ก่อนจะเป็นนักเขียนรางวัลศรีบูรพาสัมภาษณ์ พระไพศาล วิสาโล
โดย ศรีสุภางค์ ธรรมาวุธ
วิทยุ FM 101 RR One
รายการหนอนหนังสือ
วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๓พิธีกร ขอแสดงความยินดีกับพระคุณเจ้าด้วยนะคะ ในฐานะที่ได้รับรางวัลศรีบูรพาประจำปีนี้ แต่ก่อนที่จะไปพูดถึงรางวัลอยากจะย้อนกลับไปเรื่องราวในวัยเด็กก่อนได้ไหมคะ อยากให้พระคุณเจ้าเล่าประวัติในวัยเด็ก จนมาถึงช่วงวัยรุ่น แล้วก็มาถึงเหตุการณ์ที่ได้มีส่วนร่วมต่อสู้ประชาธิปไตย ในช่วง ๖ ตุลา ๑๙ ด้วย
พระไพศาล พูดอย่างย่อก็คือว่า อาตมาเรียนหนังสือที่โรงเรียนอัสสัมชัญ เป็นนักเรียนที่สนใจแต่เรียนหนังสือ ก็เรียนดีมาตลอด แต่ว่าก็เป็นคนชอบอ่านหนังสือตามห้องสมุด แล้วประมาณอายุ ๑๕ ปีก็ได้อ่านหนังสือของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือส.ศิวรักษ์ ก็ติดใจขึ้นมาก็เลยตามอ่านหนังสือเล่มอื่นๆ ของท่าน การอ่านก็ทำให้เกิดมุมมองที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะเรื่องปัญหาของบ้านเมือง เพราะตอนนั้นบ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย ก็ทำให้ตามอ่านหนังสือเล่มอื่นๆ ที่อาจารย์สุลักษณ์เคยเป็นบรรณาธิการเช่น สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ซึ่งตอนนั้นคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรีก็เป็นบก.แล้ว ก็ยิ่งทำให้เห็นปัญหาบ้านเมืองที่ลำบากยากแค้น ตอนนั้นสังคมศาสตร์ปริทัศน์ทำฉบับ “ภัยเหลือง” ก็คือภัยจากประเทศญี่ปุ่น เผอิญช่วงนั้นทางศูนย์นิสิตๆ ซึ่งมีคุณธีรยุทธ บุญมีเป็นเลขาธิการทำการรณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ส่งเสริมให้ใช้ผ้าดิบไทย อันนี้ก็ทำให้เกิดความตื่นตัวในเรื่องของสังคมมากขึ้น
อาตมาก็เริ่มสนใจที่จะเขียนหนังสือตั้งแต่ช่วงนั้นเพราะว่าเกิดภัยเหลือง ได้อ่านงานเขียนที่เหมือน เปิดหูเปิดตาเห็นปัญหาบ้านเมืองแล้วก็อยากจะสื่อสารให้เพื่อนๆในโรงเรียนได้ทราบ ช่วงนั้นอาตมาก็ไปทำงานค่ายอาสาพัฒนาของโรงเรียนอัสสัมชัญด้วย ก็ได้ออกชนบทก็ได้เห็นปัญหาต่างๆ มากมาย สิ่งเหล่านี้มันทำให้เรามีไฟที่อยากจะเขียน อยากจะสื่อสาร อยากจะเชิญชวนให้ทุกคนได้มาตื่นตัวสนใจเรื่องปัญหาสังคม ปัญหาบ้านเมือง อันนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มาขีดเขียน จนกระทั่งก่อนเข้ามหาวิทยาลัยก็อยู่ในกองบรรณาธิการของปาจารยสาร อันนี้ก็พูดแบบรวบรัดนะ ช่วงปีหนึ่งก็ได้เป็นบก. ปาจารยสาร ซึ่งตอนนั้นมุ่งเผยแพร่แนวคิดเรื่องอหิงสา
เมืองไทย หลัง ๑๔ ตุลาใหม่ๆ แนวคิดเรื่องสังคมนิยมแพร่หลายมาก คนที่คิดเรื่องสันติวิธีหรืออหิงสามีน้อย ผู้คนส่วนใหญ่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมคิดแต่เรื่องการปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธ อาตมาก็มาทำเรื่องอหิงสา ช่วงที่เกิดการประท้วง ๖ ตุลา ก็ไปร่วมชุมนุม ไม่ใช่กับศูนย์นิสิตนะ ก็ไปชุมนุมที่ชุมนุมพุทธฯ ของธรรมศาสตร์ เพราะอาตมาเป็นกรรมการอยู่ ตอนนั้นอยู่ปีสอง
พิธีกร ก็ช่วงนั้นพระคุณเจ้าก็ยังศึกษาอยู่ที่ธรรมศาสตร์ด้วย
พระไพศาล แต่ว่าไม่ได้ร่วมชุมนุมกับนักศึกษา ตอนนั้นขบวนการนักศึกษาเป็นซ้ายส่วนใหญ่ อาตมาเป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมืองก็เลยอดอาหารประท้วงกับเพื่อน ๆ ที่ชุมนุมพุทธ ฯ
พิธีกร ตอนนั้นมีแนวร่วมเยอะไหมคะพระคุณเจ้า
พระไพศาล ก็ไม่เยอะนะเพราะว่าคนที่นับถือพุทธและสนใจสังคมมีน้อยมาก ส่วนใหญ่ถ้าสนใจสังคมก็นิยมแนวทางซ้าย พอเกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลาอาตมาก็เลยถูกจับ
พิธีกร ตอนนั้นทราบว่าพระคุณเจ้าถึงขั้นถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเลยหรือคะ
พระไพศาล ทุกคนที่อยู่ธรรมศาสตร์ถูกจับหมด คนที่ถูกคุมขังมีประมาณสามพันกว่าคน แต่ก่อนถูกคุมขังนะก็ต้องเจ็บปวดทรมานเพราะว่าถูกเตะถูกถีบบ้างตอนที่ขึ้นรถที่ธรรมศาสตร์ อาตมาก็ถูกทำร้ายไปด้วย
พิธีกร สิ่งที่ได้รับจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น พระคุณเจ้าได้อะไรมาคะ
พระไพศาล อาตมาเห็นเลยว่าความรุนแรงไม่ใช่คำตอบ ความรุนแรงทำให้มนุษย์เรามีสภาพจิตใจไม่ต่างจากสัตว์ เพราะเหตุการณ์ ๖ ตุลา อาตมาเจอเองกับตัว ตอนที่วิ่งขึ้นรถที่จะพาไปเรือนจำ ก็มีคนเข้าแถวคอยเตะคอยถีบนักศึกษาที่วิ่งขึ้นรถ อาตมาก็ถูกเตะอยู่ช่วงหนึ่งแล้วเงยหน้าเห็นหน้าคนที่เตะเรา อาตมาไม่ได้โกรธเลยนะ แต่สงสารเพราะเขาเต็มไปด้วยความโกรธมาก มันเป็นสภาพของคนที่ไม่ใช่มนุษย์นะ ยิ่งมาทราบภายหลังว่ามีคนตายจากการถูกแขวนคอที่สนามหลวงบ้าง หรือว่าถูกไม้ปักอกบ้าง ถูกเผาทั้งเป็นบ้าง ก็ทำให้รู้สึกว่าความโกรธเกลียดมันทำให้คนเป็นยักษ์เป็นมาร อาตมาไม่ได้เกลียดคนนั้น แต่รู้สึกว่าสิ่งที่จะต้องโกรธเกลียดก็คือความโกรธเกลียดนั่นเอง ความโกรธเกลียดที่อยู่ในใจเรา นี่คือสิ่งที่อาตมาได้จากเหตุการณ์ ๖ ตุลา
หลังจากนั้นเมื่อทำงานอะไรก็ตามก็จะพยายามเตือนคนไม่ให้โกรธเกลียด พยายามชวนให้คนกลับมาสู่การมีสติคืนดีกัน
พิธีกร แล้วหลังจากนั้นผ่านไปนานไหมคะ กว่าที่จะมาเข้าสู่เส้นทางธรรม
พระไพศาล เหตุการณ์ ๑๖ ตุลาผ่านไปได้ ๗ ปี ปี ๒๖ อาตมาก็บวช ช่วง ๗ ปีก่อนหน้านั้นอาตมาก็ไม่ได้เรียนหนังสืออย่างเดียว แต่ทำงานให้กับกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม ก็มีการรณรงค์ให้มีการนิรโทษกรรมนักโทษ ๖ ตุลา รณรงค์เพื่อคัดค้านการใช้อำนาจละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะตอนนั้นบ้านเมืองเป็นเผด็จการหรือกึ่งเผด็จการ ทำงานอย่างนี้และงานอื่น ๆ อีกตลอด ๗ ปี จนกระทั่งสถานการณ์บ้านเมืองคลี่คลาย มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ก็คิดว่าน่าบวชได้แล้ว อีกอย่างก็เครียดจากการทำงาน ก็เลยบวชปี ๒๖
พิธีกร ตอนนั้นตั้งใจว่าจะบวชนานแค่ไหน ได้คิดไว้ไหมคะ
พระไพศาล ตั้งใจบวชแค่ ๓ เดือน อยากจะทำสมาธิเพื่อให้ใจสงบ ก็อย่างที่บอกแล้วว่าเครียดมาก ก็ไม่อยากทิ้งงานให้เพื่อนทำเพราะว่าเพื่อนมีงานล้นมือกันทั้งนั้น แต่ว่าปฏิบัติแล้วก็รู้สึกว่าเสียดาย ถ้าเราสึกไปเพราะว่าเริ่มจะได้ผลจากการปฏิบัติ ก็เลยขอเพื่อนบวชต่ออีก ๓เดือนจนเข้าพรรษาเลย
พิธีกร ตอนนั้นพระคุณเจ้าบวชที่ไหนคะ
พระไพศาล อาตมาบวชที่วัดทองนพคุณ แต่ไปปฏิบัติที่วัดสนามใน เมืองนนท์สายหลวงพ่อเทียน จิตตฺสุโภ แล้วพอเข้าพรรษาก็ไปอยู่กับหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ ที่วัดป่าสุคะโต ที่ชัยภูมิ แล้วก็อยู่ที่นั่นมาตลอด แต่ตอนนี้อยู่ที่วัดป่ามหาวันอยู่ใกล้ๆ กัน อาตมาเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต แต่มาอยู่วัดป่ามหาวัน
พิธีกร จากวันนั้นพระคุณเจ้าก็เข้าสู่เส้นทางธรรมมาโดยตลอด จากเพียงแค่คิดว่าจะบวชเพียง ๓ เดือนเท่านั้นเอง แล้วตอนที่เข้าไปบวชเรียน ตอนนั้นรู้สึกว่ามันแตกต่างกับชีวิตฆราวาสอย่างไรบ้างคะ
พระไพศาล คือไม่เชิงบวชเรียน เป็นการบวชปฏิบัติมากกว่า เรื่องปริยัติก็ไม่ค่อยได้เรียนเท่าไรแต่พอมีพื้นมาบ้าง สิ่งที่ได้คือมีชีวิตที่สมดุลมากขึ้น ตอนเป็นฆราวาสอาตมาแทบจะไม่มีชีวิตส่วนตัวเลย ก็มีแต่เรื่องงานการ ชีวิตไม่สมดุลหลายด้าน คือไม่สมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวกับชีวิตส่วนรวม ไม่สมดุลระหว่างเรื่องกายกับเรื่องใจ ไม่สมดุลระหว่างเรื่องงานภายนอกกับงานภายใน แต่ว่าพอมาบวชพระแล้วทำให้ชีวิตมีความสมดุลมากขึ้น กินนอนเป็นเวลา มีเวลาหันมาปฏิบัติธรรมทำงานภายใน ส่วนกิจกรรมภายนอกก็ไม่ทิ้ง ยังทำอยู่ แต่มันมีความสมดุลกัน
อาตมาคิดว่าถ้าชีวิตไม่สมดุลแล้วจะหาความสุขได้ยาก อาจจะเครียด หรือไม่สุขภาพก็ย่ำแย่ เป็นกันมากกับคนที่ทำงานเอ็นจีโอ นักธุรกิจ นักการเมืองก็มีปัญหาเรื่องนี้ เพราะชีวิตไม่สมดุล
พิธีกร ก็ได้เห็นถึงความสมดุลของการใช้ชีวิตมากขึ้น หลายคนอาจจะไม่ค่อยได้ทราบถึงครอบครัวของพระคุณเจ้าเท่าไรนะคะ จากเส้นทางความเป็นมาถึงช่วงที่ เริ่มเข้ามาตัดสินใจบวชและปฏิบัติธรรม ทางครอบครัวมีส่วนช่วยสนับสนุน หรือว่ามีความเป็นห่วงในเส้นทางชีวิตของพระคุณเจ้าอย่างไร
พระไพศาล ทางครอบครัวเขาอยากให้อาตมาบวชนะ แต่ไม่คิดว่าจะบวชนาน โยมพ่อโยมแม่อยากให้อาตมาห่างไกลจากแวดวงที่อาตมาทำอยู่คือแวดวงเอ็นจีโอ แต่ตอนนั้นคำว่า เอ็นจีโอยังไม่มี พูดตรง ๆ คืออยากจะให้อาตมาอยู่ในแวดวงที่ไกลคุกไกลตารางเสียหน่อย
ตอนนั้นสิ่งที่เราทำมันก็เป็นการสวนกระแสกับนโยบายรัฐบาลซึ่งเป็นเผด็จการในเวลานั้น แต่ทางบ้านก็ไม่คิดว่าอาตมาจะบวชนาน แต่ก็เกรงว่าถ้าบวชนานแล้ว ตอนเราแก่ใครจะดูแล หรือว่าบวชไปสักสิบปีแล้วสึกมา จะทำมาหากินทันเขาไหม ทางบ้านเขาก็กังวลอย่างนี้ อาตมาก็ไม่คิดจะบวชไปตลอดชีวิตนะ แต่คิดว่าบวชไปเรื่อยๆ ถ้าเบื่อเมื่อไหร่ก็สึกมา ไม่ได้คิดว่าสึกมาแล้วจะทำมาหากินทันเขาไหม อันนี้ไม่เคยอยู่ในความคิด
พิธีกร ค่ะ แต่ที่สุดก็ถึงจุดหนึ่งที่พระคุณเจ้าเองก็สนใจบวชมาจนถึงทุกวันนี้เลยผ่านมาเป็นเวลา โอ้โห..น่าจะสามสิบปีขึ้นได้แล้วนะคะพระคุณเจ้าคะ
พระไพศาล ประมาณ ๒๗ ปีนะ ๒๗ ปี
พิธีกร เกือบๆ ๓๐ ปี ๒๗ ปีแล้ว ค่ะ ก็ในระหว่างที่พระคุณเจ้าเองบวชด้วย ศึกษาธรรมปฏิบัติธรรมไปด้วยนี่นะคะ กิจกรรมรณรงค์ที่ทำควบคู่ไปกับทางพระพุทธศาสนามีอะไรบ้างคะ
พระไพศาล พอมาบวชแล้ว งานเขียนก็จะมากขึ้น เพราะว่าพอเป็นพระ คนเขาก็คาดหวังว่าอาตมามีเวลาว่างมากขึ้น เขาก็ขอร้องให้เขียนโน่นเขียนนี่ อาตมามีเวลาเขียนมากขึ้นกว่าตอนเป็นฆราวาสก็จริง แต่ว่ากิจกรรมอย่างอื่นก็ยังอยู่นะ เช่น งานรักษาป่า อนุรักษ์ป่า เพราะวัดที่อาตมาดูแลอยู่ เป็นวัดป่า มีการอนุรักษ์ป่า และก็เลยขยายไปอนุรักษ์ป่าในที่อื่นๆ ด้วย ในช่วงสิบปีแรก อาตมาทำเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเยอะมาก ไม่ใช่เฉพาะที่วัด แต่ว่าที่อื่นๆ ด้วย มีการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ทำมากอีกอย่างก็คือรณรงค์ด้านสันติวิธี เพราะว่าอาตมาทำงานด้านสันติวิธีมาตั้งแต่ก่อนบวช และก็ยังทำมาอยู่เรื่อยๆ คือทั้งขีดทั้งเขียนทั้งแปล และก็ไปอบรม อันนี้รวมถึงการแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ก็ทำมาโดยตลอด และตอนหลังก็มาทำงานด้านเกี่ยวกับพุทธศาสนามากขึ้น เช่นเรื่องการปฏิบัติธรรม และก็ช่วง ๗ – ๘ ปีมานี่ก็มาเน้นเรื่องเผชิญความตายอย่างสงบ
พิธีกร ค่ะ เราก็จะได้เห็นบทบาทพระคุณเจ้าเยอะมากที่จะพยายามสร้างกิจกรรมเตือนสติให้คนหันมาใช้สันติวิธีนะคะ ทีนี้ส่วนที่เราได้เห็นชัดเจนหน่อยก็คืองานเขียนออกมาน่าจะเป็นร้อยผลงานน่าจะได้ไหมคะพระคุณเจ้าคะ
พระไพศาล ถ้าเป็นงานเขียนก็ ๑๐๔ เล่ม ถ้าเป็นงานเขียนร่วม งานแปล งานแปลร่วม งานบรรณาธิกรณ์ ก็สามสิบกว่าเล่ม
พิธีกร ค่ะ ส่วนใหญ่จะเป็นงานแนวเกี่ยวกับเรื่องการสร้างสันติวิธีด้วยไหมคะ
พระไพศาล ระยะหลังเป็นงานด้านธรรมะเสียเยอะ ไม่ว่าจะเป็นงานพูด งานบรรยายหรืองานเขียนนี่ก็จะเกี่ยวกับธรรมะซะเยอะ งานเกี่ยวกับสันติวิธีอาตมาคิดว่ามีประมาณสิบกว่าเล่มที่เป็นงานเขียนงานแปล แต่ว่ากว่าครึ่งของงานทั้งหมดเป็นงานที่เกี่ยวกับธรรมะ โดยเฉพาะในช่วง ๖ – ๗ ปีหลังจะมีงานธรรมะมาก
พิธีกร หลักการในการสร้างงานเขียนแต่ละชิ้นงาน พระคุณเจ้ามีทัศนะในการทำงานอย่างไรบ้างคะ
พระไพศาล อย่างแรกคือมีความอยากจะเขียน เป็นความรู้สึกที่คนสมัยนี้เรียกว่าไฟ คืออยากเขียนให้คนอื่นได้รับรู้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ถึงขั้นนั้นแล้ว สมัยก่อนโดยเฉพาะตอนเป็นวัยรุ่นมันเป็นไฟที่อยากเขียนจริงๆ
พิธีกร คือเหมือนมีแรงบันดาลใจ
พระไพศาล ใช่ แต่ตอนหลังนี่มันอ่อนลง มันกลายเป็นฉันทะ คือความรักที่จะเขียนหรือสุขที่ได้เขียน ใครจะอ่านกี่มากน้อยไม่สำคัญเท่ากับที่ได้เขียน นอกจากความอยากเขียนแล้ว อาตมาคิดว่าการอ่านมากก็สำคัญมาก ถ้าเราอ่านมาก เราก็จะถ่ายทอดออกมาได้ชัดเจน การที่จะเอาความคิดมาเป็นความอ่านหรือความเรียงนี่มันต้องคิดให้ชัด พอคิดชัดแล้ว เวลาจะถ่ายทอดมาเราต้องมีทักษะ ว่าจะถ่ายทอดด้วยถ้อยคำอย่างไร ตรงนี้ต้องอาศัยประสบการณ์จากการอ่านการเขียนบ่อยๆ ฉะนั้นถ้าใครอยากเป็นนักเขียนก็ต้องมีฉันทะในการศึกษาค้นคว้าและมีความอดทนในการเขียนด้วย อาตมาเองยอมรับว่าการเขียนนี่เป็นงานที่เหนื่อยนะ เพราะว่าเป็นคนที่ไม่ใช่เป็นนักเขียนโดยสัญชาตญานเพราะฉะนั้นการเขียนแต่ละประโยคจึงต้องคิดแล้วคิดอีก และขีดฆ่าบ่อยๆ
พิธีกร ค่ะ แต่ละครั้งที่ผลิตงานเขียนออกมาหรือสร้างสรรค์ผลงานออกมาสักชิ้นหนึ่ง มีความคาดหวังไหมคะว่าผู้อ่านอ่านแล้วจะได้อะไร และมีเสียงตอบรับกลับมาถึงเราแตกต่างจากที่วางเป้าหมายไว้บ้างไหมคะ
พระไพศาล ระยะหลังการคิดถึงผู้อ่านมีน้อยลง คืออาตมาเขียนเพียงเพราะอยากจะสื่อสารอะไรออกมา และอาตมาก็รู้ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เขียนไปจะมีคนอ่านกี่มากน้อย เพราะหนังสือธรรมะคนอ่านก็มีวงจำกัดอยู่แล้ว
พิธีกร อาจจะไม่ใช่แนวตลาดอยู่แล้ว
พระไพศาล ใช่ ถามว่าคนซื้อหนังสือธรรมะมีเยอะไหม มีเยอะ แต่ว่าอ่านหรือเปล่านี่ไม่ทราบ คือซื้อไว้แต่ไม่อ่านนี่ก็เยอะ หรือซื้อไว้แจกนี่ก็เยอะ อาตมาก็คิดแต่เพียงว่าจะถ่ายทอดสิ่งที่เราคิดหรือประสบการณ์ออกมาให้ชัดเจน และก็หวังว่าอาจจะมีใครสักคน สองสามคนที่โดนใจเขา และเขาก็อาจจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาได้มีกำลังใจที่จะทำความดีมากขึ้น
พิธีกร ค่ะ แค่นั้นก็คุ้มค่าแล้ว
พระไพศาล คืออาตมาไม่ถนัดเทศน์ เพราะฉะนั้นก็คิดว่าเปลี่ยนจากการเทศน์มาเป็นการเขียนก็เป็นการทำหน้าที่ของพระได้
พิธีกร อย่างผลงานล่าสุดของพระคุณเจ้ารวมถึงงานที่กำลังผลิตออกมา หลังจากนี้จะเป็นแนวไหนคะ
พระไพศาล ยังเป็นแนวคำบรรยาย ตอนนี้ก็ยังมีอยู่หลายเล่มที่อาตมายังไม่มีเวลาเกลาเลย มีหลายแห่งหลายที่ขอพิมพ์คำบรรยายเป็นเล่ม นอกนั้นก็เป็นรวมบทความ อาตมาก็เขียนบทความเดือนละ ๔- ๕ ชิ้นเป็นประจำ เพราะฉะนั้นปีหนึ่งก็รวมเล่มได้ ๒-๓ เล่ม ตอนหลังที่เริ่มมีคือสัมภาษณ์ อาตมาไม่ค่อยมีเวลาเขียนเขาก็มาขอสัมภาษณ์ แล้วก็ไปเรียบเรียง
พิธีกร เพราะฉะนั้นก็ยังมีผลงานออกมาอีกหลากหลายรูปแบบอีกแล้ว ขออนุญาตถามถึงเรื่องสถานการณ์บ้านเมือง คือในแง่ทางโลกเราเห็นบทบาทของพระคุณเจ้าที่มีการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันที่จะสร้างแนวทางสันติวิธี ปัจจุบันนี้เราพูดกันเยอะมากว่า คนไทยมีความต่างทางความคิดเยอะ และการแสดงออกมักจะมาในแง่มุมรุนแรงอย่างที่เราเห็นอยู่จากการเมืองปัจจุบัน พระคุณเจ้ามีข้อเสนอหรือมีแนวคิดหลักการอย่างไรในการแก้ไขปัญหาให้ประเทศชาติตอนนี้
พระไพศาล อาตมาไม่ค่อยสนใจเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง ไม่ว่าจะซ้ายจะขวา จะเหลืองจะแดง แต่สิ่งที่อาตมาสนใจคือว่าขอให้เราปฏิบัติต่อกันฉันเพื่อนมนุษย์ไม่ว่าเราจะมีอุดมการณ์อย่างไรก็ตาม ขอให้เราเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน แต่สิ่งที่ทำให้เราเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกันไม่ได้คือความโกรธความเกลียดความกลัว ๓ ก. เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เราเห็นกันและกันเป็นศัตรู จนถึงขั้นทำลายล้างกันได้ นี่คือบทเรียนที่อาตมาได้รับจากเหตุการณ์ ๖ ตุลา และอาจจะเกิดอีกหลายครั้ง สิ่งที่อาตมาพยายามทำคือเชิญชวนให้คนมีสติ และให้รู้เท่าทันความโกรธความเกลียดในใจตน พยายามมองผู้อื่นอย่างเป็นมนุษย์
อีกสิ่งหนึ่งที่พยายามทำคือช่วยให้คนมีขันติธรรม มีความอดทนสูงต่อความเห็นที่แตกต่าง แต่ว่าจะไม่ต้องอดทนต่อถ้อยคำที่ดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือว่าข่มขู่คุกคาม ไม่อดทนนี่เรียกว่า zero tolerance แต่ไม่ใช่ว่าไม่เห็นด้วยแล้วไปโกรธเกลียดเขา จะต้องมีสติมั่นคงพอที่จะไม่ลุแก่โทสะจนเป็นเหยื่อของการยั่วยุ ในช่วง ๕๐ กว่าวันที่ผ่านมาก็พยายามทำอย่างนี้ พยายามเตือนสติของผู้คนทั้งสองฝ่ายเท่าที่จะทำได้
พิธีกร คืออย่างน้อยที่สุดเราอย่าให้เกิดความโกรธความเกลียดความกลัว ใช้สติเข้ามาระงับ แล้วให้มองทุกคนปฏิบัติต่อกันเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างใช้ความรุนแรง สุดท้ายอยากให้พระคุณเจ้าฝากถึงหลักในการใช้ชีวิตของคนไทยในปัจจุบันคะ
พระไพศาล เราต้องรู้จักเข้าถึงความสงบในจิตใจของตน ทุกวันนี้เรารู้จักแต่ความสงบเย็นภายนอก แต่ว่าความสงบเย็นภายในนี่ห่างไกลเพราะว่าเราขาดสติ ไม่มีสมาธิ พูดง่ายๆ คือไม่รู้จักตัวเองดีพอ ไม่ใช่แค่ไม่รู้จักอย่างเดียว แต่ว่าโกรธเกลียดตัวเองด้วย เลยทนอยู่กับตัวเองไม่ได้ เกิดความแปลกแยกกับตัวเอง อยู่กับตัวเองไม่ได้ ต้องทำนู่นทำนี่ ต้องหยิบโทรศัพท์มาพูด ต้องดูหนังสือ หรือว่าไปเที่ยวห้าง อันนี้เป็นอาการที่เกิดจากการทนอยู่กับตัวเองไม่ได้ เพราะแปลกแยกกับตัวเอง แต่เมื่อไรก็ตามที่เราเป็นมิตรกับตัวเองได้ อยู่กับตัวเองได้ ก็จะมีความสุข แล้วจะพบว่าลาภ ยศ สรรเสริญมันเป็นรอง ไม่สำคัญเท่ากับความสุขภายใน
ทีนี้เมื่อเรามีความสุขแล้ว เราก็จะมองคนอื่นอย่างเป็นมิตรมากขึ้น อยากจะทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น ความสุขที่เกิดจากการเอาหรือการครอบครองก็จะมีความสำคัญน้อยลง เกิดความสุขจากการให้ ความสุขจากการทำดี มีเมตตาอย่างที่ท่านอาจารย์พุทธทาสพูดว่า มีชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์ ถ้าทำสองอย่างนี้ได้คือสงบเย็นและเป็นประโยชน์ ชีวิตนี้ก็คุ้มค่ากับการเกิดมาแล้ว และจะเป็นชีวิตที่มีค่าต่อโลกด้วย ต่อสังคม อันนี้ก็อยากจะฝากเอาไว้
จาก
http://visalo.org/columnInterview/FM101.htm