ผู้เขียน หัวข้อ: ก่อนจะเป็นนักเขียนรางวัลศรีบูรพา สัมภาษณ์ พระไพศาล วิสาโล  (อ่าน 1291 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานไตรสรณะสุจิปุลิ
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ก่อนจะเป็นนักเขียนรางวัลศรีบูรพา

สัมภาษณ์ พระไพศาล วิสาโล
โดย ศรีสุภางค์ ธรรมาวุธ
วิทยุ FM 101 RR One
รายการหนอนหนังสือ
วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๓


พิธีกร ขอแสดงความยินดีกับพระคุณเจ้าด้วยนะคะ ในฐานะที่ได้รับรางวัลศรีบูรพาประจำปีนี้ แต่ก่อนที่จะไปพูดถึงรางวัลอยากจะย้อนกลับไปเรื่องราวในวัยเด็กก่อนได้ไหมคะ อยากให้พระคุณเจ้าเล่าประวัติในวัยเด็ก จนมาถึงช่วงวัยรุ่น แล้วก็มาถึงเหตุการณ์ที่ได้มีส่วนร่วมต่อสู้ประชาธิปไตย ในช่วง ๖ ตุลา ๑๙ ด้วย

พระไพศาล พูดอย่างย่อก็คือว่า อาตมาเรียนหนังสือที่โรงเรียนอัสสัมชัญ เป็นนักเรียนที่สนใจแต่เรียนหนังสือ ก็เรียนดีมาตลอด แต่ว่าก็เป็นคนชอบอ่านหนังสือตามห้องสมุด แล้วประมาณอายุ ๑๕ ปีก็ได้อ่านหนังสือของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือส.ศิวรักษ์ ก็ติดใจขึ้นมาก็เลยตามอ่านหนังสือเล่มอื่นๆ ของท่าน การอ่านก็ทำให้เกิดมุมมองที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะเรื่องปัญหาของบ้านเมือง เพราะตอนนั้นบ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย ก็ทำให้ตามอ่านหนังสือเล่มอื่นๆ ที่อาจารย์สุลักษณ์เคยเป็นบรรณาธิการเช่น สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ซึ่งตอนนั้นคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรีก็เป็นบก.แล้ว ก็ยิ่งทำให้เห็นปัญหาบ้านเมืองที่ลำบากยากแค้น ตอนนั้นสังคมศาสตร์ปริทัศน์ทำฉบับ “ภัยเหลือง” ก็คือภัยจากประเทศญี่ปุ่น เผอิญช่วงนั้นทางศูนย์นิสิตๆ ซึ่งมีคุณธีรยุทธ บุญมีเป็นเลขาธิการทำการรณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ส่งเสริมให้ใช้ผ้าดิบไทย อันนี้ก็ทำให้เกิดความตื่นตัวในเรื่องของสังคมมากขึ้น

อาตมาก็เริ่มสนใจที่จะเขียนหนังสือตั้งแต่ช่วงนั้นเพราะว่าเกิดภัยเหลือง ได้อ่านงานเขียนที่เหมือน เปิดหูเปิดตาเห็นปัญหาบ้านเมืองแล้วก็อยากจะสื่อสารให้เพื่อนๆในโรงเรียนได้ทราบ ช่วงนั้นอาตมาก็ไปทำงานค่ายอาสาพัฒนาของโรงเรียนอัสสัมชัญด้วย ก็ได้ออกชนบทก็ได้เห็นปัญหาต่างๆ มากมาย สิ่งเหล่านี้มันทำให้เรามีไฟที่อยากจะเขียน อยากจะสื่อสาร อยากจะเชิญชวนให้ทุกคนได้มาตื่นตัวสนใจเรื่องปัญหาสังคม ปัญหาบ้านเมือง อันนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มาขีดเขียน จนกระทั่งก่อนเข้ามหาวิทยาลัยก็อยู่ในกองบรรณาธิการของปาจารยสาร อันนี้ก็พูดแบบรวบรัดนะ ช่วงปีหนึ่งก็ได้เป็นบก. ปาจารยสาร ซึ่งตอนนั้นมุ่งเผยแพร่แนวคิดเรื่องอหิงสา

เมืองไทย หลัง ๑๔ ตุลาใหม่ๆ แนวคิดเรื่องสังคมนิยมแพร่หลายมาก คนที่คิดเรื่องสันติวิธีหรืออหิงสามีน้อย ผู้คนส่วนใหญ่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมคิดแต่เรื่องการปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธ อาตมาก็มาทำเรื่องอหิงสา ช่วงที่เกิดการประท้วง ๖ ตุลา ก็ไปร่วมชุมนุม ไม่ใช่กับศูนย์นิสิตนะ ก็ไปชุมนุมที่ชุมนุมพุทธฯ ของธรรมศาสตร์ เพราะอาตมาเป็นกรรมการอยู่ ตอนนั้นอยู่ปีสอง

พิธีกร ก็ช่วงนั้นพระคุณเจ้าก็ยังศึกษาอยู่ที่ธรรมศาสตร์ด้วย

พระไพศาล แต่ว่าไม่ได้ร่วมชุมนุมกับนักศึกษา ตอนนั้นขบวนการนักศึกษาเป็นซ้ายส่วนใหญ่ อาตมาเป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมืองก็เลยอดอาหารประท้วงกับเพื่อน ๆ ที่ชุมนุมพุทธ ฯ

พิธีกร ตอนนั้นมีแนวร่วมเยอะไหมคะพระคุณเจ้า

พระไพศาล ก็ไม่เยอะนะเพราะว่าคนที่นับถือพุทธและสนใจสังคมมีน้อยมาก ส่วนใหญ่ถ้าสนใจสังคมก็นิยมแนวทางซ้าย พอเกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลาอาตมาก็เลยถูกจับ

พิธีกร ตอนนั้นทราบว่าพระคุณเจ้าถึงขั้นถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเลยหรือคะ

พระไพศาล ทุกคนที่อยู่ธรรมศาสตร์ถูกจับหมด คนที่ถูกคุมขังมีประมาณสามพันกว่าคน แต่ก่อนถูกคุมขังนะก็ต้องเจ็บปวดทรมานเพราะว่าถูกเตะถูกถีบบ้างตอนที่ขึ้นรถที่ธรรมศาสตร์ อาตมาก็ถูกทำร้ายไปด้วย

พิธีกร สิ่งที่ได้รับจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น พระคุณเจ้าได้อะไรมาคะ

พระไพศาล อาตมาเห็นเลยว่าความรุนแรงไม่ใช่คำตอบ ความรุนแรงทำให้มนุษย์เรามีสภาพจิตใจไม่ต่างจากสัตว์ เพราะเหตุการณ์ ๖ ตุลา อาตมาเจอเองกับตัว ตอนที่วิ่งขึ้นรถที่จะพาไปเรือนจำ ก็มีคนเข้าแถวคอยเตะคอยถีบนักศึกษาที่วิ่งขึ้นรถ อาตมาก็ถูกเตะอยู่ช่วงหนึ่งแล้วเงยหน้าเห็นหน้าคนที่เตะเรา อาตมาไม่ได้โกรธเลยนะ แต่สงสารเพราะเขาเต็มไปด้วยความโกรธมาก มันเป็นสภาพของคนที่ไม่ใช่มนุษย์นะ ยิ่งมาทราบภายหลังว่ามีคนตายจากการถูกแขวนคอที่สนามหลวงบ้าง หรือว่าถูกไม้ปักอกบ้าง ถูกเผาทั้งเป็นบ้าง ก็ทำให้รู้สึกว่าความโกรธเกลียดมันทำให้คนเป็นยักษ์เป็นมาร อาตมาไม่ได้เกลียดคนนั้น แต่รู้สึกว่าสิ่งที่จะต้องโกรธเกลียดก็คือความโกรธเกลียดนั่นเอง ความโกรธเกลียดที่อยู่ในใจเรา นี่คือสิ่งที่อาตมาได้จากเหตุการณ์ ๖ ตุลา
หลังจากนั้นเมื่อทำงานอะไรก็ตามก็จะพยายามเตือนคนไม่ให้โกรธเกลียด พยายามชวนให้คนกลับมาสู่การมีสติคืนดีกัน

พิธีกร แล้วหลังจากนั้นผ่านไปนานไหมคะ กว่าที่จะมาเข้าสู่เส้นทางธรรม

พระไพศาล เหตุการณ์ ๑๖ ตุลาผ่านไปได้ ๗ ปี ปี ๒๖ อาตมาก็บวช ช่วง ๗ ปีก่อนหน้านั้นอาตมาก็ไม่ได้เรียนหนังสืออย่างเดียว แต่ทำงานให้กับกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม ก็มีการรณรงค์ให้มีการนิรโทษกรรมนักโทษ ๖ ตุลา รณรงค์เพื่อคัดค้านการใช้อำนาจละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะตอนนั้นบ้านเมืองเป็นเผด็จการหรือกึ่งเผด็จการ ทำงานอย่างนี้และงานอื่น ๆ อีกตลอด ๗ ปี จนกระทั่งสถานการณ์บ้านเมืองคลี่คลาย มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ก็คิดว่าน่าบวชได้แล้ว อีกอย่างก็เครียดจากการทำงาน ก็เลยบวชปี ๒๖

พิธีกร ตอนนั้นตั้งใจว่าจะบวชนานแค่ไหน ได้คิดไว้ไหมคะ

พระไพศาล ตั้งใจบวชแค่ ๓ เดือน อยากจะทำสมาธิเพื่อให้ใจสงบ ก็อย่างที่บอกแล้วว่าเครียดมาก ก็ไม่อยากทิ้งงานให้เพื่อนทำเพราะว่าเพื่อนมีงานล้นมือกันทั้งนั้น แต่ว่าปฏิบัติแล้วก็รู้สึกว่าเสียดาย ถ้าเราสึกไปเพราะว่าเริ่มจะได้ผลจากการปฏิบัติ ก็เลยขอเพื่อนบวชต่ออีก ๓เดือนจนเข้าพรรษาเลย

พิธีกร ตอนนั้นพระคุณเจ้าบวชที่ไหนคะ

พระไพศาล อาตมาบวชที่วัดทองนพคุณ แต่ไปปฏิบัติที่วัดสนามใน เมืองนนท์สายหลวงพ่อเทียน จิตตฺสุโภ แล้วพอเข้าพรรษาก็ไปอยู่กับหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ ที่วัดป่าสุคะโต ที่ชัยภูมิ แล้วก็อยู่ที่นั่นมาตลอด แต่ตอนนี้อยู่ที่วัดป่ามหาวันอยู่ใกล้ๆ กัน อาตมาเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต แต่มาอยู่วัดป่ามหาวัน

พิธีกร จากวันนั้นพระคุณเจ้าก็เข้าสู่เส้นทางธรรมมาโดยตลอด จากเพียงแค่คิดว่าจะบวชเพียง ๓ เดือนเท่านั้นเอง แล้วตอนที่เข้าไปบวชเรียน ตอนนั้นรู้สึกว่ามันแตกต่างกับชีวิตฆราวาสอย่างไรบ้างคะ

พระไพศาล คือไม่เชิงบวชเรียน เป็นการบวชปฏิบัติมากกว่า เรื่องปริยัติก็ไม่ค่อยได้เรียนเท่าไรแต่พอมีพื้นมาบ้าง สิ่งที่ได้คือมีชีวิตที่สมดุลมากขึ้น ตอนเป็นฆราวาสอาตมาแทบจะไม่มีชีวิตส่วนตัวเลย ก็มีแต่เรื่องงานการ ชีวิตไม่สมดุลหลายด้าน คือไม่สมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวกับชีวิตส่วนรวม ไม่สมดุลระหว่างเรื่องกายกับเรื่องใจ ไม่สมดุลระหว่างเรื่องงานภายนอกกับงานภายใน แต่ว่าพอมาบวชพระแล้วทำให้ชีวิตมีความสมดุลมากขึ้น กินนอนเป็นเวลา มีเวลาหันมาปฏิบัติธรรมทำงานภายใน ส่วนกิจกรรมภายนอกก็ไม่ทิ้ง ยังทำอยู่ แต่มันมีความสมดุลกัน

อาตมาคิดว่าถ้าชีวิตไม่สมดุลแล้วจะหาความสุขได้ยาก อาจจะเครียด หรือไม่สุขภาพก็ย่ำแย่ เป็นกันมากกับคนที่ทำงานเอ็นจีโอ นักธุรกิจ นักการเมืองก็มีปัญหาเรื่องนี้ เพราะชีวิตไม่สมดุล

พิธีกร ก็ได้เห็นถึงความสมดุลของการใช้ชีวิตมากขึ้น หลายคนอาจจะไม่ค่อยได้ทราบถึงครอบครัวของพระคุณเจ้าเท่าไรนะคะ จากเส้นทางความเป็นมาถึงช่วงที่ เริ่มเข้ามาตัดสินใจบวชและปฏิบัติธรรม ทางครอบครัวมีส่วนช่วยสนับสนุน หรือว่ามีความเป็นห่วงในเส้นทางชีวิตของพระคุณเจ้าอย่างไร

พระไพศาล ทางครอบครัวเขาอยากให้อาตมาบวชนะ แต่ไม่คิดว่าจะบวชนาน โยมพ่อโยมแม่อยากให้อาตมาห่างไกลจากแวดวงที่อาตมาทำอยู่คือแวดวงเอ็นจีโอ แต่ตอนนั้นคำว่า เอ็นจีโอยังไม่มี พูดตรง ๆ คืออยากจะให้อาตมาอยู่ในแวดวงที่ไกลคุกไกลตารางเสียหน่อย

ตอนนั้นสิ่งที่เราทำมันก็เป็นการสวนกระแสกับนโยบายรัฐบาลซึ่งเป็นเผด็จการในเวลานั้น แต่ทางบ้านก็ไม่คิดว่าอาตมาจะบวชนาน แต่ก็เกรงว่าถ้าบวชนานแล้ว ตอนเราแก่ใครจะดูแล หรือว่าบวชไปสักสิบปีแล้วสึกมา จะทำมาหากินทันเขาไหม ทางบ้านเขาก็กังวลอย่างนี้ อาตมาก็ไม่คิดจะบวชไปตลอดชีวิตนะ แต่คิดว่าบวชไปเรื่อยๆ ถ้าเบื่อเมื่อไหร่ก็สึกมา ไม่ได้คิดว่าสึกมาแล้วจะทำมาหากินทันเขาไหม อันนี้ไม่เคยอยู่ในความคิด

พิธีกร ค่ะ แต่ที่สุดก็ถึงจุดหนึ่งที่พระคุณเจ้าเองก็สนใจบวชมาจนถึงทุกวันนี้เลยผ่านมาเป็นเวลา โอ้โห..น่าจะสามสิบปีขึ้นได้แล้วนะคะพระคุณเจ้าคะ

พระไพศาล ประมาณ ๒๗ ปีนะ ๒๗ ปี

พิธีกร เกือบๆ ๓๐ ปี ๒๗ ปีแล้ว ค่ะ ก็ในระหว่างที่พระคุณเจ้าเองบวชด้วย ศึกษาธรรมปฏิบัติธรรมไปด้วยนี่นะคะ กิจกรรมรณรงค์ที่ทำควบคู่ไปกับทางพระพุทธศาสนามีอะไรบ้างคะ

พระไพศาล พอมาบวชแล้ว งานเขียนก็จะมากขึ้น เพราะว่าพอเป็นพระ คนเขาก็คาดหวังว่าอาตมามีเวลาว่างมากขึ้น เขาก็ขอร้องให้เขียนโน่นเขียนนี่ อาตมามีเวลาเขียนมากขึ้นกว่าตอนเป็นฆราวาสก็จริง แต่ว่ากิจกรรมอย่างอื่นก็ยังอยู่นะ เช่น งานรักษาป่า อนุรักษ์ป่า เพราะวัดที่อาตมาดูแลอยู่ เป็นวัดป่า มีการอนุรักษ์ป่า และก็เลยขยายไปอนุรักษ์ป่าในที่อื่นๆ ด้วย ในช่วงสิบปีแรก อาตมาทำเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเยอะมาก ไม่ใช่เฉพาะที่วัด แต่ว่าที่อื่นๆ ด้วย มีการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ทำมากอีกอย่างก็คือรณรงค์ด้านสันติวิธี เพราะว่าอาตมาทำงานด้านสันติวิธีมาตั้งแต่ก่อนบวช และก็ยังทำมาอยู่เรื่อยๆ คือทั้งขีดทั้งเขียนทั้งแปล และก็ไปอบรม อันนี้รวมถึงการแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ก็ทำมาโดยตลอด และตอนหลังก็มาทำงานด้านเกี่ยวกับพุทธศาสนามากขึ้น เช่นเรื่องการปฏิบัติธรรม และก็ช่วง ๗ – ๘ ปีมานี่ก็มาเน้นเรื่องเผชิญความตายอย่างสงบ

พิธีกร ค่ะ เราก็จะได้เห็นบทบาทพระคุณเจ้าเยอะมากที่จะพยายามสร้างกิจกรรมเตือนสติให้คนหันมาใช้สันติวิธีนะคะ ทีนี้ส่วนที่เราได้เห็นชัดเจนหน่อยก็คืองานเขียนออกมาน่าจะเป็นร้อยผลงานน่าจะได้ไหมคะพระคุณเจ้าคะ

พระไพศาล ถ้าเป็นงานเขียนก็ ๑๐๔ เล่ม ถ้าเป็นงานเขียนร่วม งานแปล งานแปลร่วม งานบรรณาธิกรณ์ ก็สามสิบกว่าเล่ม

พิธีกร ค่ะ ส่วนใหญ่จะเป็นงานแนวเกี่ยวกับเรื่องการสร้างสันติวิธีด้วยไหมคะ

พระไพศาล ระยะหลังเป็นงานด้านธรรมะเสียเยอะ ไม่ว่าจะเป็นงานพูด งานบรรยายหรืองานเขียนนี่ก็จะเกี่ยวกับธรรมะซะเยอะ งานเกี่ยวกับสันติวิธีอาตมาคิดว่ามีประมาณสิบกว่าเล่มที่เป็นงานเขียนงานแปล แต่ว่ากว่าครึ่งของงานทั้งหมดเป็นงานที่เกี่ยวกับธรรมะ โดยเฉพาะในช่วง ๖ – ๗ ปีหลังจะมีงานธรรมะมาก

พิธีกร หลักการในการสร้างงานเขียนแต่ละชิ้นงาน พระคุณเจ้ามีทัศนะในการทำงานอย่างไรบ้างคะ

พระไพศาล อย่างแรกคือมีความอยากจะเขียน เป็นความรู้สึกที่คนสมัยนี้เรียกว่าไฟ คืออยากเขียนให้คนอื่นได้รับรู้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ถึงขั้นนั้นแล้ว สมัยก่อนโดยเฉพาะตอนเป็นวัยรุ่นมันเป็นไฟที่อยากเขียนจริงๆ

พิธีกร คือเหมือนมีแรงบันดาลใจ

พระไพศาล ใช่ แต่ตอนหลังนี่มันอ่อนลง มันกลายเป็นฉันทะ คือความรักที่จะเขียนหรือสุขที่ได้เขียน ใครจะอ่านกี่มากน้อยไม่สำคัญเท่ากับที่ได้เขียน นอกจากความอยากเขียนแล้ว อาตมาคิดว่าการอ่านมากก็สำคัญมาก ถ้าเราอ่านมาก เราก็จะถ่ายทอดออกมาได้ชัดเจน การที่จะเอาความคิดมาเป็นความอ่านหรือความเรียงนี่มันต้องคิดให้ชัด พอคิดชัดแล้ว เวลาจะถ่ายทอดมาเราต้องมีทักษะ ว่าจะถ่ายทอดด้วยถ้อยคำอย่างไร ตรงนี้ต้องอาศัยประสบการณ์จากการอ่านการเขียนบ่อยๆ ฉะนั้นถ้าใครอยากเป็นนักเขียนก็ต้องมีฉันทะในการศึกษาค้นคว้าและมีความอดทนในการเขียนด้วย อาตมาเองยอมรับว่าการเขียนนี่เป็นงานที่เหนื่อยนะ เพราะว่าเป็นคนที่ไม่ใช่เป็นนักเขียนโดยสัญชาตญานเพราะฉะนั้นการเขียนแต่ละประโยคจึงต้องคิดแล้วคิดอีก และขีดฆ่าบ่อยๆ

พิธีกร ค่ะ แต่ละครั้งที่ผลิตงานเขียนออกมาหรือสร้างสรรค์ผลงานออกมาสักชิ้นหนึ่ง มีความคาดหวังไหมคะว่าผู้อ่านอ่านแล้วจะได้อะไร และมีเสียงตอบรับกลับมาถึงเราแตกต่างจากที่วางเป้าหมายไว้บ้างไหมคะ

พระไพศาล ระยะหลังการคิดถึงผู้อ่านมีน้อยลง คืออาตมาเขียนเพียงเพราะอยากจะสื่อสารอะไรออกมา และอาตมาก็รู้ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เขียนไปจะมีคนอ่านกี่มากน้อย เพราะหนังสือธรรมะคนอ่านก็มีวงจำกัดอยู่แล้ว

พิธีกร อาจจะไม่ใช่แนวตลาดอยู่แล้ว

พระไพศาล ใช่ ถามว่าคนซื้อหนังสือธรรมะมีเยอะไหม มีเยอะ แต่ว่าอ่านหรือเปล่านี่ไม่ทราบ คือซื้อไว้แต่ไม่อ่านนี่ก็เยอะ หรือซื้อไว้แจกนี่ก็เยอะ อาตมาก็คิดแต่เพียงว่าจะถ่ายทอดสิ่งที่เราคิดหรือประสบการณ์ออกมาให้ชัดเจน และก็หวังว่าอาจจะมีใครสักคน สองสามคนที่โดนใจเขา และเขาก็อาจจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาได้มีกำลังใจที่จะทำความดีมากขึ้น

พิธีกร ค่ะ แค่นั้นก็คุ้มค่าแล้ว

พระไพศาล คืออาตมาไม่ถนัดเทศน์ เพราะฉะนั้นก็คิดว่าเปลี่ยนจากการเทศน์มาเป็นการเขียนก็เป็นการทำหน้าที่ของพระได้

พิธีกร อย่างผลงานล่าสุดของพระคุณเจ้ารวมถึงงานที่กำลังผลิตออกมา หลังจากนี้จะเป็นแนวไหนคะ

พระไพศาล ยังเป็นแนวคำบรรยาย ตอนนี้ก็ยังมีอยู่หลายเล่มที่อาตมายังไม่มีเวลาเกลาเลย มีหลายแห่งหลายที่ขอพิมพ์คำบรรยายเป็นเล่ม นอกนั้นก็เป็นรวมบทความ อาตมาก็เขียนบทความเดือนละ ๔- ๕ ชิ้นเป็นประจำ เพราะฉะนั้นปีหนึ่งก็รวมเล่มได้ ๒-๓ เล่ม ตอนหลังที่เริ่มมีคือสัมภาษณ์ อาตมาไม่ค่อยมีเวลาเขียนเขาก็มาขอสัมภาษณ์ แล้วก็ไปเรียบเรียง

พิธีกร เพราะฉะนั้นก็ยังมีผลงานออกมาอีกหลากหลายรูปแบบอีกแล้ว ขออนุญาตถามถึงเรื่องสถานการณ์บ้านเมือง คือในแง่ทางโลกเราเห็นบทบาทของพระคุณเจ้าที่มีการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันที่จะสร้างแนวทางสันติวิธี ปัจจุบันนี้เราพูดกันเยอะมากว่า คนไทยมีความต่างทางความคิดเยอะ และการแสดงออกมักจะมาในแง่มุมรุนแรงอย่างที่เราเห็นอยู่จากการเมืองปัจจุบัน พระคุณเจ้ามีข้อเสนอหรือมีแนวคิดหลักการอย่างไรในการแก้ไขปัญหาให้ประเทศชาติตอนนี้

พระไพศาล อาตมาไม่ค่อยสนใจเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง ไม่ว่าจะซ้ายจะขวา จะเหลืองจะแดง แต่สิ่งที่อาตมาสนใจคือว่าขอให้เราปฏิบัติต่อกันฉันเพื่อนมนุษย์ไม่ว่าเราจะมีอุดมการณ์อย่างไรก็ตาม ขอให้เราเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน แต่สิ่งที่ทำให้เราเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกันไม่ได้คือความโกรธความเกลียดความกลัว ๓ ก. เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เราเห็นกันและกันเป็นศัตรู จนถึงขั้นทำลายล้างกันได้ นี่คือบทเรียนที่อาตมาได้รับจากเหตุการณ์ ๖ ตุลา และอาจจะเกิดอีกหลายครั้ง สิ่งที่อาตมาพยายามทำคือเชิญชวนให้คนมีสติ และให้รู้เท่าทันความโกรธความเกลียดในใจตน พยายามมองผู้อื่นอย่างเป็นมนุษย์

อีกสิ่งหนึ่งที่พยายามทำคือช่วยให้คนมีขันติธรรม มีความอดทนสูงต่อความเห็นที่แตกต่าง แต่ว่าจะไม่ต้องอดทนต่อถ้อยคำที่ดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือว่าข่มขู่คุกคาม ไม่อดทนนี่เรียกว่า zero tolerance แต่ไม่ใช่ว่าไม่เห็นด้วยแล้วไปโกรธเกลียดเขา จะต้องมีสติมั่นคงพอที่จะไม่ลุแก่โทสะจนเป็นเหยื่อของการยั่วยุ ในช่วง ๕๐ กว่าวันที่ผ่านมาก็พยายามทำอย่างนี้ พยายามเตือนสติของผู้คนทั้งสองฝ่ายเท่าที่จะทำได้

พิธีกร คืออย่างน้อยที่สุดเราอย่าให้เกิดความโกรธความเกลียดความกลัว ใช้สติเข้ามาระงับ แล้วให้มองทุกคนปฏิบัติต่อกันเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างใช้ความรุนแรง สุดท้ายอยากให้พระคุณเจ้าฝากถึงหลักในการใช้ชีวิตของคนไทยในปัจจุบันคะ

พระไพศาล เราต้องรู้จักเข้าถึงความสงบในจิตใจของตน ทุกวันนี้เรารู้จักแต่ความสงบเย็นภายนอก แต่ว่าความสงบเย็นภายในนี่ห่างไกลเพราะว่าเราขาดสติ ไม่มีสมาธิ พูดง่ายๆ คือไม่รู้จักตัวเองดีพอ ไม่ใช่แค่ไม่รู้จักอย่างเดียว แต่ว่าโกรธเกลียดตัวเองด้วย เลยทนอยู่กับตัวเองไม่ได้ เกิดความแปลกแยกกับตัวเอง อยู่กับตัวเองไม่ได้ ต้องทำนู่นทำนี่ ต้องหยิบโทรศัพท์มาพูด ต้องดูหนังสือ หรือว่าไปเที่ยวห้าง อันนี้เป็นอาการที่เกิดจากการทนอยู่กับตัวเองไม่ได้ เพราะแปลกแยกกับตัวเอง แต่เมื่อไรก็ตามที่เราเป็นมิตรกับตัวเองได้ อยู่กับตัวเองได้ ก็จะมีความสุข แล้วจะพบว่าลาภ ยศ สรรเสริญมันเป็นรอง ไม่สำคัญเท่ากับความสุขภายใน

ทีนี้เมื่อเรามีความสุขแล้ว เราก็จะมองคนอื่นอย่างเป็นมิตรมากขึ้น อยากจะทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น ความสุขที่เกิดจากการเอาหรือการครอบครองก็จะมีความสำคัญน้อยลง เกิดความสุขจากการให้ ความสุขจากการทำดี มีเมตตาอย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาสพูดว่า มีชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์ ถ้าทำสองอย่างนี้ได้คือสงบเย็นและเป็นประโยชน์ ชีวิตนี้ก็คุ้มค่ากับการเกิดมาแล้ว และจะเป็นชีวิตที่มีค่าต่อโลกด้วย ต่อสังคม อันนี้ก็อยากจะฝากเอาไว้

จาก http://visalo.org/columnInterview/FM101.htm
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานไตรสรณะสุจิปุลิ
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


อ่าน เขียนกับพระไพศาล วิสาโล

สัมภาษณ์โดย เด่น นาคร
วารสาร "ปากไก่"ของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ฉบับวันที่ ๕ พ.ค. ๒๕๕๓


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
นิสัยรักการอ่านที่มีติดตัวมาตั้งแต่เด็ก ส่งผลโดยตรงในเรื่องผลการเรียน จนจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ดี และถูกคาดหวังจากผู้คนรอบข้างหรือแม้แต่ตัวเอง ว่าจะเติบโตไปในสายวิศวะ หรือนักเรียนแพทย์ แต่จากนั้นนิสัยรักการอ่านได้ขยายไปสู่หนังสืออื่นที่นอกเหนือไปจากตำราเรียน กระทั่งหนังสือของนักเขียนที่ชื่อ ส.ศิวรักษ์ หรือสุลักษณ์ ศิวรักษ์ มาอยู่ในมือและ โลกการอ่านเท่านั้นแหละชีวิตของเด็กหนุ่มคนหนึ่งก็ถึงกับพลิกเปลี่ยนอย่างสิ้นเชิง

“ชีวิตมาพลิกเปลี่ยนเมื่อหันมาอ่านหนังสือของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ‘หนังสือชวน อ่านวิจารณ์หนังสือต่าง ๆ’ จากนั้นก็ตามอ่านบทความและหนังสือเล่มอื่น จนได้มาอ่านสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ถือเป็นการเปิดหูเปิดตามาก อ่านแล้วเกิดแรงบันดาลใจ เกิดไฟในการคิดในการวิพากษ์วิจารณ์ และเกิดไฟในแง่ของการอยากให้ความเป็นธรรมเกิดขึ้นในสังคม”

จากนั้นเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่หันมาสนใจเรื่องราวของบ้านเมือง ก็กระโจนตัวเองสู่กิจกรรม เพื่อสังคมในด้านต่าง ๆ ร่วมออกค่ายอาสาพัฒนาสารพัดค่าย สั่งสมประสบการณ์และคมคิดจนเติบกล้า กระทั่งตบเท้าร่วมขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยกับนิสิตนักศึกษาในยุค ๑๔ ตุลา ๑๖ ทั้งร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองหลัง ๖ ตุลา ๑๙

ทำงานและคลุกคลีอยู่กับกลุ่มนักคิดนักเคลื่อนไหวภาคสังคมที่ดำเนินการในเมืองยุค เผด็จการครองประเทศ ทว่าวันหนึ่งความเครียดก็มาเยือน หันหาทางออกใดก็ช่างมืดมน เหลือเพียงหนึ่งเส้นทางคือ เข้าสู่เพศบรรพชิต กำหนดจิตมุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อเยียวยาจิตใจ กระนั้นความเป็นห่วงบ่วงใยในสังคมหาได้ตัดเยื่อไปไม่ ด้วยยังคงออกมาเตือนสติผู้คนให้ยึดมั่นในแนว ทางสันติวิธีในทุกครั้งที่บ้าน เมืองขัดแย้งแตกแยก เช่นเดียวกันกับงานด้านการเขียน ก็ยังคงหลั่งไหลประดุจสายน้ำฉ่ำเย็นริน ไหลชุบชโลมผืนแผ่นดินให้หายรุ่มร้อนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

หากนับเวลาก็ร่วมสามทศวรรษ แล้ว ที่บรรพชิตกิจวัตรดีงามผู้หนึ่งได้ดำรงตนในวิถีเป็นมา และในวันที่ท่านได้รับการเชิดชูให้ได้รับรางวัลศรีบูรพา เรื่องราวของท่านก็คงมีคนบอกกล่าวกันในหลากหลายแง่มุม ต่อไปนี้ขอเชิญท่านผู้อ่านร่วมรับรู้ในอีกด้านมุมชีวิตของ พระไพศาล วิสาโล ว่าด้วยเรื่องเขียน อ่าน และความรู้สึกต่อการได้รับรางวัลศรีบูรพา ประจำปี ๒๕๕๓นี้

ท่านเขียนหนังสือทุกวันไหม

ไม่หรอก เป็นบางวัน เดือนหนึ่งเขียนสัก ๔ ชิ้นได้

ท่านใช้เวลาช่วงไหนเขียนหนังสือ

เที่ยงถึง ๔ โมงเย็น เมื่อก่อนเขียนตั้งแต่เช้าเลยนะ ๙ โมงถึงบ่าย ๓ แต่ ๑๐ ปีหลังมานี่เช้าๆ เขียนไม่ได้ มันตื้อ ง่วงนอนบ้าง ต้องนอนก่อนกว่าจะเริ่มเขียนได้ก็ช่วงเที่ยง เขียนวันละ ๔ ชั่วโมง หลังจากนั้นก็จะไม่มีแรง

เมื่อก่อนเขียนและส่งต้นฉบับอย่างไรครับ

พิมพ์ดีดแล้วก็ส่งไปรษณีย์ เก็บก็อปปี้ไว้ใครเข้าเมืองก็ฝากส่ง ช้านะสมัยก่อน ต่อมามีคอมพิวเตอร์ก็ลองใช้ดู ส่งเป็นดิสเก็ต แต่ก็ส่งล่วงหน้าหลายวัน ส่วนอินเทอร์เน็ตที่นี่เพิ่งมีใช้เมื่อปี ๔๘ ก่อนหน้านั้นจะส่งอีเมล์ก็ต้องไปส่งที่บ้านท่ามะไฟหวาน ซึ่งอยู่ห่างจากที่นี่ไป ๑๕ กม. เวลาจะส่งก็ต้องเขียนสะสมให้ได้สัก ๒-๓ ชิ้นถึงค่อยไปส่ง จะได้คุ้มกับเวลาที่ต้องเสียไปกับการเดินทาง เพราะทางค่อนข้างทุรกันดารสักหน่อย หรือไม่ก็ฝากคนไปส่งให้ แต่ปกติก็ส่งเป็นดิสเก็ตไปที่กรุงเทพ ฯเลย

แต่ที่นี่มีปัญหาเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์ เพราะไม่มีไฟฟ้า วันหนึ่งใช้คอม ฯได้แค่ ๒ ชั่วโมง แบตก็หมดแล้ว ต้องลงเอาไปชาร์จที่สำนักงานป่าไม้ใกล้ ๆ วัด แต่ตอนหลังก็ได้อาศัยไฟฟ้าจากสำนักงานป่าไม้ รวมทั้งอาศัยไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่กุฏิ เดี๋ยวนี้การส่งอีเมล์ก็สะดวกขึ้นเพราะส่งผ่านโทรศัพท์มือถือได้ แต่ถ้าส่งเป็นไฟล์ใหญ่ก็ยังช้าอยู่ ไฟล์ใหญ่ ๆ ก็รับไม่ได้ แต่เท่านี้ก็พอแล้ว

ข้อจำกัดเยอะขนาดนี้ งานเขียนของท่านก็ยังหลั่งไหลออกมาเป็น ๑๐๐ เล่ม

ทำวันละนิด วันละหน่อย มันก็ไปได้

งานเขียนในทางพุทธศาสนา ได้มาจากอาจารย์ท่านใดบ้างไหม

ในทางพระพุทธศาสนาก็ต้องท่านพุทธทาส และท่านเจ้าคุณพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ๒ ท่านนี่แหละที่ได้ ยึดเป็นหลักมาก ท่านพุทธทาสจะมุ่งไปที่แก่นเลย คือ เรื่องอัตตา เรื่องตัวกู ของกู แต่ของเจ้าคุณพรหมคุณาภรณ์ อาตมาจะได้ในเรื่องโครงสร้างหลักธรรมของพุทธศาสนา และวิธีคิด โดยเฉพาะได้ อ่าน พุทธธรรม แล้วเป็นงานชั้นเลิศมาก

พุทธธรรม เป็นหนังสือชั้นเลิศยังไงครับ

เพราะเป็นคำตอบของชีวิต และทำให้เกิดมุมมองทางสังคมที่ไม่เหมือนใคร ที่ไม่เคยนึกมาก่อน อย่างที่บอกว่าหนังสือเล่มนี้ทำให้เห็นโครงสร้างของพระพุทธศาสนา ทำให้เข้าใจวิธีคิดแบบพุทธ และช่วยให้เรามีวิธีคิดที่สอดคล้องกับความเป็นจริงได้

ชาวพุทธจำเป็นต้องผ่านหนังสือเล่มนี้ไหม

ไม่จำเป็น คนส่วนใหญ่คงอ่านไม่ไหวหรอก ตั้งเกือบพันหน้า แต่ถ้าอยากรู้ลึกซึ้งก็ต้องเล่มนี้

หนังสือของท่านพุทธทาสที่มีหลายเล่ม อยากให้พระอาจารย์แนะนำคนทุกวันนี้ ควรจะอ่านเล่มไหนถึงจะเหมาะ

พุทธประวัติจากพระโอษฐ์, อริยสัจจากพระโอษฐ์, แก่นพุทธศาสน์ หรือ ที่คนพูดถึงกันมากอย่าง คู่มือมนุษย์, ตัวกูของกู ชาวพุทธถ้าเข้าใจเรื่องตัวกูของกูได้ ก็ทำให้จับหลักพุทธศาสนาได้ ตัวกูของกู นี่เป็นเรื่องใหญ่เป็นรากเหง้าแห่งความทุกข์ของมนุษย์

หนังสือที่พิมพ์ออกมาท่านอาจารย์ เคยนับเองไหมว่ามีกี่เล่มแล้ว

๑๐๔ เล่ม บางเล่มก็เป็นเล่มเล็ก ๆ เขาก็นับรวมเข้าไปเพื่อทำบันทึกเอาไว้ ด้วย เล่มหนา ๆ ก็มีเยอะ

เล่มไหนที่คิดว่ามาสเตอร์พีซของท่านอาจารย์

ที่เขาว่ากันก็ พุทธศาสนาไทยในอนาคต แต่อาตมาคิดว่ายังไม่ถึงที่สุดของตัวเองเท่าไหร่ มีอีกหลาย อย่างที่เราเห็นว่าน่าจะเขียนลงไป แต่ไม่มีเวลาทำ ยิ่งตอนนี้ยิ่งไม่มีเวลา ไม่มีแรงด้วย

ท่านคงศึกษาข้อมูลเยอะมากกว่าจะเป็นเล่มนี้

แต่มีงานอีกหลายชิ้นที่อาตมายังไม่ได้อ่าน และน่าจะอ่านได้มากกว่านี้ ซึ่งถ้าได้อ่านก็คงจะเขียนอะไรได้ลึกกว่าที่เห็น แต่ไม่มีเวลา ต้องรีบทำให้เสร็จก่อน เลยออกมาเท่าที่เห็น

พุทธศาสนาไทยในอนาคต เนื้อหาครอบคลุมสังคมพระตั้งแต่อดีตยันปัจจุบัน ซึ่งหลาย ๆ อย่างก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง

มันไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยังมีการแบ่งเป็นธรรมยุติกับมหานิกาย แม้แต่ความเป็นอีสาน เขาก็ยังดูถูกอยู่เลยว่าเป็นลาว อย่างสมเด็จพุฒาจารย์วัดมหาธาตุก็ถูกค่อนว่าเป็นลาว เพราะท่านเป็นคนขอนแก่น นี่เป็นทัศนคติในสังคมพระอย่างน้อยก็เมื่อสี่สิบปีก่อน เดี๋ยวนี้ก็คงมีอยู่แต่น่าจะลดลง ยังไม่ต้องพูดเรื่องไพร่ในหมู่ไพร่ก็ยังมีการแบ่งว่าใครลาว ใครกรุงเทพฯ ใครภาคกลาง อย่างพระไพศาลนี่เขาก็ว่าพระลาวเหมือนกัน แต่จริง ๆ ลาวนี่แหละที่เป็นกำลังหลัก

หนังสือกว่า ๑๐๐ เล่มที่ตีพิมพ์ พระอาจารย์เอาค่าลิขสิทธิ์ไปใช้ด้าน ไหนบ้างครับ

ค่าลิขสิทธิ์ก็ได้มาบ้าง แต่ไม่ทุกเล่ม ถ้าผู้พิมพ์เป็นมูลนิธิหรือเป็นเพื่อนก็ไม่รับ บางแห่งที่เป็นการค้า หน่อยก็รับ แต่ก็จะบริจาคต่อให้เครือข่ายพุทธิกา หรือไม่ก็ถวายวัดไป ปกติก็ไม่รับอยู่แล้ว บางเล่มตีพิมพ์ หลายครั้งก็ไม่ได้รับค่าลิขสิทธิ์นะ เขาให้เป็นหนังสือ หรือบางทีเขาก็ถวายให้วัด ถวายให้ทีละแสน ๆ แต่ก็ไม่บ่อย บางเล่มอาตมาก็ไม่รู้ว่าพิมพ์กี่ครั้งแล้ว สำนักพิมพ์ไม่ได้บอกให้รู้

เคยกลับไปอ่านหนังสือที่ตัวเองเขียน บ้างไหมครับ

ไม่เคย ไม่กล้าอ่าน (หัวเราะ)

หนังสือของพระอาจารย์พิมพ์กับหลายสำนัก เขามาติดต่อยังไงครับ

ใครอยากพิมพ์เขาก็มาติดต่อ ก็มีบางแห่งอยากพิมพ์หนังสือธรรมะแจก เอาจากที่อาตมาบรรยายตามที่ต่าง ๆ มาพิมพ์แจกก็มี บางทีก็รวมบทความที่เคยเขียน ถ้าอาตมาเป็นฆราวาสก็คงไม่ได้พิมพ์มากขนาดนี้หรอก แต่นี่อาตมาเป็นพระ เขาเลยพิมพ์เยอะ ส่วนหนึ่งมันเกี่ยวกับการตลาดด้วย เพราะคนสนใจหนังสือธรรมะมากขึ้น ซื้อมาก แต่จะอ่านหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนคนที่พิมพ์แจกก็เพราะอยากจะทำบุญ

มีเขียนแนวอื่นเก็บไว้บ้างไหม อย่างบทกวี เรื่องสั้น

ไม่มี อาตมาไม่มีหัวด้านนี้เลย

ช่วงหลัง ๆ นี้ได้อ่านงานวรรณกรรม ของใครบ้างครับ

ของ ชาติ กอบจิตติ ชอบเรื่อง นักขึ้นภูเขาทอง มีสาระดี เอาไปใช้ประโยชน์หลายงานแล้ว เร็ว ๆ นี้ก็อ่านเรื่อง ลับแล,แก่งคอย ของอุทิศ เหมะมูล กับอีกเล่มของ วาณิช จรุงกิจอนันต์ เป็นงานเขียนรวมเล่มเนื่องในโอกาสครบอายุ ๖๐ ปี ของกนกพงศ์ สงสมพันธ์ ก็คิดว่าจะอ่านเหมือนกัน แต่ไม่มีเวลาสักที เห็นว่ามีเล่มหนึ่งที่คนเขาชมมาก เรื่อง นิทานประเทศ ใช่มั้ย มีเวลาจะลองอ่านดูสักครั้ง

นิตยสารที่อ่าน

ก็มี ฅ.คน สารคดี เนชั่นแนลจีโอกราฟิก มติชนสุดสัปดาห์ เนชั่น ส่วนภาษาฝรั่ง ก็เช่น ไทม์ นิวส์วีก อีโคโนมิสต์

มาที่งานศรีบูรพาบ้าง เริ่มอ่านเล่มไหนก่อน และอ่านช่วงไหน

เรื่องแรกที่อ่านคือ จน กว่าเราจะพบกันอีก อ่านตอนประท้วงที่ธรรมศาสตร์ก่อนเกิดเหตุ ๑๔ ตุลา

ส่งผลต่อความคิดเลยไหม

มันไม่ถึงกับสะเทือน แต่ก็ได้แง่คิดสำหรับคนหนุ่มสาว สมัยก่อนนิยายเพื่อชีวิตยังไม่ค่อยมี ที่ขายดีก็เรื่อง จากเหมยถึงพลับพลึง เป็นงานแปลจากจีน เป็นวรรณกรรมที่มีสาระแต่ไม่ถึงกับเป็นวรรณกรรมเพื่อมวลชน หรือของวิทยากร เชียงกูล ของศรีบูรพาก็จนกว่าเราจะพบกันอีก แลไปข้างหน้า เล่มหลังนี้ตอนนั้นไม่มีใครกล้าพิมพ์เลย มีแต่ฉบับโรเนียว อีกเล่มของคือ บันทึก ๒๔๗๕ ใช้ชื่อจริงคือกุหลาบ สายประดิษฐ์

นับถือศรีบูรพาในเรื่องใด

เรื่องความกล้าหาญ ความซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นในอุดมคติ ความเสียสละเพื่อประเทศชาติ ความประณีต ศรีบูรพาเป็นคนมีวินัยสูงมาก และก็เป็นคนใฝ่รู้ ไม่ยอมหยุดนิ่ง โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา ทำให้มีผลงานใหม่ ๆ ออกมาเสมอ ไม่ติดกับของเดิม ความใฝ่รู้ทำให้ท่านหันมาสนใจพุทธศาสนาอย่างจริงจัง จนมีผลงานในด้านนี้ นอกเหนือจากงานด้านวรรณกรรมและการเมือง

ศรีบูรพาเสียสละตัวเองเพื่อสังคม แต่ไปตายในแผ่นดินอื่น ถือว่ายุติธรรมกับท่านไหม

ท่านน่าจะกลับมาช่วงหลัง ๑๔ ตุลานะ แต่คิดว่าตอนนั้นสุขภาพของท่านคงแย่แล้ว เสียดายว่า ๑๐ กว่าปีที่อยู่จีนแดงไม่มีผลงานสำคัญออกมาเลย เสียดายเพราะท่านเป็นนักเขียนโดยสัญชาตญาณ เขียนตั้งแต่เล็ก

กับความรู้สึกที่ได้รับรางวัลศรีบูรพา

มีความรู้สึกหลายอย่างนะ อย่างแรกคือ ไม่คาดคิดว่าจะได้ เป็นเซอร์ไพรส์ ความรู้สึกที่สองคือ ไม่รู้จะพูดยังไง คล้าย ๆ เป็นความตะขิดตะขวงหรือเคอะเขิน ไม่รู้จะใช้คำไหนบอกไม่ถูก นึกคำไม่ออก คือรู้สึกว่าอาตมายังไม่ค่อยเหมาะนะ อีกความรู้สึกหนึ่งคือรู้สึกว่าเป็นภาระ ต้องแบกภาระอันทรงเกียรตินี้ เพราะมัน เป็นรางวัลที่เกินตัว แต่ไม่กังวลนัก เพราะอาตมาก็เขียนงานอยู่สม่ำเสมอ มันไม่เหมือนกับซีไรต์ เพราะซีไรต์เขาพิจารณาแค่เล่มเดียว แล้วคนอ่านก็คอยว่าเมื่อไหร่คุณจะมีผลงานออกมาอีก แต่รางวัลศรีบูรพา จะพิจารณาถึงงานที่ทำมาทั้งหมด ไม่ได้ดูเป็นเล่ม ๆ และตอนนี้ก็เป็นช่วงเข้าปัจฉิมวัยแล้ว จึงไม่ได้กังวลอะไรกับงานเขียนชิ้นต่อ ๆ ไป

จาก http://visalo.org/columnInterview/parkkai.htm
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานไตรสรณะสุจิปุลิ
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


พระไพศาล วิสาโล พระนักเขียนรางวัล 'ศรีบูรพา' ปี 2553

โดย : พรชัย จันทโสก : รายงาน
กรุงเทพธุรกิจ : วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓
Life Style : Read & Write


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
พระไพศาล วิสาโล ได้ชื่อว่าเป็นพระนักปราชญ์ เป็นนักคิด-นักเขียนชั้นแนวหน้าของเมืองไทย ผู้มองเห็นถึงปัญหาทั้งในเชิงปัจเจกและในเชิงโครงสร้างของสังคม และเป็นกำลังสำคัญในหมู่ผู้แสวงหาทางออกให้กับสังคมไทยและโลกโดยสันติวิธี โดยเฉพาะในสถานการณ์การเมืองขณะนี้แนวทางสันติวิธีหรือมาตรการปรองดองแห่งชาติน่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด

ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ 27 ปี พระไพศาล วิสาโล เป็นนักธรรมผู้สร้างสะพานเชื่อมธรรมะสู่คนรุ่นใหม่ เป็นพระสงฆ์นักกิจกรรมหัวก้าวหน้าที่สามารถเชื่อมโยงความรู้ทางด้านพุทธธรรมมาอธิบายปรากฏการณ์ของชีวิตและสังคม ในบริบทของสังคมสมัยใหม่อย่างเข้าใจง่าย ชัดเจนเป็นรูปธรรม อธิบายหลักธรรมที่ยากและลึกซึ้งให้เป็นเรื่องง่ายต่อการทำความเข้าใจ รวมทั้งยังเป็นผู้ถ่ายทอดและสร้างสรรค์ผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งงานเขียน งานแปล และงานบรรณาธิกรณ์ โดยมีผลงานเขียนมากกว่า 100 เล่ม และเมื่อปี 2548 หนังสือชื่อ 'พุทธศาสนาไทยในอนาคต : แนวโน้มและทางออกจากวิกฤติ' ยังได้รับรางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ในสาขาศาสนาและปรัชญาอีกด้วย

ล่าสุด คณะกรรมการ กองทุนศรีบูรพา ได้ประกาศเกียรติคุณให้ พระไพศาล วิสาโล เป็นผู้ได้รับรางวัลศรีบูรพา ประจำปี 2553 นับเป็นผู้ได้รับรางวัลลำดับที่ 22 โดยพิธีมอบรางวัลอย่างเป็นทางการจัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็น 'วันนักเขียน' ของทุกปี โดยภายในงานมีนักเขียนหลากรุ่นมาร่วมสังสรรค์กันอย่างคึกคัก

"รางวัลศรีบูรพานั้นถือกันว่าเป็นรางวัลที่ทรงเกียรติอย่างยิ่งสำหรับนักเขียนนักประพันธ์ในประเทศนี้ แต่อาตมาขอสารภาพว่าการขึ้นมากล่าวสุนทรกถาในฐานะผู้ได้รับรางวัลศรีบูรพานั้น เป็นสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะบังเกิดกับตนเอง เพราะแม้อาตมาจะเขียนหนังสือมานานกว่า 30 ปี แต่ก็ไม่สามารถกล่าวอย่างเต็มปากว่าตนเองเป็นนักเขียนนักประพันธ์ จะเป็นได้อย่างมากก็นักเขียนสมัครเล่น ซึ่งไม่อาจเทียบชั้นเสมอนักเขียนชั้นครูหรือนักประพันธ์อาวุโสทั้งหลายที่เป็นเจ้าของรางวัลอันทรงเกียรตินี้ตลอดกว่า 20 ปีที่ผ่านมา

“ยิ่งกว่านั้นงานเขียนของอาตมาก็ไม่เคยแม้แต่จะเฉียดกรายเข้าใกล้แวดวงวรรณกรรมหรือวงการหนังสือพิมพ์ อันเป็นแวดวงที่ศรีบูรพาได้บุกเบิกสร้างสรรค์และฝากผลงานไว้มากมาย ทั้งนี้มิจำเป็นต้องเอ่ยว่าในอดีตไม่เคยมีพระภิกษุที่ได้รับรางวัลนี้ ด้วยเหตุนี้การได้รับรางวัลศรีบูรพาจึงเป็นเรื่องที่เหนือการคาดคิดของอาตมา"

นั่นคือบทเริ่มต้นสุนทรกถาในโอกาสรับรางวัลศรีบูรพาของ พระไพศาล วิสาโล ก่อนจะกล่าวถึง 'ศรีบูรพา' หรือ 'กุหลาบ สายประดิษฐ์' ว่าเป็นนักประพันธ์และนักหนังสือพิมพ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของไทย เป็น 'สุภาพบุรุษ' ที่มั่นคงในอุดมคติและเปี่ยมด้วยคุณธรรมอันน่ายึดถือเป็นแบบอย่าง

"ชีวิตของศรีบูรพาคือชีวิตของผู้ที่อยู่แถวหน้าในการต่อสู้กับเผด็จการและอำนาจที่ไม่เป็นธรรม แม้จะประสบเภทภัยเพียงใด ก็ไม่ท้อแท้ท้อถอย หากยังคงมุ่งมั่นต่อสู้ตามอุดมคติปณิธานของตน นั่นเป็นเพราะท่านมีจิตใจมั่นคง แข็งแกร่ง และกล้าหาญ ที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันก็คือ ท่านเป็นผู้ไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรม อันได้แก่โภคทรัพย์ และชื่อเสียง เกียรติยศ จึงสามารถอดทนต่อการคุกคามของผู้มีอำนาจและไม่ยอมตนเป็นเครื่องมือของนายทุน จึงสามารถบำเพ็ญตนเยี่ยงเสรีชนได้อย่างยั่งยืนยาวนาน"

พร้อมทั้งกล่าวอีกว่า..."สังคมไทยวันนี้กำลังถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมสองกระแสใหญ่ๆ ซึ่งอาตมาขอเรียกว่าวัฒนธรรมแห่งความละโมบ และวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง วัฒนธรรมแห่งความละโมบนั้นได้ปลุกกระตุ้นให้ผู้คนถือเอาวัตถุเป็นสรณะ มีชีวิตเพื่อการเสพสุข เพราะเชื่อว่าความสุขจะได้มาก็ด้วยการเสพและครอบครองวัตถุ ยิ่งมีมากเท่าไรก็เชื่อว่าจะมีความสุขมากเท่านั้น ภายใต้วัฒนธรรมดังกล่าว ผู้คนจึงมีความต้องการอย่างไร้ขีดจำกัดและไม่รู้จักพอ ทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกันอย่างกว้างขวาง นำไปสู่ช่องว่างที่ถ่างกว้างระหว่างผู้คน ตอกย้ำความไม่เป็นธรรมในสังคม ทำให้การทุจริตคอร์รัปชัน และอาชญากรรมนานาชนิดแพร่ระบาด รวมทั้งก่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

“ขณะเดียวกันวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง ได้ปลุกเร้าให้ผู้คนเป็นปฏิปักษ์ต่อกันเพียงเพราะมีความแตกต่างทางความเชื่อ ศาสนา อุดมการณ์ ชาติพันธุ์ รวมทั้งสถานะทางสังคม ความกลัวและความหวาดระแวงทำให้มองผู้ที่คิดต่างจากตนเป็นศัตรู ทุกวันนี้การแบ่งฝักฝ่ายขยายตัวจนกระทั่งมองเห็นคนที่ใส่เสื้อคนละสีกับตน เป็นคนเลว เพราะปักใจเชื่อล่วงหน้าเอาไว้แล้วว่ามีแต่คนเลว ไม่รักชาติ เหยียดหยามประชาชน อกตัญญูต่อสถาบัน เท่านั้นที่สวมใส่เสื้อสีนั้นๆ หรือสมาทานความเชื่อทางการเมืองที่ผูกติดกับสีนั้น ต่างฝ่ายต่างติดป้ายติดฉลากให้แก่กันจนมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ผลก็คือพร้อมที่จะห้ำหั่นประหัตประหารกัน"

การแสวงหาทางออกของพระนักสันติวิธีนั้น มองว่า "หากปรารถนาสังคมที่สงบสุข จำเป็นต้องขับเคลื่อนให้มีการเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีความเสมอภาค ยุติธรรม และเป็นประชาธิปไตย แต่การเปลี่ยนแปลงสังคมมิได้มีแต่มิติด้านการเมืองเศรษฐกิจเท่านั้น มิติทางจิตวิญญาณก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน จะว่าไปแล้วมิติทั้งสองแยกจากกันไม่ออก จิตวิญญาณของผู้คนมิอาจเจริญงอกงามได้หากอยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจการเมืองที่เลวร้าย ในทางกลับกันระบบเศรษฐกิจการเมืองย่อมไม่อาจเจริญงอกงามได้หากจิตวิญญาณของผู้คนถดถอย อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ของสองมิติดังกล่าวมักจะถูกมองข้ามไป ทำให้การเปลี่ยนแปลงสังคมในปัจจุบันละเลยมิติด้านจิตวิญญาณ ส่วนผู้ที่ใส่ใจกับมิติด้านจิตวิญญาณก็มักจะไม่สนใจสังคม หมกมุ่นอยู่กับเรื่องเฉพาะตน ด้วยเหตุนี้สิ่งหนึ่งที่อาตมาพยายามทำก็คือการเชื่อมโยงทั้งสองมิติให้ประสานกัน

“แน่นอนว่าในฐานะพระภิกษุ ย่อมไม่มีอะไรดีกว่าการพยายามนำพาผู้คนให้ตระหนักถึงมิติด้านจิตวิญญาณ และช่วยกันเสริมสร้างพลังทางจิตวิญญาณเพื่อขับเคลื่อนชีวิตและสังคมให้เป็นไปในทางที่ดีงาม กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการกระตุ้นเชิญชวนให้ผู้คนเห็นศักยภาพภายในที่สามารถนำพาตนให้บรรลุถึงอิสรภาพทางจิตใจได้ ขณะเดียวกันก็เปิดมุมมองเพื่อให้เห็นคุณงามความดีและความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น อันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามร่วมกันโดยสันติวิธี เมื่อคำนึงถึงความสามารถที่มีอยู่อาตมาได้เลือกเอาการเขียนหนังสือเป็นหนทางหนึ่งในการบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว อาตมาเชื่อว่าภารกิจดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะในยามที่ผู้คนพากันประดิษฐ์ถ้อยคำห้ำหั่นกัน ใส่ร้ายป้ายสีหรือกระตุ้นความเกลียดชังกันอยู่ในขณะนี้

“สิ่งที่สังคมไทยต้องการก็คือถ้อยคำที่เชิญชวนให้ผู้คนมีเมตตาต่อกัน เข้าใจความทุกข์ของกันและกัน รวมทั้งเชื่อมั่นในพลังแห่งความรักยิ่งกว่าพลังแห่งความโกรธเกลียด"

นอกจากส่วนหนึ่งของสุนทรกถาข้างต้นแล้ว พระไพศาล วิสาโล ยังได้แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ที่รัฐบาลได้เสนอแผน 'การปรองดองแห่งชาติ' ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งขณะนี้ว่า...

"อาตมาเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมน่าสนับสนุนเพราะว่าตอนนี้มีทางเลือกเหลือน้อยมาก และทางเลือกที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นสูงมากคือการสลายการชุมนุมซึ่งจะทำให้เกิดความสูญเสียมาก อาตมาคิดว่าการเสนอมาตรการปรองดองนี้ช่วยลดความตึงเครียดได้ และถ้า นปช.ยอมรับด้วยยิ่งทำให้การชุมนุมยุติในเร็ววัน และการนองเลือดก็จะไม่เกิดขึ้น อย่างน้อยก็ในระยะนี้"

แต่หลายฝ่ายยังเป็นห่วงต่อไปอีกว่าแม้จะยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ แต่ความรู้สึกเกลียดชังของคนในสังคมไทยยังคงไม่หายไป และจะเกิดปัญหาความวุ่นวายตามมาอีก

"เราต้องรู้ว่าความเกลียดชังเกิดจากอะไร ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อ โดยเฉพาะเหตุการณ์วันที่ 10, 22, 28 เมษายน เมื่อมีคนตาย ก็ต้องมีคนรับผิดชอบ อาตมาคิดว่าการเยียวยาจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัย 'ความจริง' ต้องทำความจริงให้ปรากฏว่าการตายนี้เกิดจากใคร ใครรับผิดชอบ และถ้าสามารถนำคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ จะทำให้ความรู้สึกคับแค้นโกรธเคืองบรรเทาไปได้ส่วนหนึ่ง แต่ว่ายังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดความเกลียดชัง เช่น ฝ่ายต่อต้านเสื้อแดงไม่เชื่อว่าคนเสื้อแดงจงรักภักดีต่อสถาบันหรือถึงขั้นจะล้มเจ้า เรื่องนี้ก็ต้องทำความจริงให้กระจ่างด้วย

“กระบวนการยุติธรรมจะช่วยได้ คือทำให้เห็นว่าเขาผิดจริงไหม อย่างไรก็ตามอาตมาคิดว่าอันนี้เป็นเรื่องระยะสั้น ระยะยาวนี้ก็ต้องทำให้เกิดการเข้าอกเข้าใจกันในฐานะที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน คือตอนนี้ความโกรธความเกลียดเกิดขึ้นรุนแรงเพราะว่าต่าง 'กลัว' อีกฝ่ายหนึ่ง เนื่องจากมีการวาดภาพว่าเขาเป็นปีศาจเป็นมาร ตรงนี้อาตมาคิดว่าต้องทำให้ทั้งสองฝ่ายรู้จักกันให้มากขึ้น อาตมาคิดว่ามิติความเป็นมนุษย์ขาดหายไป ทำให้ทั้งสองฝ่ายมองซึ่งกันและกันเป็นยักษ์เป็นมาร ต้องทำให้คนสองกลุ่มนี้เห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกันให้มากขึ้น

“อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม หรือเรื่องสองมาตรฐาน นี้เป็นปัญหาพื้นฐานที่มีมาแต่เดิม ก็ต้องแก้ด้วย เป็นเรื่องดีที่มาตรการปรองดองแห่งชาติระบุว่าจะแก้ตรงนี้ด้วย ทีนี้อารมณ์ความรู้สึกโกรธเกลียดมันมีหลายชั้น เริ่มจากความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เลยมาประท้วง พอมาประท้วงก็เกิดการปะทะกัน มีการโจมตีกล่าวหากัน เกิดความรู้สึกโกรธเกลียดพยาบาท มองอีกฝ่ายว่าเป็นตัวเลวร้าย และเมื่อมีการปะทะกัน มีการฆ่ากันตาย ความโกรธความเกลียดก็มากขึ้น ความโกรธความเกลียดมันมีหลายชั้น ก็ต้องแก้กันไป และต้องแก้หลายชั้นด้วย ชั้นหนึ่งก็เป็นเรื่องของกฎหมาย ใครผิดก็ต้องว่ากันไปตามผิด ส่วนการทำให้คนเห็นความเป็นมิตรของกันและกันก็ต้องทำด้วยเช่นกัน

“อันนี้เป็นมิติของความเป็นมนุษย์ ส่วนเรื่องของความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้างก็ต้องแก้ด้วย เต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การปฏิรูปโครงสร้าง ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจกันด้วย"

ในแง่ของหลักธรรมที่จะเข้ามาช่วยเยียวยาหรือสร้างความปรองดองให้ประสบความสำเร็จนั้น

"ในพระพุทธศาสนามีธรรมะที่ช่วยสร้างความปรองดองหรือการมีความรักต่อกันอย่างน้อย 2 หมวด หมวดแรกคือ สังคหวัตถุ 4 คือธรรมทำให้เกิดความรักใคร่กัน ได้แก่ ๑. ทาน คือแบ่งปันกัน ไม่ใช่แค่การแบ่งปันระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ แต่ต้องแบ่งปันระหว่างชนชั้นด้วย เพราะตอนนี้ชนชั้นนำ-ชนชั้นกลางผูกขาดทรัพยากรไว้ ต้องแบ่งปันให้กับคนชั้นล่างด้วย อันนี้เป็นเรื่องความเป็นธรรมในสังคม ๒.ปิยวาจา คือ คำพูดที่ไพเราะ ที่สุภาพ ที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ไม่ใช่ด่ากัน ๓. อัตถจริยา คือ การทำความดี การประพฤติดี การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ๔. สมานัตตา คือ ความเสมอต้นเสมอปลาย หรือการปฏิบัติต่อกันอย่างไม่ถือเขาถือเรา การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน อันนี้เป็นเรื่องพื้นฐานเลยเพราะว่าการแบ่งแยกเป็น 'ไพร่' เป็น 'อำมาตย์' เกิดขึ้นเพราะไม่มีสมานัตตา ไพร่คิดว่าตัวเองด้วยกว่าอมาตย์ แต่สมานัตตาช่วยให้รักกันได้

“อีกหมวดหนึ่งได้แก่สารณียธรรม 6 คือ ธรรมที่ทำให้เกิดความรักกันความสามัคคี ประกอบด้วย เมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม ศีลสามัญญตา ทิฏฐิสามัญญตา และสาธารณโภคี ทิฏฐิสามัญญตาหมายถึงการมีความเห็นที่สอดคล้องกัน ไปในทางเดียวกัน เช่น เชื่อมั่นในประชาธิปไตยเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องคิดอะไรเหมือนกันก็ได้ เพราะตอนนี้สังคมไทยจะคิดเหมือนกันนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่ว่าควรมองไปข้างหน้า มีจุดร่วมเหมือนกัน มีความคิดที่เห็นพ้องต้องกันว่าอะไรเป็นความดี อะไรเป็นความชั่ว ส่วนสาธารณโภคี คือ การกินการใช้ร่วมกัน รวมถึงการกระจายทรัพยากรไปให้แก่ผู้คนในสังคมอย่างทั่วถึง หลักธรรมนี้จะช่วยให้เกิดความปรองดองเกิดความเข้าอกเข้าใจกัน

“แต่ก่อนที่จะปรองดองนั้นได้ต้องรู้จักทะเลาะกันอย่างสันติวิธีหรือว่าถกเถียงกันอย่างอารยชน เพราะตอนนี้เหมือนจะฆ่ากันให้ตาย ทำอย่างไรถึงจะทะเลาะกันอย่างอารยชน คือว่าใช้เหตุใช้ผล ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ด่ากัน ไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน ตอนนี้แม้กระทั่งผัวเมีย พ่อกับลูก บางทีก็ไม่ยอมกัน เถียงกันเอาเป็นเอาตาย สถานการณ์เมืองไทยตอนนี้เอาแค่นี้ก่อนก็ช่วยได้มากแล้ว ต่อมาค่อยก้าวมาสู่การปรองดอง"

เหตุการณ์ที่ผ่านมาถือว่าให้บทเรียนกับสังคมไทยเป็นอย่างมาก
"สังคมไทยตอนนี้เปราะบางมาก เพราะว่ามีความขัดแย้งเชิงโครงสร้างสูงมาก และขาดการสื่อสารระหว่างคนที่ขัดแย้งกัน และขาดกลไกที่จะแก้ปัญหาโดยสันติวิธี อันที่จริงกลไกที่จะแก้ปัญหาโดยสันติวิธีมีอยู่มากมายในสังคมไทย เช่น ศาล รัฐสภา แต่ว่าตอนนี้ล้มเหลวหมด แม้แต่การเลือกตั้งก็ไม่มีใครเชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้เพราะว่าฝ่ายหนึ่งบอกว่าเลือกตั้งทีไรก็มีการซื้อเสียง จึงไม่ยอมยุบสภา เพราะกลัวว่าถ้ายุบสภาเลือกตั้งก็ซื้อเสียงกันอีก แม้แต่กระบวนการเลือกตั้งซึ่งควรจะเป็นกระบวนการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี ก็ไม่มี คนจำนวนมากไม่เชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้ ตรงนี้แสดงว่าเมืองไทยขาดกลไกแก้ปัญหาโดยสันติวิธีและขาดพื้นที่จะมีการต่อรองกันในทางการเมืองแบบสันติวิธี


“การเมืองระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องของการต่อรองระหว่างกลุ่มต่างๆ ถ้าระบบมันดีก็ทำให้ผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ต่อรองกันได้อย่างสันติวิธี แต่ว่าตอนนี้คนไม่เชื่อ ก็เลยออกมาต่อสู้ตามท้องถนน พันธมิตรก็มาที่ท้องถนน เสื้อแดงก็มาที่ท้องถนน พอมาแล้วก็พยายามทำให้เกิดความปั่นป่วน จนรัฐบาลปกครองไม่ได้ จะได้ยอมตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม สังคมไทยเคยมีพื้นที่มากมายในการต่อรองกัน ไม่ใช่แค่บนท้องถนน แต่ตอนนี้พื้นที่การต่อรองหรือแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธีมีน้อยมาก หรือไม่เปิดพื้นที่ให้เขา ผู้คนเลยมาใช้ท้องถนนแทน

“ยุบสภาแล้วจะเกิดความสงบได้ ก็ต้องมีกระบวนการก่อนการเลือกตั้ง จะต้องมีการทำสัตยาบันหรือข้อตกลงแบบสุภาพชน ที่จะเป็นกติกายอมรับร่วมกัน เช่น ผลจะเป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับ รวมทั้งมีข้อตกลงเรื่องการใช้สื่อ เรื่องการไม่ใช้ความรุนแรง เรื่อง กกต. ทั้งหมดนี้ต้องมีการตกลงในเรื่องกติกา ถึงจะไม่นำไปสู่ความรุนแรงอีก"

นั่นคือทรรศนะของ พระไพศาล วิสาโล นักสันติวิธีตัวจริงซึ่งอยากเห็นการแก้ปัญหาโดยไม่ใช้ความรุนแรงและแนวทางการปรองดองน่าจะเป็นทางเลือกที่จะทำให้ประเทศไทยกลับคืนสู่สันติได้โดยไม่สูญเสียอีก

อภิชาตศิษย์
.......................
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ปี 2537 ผู้ถือเป็นครูและแบบอย่างในด้านการเขียนของ พระไพศาล วิสาโล นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ปี 2553 ขึ้นกล่าวแสดงความยินดีในพิธีมอบรางวัลครั้งนี้ด้วยว่า...

"ถ้าใครมีลูกก็อยากมีลูกเป็นอภิชาตบุตร และพระไพศาล วิสาโล เรียกได้ว่าเป็น 'อภิชาตศิษย์' คือสามารถดีกว่าครูบาอาจารย์ทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องชีวิตพรหมจรรย์อันเป็นชีวิตอันประเสริฐ ในขณะที่ครูบาอาจารย์ยังย่ำอยู่กับที่อยู่กับ 'หินชาติ' ของฆราวาส พร้อมกันนี้อยากจะเรียนยกย่องคณะกรรมการรางวัลศรีบูรพาที่ตัดสินเลือก 'พระไพศาล วิสาโล' ให้ได้รับรางวัลในปีนี้ เพราะการเป็นกรรมการตัดสินให้รางวัลนั้นไม่ใช่ของง่าย ตัดสินมีทั้งผิดและถูก และรางวัลศรีบูรพาเป็นรางวัลประเสริฐ แต่หลายๆ ครั้งกรรมการตัดสินให้รางวัลคนซึ่งไม่ประเสริฐให้ได้รับรางวัลนี้ รวมถึงตัวผมด้วย (ฮา)

พูดอย่างนี้อยากจะเตือนคณะกรรมการไว้ว่าปีนี้พระไพศาลได้รับรางวัลแล้ว และปีต่อๆ ไปคณะกรรมการจะต้องระมัดระวังยิ่งขึ้น อย่าให้คุณภาพของผู้ได้รับรางวัลลดน้อยถอยลงไปกว่านี้ เรียกว่าปีนี้ขึ้นถึงจุดสุดยอด เพราะถ้าหาคนไม่ได้จริงๆ เว้นเสียบ้างก็ได้ ไม่จำเป็นต้องให้ทุกปี อันนี้ผมอยากเตือนด้วยความเคารพ เพราะรางวัลนั้นจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อผู้รับรางวัลมีคุณภาพ ไม่จำเป็นจะต้องมีปริมาณ

พระไพศาลเอ่ยถึงคุณวัลลภ แม่นยำ ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไป พัลลภเป็นนักเขียนการ์ตูน ดังที่รางวัลนี้เคยให้ 'ชัย ราชวัตร' ผมเชื่อว่าถ้าเขาอยู่ไปน่าจะได้รางวัลนี้ด้วย เพราะการ์ตูนของพัลลภนั้นเป็นการ์ตูนที่มีฝีมือ มีอารมณ์ขันหยอกล้อทางการเมือง ในขณะที่เวลานี้ทั้งเสื้อแดง-เสื้อเหลืองไม่มีอารมณ์ขันเลย และผมเห็นว่าการเมืองจะให้ได้ผลนอกจากมีมิติทางจิตวิญญาณอย่างที่พระคุณเจ้าว่าแล้วต้องมีอารมณ์ขันเป็นปัจจัยสำคัญ พระไพศาลเอ่ยถึง 'ท่านพุทธทาส' ถ้าใครเคยได้ยินท่านเทศน์ท่านจะหัวเราะไปเรื่อยๆ อารมณ์ขันเป็นสิ่งสำคัญ เวลานี้พระที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก คือ 'องค์ทะไล ลามะ' ไปเทศน์ที่ไหนก็เอาอารมณ์ขันไปด้วย หัวเราะ และที่สำคัญท่านหัวเราะตัวท่านเองตลอดเวลา และตรงกับที่พระไพศาลพูด การแก้ไขปัญหาในสังคมให้ตรงนั้นท่านเริ่มที่แก้ปัญหาตัวเอง สันติภาวะภายในตน และนำสันติภาวะนั้นออกมาเพื่อเกื้อกูลชาวโลกและค้ำจุนโลก

อีกอย่างหนึ่งคือการแก้ไขปัญหาสังคมนั้น พระไพศาลเน้นต้องมี 'สภาวะทางจิต' ผมไม่ได้ชอบคำว่า 'จิตวิญญาณ' เป็นภาวะทางจิตใจมากกว่า นอกจากมีอารมณ์ขัน ภาวะทางจิตใจแล้ว อีกมิติหนึ่งซึ่งสำคัญมากคือ 'มิติทางความงาม' คนไทยเวลานี้ขาดมิติทางความงามมาก โดยเฉพาะกรุงเทพฯเป็นเมืองที่อัปลักษณ์ที่สุด มีความถ่อย มีความน่าเกลียดทั้งทางกายภาพ และมันนำมาสู่สังคมการเมืองอย่างทุกวันนี้ อยากฝากคณะกรรมการศรีบูรพาด้วย พยายามมองหาคนที่มุ่งทางความงาม และความงามนั้น เป็นความดีและความจริง"


จาก http://visalo.org/columnInterview/bkkBizNew530509.htm
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...