ศีลส่งให้สูง ปรุงให้สวย ช่วยให้พ้น ศีลห้า เป็นศีลของมนุษย์ ผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์จะต้องมีศีลห้าบริบูรณ์ ศีลห้าจึงเป็นศีลของมนุษย์
มีคำถามถามว่า “มีใครรักษาศีลห้าได้ครบถ้วนตลอดชีวิตบ้าง?”โปรดยกมือขึ้น จะเห็นได้ว่าไม่มีคนยกมือ นี่ก็แสดงว่าลำพังแต่ศีลเพียงห้าข้อก็รักษากันไว้ไม่ได้เสียแล้ว!
พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า “ให้รักษาใจตัวเดียว” ดังในสมัยพุทธกาล ภิกษุรูปหนึ่งในจำนวน ๕๐๐ รูปผู้บวชใหม่ เมื่อบวชแล้วได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อขอลาสิกขา โดยกล่าวว่า ศีลของภิกษุมากเหลือเกิน ปฏิบัติไม่ไหว จึงขอลาสิกขา พระพุทธองค์จึงให้ภิกษุรูปนั้นรักษาศีลเพียงข้อเดียว คือให้รักษาใจ พระภิกษุรูปนั้นจึงรับถือศีลข้อเดียวจนได้สำเร็จอริยบุคคล
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ตอบคำถามที่ว่า “ทราบว่าท่านรักษาศีลเพียงข้อเดียว มิได้รักษาทั้ง ๒๒๗ ข้อ เหมือนพระทั้งหลายที่รักษากันใช่ไหม?”
หลวงปู่ฯ ตอบว่า “ใช่ อาตมารักษาเพียงอันเดียว คือใจ อาตมารักษาใจ ไม่ให้คิดพูดทำในทางผิด อันเป็นการล่วงเกินข้อห้ามที่ทรงบัญญัติไว้จะเป็น๒๒๗ ข้อ หรือมากกว่านั้นก็ตาม บรรดาที่เป็นข้อทรงบัญญัติห้าม อาตมาก็ใจเย็นว่าตนมิได้ทำผิดต่อพุทธบัญญัติ ส่วนท่านผู้ใดจะว่าอาตมารักษาศีล ๒๒๗หรือไม่นั้น สุดแต่ผู้นั้นจะคิด จะพูดเอาตามความคิดของตน เฉพาะอาตมาได้รักษาใจอันเป็นประธานของกาย วาจา อย่างเข้มงวดกวดขันมาตลอด นับแต่เริ่มอุปสมบท ฯลฯ” กลิ่นศีลหอมทวนลม
หอมกลิ่นดอกไม้ที่ นับถือ
หอมแต่ตามลมลือ กลับย้อน
หอมแห่งกลิ่นกล่าวคือ ศีลสัตย์ นี้นา
หอมสุดหอมสะท้อน ทั่วใกล้ไกลถึง
โคลงโลกนิติ
ทำอย่างไรจึงจะรักษาศีล ๕ ตลอดชีวิตได้?
การรักษาศีล คือ การมีเจตนางดเว้นจากการทำความชั่ว ดังคำพุทธพจน์รับรองว่า “เจตนาหัง ภิกขะเว สีลัง วะทามิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเรากล่าวว่าเจตนาเป็นเครื่องงดเว้นนั่นแหละคือ ศีล”
การงดเว้นมีอยู่ ๓ ประการ คือ
๑. สมาทานวิรัติ คือ การงดเว้นด้วยการสมาทาน เช่น สมาทานศีลกับพระ
๒. สัมปัตตวิรัติ คือ การงดเว้นเมื่อมีเหตุบังเกิดขึ้นเฉพาะหน้าแม้ไม่สมาทาน แต่เมื่อมีเหตุการณ์อันใดอันหนึ่งที่จะผิดศีลและตั้งใจงดเว้นขึ้นในขณะนั้น ถือว่าเป็นศีลเพราะตั้งใจงดเว้นเอาเอง
๓. สมุจเฉทวิรัติ คือ การงดเว้นโดยเด็ดขาด นั่นคือศีลของพระอริยะบุคคลซึ่งเป็นโลกุตตระศีล เป็นศีลขั้นสูง เช่น พระโสดาบันรักษาสิกขาบท๕ หรือศีล ๕ นี้ได้ตลอดชีวิต เป็นศีลที่รักษาได้โดยอัตโนมัติคืองดเว้นโดยเด็ดขาด โดยไม่ต้องสมาทานและไม่ต้องตั้งเจตนา
ศีลนี้ หากใครรักษาดีแล้ว ย่อมอำนวยประโยชน์แก่ผู้นั้นมากมายเป็นประโยชน์ในชาตินี้ คือ มีความเย็นใจไม่เดือดร้อนเพราะเป็นผู้มีศีล ประโยชน์ในชาติหน้าพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงสรุปผลของศีลไว้ ๓ ประการว่า
“สีเลนะสุคะติง ยันติ บุคคลจะไปสู่สุคติได้ก็เพราะศีล
สีเลนะโภคะ สัมปะทา บุคคลจะมีโภคะได้ก็เพราะศีล
สีเลนะ นิพพุติง ยันติ บุคคลจะบรรลุพระนิพพานได้ก็เพราะศีล”
อริยทรัพย์ ๗ ประการสำคัญที่สุด ชาวพุทธควรมีไว้ประดับใจเป็น “ทรัพย์ภายใน” ได้แก่
๑. ทรัพย์คือศรัทธา ความเชื่อที่มีเหตุผล
๒. ทรัพย์คือศีล การรักษากาย วาจาให้เรียบร้อย
๓. ทรัพย์คือหิริ การละอายใจต่อการทำความชั่ว
๔. ทรัพย์คือโอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อความชั่ว
๕. ทรัพย์คือพาหุสัจจะ ความเป็นผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก
๖. ทรัพย์คือจาคะ ความเสียสละเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
๗. ทรัพย์คือปัญญา ความรู้ความเข้าใจถ่องแท้ในเหตุผลอริยทรัพย์นี้เป็นทรัพย์อันประเสริฐอยู่ในจิตใจ
อานิสงส์ของการรักษาศีล
ชาดกนิทานเรื่อง นายติณปาลพราหมณ์ถือศีลตาย
ในสมัยพุทธกาล นายติณปาลเป็นคนใช้ทำไร่หญ้าของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เช้าก็ออกไปทำงานที่ไร่หญ้าทุกวัน เย็นวันหนึ่งหลังจากนายติณปาลกลับจากทำงานกลับเข้าบ้านเศรษฐีก็จะไปรับ ประทานอาหารเย็น แต่ไม่พบเห็นใคร เลยสงสัยว่าเขาไปทำอะไรที่ไหนกันหมด ก็ได้รับคำตอบจากคนครัวว่า วันนี้เป็นวันอุโบสถศีลทุกคนรับศีลอุโบสถกันหมด จึงไม่มีใครรับประทานมื้อเย็น นายติณปาลจึงเข้าไปถามท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ขอถือศีลด้วยแม้จะไม่ได้สมาทานศีลตั้งแต่ตอนเช้าก็ตามเศรษฐีก็ว่า ตามแต่ติณปาลก็แล้วกัน ติณปาลตั้งใจถือศีลไม่รับประทานอาหารมื้อนั้น อยู่ต่อมาประมาณหนึ่งชั่วโมง นายติณปาลมีอาการเป็นลมเพราะอดข้าวเย็น เนื่องด้วยไม่เคยอดอาหารเศรษฐีขอร้องให้นายติณปาลเลิกล้มความตั้งใจและให้ รับประทานอาหารแต่นายติณปาลไม่เลิกล้มความตั้งใจเพราะทุกคนต่างถือศีลกันได้ ตั้งหลายชั่วโมงตนเองเพิ่งถือศีลได้เพียงชั่วโมงเดียวเท่านั้นเอง ชั่วโมงต่อมานายติณปาลได้ถึงกาลกิริยา ได้ไปบังเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์
ชาดกนิทานเรื่อง นางวิสาขาถืออุโบสถศีล
พระพุทธองค์ได้ตรัสเรื่องนี้กับนางวิสาขาว่า “ดูก่อนวิสาขา อานิสงส์ที่บุคคลรักษาอุโบสถศีล ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่งนี้ เมื่อเอาอานิสงส์แห่งการรักษาศีลอุโบสถนี้มาแบ่งออกเป็น ๑๖ ส่วน เอาออกเสีย ๑๕ ส่วน เหลืออยู่อีกส่วนหนึ่ง เอามาแบ่งออกเป็น ๑๖ เสี้ยว แล้วเอาออกเสีย ๑๕ เสี้ยว เหลืออยู่ ๑เสี้ยว ยังมากกว่าสมบัติใน ๑๖ มหานคร” แล้วพระองค์ได้ทรงพรรณนาถึงสมบัติใน ๑๖ มหานคร ในชมพูทวีปนั้นว่า สมบัติของมนุษย์ทั้ง ๑๖ มหานครนั้นยังน้อยกว่าผลของอานิสงส์ของการรักษาศีลอุโบสถเพียงเสี้ยวหนึ่ง เท่านั้นเพราะอานิสงส์แห่งการรักษาศีลอุโบสถเพียงเสี้ยวหนึ่งนั้นเป็นเหตุ ให้ผู้นั้นได้รับทิพยสมบัติในสวรรค์ การไปเกิดบนสวรรค์ได้รับทิพยสมบัติแม้เพียงชั่ววันหนึ่ง คืนหนึ่งของสวรรค์ชั้นนั้นๆ ก็ยังประเสริฐกว่าสมบัติในเมืองมนุษย์ทั้ง ๑๖มหานคร เพราะว่าทิพยสมบัติเป็นของละเอียดอ่อน ประณีต ไปเกิดอยู่เพียงชั่ววันหนึ่ง คืนหนึ่งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็เท่ากับการเสวยมนุษยสมบัติในช่วงเวลาร้อยปีในเมืองมนุษย์เพราะว่าร้อยปีใน เมืองมนุษย์นี้เท่ากับวันหนึ่งคืนหนึ่งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
กิริยาส่อเชื้อชาติมารยาทส่อสกุล
ก้านบัวบอกลึกตื้น ชลธาร
มารยาทส่อสันดาน ชาติเชื้อ
โฉดฉลาดเพราะคำขาน ควรทราบ
หย่อมหญ้าเหี่ยวแห้งเรื้อ บอกร้ายแสลงดิน
โคลงโลกนิติ
ศีลห้ากับกุศลกรรมบทสิบ
ศีลห้าข้อ เมื่อประมวลลงแล้วขยายความออกได้เป็นกุศลกรรมบท๑๐ คือ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ และมโนกรรม ๓ ดังนี้
กายกรรม ๓ ได้แก่ ศีลข้อที่ ๑. ปาณาติปาตาเวรมณี
ศีลข้อที่ ๒. อทินนาทานาเวรมณี
ศีลข้อที่ ๓. กาเมสุมิฉาจาราเวรมณี
วจีกรรม ๔ ได้แก่ ศีลข้อที่ ๔. มุสาวาทาเวรมณี คือ ไม่พูดวจีกรรม ทุจริต ๔
ได้แก่
๑. มุสาวาทะ การไม่พูดปด
๒. สัมผัปลาปะวาทะ การไม่พูดเพ้อเจ้อไม่เป็นประโยชน์แม้จะเป็น
ความจริง
๓. ปิสุณวาทะ การไม่พูดส่อเสียดให้เสียหายให้เขาเจ็บใจ
๔. ผรุสวาจา การไม่พูดคำหยาบคาย
มโนกรรม ๓ ได้แก่ ศีลข้อที่ ๕. สุราเมรยะมัชชะปมาทัฏฐานา เวรมณี คือการเว้นจากการตั้งอยู่ในความไม่ประมาท มีสติสัมปชัญญะ มั่นคง ไม่เพ่งเล็งอยากได้ (อภิชฌาหรืออโลภะ) การไม่คิดพยาบาทปองร้าย (อพยาปาทะหรืออโทสะ) และการไม่หลงเห็นผิดทำนองคลองธรรม ละจากมิจฉาทิฏฐิเป็นสัมมาทิฏฐิ
พระไตรปิฎกกล่าวถึงเรื่องลักษณะของวาจาสุภาษิต
ลักษณะ ๕ ของวาจาสุภาษิต
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! วาจาที่ประกอบด้วยองค์ ๕ นับเป็นสุภาษิตไม่เป็นทุพภาษิต ไม่มีโทษ อันผู้รู้ติไม่ได้คือ:-
๑. วาจาที่กล่าว (ถูกต้อง) ตามกาล
๒. วาจาที่กล่าวเป็น ความจริง
๓. วาจาที่กล่าว อ่อนหวาน
๔. วาจาที่กล่าว ประกอบด้วยประโยชน์
๕. วาจาที่กล่าวด้วยจิตประกอบด้วยเมตตา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! วาจาที่ประกอบด้วยองค์ ๕ เหล่านี้แลนับเป็นสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต ไม่มีโทษ อันผู้รู้ติไม่ได้
(ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย ๒๒/๒๗๑)
คนที่เกิดมีขวานเกิดมาในปากด้วย
“คนที่เกิดมาแล้ว มีขวานเกิดมาในปากด้วย คนพาลเมื่อกล่าวคำชั่วชื่อว่าใช้ขวานนั้นฟันตนเอง ผู้ใดสรรเสริญคนที่ควรติ ติคนที่ควรสรรเสริญผู้นั้นชื่อว่าใช้ปากเลือกเก็บความชั่วไว้ จะไม่ได้ประสบสุขเพราะความชั่วนั้น”
(จากหลักนิบาตอังคุตตรนิกาย ๒๔/๑๘๕)
พูดดี
หลักของการพูดดีมีอยู่สาม
หนึ่งพูดตามเป็นจริง ทุกสิ่งสรรพ์
สองพูดดีมีประโยชน์ไร้โทษทัณฑ์
สามสิ่งนั้นน่าฟังทั้งไพเราะ
แม้เรื่องจริงน่าฟังไม่ขวางโลก
แต่พูดไปไร้ประโยชน์ก็ไม่เหมาะ
แม้พูดเรื่องสัจจริงทั้งพริ้งเพราะ
มีประโยชน์เหมาะเจาะควรพูดเอย
อันรสปากหากหวานก็หวานเด็ด บรเพ็ดขมไม่มากเหมือนปากขม
ถึงคมมีดคมไม่มากเหมือนปากคม รสหวานขมก็ไม่มากเหมือนปากคนฯ
ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร ให้ชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจาฯ
พระสุนทรโวหาร (ภู่)
คิดก่อนพูด
เป็นคนคิดแล้วจึ่ง เจรจา
อย่านอนหลับตา แต่ได้
เลือกสรรหมั่นปัญญา ตรองตรึก
สติริรอบให้ ถูกแล้วจึงทำ
วาจาต่อหน้าชุมชน
ท่ามกลางกล่าวถ้อยแต่ พอควร
เห็นท่านสรวลอย่าสรวล ตอบเต้า
ใช้คำแต่น้ำนวล นฤโทษ
เห็นท่านเศร้าทำเศร้า โศกหน้าตาตรม
สุภาษิตา จะยาวาจา
แม้โฉมเฉิดเฉกไท้ เทพา
อีกอิสริยยศถา กอรปด้วย
บุรุษถ่อยทุษฐวา จาพาก
นับว่าผู้นั้นม้วย หมดสิ้นสิ่งงาม
“สุภาษิตา จะยาวาจา เอตัมมังคลมุตตะมัง วาจาเป็นสุภาษิตเป็นมงคลยิ่ง”
คำพูดที่สมควร
ไป่ถามปราชญ์บ่พร้อง พาที
เปรียบดั่งเภรีตี จึ่งครื้น
คนพาลพวกอวดดี จักกล่าว
ถามบ่ถามมันฟื้น เฟื่องถ้อยเกินถาม
โคลงโลกนิติ
ปิดหูซ้ายขวา ปิดตาสองข้าง ปิดปากเสียบ้าง นอนนั่งสบาย
“อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด... อยู่กับมิตร ให้ระวังวาจา”
คำสอนเรื่องหน้าที่ ๑๒ สถานะของคนในเรื่องทิศทั้งหก ในส่วนของหน้าที่บ่าว (ลูกน้อง) ที่มีต่อนาย (ผู้บังคับบัญชา) มีอยู่ข้อหนึ่งว่า “บ่าวพึงพูดสรรเสริญนาย” หรือ “นำเกียรติคุณของนายไปเผยแพร่” ดังนี้ จะเห็นได้ว่าคำพูดของบ่าวหรือลูกน้อง ไม่พึงพูดนินทาว่าร้าย หรือกล่าวเรื่องไม่ดีของนาย ให้พึงระมัดระวังเพราะนั่นคือ “โอษฐภัย” นั่นเอง
ที่มาhttp://thai.mindcyber.com/buddha/why1/1143.php#1