ผู้เขียน หัวข้อ: จิตวิวัฒน์ : สมองส่วนหน้าที่รัก ( วิศิษฐ์ วังวิญญู )  (อ่าน 1956 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 พฤษภาคม 2559

บทความนี้ได้จากร่างเนื้อหาที่ผมเตรียมเพื่อจะไปพูดเรื่องสมองกับคุณหมอวิโรจน์ ตระการวิจิตในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๙ โดยผมเริ่มจากโจทย์แล้ววินิจฉัยพร้อมเสนอทางออกดังนี้ครับ

โจทย์

การทำอะไรหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน หรือ multitasking เป็นเรื่องดีหรือไม่? เราจะสามารถใช้สมองอย่างเต็มประสิทธิภาพได้อย่างไร ได้ข่าวมาว่า สมองของคนทั่วไปทำงานเพียงห้าเปอร์เซ็นต์ของศักยภาพเต็มที่เท่านั้น

วินิจฉัย
พื้นที่ใช้งานจำกัดของสมองส่วนหน้า


จากอ่านและย่อยหนังสือ Your Brain At Work (ปลุกสมองให้คล่องงาน) โดยเดวิด ร็อค (David Rock) ในเรื่องสมองส่วนหน้า หรือ executive brain รวมทั้งความเข้าใจต่างๆ ที่ผมได้สั่งสมมาจากการอ่านหนังสือว่าด้วยเรื่องนิวโรไซน์ (ประสาทวิทยาศาสตร์) หลายต่อหลายเล่ม ผมได้ความเข้าใจบางอย่างที่คิดว่ามีประโยชน์และอยากนำมาเล่าให้ฟังครับ

สมองส่วนหน้าได้สร้างพื้นที่ขึ้นมา และเป็นพื้นที่ของจิตสำนึก (consciousness) ที่ตื่นและรับรู้เรื่องราวต่างๆ ได้ คิดได้ จินตนาการได้ สัมผัสและรับรู้สิ่งที่อายตนะต่างๆ ส่งมาได้ รับรู้อารมณ์ความรู้สึกได้

สมองส่วนหน้านี้มีพื้นที่จำกัด หากคิดเป็นหน่วยของ “บิท” แบบคอมพิวเตอร์ สมองส่วนหน้าก็สามารถประมวลผลได้ทีละสองพันบิท ส่วนสมองที่เหลือทั้งหมดสามารถประมวลผลได้เป็นระดับล้านล้านบิท เดวิด ร็อค เปรียบเทียบว่าถ้าพื้นที่สมองส่วนหน้าเทียบเท่าเงินหนึ่งดอลลาร์ สมองส่วนที่เหลือจะมีพื้นที่ทำงานเท่ากับเงินหมุนเวียนในสหรัฐอเมริกาทั้งหมด แต่จะอยู่ในระดับจิตใต้สำนึกหรือจิตไร้สำนึก หากจะนำผลลัพธ์การทำงานของสมองส่วนอื่นมาใช้ ต้องผ่านสมองส่วนหน้าก่อนจึงจะนำมาใช้งานได้

เพราะฉะนั้น เราต้องใช้พื้นที่หรือเวทีของสมองส่วนหน้านี้อย่างมัธยัสถ์และให้ประโยชน์สูงสุด


ตัวการที่มาแย่งชิงพื้นที่สมองส่วนหน้าไป
หนึ่ง การถูกช่วงชิงหรือถูกปล้นด้วยโหมดปกป้อง



พระเอกผู้ร้ายของสมอง จำง่ายๆ ว่ามีสองส่วนใหญ่ๆ คือ "สมองส่วนหน้า กับ อมิกดาลา" ที่จริงอมิกดาลาไม่ใช่ผู้ร้ายเสียทีเดียว แต่เนื่องจากเราใช้เธอผิดที่และใช้มากเกินไป อมิกดาลาจึงกลายมาเป็นผู้ร้าย อมิกดาลาเป็นสัญญาณเตือนให้เรารู้ตัวว่า มีภัยเข้ามา และตัดวงจรการใช้สมองในยามปกติไปใช้โหมดปกป้อง ซึ่งเอาสมองสัตว์เลื้อยคลานมาเป็นผู้นำ ลองคิดดูว่าสมองสัตว์เลื้อยคลานจะมาเป็นผู้นำได้สักแค่ไหนกัน แต่สมองส่วนนี้เร็วและคล่องแคล่วที่สุด จึงเหมาะกับการนำพาเราไปสู่การอยู่รอดที่สุด

พระเอกของเราคือสมองส่วนหน้า ซึ่งปัจจุบันพากันเรียกว่า executive brain ยกให้เป็นซีอีโอของสมองไปเลย เป็นสมองในส่วนวิวัฒนาการล่าสุดและเป็นพื้นที่ของจิตสำนึก คือพื้นที่ของจิตที่จะกระทำการต่างๆ อย่างรู้ตัว และอย่างตั้งใจ สามารถเลือกหนทางต่างๆ ได้อย่างตั้งใจ อย่างรู้ตัว (conscious choices) ไม่ใช่ให้สมองกำกับเราไปอย่างสมองสัตว์เลื้อยคลาน หรือการปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม

สมองสองส่วนนี้จะสลับกันทำงาน กล่าวคือ ถ้าอมิกดาลาเปิดเครื่องทำงาน สมองส่วนหน้าจะหยุดทำงาน หากสมองส่วนหน้าเปิดเครื่องทำงาน อมิกดาลาจะเงียบเสียงลง หากเราฝึกใช้สมองส่วนหน้าบ่อยๆ อมิกดาลาก็จะทำงานน้อยลงไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะความตระหนกที่ไม่สมควรแก่เหตุทั้งหลาย

ในโลกสมัยใหม่ เราไม่ค่อยได้เจอเสือเขี้ยวดาบ งูพิษ หรืองูเหลือมตัวใหญ่ๆ อีกต่อไปแล้ว แต่สิ่งที่คุกคามเราอาจจะเป็นความวิตกกังวลต่างๆ ซึ่งกระตุ้นให้อมิกดาลาทำงาน และอาจจะรุนแรงมากด้วย สมองส่วนหน้าก็เลยหยุดทำงานไป

สอง สมองที่ปล่อยให้เป็นไปแบบยถากรรม

อีกหนึ่งตัวการที่แย่งชิงพื้นที่สมองส่วนหน้าไป คือสมองที่ปล่อยให้เป็นไปด้วยความคุ้นชินเดิมๆ ผมจะเรียกว่าโหมดยถากรรม หรือการทำงานของสมองในแบบค่าตั้งต้น นั่นคือเราจะปล่อยสมองให้เป็นแบบเดิมๆ ของมันไปเรื่อยเปื่อย อย่างไม่ใส่ใจ ไม่ตั้งใจ ไม่มีสมาธิ ไม่มีสติ (การมีสมาธิและมีสติจะเป็นช่วงเวลาที่สมองส่วนหน้าทำงาน)

รู้ไหมว่าเวลาสมองอยู่ในโหมดยถากรรมหรือค่าตั้งต้น เราจะรับรู้เรื่องราวต่างๆ อยู่อย่างเดิม เพราะการมองเห็นรับรู้แต่ละเรื่องราวในโหมดยถากรรม เราจะอาศัยการดาวน์โหลดเรื่องราวเดิมๆ มาแปะไว้กับการรับรู้เรื่องราวใหม่ๆ ด้วยเสมอไป เท่ากับเราไม่อาจจะมองเรื่องใหม่ในมุมมองใหม่ และในส่วนการกระทำเราก็อาศัยการดาวน์โหลดแบบแผนเดิมๆ มากระทำการด้วย เราจึงคงดำรงอยู่ในกรงขังแบบเดิมๆ (fixed mindset) นั้นเอง

ทางออก

เราควรจะใช้พื้นที่สมองส่วนหน้าอย่างมัธยัสถ์ ใช้อย่างคุ้มค่า เราควรหาทางปล่อยวางเรื่องรกรุงรังที่ทำให้สมองเสียพื้นที่ใช้ประโยชน์ไป

กับเรื่องการปล้นชิงของอมิกดาลา เราแก้ได้ด้วยการใช้ชีวิตอย่างตื่นรู้ ฝึกสติในชีวิตประจำวัน บ่มเพาะความตื่นรู้ เมื่อเรารู้ตัว แม้มีอะไรที่ดูเหมือนจะคุกคามเข้ามา เราก็อาจมองสิ่งนั้นด้วยความตื่นรู้ และไม่พลาดท่าเสียทีให้กับอมิกดาลา แต่ยังดำรงอยู่ในปฏิบัติการของสมองส่วนหน้าได้

เราไม่ควรทำหลายสิ่งหลายอย่างพร้อมๆ กัน เพราะเมื่อเราไม่ดำรงอยู่ในสมาธิ เราก็ไหลลงสู่โหมดยถากรรมของชีวิต หรือเป็นค่าตั้งต้นที่กลับไปอยู่ในกล่องใบเดิม ที่เป็นการดำรงอยู่แบบดาวน์โหลดมากกว่าการตื่นรู้ ด้วยเหตุนี้คุณภาพของงานที่ได้จึงเป็นแค่ความกึ่งดิบกึ่งดีเท่านั้น

เมื่อเราตั้งใจและดำรงอยู่อย่างพอดีๆ กับเรื่องราวหรือการงานหนึ่งใด ด้วยความผ่อนคลาย เราจะอยู่ในสภาวะลื่นไหล (flow) และเป็นสภาวะการเรียนรู้ที่ดีที่สุดด้วย (optimum learning state) ในความตั้งใจและโฟกัสที่พอดีๆ ของสภาวะลื่นไหน เมื่อเสร็จงาน เราจะยังเต็มไปด้วยพลังและความสุขสดชื่น ผิดกับการเสพทั้งหลาย ที่หลังจากนั้นเราจะหมดแรงไร้พลัง

เมื่อเสร็จกิจใดๆ ในสภาวะลื่นไหล ทางเลือกหนึ่งคือการดำรงอยู่ในความว่าง เป็น open heart awareness แต่ส่วนใหญ่เมื่อเราเสร็จงาน เราจะพักและเฉลิมฉลองเล็กๆ หรือใหญ่ๆ เรามีข้อแก้ตัวที่จะไปเสพ แต่การเสพมักจะนำมาซึ่งชีวิตแบบยถากรรมที่ต่อเนื่องยาวนาน ยิ่งคนที่ไม่ฝึกตนก็อาจจะเข้าไปอยู่ในกล่องของความเน่าได้เป็นเวลานาน

การพักในความว่าง ด้วยแสงแห่งการตื่นรู้น้อยๆ ที่ประคับประคองอยู่ เป็นการพักที่แท้จริง พื้นที่สมองส่วนหน้าว่างแต่ตื่นอยู่ จิตและกายผ่อนคลาย จึงเป็นการพักผ่อนที่แท้ และภาวะนั้นยังเป็นโอกาสของสมองส่วนอื่น และจักรวาลอาจจะส่งญาณปัญญาอันลุ่มลึก ที่สามารถคลี่คลายเรื่องใหญ่น้อยที่เราเผชิญอยู่ได้อีกด้วย

จาก http://jitwiwat.blogspot.com/2016/06/blog-post.html#more
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...