ทิพยอำนาจพระอริยคุณาธาร (ปุสโส เส็ง , ปธ. 6)วัดป่าเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่นเรียบเรียงบทที่ ๗
วิธีสร้างทิพยอำนาจ เจโตปริยญาณ รู้จักใจผู้อื่นทิพยอำนาจข้อนี้ เป็นอุปกรณ์ในการแสดงธรรมอย่างวิเศษ การแสดงธรรมที่จะสบกับจริตอัธยาศัยและความคิดเห็นของบุคคล จนถึงทำให้ผู้ฟังเกิดอัศจรรย์และยอมเชื่อฟังได้อย่างนั้น ย่อมอาศัยทิพยอำนาจข้อนี้เป็นกำลังสำคัญอุดหนุนอยู่ พระบรมครูของเราทรงใช้ทิพยอำนาจข้อนี้เสมอในการทรมานเวไนย ใครควรได้รับการทรมานด้วยวิธีใด ด้วยพระธรรมเทศนาอย่างไร ย่อมทรงกำหนดไว้ในพระหฤทัยก่อนแล้ว จึงทรงดำเนินการในภายหลัง ข้อนี้ย่อมสมจริงกับพระพุทธกิจที่ทรงปฏิบัติประจำวัน คือ
๑. ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ เวลาเช้าเสด็จบิณฑบาตโปรดสัตว์ สงเคราะห์ผู้ต้องการบุญให้ได้ทำทานในเขตดี ถ้าผู้ควรได้รับการสงเคราะห์ในวันนั้นอยู่ในที่ใกล้ ก็มักเสด็จไปสงเคราะห์ในเวลาบิณฑบาตนั้นเอง.
๒. สายณฺเห ธมฺมเทสนํ เวลาเย็นทรงแสดงธรรมแก่ประชาชนซึ่งพากันมาฟัง คือในที่ใดที่เสด็จไปประทับประจำอยู่นาน ในที่นั้นประชาชนผู้เคารพนับถือย่อมถือเป็นกรณีสำคัญ เวลาเย็นซึ่งเป็นเวลาว่างงาน และพระบรมศาสดาจารย์ก็ออกจากที่พักผ่อนในเวลากลางวัน ต่างก็เข้าเฝ้าฟังพระธรรมเทศนาเสมอ เช่นประชาชนในกรุงสาวัตถีเป็นตัวอย่าง.
๓. ปโทเส ภิกฺขุ โอวาทํ เวลาพลบค่ำทรงโอวาทพระภิกษุให้เข้าใจในข้อวัตรปฏิบัติอบรมจิตใจ และให้ฉลาดในข้อธรรมที่จะนำไปสั่งสอนประชาชน หรือโต้ตอบปัญหาทุกๆ เวลาค่ำพระภิกษุทั้งหลายจะมาชุมนุมกันในโรงอุปัฏฐาก พระบรมศาสดาจารย์จะทรงกำหนดจิตใจของภิกษุทั้งหลายด้วยเจโตปริยญาณแล้วเสด็จไปที่โรงอุปัฏฐาน ทรงโอวาทและแสดงธรรมแก้ความสงสัยของภิกษุทั้งหลายพอสมควรแล้ว จึงเสด็จกลับพระคันธกุฎีซึ่งเป็นที่ประทับ บางคราวถึงกับรุ่งสว่าง ณ อุปัฏฐานศาลานั้นเอง.
๔. อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ เวลาเที่ยงคืนทรงแก้ปัญหาเทวดา คือว่าเทวดามาเฝ้าเวลาเที่ยงคืนเสมอ และชอบนำปัญหาต่างๆ มาทูลถาม จึงเป็นภารกิจที่ทรงแก้ปัญหาเทวดาในเวลานั้น ครั้นรุ่งเช้าก็ตรัสเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟัง เพื่อจดจำเอาไว้.
๕. ปจฺจูเส ว คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ เวลาจวนใกล้รุ่ง ทรงตรวจดูสัตวโลกผู้ควรโปรด คือ พอจวนรุ่งสว่างไม่ว่าประทับ ณ ที่ใดๆ จะทรงเข้าพระกรุณาสมาบัติเสมอ ทรงแผ่น้ำพระทัยสงสารสัตว์ อยากจะโปรดให้พ้นทุกข์ไปทั่วโลกทุกทิศทุกทาง ใครเป็นผู้มีอุปนิสัยควรโปรดก็จะมาปรากฏในข่ายพระญาณ ทรงกำหนดจริตอัธยาศัยด้วยเจโตปริยญาณแล้วพอรุ่งเช้าก็เสด็จไปโปรดทันที ถ้าเป็นที่ใกล้ก็เสด็จไปในคราวบิณฑบาตนั้นเอง ถ้าเป็นที่ไกลก็เสด็จไปภายหลังบิณฑบาตแล้ว การที่ทรงตรวจดูสัตวโลกด้วยพระกรุณาสมาบัตินี้ ทรงถือเป็นธรรมเนียมที่ต้องปฏิบัติเป็นอาจิณ มิได้ละเว้นเลย.
การกำหนดรู้จริตอัธยาศัยเสียก่อนแล้ว จึงแสดงธรรมสั่งสอน ย่อมได้ผลศักดิ์สิทธิ์เหมือนกับบ่งหนามด้วยหนาม หรือเกาถูกที่คันฉะนั้น. พระบรมศาสดาและพระสาวกผู้ชำนาญทางเจโตปริยญาณจึงทรงใช้เสมอ.
อนึ่ง การสามารถกำหนดรู้จิตใจ แล้วบอกได้ว่าผู้นั้นมีจิตใจอย่างไร มีความคิดเห็นอะไรในขณะนั้น มีกิเลสหรือคุณธรรมอะไรแทรกซึมอยู่ในใจ ควรแก้ไขหรือส่งเสริมอย่างไรจึงจะเป็นผลดีเช่นนี้ท่านจัดเป็นปาฏิหาริย์อันหนึ่ง เรียกว่า อาเทสนาปาฏิหาริย์ แปลว่าการดักใจถูกต้องเป็นที่น่าอัศจรรย์ เป็นปาฏิหาริย์ ๑ ใน ๓ คือว่า ปาฏิหาริย์มี ๓ ประการดังกล่าวมาแล้วในบทที่ ๕ คือ
๑. อิทธิปาฏิหาริย์ ได้แก่ฤทธิ์เป็นที่น่าอัศจรรย์.
๒. อาเทสนาปาฏิหาริย์ ได้แก่การดักใจถูกต้องเป็นที่น่าอัศจรรย์.
๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ได้แก่คำสอนเป็นที่น่าอัศจรรย์ คือเป็นคำสั่งสอนประกอบด้วยเหตุผล ความจริง และสามารถปฏิบัติตามได้ ทั้งให้ผลสมจริงแก่ผู้ปฏิบัติดังตรัสไว้ ไม่เป็นการเกินวิสัย ทั้งเป็นคำสั่งสอนเหมาะแก่ทุกสมัยด้วย.
ในบรรดาปาฏิหาริย์ ๓ นี้ ทรงยกย่องอนุสาสนีปาฏิหาริย์ว่าเยี่ยมยอด ด้วยประทานเหตุผลว่า ยั่งยืนเป็นประโยชน์นาน แม้แก่ปัจฉิมชนคนรุ่นหลังๆ ส่วนอิทธิปาฏิหาริย์และอาเทสนาปาฏิหาริย์นั้นเป็นประโยชน์เฉพาะผู้ได้ประสบพบเห็น หรือคนรุ่นนั้นเท่านั้น ไม่เป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลังๆ ดังอนุสาสนี ถึงอย่างนั้นก็ดี พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงละการทำฤทธิ์และดักใจ ทรงใช้ปาฏิหาริย์ทั้ง ๓ นั้นอยู่เสมอ พระอนุสาสนีย่อมสำเร็จขึ้นด้วยปาฏิหาริย์ ๓ ประกอบกัน ฉะนั้นจึงสำเร็จประโยชน์ดี.
เป็นความจริงที่แน่นอนที่สุด ถ้าคนผู้ให้คำสั่งสอนเป็นคนมีอานุภาพทางใจ ทั้งมีญาณหยั่งรู้อัธยาศัยของผู้รับคำสั่งสอน และเป็นผู้ทำได้ในสิ่งที่ตนสั่งสอนแล้ว คำสั่งสอนย่อมมีรสชาติดูดดื่มและซาบซึ้งถึงใจของผู้ฟัง เป็นเหตุให้ผู้รับคำสั่งสอนบังเกิดสติและปัญญาได้ดี ด้วยเหตุนี้ปาฏิหาริย์ทั้ง ๓ ประการจึงจำเป็นต้องใช้ในการแนะนำสั่งสอนผู้อื่นเสมอไป ผู้มีอานุภาพทางใจแม้มิได้จงใจใช้อิทธิปาฏิหาริย์ก็ตาม อำนาจใจนั้นย่อมแผ่รัศมีครอบคลุมจิตใจผู้ฟังให้เกิดความสงบ ความเคารพยำเกรง ความตั้งใจฟังอยู่โดยปกติแล้ว จึงเป็นอันแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อยู่ในตัวแล้ว ส่วนการดักใจหรือกำหนดรู้ใจก็เหมือนกัน สำหรับผู้มีใจผ่องแผ้วย่อมสามารถรับสัมผัสกระแสจิตของผู้อื่นได้ทุกขณะไป ถึงไม่ตั้งใจกำหนดรู้ก็ย่อมรู้ได้อยู่แล้ว การแสดงธรรมหรือให้คำแนะนำสั่งสอนจึงอาจปริวัติไปตามอัธยาศัยของผู้รับธรรมเทศนา หรือคำแนะนำสั่งสอนได้โดยปกติ อนุสาสนีของท่านผู้สามารถเช่นนี้ ย่อมมีรสชาติดูดดื่มซาบซึ้งถึงใจ เป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์แท้. ผู้มีโอกาสได้รับคำสั่งสอนของผู้เช่นนั้น ย่อมเท่ากับได้รับโสรจสรงด้วยน้ำทิพย์ หรือได้รับพรสวรรค์ ย่อมแช่มชื่นเบิกบานใจทันทีทันใด.
เจโตปริยญาณ นอกจากอำนวยประโยชน์ในการแสดงธรรมแล้ว ยังเป็นประโยชน์ในการเลือกคบค้าสมาคมกับคนได้ดีด้วย เพราะว่าอาเสวนะ คือการคบค้าสมาคมย่อมเป็นปัจจัยน้อมเอียงอัธยาศัยใจคอของคนเราให้เปลี่ยนแปลงไปได้ ถ้าจิตใจน้อมเอียงไปในด้านดีก็เป็นศรีแก่ตัวถ้าน้อมเอียงไปในด้านร้ายก็เป็นภัยแก่ตัว นักปราชญ์ท่านจึงสอนให้เลือกคบคน เว้นการคบค้าสมาคมกับคนชั่ว สมาคมกับคนดี คนดีและคนชั่วท่านว่ามีความประพฤติเป็นเครื่องหมายให้รู้ คือคนดีมีความประพฤติดี และคนชั่วมีความประพฤติชั่วเป็นลักษณะ แต่ถึงกระนั้นก็มิใช่รู้ได้ง่ายเพราะคนโดยมากย่อมมีนิสัยปิดชั่วเปิดดี เราจะหาคนเปิดเผยตรงไปตรงมาได้ยาก ถ้าเรามีเจโต-ปริยญาณแล้ว เราจะรู้จักคนดีคนเลวได้ไวที่สุด เพราะคนเราปิดอะไรๆ ในส่วนภายนอกนั้นย่อมปิดได้ แต่จะปิดใจปิดไม่อยู่ ผู้รู้สึกตัวว่ามีความชั่ว พยายามปกปิดเพื่อมิให้ผู้อื่นรู้นั้น ย่อมมีความรู้สึกในใจรุนแรง ทำให้เกิดกระแสทางใจขึ้น แล้วเกิดเป็นลูกคลื่นแผ่ซ่านออกไปเป็นปริมณฑล คนผู้มีเจโตปริยญาณย่อมรับทราบได้ดี ผู้พยายามปกปิดความชั่วของตัวจึงเท่ากับเปิดเผยความชั่วในใจยิ่งขึ้น สมกับคำว่า “ยิ่งปิดเท่ากับยิ่งเปิด” เพราะเหตุว่ากระแสจิตย่อมเกิดจากความรู้สึกสะเทือนใจนั่นเอง ก่อนอื่น ท่านแสดงสิ่งปรุงแต่งไว้ ๓ ประการ คือ
๑. กายสังขาร สิ่งปรุงแต่งกาย ได้แก่ลมหายใจเข้า-ออก ซึ่งเป็นไปอยู่โดยปกติธรรมดา ทำให้ร่างกายเจริญอยู่และเจริญเติบโตสืบต่อกันไป เมื่อใดลมหายใจขาดไป เมื่อนั้นกายก็หยุดดำรงและหยุดเจริญเติบโต ถึงแก่ความขาดสิ้นชีวิตอินทรีย์ลงทันที.
๒. วจีสังขาร สิ่งปรุงแต่งวาจา ได้แก่วิตกคือความคิด และวิจารคือความอ่าน อันเป็นไปอยู่ในจิตใจของคนปกติธรรมดาทุกคน ก่อนที่จะพูดจาปราศรัยย่อมต้องคิดอ่านเรื่องที่จะนำมาพูดและคิดอ่านปรุงแต่งคำพูดเข้าเป็นพากย์ เป็นประโยค ให้ผู้ฟังรู้เรื่องที่ตนพูด เมื่อคิดอ่านขึ้นยังมิทันได้พูดออกมาทางปากก็ย่อมเกิดเป็นสัททชาติทันที ผู้มีทิพพโสต-หูทิพย์ ย่อมได้ยินเช่นเดียวกับเสียงพูดทางปาก ส่วนผู้มีเจโตปริยญาณย่อมรับทราบกระแสสัมผัสแห่งความคิดอ่านนั้นได้ง่ายดาย.
๓. จิตตสังขาร สิ่งปรุงแต่งจิต ได้แก่สัญญาและเวทนา สัญญาหมายถึงความรู้สึกสัมผัสทางทวาร ๖ จำได้ว่าเป็นอะไร เวทนาหมายถึงความรู้สึกรสสัมผัส คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เป็นที่สบาย ไม่สบาย หรือเฉยๆ นั้น ความรู้สึก ๒ ประการนี้ปรุงแต่งจิตให้เกิดความรู้สึกดี-ร้ายขึ้นในใจอยู่เสมอ และเป็นเหตุให้คิดอ่าน ตรึกตรองหาลู่ทางเพื่อได้สิ่งดี เว้นสิ่งร้ายเสมอ เมื่อจะพูดก็ย่อมพูดไปตามความคิดอ่านนั่นเอง สัญญาและเวทนาทำให้เกิดกระแสคลื่นขึ้นในจิตก่อนสิ่งอื่นๆ ดังนี้ผู้มีเจโตปริยญาณจึงสามารถรับรู้ได้ในเมื่อมาสัมผัสเข้ากับใจ เพราะสิ่งใดที่เกิดเป็นกระแสคลื่นแล้ว สิ่งนั้นจะต้องแผ่ซ่านออกไปเป็นปริมณฑลรอบๆ ตัว จะปิดไว้ไม่อยู่ เหมือนคลื่นน้ำเกิดจากความสะเทือน ย่อมเป็นกระแสคลื่นกระจายออกไปจนสุดกำลังของมันฉะนั้น.
จิตตสังขาร และ วจีสังขาร ๒ ประการนี้ ถ้าจะเปรียบกับคลื่นภายนอก จิตตสังขารเปรียบได้กับคลื่นวิทยุ วจีสังขารเปรียบได้กับคลื่นเสียง ซึ่งแผ่กระจายไปในอากาศวิถีฉะนั้น สมัยปัจจุบันวิทยาศาสตร์สามารถค้นพบความจริงเรื่องวิทยุและเสียง จึงประดิษฐ์เครื่องส่งและรับคลื่นทั้งสองนี้เป็นผลสำเร็จ ทำให้เราได้ฟังเสียงอันมาจากระยะไกลได้ ส่วนคลื่นจิตตสังขารและวจีสังขารนี้ เมื่อจะบัญญัติศัพท์ให้คล้ายคลึงกับคลื่นทั้งสองนั้น ข้าพเจ้าขอบัญญัติคลื่นจิตตสังขารว่า คลื่นจิต, ขอบัญญัติคลื่นวจีสังขารว่า คลื่นเสียง คลื่นจิตและคลื่นเสียงย่อมแผ่กระจายออกจากแหล่ง คือตัวเองเป็นปริมณฑลอยู่เสมอ กว้างแคบตามกำลังของคลื่นจิต ซึ่งเป็นแรงส่งนั่นเอง ถ้าความกระเทือนทางจิตแรง คลื่นก็แรง และสามารถส่งไปได้ไกลมากเช่นเดียวกับคลื่นวิทยุฉะนั้น ผู้มีเครื่องรับคลื่นจิตและคลื่นเสียงย่อมสามารถรับรู้รับฟังได้ เหมือนผู้มีเครื่องรับวิทยุฉะนั้น จิตใจที่ได้รับการฝึกฝนจนใสแจ๋วแล้วนั้น จะเป็นเครื่องรับรู้คลื่นจิตเป็นอย่างดี จิตใจที่ได้รับการฝึกฝนเช่นนั้นด้วย มีทิพพโสตด้วย จะสามารถรับฟังคลื่นเสียงได้เป็นอย่างดี เว้นแต่จะไม่เปิดรับรู้รับฟังเท่านั้น ถ้ามีความจำนงจะรับรู้รับฟังแล้วเป็นต้องรู้และได้ยินเสมอ.
นอกจากความสามารถในการรับรู้คลื่นจิต และรับฟังคลื่นเสียงของจิตดังกล่าวมาแล้วผู้เชี่ยวชาญทางจิตอย่างเยี่ยม เช่น พระบรมศาสดา สามารถรับรู้สภาพของจิตก่อนแต่ที่จะมีความกระเทือนจิตและคิดอ่านเสียด้วยซ้ำ เช่นในเวลาที่บุคคลอยู่ในฌานได้ตั้งใจไว้อย่างไร มีความรู้สึกในขณะนั้นอย่างไร มีความน้อมเอียงไปทางไหน เมื่อออกจากฌานแล้วจะรู้สึกรสสัมผัสอย่างไรและจะคิดอ่านอย่างไรต่อไป เช่นนี้ พระบรมศาสดาทรงสามารถคาดการณ์ถูกต้องหมด มีเรื่องหนึ่งในพระไตรปิฎก ซึ่งควรเป็นอุทาหรณ์แห่งเจโตปริยญาณอย่างดี จะนำมาเล่าต่อไปนี้
สมัยหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับที่บุพพาราม กรุงสาวัตถี วันนั้นเป็นวันอุโบสถพระจันทร์เพ็ญ พระมหาเถระที่มีชื่อเสียง คนรู้จักมากมายหลายท่าน อาทิเช่น พระมหาโมคคัลลา-นะ พระอนุรุทธะ ฯลฯ ต่างก็มาเฝ้าและรอฟังพระปาฏิโมกข์ พระอานนท์ได้จัดแจงชุมนุมสงฆ์พร้อมเพรียงในเวลาเย็น แล้วไปเฝ้ากราบทูลเวลาให้ทรงทราบ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงนิ่งครั้นปฐมยามล่วงไปแล้วพระอานนท์ก็ไปเฝ้ากราบทูลเตือนอีก ก็ทรงนิ่งอีก ครั้นมัชฌิมยามล่วงไปแล้วพระอานนท์ก็ไปเฝ้ากราบทูลเตือนอีก จึงตรัสว่าสงฆ์ไม่บริสุทธิ์ ไม่สมควรจะสวดพระปาฏิโมกข์พระอานนท์จึงกลับไปแจ้งพระพุทธดำรัสแก่พระมหาเถระในที่ชุมนุม พระมหาเถระรูปหนึ่งได้ลุกขึ้นประกาศพระพุทธดำรัสนั้น แล้วบอกให้สำรวจตัวเอง ใครเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์จงออกไปจากที่ชุมนุมภิกษุทั้งหลายต่างก็นิ่ง ไม่มีใครแสดงตัวว่าไม่บริสุทธิ์แล้วออกจากที่ชุมนุมไป พระมหาเถระประกาศซ้ำอีกเป็นครั้งที่ ๒ และที่ ๓ โดยลำดับ ก็ไม่มีใครแสดงตัวว่าไม่บริสุทธิ์เช่นเดิม จึงทันทีนั้นพระมหาโมคคัลลานเถระได้ตรวจจิตภิกษุทั้งหลายด้วยเจโตปริยญาณ ทราบว่าภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์สมจริงกับพระพุทธดำรัส จึงบอกระบุชื่อภิกษุนั้นให้ออกไปจากที่ชุมนุม ภิกษุนั้นก็ยังนิ่งอยู่อีก พระอานนท์จึงลุกขึ้นไปลากแขนเธอออกไปจากที่ชุมนุม แล้วไปกราบทูลสมเด็จพระผู้มีพระภาคว่า บัดนี้มีสงฆ์บริสุทธิ์แล้ว โปรดทรงแสดงพระปาฏิโมกข์เถิดพระเจ้าข้า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปสู่ที่ชุมนุมแล้วทรงแสดงปาฏิโมกข์ในท่ามกลางสงฆ์ผู้บริสุทธิ์ เมื่อทรงแสดงพระปาฏิโมกข์จบลงแล้วจึงตรัสว่า ไม่เป็นการสมควรเลยที่ตถาคตจะแสดงพระปาฏิโมกข์ในสงฆ์ผู้ไม่บริสุทธิ์ ถ้าขืนแสดง ศีรษะของผู้ไม่บริสุทธิ์นั้นก็จะพึงแตก ๗ เสี่ยง ดังนี้.
ความจริง จิตใจโดยธรรมชาติย่อมมีกระแสอยู่เสมอ กระแสจิตใจของบุคคลย่อมมีลักษณะต่างๆ กัน แล้วแต่สิ่งสัมปยุตต์ในขณะนั้น ถ้าสิ่งสัมปยุตต์เป็นฝ่ายดีกระแสจิตก็ย่อมดี ถ้าสิ่งสัมปยุตต์เป็นฝ่ายไม่ดีกระแสจิตก็ย่อมไม่ดี ผู้มีความเชี่ยวชาญทางเจโตปริยญาณอย่างเยี่ยมสามารถรับรู้กระแสจิตดังว่านี้ได้ดี เท่ากับรู้ใจตนเอง เพราะท่านผู้เช่นนั้นย่อมได้ผ่านการฝึกฝนจิตในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานมาเป็นอย่างดีแล้ว กระแสจิตตามที่ท่านกำหนดไว้ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน มี ๑๖ ลักษณะ ซึ่งเป็นลักษณะใหญ่ๆ แบ่งเป็นฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี เพื่อทำการศึกษาสำเหนียกให้ทราบกันทุกลักษณะไป จะได้แก้ไขส่วนชั่ว และปรับปรุงส่วนดีให้ดียิ่งขึ้นไปดังต่อไปนี้