หญิงไทยถูกละเมิดทางเพศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในสถานที่ทำงาน
หญิงไทยถูกละเมิดทางเพศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในสถานที่ทำงาน (สำนักข่าว สสส.)
"มูลนิธิเพื่อนหญิง” ร่วมกับ สสส. เปิดสถิติ การคุกคามทางเพศในรอบปี เหยื่อแห่ขอคำปรึกษาเพียบ 775 ราย พบโดนทั้งข่มขื่น รุมโทรม ไม่เว้นแม้แต่เด็ก 3 ขวบ ชี้ส่วนใหญ่เป็นคนรู้จัก-ข้างบ้าน อึ้ง 22% เจอในที่ทำงาน โดนทั้งแต๊ะอั๋ง อนาจาร มอมยา ใช้ปืนขู่ อ้างคุมสติไม่ได้ เพราะน้ำเมาเป็นตัวกระตุ้นอารมณ์ แนะตั้งหน่วยงานรับเรื่องร้องทุกข์ มีบทลงโทษชัดเจน
วันนี้( 9 ส.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ในงานเสวนา “การคุกคามทางเพศ อาชญากรรมร้ายรายวันของสังคม” จัดโดย มูลนิธิเพื่อนหญิง และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดย น.ส.พัชรี จุลหิรัญ นักสังคมสงเคราะห์ มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า จากการเก็บสถิติความรุนแรงทางเพศ ที่ผู้ถูกกระทำมาขอคำปรึกษาจากมูลนิธิเพื่อนหญิง ในปี 2552 มีจำนวนทั้งสิ้น 775 ราย ในจำนวนนี้พบว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศมากถึง 83 ราย คิดเป็น 11 % โดยแยกเป็น 1.กรณีถูกข่มขืนกระทำชำเรา 45 ราย คิดเป็น 54 % 2.พรากผู้เยาว์และข่มขืนกระทำชำเราในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 8 ราย คิดเป็น 10 % 3.พรากผู้เยาว์โดยการยินยอมมีเพศสัมพันธ์ 9 ราย คิดเป็น 11% 4.กรณีถูกรุมโทรม 7 ราย คิดเป็น 9 % โดยมีผู้กระทำรุมโทรมมากสุดถึง 9 ราย 5.อนาจาร 7 ราย คิดเป็น 9%
น.ส.พัชรี กล่าวว่า ส่วนข้อ 6.เป็นการคุกคามทางเพศ 3 ราย คิดเป็น 4% และ7.พยายาม ข่มขืน ค้ามนุษย์ แอบถ่าย โชว์อนาจาร 4 ราย หรือคิดเป็น 4 % ที่น่าตกใจคือ มีผู้กระทำ 33 ราย หรือ 40% เป็นคนที่ใกล้ชิดกับผู้เสียหาย เช่น เป็นเพื่อน หรือเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้เสียหายที่อายุน้อยสุดคือ 3 ขวบ ซึ่งถูกญาติใช้นิ้วล่วงละเมิดเด็ก ส่วนผู้กระทำมีอายุมากสุดคือ 78 ปี ล่วงละเมิดทางเพศด้วยการอนาจารลูกตัวเองที่มีอายุเพียง 10 ปี และบางรายขอหลับนอนกับลูกอายุ 24 ปี อย่างไรก็ตาม การล่วงละเมิดทางเพศดังกล่าว ส่วนใหญ่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นมากถึง 24 %
“แนว โน้มของความรุนแรงทางเพศ ที่ผู้เสียหายมาขอรับคำปรึกษามีเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2551 ที่มี 741 ราย ในจำนวนนี้มีการล่วงละเมิดทางเพศ 73 ราย คิดเป็น 10% ขณะ ที่ปี 2552 มี 775 ราย ในจำนวนนี้มีการล่วงละเมิดทางเพศ 83 ราย คิดเป็น 11% อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทางมูลนิธิฯ เป็นห่วงคือการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน เพราะมีเพิ่มมากถึง 18 ราย คิดเป็น 22% จากปี 2551 ที่มีเพียง 8 ราย” น.ส.พัชรี กล่าวว่า
น.ส.พัชรี กล่าวต่อว่า โดย การกระทำคุกคามทางเพศมีหลายรูปแบบ อาทิ แตะเนื้อต้องตัว ดักรอ พบเจอ ข่มขู่ อนาจาร พยายามสร้างโอกาส บางรายถึงขั้นมอมยาลูกจ้างและใช้อาวุธปืนขู่แล้วพยายามข่มขืน ในขณะที่ผู้เสียหายบางรายปกป้องสิทธิของตนเองด้วยการดำเนินคดีและร้องเรียน ทางวินัย กลับถูกหน่วยงานและเพื่อนร่วมงานมองว่ากระด้างกระเดื่องต่อหัวหน้า อย่างไรก็ตามจากสถานภาพปัญหาความรุนแรงดังกล่าว ผู้กระทำยังมีพฤติกรรมกระทำความรุนแรงต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาการตั้งครรภ์ ตามมา
รศ.บุญ เสริม หุตะแพทย์ ผอ.ศูนย์สหวิทยาการชุมชม ศึกษามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า จากการวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรง ถือว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีความเกี่ยวข้อง เพราะนอกจากจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการกระทำความรุนแรงกับเพศตรงข้ามแล้ว ผู้กระทำบางรายยังมีการใช้สารเสพติดร่วมด้วย จากการสอบถาม ผู้กระทำส่วนใหญ่มักมีข้ออ้างว่า เมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเกิดความต้องการทางเพศจนไม่สามารถควบคุมสติ ได้ จนทำให้ข่มขืนเพื่อนร่วมงานที่ดื่มด้วยกัน นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้กระทำความรุนแรงใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นข้ออ้างเพื่อยืนยันว่า พฤติกรรมที่แสดงออกนั้นไม่ได้เจตนา ซึ่งถือเป็นการปัดความรับผิดชอบ ขณะที่เครื่องดื่มแอลกอฮฮล์ ยังทำให้ผู้เสียหายขาดโอกาสในการปกป้องตัวเองจากการถูกละเมิดทางเพศ เพราะดื่มจนมึนเมา หมดสติ
รศ.บุญเสริม กล่าวว่า สาเหตุหลายอย่างที่ทำให้ผู้เสียหายไม่กล้าร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรม เช่น ไม่กล้าเล่าปัญหาของตัวเองให้ใครรับรู้ เพราะรู้สึกอับอาย หวาดกลัว จึงทำให้ต้องถูกละเมิดทางเพศหลายครั้ง ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น จึงข้อเสนอมาตรการ 5 ข้อคือ
1.ควรมีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่รับเรื่องร้องทุกข์ เพื่อลดความลำบาก การเกรงกลัวอำนาจของผู้กระทำ
2.สถาน ที่ทำงานต่างๆ ต้องประเมินความเสี่ยงจากการถูกคุกคามทางเพศ รวมถึงมีคณะกรรมการรับเรื่องร้องทุกข์ โดยสามารถส่งต่อข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3.ควรมีการจัดระบบให้ข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง โดยสามารถแจ้งความไม่ปลอดภัยของตนเองได้
4.กำหนดแนวทางการป้องกัน มีบทลงโทษที่ชัดเจน และ
5. บันทึกข้อมูลการให้ความช่วยเหลือ เพื่อการติดตามและประเมินผล อย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดการทำงานเป็นเครือข่าย ระหว่างหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน
ขอขอบคุณข้อมูล และภาพประกอบจาก
http://www.thaihealth.or.th/node/16502