ผู้เขียน หัวข้อ: สู่สังคมแห่งความสุข : พระไพศาล วิสาโล  (อ่าน 1179 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานไตรสรณะสุจิปุลิ
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด




สู่สังคมแห่งความสุข พระไพศาล วิสาโล

 คงปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมไทยในปัจจุบันเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย ที่เกิดจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป วิธีคิดและการดำเนินชีวิตที่รีบร้อน แก่งแย่งชิงดีชิงเด่น จนทำให้ก่อเกิดปัญหานานัปการแก่คนในสังคม เพื่อเป็นการส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ ‘ออล แม็กกาซีน’ จึงได้กราบนมัสการพระไพศาล วิสาโลพระนักคิด นักเขียน นักปฏิบัติ แห่งวัดป่าสุคะโตจังหวัดชัยภูมิ มาสนทนาธรรมเกี่ยวกับหลักการใช้ชีวิตด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางให้คนในสังคมเดินไปสู่สังคมแห่งความสุขร่วมกัน

all :  อยากทราบมุมมองของพระอาจารย์ที่มีต่อสังคมไทยในปัจจุบัน

พระไพศาล : สังคมเราเปลี่ยนแปลงโดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ในแง่หนึ่งก็ทำให้ชีวิตสะดวกสบาย แต่อีกแง่หนึ่งก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านวิถีชีวิต และโยงมาถึงทัศนคติและความสัมพันธ์ของผู้คน ในส่วนที่เป็นความสะดวกสบาย ก็เป็นที่รู้กันอยู่ว่า คนสมัยนี้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ ความทุกข์ไม่ได้ลดลงนะ ความทุกข์กายอาจจะน้อยลง แต่ความทุกข์ใจเพิ่มมากขึ้น ตราบใดที่มีแล้วไม่พอใจในสิ่งที่มี อยากจะได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ก็คงยังทุกข์อยู่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราเอาความสุขไปผูกติดกับวัตถุ ถ้าเอาความสุขไปผูกติดตรงนั้น มีเท่าไหร่ก็ไม่พอ แรก ๆ ที่ได้มาก็อาจจะมีความสุข แต่สักพักก็จะเบื่อ อยากได้ของใหม่มาแทนที่

all :  หมายความว่า ถึงจะมีวัตถุมากมาย แต่ถ้าไม่มีความพอ ยังไงก็ทุกข์อยู่ดี

พระไพศาล :  คนสมัยนี้มีข้าวของเยอะแยะ มีเสื้อผ้าหลายตัว รองเท้าหลายคู่ มีรถหลายคัน แต่ก็อยากได้เพิ่มอีกเรื่อย ๆ เพราะเขารู้สึกว่าของที่มีอยู่ยังไม่พอ ความสุขแบบนี้มันไม่จีรังยั่งยืน ถึงแม้จะมีเงิน มีสิ่งของมากมาย แต่ถ้าสิ่งเหล่านั้นสูญหาย ถูกขโมย หรือหมดไป ก็จะเกิดความทุกข์ ความสุขของคนสมัยนี้ ไม่ได้มาจาก ‘การมี’ แต่มาจาก ‘การได้’ ถึงคุณจะมีเงินร้อยล้าน พันล้าน แต่ถ้าคุณไม่ได้อะไรกลับมาเลย คุณก็จะเป็นทุกข์ แม้ว่าคุณจะมีของเยอะแยะ แต่คุณก็ไม่มีความสุขจนกว่าจะได้ของใหม่ พอได้มาแล้ว ของนั้นก็กลายเป็นสิ่งที่เรามีแล้ว ก็ไปอยากได้อีกอย่างอีกแล้ว ปัญหานี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากค่านิยมแบบบริโภคนิยม ที่ทำให้เกิดการเปรียบเทียบซึ่งกันและกัน คนสมัยนี้ไม่ได้ต้องการแค่รวยนะ แต่ต้องการรวยกว่า เช่น ถ้าคุณมีรถ 10 คัน แต่เพื่อนบ้านมี 12 คัน แค่นี้คุณก็ทุกข์แล้ว

all :  ในความเห็นของพระอาจารย์ ความทุกข์ของคนไทยมีสาเหตุมาจากอะไร

พระไพศาล :  ประเด็นนี้ท่านพุทธทาสก็เคยสรุปไว้ว่า ผู้คนสมัยนี้พุ่งไปที่ ‘กิน - กาม – เกียรติ’ อธิบายง่าย ๆ กิน คือ การเสพ การบริโภค กาม ก็รวมถึงเรื่องเซ็กซ์ การตอบสนองปรนเปรอด้านวัตถุ การดูหนัง ฟังเพลงนี่ก็กามนะ เกียรติ คือเกียรติยศ ตั้งแต่สถานภาพ ตำแหน่ง ชื่อเสียง หรือแม้กระทั่งสมณศักดิ์ ก็เรียกว่าเกียรติ ซึ่งของพวกนี้ไม่จีรัง ทั้งสามตัวนี้ จะมาด้วยกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากบริโภคนิยม สมัยนี้หลายคนอยากได้ปริญญาเอก แต่อยากได้แบบไม่ต้องเหนื่อย เลยไปจ้างคนทำปริญญาเอกให้ ขนาดพระสงฆ์ยังอยากได้เลย ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของบริโภคนิยม นอกจาก 3 ตัวที่บอกไปแล้ว ยังมีเพิ่มเข้ามาอีกคือ ‘โกรธ - เกลียด – กลัว’ ที่ตอนนี้เป็นกันทั่วประเทศและทั้งโลก ทะเลาะกันในครอบครัว ในที่ทำงาน แม้กระทั่งในหมู่เพื่อนฝูง เพราะเรื่องการเมือง เรื่องความเห็นที่แตกต่างกัน เดี๋ยวนี้แม้กระทั่งการเลี้ยงรุ่นก็จัดกันลำบากแล้ว เพื่อนที่คบกันมานานก็ไม่อยากมาเจอกัน เพราะความเห็นต่างทางการเมือง พ่อแม่ลูกทะเลาะกัน บางคนก็ขอให้ลูกเปลี่ยนนามสกุล เป็นข่าวใหญ่โต อาตมาคิดว่าสิ่งเหล่านี้ ทำให้คนไม่มีความสุข

all :   การที่สมัยนี้เราติดต่อกันง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ใส่ร้ายป้ายสีกันง่ายขึ้น ทำให้เกิดความแตกแยกมากขึ้นด้วยไหม

พระไพศาล :   เรามีสิ่งอำนวยความสะดวก มีสื่อมวลชนคอยให้ข้อมูลข่าวสารเยอะแยะ แต่แทนที่จะทำให้คนรักกัน เข้าใจกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นพลโลกเดียวกัน (we are the world) แต่เปล่าเลย กลับทะเลาะกัน เหมือนว่าเราอยู่กันเป็นเผ่า เผ่าเสื้อเหลือง เผ่าเสื้อแดง สื่อสมัยนี้เปิดโอกาสให้คนทำร้ายกันได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องใช้ปืน ไม่ต้องใช้อาวุธ เราทำร้ายกันผ่านเฟซบุ๊ก ด้วยการเขียนด่า บางคนฆ่าตัวตายเพราะถูกด่า ถูกคอมเม้นต์ ถูกประจาน บางคนแค่ถูกอันเฟรนด์ ก็ฆ่าตัวตายแล้ว เพราะคิดว่าตัวเองเป็นหมาหัวเน่า เพื่อน ๆ ถึงพร้อมใจกันอันเฟรนด์ คนสมัยนี้เปราะบางมาก บางคนแค่ไม่มีใครกดไลค์ก็เสียใจ เสียความมั่นใจ ถ้ายิ่งมีคอมเม้นต์ด้านลบยิ่งไปกันใหญ่ แทนที่เทคโนโลยีจะทำให้คนเข้าใจกัน กลับเปิดโอกาสให้คนทำร้ายกันได้ง่ายขึ้น

all :   เป็นเพราะการเลี้ยงดูของผู้ปกครองด้วยหรือเปล่า

พระไพศาล :  ก็มีส่วน แต่การใช้ชีวิตของเด็กสมัยใหม่ก็มีผลด้วย เด็กสมัยก่อน เราเล่นลูกหิน ลูกแก้ว เป่ากบ มันทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจกัน เวลาจะตัดเพื่อนมันเลยตัดยาก สมัยนั้นไม่มีใครกล้าตัดเพื่อนกันหรอก แต่สมัยนี้แค่กดอันเฟรนด์ก็เลิกเป็นเพื่อนกันแล้ว ไม่ต้องใช้ความกล้า ไม่ต้องเผชิญหน้า ไม่ต้องมาบอกว่า “ฉันจะไม่คบเธอแล้วนะ” แค่กดปุ่มก็ตัดเพื่อนได้แล้ว กิจกรรมของเด็กสมัยก่อนจะการเล่นกันเป็นกลุ่ม แต่สมัยนี้ต่างคนต่างอยู่ เล่นสมาร์ทโฟน เล่นเกมคอมพิวเตอร์ จึงไม่เกิดความรู้สึกถึงความผูกพัน และไม่มีความฉลาดทางอารมณ์และสังคม หรือที่ฝรั่งเรียกว่า social intelligence ไม่รู้จักความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เอาใจเขามาใส่ใจเรา เพราะเขาอยู่กับคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน โทรทัศน์ เครื่องจักร ฯลฯ จึงไม่มีความรู้สึกใส่ใจหรือเกื้อกูลกัน แล้วก็ไม่ใช่เป็นกับเด็กอย่างเดียวแล้วนะ แต่เป็นกันทั้งบ้านเลย เมื่อก่อนบ้านหนึ่งมีโทรทัศน์เครื่องเดียว ก็ดูกันทั้งบ้าน ดูกันไป คุยกันไป แต่ตอนนี้มีโทรทัศน์กันคนละเครื่อง แยกกันดูคนละห้อง สมัยก่อน เคยนั่งฟังเพลงด้วยกัน ตอนนี้มีหูฟัง ฟังคนเดียว กลายเป็น atomization คือแยกกันเป็นอะตอม สิ่งเหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นกับคนคนเดียวนะ แต่มันเกิดขึ้นกับทุกคนในครอบครัว เกิดขึ้นกับคนทั้งสังคม

all :  ระบบการศึกษามีส่วนทำให้เด็กในปัจจุบันมีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

พระไพศาล :  มีมากเลย ทั้งเรื่องความรู้ เรื่องเนื้อหา แล้วก็เรื่องคุณธรรมที่น้อยลง สิ่งสำคัญคือครู ซึ่งปกติแล้วต้องเป็นแบบอย่างให้กับนักเรียน แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไป เด็กไม่สามารถยึดครูเป็นแบบอย่างได้ เพราะครูไม่มีเวลาให้กับเด็ก ในสมัยก่อนครูจะมีเวลาให้กับเด็กมากกว่านี้ ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน แต่เดี๋ยวนี้ ครูไม่มีเวลา ต้องทำวิจัย ทำเอกสารขอเลื่อนตำแหน่ง ฯลฯ นี่คือเรื่องของการเรียนการสอน ส่วนเรื่องเนื้อหา เนื้อหาที่เด็กเรียนในปัจจุบัน ไม่ได้ทำให้เด็กใคร่ครวญเรื่องชีวิต เรื่องตัวเอง เด็กเรียนแต่สิ่งไกลตัว แถมยังไม่ได้รับการกระตุ้นให้เกิดการรู้จักคิดด้วยตัวเอง ระบบท่องจำในเมืองไทยทำให้เด็กไม่รู้จักคิดด้วยตัวเอง สิ่งที่เป็นปัญหาของการศึกษาไทย คือ อ่อนความรู้ และอ่อนคุณธรรม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน เช่น การทุจริตในห้องสอบ การไม่มีความเพียรในวิชาที่ตัวเองเรียน คิดแต่ว่าทำอย่างไรฉันจึงจะประสบความสำเร็จมาก ๆ โดยไม่ต้องเหนื่อย ทำให้เด็กไม่มีฉันทะในการเรียน ไม่ได้รับการปลูกฝังเรื่องคุณธรรม และความสัมพันธ์ต่อกันก็อ่อน สุดท้ายเด็กก็ไม่รู้ตัวเองเป็นใคร ไม่เข้าใจตัวเอง เด็กหลายคนเรียนจน ม.6 แล้ว ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร อยากเป็นอะไร ไปเรียนมหาวิทยาลัย ก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงมาเรียน เรียนจบแล้วก็ยังไม่รู้ว่าอยากทำงานอะไร สุดท้ายก็ต้องกลับไปเรียนปริญญาโท เพราะไม่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร อาตมาว่าเด็กไทยสมัยนี้น่าสงสาร

all :  จากปัญหาที่คุยกันมา พระอาจารย์มีแนวทางในการแก้ไขอย่างไร

พระไพศาล : อย่างที่พูดกันคือเมืองไทยต้องยกเครื่องกันหลายเรื่องทีเดียว ต้องปฏิรูปเรื่องการศึกษา เรื่องการเลี้ยงดู รวมไปถึงเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ปัจจัยที่คนไทยตกเป็นเครื่องมือของ ‘กิน - กาม – เกียรติ’ หรือ ‘โกรธ - เกลียด – กลัว’ เป็นเพราะเกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ปัญหาการเมืองที่ยังไม่เสถียรภาพ หรือว่าการศึกษาที่ไม่ได้ทำให้คนเข้าใจตัวเอง หรือเข้าใจความเป็นมนุษย์ รวมทั้งการเลี้ยงดูในครอบครัว อาตมาคิดว่าต้องแก้กันเยอะ ต้องปฏิรูปกันทุกระดับ



all :  พระอาจารย์คิดว่า ปัญหาที่ควรจะแก้ที่สุดคือปัญหาอะไร

พระไพศาล :  ปัญหาพื้นฐานคือเรื่องจริยธรรม และอาจจะรวมถึงค่านิยมของผู้คน ถ้ามองในแง่จริยธรรมของเมืองไทยก็ถือว่าถดถอยไปเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่เราพูดว่า เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ แต่ถ้าเราเอาศีล 5 มาจับ จะพบว่าเราผิดศีล 5 มาก ตั้งแต่การฆ่า อาชญากรรม ลักขโมย คอร์รัปชั่น ทุจริต ประพฤติผิดในกาม รวมไปถึงความสำส่อนทางเพศ ทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น เด็กท้องไม่มีพ่อ หรือแม่ต้องเอาลูกไปทิ้ง โยงไปถึงศีลข้อ 3 ได้หมดเลย ส่วนศีลข้อ 5 สุรายาเมา เมืองไทยก็ติดอันดับ อาตมาเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นปัญหาพื้นฐาน ถ้าไม่แก้เรื่องนี้ การพัฒนาประเทศให้เจริญ ก็เป็นไปได้ยาก ประเทศไทยจะพัฒนาได้อย่างไร ถ้าไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาคุณภาพสินค้า แต่กลับใช้เวลาไปกับการวิ่งเต้น ให้สินบน หรือยัดเงินเพื่อให้ขายของได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ จะไปแข่งกับประเทศอื่นได้อย่างไร พอพัฒนาสินค้าต่อไม่ได้ ก็ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยชะงักงัน เพราะการคอร์รัปชั่น จึงจะเห็นได้ว่าค่านิยมที่ไม่ดีนั้นสร้างปัญหาได้มากมาย จนมันแย่ไปทั้งระบบ

all :  แล้วจะมีวิธีแก้ปัญหาการทุจริตได้อย่างไร

พระไพศาล :  ก็ต้องแก้กันที่การเลี้ยงดูและระบบการศึกษา ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็คงเปลี่ยนนิสัยได้ยาก ต้องใช้กฎหมายบังคับ แต่ก็ต้องมีความซื่อสัตย์ในการตรากฎหมายและระบบความยุติธรรมด้วย เรื่องความทุจริต เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างรีบด่วน แต่ในระยะยาว ก็อยู่ที่การสร้างคน ทั้งจากการเลี้ยงดู ระบบการศึกษา ยกตัวอย่างที่สิงคโปร์ เมื่อก่อนคนสิงคโปร์ก็ใช้เส้นสายไม่ต่างจากคนจีนที่อื่น แต่สิงคโปร์เขาเริ่มต้นด้วยการสร้างกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดโดยเริ่มตั้งแต่ผู้นำ ลี กวนยู ทำให้ระบบราชการและรัฐบาลมีความซื่อสัตย์สุจริต แม้อาจจะไม่โปร่งใสทั้งหมด แต่ก็ถือว่ามีมากทีเดียว จากนั้นก็สร้างระบบการเมืองที่ดีและระบบราชการที่มีคุณภาพ เขาค่อย ๆ เริ่มปลูกฝังเด็ก ภายในเวลา 20 - 30 ปี จนทำให้คนสิงคโปร์มีประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่มีปัญหาคอร์รัปชั่น และความซื่อสัตย์สูงมาก

all :  จริง ๆ แล้ว คนไทยควรมีค่านิยมอย่างไรจึงจะลดปัญหาต่าง ๆ ได้

พระไพศาล :  ค่านิยมหมายถึง สิ่งที่เรายึดถือเป็นคุณค่า ซึ่งค่านิยมของเราในตอนนี้คือ การนิยมเอาวัตถุ เกียรติยศชื่อเสียงมาเป็นคุณค่า ส่งผลต่อจริยธรรมเป็นอย่างมาก เพราะถ้าให้คุณค่าไปที่วัตถุมาก ๆ คุณก็พร้อมที่จะโกง พร้อมที่จะคอร์รัปชั่น พร้อมที่จะฆ่าคนอื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินและสิ่งของ ทุกอย่างมันเริ่มต้นมาจากค่านิยม หรือในทางพุทธศาสนาเรียกว่า ‘ทิฐิ’ ถ้าคุณมีค่านิยมที่ถูกต้อง ก็จะนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง แต่ถ้าคุณมีค่านิยมที่ผิด ก็จะนำไปสู่การผิดศีลธรรมได้ง่าย และจะทำให้คุณมีความทุกข์ ถ้าเป็นคนญี่ปุ่น เขาสร้างฐานะมาด้วยความเพียรจนร่ำรวย เวลาเขาอวยพรลูกหลาน หรือลูกศิษย์ เขาจะพูดว่า “พยายามเข้านะ” แต่คนไทยชอบอวยพรว่า “ขอให้โชคดี” เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ แต่ชอบให้คนพึ่งพาโชค ในทางกลับกัน คนญี่ปุ่นที่พูดว่า “พยายามเข้านะ” กลับเป็นพุทธมากกว่า เพราะพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “บุคคลล่วงลุทุกข์ได้ด้วยความเพียร” พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความเพียร

all :  คำอวยพรของคนไทยแสดงให้เห็นถึงค่านิยมของคนไทยที่มักพึ่งพาโชคลาภด้วยใช่หรือไม่

พระไพศาล :  สำหรับคนไทย ถ้าอยากจะรวยก็ต้องพึ่งโชค ไม่ได้พึ่งความเพียร แบบคำว่า “รวยอย่างไร ไม่ให้เหนื่อย” เช่น ซื้อล็อตเตอรี่ เล่นการพนัน ต้องอาศัยโชคทั้งนั้นเลย หรือไม่ก็เช่าวัตถุมงคล อยากเรียนจบก็ไปหาเจ้าพ่อเอราวัณ ซึ่งคนฝรั่งเขาไม่เน้นเรื่องการขอ ถ้าอยากได้อะไร เขาจะทำของเขาเอง ค่านิยมของเขาคือ ถ้าอยากได้อะไร ต้องทำด้วยตัวเอง เขาจึงไม่รังเกียจแรงงาน เพราะเขาทำงานมาตั้งแต่เด็ก อย่างล้างจาน ส่งหนังสือพิมพ์ ตัดหญ้า พ่อแม่ฝรั่งบางคนให้ลูกทำงานบ้านแลกเงิน วิธีการสอนแบบนี้ทำให้เด็กได้รู้ว่า ไม่มีอะไรได้มาฟรี ๆ ต้องใช้ความเพียรของตัวเอง แต่เด็กไทยไม่มีความเข้าใจในเรื่องนี้ เด็กไทยคิดว่า อยากได้อะไรก็ขอ ถ้าขอไม่ได้ก็โกง

all :  ถ้าเป็นอย่างนี้ คนที่เป็นพ่อ เป็นแม่ควรทำอย่างไร

พระไพศาล :  สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ต้องมีเวลาให้กับลูก อย่าปรนเปรอลูกด้วยเงิน เขามีคำพูดว่า ประเทศไทยมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยเงินเยอะมากขึ้นเรื่อย ๆ พ่อแม่สมัยนี้เขาใช้เงินเป็นสิ่งทดแทนเวลาที่ไม่มีให้ลูก อาตมาคิดว่า พ่อแม่ควรจะทำงานหาเงินน้อยลง เล่นเฟซบุ๊กให้น้อยลง ช้อปปิ้งให้น้อยลง เพื่อให้มีเวลามากขึ้น บางทีไม่มีเวลา ไม่ใช่เพราะทำงานนะ แต่เอาเวลาไปทำอย่างอื่น อีกอย่างคือ ควรจะเป็นแบบอย่างให้กับลูก ให้เขารู้จักพึ่งตนเอง สอนให้รู้จักอดทนรอคอย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการประสบความสำเร็จ เคยมีการทดลอง เขาเอาเด็กอายุ 3 - 4 ขวบ ประมาณ 15 - 20 คนมาไว้ในห้อง มีขนมวางอยู่บนโต๊ะ ผู้ใหญ่บอกเด็กว่า “ถ้าอยากกิน ก็กินได้เลย 1 เม็ด แต่ถ้ารอ 15 นาที จะได้กิน 2 เม็ด เด็กทุกคนรู้ว่า 2 เม็ด ย่อมดีกว่า 1 เม็ด แต่พอผู้ใหญ่ออกไปจากห้อง เด็กส่วนใหญ่ทนไม่ได้ มักจะกินเลย เหลือเด็กแค่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่อดทนรอคอย เพื่อจะได้กิน 2 เม็ด พอตามชีวิตของเด็กเหล่านี้ไป จะพบว่าเด็กเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการเรียนตั้งแต่ประถมฯ มัธยมฯ จนถึงมหาวิทยาลัย และจะไม่ติดพวกเหล้า บุหรี่ ไม่อ้วน ไม่ติดอาหารจังค์ฟู้ด แถมพอเรียนจบไป ก็มักจะมีงานที่ดีทำ อีกประการหนึ่ง พ่อแม่ต้องทำให้เด็กมีภูมิต้านทานความทุกข์ โดยให้เจอความทุกข์ เจอความยากลำบากบ้าง ถ้าพ่อแม่ตามใจเด็กทุกเรื่อง ไม่เคยสอนให้รู้จักการรอคอย กลัวลูกลำบาก กลัวลูกเหนื่อย พ่อแม่นั่นแหละที่เป็นคนทำร้ายลูกเอง



all :  สังคมไทยทุกวันนี้ มีความแตกแยกสูงมาก จะทำอย่างไรให้สามารถอยู่ร่วมกันได้

พระไพศาล :  ต้องมีความใจกว้าง และอดทนต่อความคิดที่แตกต่าง ซึ่งคือคำว่า ‘ขันติ’ ในทางพุทธศาสนา อดทนต่ออารมณ์ของตัวเอง อดทนต่อสิ่งที่มากระทบ ต้องยอมรับให้ได้ว่า ความเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดา แม้กระทั่งตัวเราเองในวันนี้กับเมื่อวานก็สามารถเห็นต่างกันได้ จึงไม่ควรถือเป็นเรื่องใหญ่โต และความใจกว้างจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีสิ่งที่พระพุทธศาสนาเรียกว่า ‘สัจจานุรักษ์’ แปลว่า การคุ้มครองสัจจะ ไม่ไปผูกขาดฟันธงว่า ความเห็นของเรานั้นถูก สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมาเท่านั้นที่จริง คนอื่นที่เขาเห็นต่างจากเรา ที่ได้ยินได้ฟังต่างจากเรา อาจจะถูกก็ได้ ความเชื่อแบบนี้ ทำให้เราไม่ไปด่วนตัดสินคนที่คิดต่างจากเราว่า เขาโง่หรือว่าผิดพลาด ทำให้เราใจกว้างหยุดฟังเขา สิ่งนี้อาตมาคิดว่า สำคัญ และทำให้เราลดความยึดติดถือมั่นในความเห็นของตัว มันมีความยึดมั่นอย่างหนึ่งซึ่งเป็นต้นเหตุของทุกข์ เรียกว่า ‘ทิฏฐุปาทาน’ หรือความยึดมั่นในทิฐิ ว่าถูก ว่าดี เราต้องรู้เท่าทันความเห็นของเรา ต้องเท่าทันความยึดมั่นถือมั่นของเรา ถ้าเรายึดมั่นถือมั่นมากเกินไป ก็จะทนไม่ได้กับคนที่คิดต่างจากเรา อาตมามักจะแนะนำอยู่เสมอว่า ให้มองไกลเข้าไว้ มองไกลในแง่ที่ว่า คนที่ทะเลาะเบาะแว้งหรือขัดแย้งกันในวันนี้ แต่ก่อนก็เคยเป็นเพื่อนเรา เคยเป็นคนที่สนิทสนมกัน เคยเป็นคนที่มีพระคุณ ซึ่งคนเหล่านี้ ในวันข้างหน้าก็ยังอยู่กับเรา เป็นเพื่อนกับเราอีกนาน แล้วเราจะไปทะเลาะกับเขาทำไม เป็นศัตรูกันทำไม อย่าไปยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้เท่านั้น ให้มองไปถึงวันข้างหน้าด้วย

all :  คนสมัยนี้ไม่ค่อยคิดถึงความเป็น ‘ผู้ให้’ อย่างในสมัยก่อน ควรปรับวิธีคิดอย่างไร

พระไพศาล  :  คนไทยถูกปลูกฝังเรื่องการให้ทานมาตั้งแต่เด็ก เมื่อเด็กเห็นปู่ย่าตายายใส่บาตร เขาก็เรียนรู้ว่าการให้ทานเป็นสิ่งจำเป็น เป็นคุณธรรมสำหรับชีวิต เริ่มต้นจากการให้ทาน แล้วก็เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยโรงเรียนควรจะฝึกเรื่องแบบนี้ เช่น ให้ช่วยกันทำความสะอาด ยิ่งช่วยกัน ยิ่งเสร็จเร็ว และได้กลับบ้านเร็ว แต่ถ้ากินแรงเพื่อน ก็จะทำให้งานเสร็จช้า หรือไม่ก็ฝึกให้เด็กไปเป็นจิตอาสา ไปช่วยเหลือคนยากคนจนที่อยู่ในชุมชนรอบโรงเรียน เพื่อทำให้เด็กได้รู้จัก ‘การให้’ ตอนแรกก็อาจจะเริ่มด้วยการให้วัตถุ แล้วค่อยสละแรงกาย เด็กก็จะมีความสุขกับการให้ทาน แม้เงินในกระเป๋าสตางค์จะลดลง แต่มันคือความสุข คนสมัยก่อนได้รับการปลูกฝังเรื่องน้ำใจ และไม่หวงแหน เขาให้เท่าที่เขามี ถึงแม้ว่าเขาจะจน แต่ก็จะแบ่งปันกัน แต่สมัยนี้ เขาคิดว่า ไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือกัน ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยกันก็ได้ ถ้ามีเงิน อยากได้อะไรก็หาซื้อเองได้ อยากสร้างบ้าน อยากตัดหญ้า อยากเกี่ยวข้าว ก็จ้างคนมา ไม่ต้องไปไหว้วานข้างบ้านอีกต่อไป สังคมทุนนิยม ทำให้เราคิดว่า ไม่ต้องพึ่งใครก็ได้ ไม่ต้องพึ่งจมูกใครหายใจ พึ่งเงินอย่างเดียว นี่คือวิถีชีวิตของคนสมัยนี้ ที่เรียกว่า ต่างคนต่างอยู่ ความสำคัญเรื่องบุญก็หายไป ให้ความสำคัญกับเรื่องเงินมากกว่าความสัมพันธ์ บางทีทะเลาะกันเพราะเขาเด็ดมะม่วงบ้านเราแค่ 3 – 4 ลูก ถ้าเป็นสมัยก่อนเขาไม่คิดอย่างนี้ เขาคิดว่าความสัมพันธ์มีค่ามากกว่ามะม่วง ยังไงก็เพื่อนบ้านกัน ดีกว่ารักษามะม่วงไว้แล้วทะเลาะกัน

all :  แต่พระอาจารย์ก็เคยเขียนไว้ว่า “การช่วยเพื่อนมนุษย์ ควรมีขอบเขต” ตรงนี้หมายความว่าอย่างไร

พระไพศาล :  ถ้าหากเราช่วยเหลือจนเขาไม่สามารถพึ่งตัวเองได้ หรือทำให้เขาเสียผู้เสียคน อันนี้ก็ไม่ดี หรือว่า การช่วยในสิ่งที่ผิด เช่น ลูกของเราไปขโมยเงินของเพื่อนในโรงเรียน แล้วถูกครูลงโทษ แม่ก็ไปแก้ตัวให้ลูก แม่ทำเพราะรักลูก ไม่อยากให้ลูกถูกลงโทษ แต่การที่แม่ทำอย่างนั้น ถือเป็นผลเสียกับลูก ทำให้ลูกไม่รับผิดชอบการกระทำของตัวเอง อย่าว่าแต่เรื่องขโมยเลย บางครั้งที่ลูกไม่ได้ทำการบ้าน แม่กลับไปบอกครูว่าลูกป่วย ไม่สบาย เลยไม่ได้ทำการบ้าน แม่ช่วยลูกก็จริง แต่เป็นการช่วยที่ไม่ถูกต้อง เป็นการช่วยที่เกินขอบเขต ทำให้ลูกเสียคนได้ง่าย

all :  ในโอกาสส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ อยากให้พระอาจารย์ฝากหลักธรรมในการดำเนินชีวิตสำหรับคนไทย

พระไพศาล : ประการแรก ขอให้คนไทยอย่าคิดถึงแต่ตัวเอง ให้คิดถึงคนอื่นด้วย การช่วยเหลือผู้อื่น จริง ๆ แล้ว ไม่ได้มีประโยชน์กับคนอื่นเท่านั้น แต่มีประโยชน์กับตัวเองอีกด้วย มันทำให้เราเห็นแก่ตัวน้อยลงและมีความสุขง่ายขึ้น ถ้าเราช่วยเหลือผู้อื่น ก็จะส่งผลมาขัดเกลาให้เราเป็นคนที่มีคุณภาพ ทำให้จิตใจมีความสุข หลายคนพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงเมื่อเขาได้ทำจิตอาสา ได้ช่วยเหลือผู้อื่น บางคนก็มีสุขภาพดีขึ้นด้วย ประการที่สอง อยากให้ตระหนักว่า อย่าไปพึ่งพาความสุขที่อิงกับวัตถุ อยากให้พึ่งพาความสุขที่ไม่ได้อิงกับวัตถุด้วย เช่น ความสุขจากการทำความดี จากการศึกษาหาความรู้ จากการทำสมาธิ หรือความสุขที่ได้อยู่ร่วมกันกับครอบครัว ซึ่งเป็นความสุขที่หาได้โดยไม่ต้องใช้เงิน มนุษย์เราควรจะรู้จักความสุขแบบนี้เยอะ ๆ เราจะได้เป็นทาสของเงินและวัตถุน้อยลง แล้วเราจะเป็นไทกับตัวมากขึ้น ประการที่สาม เราต้องพึ่งความเพียรให้มาก อย่าหวังลาภลอยคอยโชคและนิยมทางลัด ไม่ว่าจะอยากได้อะไร อยากประสบความสำเร็จในการงาน การเรียน หรืออยากมั่งมี ก็ต้องพึ่งพาความเพียรของตัวเอง นิยมทางลัดในที่นี้หมายถึง ความเชื่อ ไสยศาสตร์ และที่แย่ไปกว่านั้นคือการคอร์รัปชั่น การโกงคือทางลัดที่คนไทยนิยมมาก ถ้าหากเราสามารถปฏิบัติตามทั้ง 3 ข้อนี้ได้ก็จะพบกับความสยบเย็น และชีวิตที่เป็นประโยชน์ นี่คือจุดหมายสำคัญ หรือสิ่งที่วัดค่าความสำเร็จของเรา ถ้าหากเราได้พบกับความสงบเย็น ก็จะเป็นชีวิตที่มีคุณค่า ก่อให้เกิดความสุข ทั้งแก่ตัวเองและผู้อื่นแน่นอน

จาก http://www.all-magazine.com/ColumnDetail/allColumDetail/tabid/106/articleType/ArticleView/articleId/4127/---.aspx
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...