การบวชอยู่ที่บ้านนั้น ก็ต้องอาศัยหลักธรรมะที่เป็นเนื้อแท้ หรือเป็นตัวแท้ของพระพุทธศาสนาที่มีอยู่เป็นหลักชัดเจนตายตัว ในที่นี้ จะเลือกเอามาสักหมวดหนึ่ง สำหรับยึดเป็นหลักปฏิบัติ แต่ก็มิได้เลือกเอาหมวด เช่น อริยอัฏฐังคิกมรรค เป็นต้น นั้นมันเป็นหลักทั่วไป ที่วัดก็ได้ ที่ไหนก็ได้, จะเอาชนิดที่สูงขึ้นไป ละเอียดขึ้นไปกว่านั้น คือหมวดธรรมที่มีชื่อว่า อินทรีย์ทั้ง 5, จำไว้ให้ดี.
อินทรีย์ทั้ง๕ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ๕ อย่างนี้ แต่ละอย่างเรียกว่า อินทรีย์. คำว่า อินทรีย์ แปลว่า สำคัญ ตัวการสำคัญ หลักการสำคัญ, ธรรมะทั้ง ๕ ข้อนี้ จะมีอยู่ในการปฏิบัติทั่วไป, จะทำสมาธิหรือเจริญภาวนาอย่างไร ก็ต้องทำให้มีอินทรีย์ครบทั้ง ๕.
ขอให้ฟังให้ดีว่า จะปฏิบัติธรรมะพวกไหนก็ตาม จะต้องปฏิบัติให้มีอินทรีย์ ในคำเหล่านั้น ครบทั้ง ๕ ที่เรียกว่า ๕, ๕ นี้ ก็คือ สัทธาวิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ดังที่กล่าวแล้ว.
๑. มีสัทธา-เชื่อในธรรม เป็นเครื่องดับทุกข์. ข้อแรก คือ สัทธา แปลว่า ความเชื่อ บวชอยู่ที่บ้านก็มีความเชื่อในธรรมะนั้นๆ ถึงที่สุด. เชื่อในอะไร? ถ้าถามว่า เชื่อในอะไร? ก็คือ เชื่อในธรรมที่เป็นเครื่องดับทุกข์ ที่รู้กันทั่วไป ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ อริยอัฏฐังคิกมรรค มีองค์ ๘ นี้ เป็นธรรมที่ดับทุกข์. เราได้ศึกษาแล้ว เห็นแล้ว มีความเชื่อว่าธรรมเหล่านี้ดับทุกข์ได้จริง หรือว่า ธรรมเหล่านี้เป็นที่พึ่งได้จริง, เชื่อลงไปเสียทีหนึ่งก่อน.
แล้วก็เชื่ออีกทีหนึ่ง คือ เชื่อตัวเอง ว่า ตัวเองนี่สามารถที่จะปฏิบัติธรรมะเหล่านั้น ในเนื้อในตัวของตน มีความถูกต้องเหมาะสมที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมะเหล่านั้น, นี่ก็เป็นอีกเชื่อหนึ่ง รวมกันเป็น ๒ เชื่อ : เชื่อในสิ่งที่จะประพฤติปฏิบัติว่าดับทุกข์ได้, แล้วก็เชื่อว่า ตัวเองมีคุณธรรมที่จะดับทุกข์เหล่านั้นได้อย่างเพียงพอ.
นี่ มีศรัทธา อย่างนี้ แล้วก็อยู่ที่บ้าน บวชอยู่ที่บ้าน มันก็พอที่จะทำให้เกิดอำนาจ เกิดกำลัง กำลังภายในก็ได้, ใช้คำอย่างนี้กับเขาบ้าง. เกิดอำนาจเกิดกำลังในการที่จะปฏิบัติธรรมะเหล่านั้น คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นหลักทั่วไป; เช่นว่า รับศีล เอาไป ไปถือที่บ้าน ก็ต้องทำให้เป็นศีลของบุคคลที่มีศรัทธาอย่างแน่นแฟ้น แน่วแน่ โดยเชื่อว่า ศีลนั้นเป็นเครื่องดับทุกข์ได้, แล้วก็เชื่อว่า ตัวเองสามารถรักษาศีลได้ ให้มีความเชื่ออย่างนี้เถิด ก็จะเป็นผู้มีศรัทธา, แล้วก็มีอาการเหมือนกับว่า เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์อย่างยิ่ง มีความหนักแน่น จริงจัง เคร่งครัดในการปฏิบัตินั้นๆ.
ทีนี้ก็ปล่อยให้ศรัทธานั้นแหละ ดำเนินไปตามที่ควรจะมีในแต่ละวันๆ อำนาจของศรัทธา ทำให้มีการประพฤติจริง ทำจริง ถึงที่สุดแล้วก็มีกำลังใจที่เกิดมาแต่ศรัทธานั้นมากมาย ประพฤติปฏิบัติได้เต็มที่.
เดี๋ยวนี้ คนมีศรัทธากันแต่ปาก มีศรัทธากันแต่ผิวๆ ว่ามีศรัทธา มีศรัทธา แต่หาได้มีศรัทธาตัวจริงแท้ แท้จริงตามที่กล่าวมานี้ไม่, คือไม่ได้เชื่อแม้ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์โดยแท้จริง, แล้วก็ไม่ได้เชื่อว่า ตัวเองจะสามารถประพฤติปฏิบัติได้ ตามคำสอนเหล่านั้น. มาจัดการกันเสียใหม่ มาชำระสะสางกันเสียใหม่: อยู่ที่บ้าน แต่ให้มีศรัทธาเต็มเปี่ยมทั้ง ๒ ประการ คือมีศรัทธาในธรรมะ ที่จะประพฤติว่าดับทุกข์ได้จริง แล้วมีศรัทธาในตัวเอง, ตัวเองนั่นแหละ ว่าสามารถที่จะปฏิบัติธรรมะเหล่านั้นได้, รวมกำลังกันเป็น ๒ ฝ่ายอย่างนี้แล้ว ก็เป็นศรัทธาที่สมบูรณ์อยู่ที่บ้าน ก็มีลักษณะอาการเหมือนบวชอยู่ที่บ้าน.