เมล็ดพันธุ์แห่งการยึดติด : บาตรเดียวท่องโลก โดย พระพิทยา ฐานิสสโร ชายอเมริกันวัย ๔๐ ปีเศษ อดีตเคยบวชเป็นพระอยู่ประมาณ ๖ ปี เมื่อประมาณ ๑๐ กว่าปีที่แล้ว เขาเดินทางมาสถานปฏิบัติธรรมป่าเมเปิล เวอร์มอนท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา แบบไม่ได้แจ้งล่วงหน้า พร้อมเป้ใบใหญ่ ๑ ใบ พระภิกษุอนุญาตให้พักประมาณ ๑ สัปดาห์ ก็ขอเชิญให้ไปที่อื่น จึงขออนุญาตพระรูปนั้นพูดคุยกับเขา
ช่วงที่สนทนากับเขา ได้รับรู้ถึงความรู้สึกของคนที่ไร้จุดหมาย แต่ก็ยังไม่ทราบที่มาที่ไปอย่างชัดเจน เขาบอกว่าเดินทางไปเรื่อยๆ อย่างผู้ไร้บ้านเกือบปีครึ่ง เขาสามารถพูดธรรมะที่ดูเหมือนปล่อยวาง เข้าใจในเกือบทุกเงื่อนไขที่ปรากฏและยอมรับกับมันได้อย่างดี จึงต้องการให้โอกาสเขาพักต่อเพื่อปฏิบัติ และบอกเขาให้ไปเรียนพระภิกษุรูปที่เชิญให้เขาไปว่า จะตกลงไหมถ้าอนุญาตให้อยู่ต่อในการดูแลของเรา ท่านตอบเช่นไรให้ถือเอาคำตอบนั้น
ในช่วงที่อยู่ปฏิบัติต่อด้วยกัน เขามีอาการเพ้อและเหม่อลอยนานๆ ครั้ง เขาไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์ที่ราบรื่นต่อตนเองกับคนหลายๆ คนได้ เขาคล้ายคนที่มีความครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา กลางคืนต้องนอนเปิดไฟ เสมอๆ มาทราบภายหลังจากพระที่เคยอยู่กับเขาเมื่อนานมาแล้วว่า เขามีปัญหาเช่นนี้มาเป็นเวลานาน และไม่ต้องการรับการรักษา เป็นเหตุให้เกิดความกลัวต่อผู้ที่อยู่ด้วย เมื่อให้เขาพักได้เกือบสองอาทิตย์ จึงขอเชิญให้เขาไปปฏิบัติที่อื่น และบอกเขาถึงสาเหตุ แต่เขามิได้คิดเช่นเรา และยอมไปแต่โดยดี
คนส่วนมากไม่รู้ว่าตัวเองป่วย อีกไม่น้อย ไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วย และ ไม่อยากรู้ว่าตัวเองป่วย เพราะเมื่อรู้ว่าตัวเองไม่ปกติไม่ว่าทางร่างกาย หรือจิตใจ มันเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับ ด้วยต้องเผชิญกับความเจ็บปวด ทรมานกับการรักษาเยียวยา ทั้งที่ความเจ็บป่วยก็คือ สิ่งมีชีวิตทุกชีวิตต้องเจอไม่มากก็น้อย
หลายคนทุกข์ทรมานมากเมื่อเกิดความเจ็บป่วยขั้นรุนแรงแก่ชีวิต ถึงขั้นฆ่าตัวตายหรืออยากฆ่าตัวตายไปเสีย เพราะคิดแบบผิดๆ ว่า เมื่อตายแล้วทุกอย่างจบ แท้จริงกลับสร้างปัญหาให้แก่ตนเองมากขึ้น เพราะตราบใดที่จิตยังประกอบด้วยความอยาก ไม่อยาก หรือเพลิดเพลิน ไม่พอใจ เกลียดชัง ความตายไม่ใช่จุดจบ จิตยังต้องเดินทางต่อไปตามผลแห่งการกระทำ และถ้าตายด้วยจิตที่เป็นทุกข์ จิตที่เดินทางต่อไปในที่ใหม่จะสงบสุขอย่างไร
หว่านเมล็ดพันธ์ุแห่งความยึดติดไว้ที่จิตเช่นไร ผลก็จะปรากฏเช่นนั้น
ขณะที่ผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยใช้โอกาสของช่วงเวลาแห่งความเจ็บป่วย ค้นพบสัจธรรมชีวิตของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่กับคนทั่วไป ที่เคยไม่ฝึกพิจารณาใคร่ครวญความจริงของชีวิตอยู่เนืองๆ ทุกวันๆ ทำให้เมื่อเหตุการณ์เหล่านั้นมาถึง จึงยากที่จะยอมรับ ความคิดปฏิเสธในใจจะทำให้จมอยู่กับมัน ร้องไห้ เสียใจ คร่ำครวญ พิรี้พิไรรำพัน ส่วนคนที่คิดได้ ยอมรับได้ จะเข้าใจในความไม่เที่ยงแท้ แล้วปล่อยวางได้ในที่สุด เพราะความจริงประจักษ์ใจแล้ว จนไม่รู้จะยึดไปเพื่ออะไร
จิตผู้คนที่ย้อมด้วยความเพลิดเพลิน มัวเมา ลุ่มหลงในกามคุณแห่งประสาทสัมผัสทั้งหลายอย่างยึดติดแนบแน่นจนคิดว่ามันเป็นจริง คงทน ถาวน จึงยากที่ยอมรับเมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น และยากที่จะปล่อยวาง แม้จะประกาศตัวเองว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมก็ตาม แต่ถ้าจิตยังมิได้รับการฝึกสติอย่างต่อเนื่องให้แข็งแรง ก็ยังเปี่ยมไปด้วย โลภ โกรธ หลง ด้วยกันทั้งสิ้น และนั่นหมายความว่า เราก็ยังเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการเยียวยาด้วยธรรมโอสถ
ความยึดมั่น ถือมั่น คือ เชื้อโรคร้ายที่ลุกลามมากยิ่งขึ้นในสังคมนิยมบริโภค รักษาเท่าไรก็ไม่หาย เพราะไม่รู้ว่า ตัวเองป่วย อีกทั้งยังบริโภคเชื้อโรคอยู่ทุกวัน ด้วยการสนองความอยาก ความโกรธ ความหลง จากการรับรู้ทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
แต่สำหรับผู้ที่ปฏิบัติเพื่อลดความยึดมั่น ถือมั่น จะค่อยๆ เห็นความไม่น่ารัก ไม่ดีของตัวเองมากยิ่งขึ้น ละเอียดขึ้น ซึ่งช่วงแรกยากมากที่ยอมรับ เมื่อเห็นว่าที่เคยคิดว่าตัวเองทำดี ที่แท้ก็เพื่อสร้างตัวตนให้คนอื่นมองว่าดี ยอมรับว่าดี ต้องการคำชม คำเยินยอ เกียรติยศ ชื่อเสียง ลาภ ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งซ่อนเร้นในการทำดีที่แท้จริง
การต้องการการยอมรับ มันได้สร้างความหลงตน อวดตนที่น่ากลัว น่าชัง เพราะการติดดี เป็นเชื้อโรคให้เรายึดตัวตน ของตนอย่างไม่อยากปล่อย ทำให้เราขาดซึ่งความเมตตา กรุณา เห็นใจต่อเขาเหล่านั้น เราสูญเสียความงดงามแห่งจิตใจ ทั้งที่เราทำดีอยู่ แต่เป็นความดีที่ยังหวังผล ความดี ความบริสุทธิ์ของจิตจึงไม่มีอยู่จริง
ไม่สนองความอยากของจิต คือ ความเมตตากรุณาที่ยิ่งใหญ่
ความอยาก ยิ่งเติม ยิ่งพร่อง
จิตหมดทุกข์ ก็หมดอยาก
จาก
http://www.komchadluek.net/news/amulets/236400