัญญาอันชอบ พระองค์มิได้ตรัสว่า
อนัตตาเป็นของไม่มีตนมีตัว เป็นของว่างเปล่า พระองค์ตรัสว่า ตนตัวคือร่างกายของคนเรา
อันได้แก่ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ มันมีอยู่แล้ว แต่จะหาสิ่งที่เป็นสาระในขันธ์ ๕ นั้นไม่มีดังนี้ต่างหาก…
เมื่อสรุปให้สั้น ๆ แล้ว … ผู้ที่ยังยึดอัตตาอยู่ พระองค์ก็สอนให้ประกอบภารกรรมเพื่อประโยชน์แก่อัตตา
โดยทางที่ชอบที่ควรไปก่อน จนกว่าผู้นั้นจะเห็นแจ้งด้วยตนเองว่า สิ่งที่เราถือว่าเป็นอัตตาอยู่นั้น
แท้จริงแล้วมิใช่อัตตา มันเป็นเพียงมายาหรือของไม่เที่ยง เป็นทุกข์… แล้วพระองค์จึงสอน “อนัตตา” ที่แท้จริง
การเห็นความฟุ้งซ่านของจิตนั้น คือ “ปัญญาขั้นต้น”
คนใดว่าตนดีคนนั้นยังไม่ดี ใครว่าตนวิเศษวิโสหรือฉลาดเฉียบแหลม คนนั้นคือ คนโง่
พระพุทธศาสนานี้สอนมีจุดที่รวมได้ มีที่สุดหมดสิ้นสงสัยหมดเรื่อง ไม่เหมือนวิชาชีพอื่น เขาสอนไม่มีที่สิ้นสุด…
จึงว่าพระพุทธศาสนาสอนถึงที่สุด แต่บุคคลผู้ทำตามนั้น ทำไม่ถึงที่สุด…
แท้จริงความนึกคิดมิใช่ทุกข์ แต่การไปยึดความนึกคิดมาเป็นตน จึงเป็นทุกข์
ผู้ใดทำใจให้ถึงความเป็นกลางได้ ผู้นั้นพ้นจากทุกข์ทั้งปวง
หลวงปู่ขาว อนาลโย
ให้น้อมเข้ามาค้นคว้ากรรมฐาน ๕ นี้ เกศา ผม, โลมา ขน, นขา เล็บ, ทันตา ฟัน, ตโจ หนัง
ตะจะปริยันโต มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ ปูโรนานัปปการัสสะอสุจิโน เต็มไปด้วยของไม่สะอาด
มีประการต่าง ๆ นี้แหละ ลืมตาขึ้นมา ให้มันเห็น แล้วตั้งใจทำอยู่อย่างนั้น ไม่ใช่ทำวันเดียว
เดือนหนึ่ง หรือปีหนึ่ง ทำเอาตาย เอาชีวิตเป็นแดน
สนิมเกิดจากเหล็กย่อมกัดเหล็กฉันใด
ความชั่วเกิดขึ้นแล้วย่อมทำลายตัวเอง
จงพยายามให้เรากินกาล อย่าให้กาลกินเรา
วันคืนล่วงไป ๆ อย่านิ่งนอนใจ ให้รีบเร่งทำความเพียร
ธรรมมีอยู่แต่ขาดอุบายปัญญา
ก็นั่งโง่นอนโง่อยู่อย่างนั้น
ธรรมแม้จะลึกซึ้งคัมภีรภาพเพียงไหน
ไม่เหลือวิสัยบัณฑิตผู้มีความเพียร
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ
เวลากิเลสมันเกิดขึ้น เกิดขึ้นทางกาย เกิดขึ้นทางวาจา เกิดขึ้นทางใจ รู้ทันมันเดี๋ยวนี้มันก็ดับไปเดี๋ยวนี้แหละ
ตัวสติมันปกครองอยู่เสมอ ถ้ามีสติอยู่ทุกเมื่อ มันบ่ได้คุมมันหละ ครั้นเกิดขึ้น รู้ทันมันก็ดับ รู้ทันก็ดับ รู้ไม่ทันก็ดับ
คิดผิดก็ดับ คิดถูกก็ดับ พอใจไม่พอใจก็ดับลงทันทีที่ตัวสติ
จงภาวนาเอากายเป็นมรรค เอากายเป็นผล จงพากันละอุปาทานทั้งห้า อนิจจังทั้งห้า ทุกขังทั้งห้า
อนัตตาทั้งห้า ละรูปธรรม นามธรรมนี้ วางได้มันก็เป็นธรรมนั่นแหละ
วางไม่ได้มันก็ยึดเอารูปธรรมนามธรรมเป็นตัวเป็นตน มันก็เป็น ธรรมเมา อยู่นั่นเอง
กามนี้มันหมุนรอบโลก มันเป็นเจ้าโลก กามกิเลสนี้แหละที่ทำให้เกิดสงครามต่อสู้กัน
เกิดก็เพราะกาม รักก็เพราะกาม ชังก็เพราะกาม กามกิเลสอุปมาเหมือนแม่น้ำ
ธารน้ำน้อยใหญ่ไม่มีประมาณไหลลงสู่ทะเลไม่มีเต็มฉันใดก็ดี
กามตัณหาที่ไม่พอดี ภวตัณหา วิภวตัณหา เป็นแหล่งก่อทุกข์ก่อความเดือดร้อนไม่มีที่สิ้นสุด
แก้วจ๋าหน้าร้อน:
:13: อนุโมทนาครับผม
ฐิตา:
ท่านพ่อลี ธมฺมธโร
เมื่อมนุษย์เป็นคนไม่ดี แม้วัตถุเหล่านั้นจะเป็นของดีก็ตามมันจะกลับกลายเป็นโทษแก่ปวงชนได้เหมือนกัน
ถ้ามนุษย์มีธรรมประจำใจ สิ่งทั้งหลายที่ให้โทษก็จะกลายเป็นประโยชน์
ถ้าใครไม่จริงจังกับพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาก็ไม่จริงกับผู้นั้น และผู้นั้นก็รู้จักพระพุทธศาสนาที่แท้จริงไม่ได้…
เหตุนั้น ท่านจึงสอนให้ทำสิ่งใดด้วยการทำจริง ทานก็ทานให้จริง ศีลก็ศีลให้จริง ภาวนาก็ภาวนาให้จริง
อย่าทำเล่น ๆ แล้วผลแห่งความจริงก็ย่อมจะเกิดจากการกระทำเหล่านี้ ไม่ต้องสงสัย
ถ้าใจเราเป็นโทษเสียแล้ว จะไปทำบุญทำทานอะไรก็ไม่ได้ผล เหมือนกับเราขนปุ๋ยไปใส่ต้นไม้ที่ตายแล้ว
พวกเราทั้งหลายไม่มีความสัตย์ความจริงต่อตัวเอง จึงมิได้ประสบสุขอันแท้จริงเหมือนอย่างพระพุทธองค์
เราบอกกับตัวเองว่า เราอย่างได้ความสุข แต่เราก็กระโดดเข้าใส่กองไฟร้อน ๆ
เรารู้ว่าสิ่งนั้น ๆ เป็นยาพิษ แต่เราก็ดื่มมันเข้าไป นี่แหละเป็นการทรยศต่อตัวเอง
ร่างกายนั้นเขาหนีเราไปทุกวัน ๆ แต่เราสิไม่เคยหนีเขา ไม่ยอมวางเขาเลยสักที เราติดเขาทุก ๆ อย่าง
เหมือนเรากินข้าว เราก็ติดข้าว แต่ข้าวมันไม่เคยติดเรา เราไม่กินข้าว ข้าวก็ไม่ร้องไห้สักที มีแต่เราติดมันฝ่ายเดียว
สุขโลกีย์ มันก็ดีแต่ใหม่ๆ สดๆ ร้อนๆ เท่านั้น เหมือนข้าวสุกที่เราตักใส่จานใหม่ ๆ ยังร้อนๆ ควันขึ้น
ก็น่ารับประทาน แต่พอตักไว้นาน ๆ จนเย็นชืดก็กินไม่อร่อย ยิ่งทิ้งไว้จนแข็งเป็นข้าวเย็น
ก็ยิ่งกลืนไม่ลง พอข้ามวันก็เหม็นบูด ต้องเททิ้ง กินไม่ได้เลย
มนุษย์นั้นโง่ ชอบกลืนกินแต่อารมณ์เลว ๆ ใช่แต่เท่านั้น เรื่องที่ไม่มีความจริงก็ยังกลืนเข้าไปอีก
ของดีก็ไม่อยากจะสนใจ ส่วนของไม่ดีอุตส่าห์ไปกระแด่ว ๆ เอาใจไปจดไปจำ เนื้อก็ไม่ได้กิน
หนังก็ไม่ได้รองนั่ง เอากระดูมาแขวนคอ
คนไม่มีธรรมะ ก็เหมือนกับคนที่ไม่มีบ้านอยู่ ต้องไปนั่งตากแดด ตากฝน และตากลม อยู่ทั้งกลางวันกลางคืน
ทำให้มันรู้ว่า อ้อ…อ้อ… ขึ้นมาในตัว อย่ามัวไปรู้แต่ โอ้…โอ้… ตามเขาพูด
สรุปแล้วความไม่ประมาทคือ ความไม่ตายใจ ไม่นอนใจ ไม่ไว้ใจในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น
ส่วนใดที่เป็นความดีควรได้ควรถึง ให้มีความพยายามสร้างสรรค์ขึ้นให้มีในตน บุคคลผู้นั้นจึงชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท
หลวงปู่ดู่ พฺรหมฺปญฺโญ
การปฏิบัติธรรมก็เหมือนการปลูกต้นไม้ ศีล คือ ดิน สมาธิ คือ ลำต้น ปัญญา คือ ดอกผล
เราต้องการให้ต้นไม้เจริญงอกงาม ก็ต้องหมั่นรดน้ำพรวนดิน และต้องคอยระมัดระวังมิให้ตัวหนอน
คือ โลภ โกรธ หลง มากัดกิน
ถ้าเป็นโลกแล้ว จะมีแต่ส่งออกไปข้างนอกตลอดเวลา แต่ถ้าคิดสิ่งที่เป็นธรรมแล้ว ต้องวกกลับเข้ามาหาตัวเอง
เพราะธรรมแท้ ๆ ย่อมเกิดในตัวของเรานี้ทั้งนั้น
“โลกเท่าแผ่นดิน ธรรมเท่าปลายเข็ม” เรื่องโลกมีแต่เรื่องยุ่งของคนอื่นทั้งนั้นไม่มีที่สิ้นสุด
เราไปแก้ไขเขาไม่ได้ ส่วนเรื่องธรรมนั้นมีที่สุด มาจบที่ตัวเรา ให้มาไล่ดูตัวเองแก้ไขที่ตัวเราเอง...
ตนของตนเตือนตนด้วยตนเอง
ให้พยายามภาวนาไปเรื่อย ๆ ไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน ทำได้ตลอดเวลาถ้าเราจะทำ ดีกว่านั่งร้องเพลง
จะซักผ้า หุงข้าว ต้มแกง นั่งรถ ทำได้ทั้งนั้น เขาเรียกว่าพยายามเกลี่ยจิตใจให้เข้าที่
ถ้าจะรอเวลาปฏิบัติ (นั่งสมาธิ) ทีเดียวมันยาก เพราะจิตมันแตกมาตลอด
ของดีอยู่ที่ตัวเรา ให้หมั่นดูจิต รักษาจิต
รวยกับซวยมันอยู่ใกล้กันนะ จะเอารวยนะ จะหามายังไงก็ทุกข์ กลัวคนจะมาจี้มาปล้น หมดไปก็เป็นทุกข์อีก
ไปคิดดูเถอะ มันไม่จบหรอก มีแต่เรื่องยุ่ง เอา “ดี” ดีกว่า
ครูอาจารย์ดี ๆ มีอยู่มากมายก็จริง แต่สำคัญที่เราต้องปฏิบัติให้จริง สอนตัวเองให้มากนั่นแหละจึงจะดี
การปฏิบัติถ้าอยากให้มันเป็นเร็ว ๆ มันก็ไม่เป็น หรือไม่อยากให้เป็นมันก็ประมาทเสีย เลยไม่เป็นอีกเหมือนกัน
อยากเป็นก็ไม่ว่า ไม่อยากเป็นก็ไม่ว่า ทำใจให้เป็นกลาง ๆ ตั้งใจให้แน่วแน่ในกรรมฐานที่ตั้งไว้
ภาวนาเรื่อยไป เหมือนกับเรากินข้าวไม่ต้องอยากให้มันอิ่ม ค่อย ๆ กินไปมันก็อิ่มเอง
ภาวนาก็เช่นกัน ไม่ต้องไปคาดหวังให้มันสงบ หน้าที่ของเราคือภาวนาไป ก็จะถึงของดีของวิเศษในตัว
แล้วเราจะรู้ชัดว่าอะไรเป็นอะไร ให้หมั่นทำเรื่อยไป
คนดีนะ เขาไม่ตีใคร
การปฏิบัติ ถ้าหยิบตำราโน้นนี้มาสงสัยถาม มักจะโต้งเถียงกันเปล่า โดยมากชอบเอาจากอาจารย์โน่นนี่
ว่าอย่างนั้นอย่างนี้มา... การจะปฏิบัติให้รู้ธรรมเห็นธรรม ต้องทำจริง จะได้อยู่ที่ทำจริง
เอาให้จริงให้รู้ ถ้าไปเรียนกับครูอาจารย์อื่นโดยยังไม่ทำให้จริงก็เหมือนดูถูกดูหมิ่นครูบาอาจารย์
ศีล สมาธิ ปัญญา ก็เหมือนรสแกงส้ม
ศีล เปรียบได้กับรสเปรี้ยว ความเปรี้ยวทำหน้าที่กัดกร่อนความสกปรกออก ทำนองเดียวกัน
ศีลจะช่วยขัดเกลาความอยากออกจาก กาย วาจา ใจ
สมาธิ เปรียบได้กับรสเค็ม เพราะรสเค็มจะช่วยรักษาอาหารต่างๆ ไม่ให้เน่าเสีย
สมาธิก็เหมือนกัน สามารถรักษาจิตของเราให้ตั้งมั่นอยู่ในคุณงามความดีได้
ปัญญา เปรียบได้กับรสเผ็ด เพราะปัญญามีลักษณะคิด อ่านตริตรอง โลดแล่นไป เพื่อขจัดอวิชาความหลง
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
Go to full version