ผู้เขียน หัวข้อ: ทิพยอำนาจ : บทที่ ๒ วิธีเจริญฌาน ๔  (อ่าน 1258 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ทิพยอำนาจ

พระอริยคุณาธาร (ปุสโส เส็ง , ปธ. 6)

วัดป่าเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น

เรียบเรียง



บทที่ ๒

วิธีเจริญฌาน ๔


เมื่อได้ทราบลักษณะของฌาน ๔ ดังกล่าวมาในบทที่ ๑ พอสมควรแล้ว จึงควรทราบวิธีเจริญฌาน ๔ นั้นสืบไป เพื่อเป็นข้อสังเกตในเวลาปฏิบัติจริงๆ เหมือนเรียนวิชาแผนที่ไว้เป็นข้อสังเกตในเวลาไปสำรวจภูมิประเทศฉะนั้น.

ข้อสำคัญควรทราบไว้ในเบื้องต้น คือ การเจริญฌานเป็นการอบรมจิตให้สุขุมประณีต และบริสุทธิ์ จิตที่ต้องอบรมนั้นคืออะไร ก็ไม่ควรเป็นปัญหายุ่งยาก เพราะทุกคนมีจิตใจอยู่แล้ว ตัวที่รู้จักสุขทุกข์ดีชั่วนั่นแหละคือจิต หมายถึงธรรมชาติชนิดหนึ่งซึ่งมีความรู้เป็นลักษณะ และครองความเป็นใหญ่ในอัตภาพของตน ธรรมชาติชนิดนี้จะเรียกชื่อว่ากระไรบ้างไม่สำคัญ ความสำคัญอยู่ที่รู้ว่าเป็นธรรมชาติที่มีอำนาจในร่างกาย ถ้าได้ฝึกให้ดีแล้ว จะนำประโยชน์มาให้เหลือหลาย การที่พยายามจะรู้ลักษณะที่แท้จริงของจิตก่อนการอบรมจิตนั้น เป็นสิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะจิตเป็นธรรมชาติละเอียด ทั้งมีส่วนประกอบหลายซับหลายซ้อน ถ้าขืนพยายามจะไปรู้เข้าจะเกิดยุ่ง ซึ่งเข้าทำนองว่า “รู้ก่อนเกิด สะเดิดก่อนตาย” เป็นเรื่องยุ่งยาก มีแต่พาให้เกิดกังขาสงสัยร่ำไป ทั้งเป็นทางพอกพูนทิฏฐิคาหะให้แน่นแฟ้น ซึ่งยากแก่การชำระเป็นอันมาก.

จิตใจเป็นที่ตั้งของกิเลส-ความไม่มีกิเลส, ของความดี-ความไม่ดี, ของความสุข-ความทุกข์,ของความรู้ผิด-และรู้ถูก.

ความรู้ผิดเป็นปัจจัยของกิเลส กิเลสเป็นปัจจัยของความไม่ดี ความไม่ดีเป็นปัจจัยของความทุกข์ โดยนัยตรงกันข้าม ความรู้ถูกเป็นปัจจัยของความไม่มีกิเลส ความไม่มีกิเลสเป็นปัจจัยของความดี ความดีเป็นปัจจัยของความสุข เมื่อเป็นดังนี้เราก็ปันแดนออกได้เป็น ๒ แดน คือ แดนสุขกับแดนทุกข์ ทางที่จะนำไปสู่แดนทั้งสองนี้ ก็ปันออกเป็น ๒ ทางได้เช่นกัน คือ ทางสุขกับทางทุกข์ ทางสุขไปสู่แดนสุข ทางทุกข์ไปสู่แดนทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้จะมุ่งไปแดนสุขหรือแดนทุกข์กันแน่? ถ้ามุ่งไปแดนไหนก็จงรีบตัดสินใจ แล้วรีบเร่งปฏิบัติดำเนินไป เมื่อเดินไม่หยุด ก็จะต้องถึงที่สุดของทางเข้าสักวันหนึ่งเป็นแน่ ที่สุดของทางนั่นแหละเป็นแดนที่ท่านมุ่งไปละสุขหรือทุกข์ก็รู้เอง ไม่ต้องถามใคร.

เมื่อจับหลักสำคัญได้ว่า จิตเป็นที่ตั้งของสุขและทุกข์เช่นนี้แล้ว ก็ลงมืออบรมจิตได้ทันที ไม่ต้องรีรอ เพราะต่างก็มีจิตซึ่งต้องเสวยทุกข์และสุขทุกวัน ทำอย่างไรจึงจะมีสุขสมบูรณ์สมปรารถนา ก็ควรรีบทำอย่างนั้น ดีกว่าจะปล่อยไปตามยถากรรม ซึ่งไม่แน่ว่าจะไปสุขหรือไปทุกข์.

วิธีการเจริญฌาน ซึ่งเป็นการอบรมจิตใจนั้น ท่านมิได้จำกัดกาลเวลาและอิริยาบถ คือ ให้ทำได้ทุกเมื่อและทุกอิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีวิธีการจำเพาะกาล และอิริยาบถอยู่ด้วย ซึ่งเราจำต้องศึกษาให้รู้ไว้ เพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องตามวิธีนั้นๆ ดังต่อไปนี้


๑. วิธีการเกี่ยวกับเวลา

ชีวิตของคนเราเนื่องอยู่กับเวลา คือ ชีวิตจะต้องผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ไปทุกระยะวินาที สิ่งที่ผ่านมาสัมผัสเข้ากับตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของเรานั้น ท่านเรียกว่าอารมณ์ เป็นสิ่งที่มีอยู่เต็มโลก และจะต้องประกอบกับชีวิตของเราเสมอไป เวลาที่สิ่งเหล่านี้ผ่านมาสัมผัสทวาร คือ ตาหู ฯลฯ ของเรานั่นแหละเป็นเวลาที่สำคัญที่สุด ถ้านายประตู คือ สติ เป็นผู้รอบคอบระมัดระวังดีก็ไม่เกิดโทษ แต่ถ้านายประตูเผลอไม่ระมัดระวังให้ดีก็เกิดโทษขึ้น โทษที่เกิดขึ้นก็มีทั้งอย่างอ่อนๆและอย่างร้ายแรง ทำให้จิตผู้เป็นเจ้าของเสียคุณภาพไป ถ้าอารมณ์ที่ผ่านมาสัมผัสเป็นสิ่งที่จะนำใจไปทางบุญกุศล ย่อมทำใจให้เกิดมีคุณภาพดีขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจึงกำหนดวิธีการเกี่ยวกับเวลาไว้ มีทั้งวิธีการแก้ วิธีการป้องกัน และวิธีการส่งเสริม.

วิธีการแก้

๑. รีบปฏิบัติการที่ตรงกันข้ามกับโทษนั้นทันที เช่น ความกำหนัดเกิดขึ้น เพราะเหตุเห็นหรือ นึกคิดอารมณ์ที่สวยงามเป็นต้น ก็รีบสลัดอารมณ์นั้นเสีย แล้วคิดถึงสิ่งไม่สวยไม่งาม หรือรีบสงบใจให้ได้ถึงขั้นเอกัคคตา ความกำหนัดก็จะสงบไป ฯลฯ

๒. รีบเปลี่ยนอิริยาบถทันที เช่น นั่งอยู่ เกิดอารมณ์ขุ่นหมองขึ้นในใจโดยเหตุใดเหตุหนึ่งพึงลุกยืนหรือเดินเสีย อารมณ์เช่นนั้นก็จะสงบไป.

๓. รีบทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่งทันที เช่น อยู่ว่างๆ ความรู้สึกฝ่ายต่ำเกิดขึ้น พึงรีบทำกิจการงานอย่างใดอย่างหนึ่งเสีย ใส่ใจอยู่กับกิจที่ทำนั้น ความรู้สึกฝ่ายต่ำก็จะตกไปจากจิตทันที.

วิธีการป้องกัน

สำรวมอินทรีย์ ๖ (อินทริยสังวร) ด้วย

๑. ทำสติควบคุมอินทรีย์เสมอทุกขณะไป (สติสังวร).

๒. ทำความรู้เท่าอารมณ์ให้ทันท่วงที (ญาณสังวร).

๓. ทำความอดทนต่ออารมณ์ที่สัมผัส (ขันติสังวร).

๔. ทำความพากเพียรละกิเลสล่วงหน้าไว้ (วิริยสังวร).

วิธีการส่งเสริม

๑. รีบประคับประคองความรู้สึกฝ่ายสูงให้ดำเนินไปจนสุดกระแสของมัน ถ้าสามารถต่อกระแสความรู้สึกนั้นให้สูงยิ่งๆ ขึ้นได้ ก็รีบทำทันที อย่าละโอกาส.

๒. รีบทำกิจตามความคิดฝ่ายสูงที่เกิดขึ้นนั้นให้สำเร็จไปโดยเร็ว อย่าผัดเวลาไป เพราะจิตเป็นธรรมชาติกลับกลอกไว อาจละทิ้งความคิดที่ดีนั้นในภายหลังได้.

๓. รีบทำความพากเพียรอบรมจิต ในเวลาที่จิตปลอดโปร่ง จะได้ผลดีรวดเร็ว เพราะเวลาเช่นนั้นท่านว่า เป็นเวลามารให้โอกาส ถ้าปล่อยให้เวลาเช่นนั้นผ่านไปเปล่าๆ จะเสียใจภายหลัง.

๔. รีบทำความพากเพียรก้าวหน้าเรื่อยไป ในเมื่อได้สมาธิขั้นต้นๆ แล้ว อย่าวางใจและทอดธุระเสีย และพึงระมัดระวังอันตรายของสมาธิด้วย.

๒. วิธีการเกี่ยวกับอิริยาบถ

อิริยาบถ คือ อาการเคลื่อนไหวของร่างกาย ในความควบคุมของใจ มี ๔ ประการ คือ ยืนเดิน นั่ง นอน วิธีการอบรมจิตเกี่ยวกับอิริยาบถ เป็นดังนี้

๑. ยืนอบรมจิต มักใช้ปฏิบัติคั่นในระหว่างการเดินจงกรม เพื่อพักผ่อนร่างกายเป็นระยะๆไป คือ ยืนพักขาข้างหนึ่ง โดยผลัดเปลี่ยนกันไป ในเมื่อขาหนึ่งเมื่อย ก็เปลี่ยนพักอีกขาหนึ่ง ในขณะที่ยืนนั้นก็ทำการอบรมจิตเรื่อยไป เมื่อปฏิบัติในอิริยาบถยืนพอสมควรแล้ว ควรใช้อิริยาบถอื่นต่อไป.

๒. เดินจงกรม คือ เดินสำรวมจิตไปมา บนทางที่ทำไว้อย่างดี ราบรื่นสะอาด กว้างประมาณ ๒ ศอก ยาวประมาณ ๒๐ ศอก หรือ ๒๐ ก้าว ทางเช่นนี้เรียกว่า ทางจงกรม ต้องทำไว้ในที่เงียบสงัด ไม่เปิดเผยเกินไป และไม่ทึบเกินไป อากาศโปร่ง ถ้ามีที่เหมาะพอทำได้พึงทำเป็นทางเฉียงตะวัน เงาของตัวเองไม่รบกวนตัวเอง และท่านว่าเป็นการตัดกระแส แต่ถ้าจะทำที่จงกรมตามลักษณะที่ว่านี้ไม่ได้ แม้ที่เช่นใดเช่นหนึ่งก็พึงใช้เถิด ข้อสำคัญอยู่ที่การเดินสำรวมจิตเท่านั้น.

วิธีจงกรมนี้ พระบาลีไม่แสดงไว้ แต่ที่ปฏิบัติกัน ให้เอามือทั้งสองกุมกันไว้ข้างหน้า ปล่อยแขนลงตามสบาย ทอดสายตาลงต่ำ มองประมาณชั่ววาหนึ่ง ทำสติสัมปชัญญะควบคุมจิตให้อยู่ในความสงบ จะเอากัมมัฏฐานบทหนึ่งมาเป็นอารมณ์หรือไม่ก็ตาม แล้วก้าวเดินช้าๆ ไปสุดหัวจงกรมแล้วหยุดยืนนิดหน่อย จึงกลับหลังหันก้าวเดินมาสู่ที่ตั้งต้น ครั้นถึงที่ตั้งต้นหยุดยืนนิดหน่อย แล้วกลับหลังหันก้าวเดินไปอีก โดยทำนองนี้เรื่อยๆ ไป เมื่อเมื่อยขาพึงยืนพักดังที่กล่าวไว้ในอิริยาบถยืน หรือจะนั่งพักในอิริยาบถนั่ง ซึ่งจะกล่าวต่อไปก็ได้.

อานิสงส์ที่ได้ในการจงกรมนี้ พระบรมศาสดาตรัสว่า

๑. เดินทางไกลทน.

๒. ทำความเพียรทน.

๓. เจ็บป่วยน้อย เดือดร้อนน้อย.

๔. อาหารที่ดื่มกินแล้ว ค่อยๆ ย่อยไปไม่บูดเน่า.

๕. สมาธิที่ได้ด้วยการจงกรม ดำรงมั่นนาน ไม่เคลื่อนง่าย.

ส่วนการเดินยืดแข้งยืดขานั้นไม่มีแบบ แล้วแต่อัธยาศัยและความถนัด การเดินชนิดนั้นท่านเรียก ชังฆวิหาร เป็นชนิดการเดินเล่นเรื่อยเปื่อยไปตามอัธยาศัยนั่นเอง ถึงอย่างนั้นนักปฏิบัติก็ไม่ละโอกาสเหมือนกัน ย่อมมีสติควบคุมจิตใจ หรือคิดอ่านอะไรๆ ซึ่งเป็นเครื่องอบรมใจไปด้วย.



๑. มาใน สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เล่ม ๒๒ หน้า ๓๑.


๓. นั่งเจริญฌาน อิริยาบถนั่งในการเจริญฌานนี้ พระบาลีบอกไว้สั้นๆ เราเข้าใจกันไม่ค่อยแจ่มแจ้ง ที่ทรงแสดงไว้ในวิธีเจริญอานาปานสติว่า ให้นั่งคู้ขา (บาลีว่า ปลฺลงฺกํ อาภุชิตฺวา) จะคู้ขาแบบไหนก็ไม่ชัดอีก ทั้งนี้คงเป็นเพราะวิธีนั่งแบบนั้นเป็นที่เข้าใจง่ายในสมัยโน้น ที่ทรงใช้คำสั้นๆ เช่นนั้นพอรู้เรื่องกัน คำว่า ปลฺลงฺกํ อาจตรงกับคำไทยว่านั่งแท่นก็ได้ กิริยานั่งแท่นก็คือนั่งขัดสมาธินั่นเอง โดยวิธีนั่งคู้ขาท่อนล่างเข้ามา เอาขาขวาท่อนล่างทับขาซ้ายท่อนล่าง พอให้ปลายเท้าทั้งสองจดถึงเข่าทั้งสองพอดี วิธีนั่งแบบนี้ตรงกับแบบของโยคี ที่เขาเรียกว่า ปัทมาศนะนั่งแบบกลีบบัว จะด้วยเหตุนี้กระมัง นักจิตรกรจึงวาดภาพพระพุทธเจ้านั่งบนดอกบัว การนั่งแบบนี้บังคับให้ต้องนั่งตัวตรงจึงสบาย และนั่งทนด้วย สตรีไทยรังเกียจการนั่งแบบนี้ โดยถือว่าเป็นการขาดคารวะ จึงชอบนั่งแบบที่เรียกว่า พับเพียบ คือ ขาคู้ข้างหนึ่งพับไปข้างหลัง อีกข้างหนึ่งคู้เข้ามายันเข่าข้างหนึ่งไว้ ท่านี้บุรุษเพศไม่ค่อยถนัด ถึงจะนิยมใช้อยู่ในหมู่ผู้ดีก็นั่งกันไม่ค่อยทน แม้ในหมู่บรรพชิตที่ต้องใช้อยู่บ่อยๆ ก็นั่งไม่ค่อยทน สู้แบบบัลลังก์ไม่ได้ ยังมีแบบนั่งอีกแบบหนึ่งในการเจริญฌาน คือ แบบนั่งตั่ง ได้แก่นั่งเก้าอี้ห้อยเท้านั่นเอง วิธีนี้ใช้ในการเจริญกสิณ ส่วนนั่งตามสบายนั้นไม่มีแบบตายตัว แล้วแต่ความถนัดของบุคคล.

เมื่อได้ทราบแบบนั่งเช่นนี้แล้ว พึงทราบวิธีปฏิบัติในการนั่งสืบไป.

ก. นั่งแบบบัลลังก์ ตั้งตัวให้ตรง อย่าให้เอน วางหน้าให้ตรง อย่าก้ม อย่าเงย และอย่าเอียงวางมือบนตัก เอามือขวาวางทับมือซ้าย พอให้หัวแม่มือจดกัน ตั้งสติให้มั่น สำรวมจิตเข้ามาตั้งไว้ตรงกลางทรวงอก เอาข้อกัมมัฏฐานข้อหนึ่งที่ตนเลือกแล้วมาคิดและอ่านเรื่อยไปจนกว่าจะได้ความเมื่อได้ความแล้วจิตจะสงบเป็นหนึ่ง มีปีติและสุขเกิดขึ้นเลี้ยงจิตให้เกิดความชุ่มชื่นกายใจ มีความสุขกายสบายจิต โปร่งใจขึ้นมากน้อยตามกำลังของความวิเวก และความสงบ พึงดำรงความรู้สึกเช่นนี้ไว้ให้นานที่สุดที่จะนานได้ เมื่อเห็นว่าสมควรแล้ว พึงค่อยๆ ถอยจิตออก คือ นึกขึ้นว่าจะออกเท่านั้น จิตก็จะเคลื่อนจากฐานทันที แล้วค่อยๆ ผ่อนความรู้สึกให้จางออกทีละน้อยๆจนกลับมาสู่ความรู้สึกอย่างธรรมดา แล้วจึงพิจารณาสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น จดจำเอาไว้เป็นบทเรียนสำหรับคราวหน้า และพิจารณาตรวจลักษณะองค์ฌานที่ปรากฏแก่จิตในคราวนั้นให้แจ่มใจ แล้วจึงเคลื่อนไหวอิริยาบถต่อไป อย่าออกจากสมาธิโดยรีบร้อน จะทำให้ประสาทได้รับความกระเทือนแรงไป เหมือนตื่นนอนแล้วรีบลุกอย่างตะลีตะลาน ย่อมไม่สบายฉะนั้น.

ข. นั่งแบบนั่งตั่ง นั่งบนเก้าอี้ หรือตั่ง ห้อยเท้าลงจดพื้น ถ้าเท้าไม่จดถึงพื้นเพราะตั่งหรือเก้าอี้สูง พึงหาอะไรรองเท้าพอให้สบายๆ โดยไม่ต้องห้อยขาต่องแต่ง วางมือแบบเดียวกับนั่งบัลลังก์ก็ได้ เอามือทั้งสองกุมกันไว้บนตักก็ได้ วางตัวและหน้าให้ตรงเช่นที่กล่าวในข้อ ก. (นั่งแบบบัลลังก์) ต่อนั้นไปพึงปฏิบัติโดยนัยที่กล่าวในข้อ ก. ถ้าเจริญกสิณ ก็พึงตั้งดวงกสิณให้ห่างจากที่นั่งประมาณวาหนึ่ง แล้วนั่งตามแบบ ลืมตาดูดวงกสิณ พินิจให้แน่แล้วหลับตานึกดู จนเห็นภาพดวงกสิณชัดเจนในตาใจ วิธีปฏิบัติต่อไปนี้จะได้กล่าวไว้ในข้อว่าด้วยกสิณ พึงติดตามไปอ่านที่นั้นอีก.

ค. นั่งแบบพับเพียบ แบบนี้เป็นแบบที่ถนัดของสตรีไทย พึงนั่งพับเพียบวางมือบนตักวางตัวให้ตรง วางหน้าให้ตรง ดำรงสติให้มั่น สำรวมจิตคิดอ่านข้อกัมมัฏฐานที่เลือกไว้ โดยนัยที่กล่าวในข้อ ก. นั้นทุกประการ.

ง. นั่งแบบสบาย คือ นั่งตามถนัดของตนๆ แล้วคิดอ่านข้อกัมมัฏฐานอันใดอันหนึ่ง หรือไม่คิดอ่านอะไร เพียงแต่ตั้งสติสำเหนียกอยู่ที่จิต คอยจับตาดูความเคลื่อนไหวของจิต หรือสังเกตลมหายใจเข้าออกตามแต่อัธยาศัย.

การที่แนะนำข้อนี้ไว้ก็โดยที่การบำเพ็ญฌาน ย่อมทำได้ทุกท่า ผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ปล่อยให้เวลาล่วงไปเปล่าๆ ย่อมสำเหนียกจับตาดูจิตใจของตนเสมอๆ แม้ในเวลาทำกิจใดๆ อยู่ก็ไม่ละทิ้งเลย.

อนึ่ง ในการนั่งเจริญฌานนี้ ก็มีการพักผ่อนกายในระหว่างๆ ได้เช่นเดียวกัน วิธีพักกายในการนั่งคือ เมื่อนั่งตรงๆ เมื่อยแล้ว พึงนั่งย่อตัวลงสักหน่อย หายเมื่อยแล้วจึงนั่งตัวตรงอีก ส่วนการพักมือในระหว่างก็ทำได้เช่นกัน คือ พักในท่าวางมือพลิกคว่ำพลิกหงาย หรือประสานมือก็ได้ แต่ต้องระวังอย่าให้จิตเคลื่อนจากฐานเท่านั้น คำว่า ฐาน นี้หมายถึงว่าจิตดำรงอยู่ในอารมณ์เช่นไรหรือในความสงบขนาดไหน ในขณะนั้น อันนั้นจัดเป็นฐานคือที่ตั้งของจิตในขณะนั้น.

๔. นอนเจริญฌาน อิริยาบถนอนในการเจริญฌาน มี ๒ อย่าง คือ นอนพักผ่อนร่างกายกับนอนเพื่อหลับ มีวิธีปฏิบัติต่างกัน ดังนี้

ก. นอนพักผ่อนร่างกาย คือ เมื่อเจริญฌานในอิริยาบถทั้ง ๓ มาแล้ว เกิดความมึนเมื่อยหรืออ่อนเพลียร่างกาย พึงนอนเอนกายเสียบ้าง นอนในท่าที่สบายๆ ตามถนัด จะหลับตาหรือลืมตาก็ได้ กำหนดใจอยู่ในกัมมัฏฐานข้อใดข้อหนึ่ง หรือเอาสติควบคุมใจให้สงบนิ่งอยู่เฉยๆ ก็ได้.

ข. นอนเพื่อหลับ การนอนหลับ เป็นการพักผ่อนที่จำเป็นของร่างกาย ใครๆ ก็เว้นไม่ได้แม้แต่พระอรหันต์ก็ต้องพักผ่อนหลับนอนเช่นเดียวกับปุถุชน ที่ท่านว่าพระอรหันต์ไม่หลับเลยนั้นท่านหมายทางจิตใจต่างหาก มิได้หมายทางกาย การหลับนอนแต่พอดี ย่อมทำให้ร่างกายสดชื่นแข็งแรง ถ้ามากเกินไปทำให้อ้วนเทอะทะไม่แข็งแรง ถ้าน้อยเกินไปทำให้อิดโรยอ่อนเพลียความจำเสื่อมทรามและง่วงซึม ประมาณที่พอดีนั้น สำหรับผู้ทำงานเบาเพียง ๔-๖ ชั่วทุ่มเป็นประมาณพอดี ผู้ทำงานหนักต้องถึง ๘ ชั่วทุ่มจึงจะพอดี ในเวลาประกอบความเป็นผู้ตื่น(ชาคริยานุโยค) นั้น ทรงแนะให้พักผ่อนหลับนอนเพียง ๔ ชั่วทุ่ม เฉพาะยามท่ามกลางของราตรีเพียงยามเดียว เวลานอกนั้นเป็นเวลาประกอบความเพียรทั้งสิ้น และทรงวางแบบการนอนไว้เรียกว่า สีหไสยา คือ นอนอย่างราชสีห์ การนอนแบบราชสีห์นั้น คือ นอนตะแคงข้างขวา เอนไปทางหลังให้หน้าหงายนิดหน่อย มือข้างขวาหนุนศีรษะ แขนซ้ายแนบไปตามตัว วางเท้าทับเหลื่อมกันนิดหน่อยพอสบาย แล้วตั้งสติอธิษฐานจิตให้แข็งแรงว่า ถึงเวลาเท่านั้นต้องตื่นขึ้นทำความเพียรต่อไป ก่อนหลับพึงทำสติอย่าให้ไปอยู่กับอารมณ์ภายนอก ให้อยู่ที่จิต ปล่อยวางอารมณ์เรื่อยไปจนกว่าจะหลับ ถ้าให้สติอยู่กับอารมณ์ภายนอกแล้วจะไม่หลับสนิทลงได้ ครั้นหลับแล้วตื่นขึ้น พึงกำหนดดูเวลาว่าตรงกับอธิษฐานหรือไม่? แล้วพึงลุกออกจากที่นอน ล้างหน้า บ้วนปาก ทำความพากเพียรชำระจิตใจให้บริสุทธิ์จากนิวรณ์สืบไป ถ้าสามารถบังคับให้ตื่นได้ตามเวลาที่กำหนดไว้ไม่เคลื่อนคลาด ชื่อว่าสำเร็จอำนาจบังคับตัวเองขั้นหนึ่งแล้ว พึงฝึกหัดให้ชำนาญต่อไป ทั้งในการบังคับให้หลับ และบังคับให้ตื่นได้ตามความต้องการ จึงจะชื่อว่ามีอำนาจเหนือกาย ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปฏิบัติอบรมจิตใจขั้นต่อๆ ไป.

เมื่อได้ทราบวิธีเจริญฌานโดยอิริยาบถทั้ง ๔ เช่นนี้แล้ว พึงสำเหนียกวิธีเจริญฌานทั่วไป ดังจะกล่าวต่อไปนี้

ได้ทราบมาแล้วว่า การเจริญฌานเป็นการอบรมจิตให้สงบ เพื่อให้จิตบริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนการกลั่นน้ำให้ใสสะอาดฉะนั้น ธรรมชาติของน้ำ มีความใสสะอาดเป็นลักษณะดั้งเดิม ที่กลายเป็นน้ำขุ่นเพราะถูกเจือด้วยสิ่งอื่นในภายหลังฉันใด จิตใจโดยเนื้อแท้ก็เป็นธรรมชาติใสผ่องแต่ที่จิตนั้นมากลายเป็นธรรมชาติเศร้าหมองไป เพราะอุปกิเลสจรเข้ามาเจือปนในภายหลังฉันนั้นวิธีกลั่นกรองจิตให้บริสุทธิ์ผุดผ่องเป็นสภาพแท้นั้น ย่อมต้องอาศัยเครื่องกรองที่เหมาะสม เครื่องกรองนั้นได้แก่กัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ ดังจะกล่าวในบทต่อไป พึงเลือกใช้บทหนึ่งหรือหลายบทตามควรแก่เหตุ เพื่อข่มกิเลสที่ฟูขึ้นในขณะนั้นให้สงบไป กัมมัฏฐานนั้นโดยทั่วไปก็เรียกว่าอารมณ์แต่เมื่อนำเข้ามาอบรมจิตแล้ว กลับเรียกว่านิมิตไป พึงทราบความหมายของนิมิตในการอบรมจิตซึ่งแปรสภาพไปตามระยะดังนี้

๑. บริกรรมนิมิต ได้แก่ข้อกัมมัฏฐานที่นำมาเป็นข้ออบรมจิต ปรากฏอยู่ในห้วงนึกคิดของบุคคลเป็นเวลาชั่วขณะจิตหนึ่งแล้วเคลื่อนไป ต้องตั้งใหม่เป็นพักๆ ไป อย่างนี้แลเรียกว่า บริกรรมนิมิต จิตในขณะนี้เป็นสมาธิเพียงชั่วขณะจิตหนึ่ง จึงเรียกว่า ขณิกสมาธิ.

๒. อุคคหนิมิต ได้แก่ข้อกัมมัฏฐานนั้นเหมือนกัน ปรากฏอยู่ในห้วงความนึกคิดของบุคคลอย่างชัดเจนขึ้น ด้วยอำนาจกำลังของสติสัมปชัญญะควบคุม และดำรงอยู่นานเกินกว่าขณะจิตหนึ่งจิตไม่ตกภวังค์ง่าย องค์ของฌานปรากฏขึ้นในจิตเกือบครบถ้วนแล้ว อย่างนี้เรียกว่า อุคคหนิมิต จิตในขณะนั้นเป็นสมาธิใกล้ต่อความเป็นฌานแล้ว เรียกว่า อุปจารสมาธิ ถ้าจะพูดให้ชัดอีกก็ว่า เข้าเขตฌานนั่นเอง.

๓. ปฏิภาคนิมิต ได้แก่ข้อกัมมัฏฐานที่นำมาอบรมจิตนั่นเอง เข้าไปปรากฏอยู่ในห้วงนึกคิดของบุคคลแจ่มแจ้งชัดเจน ถ้าเป็นรูปธรรมก็เป็นภาพชัดเจนและผ่องใสสวยสดงดงามกว่าสภาพเดิมของมัน ถ้าเป็นอรูปธรรมก็จะปรากฏเหตุผลชัดแจ้งแก่ใจพร้อมทั้งอุปมาอุปไมยหลายหลาก จะเห็นเหตุผลที่ไม่เคยเห็น และจะทราบอุปมาที่ไม่เคยทราบอย่างแปลกประหลาด อย่างนี้แลเรียกว่าปฏิภาคนิมิต จิตใจในขณะนั้นจะดำรงมั่นคง มีองค์ฌานครบถ้วน ๕ ประการเกิดขึ้นในจิต บำรุงเลี้ยงจิตให้สงบสุขแช่มชื่นอย่างยิ่ง จึงเรียกว่า อัปปนาสมาธิ จัดเป็นฌานชั้นต้นที่แท้จริง จิตจะดำรงอยู่ในฌานนานหลายขณะจิต จึงจะเคลื่อนจากฌานตกลงสู่ภวังค์ คือจิตปกติธรรมดา.

นิมิตทั้ง ๓ เป็นเครื่องกำหนดหมายของสมาธิทั้ง ๓ ชั้น ดังกล่าวมานั้น ท่านจึงเรียกชื่อเช่นนั้น ผู้ปฏิบัติพึงสำเหนียกไว้เป็นข้อสังเกตขีดขั้นของสมาธิสำหรับตนเองต่อไป.

ทีนี้จะได้เริ่มกล่าวถึงวิธีเจริญฌานที่แท้จริงสืบไป เมื่อผู้ปฏิบัติทำการอบรมจิตมาจนถึงได้สมาธิ คือความเป็นหนึ่งของจิตขั้นที่ ๓ ที่เรียกว่า อัปปนาสมาธิแล้ว ชื่อว่าเข้าขั้นของฌาน เป็นฌายีบุคคล แล้วในขั้นต่อไป มีแต่จะทำการเจริญฌานนั้นให้ช่ำชองยิ่งขึ้นโดยลำดับขั้นทั้ง ๕ ดังต่อไปนี้

๑. ขั้นนึกอารมณ์

ฝึกหัดนึกอารมณ์ที่ใช้เป็นเครื่องอบรมจิตจนได้ฌานนั้นโดยช้าๆ ก่อน เหมือนเมื่อได้ครั้งแรก ต้องนึกคิดและอ่านอารมณ์ตั้งนานๆ ใจจึงจะเห็นเหตุผลและหยั่งลงสู่ความสงบได้ แล้วค่อยหัดนึกอารมณ์นั้นไว้เข้าโดยลำดับๆ จนสามารถพอนึกอารมณ์นั้นใจก็สงบทันที เช่นนี้ชื่อว่า มีอำนาจในการนึกอารมณ์ ที่ท่านเรียกว่า อาวัชชนวสี = ชำนาญในการนึก.

๒. ขั้นเข้าฌาน

ฝึกหัดเข้าฌานโดยวิธีเข้าช้าๆ คือ ค่อยๆ เคลื่อนความสงบของจิต ไปสู่ความสงบยิ่งขึ้นอย่างเชื่องช้า คอยสังเกตความรู้สึกของจิต ตามระยะที่เคลื่อนเข้าไปนั้น พร้อมกับอารมณ์ที่ให้เกิดความรู้สึกเช่นนั้นไปด้วย แล้วหัดเข้าให้ไวขึ้นทุกทีๆ จนสามารถเข้าได้ทันใจ ผ่านระยะรวดเร็วเข้าถึงจุดสงบที่เราต้องการเข้าทันที เช่นนี้ชื่อว่า มีอำนาจในการเข้าฌาน ที่ท่านเรียกว่า สมาปัชชนวสี = ชำนาญในการเข้า.

๓. ขั้นดำรงฌาน

ฝึกหัดดำรงฌานโดยวิธีกำหนดใจดำรงอยู่ในฌานเพียงระยะสั้นๆ ให้ชำนาญดีเสียก่อน แล้วจึงกำหนดให้ยั้งอยู่นานยิ่งขึ้นทีละน้อยๆ จนสามารถดำรงฌานไว้ได้ตั้งหลายๆ ชั่วโมง ตั้งวัน จนถึง๗ วัน เมื่อการกำหนดฌานเป็นไปตามที่กำหนดทุกครั้งไม่เคลื่อนคลาดแล้ว ชื่อว่ามีอำนาจในการดำรงฌาน ที่ท่านเรียกว่า อธิษฐานวสี = ชำนาญในการอธิษฐาน.

๔. ขั้นออกฌาน

ฝึกหัดออกฌาน โดยวิธีถอนจิตออกจากความสงบอย่างช้าๆ ก่อน คือ พอดำรงอยู่ในฌานได้ตามกำหนดที่ตั้งใจไว้แล้ว พึงนึกขึ้นว่า ออก เท่านั้นจิตก็เริ่มไหวตัว และเคลื่อนออกจากจุดสงบที่เข้าไปยับยั้งอยู่นั้น พึงหัดเคลื่อนออกมาตามระยะโดยทำนองเข้าฌานที่กล่าวแล้ว และพึงสังเกตความรู้สึกตามระยะนั้นๆ ไว้ด้วย จนมาถึงความรู้สึกอย่างปกติธรรมดา ชื่อว่าออกฌาน ในครั้งต่อๆไปพึงหัดออกให้ว่องไวขึ้นทีละน้อยๆ จนถึงสามารถออกทันทีที่นึกว่าออก คือ พอนึกก็ออกได้ทันทีโดยไม่มีการกระเทือนต่อวิถีประสาทแต่ประการใด เช่นนี้ชื่อว่า มีอำนาจในการออกฌาน ที่ท่านเรียกว่า วุฏฐานวสี = ชำนาญในการออก.

๕. ขั้นพิจารณาฌาน

ฝึกหัดพิจารณาฌาน โดยวิธีเมื่อถอยจิตออกจากฌาน มาถึงขั้นความรู้สึกปกติธรรมดาแล้วแทนที่จะลุกโดยเร็วออกจากที่ หรือหันไปสนใจเรื่องอื่น ก็หันมาสนใจอยู่กับฌานอีกที นึกทวนดูลักษณะฌานพร้อมทั้งองค์ประกอบของฌานนั้น แต่ละลักษณะให้แจ่มใสขึ้นอีกครั้ง โดยความสุขุมไม่รีบร้อน ครั้งต่อไปจึงหัดพิจารณาให้รวดเร็วขึ้นทีละน้อยๆ จนสามารถพอนึกก็ทราบทั่วไปในฌานทันที เช่นนี้ชื่อว่า มีอำนาจในการพิจารณาฌาน ที่ท่านเรียกว่า ปัจจเวกขณวสี = ชำนาญในการพิจารณา.

ในขั้นต่อไปก็มีแต่ขั้นของ การเลื่อนฌาน คือก้าวหน้าไปสู่ฌานชั้นสูงกว่า ถ้าท่านผู้ปฏิบัติไม่ใจร้อนเกินไป เมื่อฝึกโดยขั้นทั้ง ๕ ในฌานขั้นหนึ่งๆ ชำนาญแล้ว การก้าวไปสู่ฌานชั้นสูงกว่าจะไม่ลำบากเลย และไม่ค่อยผิดพลาดด้วย ขอให้ถือหลักของโบราณว่า “ช้าเป็นการ นานเป็นคุณ”ไว้เป็นคติเตือนใจเสมอๆ.

วิธีการที่จะเลื่อนฌานได้สะดวกดังใจนั้น อยู่ที่กำหนดหัวเลี้ยวหัวต่อของฌานไว้ให้ดี คือ ขั้นต่อไปจะต้องละองค์ฌานที่เท่าไร และองค์ฌานนั้นมีลักษณะอย่างไร ดำรงอยู่ได้ด้วยอะไร ดังที่ข้าพเจ้าได้อธิบายไว้แล้วในตอนว่าด้วยลักษณะฌานทั้ง ๔ นั้น เมื่อกำหนดรู้แจ่มชัดแล้ว พึงกำหนดใจไว้ด้วยองค์ที่เป็นปฏิปักษ์กับองค์ที่ต้องละนั้นให้มาก เพียงเท่านี้จิตก็เลื่อนขึ้นสู่ฌานชั้นสูงกว่าได้ทันที เมื่อเข้าถึงขีดชั้นของฌานชั้นนั้นแล้ว พึงทำการฝึกหัดตามขั้นทั้ง ๕ ให้ชำนาญ แล้วจึงเลื่อนสู่ชั้นที่สูงกว่าขึ้นไป โดยนัยนี้ ตลอดทั้ง ๔ ฌาน.

เพื่อสะดวกแก่การกำหนดหัวต่อ ของฌานดังกล่าวแล้วแก่ผู้ปฏิบัติ จึงขอชี้ “หนาม” ของฌานให้เห็นชัด โดยอาศัยพระพุทธภาษิตเป็นหลัก ดังต่อไปนี้

พระบรมศาสดาตรัสชี้หนามของฌานไว้ว่า เสียง เป็นหนามของปฐมฌาน, วิตก =ความคิด วิจาร = ความอ่าน เป็นหนามของทุติยฌาน, ปีติ = ความชุ่มชื่น เป็นหนามของตติย-ฌาน, ลมหายใจ เป็นหนามของจตุตถฌาน ดังนี้.

ในขั้นปฐมฌาน จิตยังสังโยคกับอารมณ์อยู่ อายตนะภายในยังพร้อมที่จะรับสัมผัสอายตนะภายนอกได้อยู่ฉะนั้น เสียง จึงสามารถเสียดแทรกเข้าไปทางโสตประสาทสู่จุดรวมคือใจ แล้วทำใจให้กระเทือนเคลื่อนจากอารมณ์ที่กำลังคิดอ่านอยู่ บรรดาอายตนะภายนอกที่สามารถเสียดแทรกทำความกระเทือนใจในเวลาทำฌานนั้น เสียงนับว่าเป็นเยี่ยมกว่าเพื่อน ยิ่งเป็นเสียงที่กระแทกแรงๆ โดยกะทันหัน ยิ่งเป็นหนามที่แหลมที่สุด สามารถกระชากจิตจากฌานทันทีทันใด แต่ถ้าดื่มด่ำในอารมณ์ของฌานให้มากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณแล้ว เสียงก็จะทำอะไรใจเราไม่ได้ ได้ยินก็เหมือนไม่ได้ยิน ไม่กระเทือนถึงใจนั่นเลย.

ในขั้นทุติยฌาน ความคิดความอ่าน จะกลายเป็นหนามตำจิตขึ้นมาในทันที คือ เมื่อไรดิ่งลงสู่ความสงบเงียบโดยไม่คิดอ่านอะไรเลยนั้น ใจก็จะผ่องแผ้วอยู่โดดเดี่ยวเดียวดาย ภาพนิมิตในขณะนั้นคือ จิตจะใสแจ๋วเหมือนน้ำใสนิ่งๆ ฉะนั้น แต่ครั้นแล้วเพราะความเคยชิน คือ จิตเคยท่องเที่ยวอยู่ในอารมณ์มานาน หรืออารมณ์เคยคลอเคลียอยู่กับจิตมานาน เมื่อมาพรากกันเช่นนี้ก็จะพรากกันนานไม่ได้ ต้องมาเยือนบ่อยๆ จะค่อยๆ ปุดขึ้นในจิตเหมือนปุดฟองน้ำ ที่ปรากฏขึ้นมาจากส่วนใต้สุดของพื้นน้ำในเมื่อน้ำเริ่มใสใหม่ๆ ฉะนั้น เมื่อความคิดอ่านปุดโผล่ขึ้นในจิต จิตก็ไหวฉะนั้นท่านจึงว่าเป็นหนามของฌานชั้นนี้ วิธีแก้ก็คือ ไม่เอาใจใส่เสียเลย เอาสติกุมใจให้นิ่งๆ ไว้เหมือนแขกมาเยือน เหมือนเราไม่เอาใจใส่ต้อนรับ แขกก็จะเก้อกลับไป และไม่มาอีกบ่อยนักหรือไม่มาอีกเลยฉะนั้น.

ในขั้นตติยฌาน ปีติ = ความชุ่มชื่น ซึ่งเป็นทิพยาหารในฌานที่ ๑-๒ นั้น จะเกิดเป็นหนามของฌานชั้นนี้ทันที จะคอยทำให้จิตใจฟองฟูอยู่บ่อยๆ เหตุผลก็เหมือนในขั้นทุติยฌานนั่นเอง คือปีติเคยเป็นทิพยาหารของใจมานานแล้ว เมื่อมาพรากไปเสียเช่นนี้ ก็อดจะคิดถึงและมาเยือนไม่ได้วิธีแก้ก็ต้องใช้สติกุมใจให้วางเฉย ไม่เอาใจใส่ถึงอีกเลย มันก็จะหายหน้าไป ถ้าไม่เรียก มันก็จะไม่มาอีก.

ในขั้นจตุตถฌาน ลมหายใจ ซึ่งเป็นเครื่องปรุงแต่งกายสืบต่อชีวิตนั้น เป็นที่ตั้งของสุขทุกข์และโสมนัสโทมนัส เมื่อมาปรากฏในความรับรู้ของจิตอยู่ตราบใด สุขโสมนัส และทุกขโทมนัส ซึ่งอาศัยอยู่กับมัน ก็จะปรากฏทำการรบกวนจิตอยู่ตราบนั้น เพราะลมหายใจเป็นพาหนะของมัน ลมหายใจมีอยู่ได้โดยธรรมดาเอง แม้จิตไม่เข้าไปเป็นเจ้าการ ก็คงมีอยู่เหมือนเวลานอนหลับ แต่ในความรู้สึกของคนตื่นอยู่ คล้ายกะว่ามันเป็นอันเดียวกันกับจิต จนไม่อยากวางธุระในมัน เข้าไปเป็นเจ้าการกับมันอยู่เรื่อยไป ผู้เข้าฌานไม่เหมือนคนหลับ ตรงกันข้ามเป็นคนตื่น เมื่อเป็นเช่นนี้ลมหายใจจึงคอยแหลมเข้าไปหาจิตบ่อยๆ เมื่อแหลมเข้าไปเมื่อไรจิตใจก็มักจะสัมปยุตต์กับมัน หรือมิฉะนั้นก็สะเทือน จึงชื่อว่าเป็นหนามของจตุตถฌาน วิธีการแก้ก็คือ เอาสติกุมจิตให้วางเฉยที่สุดไม่ใส่ใจถึงส่วนหนึ่งส่วนใดของกายอีกเลย ลมหายใจก็ไม่ปรากฏในความรับรู้ของจิต ทั้งจะกลายเป็นลมละเอียดนิ่งเต็มตัว ไม่มีอาการเคลื่อนไหวไปมา และเวลานั้นจะรู้สึกประหนึ่งว่า ตนนั่งอยู่ในกลุ่มอากาศใสๆ สงบนิ่งแน่อยู่ เหมือนนั่งเอาผ้าขาวสะอาดโปร่งบางคลุมตัวตลอดศีรษะฉะนั้น.

ผู้ปฏิบัติพึงสำเหนียกต่อไปอีกว่า การเจริญฌานนั้น เปรียบเหมือนการสำรวจภูมิประเทศซึ่งจำต้องเดินสำรวจกลับไปกลับมา เที่ยวแล้วเที่ยวเล่าจนช่ำชอง มองเห็นภูมิประเทศในห้วงนึกอย่างทะลุปรุโปร่งฉะนั้น เพราะฉะนั้น ต้องเดินฌานที่ตนได้แล้ว ตั้งแต่ปลายจนต้น เที่ยวแล้วเที่ยวเล่า เป็นเหตุให้เกิดความช่ำชองในฌานทะลุปรุโปร่ง.

ทิพยภาวะ

ก่อนจบบทนี้ ข้าพเจ้าขอชี้แจงเรื่องทิพยภาวะที่ได้พูดเกริ่นไว้ในตอนต้นของบทนี้สักเล็กน้อย ในคราวที่พระบรมศาสดาตรัสแก่ชาวบ้านเวนาคะปุระนั้น ทรงชี้แจงวัตถุภายนอกในเมื่อเจริญฌานแล้วว่าเป็นทิพย์ นั่นเป็นการชี้วัตถุที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เห็นง่าย ทั้งเป็นเครื่องยืนยันถึงภาวะแห่งจิตใจในขณะนั้นว่าบริบูรณ์ไปด้วยทิพยสมบัติแล้ว จะมาไยดีอะไรกับสิ่งภายนอกซึ่งเป็นสิ่งที่หยาบกว่าหลายเท่าพันทวี เมื่อชีวิตจะต้องเป็นอยู่ได้ด้วยวัตถุปัจจัย แม้เช่นใดเช่นหนึ่ง ก็เป็นที่เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้วัตถุปัจจัยที่เลอค่าและฟุ่มเฟือย.

ความสุขของคนมิได้อยู่ที่วัตถุอันเลอค่า หรือฟุ่มเฟือย แต่อยู่ที่ความอิ่มเต็มต่างหาก เมื่อใจยังไม่อิ่มเต็ม แม้จะมั่งมีเหลือล้นสักปานใด ก็มิได้รับความสุข ฉะนั้น จุดที่เราควรเอาใจใส่จึงอยู่ที่ใจของเราเอง เมื่อแก้ใจให้หายหิว มีความอิ่มเต็มด้วยอุบายวิธีใดวิธีหนึ่งได้แล้ว นั่นชื่อว่า บรรลุถึงความสุขที่แท้จริง.

พระบรมศาสดาทรงรำพึง เมื่อคราวจะเลิกทุกกรกิริยาว่า “เราควรกลัวด้วยหรือ ซึ่งความสุขอันปราศจากอามิส ที่ปุถุชนเขาไม่เสพกัน เราควรกลับไปเดินทางนั้น ซึ่งมีสุขชุ่มชื่นใจ ก็แต่ว่าบัดนี้ร่างกายเราอ่อนแอเต็มที ไม่มีกำลังพอที่จะเริ่มความเพียร เพื่อบรรลุสุขชนิดนั้นได้ เราควรบำรุงร่างกายให้แข็งแรงพอสมควรก่อน...” ดังนี้ ครั้นแล้ว ภายหลังก็ทรงบรรลุถึงความสุขนั้นและตรัสว่าเป็นความสุขที่ปราศจากอามิส ผู้ประสพความสุขชนิดนี้จะไม่คำนึงถึงความเลอค่า และฟุ่มเฟือยของวัตถุภายนอก วัตถุปัจจัยแม้เช่นใดเช่นหนึ่ง ก็ดูเหมือนเป็นของดีวิเศษไปหมด และพอแก่ความต้องการ ดั่งที่ตรัสเรียกว่า เป็นทิพย์นั้นแล้ว.

การที่วัตถุภายนอกในความรู้สึกของผู้เข้าฌาน ๔ ปรากฏเป็นทิพย์ไปนั้น ก็ด้วยมีทิพยภาวะอยู่ในจิตใจพอเพียง หาไม่ก็ปรากฏเป็นทิพย์ไปไม่ได้ ฉะนั้น พึงทราบทิพยภาวะในจิตใจของผู้ได้ฌานไว้บ้าง การที่จะรู้ได้ก็ต้องอาศัยอนุมานจากความรู้สึกของคนธรรมดาในบางครั้งบางคราวเป็นหลัก เวลาเราคิดอ่านเรื่องอะไรอย่างหนึ่งซึ่งเราพอใจ เราจะรู้สึกเพลิดเพลิน เกิดความดูดดื่มไม่อยากหยุด และรู้สึกว่ามีสุขเหลือล้น ถ้าได้มีเวลาคิดอ่านอะไรเพลินๆ เช่นนั้นนี้แหละที่พึงอาศัยเป็นหลัก อนุมานไปถึงความรู้สึกของผู้ได้ฌาน และพึงทราบว่า อารมณ์ของผู้ได้ฌานประณีตกว่า ดีกว่าของคนธรรมดาสามัญหลายเท่าพันทวี อารมณ์ประณีตที่ปรุงแต่งจิตใจของผู้ได้ฌานอยู่ในขณะนั้นนั่นแหละเรียกว่า “ทิพยภาวะ” ที่ทำให้รู้สึกสิ่งทั้งปวงภายนอกที่ตนบริโภคใช้สอยอยู่ แม้เป็นเพียงสิ่งพื้นๆ ไม่วิเศษวิโส กลายเป็นสิ่งวิเศษวิโส คือเป็นทิพย์ไปด้วย และทิพยภาวะนี้แหละจะเป็นเครื่องเกื้อหนุนให้เกิดทิพยอำนาจต่อไป ผู้ต้องการทิพยอำนาจจะมองข้ามไป แล้วจะปลูกสร้างทิพยอำนาจขึ้นได้นั้น มิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น ผู้ต้องการทิพยอำนาจจึงควรเจริญฌาน ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งทิพยภาวะ ให้เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยทิพยสมบัติก่อน แล้วจึงอาศัยเป็นที่ปลูกสร้างทิพยอำนาจต่อไป จึงจะเป็นได้สมปรารถนา.



จาก http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/misc/ ทิพยอำนาจ-04.htm
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...