ผู้เขียน หัวข้อ: อกรรมกิริยา-สยัมภู-อู่หวุย โดย ท่านเขมานันทะ  (อ่าน 1046 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


อกรรมกิริยา-สยัมภู-อู่หวุย โดย ท่านเขมานันทะ

เมื่อกายของเราตื่น จิตของเราตื่น เกิดอาการสัมผัสทุกสิ่งทุกอย่างว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในห้วงจินตภาพทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเป็นสิ่งที่สัมผัสได้โดยตรง เช่น เมฆ ท้องฟ้า ต้นไม้

เมื่อจิตสำนึกของมนุษย์ตื่นขึ้น เขาก็สัมผัสความจริงของทุกสิ่งทุกอย่างด้วยจิตใจอันใหญ่กว้าง ความคิดแคบๆ หรือจิตเล็ก ๆ ภายใต้ความคิด “ตัวของฉัน” “ของข้าพเจ้า” แตกสลาย

เมื่อจิตสำนึกเล็ก ๆ แตกสลายก็กลายเป็นจิตสากล จิตซึ่งกว้างใหญ่ไพศาล ความคิดความอ่านไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ภายใต้แวดวงของชาติ ศาสนา ที่จำกัดอีกแล้ว จิตสำนึกที่แผ่ออกไปไม่มีของเขตนั้นเอง เป็นรากฐานดั้งเดิมซึ่งได้กลายเป็นสภาพใหม่ จิตสำนึกเล็ก ๆ ยังอยู่เพียงเป็นร่องรอยของความจำ

ในการปฏิบัติเพื่อการตื่นทั้งกายและจิตนั้น จำเป็นต้องเร้าความรู้สึกตัวให้มาก เพื่อให้มันตื่น ไม่ใช่การสะกดให้มันนิ่ง การสะกดตัวเองให้นิ่งจะส่งผลไปอีกทางหนึ่ง อาจจะรู้เห็นบางสิ่งบางเรื่อง ไม่ใช่ทุกสิ่ง รู้จักบางสิ่ง เช่นความสงบ ความมักน้อยสันโดษ

รู้จักศีลที่เกิดจากการควบคุมบังคับตนเอง แต่ไม่รู้จักศีลที่เกิดจากการปล่อยไม่ต้องมัวควบคุม อาจจะรู้กฎเกณฑ์ที่ตัวเองบังคับควบคุม แต่จะไม่รู้จักการอยู่เหนือกฎเกณฑ์ มีกฎเกณฑ์โดยไม่ต้องรักษากฎเกณฑ์

การเจริญสติในเบื้องต้นนั้น ย่อมหมายถึง ความรู้ตัวในการกระทำกายกรรม คือการเคลื่อนไหวทางกาย คำพูดคือวจีกรรมและมโนกรรม คืออาการคิด ซึ่งเป็นการกระทำ ทางจิตใจ

เมื่อเจริญสติเราตื่นตาตื่นใจ เฝ้าดูการเคลื่อนไหวของกาย คำพูด ความคิดของเรา ถ้าเรารู้เท่าทันคิดนึกเรื่องใด ๆ ก็ไม่ต้องไปสนใจ แต่เราเห็นอาการคิดซึ่งเป็นอาการหนึ่ง การสัมผัสทุกสิ่งทุกอย่างหรือการรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง มันเกิดจากธาตุรู้ซึ่งเป็นหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาพอันเดียวภายในตัวมนุษย์เอง

เมื่อเร้าความรู้สึกตัวให้ปรากฏเด่นชัดแล้ว ชีวิตจิตใจจะเป็นเหมือนเรด้ามีประสิทธิภาพสูง สามารถจับการเคลื่อนไหวของทุกสิ่งตามที่เป็นจริง การสัมผัสอาการได้ตามที่เป็นจริงนั้น มีความสำคัญมากทีเดียว เพราะว่าความคิดก็สิ้นสุดลง เมื่อความคิดสิ้นสุดลงด้วยพลังของสติที่พัฒนาเป็นสมาธิที่เป็นเอง นิสัยเก่าก็ถูกตัดขาด และมีการเรียบเรียงระเบียบของมันใหม่

ความคิดมีอยู่ ๒ ลักษณะ ลักษณะแรก เราเรียกว่าความคิด อันหลังคือ อาการคิด

ตามธรรมดา ถ้าเราเฝ้าดูความคิด เราก็จะคิดว่าเรากำลังดูความคิด เราคิดเรื่องหนึ่งเรื่องใด แล้วเราก็ไปดูความคิดเข้า เราก็เลยคิดว่าเรากำลังดูความคิด ดังนั้นจึงเกิดความคิดซ้อนความคิด ดังนี้ไม่ใช่การเจริญสติ เรียกว่าเป็นผู้ใช้ความคิด ขบคิด ผลก็คือการได้เป็นนักคิด ดังนี้ ไม่ใช่การเห็นความคิด แต่เป็นการรู้คิด มีความคิดเห็นอย่างนั้นอย่างนี้

เมื่อรู้ว่ามีความคิดอยู่ในจิตใจ นั่นยังไม่เป็นการเจริญวิปัสสนาที่บริสุทธิ์ ส่วนการเฝ้าดูนั้น เห็นเพียงอาการเท่านั้น เพียงรู้สึกมันคิดวูบวาบไปแล้วไม่ได้สนใจ มันคิดดีคิดถูกนั้น ไม่สำคัญอะไร เพราะว่าเมื่อเห็นอาการของมัน มันจะตกไปทันที คลื่นระลอกใหม่ของอาการคิดก็จะปรากฏขึ้น

ผู้เจริญสติ เช่นนี้ จะเข้าใจซึ้งถึงความหมายของปัญญาอันเหนือคิดและจะพัฒนาไปเป็นญาณ

เห็นความคิดนั้นไม่เห็นอะไรเลย เห็นเพียงอาการเท่านั้น เมื่อสติตระหนักรู้ว่องไว สัมผัสการเต้นของหัวใจ เสียงที่เข้ามาทางหู เปลือกตาที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่

เมื่อเราเดินจงกรมอยู่ เราจะเห็นตัวเอง สัมผัสตัวเอง เห็นลมหายใจคืออิริยาบถย่อยๆ ซึ่งเป็นไปในอาการใหญ่ ๆ คือการก้าวย่าง ซ้อนกันอยู่ ครั้งก่อนผมได้กล่าวว่า สาระสำคัญของการปฏิบัติการเจริญสติภาวนานั้น คือการไม่เป็นไปในอำนาจของความคิดนึก แล้วยกอุปมาว่าเหมือนกับเราไม่เป็นไปตามอำนาจแห่งรถยนต์

ถ้าเราขับรถยนต์ คอยประคองพวงมาลัย ประคองส่วนต่าง ๆ ของเครื่องจักร ที่จะทำให้รถยนต์แล่นไปตามต้องการ ในการขับรถยนต์จุดยากเย็นที่สุดคือ เรามัวไปบังคับส่วนใดส่วนหนึ่งอยู่

ถ้าหากว่าเราจะเริ่มขับรถยนต์ ก่อนหน้านั้นเราขับรถยนต์ไม่เป็น เราไม่อยากมีรถยนต์ แม้เรานั่งรถยนต์ของเพื่อนหลายสิบครั้ง หลายร้อยครั้ง แต่เราก็ขับไม่เป็น ถ้าเราไม่สังเกตนี้แสดงว่าเราไม่มีปัญหากับรถยนต์ รถจะเครื่องเสีย ชำรุด เราไม่มีปัญหาเลย เพราะเราไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ เราไม่ต้องการเป็นเจ้าของด้วยจิตสำนึก

ผู้ขับรถยนต์ไม่เป็นและไม่ต้องการจะขับรถยนต์ จะไม่มีปัญหากับรถยนต์ ซึ่งเปรียบกับคนทั่วไปไม่สนใจธรรมะ แล้วไม่ต้องการปฏิบัติด้วย เขาก็ไม่มีปัญหา เพราะเมื่อเขามีปัญหา เขาก็ไม่รู้ไม่ชี้ แต่ปัญหาก็อยู่ที่นั่นเหมือนคนขับรถยนต์ ไม่เป็น เขาจึงไม่เป็นจนวินาทีสุดท้าย

พอจะขับรถยนต์ขึ้นมา ซื้อรถมาแล้วก็ลงมือศึกษามัน จึงเริ่มมีปัญหากับรถยนต์ เราจะควบคุมมันบังคับมันให้ เป็นไปตามที่เราต้องการ เราเริ่มศึกษาแต่ละกรณี เราเริ่มศึกษาพวงมาลัยคลัตช์ เกียร์ ต้องไปเกี่ยวข้องต่อสู้กับมัน ที่จะควบคุมดูแลให้จงได้ ไม่ช้าไม่นานเราสามารถควบคุมดูแล ให้รถยนต์ทำงานสอดคล้องกลมกลืน

ในที่สุดเราก็เป็นคนหนึ่งที่ขับรถยนต์ได้ เมื่อเราขับรถยนต์เป็นแล้ว จิตสำนึกเราก็สิ้นปัญหาเกี่ยวกับการขับรถยนต์ เช่นเดียวกับคนขับรถยนต์ไม่เป็น แต่คนขับรถยนต์ไม่เป็น ไม่มีประสบการณ์เลยในการต่อสู้เพื่อขับเป็น แต่เมื่อเราขับเป็นแล้วเราก็ไม่มีอะไรกับมันเหมือนกัน

จุดยากเย็นที่สุดในการขับรถยนต์เป็นคือ เราใส่ใจสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยเฉพาะมากเกินไป เช่น เรากุมพวงมาลัยแน่นด้วยความหวาดกลัวเราก็ลืมดูไฟท้ายไฟหน้า ลืมดูกระจก ลืมส่วนอื่น ๆ จุดนี้เองเป็นจุดที่ยากที่สุด

ความไม่ใส่ใจในจุดใดจุดหนึ่ง มีการประคับประคองทุก ๆ ส่วนไว้ ซึ่งอันนี้คือจุดที่คลี่คลายและกลมกลืน

การขี่จักรยานหรือสามล้อ ถ้าเราควบคุมมากเกินไป การทำเช่นนั้นทำให้เกิดอุปสรรค ฉันใดก็ฉันนั้น ในการเจริญสติจุดที่แก้ไขยากที่สุด คือจุดที่เราเพ่งที่จุดหนึ่งจุดใดนั้นเอง ดังนั้น นักภาวนาทั้งหลายมักมีคำถามว่า ผมจะเอาจิตไปไว้ที่ตรงไหน

การขับรถยนต์เป็นนั้นมันต้องใช้เวลา คนกล้าหาญหน่อยก็เป็นเร็ว บางคนหัดเช้าเย็นก็ขับได้ บางคนเป็นเดือนกว่าจะขับได้ บางคนอาจจะเป็นปีเพราะความกลัว กว่าจะเปลี่ยนความใส่ใจที่ละจุดในการกุมพวงมาลัย หรือเหยียบคลัตช์เป็นการประคองดูรวม ๆ

แตะ ๆ ต้อง ๆ มันเท่านั้น ไม่ใช่ยึดถือ

ต้องใช้เวลา ช่วงหนึ่งสำหรับศิลปะแห่งการปล่อยวางนี้ แต่ว่าในการเจริญภาวนา ไม่เหมือนกับการขับรถยนต์เสียทีเดียว เพราะในตัวมนุษย์เรามีภาวะซึ่งเป็นเองอยู่แล้ว ผู้ที่ขับรถยนต์เป็น ถ้าเราไปถามเขา ๆ จะว่าไม่เห็นมีเรื่องอะไร เรื่องง่าย ๆ เป็นแล้วมันจะเป็นไปเอง แทบจะบอกให้เป็นทฤษฎีไม่ได้ ขึ้นนั่งในรถยนต์แล้วมันเป็นไปเอง

ผมเคยนั่งคุยกับเพื่อนในรถ เขาขับรถเขาฟังผมพูดไปด้วย ทั้งตอบโต้ปัญหาต่าง ๆ เป็นชั่วโมง สังเกตว่าเขาทำได้ดีทั้ง ๒ อย่าง เขาเข้าใจปัญหา เขาขับรถยนต์ได้อย่างดีด้วย นั้นแสดงว่าเขาเข้าถึงความชำนาญอันนั้นแล้ว แต่ความชำนาญมีเรื่องต้องระมัดระวังว่า เป็นความชำนาญซึ่งทำลายความรู้สึกสด ๆ ใหม่ ๆ ไปหรือเปล่า

ส่วนในร่างกายชีวิตจิตใจของเรา มีสภาวะซึ่งเป็นเองอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าใครทำถูกเรื่องเข้า สภาพเป็นเองจะปรากฏขึ้นอย่างฉับพลันฉันนั้น ดังนั้น ช่วงปฏิบัติแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนปฏิบัติช่วงสั้นได้ผล บางคนปฏิบัติเป็น ๑๐ ปี ๆ ก็ยังไม่ปรากฏผลที่น่าพอใจเพราะอุปนิสัยชอบยึดถือนั้นเอง ชอบยึดถืออันหนึ่งอันใด อันนั้นก็จะเป็นอุปสรรคแท้ที่จริง

โลกทั้งหมด จักรวาลทั้งหมด ชีวิตสังคมล้วนแต่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ ธรรมชาติทั้งหมดเป็นไปเอง โดยหลักธรรมของพุทธศาสนาเรา ไม่มีหลักคิดของเรื่องพระผู้สร้างผู้ควบคุมและผู้ทำลาย ถือว่าธรรมชาตินั้นเป็นเอง เด็ก ๆ ตั้งแต่นอนแบเบาะกินข้าว กินน้ำ กินนม กินขนม ก็เติบโตขึ้นมาเอง หรืออายุขัยของเราก็เคลื่อนไหวขึ้นมาเปลี่ยนแปลงไปจนมาเท่านี้

สภาพเป็นเองนี้ ภาษาบาลีสันสกฤตเรียก สยัมภู หรือ สยาม ซึ่งเป็นชื่อของประเทศเรา ความเป็นเอง หมายถึงอิสรภาพ เหมือนคนขับรถยนต์เป็นและเป็นเอง เป็นไปเอง แสดงว่าเขามีอิสรภาพแล้ว

ในการเจริญสติภาวนานั้น เป้าหมายที่สำคัญที่สุด คือการเข้า ถึงสภาพเป็นเอง ได้แลเห็นและซึมซาบในสภาวะนั้น แล้วการภาวนาก็บรรลุผลสำเร็จคือสภาพเป็นเอง เช่นเห็นตาที่กะพริบเอง ความคิดที่คิดขึ้นมาเอง การเคลื่อนไหว แม้แต่ถ้อยคำก็เป็นไปเอง ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อเห็นตัวมันเอง ช่วงชีวิตไม่ใช่ความทุกข์ทรมานอีกต่อไป ดังนั้น จึงเรียกเป็นสุขได้ สุขที่เกิดจากการหมดสิ้นการแสวงหา เมื่อเห็นความเป็นเองแล้ว

เมื่อเราปฏิบัติการเคลื่อนไหว ถ้าเราได้สอดใส่เจตนาเพ่งเล็งแรงกล้าอยู่ หรือพยายามที่จะกำหนด นั้นคือจุดอ่อนของเรา เป็นจุดซึ่งแก้ยากที่สุด ดังนั้น คนทั่วไปชอบที่จะสะกดจิตตัวเองอยู่เรื่อย ๆ เมื่อเราเคลื่อนมือก็ไปกำหนดมันเข้า อย่างนี้เท่ากับไปขัดแย้งกับความเป็นเอง ควรปฏิบัติเล่น ๆ

ทำเหมือนไม่ได้ทำอะไร แต่ขอให้ทำ ทำในความหมายไม่กระทำ เป็นการกระทำกรรมที่ไร้เจตนา หากทำกรรมผลก็ตามมา กรรมนั้นตัดสินโดยเจตนา เจตนาให้สงบมันก็กลายเป็นความสงบ ติดอยู่แค่ความสงบนั้น การเจริญสติแบบที่แนะนำอยู่นี้ ให้ปฏิบัติเฉย ๆ สุขก็ไม่เอาทุกข์ก็ไม่เอา ไม่ต้องไปสนใจ จะปรากฏเป็นสุขก็ได้ ทุกข์ก็ได้ ให้เหลือแต่การเคลื่อนไหวล้วน ๆ ความรู้สึกล้วน ๆ บนฐานของการเคลื่อนไหว

ทำอย่างนี้มันจะเข้าสู่ความเป็นเองอย่างรวดเร็ว แท้ที่จริงการละกิเลสต่าง ๆ นั้น มันละของมันเอง โดยจิตใจสิ้นปรารถนามัน สภาพเป็นเองนั้น ปรากฏขึ้นแทนที่ มันก็ละของมันเอง

นิสัยใหม่คือความขยัน ความซื่อตรง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเอง เมื่อเราเร้าความรู้สึกตัว เห็นตัวเองเดินไปเดินมา หายใจเข้าหายใจออก แต่ไม่ได้เห็นอันหนึ่งอันใดโดยเพ่งเล็งจำเพาะ เห็นรอบ เห็นกว้าง ๆ

ในการปฏิบัติชนิดรวมศูนย์ทุกชนิด จะเป็นอุปสรรคในการเห็นความเป็นเอง เช่น การกระทำให้สงบแบบสมถะ กำหนดเอาลมหายใจเข้าออก หรือเพ่งต่อนิมิตอันหนึ่งอันใด สิ่งเหล่านั้นเป็นอุปสรรคต่อความเป็นเองทั้งสิ้น

ถ้าเราไปทำให้มันสงบโดยเจตนา พอเกิดสงบ มันหวังอยู่แล้ว อยากได้อยู่แล้วก็ตะครุบทันที การปฏิบัติเช่นนั้น ชื่อว่ายังพัวพันกับกรรม ไม่พ้นกรรมไปได้ นั่นเป็นการปฏิบัติสมถะ ปฏิบัติเช่นนี้ จะไม่รู้จักศีลที่แท้จริง ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นเอง ซึ่งมีอยู่แล้วในตัวชีวิต ผู้เจริญสมถะจะไม่รู้จัก

ผู้เจริญสมถะแม้จะได้ความสงบ แต่ในความสงบเช่นนั้น ไม่มีอิสระภาพเลย มีแต่ความสงบด้วยอำนาจการกดข่มกิเลสอาสวะไว้เหมือนนักโทษอยู่ในคุก ต่อมาผู้คุมให้ย้ายไปอยู่อีกคุกหนึ่ง ซึ่งลูกกรงคุกทำด้วยทองคำ แต่เขาก็ยังคงเป็นนักโทษไม่ค้นพบอิสรภาพการเจริญสมถะนั่งหลับตาสะกดจิตตัวเองนี้ เป็นการปฏิบัติตามรอยอุททกะ – อาฬารดาบส ซึ่งไม่ใช่วิธีของพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าได้ออกจากสำนักดาบสทั้งสองนั้นด้วยเห็นว่า ผลของการกระทำยังอาพาธได้ แล้วจะเรียกความสงบว่ามรรคผล นิพพานได้อย่างไร

ในการเจริญสมถะและวิปัสสนานั้น มีรากฐานที่ต่างกัน โดยทั่วไปแล้ว เราเข้าใจว่า เจริญสมถะจนสามารถระงับนิวรณ์ได้ ต่อจากนั้นยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา คือพิจารณาสิ่งทั้งปวงโดยเฉพาะขันธ์ ๕ ตามนัยนะแห่งพระไตรลักษณ์ ความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา

ทางทฤษฏีเราเรียนเช่นนี้ แต่ในภาคปฏิบัติไม่เป็นเช่นนั้น บุคคลเจริญสมถะแล้วยากจะเข้าสู่วิปัสสนา คือการเจริญวิปัสสนานั้น เราตั้งต้นที่สติไม่ใช่ความสงบ จะสงบก็ได้ไม่สงบก็ได้ขอให้รู้ตัว คิดดีก็ได้ คิดร้ายก็ได้ กายเคลื่อนไหวอย่างไร ก็รู้ด้วยอาการอย่างนั้น นั่งอยู่ก็รู้อาการนั่ง โดยไม่ต้องพูดซ้ำว่ากำลังนั่งอยู่

การพูดซ้ำกำหนดหนอ เป็นการกระทำที่ล้อหลอกความจริง เดินอยู่ก็รู้อิริยาบถที่เคลื่อนไหว นั่ง นอน เคลื่อนมือ เมื่อคิดนึกไปให้รู้ให้เห็น ให้รู้ให้เห็นทันท่วงที ชนิดสัมผัสได้ พอคิดวูบไปก็รู้ตัวเดี๋ยวนั้น การรู้การเห็นเช่นนี้เรียกว่าเจริญสติ

โดยทั่วไปเรามักจะรู้กันแล้วว่า จิตใจมีการตรึกนึกมีความคิด เรารู้แบบคิดซ้อนคิดอย่างนี้ ยังไม่เห็น ถ้าเห็นความคิดแล้ว กระแสสืบต่อความคิดจะขาดสะบั้นลง และไม่มีคำพูดแม้แต่คำเดียวที่ปรากฏขึ้นในจิต แต่ความคิดก็ยังคงเป็นความคิด เรานั่งอยู่เราหิวเราคิดขึ้นมาว่าจะไปหาอาหารมาใส่ท้อง ความคิดเช่นนี้ไม่มีปัญหา เพราะสัมพันธ์กับความเป็นจริง

แต่ความคิดปรุงแต่งที่เป็นปัญหา คือเราคิดโดยไม่รู้ตัว ส่วนความคิดที่เราเห็นแล้ว แสดงว่าเราควบคุมไว้ได้แล้ว เราอยู่เหนือมันแล้ว เช่นเดียวกับเราหมุนพวงมาลัยรถ รถก็หมุนไปตามที่เราคาดหวัง แสดงว่าเรามีอิสระในการกระทำนั้น ให้มันรู้ตัว ตื่นตาตื่นใจจะสงบก็ได้ไม่สงบก็ได้ ถ้าเราไปตั้งเป้าจะให้สงบเมื่อใด เราจะพลาดทันที เราต้องเข้าใจว่าเราต้องเร้าความรู้สึกตัว สงบก็ได้ไม่สงบก็ได้ ให้รู้ให้เห็นให้สัมผัสมันได้

ทุกคนอาจจะยังเข้าใจ ผิดต่อธรรมชาติธรรมดาของทะเล เช่นเข้าใจว่าทะเลแท้ต้องไม่มีคลื่นเลย นี้เข้าใจผิดมาก ไม่มีทะเลไหนในโลกนี้ที่ราบเรียบเป็นหน้ากลองตลอดเวลาได้ แต่ทะเลที่บ้าคลั่งครืนโครมนั้นก็ไม่ใช่สิ่งถาวร สภาพปกติของทะเลคือการมีคลื่นลมบ้าง ไม่มีบ้าง คลื่นใหญ่บ้างเล็กบ้าง

สภาพปกติของชีวิตจิตใจก็เหมือนกัน ต้องมีความคิดนึกผ่านเข้ามา ถ้าเราคิดว่าสภาพปกติคือการนั่งไม่คิดอะไรเลย นั่นเป็นการเข้าใจผิด ดังนั้น ให้รู้สึกตัว ดูเข้าไปในใจตัวเอง อย่าเข้าไปในความคิด อย่ามุ่งที่จะหยุดยั้งความคิด เมื่อเผลอเข้าไปในความคิดแล้ว ก็กลับมารู้สึกตัวอีก อย่ามุ่งจะหยุดความคิด

ความคิดนั้นเป็นพลังทำให้เกิดสมาธิ คือเมื่อเรารู้ตัว ก็เป็นการทวนกระแสความคิด ก่อเกิดพลังสมาธิขึ้นตามธรรมชาติ กลับมารู้สึกตัว ทำอยู่อย่างนี้เรียกเจริญสติภาวนา เพื่อการรู้แจ้งรู้จริงต่อตัวเองและสิ่งที่เกี่ยวกับตัวเอง ทำเช่นนี้ สังเกตเช่นนี้มากเข้า นานเข้า ความรู้สึกตัวก็นำหน้า ความคิดก็ถอยร่นมาอยู่ข้างหลัง

เมื่อความคิดเข้ามาก็รู้สึกตัว ตื่นตัว กล้าท้าทายความคิดทุกรูปแบบ ไม่หวั่นไหวไปกับความคิด เพราะความรู้สึกตัวมีกำลังเหนือกว่า จากความรู้สึกอันนั้นเราจะเรียนรู้ชีวิตและที่สุดของมัน

ชีวิตคือการรู้สึกตัว ไม่รู้สึกตัวก็ไม่มีชีวิต พระพุทธเจ้าตรัสว่าผู้ประมาท ชื่อว่าตายแล้ว ผู้ที่ประมาทคือผู้ที่เข้าไปในความคิดเรื่อย ๆ โดยไม่รู้สึกตัว ชื่อว่าเดินห่างจากชีวิตแท้ออกไปทุกที เมื่อเจริญสติ ถ้าเราทำตามปัจฉิมโอวาทครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้า อันเปรียบเหมือนมรดกสำคัญ ซึ่งทรงตรัสเป็นครั้งสุดท้ายด้วยความห่วงใยผู้คน ผ่านทางภิกษุที่รายล้อมท่านอยู่

ในวาระสุดท้ายคือ เธอทั้งหลายจงอย่าประมาท คำพูดสั้น ๆ นี้ มีความหมายใหญ่หลวงนัก ผู้ที่จับแก่นความหมายนี้ได้ ก็กล่าวได้ว่า

ได้รับมรดกของพระพุทธเจ้า แสดงว่ารู้ตัวรู้สึกตัว ไม่เป็นไปตามอำนาจแห่งความนึกคิด จนอยู่เหนือความคิดนั้น

เราเดินจงกรม ยกมือ เราอย่าไปสนใจการยกครั้งต่อไป แต่ขอให้เคลื่อนไหวไว้ รูปแบบของการเคลื่อนไหวทำไว้ให้มาก แต่อย่าไปสนใจมัน บัดนี้ บนฐานของความรู้สึกตัว ดูเข้าไปในจิตใจของตัวเอง อย่าเป็นไปตามอำนาจความคิด เมื่อความคิดเกิดขึ้น เราก็จะลืมตัว

สติที่เราเรียกกลับมา คือความรู้สึกตัว เราก็หลุดออกจากความคิด เดี๋ยวเราก็เผลอตัวเข้าไปในความคิดอีก นี้คือการต่อสู้ของเรา รู้ตัวบ้าง ลืมตัวบ้าง นี้เป็นการปฏิบัติที่เป็นธรรมชาติ ถ้านั่งนิ่งรู้ตัวตลอดเวลา อาจเกิดอาการผิดเพี้ยนได้ เพราะในเบื้องต้นของการเจริญสติคือรู้ตัว แต่เมื่อมันพัฒนาไปไกล มันจะถึงจุดที่ลืมตัว

การที่เราลืมตัวอย่างรู้ตัว เป็นเป้าหมายของเรา เพราะมันจะเข้าสู่ความเป็นเอง การที่เรารู้ตัวนี้ เป็นปัญหาซ้อนอยู่ในตัวด้วย เพราะรู้ตัวเข้าแล้วเราก็เริ่มทุกข์ ก่อนหน้าจะมาปฏิบัติเราไม่ทุกข์ เราสนุก เรามีอะไรกลัดกลุ้ม เราก็ไปเที่ยวหรือคุยกับเพื่อน เราก็สบาย เราไม่รู้จักความทุกข์

แต่ถ้าเรารู้ตัวมาก ๆ เราจะเป็นทุกข์ ทุกข์ที่ต้องรู้ตัว ทุกข์ในตัวเอง จากความทุกข์ หากเรามีสติ มันจะแปรเปลี่ยนเป็นสมาธิ จากทุกข์ มันจะเคี่ยวจนคลี่คลายออกเป็นการรู้ตัว แบบไม่กำหนดเลย

รู้ตัวแบบไม่รู้ตัว ไม่รู้ตัวแบบรู้ตัว ขึ้นเหนือกฏเกณฑ์แห่งการปฏิบัติ เป็นการปฏิบัติชนิดเหนือการปฏิบัติ ไม่ปฏิบัติแต่ปฏิบัติอยู่ ดังนั้น ปฏิบัติให้มากจึงจะเข้าใจเหนือการปฏิบัติ

เหมือนขับรถยนต์มาก ๆ วันหนึ่งจะรู้สึกว่าเหมือนไม่ได้ทำอะไร ปราชญ์จีนโบราณเรียกสภาวะนี้ว่า อู่หวุย หรือเรียกเป็นภาษาบาลีว่าอกรรมกิริยา ทำแต่ไม่ได้ ทำอะไร ไม่ถอย ไม่สู้ ไม่อยู่ ไม่หนี…นั้นคือเป็นเอง

การปฏิบัติธรรมเบื้องต้น เจริญสติบนฐานของการเคลื่อนไหวให้รู้ตัว เมื่อรู้ตัวแล้วทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากการรู้ตัวนี้คืออริยสัจจ์ ไฟทุกข์จะโทรมลง สันติภาพอยู่ที่นั่น เบื้องหลังความทุกข์นั่นเอง

คนทั่วไปทุกข์ด้วยอำนาจของกิเลส แต่นักภาวนาทุกข์เพราะไม่ได้บรรลุภูมิธรรมที่เหนือกว่า แต่ก็ทุกข์เหมือนกัน จิตเกี่ยวข้องกับความทุกข์เพียงรู้เฉย ๆ แต่สาเหตุความทุกข์นั้นต้องขุดรากกำจัดมัน

เช่นเดียวกับเราต้มน้ำให้เดือด บอกเด็กผู้ไม่รู้อะไรไปทำน้ำอย่าให้เดือด เด็กคนนั้นเอามือไปตบน้ำให้สงบ มือก็พองไหม้ เจ็บปวดและไม่สำเร็จด้วย เด็กที่รู้เดียงสา เขาจะไปเอาฟืนออก ในที่สุดน้ำก็เย็นเอง เพราะว่าธรรมชาติของความชุ่มเย็นนั้นเป็นเนื้อหาดั้งเดิม เป็นสาระดั้งเดิมของน้ำ ฉันใดก็ฉันนั้น

สาระชีวิต ก็คือความสงบ ตัวเรานี้เป็นตัวสงบ ความสงบสิงสู่อยู่ทั่วสรรพางค์กาย ในชีวิตนี้คือความเงียบสงัด นี้คือสาระแก่นสารของชีวิต แต่มาถูกไฟอวิชชา ความโง่ ความลืมตัว มาแผดเผาเข้า กลายเป็นชีวิตที่เดือดพล่าน ทุกข์ทรมานทุรนทุราย

ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าไม่เป็นทุกข์ จะคิดจะทำอะไรสักนิดก็กังวลขึ้นมา คิดจะเดินทาง คิดจะแต่งงานหย่าร้าง แทบจะกล่าวได้ว่าคิดจะทำอะไรเท่านั้น ความกังวลก็ตามมา ในที่สุดความวิตกกังวลก็ครองเรือนใจ นั้นเหมือนเชื้อโรคร้าย หรือเหมือนปลวกกัดกินบ้านเรือนจนพังทลายลง
 

(ที่มา : “อกรรม กิริยา-สยัมภู-อู่หวุย” ในช่วงชีวิต-ช่วงภาวนา โดย เขมานันทะ :พิมพ์ครั้งแรก โดย ธรรมสภา, พ.ศ. ๒๕๓๖, หน้า ๘๕-๙๕)

สนใจปฏิบัติธรรม ติดต่อ

สำนักสงฆ์ถ้ำเขาพระ กระบี่
http://thamkhowpra.blogspot.com/p/blog-page_6784.html

วัดแพร่แสงเทียน แพร่
http://www.buddhayanando.com/category/งานอบรม/

วัดสนามใน
http://www.watsanamnai.org/index.php?lay=show&ac=article&Ntype=4

วัดป่าสุคะโต ชัยภูมิ
http://www.pasukato.org/practice_sukato.html

จาก http://totalawake.com/blog/?p=36
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...