มารู้จักกับ “พระประจำวันเกิด” แบบรู้ลึก รู้จริงกันดีไหมแม้ว่า “การกราบไหว้บูชาพระพุทธรูป” เพื่อเป็นการระลึกถึงพระพุทธเจ้าจะไม่ใช่การบูชาที่เทียบได้กับการปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่เรียกกันว่า “ปฏิบัติบูชา” แต่บางครั้งพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ก็เป็นดั่งเครื่องน้อมนำศรัทธาของชาวพุทธที่สนใจในธรรมระดับเบื้องต้น ให้สนใจใคร่รู้ในธรรมขั้นสูงต่อไป
นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คนไทยนิยมบูชาพระประจำวันเกิดกันเป็นจำนวนมาก แต่น้อยคนที่จะศึกษาถึงที่มาที่ไปของ
พระประจำวันเกิดนั้น ๆ ทำให้ไม่มีโอกาสได้รับทราบข้อธรรมที่ปรากฏอยู่ในพระพุทธลักษณะของพระพุทธรูปปางต่าง ๆ
Secret จึงขอนำความรู้เหล่านี้มาแบ่งปัน
วันอาทิตย์ พระพุทธปฏิมาปางถวายเนตรลักษณะพระพุทธรูป : พระในอิริยาบถยืน ลืมพระเนตรทั้งสองเพ่งไปข้างหน้า พระหัตถ์ทั้งสองประสานที่พระเพลา (ตัก)
เหตุครั้งพุทธกาล : หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ได้ประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ ณ ต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลา 7 วัน จากนั้นจึงเสด็จจากร่มไม้นั้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงยืนกลางแจ้ง แล้วทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์โดยไม่กะพริบพระเนตรเป็นเวลา 7 วัน สถานที่ดังกล่าวปัจจุบันมีชื่อว่า “อนิมิสเจดีย์”
นัยทางธรรมที่นำมาใช้ในชีวิต : เพื่อระลึกถึงธรรมะในพระพุทธศาสนา ในข้อกตัญญูกตเวทิตาคุณ อันมีพระบรมศาสดาทรงเป็นแบบอย่างจากที่ทรงระลึกถึงบุญคุณของต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พระองค์อาศัยร่มเงาจนได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ
นอกจากนั้นยังมีคำอธิบายเกี่ยวกับพระพุทธรูปปางถวายเนตรว่า หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงนั่งสมาธิเป็นเวลานาน จึงได้ทรงเปลี่ยนพระอิริยาบถจากท่านั่งมาเป็นท่ายืนเงยพระพักตร์และเพ่งพระเนตรจ้องดูดวงอาทิตย์อย่างสงบนิ่ง พร้อมทั้งทรงหาเหตุและผลตามหลักธรรมชาติเพื่อนำมาเทียบกับธรรมของพระองค์ ซึ่งได้ความว่าดวงอาทิตย์มีทั้งขึ้นและลงหมุนเวียนเปลี่ยนไปในแต่ละวัน เปรียบได้กับชีวิตของมนุษย์เมื่อเกิดมาแล้วก็มีดับไป ระหว่างที่ดำรงชีวิตอยู่ก็โลดแล่นไปตามทางของตน มีทุกข์มีสุขปะปนกันไป เมื่อถูกกิเลสเข้ามาครอบงำก็ทำให้จิตใจเศร้าหมอง พระพุทธเจ้าจึงทรงให้ยึดปฏิบัติตามธรรมของพระองค์เพื่อหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลาย
วันจันทร์ พระพุทธปฏิมาปางห้ามญาติลักษณะพระพุทธรูป : พระในอิริยาบถยืนห้อยพระหัตถ์ซ้าย ยกพระหัตถ์ขวาเสมอพระอุระ (หน้าอก) ฝ่าพระหัตถ์หันออกไปข้างหน้า
เหตุครั้งพุทธกาล : ในสมัยพุทธกาลพระญาติฝ่ายพุทธบิดาคือกรุงกบิลพัสดุ์และพระญาติฝ่ายพุทธมารดาคือกรุงเทวทหะซึ่งอาศัยอยู่คนละฝั่งของแม่น้ำโรหิณี เกิดทะเลาะวิวาทแย่งน้ำเพื่อนำไปเพาะปลูก ถึงขนาดจะยกทัพทำสงคราม พระพุทธองค์จึงเสด็จไปเจรจาห้ามทัพ ห้ามพระญาติไม่ให้ฆ่าฟันกัน โดยทรงแสดงโทษคือความพินาศย่อยยับของชีวิตมนุษย์ ไม่สมควรที่พระราชาจะต้องมาล้มตาย ทำลายเกียรติของตน เพียงเพราะแย่งน้ำกันทำนาเพียงเล็กน้อย ที่สุดพระญาติทั้งสองฝ่ายก็ทำความเข้าใจกันได้ และหันมารักใคร่สามัคคีกัน
นัยทางธรรมที่นำมาใช้ในชีวิต : พระหัตถ์ขวาที่ยกเสมอพระอุระนั้นเป็นบุคลาธิษฐานแสดงว่า ให้มีสติระงับยับยั้ง อย่าตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความเปลี่ยนแปลง ให้ยึดหลักธรรมของพระบรมศาสดาไว้ในจิตใจแล้วชีวิตจะได้พบกับความสุขสงบโดยไม่ต้องสงสัย
คำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระพุทธรูปปางห้ามญาติมีอยู่ว่า ระหว่างที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนธรรมแก่ญาติโยมนั้น ได้มีเหตุเกิดขึ้นระหว่างผู้ที่ปฏิบัติกับผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติสาเหตุมาจากฝ่ายหนึ่งเชื่อในคำสั่งสอนของพระองค์ แต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่เชื่อ ต่างฝ่ายต่างใช้เหตุผลของตนถกเถียงกันจนเกิดโทสะเข้าทำร้ายทุบตีกัน พระองค์ทรงเห็นเหตุการณ์โดยตลอด จึงลุกขึ้นยืนยกพระหัตถ์ขึ้นห้ามทั้งสองฝ่าย แล้วชี้แจงหลักธรรมว่า ขอให้ละโมหะโทสะนั้นเสียเพื่อจะได้เห็นผิด ถูก ชั่ว ดี โมหะคือกองกิเลสฝ่ายต่ำ ทำให้มืดมองอะไรก็ไม่เห็นเมื่อมองไม่เห็นก็ทำได้ทุกอย่างแม้แต่การฆ่าแกงกัน ส่วนโทสะนั้นก็มีแต่ทุกข์ตามมา
วันอังคาร พระพุทธปฏิมาปางไสยาสน์ลักษณะพระพุทธรูป : พระในอิริยาบถนอนตะแคงขวา พระบาททั้งสองข้างซ้อนทับเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายทอดไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียรและมีพระเขนย (หมอน) รองรับ
เหตุครั้งพุทธกาล : เมื่อพระพุทธองค์รับสั่งให้พระจุนทเถระปูอาสนะลงระหว่างต้นรังคู่หนึ่งแล้ว ก็บรรทมแบบสีหไสยา ตั้งพระทัยว่าจะไม่ลุกขึ้นอีก แต่ก็ยังได้โปรดสุภัททปริพาชกจนได้เป็นพระอรหันต์องค์สุดท้ายก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายพากันเศร้าโศกร่ำไห้ถึงพระองค์พระอานนท์และพระอนุรุทธเถระจึงได้แสดงธรรมเพื่อปลอบโยนมหาชนเหล่านั้น
นัยทางธรรมที่นำมาใช้ในชีวิต : พระพุทธลักษณะเช่นนี้เป็นพระอิริยาบถที่พระองค์ทรงแสดงธรรมสั่งสอนพุทธบริษัท 4 มีใจความว่า บุคคลที่ปฏิบัติตนตามพระองค์แล้ว ให้เข้าใจในอิริยาบถของธรรมซึ่งมีอยู่ 4 อย่าง คือ นั่ง นอน ยืน เดิน ซึ่งเป็นอิริยาบถที่สงบสำรวม ไม่มีความสะดุ้งหวาดกลัวในสิ่งที่ตนได้ปฏิบัติ เพื่อจะนำไปสู่ความสำเร็จคือมรรคผลนิพพาน หากผู้ใดเพียรทำ ย่อมได้รับผลอย่างแน่นอน
สำหรับปางนี้ยังมีเรื่องเล่าอีกนัยหนึ่งว่าครั้งที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร “อสุรินทราหู” หรือ “พระราหู”ผู้ครองอสูรพิภพ ได้สดับคำสรรเสริญถึงพระศาสดาจากเทพยดาทั้งหลาย จึงปรารถนาจะไปเข้าเฝ้า แต่ติดตรงที่ได้คิดคำนึงไปเองว่าพระวรกายของพระพุทธเจ้าเล็กกระจ้อย-ร่อยเมื่อเทียบกับร่างอสูรอย่างตน เวลาเข้าเฝ้าก็ต้องก้มมองด้วยความลำบาก อีกทั้งตนก็ไม่เคยก้มเศียรให้ใคร คิดแล้วจึงไม่ไปเฝ้า
แต่แล้ววันหนึ่งพระราหูก็เปลี่ยนใจพระพุทธเจ้าทราบด้วยญาณว่าพระราหูคิดอย่างไร จึงเนรมิตพระวรกายให้ใหญ่โตกว่าพระราหูหลายเท่าแล้วบรรทมรอ ดังนั้นแทนที่พระราหูจะต้องก้มมองพระพุทธเจ้าขณะเข้าเฝ้า กลับต้องแหงนหน้า จึงเกิดความอัศจรรย์ใจ ลดทิฏฐิมานะ พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนว่า “ข่าวลือหรือเรื่องใด ๆ หากไม่เห็นด้วยตนเอง หรือยังไม่พิจารณาให้ถ่องแท้ ก็ไม่ควรติชมไปก่อน” ซึ่งข้อธรรมนี้ก็เป็นอีกข้อที่เหมาะจะนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
วันพุธ (กลางวัน) พระพุทธปฏิมาปางอุ้มบาตรลักษณะพระพุทธรูป : พระในอิริยาบถยืนพระหัตถ์ทั้งสองประคองบาตรราวสะเอว
เหตุครั้งพุทธกาล : เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เหาะขึ้นไปในอากาศต่อหน้าพระประยูรญาติเพื่อให้ละจากทิฏฐิแล้วจึงได้เทศนาธรรมเรื่องพระมหาเวสสันดรชาดก หลังจากแสดงธรรมจบ บรรดาสมาคมพระญาติที่มีพระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดาทรงเป็นประธาน ก็พากันปีติแซ่ซ้องสาธุการแล้วกราบทูลลาคืนสู่พระราชฐาน โดยไม่ได้ทูลอาราธนาเสวยพระกระยาหารเช้า ด้วยไม่ทรงทราบว่าสมณะนั้นจะต้องได้รับอาราธนา จึงจะมารับบิณฑบาตในเคหสถานของประชาชนทั่วไปได้ และยังเข้าใจผิดคิดว่าพระพุทธเจ้าเป็นราชโอรส คงต้องเสวยภัตตาหารที่จัดเตรียมไว้ในพระราชนิเวศน์อย่างแน่นอนแต่พระพุทธองค์กลับพาพระสาวกเสด็จจาริกไปตามถนนหลวงเพื่อโปรดเวไนยสัตว์อันเป็นกิจของสงฆ์ และนับเป็นครั้งแรกที่ชาวเมืองกบิลพัสดุ์ได้มีโอกาสชมพระพุทธจริยาวัตรขณะทรงอุ้มบาตรโปรดสัตว์ ประชาชนจึงพากันแซ่ซ้องด้วยความปีติ แต่ปรากฏว่าพอพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบก็เข้าใจผิดหาว่าพระพุทธเจ้าออกไปขอทานชาวบ้านไม่เสวยภัตตาหารที่เตรียมไว้ พระพุทธเจ้าจึงต้องทรงอธิบายว่าการออกบิณฑบาตเป็นการไปโปรดสัตว์ ไม่ใช่การขอทานพระองค์ปฏิบัติตามพุทธวงศ์ตั้งแต่พระพุทธเจ้าทีปังกรเป็นต้นมา ล้วนแล้วแต่ยังชีพด้วยการบิณฑบาต จากนั้นได้ตรัสพระธรรมสอนพระบิดาไม่ให้อยู่ในความประมาทและให้ประพฤติธรรม ในที่สุดพระเจ้าสุทโธทนะก็สำเร็จโสดาบัน
นัยทางธรรมที่นำมาใช้ในชีวิต : เมื่อรับอาหารที่ผู้มีจิตศรัทธานำมาใส่บาตรแล้วพระพุทธองค์จะเสวยด้วยความมีเมตตาโดยการแบ่งอาหารออกเป็น 3 กอง กองที่หนึ่งพระองค์ทรงนำมาเสวย กองที่สองให้ทาน ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ กองที่สามพระองค์ทรงส่งไปให้แก่ญาติโยมผู้ล่วงลับไปแล้ว เมื่อเสวยเสร็จก็จะสอนพระธรรมมีความว่า “อันศรัทธาคือความเชื่อถ้าเรายึดมั่นก็เป็นทางที่จะนำเราไปสู่ความสำเร็จได้ โดยอาศัยศรัทธาเป็นที่ตั้ง เราจะศรัทธาสิ่งใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือศรัทธาจิต หมายถึงทำให้จิตใจผ่องใสแล้วจะมีความสุขกายสุขใจตามมา”
นอกจากนั้นยังมีความเชื่อว่า การบูชาพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรก็เพื่อให้บุคคลที่เกิดวันพุธซึ่งเกิดในดาวแห่งวาจา ได้ระลึกว่าในการทำสิ่งใดต้องใช้ทั้งความอดทน มีขันติและใช้วาจาควบคู่กันไปด้วยจึงจะประสบความสำเร็จ
จา่ก
http://www.secret-thai.com/article/dharma/8628/birthday-buddha/http://suadmondaily.blogspot.com/