ผู้เขียน หัวข้อ: ทิพยอำนาจ : บทที่ ๗ วิธีสร้างทิพยอำนาจ เจโตปริยญาณ รู้จักใจผู้อื่น  (อ่าน 1260 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ทิพยอำนาจ

พระอริยคุณาธาร (ปุสโส เส็ง , ปธ. 6)

วัดป่าเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น

เรียบเรียง



บทที่ ๗

วิธีสร้างทิพยอำนาจ เจโตปริยญาณ รู้จักใจผู้อื่น


ทิพยอำนาจข้อนี้ เป็นอุปกรณ์ในการแสดงธรรมอย่างวิเศษ การแสดงธรรมที่จะสบกับจริตอัธยาศัยและความคิดเห็นของบุคคล จนถึงทำให้ผู้ฟังเกิดอัศจรรย์และยอมเชื่อฟังได้อย่างนั้น ย่อมอาศัยทิพยอำนาจข้อนี้เป็นกำลังสำคัญอุดหนุนอยู่ พระบรมครูของเราทรงใช้ทิพยอำนาจข้อนี้เสมอในการทรมานเวไนย ใครควรได้รับการทรมานด้วยวิธีใด ด้วยพระธรรมเทศนาอย่างไร ย่อมทรงกำหนดไว้ในพระหฤทัยก่อนแล้ว จึงทรงดำเนินการในภายหลัง ข้อนี้ย่อมสมจริงกับพระพุทธกิจที่ทรงปฏิบัติประจำวัน คือ

๑. ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ เวลาเช้าเสด็จบิณฑบาตโปรดสัตว์ สงเคราะห์ผู้ต้องการบุญให้ได้ทำทานในเขตดี ถ้าผู้ควรได้รับการสงเคราะห์ในวันนั้นอยู่ในที่ใกล้ ก็มักเสด็จไปสงเคราะห์ในเวลาบิณฑบาตนั้นเอง.

๒. สายณฺเห ธมฺมเทสนํ เวลาเย็นทรงแสดงธรรมแก่ประชาชนซึ่งพากันมาฟัง คือในที่ใดที่เสด็จไปประทับประจำอยู่นาน ในที่นั้นประชาชนผู้เคารพนับถือย่อมถือเป็นกรณีสำคัญ เวลาเย็นซึ่งเป็นเวลาว่างงาน และพระบรมศาสดาจารย์ก็ออกจากที่พักผ่อนในเวลากลางวัน ต่างก็เข้าเฝ้าฟังพระธรรมเทศนาเสมอ เช่นประชาชนในกรุงสาวัตถีเป็นตัวอย่าง.

๓. ปโทเส ภิกฺขุ โอวาทํ เวลาพลบค่ำทรงโอวาทพระภิกษุให้เข้าใจในข้อวัตรปฏิบัติอบรมจิตใจ และให้ฉลาดในข้อธรรมที่จะนำไปสั่งสอนประชาชน หรือโต้ตอบปัญหาทุกๆ เวลาค่ำพระภิกษุทั้งหลายจะมาชุมนุมกันในโรงอุปัฏฐาก พระบรมศาสดาจารย์จะทรงกำหนดจิตใจของภิกษุทั้งหลายด้วยเจโตปริยญาณแล้วเสด็จไปที่โรงอุปัฏฐาน ทรงโอวาทและแสดงธรรมแก้ความสงสัยของภิกษุทั้งหลายพอสมควรแล้ว จึงเสด็จกลับพระคันธกุฎีซึ่งเป็นที่ประทับ บางคราวถึงกับรุ่งสว่าง ณ อุปัฏฐานศาลานั้นเอง.

๔. อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ เวลาเที่ยงคืนทรงแก้ปัญหาเทวดา คือว่าเทวดามาเฝ้าเวลาเที่ยงคืนเสมอ และชอบนำปัญหาต่างๆ มาทูลถาม จึงเป็นภารกิจที่ทรงแก้ปัญหาเทวดาในเวลานั้น ครั้นรุ่งเช้าก็ตรัสเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟัง เพื่อจดจำเอาไว้.

๕. ปจฺจูเส ว คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ เวลาจวนใกล้รุ่ง ทรงตรวจดูสัตวโลกผู้ควรโปรด คือ พอจวนรุ่งสว่างไม่ว่าประทับ ณ ที่ใดๆ จะทรงเข้าพระกรุณาสมาบัติเสมอ ทรงแผ่น้ำพระทัยสงสารสัตว์ อยากจะโปรดให้พ้นทุกข์ไปทั่วโลกทุกทิศทุกทาง ใครเป็นผู้มีอุปนิสัยควรโปรดก็จะมาปรากฏในข่ายพระญาณ ทรงกำหนดจริตอัธยาศัยด้วยเจโตปริยญาณแล้วพอรุ่งเช้าก็เสด็จไปโปรดทันที ถ้าเป็นที่ใกล้ก็เสด็จไปในคราวบิณฑบาตนั้นเอง ถ้าเป็นที่ไกลก็เสด็จไปภายหลังบิณฑบาตแล้ว การที่ทรงตรวจดูสัตวโลกด้วยพระกรุณาสมาบัตินี้ ทรงถือเป็นธรรมเนียมที่ต้องปฏิบัติเป็นอาจิณ มิได้ละเว้นเลย.

การกำหนดรู้จริตอัธยาศัยเสียก่อนแล้ว จึงแสดงธรรมสั่งสอน ย่อมได้ผลศักดิ์สิทธิ์เหมือนกับบ่งหนามด้วยหนาม หรือเกาถูกที่คันฉะนั้น. พระบรมศาสดาและพระสาวกผู้ชำนาญทางเจโตปริยญาณจึงทรงใช้เสมอ.

อนึ่ง การสามารถกำหนดรู้จิตใจ แล้วบอกได้ว่าผู้นั้นมีจิตใจอย่างไร มีความคิดเห็นอะไรในขณะนั้น มีกิเลสหรือคุณธรรมอะไรแทรกซึมอยู่ในใจ ควรแก้ไขหรือส่งเสริมอย่างไรจึงจะเป็นผลดีเช่นนี้ท่านจัดเป็นปาฏิหาริย์อันหนึ่ง เรียกว่า อาเทสนาปาฏิหาริย์ แปลว่าการดักใจถูกต้องเป็นที่น่าอัศจรรย์ เป็นปาฏิหาริย์ ๑ ใน ๓ คือว่า ปาฏิหาริย์มี ๓ ประการดังกล่าวมาแล้วในบทที่ ๕ คือ

๑. อิทธิปาฏิหาริย์ ได้แก่ฤทธิ์เป็นที่น่าอัศจรรย์.

๒. อาเทสนาปาฏิหาริย์ ได้แก่การดักใจถูกต้องเป็นที่น่าอัศจรรย์.

๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ได้แก่คำสอนเป็นที่น่าอัศจรรย์ คือเป็นคำสั่งสอนประกอบด้วยเหตุผล ความจริง และสามารถปฏิบัติตามได้ ทั้งให้ผลสมจริงแก่ผู้ปฏิบัติดังตรัสไว้ ไม่เป็นการเกินวิสัย ทั้งเป็นคำสั่งสอนเหมาะแก่ทุกสมัยด้วย.

ในบรรดาปาฏิหาริย์ ๓ นี้ ทรงยกย่องอนุสาสนีปาฏิหาริย์ว่าเยี่ยมยอด ด้วยประทานเหตุผลว่า ยั่งยืนเป็นประโยชน์นาน แม้แก่ปัจฉิมชนคนรุ่นหลังๆ ส่วนอิทธิปาฏิหาริย์และอาเทสนาปาฏิหาริย์นั้นเป็นประโยชน์เฉพาะผู้ได้ประสบพบเห็น หรือคนรุ่นนั้นเท่านั้น ไม่เป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลังๆ ดังอนุสาสนี ถึงอย่างนั้นก็ดี พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงละการทำฤทธิ์และดักใจ ทรงใช้ปาฏิหาริย์ทั้ง ๓ นั้นอยู่เสมอ พระอนุสาสนีย่อมสำเร็จขึ้นด้วยปาฏิหาริย์ ๓ ประกอบกัน ฉะนั้นจึงสำเร็จประโยชน์ดี.

เป็นความจริงที่แน่นอนที่สุด ถ้าคนผู้ให้คำสั่งสอนเป็นคนมีอานุภาพทางใจ ทั้งมีญาณหยั่งรู้อัธยาศัยของผู้รับคำสั่งสอน และเป็นผู้ทำได้ในสิ่งที่ตนสั่งสอนแล้ว คำสั่งสอนย่อมมีรสชาติดูดดื่มและซาบซึ้งถึงใจของผู้ฟัง เป็นเหตุให้ผู้รับคำสั่งสอนบังเกิดสติและปัญญาได้ดี ด้วยเหตุนี้ปาฏิหาริย์ทั้ง ๓ ประการจึงจำเป็นต้องใช้ในการแนะนำสั่งสอนผู้อื่นเสมอไป ผู้มีอานุภาพทางใจแม้มิได้จงใจใช้อิทธิปาฏิหาริย์ก็ตาม อำนาจใจนั้นย่อมแผ่รัศมีครอบคลุมจิตใจผู้ฟังให้เกิดความสงบ ความเคารพยำเกรง ความตั้งใจฟังอยู่โดยปกติแล้ว จึงเป็นอันแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อยู่ในตัวแล้ว ส่วนการดักใจหรือกำหนดรู้ใจก็เหมือนกัน สำหรับผู้มีใจผ่องแผ้วย่อมสามารถรับสัมผัสกระแสจิตของผู้อื่นได้ทุกขณะไป ถึงไม่ตั้งใจกำหนดรู้ก็ย่อมรู้ได้อยู่แล้ว การแสดงธรรมหรือให้คำแนะนำสั่งสอนจึงอาจปริวัติไปตามอัธยาศัยของผู้รับธรรมเทศนา หรือคำแนะนำสั่งสอนได้โดยปกติ อนุสาสนีของท่านผู้สามารถเช่นนี้ ย่อมมีรสชาติดูดดื่มซาบซึ้งถึงใจ เป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์แท้. ผู้มีโอกาสได้รับคำสั่งสอนของผู้เช่นนั้น ย่อมเท่ากับได้รับโสรจสรงด้วยน้ำทิพย์ หรือได้รับพรสวรรค์ ย่อมแช่มชื่นเบิกบานใจทันทีทันใด.

เจโตปริยญาณ นอกจากอำนวยประโยชน์ในการแสดงธรรมแล้ว ยังเป็นประโยชน์ในการเลือกคบค้าสมาคมกับคนได้ดีด้วย เพราะว่าอาเสวนะ คือการคบค้าสมาคมย่อมเป็นปัจจัยน้อมเอียงอัธยาศัยใจคอของคนเราให้เปลี่ยนแปลงไปได้ ถ้าจิตใจน้อมเอียงไปในด้านดีก็เป็นศรีแก่ตัวถ้าน้อมเอียงไปในด้านร้ายก็เป็นภัยแก่ตัว นักปราชญ์ท่านจึงสอนให้เลือกคบคน เว้นการคบค้าสมาคมกับคนชั่ว สมาคมกับคนดี คนดีและคนชั่วท่านว่ามีความประพฤติเป็นเครื่องหมายให้รู้ คือคนดีมีความประพฤติดี และคนชั่วมีความประพฤติชั่วเป็นลักษณะ แต่ถึงกระนั้นก็มิใช่รู้ได้ง่ายเพราะคนโดยมากย่อมมีนิสัยปิดชั่วเปิดดี เราจะหาคนเปิดเผยตรงไปตรงมาได้ยาก ถ้าเรามีเจโต-ปริยญาณแล้ว เราจะรู้จักคนดีคนเลวได้ไวที่สุด เพราะคนเราปิดอะไรๆ ในส่วนภายนอกนั้นย่อมปิดได้ แต่จะปิดใจปิดไม่อยู่ ผู้รู้สึกตัวว่ามีความชั่ว พยายามปกปิดเพื่อมิให้ผู้อื่นรู้นั้น ย่อมมีความรู้สึกในใจรุนแรง ทำให้เกิดกระแสทางใจขึ้น แล้วเกิดเป็นลูกคลื่นแผ่ซ่านออกไปเป็นปริมณฑล คนผู้มีเจโตปริยญาณย่อมรับทราบได้ดี ผู้พยายามปกปิดความชั่วของตัวจึงเท่ากับเปิดเผยความชั่วในใจยิ่งขึ้น สมกับคำว่า “ยิ่งปิดเท่ากับยิ่งเปิด” เพราะเหตุว่ากระแสจิตย่อมเกิดจากความรู้สึกสะเทือนใจนั่นเอง ก่อนอื่น ท่านแสดงสิ่งปรุงแต่งไว้ ๓ ประการ คือ

๑. กายสังขาร สิ่งปรุงแต่งกาย ได้แก่ลมหายใจเข้า-ออก ซึ่งเป็นไปอยู่โดยปกติธรรมดา ทำให้ร่างกายเจริญอยู่และเจริญเติบโตสืบต่อกันไป เมื่อใดลมหายใจขาดไป เมื่อนั้นกายก็หยุดดำรงและหยุดเจริญเติบโต ถึงแก่ความขาดสิ้นชีวิตอินทรีย์ลงทันที.

๒. วจีสังขาร สิ่งปรุงแต่งวาจา ได้แก่วิตกคือความคิด และวิจารคือความอ่าน อันเป็นไปอยู่ในจิตใจของคนปกติธรรมดาทุกคน ก่อนที่จะพูดจาปราศรัยย่อมต้องคิดอ่านเรื่องที่จะนำมาพูดและคิดอ่านปรุงแต่งคำพูดเข้าเป็นพากย์ เป็นประโยค ให้ผู้ฟังรู้เรื่องที่ตนพูด เมื่อคิดอ่านขึ้นยังมิทันได้พูดออกมาทางปากก็ย่อมเกิดเป็นสัททชาติทันที ผู้มีทิพพโสต-หูทิพย์ ย่อมได้ยินเช่นเดียวกับเสียงพูดทางปาก ส่วนผู้มีเจโตปริยญาณย่อมรับทราบกระแสสัมผัสแห่งความคิดอ่านนั้นได้ง่ายดาย.

๓. จิตตสังขาร สิ่งปรุงแต่งจิต ได้แก่สัญญาและเวทนา สัญญาหมายถึงความรู้สึกสัมผัสทางทวาร ๖ จำได้ว่าเป็นอะไร เวทนาหมายถึงความรู้สึกรสสัมผัส คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เป็นที่สบาย ไม่สบาย หรือเฉยๆ นั้น ความรู้สึก ๒ ประการนี้ปรุงแต่งจิตให้เกิดความรู้สึกดี-ร้ายขึ้นในใจอยู่เสมอ และเป็นเหตุให้คิดอ่าน ตรึกตรองหาลู่ทางเพื่อได้สิ่งดี เว้นสิ่งร้ายเสมอ เมื่อจะพูดก็ย่อมพูดไปตามความคิดอ่านนั่นเอง สัญญาและเวทนาทำให้เกิดกระแสคลื่นขึ้นในจิตก่อนสิ่งอื่นๆ ดังนี้ผู้มีเจโตปริยญาณจึงสามารถรับรู้ได้ในเมื่อมาสัมผัสเข้ากับใจ เพราะสิ่งใดที่เกิดเป็นกระแสคลื่นแล้ว สิ่งนั้นจะต้องแผ่ซ่านออกไปเป็นปริมณฑลรอบๆ ตัว จะปิดไว้ไม่อยู่ เหมือนคลื่นน้ำเกิดจากความสะเทือน ย่อมเป็นกระแสคลื่นกระจายออกไปจนสุดกำลังของมันฉะนั้น.

จิตตสังขาร และ วจีสังขาร ๒ ประการนี้ ถ้าจะเปรียบกับคลื่นภายนอก จิตตสังขารเปรียบได้กับคลื่นวิทยุ วจีสังขารเปรียบได้กับคลื่นเสียง ซึ่งแผ่กระจายไปในอากาศวิถีฉะนั้น สมัยปัจจุบันวิทยาศาสตร์สามารถค้นพบความจริงเรื่องวิทยุและเสียง จึงประดิษฐ์เครื่องส่งและรับคลื่นทั้งสองนี้เป็นผลสำเร็จ ทำให้เราได้ฟังเสียงอันมาจากระยะไกลได้ ส่วนคลื่นจิตตสังขารและวจีสังขารนี้ เมื่อจะบัญญัติศัพท์ให้คล้ายคลึงกับคลื่นทั้งสองนั้น ข้าพเจ้าขอบัญญัติคลื่นจิตตสังขารว่า คลื่นจิต, ขอบัญญัติคลื่นวจีสังขารว่า คลื่นเสียง คลื่นจิตและคลื่นเสียงย่อมแผ่กระจายออกจากแหล่ง คือตัวเองเป็นปริมณฑลอยู่เสมอ กว้างแคบตามกำลังของคลื่นจิต ซึ่งเป็นแรงส่งนั่นเอง ถ้าความกระเทือนทางจิตแรง คลื่นก็แรง และสามารถส่งไปได้ไกลมากเช่นเดียวกับคลื่นวิทยุฉะนั้น ผู้มีเครื่องรับคลื่นจิตและคลื่นเสียงย่อมสามารถรับรู้รับฟังได้ เหมือนผู้มีเครื่องรับวิทยุฉะนั้น จิตใจที่ได้รับการฝึกฝนจนใสแจ๋วแล้วนั้น จะเป็นเครื่องรับรู้คลื่นจิตเป็นอย่างดี จิตใจที่ได้รับการฝึกฝนเช่นนั้นด้วย มีทิพพโสตด้วย จะสามารถรับฟังคลื่นเสียงได้เป็นอย่างดี เว้นแต่จะไม่เปิดรับรู้รับฟังเท่านั้น ถ้ามีความจำนงจะรับรู้รับฟังแล้วเป็นต้องรู้และได้ยินเสมอ.

นอกจากความสามารถในการรับรู้คลื่นจิต และรับฟังคลื่นเสียงของจิตดังกล่าวมาแล้วผู้เชี่ยวชาญทางจิตอย่างเยี่ยม เช่น พระบรมศาสดา สามารถรับรู้สภาพของจิตก่อนแต่ที่จะมีความกระเทือนจิตและคิดอ่านเสียด้วยซ้ำ เช่นในเวลาที่บุคคลอยู่ในฌานได้ตั้งใจไว้อย่างไร มีความรู้สึกในขณะนั้นอย่างไร มีความน้อมเอียงไปทางไหน เมื่อออกจากฌานแล้วจะรู้สึกรสสัมผัสอย่างไรและจะคิดอ่านอย่างไรต่อไป เช่นนี้ พระบรมศาสดาทรงสามารถคาดการณ์ถูกต้องหมด มีเรื่องหนึ่งในพระไตรปิฎก ซึ่งควรเป็นอุทาหรณ์แห่งเจโตปริยญาณอย่างดี จะนำมาเล่าต่อไปนี้

สมัยหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับที่บุพพาราม กรุงสาวัตถี วันนั้นเป็นวันอุโบสถพระจันทร์เพ็ญ พระมหาเถระที่มีชื่อเสียง คนรู้จักมากมายหลายท่าน อาทิเช่น พระมหาโมคคัลลา-นะ พระอนุรุทธะ ฯลฯ ต่างก็มาเฝ้าและรอฟังพระปาฏิโมกข์ พระอานนท์ได้จัดแจงชุมนุมสงฆ์พร้อมเพรียงในเวลาเย็น แล้วไปเฝ้ากราบทูลเวลาให้ทรงทราบ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงนิ่งครั้นปฐมยามล่วงไปแล้วพระอานนท์ก็ไปเฝ้ากราบทูลเตือนอีก ก็ทรงนิ่งอีก ครั้นมัชฌิมยามล่วงไปแล้วพระอานนท์ก็ไปเฝ้ากราบทูลเตือนอีก จึงตรัสว่าสงฆ์ไม่บริสุทธิ์ ไม่สมควรจะสวดพระปาฏิโมกข์พระอานนท์จึงกลับไปแจ้งพระพุทธดำรัสแก่พระมหาเถระในที่ชุมนุม พระมหาเถระรูปหนึ่งได้ลุกขึ้นประกาศพระพุทธดำรัสนั้น แล้วบอกให้สำรวจตัวเอง ใครเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์จงออกไปจากที่ชุมนุมภิกษุทั้งหลายต่างก็นิ่ง ไม่มีใครแสดงตัวว่าไม่บริสุทธิ์แล้วออกจากที่ชุมนุมไป พระมหาเถระประกาศซ้ำอีกเป็นครั้งที่ ๒ และที่ ๓ โดยลำดับ ก็ไม่มีใครแสดงตัวว่าไม่บริสุทธิ์เช่นเดิม จึงทันทีนั้นพระมหาโมคคัลลานเถระได้ตรวจจิตภิกษุทั้งหลายด้วยเจโตปริยญาณ ทราบว่าภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์สมจริงกับพระพุทธดำรัส จึงบอกระบุชื่อภิกษุนั้นให้ออกไปจากที่ชุมนุม ภิกษุนั้นก็ยังนิ่งอยู่อีก พระอานนท์จึงลุกขึ้นไปลากแขนเธอออกไปจากที่ชุมนุม แล้วไปกราบทูลสมเด็จพระผู้มีพระภาคว่า บัดนี้มีสงฆ์บริสุทธิ์แล้ว โปรดทรงแสดงพระปาฏิโมกข์เถิดพระเจ้าข้า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปสู่ที่ชุมนุมแล้วทรงแสดงปาฏิโมกข์ในท่ามกลางสงฆ์ผู้บริสุทธิ์ เมื่อทรงแสดงพระปาฏิโมกข์จบลงแล้วจึงตรัสว่า ไม่เป็นการสมควรเลยที่ตถาคตจะแสดงพระปาฏิโมกข์ในสงฆ์ผู้ไม่บริสุทธิ์ ถ้าขืนแสดง ศีรษะของผู้ไม่บริสุทธิ์นั้นก็จะพึงแตก ๗ เสี่ยง ดังนี้.

ความจริง จิตใจโดยธรรมชาติย่อมมีกระแสอยู่เสมอ กระแสจิตใจของบุคคลย่อมมีลักษณะต่างๆ กัน แล้วแต่สิ่งสัมปยุตต์ในขณะนั้น ถ้าสิ่งสัมปยุตต์เป็นฝ่ายดีกระแสจิตก็ย่อมดี ถ้าสิ่งสัมปยุตต์เป็นฝ่ายไม่ดีกระแสจิตก็ย่อมไม่ดี ผู้มีความเชี่ยวชาญทางเจโตปริยญาณอย่างเยี่ยมสามารถรับรู้กระแสจิตดังว่านี้ได้ดี เท่ากับรู้ใจตนเอง เพราะท่านผู้เช่นนั้นย่อมได้ผ่านการฝึกฝนจิตในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานมาเป็นอย่างดีแล้ว กระแสจิตตามที่ท่านกำหนดไว้ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน มี ๑๖ ลักษณะ ซึ่งเป็นลักษณะใหญ่ๆ แบ่งเป็นฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี เพื่อทำการศึกษาสำเหนียกให้ทราบกันทุกลักษณะไป จะได้แก้ไขส่วนชั่ว และปรับปรุงส่วนดีให้ดียิ่งขึ้นไปดังต่อไปนี้
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด

โสฬสจิต

กระแสจิตฝ่ายชั่ว _______|_______กระแสจิตฝ่ายดี

๑. สราคจิตต์ จิตเจือรัก_____|_____ วีตราคจิตต์ จิตหายรัก

๒. สโทสจิตต์ จิตเจือชัง____|______วีตโทสจิตต์ จิตหายชัง

๓. สโมหจิตต์ จิตเจือหลง___|______ วีตโมหจิตต์ จิตหายหลง

กระแสจิตฝ่ายชั่ว________|_____  กระแสจิตฝ่ายดี

๔. สังขิตตจิตต์๑ จิตหดหู่ ___|______วิกขิตตจิตต์ จิตฟุ้งซ่าน

กระแสจิตฝ่ายดี__________|_____  กระแสจิตฝ่ายชั่ว

๕. มหัคคตจิตต์ จิตกว้างขวาง|_____ อมหัคคตจิตต์ จิตคับแคบ

๖. อนุตตรจิตต์ จิตยิ่งใหญ่___|______สอุตตรจิตต์ จิตไม่ยิ่งใหญ่

๗. สมาหิตจิตต์ จิตตั้งมั่น____|______ อสมาหิตจิตต์ จิตซัดส่าย

๘. วิมุตตจิตต์ จิตอิสระ______|______ อวิมุตตจิตต์ จิตติดขัด.

หมายเหตุ: นี้เรียงลำดับตามมหาสติปัฏฐานสูตร.

จะอธิบายลักษณะจิต ๑๖ นั้นพอเป็นที่สังเกตของผู้ศึกษาต่อไป แต่จะอธิบายฝ่ายดีก่อน


จิตหายรัก หายชัง หายหลงนั้น เป็นจิตที่จางจากความรัก ความชัง และความหลง กลับคืนสู่สภาพเดิมแท้ของจิต จึงจัดไว้ในฝ่ายดี ตามธรรมดาปุถุชนทุกคนย่อมมีกิเลสเป็นปกติ แต่กิเลสนั้นมิได้แสดงตัวให้ปรากฏชัดๆ เสมอไปจะแสดงตัวให้ปรากฏชัดก็ต่อเมื่อมีอารมณ์มาสัมผัส ยั่วยวนก่อกวนขึ้นเท่านั้น โดยปกติกิเลสจึงเป็นเพียงอนุสัย คือ นอนเนื่องอยู่ในจิตของปุถุชนอย่างมิดเมี้ยนเหมือนไม่มีกิเลสอะไรเลย ลักษณาการตอนนี้แหละที่เรียกว่าปกติจิตชนิดหนึ่ง เป็นจิตปกติของปุถุชน แต่มิใช่ปกติจิตของพระขีณาสพ เพราะจิตของพระขีณาสพไม่มีอนุสัย จิตปกติของปุถุชนนี้มีลักษณะไม่ร้อน ไม่ร้ายแต่ประการใด ค่อนไปทางลักษณะเย็นเสียด้วยซ้ำ เหมือนน้ำที่มีตะกอนนอนอยู่ภายใต้ เมื่อน้ำนั้นไม่กระเพื่อม ย่อมมีลักษณะใส แต่ยังมีตะกอนจมนอนอยู่ จึงไม่เป็นน้ำใสสะอาดแท้ ข้ออุปมานี้ฉันใด จิตใจที่หายรัก หายชัง หายหลงก็ฉันนั้น เพราะจิตยังไม่ปราศจากกิเลสอย่างเด็ดขาด ยังมีส่วนแห่งกิเลสเจืออยู่ เป็นแต่กิเลสไม่ฟุ้ง จิตจึงใสในสภาพปกติของตนเท่านั้น อาจจะกลับขุ่นขึ้นเมื่อไรก็ได้ ในเมื่อถูกกระเทือน ฉะนั้น จิตปกติชนิดนี้จึงหมายถึงจิตที่ยังมีกิเลสอยู่ แต่กิเลสนอนไม่ฟูฟุ้งขึ้นครอบคลุมจิต จิตในลักษณะสภาพเช่นนั้นย่อมมีกระแสปกติไม่ร้อนไม่ร้าย ค่อนข้างมีกระแสเย็น ส่วนจิตเจือราคะ โทสะ โมหะ เป็นจิตผิดปกติ คือแปรสภาพไปสู่ความรัก ความชัง ความหลง ถูกความรัก ความชัง ความหลง ครอบงำ ทำให้มีลักษณะร้อนรุ่มกลัดกลุ้ม ลุ่มหลงและขุ่นมัว เหมือนน้ำเจือสีหรือสิ่งสกปรก ถูกกระทบกระเทือนเป็นระลอกกระฉอกกระฉ่อน ย่อมขุ่นข้นไม่ผ่องใส แลดูเงาไม่เห็นฉะนั้น. จิตเจือความรัก ความชัง และความหลง เป็นจิตร้าย มีลักษณะร้อนต่างๆ กัน คือ จิตเจือราคะมีลักษณะร้อนอบอุ่น จิตเจือโทสะมีลักษณะร้อนแผดเผา จิตเจือโมหะมีลักษณะร้อนอบอ้าว.

สังขิตตจิตต์ จิตย่อหย่อน หมายเอาจิตซึ่งไม่มีอารมณ์ร้อน อารมณ์เย็นมายั่วยวนก่อกวนแต่ถูกอารมณ์มืดอารมณ์มัวมารบกวน จิตปุถุชนนั้นเมื่อถูกอารมณ์มาสัมผัสย่อมแตกกระจายซัดส่ายฟูฟุ้งไปตามลักษณะของอารมณ์ เหมือนปุยนุ่นหรือสำลีที่ถูกลมพัดฉะนั้น จิตที่ฟุ้งไปตามอารมณ์เป็นจิตเสียปกติ ย่อมมีกระแสร้อนรุ่มตามลักษณะของอารมณ์หรือกิเลสที่สัมปยุตต์นั้นๆถ้าสัมปยุตต์ด้วยราคะก็คิดพล่านไปในกามารมณ์ ถ้าสัมปยุตต์ด้วยโทสะก็คิดพล่านไปในเรื่องหงุดหงิดขัดเคือง ถ้าสัมปยุตต์ด้วยโมหะอย่างแรงก็คิดพล่านไปในเรื่องสงสัย ทำให้เกิดอาการลังเลใจ หวาดระแวงไปต่างๆ นานา แต่ถ้าอยู่กับโมหะที่อ่อนก็มืดก็หดตัว เป็นจิตอ่อนกำลังซบเซาเซื่องซึมมืดมัวย่อหย่อน ไม่ปราดเปรียวกระฉับกระเฉงแข็งแรง จิตใจตามสภาพธรรมดาย่อมมีลักษณะหดหู่เป็นพักๆ ส่วนจิตฟุ้งซ่านเป็นจิตพลุ่งพล่าน ไม่ดำรงตนเป็นปกติ สัมปยุตต์ไปด้วยอารมณ์วุ่นวายและกิเลส จึงจัดเป็นฝ่ายชั่ว มีกระแสผิดปกติเป็นกระแสร้อนอบอุ่น แผดเผา และอบอ้าวอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามลักษณะกิเลสที่เจือนั้น.

มหัคคตจิตต์ จิตกว้างขวาง เป็นจิตมีคุณธรรมเจือ คือ เป็นสมาธิขั้นอุปจาระ มีกระแสจิตแผ่กว้างเป็นปริมณฑลโดยรอบๆ ตัว มากน้อยตามกำลังสมาธิ. ผู้ฝึกหัดสมาธิแบบนี้เมื่อจิตสงบลงย่อมแผ่กระจายจิตออกไปโดยรอบๆ ตัว กำหนดเขตชั่วร่มไม้หนึ่ง บริเวณวัด บริเวณหมู่บ้าน ตำบลอำเภอ จังหวัด โดยลำดับไปจนสุดสามารถที่จะทำได้ ท่านเรียกสมาธิชนิดนี้ว่า มหัคคตเจโตวิมุตติจิตหลุดพ้นจากลักษณะคับแคบ ถึงความใหญ่โตกว้างขวาง คล้ายอัปปมัญญาเจโตวิมุตติ จิตหลุดพ้นจากความชัง ถึงความรักในสรรพสัตว์ ไม่มีเขตจำกัด ครอบคลุมโลกทั้งสิ้นหมด มหัคคตจิตต์นี้มีอาการแผ่จิตออกไปกว้างเป็นปริมณฑลโดยรอบ มิใช่แผ่เมตตาในสรรพสัตว์ จุดหมายของมหัคคตจิตต์อยู่ที่ต้องการกำจัดความรู้สึกคับแคบองจิตเป็นสำคัญ จิตคับแคบนั้นเป็นจิตเจือด้วยโทษ เป็นที่ตั้งแห่งความเห็นแก่ตัว มีความรู้สึกเศร้าหมองไม่เบิกบาน เมื่อทำการเจริญจิตแบบแผ่กว้าง ย่อมแก้โทษดังกล่าวลงได้. อนึ่ง จิตในขั้นอุปจารสมาธิแบบทั่วไปมีลักษณะกว้างขวาง แก้ความคับแคบได้เช่นเดียวกัน เป็นแต่ไม่มีปริมณฑลกว้างไกลดังที่ตั้งใจทำ ฉะนั้น มหัคคตจิตต์จึงหมายเอาจิตเป็นสมาธิขั้นอุปจาระ มีกระแสสงบและสว่างเป็นปริมณฑลโดยรอบๆ ตัว มากน้อยตามกำลังของการกระจายออก ส่วนอมหัคคตจิตต์เป็นจิตตรงกันข้าม มีลักษณะคับแคบ ไม่มีกระแสสว่าง เป็นจิตซอมซ่อเศร้าหมอง.

อนุตตรจิตต์ จิตยิ่งใหญ่ เป็นจิตมีคุณธรรมเจือ คือ เป็นสมาธิขั้นอัปปนาถึงความเป็นเอกภาพ มีอำนาจในตัวเอง เป็นอิสระในการงานของตน ไม่รู้สึกว่ามีอะไรเป็นนายเหนือตนในขณะอยู่ในสมาธินั้น จึงจัดว่าไม่มีอะไรยิ่งใหญ่กว่า จิตในฌานตั้งแต่ชั้นปฐมฌานขึ้นไปจนถึงชั้นสัญญา-เวทยิตนิโรธ ได้นามว่าอนุตตรจิตต์ทั้งหมด เพราะจิตในฌานทั้งหมดเป็นเอกภาพ ยิ่งในฌานชั้นสูงยิ่งมีเอกภาพสมบูรณ์ จิตที่เป็นเอกภาพย่อมมีลักษณะองอาจกล้าหาญ ไม่ครั่นคร้ามต่ออะไร หายหวาดหายกลัวหายสะดุ้ง มีกระแสหนักแน่นและสว่างไสว ส่วนจิตใจที่ไม่เป็นเอกภาพย่อมรู้สึกเหมือนเป็นทาสของสิ่งต่างๆ อยู่โดยปกติ มีหวาดมีกลัว มีสะดุ้งสะเทือนใจอยู่เนืองๆ จึงเรียกว่า สอุตตรจิตต์ จิตที่ไม่ยิ่ง โดยความก็คือจิตเป็นทาส ไม่เป็นไทยแก่ตัว ย่อมมีลักษณะอ่อนแอ อาจถูกปั่นถูกหมุนไปได้ทุกๆ ทาง มีกระแสเบาๆ ไม่หนักแน่น และไม่สว่างไสว.

สมาหิตจิตต์ จิตตั้งมั่น เป็นจิตเจือด้วยคุณธรรม คือถึงความเป็นอเนญชา เพราะได้รับการฝึกฝนอบรมด้วยคุณธรรมต่างๆ มีสติปัญญาสามารถดำรงรักษาตัวได้ดี ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์หรือกิเลสใดๆ ที่มาสัมผัส มีอุเบกขาธรรมในสิ่งนั้นๆ เสมอไปที่ท่านกล่าวไว้ว่าอเนญชจิตต์ ๑๖ ประการเป็นเค้ามูลของฤทธิ์ ดังกล่าวในบทที่ ๕ แล้ว จิตดังกล่าวนี้มีลักษณะมั่นคง เที่ยงตรง ไม่เอนเอียงไม่หวั่นไหวและแจ่มใสเสมอ มีกระแสหนักแน่นดูดดื่มซาบซึ้งและเย็นๆ ส่วนอสมาหิตจิตต์ จิตไม่ตั้งมั่นนั้นมีลักษณะตรงกันข้ามทุกประการ คือเป็นจิตกลับกลอกเป็นจิตใจที่ไม่ดี เสียคุณภาพ ไม่เป็นตนของตน ตกเป็นทาสของอารมณ์และกิเลส มีลักษณะมืดมัว วูบวาบไปมา.

วิมุตตจิตต์ จิตเป็นอิสระ เป็นจิตเจือด้วยคุณธรรมสูง คือหลุดพ้นจากสิ่งขัดข้อง ถึงความมีอิสระแก่ตัว อยู่ได้ตามใจประสงค์ ไม่ต้องพะวงว่าจะมีใครมาข่มเหง ต้องการอยู่สบายด้วยวิหารธรรมใดๆ ก็อยู่ได้ตามใจประสงค์ นี้กล่าวหมายถึงวิมุตตจิตต์ชั้นสูง ส่วนการพ้นจากกิเลสของจิตใจเพียงชั่วขณะก็ดี ข่มปราบไว้นานๆ ก็ดี พ้นเพียงบางส่วนก็ดี ก็ย่อมทำใจให้รู้สึกปลอดโปร่ง เป็นอิสระตามสมควรแก่ความพ้นนั้นๆ ซึ่งตรงกันข้ามกับจิตขัดข้อง ติดขัดในสิ่งต่างๆ ให้รู้สึกว่าตนไม่มีอิสรภาพแก่ตัว ไม่เป็นตนของตน ต้องคอยฟังบังคับบัญชาของนายคือกิเลสหรืออารมณ์อยู่เสมอความเป็นอิสระของจิตเป็นคุณธรรมที่ดี เป็นที่พึงปรารถนาในพระพุทธศาสนา พระบรมศาสดาทรงวางวิธีการปฏิบัติไว้โดยอเนกปริยายก็เพื่อให้บรรลุถึงความมีอิสระของจิตนี่เอง ผู้บรรลุถึงขั้นอิสระสูงสุดแล้ว ย่อมรู้สึกตัวว่พ้นจากอำนาจถ่วงให้จมดิ่งลงสู่เหวนรกแล้ว โล่งใจ เบาใจที่สุด พระพุทธองค์เมื่อทรงบรรลุถึงภูมิอิสรภาพเต็มที่นี้แล้ว ทรงยับยั้งอยู่ด้วยความสงบเป็นเวลานานถึง ๗สัปดาห์ ที่เรียกว่าเสวยวิมุตติสุข ไม่ปรากฏว่าเสวยพระกระยาหารเลยตลอดเวลาที่พักสงบอยู่นั้นจนถึงสัปดาห์สุดท้ายในวันคำรบ ๗ จึงทรงรับข้าวสตูก้อน-สตูผงของสองพาณิช คือตปุสสะ และภัลลิกะ ซึ่งบังเอิญเดินทางไปค้าขายไปพบเข้า เกิดความเลื่อมใสศรัทธาปฏิญาณตนเป็นอุบาสกแรกที่สุดในพระพุทธศาสนา จิตใจที่บรรลุถึงขั้นอิสรภาพสูงสุดย่อมมีลักษณะสว่างสดใสที่สุด ดุจดังแก้วมณีโชติฉะนั้น และมีกระแสดึงดูดอย่างแปลกประหลาด สามารถโน้มน้าวจิตใจของผู้ได้พบเห็นให้อ่อนโยนลงได้ง่าย ส่วนจิตที่มีลักษณะติดขัดไม่เป็นอิสระแก่ตัวนั้น ย่อมมีกระแสให้รู้สึกอึดอัดในใจ ไม่ปลอดโปร่งในใจ มีกระแสมัวซัว.

บุคคลผู้มีเจโตปริยญาณ ต้องผ่านการฝึกฝนอบรมจิตตามหลักจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานดังกล่าวมานี้ เมื่อสามารถตามรู้ตามเห็นจิตใจของตนทุกๆ อาการที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งลักษณะใหญ่ๆ ๑๖ ลักษณะนั้นแล้ว แม้ลักษณะปลีกย่อยออกไปก็จะรู้เห็นได้ทุกลักษณะไป เมื่อรู้จักจิตใจของตนดีแล้วย่อมรู้จิตใจของผู้อื่นได้ดีเช่นเดียวกัน เพราะจิตมีกระแสกระจายออกจากตัวเป็นปริมณฑลโดยรอบดังกล่าวมาแล้ว ผู้ฝึกจิตใจได้ดีแล้วย่อมเหมือนสร้างเครื่องรับวิทยุไว้รับกระแสเสียงที่กระจายมาตามอากาศฉะนั้น บุคคลผู้ไม่ฝึกฝนอบรมจิตให้ดีแต่ต้องการรู้จิตใจของผู้อื่นนั้นย่อมมิใช่ฐานที่จะเป็นได้ เหมือนไม่มีเครื่องรับวิทยุ หรือเครื่องรับวิทยุเสียแต่ต้องการฟังเสียงซึ่งกระจายมาตามอากาศจากระยะไกลเกินวิสัยหูธรรมดานั้น ย่อมมิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้ฉะนั้น เหตุนั้น ผู้ต้องการรู้จิตใจผู้อื่นพึงฝึกหัดสังเกตจิตใจตนเองให้ทราบชัดทุกลักษณาการเสียก่อน ตามหลักจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน แก้ไขปรับปรุงลักษณาการที่ไม่ดีของจิตใจเสียใหม่ ให้กลายเป็นจิตใจมีลักษณะดี ส่งเสริมส่วนที่ดีให้ดียิ่งขึ้นไปจนถึงที่สุดเป็นจิตตวิมุตติ หลุดพ้นจากความเป็นทาส ถึงความเป็นไทย มีอิสรภาพเต็มที่ มีความเป็นตนของตนทุกเมื่อ มีอำนาจเหนือกิเลสและอารมณ์ทุกประการก็จะบรรลุถึงทิพยอำนาจ คือเจโตปริยญาณสมดังความประสงค์.

ตามที่บรรยายมานี้ ว่าโดยเจโตปริยญาณอย่างสูง เมื่อจะกล่าวโดยปริยายอย่างต่ำ ผู้ฝึกฝนอบรมจิตใจได้ความสงบใจแม้เพียงชั้นอุปจารสมาธิ ก็สามารถกำหนดรู้กระแสจิตของผู้อื่นในชั้นเดียวกันและต่ำกว่าลงไปได้ โดยนัยนี้ได้ความว่า ผู้ฝึกฝนจิตย่อมมีเจโตปริยญาณเป็นบำเหน็จความชอบเรื่อยไปจนถึงชั้นสูงสุด ไม่ต้องท้อใจว่าเป็นสิ่งเกินวิสัยของคนธรรมดา คนสามัญธรรมดาก็สามารถมีได้ ถ้าเอาใจใส่สังเกตใจตนเองอยู่บ่อยๆ ความข้อนี้พึงเห็นเช่น คนเราเมื่อแรกพบปะกันย่อมรู้สึกชอบหรือชังกันได้ ทั้งๆ ที่ยังมิได้แสดงกิริยาอาการหรือการกระทำให้เป็นที่น่าชอบหรือน่าชัง ทั้งนี้เป็นเพราะจิตย่อมรู้จักจิตอยู่โดยธรรมดาแล้ว บุคคลที่มีกระแสจิตไม่ดีเมื่อเราพบเห็นเข้าเราจะรู้สึกไม่ชอบขึ้นมาทันที ส่วนผู้มีกระแสจิตที่ดีเมื่อเราพบเห็นเข้าเราจะรู้สึกชอบขึ้นมาทันทีเหมือนกัน ส่วนผู้มีกระแสจิตปกติไม่ดีไม่ร้ายนั้นเมื่อเราพบเห็นเข้าเราก็รู้สึกปกติเฉยๆ ไม่เกลียดชัง ทั้งไม่รู้สึกชอบด้วย แต่ผู้ศึกษาอย่าลืมว่า ความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ หรือเฉยๆ นี้เกิดจากกิเลสของตัวเองก็มี ที่จะรู้ได้แน่ว่ามิใช่เกิดจากกิเลสของตัวเองก็ต้องสังเกตรู้ปกติจิตของตนอยู่เสมอ ซึ่งรับรองตัวเองได้ว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นมิได้เกิดจากกิเลสของตัว เป็นความรู้สึกทางกระแสสัมผัสที่ผ่านมาสัมผัสกับจิตใจของตนเข้าเท่านั้น.

การรู้จักจิตใจของผู้อื่น นอกจากรู้ได้ทางกระแสสัมผัสอันเป็นวิสัยของเจโตปริยญาณโดยเฉพาะแล้ว ย่อมรู้ได้ทางทิพพจักษุซึ่งจะกล่าวข้างหน้า เพราะว่าจิตใจของคนเราเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งมีความรู้เป็นลักษณะ เรียกว่ามโนธาตุ แปลว่าธาตุรู้ ธาตุรู้นี้ประกอบด้วยแสงสีและกระแสธรรมดาว่าแสงย่อมมีลักษณะต่างๆ กัน สว่างมากน้อยต่างกัน แสงย่อมมีสีประกอบเป็นลักษณะอีกด้วย เหมือนแสงไฟย่อมเจือด้วยสีอันเกิดจากเชื้อต่างกันฉะนั้น เทวดารู้จักกันว่ามีศักดานุภาพมากน้อยกว่ากันด้วยสังเกตแสงสีของจิตนี่เอง เพราะทวยเทพไม่มีร่างหยาบเป็นเครื่องปิดบัง แสงสีของจิตย่อมปรากฏชัด นอกจากแสงประกอบด้วยสีแล้วยังประกอบด้วยกระแสดังกล่าวมาแล้วอีกด้วยถ้าเราสังเกตให้ดีจะทราบได้ว่า ในขณะที่เราได้สัมผัสกับแสงนั้นๆ เราจะรู้รสสัมผัสขึ้นต่างๆ กันเช่นแสงสว่างสีนวลให้เกิดความรู้สึกชื่นใจ เบิกบานใจเป็นต้น ฉะนั้นจิตจึงประกอบด้วยแสงสีและกระแสดังกล่าวแล้ว ผู้มีทิพพจักษุเห็นแสงจิตประกอบด้วยสีชนิดใดๆ แล้วย่อมลงความเห็นได้ว่าเป็นจิตชนิดใด เจือราคะหรือโทสะโมหะประการใด โดยอาศัยความสังเกตแสงสีจิตของตนเองเช่นเดียวกัน ข้อนี้จะได้กล่าวละเอียดในบทว่าด้วยทิพพจักษุข้างหน้า.

การกำหนดรู้จิตใจของผู้อื่นนั้น เมื่อว่าโดยลักษณะของเจโตปริยญาณที่แท้จริงแล้ว รู้ได้ทางกระแสสัมผัสทางเดียว แต่ธรรมดาผู้ฝึกฝนจิตใจย่อมเกิดญาณความรู้หลายประการด้วยกัน จึงอาจรู้แม้โดยประการอื่นด้วยอำนาจความรู้อื่นๆ ก็ได้ พระอาจารย์ภูริทัตตเถระ (มั่น) อาจารย์ของข้าพเจ้าได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า ญาณความรู้ที่เกิดขึ้นในการกำหนดรู้เหตุการณ์ อุปนิสัยใจคอของผู้อื่นนั้นมี ๓ อย่าง คือ

๑. เอกวิธัญญา รู้โดยส่วนเดียว หมายความว่าเกิดความรู้สึกขึ้นทางใจทีเดียว เช่นรู้ว่าจะมีเหตุการณ์อย่างนั้นๆ ในวันนั้นวันนี้ หรือเมื่อนั้นเมื่อโน้น แม้เหตุการณ์ที่กล่าวมาแล้วแต่ครั้งไหนๆ ซึ่งคนในสมัยปัจจุบันลืมกันหมดแล้วก็เช่นเดียวกัน ส่วนอุปนิสัยจิตใจของคนก็รู้ได้ทางใจขึ้นมาเฉยๆ เช่นเดียวกัน.

๒. ทุวิธัญญา รู้โดยส่วนสอง คือมีภาพนิมิตปรากฏขึ้นมาก่อน แล้วจึงรู้ความหมายของนิมิตนั้นอีกที.

๓. ติวิธัญญา รู้โดยส่วนสาม คือมีภาพนิมิตปรากฏขึ้นก่อนแล้ว แล้วต้องกำหนดถามในใจเสียก่อนเข้าสู่ความสงบจนถึงฐีติจิต ถอยออกมาถึงขั้นอุปจาระ จึงสามารถรู้เรื่องตามนิมิตที่ปรากฏนั้น.

ตามลักษณะความรู้ ดังที่ท่านอาจารย์ให้ข้อสังเกตไว้นี้ มิใช่รู้ด้วยญาณเพียงอย่างเดียว เป็นการรู้ด้วยญาณหลายอย่าง มีทั้งเจโตปริยญาณ มีทั้งทิพพจักษุญาณประกอบกัน นอกนั้นก็มีญาณเล็กๆ น้อยๆ ที่ท่านเรียกว่า อนาคตังสญาณ และอตีตังสญาณ เป็นต้น ซึ่งญาณความรู้ต่างๆ นั้นย่อมเกิดแก่ผู้มีจิตใจผ่องแผ้วเสมอ เมื่อจะกล่าวถึงจุดรวมของญาณต่างๆ ก็ได้แก่จิตใจบริสุทธิ์ผ่องใสนั่นเอง เมื่อฝึกฝนอบรมใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสแล้ว มิใช่แต่เจโตปริยญาณเท่านั้นจะเกิดขึ้น แม้ญาณอื่นๆ ก็จะเกิดขึ้นด้วยตามสมควรแก่กำลังวาสนาบารมี และประโยคพยายาม จิตใจที่บริสุทธิ์ผ่องใสนั้นถ้าจะสมมติชื่อขึ้นใหม่ให้สมกับลักษณะที่แท้จริงแล้ว ก็อาจสมมติได้ว่า ใจแก้ว เพราะมีลักษณะใสเหมือนแก้วมณีโชติ ถ้าฝึกฝนใจถึงชั้นใจแก้วแล้ว ภาพเหตุการณ์ที่ผ่านมาย่อมแสดงเงาขึ้นที่ใจแก้วเสมอไป เหมือนเงาปรากฏที่กระจกเงาฉะนั้น ใจแก้ว จึงเป็นจุดศูนย์รวมของญาณทุกประการ ผู้ต้องการญาณพิเศษต่างๆ พึงฝึกฝนจิตใจให้บริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนแก้วมณีโชติ ก็จะสำเร็จดังมโนรถทุกประการ.

วิธีปลูกสร้างเจโตปริยญาณ ไม่มีอะไรดีวิเศษไปกว่าจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานดังกล่าวแล้วฉะนั้น จึงเป็นอันว่าจบเรื่องที่กล่าวในบทนี้แล้ว ผู้ศึกษาที่ต้องการเจโตปริยญาณพึงฝึกหัดตามหลักจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้นเถิด จะสมหวังโดยไม่ยากเย็นเลย.



จาก http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/misc/ ทิพยอำนาจ-09.htm
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...