๒. อนาคตังสญาณ ปรีชาหยั่งเห็นเหตุการณ์ในอนาคตไกล มีลักษณะมองเห็นภาพเหตุการณ์อันจะมีในอนาคตซึ่งปรากฏชัดในมโนทวาร แล้วหยั่งรู้ว่าเป็นเหตุการณ์อะไร จะเกิดขึ้นเมื่อไร ณ ที่ไหน บุคคลผู้มีญาณชนิดนี้สามารถพยากรณ์เหตุการณ์อนาคตได้แม่นยำดุจตาเห็น ดังสมเด็จพระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ว่า บ้านปาฏลีจะเป็นที่แก้ห่อสินค้าในอนาคต และจะเป็นมหานครเจริญรุ่งเรือง ซึ่งต่อมาไม่นานก็เป็นจริงดังพยากรณ์ ทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งของอินเดีย คือปัฏนา ซึ่งแต่ก่อนเรียกว่าเมืองปาฏลีบุตร เป็นนครหลวงของอินเดีย รุ่งเรืองที่สุดในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชครองชมพูทวีป
ได้ทรงพยากรณ์ว่า พระอานนท์จะทรงบรรลุภูมิพระอรหันต์ในวันเริ่มทำปฐมสังคายนา ก็สมจริงดังทรงพยากรณ์ ได้ทรงพยากรณ์เหตุการณ์เกี่ยวกับพระศาสนาของพระองค์ไว้หลายเรื่องหลายตอน ระบุชื่อบุคคลผู้จะเป็นหัวหน้าทำสังคายนาไว้ถูกต้องหมดทุกครั้งทั้ง ๓ ครั้งที่ทำในชมพูทวีป ทรงพยากรณ์เหตุการณ์ของพระศาสนาในสมัย ๒,๐๐๐ ปีไว้ก็ถูกต้อง และทรงพยากรณ์เหตุการณ์ของโลกไว้ก็ถูกต้องมาแล้วเป็นส่วนมาก ดังได้เล่าไว้ในเบื้องต้นของเรื่องนี้ พระมหาโมคคัลลีบุตรติสสเถระเล็งเห็นว่า ต่อไปเบื้องหน้าพระพุทธศาสนาจะอันตรธานจากชมพูทวีป ขอพระบรมราชูปถัมภ์จัดส่งพระเถระไปทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนายังนานาประเทศ เหตุการณ์ก็เป็นจริงตามนั้น ในเมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้พันปีเศษ ประเทศอินเดียต้องสูญจากพระพุทธศาสนามาประมาณเกือบพันปี เราต้องเป็นหนี้ปรีชาญาณส่วนนี้ของพระมหาโมคคัลลีบุตรติสสเถระอย่างมากมาย
มีคำทำนายว่าสมัยกึ่งพระพุทธศาสนาจะมีขึ้นถึงขีดสูงสุดคล้ายสมัยพุทธกาล จะมีผู้บรรลุมรรคผลนิพพานถึงภูมิพระอรหันต์ เชี่ยวชาญทางอภิญญา และพระมหาเถระโพธิสัตว์ผู้มีบุญญาภินิหารในสุวรรณภูมิจะได้รับเกียรติเป็นประธานาธิบดีสงฆ์สากล จะทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปทั่วโลก ตั้งต้นที่อินเดียไปยุโรปและอเมริกา มหาชนชาวโลกจะหันมานับถือพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก โลกจะร่มเย็นเป็นสุขด้วยร่มเงาของพระพุทธศาสนา ดังนี้ ข้าพเจ้าได้เรียนถามพระอาจารย์ภูริทัตตเถระ (มั่น) ว่าคำทำนายโบราณนี้จะเป็นจริงไหม ท่านว่า เจ้าพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันทเถระ จันทร์) บอกว่าจริง เมื่อข้าพเจ้าถามถึงความเห็นเฉพาะตัวของท่าน ท่านก็บอกว่าเป็นจริง เวลานี้ก็จวนถึงแล้ว เราคอยดูต่อไป.
วิธีการกำหนดรู้เหตุการณ์ในอนาคต สำหรับผู้อบรมจิตใจนั้นเป็นดังนี้ เมื่อต้องการอยากทราบเหตุการณ์ในอนาคตของโลก ของพระศาสนา หรือของตนเอง พึงทำความสงบใจถึงขั้นอุปจารสมาธิ แล้วนึกถามขึ้นในใจว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นแก่โลก แก่พระศาสนา หรือแก่ตนเอง แล้วพึงทำความสงบต่อไปจนถึงขีดขั้นของฌานที่ ๔ แล้วพึงเคลื่อนจิตถอยออกมาถึงขั้นอุปจารสมาธิ ถ้าเหตุการณ์อะไรจะมีขึ้นก็จะปรากฏภาพเหตุการณ์นั้นขึ้นในมโนทวาร จะเกิดญาณหยั่งรู้ขึ้นในลำดับนั้นด้วย แต่ถ้าไม่รู้พึงกำหนดถาม แล้วเข้าสู่ความสงบดังวิธีที่กล่าวแล้วในข้ออตีตังสญาณนั้น ก็จะทราบได้ ท่านผู้เชี่ยวชาญทางจิตใจอาจรู้เห็นได้โดยมิต้องทำการกำหนดรู้ดังที่ว่านี้ เพราะจิตใจของท่านบริสุทธิ์แจ่มใสประดุจกระจกเงาบานใหญ่ เหตุการณ์อะไรจะเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไร จะมีเงาปรากฏที่จิตใจของท่านเสมอไป บางท่านอาจใช้วิธีอธิษฐานไว้ว่า ถ้าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นข้างหน้า จงปรากฏให้ทราบล่วงหน้า เมื่อถึงเวลาใกล้เหตุการณ์จะเกิดขึ้นเงาของเหตุการณ์จะมาปรากฏที่จิตให้ท่านทราบดังนี้ก็มี แต่บางท่านเกรงว่า การกำหนดรู้ก็ดี การอธิษฐานไว้ก็ดี จะทำให้เกิดสัญญาลวงขึ้นได้ จึงไม่ยอมทำอะไรอย่างอื่นนอกจากการทำการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสไว้ประดุจเงาบานใหญ่ ให้เงาเหตุการณ์มาปรากฏขึ้นเอง.
๓. ปัจจุปันนังสญาณ ปรีชาหยั่งรู้หยั่งเห็นเหตุการณ์ในปัจจุบัน มีลักษณะให้มองเห็นภาพเหตุการณ์อันจะเกิดขึ้นในระยะกาลใกล้ๆ และรู้ได้ว่าเป็นเหตุการณ์อะไร จะเกิดขึ้นที่ไหน อย่างไรกับมีลักษณะให้มองเห็นเหตุการณ์จำเพาะหน้าได้แจ่มแจ้ง มีปฏิภาณทันเหตุการณ์นั้นๆ ด้วยบุคคลผู้มีญาณชนิดนี้จะสามารถนำชีวิตผ่านเหตุการณ์ที่น่าหวาดเสียวไปได้อย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งไม่นึกไม่ฝันว่าจะเป็นไปได้ จะมีปฏิภาณทันกับเหตุการณ์ทุกครั้งไป เหตุการณ์ที่จะมีขึ้นในชีวิตประจำวันย่อมปรากฏเป็นภาพนิมิตในขณะหลับหรือในขณะทำสมาธิ มีลักษณะที่พึงสำเหนียกดังต่อไปนี้
(๑.) กามคุณ คือลาภผลสักการะ มักจะปรากฏภาพนิมิตเป็นภาพสตรี เด็ก ดอกไม้ มือ อุจจาระ น้ำหลาก ขึ้นในมโนทวารขณะทำความสงบใจ หรือมิฉะนั้นก็ในขณะหยั่งลงสู่ความหลับ ถ้าภาพที่เห็นเป็นสิ่งประณีตบรรจง ลาภผลสักการะที่จะบังเกิดก็ประณีตบรรจง ถ้าเป็นภาพสิ่งสกปรกลามก ลาภผลสักการะที่จะบังเกิดก็สกปรกเศร้าหมอง ถ้าเป็นภาพน้ำหลากจะเกิดลาภผลสักการะเหลือเฟือ ถ้าในขณะที่ภาพนิมิตปรากฏนั้นใจสะเทือน แสดงว่าจะเกิดความยินดียินร้ายในลาภผลสักการะ ถ้าใจเฉยๆ ก็จะมีอุเบกขาธรรมในอารมณ์คือลาภผลสักการะนั้น.
(๒.) นินทา ปสังสา คือความนินทาและสรรเสริญ เมื่อจะเกิดขึ้นมักจะปรากฏเป็นภาพช้างเยี่ยมหน้าต่าง ส่องกระจก หรือมองเห็นหน้าตาตัวเอง ขึ้นในมโนทวารขณะทำความสงบใจหรือขณะหยั่งลงสู่ความหลับ ถ้าปรากฏว่าใจสะเทือนต่อภาพนิมิตนั้น แสดงว่าจะเกิดความยินดียินร้ายในนินทาหรือสรรเสริญนั้น ถ้าใจเฉยๆ แสดงว่าจะมีอุเบกขาธรรมในนินทาและสรรเสริญ.
(๓.) สุขัญจทุกขัง คือความสุขและความทุกข์จะเกิดขึ้น มักจะปรากฏภาพนิมิตเป็นอากาศโปร่ง ที่อยู่สวยงาม น้ำพุพุ่งเป็นฝอย แสดงว่าจะอยู่เย็นเป็นสุขสบาย ถ้าภาพนิมิตปรากฏเป็นภาพลุยโคลนตม เดินที่ชื้นแฉะ นอน แต่งตัวด้วยอาภรณ์ใหม่ๆ ปลงผม กินอาหาร แสดงว่าจะเกิดเจ็บป่วยไม่ผาสุกสบายขึ้น ถ้าปรากฏว่าใจสะเทือนต่อภาพนิมิตแสดงว่าจะเกิดความยินดียินร้ายในสุขและทุกข์ ถ้าใจเฉยๆ แสดงว่าจะมีอุเบกขาธรรมในสุขและทุกข์นั้น.
(๔.) กิจจากิจจัง คือการทำสิ่งเป็นประโยชน์และไร้ประโยชน์จะเกิดขึ้น มักจะปรากฏภาพนิมิตเป็นภาพเดินบนสะพาน เห็นรั้วเห็นสะพาน เห็นกำแพง ข้ามรั้วกำแพง มีสิ่งขวางหน้า แสดงว่าจะได้ทำกิจเป็นประโยชน์หรือไร้ประโยชน์ตามลักษณะนิมิตนั้น ถ้าใจสะเทือนในขณะภาพนิมิตปรากฏแสดงว่าจะเกิดความยินดียินร้ายในการทำกิจ ถ้าใจเฉยๆ แสดงว่าจะมีอุเบกขาธรรมในขณะทำกิจนั้นๆ.
(๕.) ยสายสัง คือความมียศและความไร้ยศจะเกิดขึ้น มักปรากฏภาพนิมิตเป็นภาพไต่ภูเขาปีนที่สูง ขั้นบันได ขึ้นปราสาท ขึ้นเจดีย์ แสดงว่าจะได้ยกย่องเชิดชูไว้ในตำแหน่งหรือเกียรติ ถ้าปรากฏภาพว่าไต่ป่ายปีนหรือขึ้นที่นั้นๆ ด้วยความลำบากและลื่นไถลพลัดตกลง แสดงว่าจะเสื่อมความยกย่องในตำแหน่งหรือเกียรติ หรือถึงกับเสียยศเสียศักดิ์ทีเดียว ถ้าใจสะเทือนในขณะปรากฏภาพนิมิต จะเกิดความยินดียินร้ายในยศหรืออยศนั้น ถ้าใจเฉยๆ ก็จะมีอุเบกขาธรรมในยศหรืออยศที่เกิดขึ้นนั้น.
(๖.) ชยาชยัง คือความมีชัย-ปราชัยจะเกิดขึ้น มักจะเกิดภาพนิมิตเป็นภาพพายเรือในน้ำหรือบนบก ลอยคอในน้ำ ถ้าพายเรือในน้ำจะปราชัย ถ้าพายเรือบนบก หรือลอยคอในน้ำจะได้ชัยชนะ ถ้าในขณะปรากฏภาพนิมิตนั้นใจสะเทือนก็จะเกิดความยินดียินร้ายในชัยชนะหรือปราชัยถ้าใจเฉยๆ ก็จะมีอุเบกขาธรรมในชัยชนะหรือปราชัยนั้น.
ได้นำลักษณะภาพนิมิตและการตีความหมายมาไว้ให้สังเกตเพียงบางส่วน ผู้สนใจพึงศึกษาสำเหนียกด้วยตนเองก็จะทราบได้ดี ข้อสำคัญอย่าตั้งความรังเกียจและอย่าติดนิมิตอันเกิดขึ้น พึงวางใจเป็นกลางแล้วศึกษาสำเหนียกเพื่อรู้เท่าทัน ก็จะเกิดญาณในส่วนปัจจุบันอย่างดีในกาลต่อไป.
เมื่อได้ทำความเข้าใจลักษณะญาณในกาลทั้ง ๓ กาลอันเป็นส่วนประกอบทิพพจักขุญาณฉะนี้แล้ว พึงทำความเข้าใจลักษณะทิพพจักขุญาณโดยเฉพาะต่อไป ทิพพจักขุญาณมีลักษณะเห็นรูปทิพย์ทั้งปวง คือเห็นเทพเจ้าตั้งแต่ภาพพื้นดินขึ้นไปจนถึงพรหมโลก เห็นสิ่งในระยะไกล คือมองทะลุไปในสากลจักรวาล เห็นสิ่งลี้ลับคือสิ่งมีอะไรกำบัง เห็นสภาพจิตใจของบุคคลอื่น สัตว์อื่น มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
๑. เห็นรูปทิพย์ คือเทพเจ้านั้น มีลักษณะการเห็นเช่นเดียวกับเห็นด้วยจักษุธรรมดา เมื่อเทพเจ้ามาหารือว่าไปพบเข้า ณ ที่ใดๆ ผู้มีทิพพจักขุย่อมเห็นและพูดจาสนทนากับเขาได้เช่นเดียวกับเห็นคนและพูดจาสนทนากับคนได้ฉะนั้น ส่วนการเห็นผีนั้น แม้ผู้มีฌานจักษุก็อาจเห็นได้ ไม่ต้องถึงมีทิพพจักขุ.
รูปทิพย์ เป็นรูปที่ผ่องแผ้ว ใสสะอาดเหมือนแก้วและเบาว่องไว มีรัศมีสว่างรุ่งเรืองเป็นปริมณฑล ที่เรียกว่าสว่างทั่วทิศในสำนวนบาลี เพราะเป็นรูปสำเร็จด้วยใจหรือสัญญาของเขา ผู้มีทิพพจักขุที่บริสุทธิ์ผ่องใสเท่านั้นจึงจะเห็นรูปทิพย์ได้ ขณะที่เทพเจ้ามาปรากฏกายเฉพาะหน้านั้นจะมีรัศมีสว่างรุ่งเรืองมาก่อน ครั้นแล้วก็จะเห็นเทพเจ้า โดยรูปลักษณะสีสันวรรณะตามบุญญานุภาพของเขา เหมือนเห็นคนในที่เฉพาะหน้าฉะนั้น เมื่อเขามีกิจธุระอะไร เขาก็จะรีบบอกให้ทราบ เพราะเขาอยู่ไม่นาน และอยากจะทราบอะไรจากเขา หรือมีกิจธุระอะไรที่จะพูดกับเขาก็ต้องรีบพูด พูดเสร็จธุระเขาจะลาและหายวับไปทันที การที่เทพเจ้าไม่สามารถยั้งอยู่ได้นานในแดนมนุษย์ ก็เพราะทนกลิ่นไม่ไหว แต่ถ้ามาหาผู้มีศีลบริสุทธิ์แล้วค่อยยังชั่ว เพราะกลิ่นศีลกลบกลิ่นสาบของมนุษย์ได้บ้าง ดังคำว่า สีลคนฺโธ อนุตฺตโร กลิ่นศีลเยี่ยมกว่ากลิ่นทั้งหลาย มีจันทน์และกฤษณาเป็นต้น เพราะหอมทวนลมไปได้ไกล แล้วมานมัสการและฟังธรรมตามเวลาอันควร ดังเทพเจ้าไปเฝ้าฟังพระธรรมเทศนาหรือถามปัญหากะพระบรมศาสดาฉะนั้น วิธีฝึกฝนจิตเพื่อให้เกิดญาณทัสสนะรู้เห็นเทพเจ้าได้นั้น ตรัสเรียกว่า อธิเทวญาณทัสสนะ และตรัสยืนยันว่า เมื่ออธิเทวญาณทัสสนะของพระองค์ยังไม่บริสุทธิ์แจ่มใสเพียงใด ยังไม่ทรงปฏิญาณว่าตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเพียงนั้น ต่อเมื่ออธิเทวญาณทัสสนะของพระองค์บริสุทธิ์ผ่องใสดีแล้ว จึงทรงปฏิญาณว่าตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ จะได้นำวิธีฝึกเพื่ออธิเทวญาณทัสสนะมาตั้งไว้พอเป็นแนวทางปฏิบัติของผู้ใคร่ปฏิบัติ ดังต่อไปนี้พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อคราวประทับตำบลคยาสีสะ ได้ตรัสเล่าวิธีฝึกสมาธิเพื่ออธิเทวญาณทัสสนะไว้ว่า
(๑.) เมื่อพระองค์ยังเป็นโพธิสัตว์ก่อนหน้าตรัสรู้ ได้รู้จักโอภาส (คือแสงสว่างทางใจ) แต่ไม่เห็นรูปทั้งหลายได้ จึงทรงตั้งความมุ่งหมายเพื่อเห็นรูป.
(๒.) เมื่อพากเพียรไป ได้เห็นรูปดังพระประสงค์ แต่ไม่สามารถยับยั้งสนทนาปราศรัยกับเทพเจ้าได้ จึงทรงตั้งความมุ่งหมายเพื่อสามารถยับยั้งสนทนาปราศรัยกับเทพเจ้า.
(๓.) เมื่อพากเพียรไป ได้สามารถยับยั้งสนทนาปราศรัยกับเทพเจ้าได้ แต่ไม่ทราบว่าเทพเจ้าเหล่านั้นมาจากเทพนิกายใด จึงทรงตั้งความมุ่งหมายเพื่อทราบ.
(๔.) เมื่อพากเพียรไป ได้ทราบเทพเจ้าเหล่านั้นว่ามาจากเทพนิกายนี้ เทพนิกายโน้น สมปรารถนา แต่ไม่ทราบว่าได้เป็นเทพเจ้าด้วยกรรมอะไร จึงทรงตั้งความมุ่งหมายเพื่อทราบ.
(๕.) เมื่อพากเพียรไป ก็ได้ทราบตามความมุ่งหมายข้อ ๔ แต่ยังไม่ทราบว่าเทพเจ้าเหล่านั้นมีอาหารอย่างไร เสวยสุขทุกข์อย่างไร จึงตั้งความมุ่งหมายเพื่อทราบ.
(๖.) เมื่อพากเพียรไป ได้ทรงทราบตามความมุ่งหมายข้อ ๕ แต่ยังไม่ทราบว่าเทพเจ้าเหล่านั้นมีอายุเท่าไร จะดำรงอยู่นานเท่าไร จึงทรงตั้งความมุ่งหมายเพื่อทราบ.
(๗.) เมื่อพากเพียรไป ได้ทราบความมุ่งหมายข้อ ๖ แต่ยังไม่ทราบว่าเทพเจ้าเหล่านั้นเคยอยู่ร่วมกับพระองค์มาหรือไม่ จึงทรงตั้งความมุ่งหมายเพื่อทราบ.
(๘.) เพื่อพากเพียรไป ก็ได้ทรงทราบตามความมุ่งหมายข้อ ๗ นั้นสมดังปรารถนา.
แล้วตรัสย้ำในที่สุดว่า ภิกษุทั้งหลาย! อธิเทวญาณทัสสนะมีปริวัฏ ๘ ประการนี้ยังไม่บริสุทธิ์ดีเพียงไร เราก็ยังไม่ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเพียงนั้น เมื่อใดอธิเทวญาณทัสสนะมีปริวัฏ ๘ ประการนี้บริสุทธิ์ดีแล้ว เมื่อนั้นเราจึงได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแจ้งชัดญาณทัสสนะได้เกิดแก่เราว่า เจโตวิมุตติของเราไม่กำเริบ ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ภพใหม่ไม่มีอีกดังนี้
รวมใจความของวิธีตามที่ตรัสนี้ได้ว่า
ก. ทำให้เกิดโอภาส คือแสงสว่าง โดยวิธีดังจะกล่าวข้างหน้า.
ข. ดำรงสมาธิไว้ให้ได้นานที่สุดที่จะนานได้.
ค. สำเหนียกเพื่อรู้เรื่องควรรู้เกี่ยวกับเทพเจ้านั้น จนรู้หมดทุกประการ.
เมื่อมีอธิเทวญาณทัสสนะ ๘ ประการนี้แล้ว ชื่อว่ามีทิพพจักขุ เห็นรูปทิพย์ได้.
๒. เห็นสิ่งในระยะไกลนั้น ได้แก่มีความสามารถแผ่รัศมีความสว่างทางใจ ไปทั่วสากลจักรวาล แล้วมองเห็นสิ่งที่มีอยู่ภายในรัศมีแสงสว่างนั้น โลกธาตุมีอยู่ ณ ที่ใดๆ ก็มองเห็นหมดรูปลักษณะสัณฐานของโลกเรานี้ก็มองเห็นได้ชัด เหมือนมองเห็นสิ่งเล็กน้อยบนฝ่ามือได้ฉะนั้นสภาพบ้านเมือง ถนนหนทาง ถ้ำภูเขาเลากาหรือพื้นภูมิประเทศซึ่งยังไม่เคยไปเห็นเลยก็จะมองเห็นตรงกับสภาพที่เป็นจริงทุกประการ พระบรมศาสดาเสด็จไปที่ไหนไม่ต้องตรัสถามทาง และไปถูกก็ด้วยญาณชนิดนี้ พระกัมมัฏฐานรุ่นเก่าพวกหนึ่งฝึกหัดเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆ ไม่ยอมถามถึงหนทางที่จะไป ใคร่จะไปที่ไหนก็กำหนดในใจแล้วไป ชั้นแรกจะหลงทางวนเวียนป้วนเปี้ยนไปมา แต่ก็อดทนเอา ในที่สุดก็จะเกิดญาณทางดวงใจ รู้จักทางไปกำหนดทิศทางได้แม่นยำ เดินลัดตัดตรงไปสู่ที่หมายปลายทางได้ดีกว่าคนธรรมดาที่ชำนาญทางในทางนั้นเสียอีก จนถึงบางท่านมีคนเล่าลือว่าย่นหนทางได้ ซึ่งเป็นฤทธิ์ประการหนึ่ง แต่ความจริงเป็นเพียงรู้จักทางลัดตัดตรงเท่านั้น.
๓. เห็นสิ่งลี้ลับได้นั้น คือสามารถมองทะลุเครื่องกีดขวางกำบังได้ เช่น ฝา กำแพง ภูเขาหรือวัตถุใดๆ ก็ตาม แล้วมองเห็นสิ่งซึ่งต้องการเห็น อันซ่อนเร้นปิดบังในภายในเครื่องกำบังนั้นๆความสามารถในการนี้สำเร็จขึ้นได้ด้วยอำนาจใจบริสุทธิ์ผุดผ่อง ปราศจากเครื่องหมองมัวในภายในใจเช่นนั้นย่อมเป็นที่ตั้งแห่งทิพยอินทรีย์อย่างดี ธรรมชาติใจย่อมไปได้ในที่ทั้งปวง ไม่มีติดขัด เมื่อไปได้ในที่ทั้งปวงไม่ติดขัด ก็ย่อมเห็นได้ในที่ทั้งปวงไม่ติดขัดเช่นเดียวกัน ฉะนั้นจึงสามารถเห็นสิ่งลี้ลับได้ในเมื่อประสงค์จะดู แต่ธรรมดาผู้ก้าวขึ้นสู่ภูมิศีลธรรมอันดีจนถึงมีทิพพจักขุนี้ ย่อมไม่ปรารถนาดูซอกแซกไปในสิ่งที่ไม่ควรดูควรเห็น ไม่เหมือนคนธรรมดาผู้ไม่มีตาชนิดนี้ มักจะปรารถนาเห็นในสิ่งที่ไม่ควรเห็น เหมือนเด็กๆ ชอบดูอะไรต่ออะไรซอกแซก แต่ครั้นบรรลุความเป็นผู้ใหญ่แล้วนิสัยชอบดูอย่างเด็กๆ นั้นก็หายไปฉะนั้น.
๔. เห็นจิตใจของคนอื่นได้ คือสามารถมองเห็นลักษณะสภาพจิตใจของคนอื่น สัตว์อื่นถูกต้องตรงกับความจริง จิตใจของบุคคลธรรมดาย่อมประกอบด้วยรูปลักษณะแสงสี
๑ และกระแสอันเป็นวิสัยแห่งทิพพจักขุได้ดังนี้
ก. จิตสัมปยุตต์ด้วยราคะ มีรูปลักษณะยั่วยวน ประกอบด้วยสีแดงสดหรือสีเหลืองส้ม มีกระแสสัมผัสอบอุ่น ยวนใจ.
ข. จิตสัมปยุตต์ด้วยโทสะ มีรูปลักษณะน่ากลัว ประกอบด้วยสีแดงเข้มหรือเหลืองแก่ มีกระแสสัมผัสเร่าร้อน กดข่มใจ.
ค. จิตสัมปยุตต์ด้วยโมหะ มีรูปลักษณะน่าเกลียด ประกอบด้วยแสงสีมัว สีดำหรือสีเมฆ มีกระแสสัมผัสร้อนอบอ้าว อึดอัดใจ.
ฆ. จิตสัมปยุตต์ด้วยคุณธรรม มีศรัทธา ศีล เป็นต้น มีรูปลักษณะน่านิยม ประกอบด้วยแสงสีสว่างสดใส มีกระแสสัมผัสชื่นๆ เย็นๆ เบาใจ.
ง. จิตสัมปยุตต์ด้วยสมาธิ มีรูปลักษณะน่าเคารพเกรงขาม ประกอบด้วยแสงสว่างเป็นประกายสดใส มีกระแสสัมผัสดูดดื่ม ชุ่มชื่น เย็นใจ.
จ. จิตสัมปยุตต์ด้วยปัญญา มีรูปลักษณะน่าบูชา ประกอบด้วยแสงสว่างเป็นประกายแวววาว มีกระแสสัมผัสจูงใจ โปร่งใจ.
ฉ. จิตสัมปยุตต์ด้วยวิมุตติ มีรูปลักษณะน่าทัศนา ประกอบด้วยแสงสว่างแจ่มจ้า เป็นประกายผ่องแผ้ว มีกระแสสัมผัสซาบซ่าน เฟื่องฟูใจยิ่ง.
๑. จิตใจแท้ๆ ไม่มีสี แต่จิตใจของคนมีกิเลสปรากฏมีสี แก่ผู้มีทิพพจักษุ.รูปลักษณะ แสงสี และกระแสของจิตใจตามที่กล่าวนี้เป็นเพียงสังเขป กำหนดไว้พอเป็นแนวสังเกตศึกษาของผู้สนใจในทิพพจักขุญาณ ผู้มีทิพพจักขุญาณมองเห็นจิตใจของคนของสัตว์โดยรูปลักษณะแสงสี และรู้สึกกระแสสัมผัสทางใจเช่นนั้นแล้ว ย่อมวินิจฉัยได้ถูกต้องว่า คนนั้น สัตว์นั้นมีจิตใจอย่างไร ควรได้รับการสงเคราะห์ด้วยวิธีใดหรือไม่ ทั้งนี้ก็เป็นด้วยได้อบรมจิตใจตนเอง ได้สังเกตรูปลักษณะแสงสี และกระแสจิตของตนเองเป็นอย่างดีแล้ว เมื่อประสบกับจิตใจของผู้อื่นจึงรู้เห็นได้ เช่นเดียวกับรู้เห็นจิตใจของตนเอง ดังกล่าวไว้ในเจโตปริยญาณนั้นแล้ว.
นอกจากตาทิพย์ที่สามารถเห็นรูปทิพย์เป็นต้น ดังกล่าวมาแล้ว ยังมีตาชั้นสูงอีกชนิดหนึ่ง ที่ข้าพเจ้าสมมติเรียกว่า ตาแก้ว ย่อมสามารถเห็นพระแก้ว คือวิสุทธิเทวา ซึ่งได้แก่พระอรหันต์ ตาชั้นนี้เป็นของพระอรหันต์ผู้ตื่นเต็มที่แล้ว ไม่ประสงค์จะกล่าวพิสดารในที่นี้ เพียงเยืองความไว้ให้ทราบนิดหน่อยเท่านั้น.
เมื่อได้ทราบลักษณะทิพพจักขุพอสมควรเช่นนี้ ย่อมเป็นการเพียงพอที่จะทราบวิธีปลูกสร้างทิพพจักขุต่อไป ได้กล่าวไว้หลายแห่งแล้วว่า ที่ตั้งของทิพยอินทรีย์นั้นคือจิตใจ เมื่อบริสุทธิ์ทิพยอินทรีย์ก็บริสุทธิ์เช่นเดียวกัน ฉะนั้น จุดของการปลูกสร้างทิพพจักขุคือจิตใจ ในการฝึกจิตเพื่อให้เกิดทิพพจักขุ มีลำดับขั้นดังต่อไปนี้
๑. อาศัยอิทธิบาทภาวนา เป็นกำลังฝึกจิตใจให้ได้สมาธิถึงฌานที่ ๔ เป็นอย่างต่ำ ทำการเจริญฌานนั้นให้ชำนิชำนาญด้วยขั้นทั้ง ๕ ของฌานจนได้เจโตวสี มีอำนาจทางใจ ดังกล่าวไว้ในบทที่ ๒.
๒. เจริญกสิณ อันเป็นเครื่องนำทิพพจักขุโดยเฉพาะ ช่ำชองจนเป็นปฏิภาคนิมิต กสิณ อันเป็นเครื่องนำทิพพจักขุนี้มี ๓ ประการ คือ
(๑) เตโชกสิณ.
(๒) โอทาตกสิณ.
(๓) อาโลกกสิณ.
วิธีปฏิบัติกสิณได้กล่าวไว้แล้วในบทที่ ๓ ในบรรดากสิณ ๓ ประการ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อาโลกกสิณเป็นเยี่ยมที่สุด ปราชญ์ฝรั่งนิยมใช้ลูกแก้วหรือน้ำใสๆ เป็นเครื่องนำทิพพจักขุก็น่าจะเข้ากันได้ เพราะแสงสว่างกับแก้วย่อมคล้ายคลึงกัน ข้าพเจ้าไม่ขอแนะนำในการเพ่งลูกแก้วและน้ำตามวิธีฝรั่ง เพราะได้มีผู้เขียนไว้แล้ว ผู้ต้องการจะหาอ่านได้.
๓. เมื่อได้กสิณอันเป็นเครื่องนำทิพพจักขุประการใดประการหนึ่งแล้ว ถ้าเป็นเตโชกสิณและโอทาตกสิณพึงเจริญให้ยิ่ง จนปรากฏดวงกสิณเป็นสีขาวใสบริสุทธิ์ก่อน จึงจะฝึกเพื่อทิพพจักขุได้ ถ้าเป็นอาโลกกสิณเมื่อได้แม้เพียงขั้นอุคคหนิมิตปรากฏก็เป็นแสงใสพอควร เมื่อจิตสงบถึงขั้นอัปปนา ก็จะเป็นแสงใสบริสุทธิ์ เป็นที่ตั้งแห่งทิพพจักขุได้ ต่อนั้นไปพึงฝึกทิพพจักขุโดยวิธีอธิเทวญาณทัสสนะ ดังกล่าวมาแล้ว คือ
(๑.) ทำโอภาสให้มีประมาณมาก และให้เป็นแสงใสบริสุทธิ์ได้เท่าไรยิ่งดี แผ่รัศมีโอภาสไปเป็นปริมณฑลรอบๆ ตัวให้ได้กว้างขวางที่สุด.
(๒.) สำเหนียกในใจเพื่อเห็นรูปทิพย์ไว้เสมอ เมื่อเห็นแล้วพึงพยายามยั้งอยู่ในสมาธิอันมีสมรรถภาพให้เห็นรูปทิพย์ได้นั้นให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ พึงศึกษาสำเหนียกเหตุให้สมาธิเคลื่อน ดังที่ตรัสแก่พระอนุรุทธเถระนั้นให้ดี แล้วพยายามกำจัดเหตุเช่นนั้นให้หายไป เหตุให้สมาธิเคลื่อนที่ตรัสแก่พระอนุรุทธะ มีในอุปักกิเลสสูตร ตรัสไว้ ๑๐ อย่าง คือ
(๑) วิจิกิจฉา ความสงสัย
(๒) อมนสิการ ความไม่เอาใจใส่
(๓) ถีนมิทธะ ความท้อแท้ซบเซา
(๔) ฉัมภิตัตตะ ความหวาดสะดุ้ง
(๕) อุมพิละ ความตื่นเต้น
(๖) ทุฏฐุลละ ความหยาบกระด้าง
(๗) อัจจารัทธวิริยะ ความเพียรเกินไป
(๘) อติลีนวิริยะ หย่อนความเพียรเกินไป
(๙) นานัตตสัญญา ใส่ใจมากอย่างยิ่ง
(๑๐) อติชฌายิตัตตัง รูปานัง เพ่งรูปมากเกินไป
(๓.) พึงสำเหนียกเพื่อรู้เรื่องเกี่ยวกับเทพเจ้าที่ได้พบเห็นนั้นให้รู้เรื่องตลอด อนุโลมตามวิธีที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ในข้อว่าด้วยอตีตังสญาณ และอนาคตังสญาณ นั้นเรื่อยๆ ไป.
๔. เพื่อป้องกันมิให้หลงตนลืมตัว พึงเจริญอภิภายตนะ ๘ ประการ ต่อไปนี้ด้วย คือ
(๑) เมื่อท่านใส่ใจรูปธรรมอันใดอันหนึ่ง ณ ภายในจนจิตใจเป็นหนึ่ง จะเกิดเห็นรูปกายภายนอกเพียงนิดหน่อย ซึ่งมีพรรณะดีหรือเลวแล้ว พึงกำหนดใจไว้เสมอว่าเราเป็นผู้รู้เห็นครอบงำรูปเหล่านั้นดังนี้เสมอไป.
(๒) ทำดังข้อหนึ่ง ได้เห็นรูปกายภายนอกมากมายมีพรรณะดีหรือเลวแล้ว พึงกำหนดใจไว้ดังในข้อ ๑ เสมอไป.
(๓) เมื่อท่านใส่ใจอรูปธรรมอันใดอันหนึ่ง ณ ภายในจนใจเป็นหนึ่ง เกิดเห็นรูปกายภายนอกนิดหน่อย มีพรรณะดีหรือเลวแล้ว พึงกำหนดใจไว้ดังในข้อ ๑ เสมอไป.
(๔) ทำเหมือนข้อ ๓ ได้เห็นรูปภายนอกมากมาย มีพรรณะดีหรือเลวแล้ว พึงกำหนดใจไว้ดังในข้อ ๑ เสมอไป.
(๕-๘) ทำเหมือนข้อ ๓ ได้เห็นรูปภายนอกประกอบด้วยสีต่างๆ คือ เขียว เหลือง แดง ขาวผ้าสีเขียว เหลือง แดง ขาว และเครื่องประดับสีเขียว เหลือง แดง ขาว แล้วพึงกำหนดใจไว้เสมอไปว่า เรารู้เห็นครอบงำรูปเหล่านั้น ดังนี้ ความหลงตนลืมตัวก็จะถูกกำจัดไป เป็นไปเพื่อรู้ยิ่งเห็นจริงสิ่งควรรู้ควรเห็นยิ่งขึ้น ไม่ติดอยู่ในสิ่งได้รู้ได้เห็นนั้นๆ หรือไม่หลงไปว่าสิ่งนั้นๆ เป็นตัวเป็นตนของตน หรือเป็นของๆ ตน.
๕. เมื่อเจริญกสิณอันเป็นเครื่องนำทิพพจักขุโดยเฉพาะประการใดประการหนึ่ง จนถึงชั้นฌานที่ ๔ ก็ดี เจริญกรรมฐานอันใดอันหนึ่งอื่นๆ จนได้ฌานที่ ๔ ก็ดี นับว่าได้บรรลุภูมิอันเป็นที่ตั้งแห่งทิพยอำนาจแล้ว เมื่อจะน้อมไปเพื่อทิพพจักขุต่อไปพึงสำเหนียกก่อนว่าฌานที่ ๔ นั้น จิตใจใสสะอาดปราศจากราคีแล้ว มีรัศมีสว่างแลเห็นกายและใจตนเองได้ชัดเจนแล้วพึงฝึกแผ่รัศมีสว่างนั้นให้เป็นปริมณฑลออกไปรอบๆ ตัวให้กว้างขวางไกลที่สุดจนสุดขอบจักรวาลได้ยิ่งดี และพึงอยู่ด้วยอาโลกสัญญานั้นทั้งกลางคืนและกลางวันเนืองๆ ทำใจให้เปิดเผยทุกเมื่อ อย่ายอมให้ความรู้สึกที่ทำใจให้ห่อเหี่ยวมัวซัวมาครอบงำเป็นอันขาด จิตใจเมื่อได้รับอบรมด้วยแสงสว่างอยู่อย่างนี้ ย่อมเป็นใจบริสุทธิ์ผ่องใส มีรัศมีแจ่มใสยิ่ง เปรียบดังแก้วมณีโชติฉะนั้น เมื่อนั้นทิพพจักขุอันบริสุทธิ์เกินกว่าจักขุสามัญมนุษย์ก็เกิดขึ้นได้ รู้เห็นอะไรๆ เกินวิสัยสามัญมนุษย์ดังกล่าวมาแล้ว ถ้าปุถุชนได้ทิพพจักขุมักจะลำบากเมื่อเห็นสิ่งน่ากลัว เช่นยักษ์ ใจหวาดสะดุ้งแล้วสมาธิย่อมเคลื่อน ทิพพจักขุย่อมหายไปฉะนั้น เมื่อได้แล้วอย่าพึงวางใจ พึงเจริญธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป.
http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/misc/ ทิพยอำนาจ-12.htm