ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมาภิวัตน์ : พุทธศาสนาในลาว (ทริป ท่องธรรม “สะบายดี หลวงพระบาง”)  (อ่าน 1210 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ผู้เขียนเคยไปเที่ยวลาวนานมาแล้วครับ

ครั้งมีภารกิจจะต้องจัดทริปท่องเที่ยว ท่องธรรม “สะบายดี หลวงพระบาง” ในช่วงปลายปีนี้ ก็นึกตั้งคำถามขึ้นมาในใจว่า “ลาวจะเปี๋ยนไป๋” มากน้อยเพียงใด ตามกาลเวลาที่ผันแปร และกระแสธารแห่งการเชื่อมโยงโลกทั้งโลกเข้าไว้ด้วยปลายนิ้ว

เราทราบกันดีว่า หลวงพระบางเป็นเมืองที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลก ดังนั้น กระบวนการในการรักษาขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม ศาสนา จิตวิญญาณดั้งเดิม ตลอดจนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จะต้องดำเนินไปตามมาตรฐานที่ยูเนสโกได้วางไว้

ความที่ยูเนสโกทราบดีถึงปัญหาอุปสรรคของพัฒนาการทางศาสนาในหลวงพระบาง ที่มีด้วยกันหลายประการ อาทิ ขาดการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ ประชาชนลาวก็ไม่ได้อุปถัมภ์ด้านการศึกษามากนัก กอปรกับสถาบันการศึกษาด้านพุทธศาสนามีจำนวนไม่มาก ขาดแคลนบุคลากร (เท่าที่มีอยู่ก็ไม่มีความเชี่ยวชาญมากนัก) เช่น ภาษาบาลี ประวัติศาสตร์ ขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ในการเรียนการสอน ขาดตำราในการศึกษาค้นคว้าวิจัย จึงทำให้จำนวนพระภิกษุสามเณรที่มาศึกษาต่อมีจำนวนไม่มากนัก สามเณรที่มาเรียนมุ่งหวังความรู้ทางโลก มากกว่าการใส่ใจหาความรู้ทางธรรม อาจเพราะพระภิกษุสามเณรขาดแรงจูงใจให้ทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา ดังนั้น เมื่อศึกษาจบแล้วก็มักลาสิกขาออกไปประกอบวิชาชีพ

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงทำให้ยูเนสโกจัดตั้งโครงการมากมาย เพื่อช่วยสานต่อในเชิงอนุรักษ์และพัฒนา อาทิ โครงการอนุรักษ์พระไตรปิฎก โดยเฉพาะการศึกษาบาลีอักษรลาวเชิงลึก การส่งเสริมการศึกษาให้กับพระภิกษุสามเณร การเพิ่มหลักสูตรงานไม้ งานแกะสลัก ปูนปั้น เพื่อเป็นการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเริ่มที่พระภิกษุและสามเณร เพราะเห็นว่าศาสนาเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน พระสงฆ์มีความเป็นผู้นำชุมชน อีกทั้งเมื่อลาสิกขาไปก็ยังมีความรู้ ทักษะ ความชำนาญเชิงวิชาชีพติดตัวไปอีกด้วย จึงทำให้สถานการณ์ด้านการศึกษาในสถาบันด้านพุทธศาสนาในหลวงพระบางค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้หลายภาคส่วนกำลังช่วยกันก่อร่างสร้างวิทยาลัยสงฆ์ในหลวงพระบางขึ้นมา แม้จะเป็นสาขาของวิทยาลัยสงฆ์องค์ตื้อ จากเวียงจันทร์ก็ตาม แต่ก็สามารถคาดการณ์ได้ว่า อนาคตด้านการศึกษาของพระภิกษุ สามเณร ในหลวงพระบางจะค่อยๆ เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น สอดรับกับจำนวนพระภิกษุ สามเณรที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยเพราะที่หลวงพระบางมีวัดเยอะมากครับ วิถีชีวิตของพระภิกษุที่ผสานไปกับวัฒนธรรมประเพณีแบบพื้นบ้าน จึงเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ออก



ภาพหนึ่งของหลวงพระบางที่มักเกิดขึ้นในความคิดของเรา คือการใส่บาตรพระยามเช้า พระทุกวัดจะออกบิณฑบาตพร้อมกัน และแต่ละวัดมีเส้นทางเดินรับบาตรที่ชัดเจน ไม่แยกเดินตามลำพังเหมือนที่เมืองไทย พระที่นี่จะเดินกันเป็นแถวยาว เป็นภาพที่งดงามมากครับ ญาติโยมส่วนใหญ่นิยมเตรียมข้าวเหนียวไว้ใส่บาตร แค่รูปละหยิบมือเล็กๆ เพราะบางช่วงเวลาจะมีพระบิณฑบาตมากเป็นร้อยรูป ส่วนอาหารนั้นจะมีญาติโยมบ้านใกล้วัดนำมาถวาย

ดังนั้น พัฒนาการในการมีส่วนร่วมของฆราวาสญาติโยมต่อพุทธศาสนาในประเทศลาว จึงดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป คู่ขนานกับประเทศที่กำลังพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ถือว่าดีขึ้นตามลำดับ

เพราะหากย้อนกลับไปในอดีต ลาวมีการปกครองระบอบกษัตริย์เหมือนไทย แต่ถูกล้มเลิกด้วยระบอบการปกครองแบบสังคมนิยม และกลายเป็นประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตั้งแต่ พ.ศ. 2518 แน่นอนครับว่าศาสนาได้กลายเป็นหอกข้างแคร่ ที่ผู้ปกครองในยุคสมัยนั้นมองว่า เป็นเครื่องมือในการปลุกปั่น ปลุกระดมได้ง่าย ดังนั้น นอกจากการทำลายล้างสถาบันกษัตริย์แล้ว ผู้ปกครองใหม่จึงจำเป็นต้องทำให้สถาบันศาสนาสั่นคลอน และต้องลดความเชื่อถือศรัทธาในศาสนาจากประชาชนให้มากที่สุด

ลาวในสมัยนั้นจึงมีเหตุการณ์ที่พระสงฆ์ถูกฆ่าตายจำนวนมาก พระสงฆ์บางส่วนต้องลาสิกขาออกมาเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ พุทธศาสนาจึงถูกกลืนหายไปกับระบอบการปกครองใหม่ ศาสนาถูกนำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ คือแทนที่จะเป็นเครื่องมือช่วยขัดเกลาจิตใจผู้คน ก็กลายเป็นเครื่องมือช่วยในการเผยแพร่ลัทธิและนโยบายสู่ประชาชน

อย่างไรก็ตาม แม้ลาวจะตกอยู่ในช่วงจังหวะของการปฏิวัติจากระบบเดิมสู่ระบบใหม่ แต่การที่ฝ่ายการเมืองเริ่มเข้าใจหลักการมวลชน ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ต่างก็ใช้พุทธศาสนาเป็นกลยุทธ์ ในการรณรงค์หาแนวร่วมให้มาสนับสนุน โดยต่างฝ่ายต่างมองเห็นว่า พระสงฆ์เป็นผู้ที่ประชาชนให้ความเคารพเชื่อถือ รัฐบาลคอมมิวนิสต์ขณะนั้นจึงให้พระสงฆ์เผยแผ่แนวคิดของลัทธิคอมมิวนิสต์ในขณะเทศนาธรรม การจัดงานปาฐกถาในที่ต่างๆ ให้มีพระสงฆ์ร่วมอยู่ด้วย และบังคับพระสงฆ์ให้ประยุกต์คำสอนพุทธศาสนาเข้ากับคำสอนของคอมมิวนิสต์ จนกลายเป็นการบิดเบือนหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ พระสงฆ์หลายรูปจำต้องทำตาม เพราะหากขัดขืนก็จะถูกฆ่าตาย

ต่อมาภายหลังฝ่ายการเมืองเริ่มเข้าใจในศรัทธาของมวลชนที่มีต่อศาสนาอย่างแท้จริง การเมืองเป็นเรื่องรอง ชนชั้นปกครองจึงหันกลับมาฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศขึ้นอีกครั้ง จนมาถึงในปัจจุบันนี้ พระพุทธศาสนาก็เริ่มได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐในหลายๆด้าน

พระพุทธศาสนาของลาวในยุคกำลังพัฒนา ได้ก่อให้เกิดความเป็นปึกแผ่นในสังคมชาวลาว ผ่านการสื่อสารและแสดงออกทางวัฒนธรรม ประเพณี ความคิด ความเชื่อ โดยเฉพาะพิธีกรรมและกิจกรรมในวันสำคัญต่างๆ เช่น ประเพณีทำบุญธาตุหลวง หรือแม้แต่การเกิดขึ้นของงานศิลปกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม ทางพุทธศาสนามากมาย ซึ่งล้วนมีคุณค่าทางด้านศิลปะและประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก ถือว่าแสงทองแห่งพุทธศาสนาเริ่มทอแสงอำไพในประเทศลาวแล้วครับ



แค่เฉพาะในเมืองหลวงพระบาง ก็มีวัดวาอารามที่มีประวัติศาสตร์อันงดงามและยิ่งใหญ่ มีชื่อเสียงดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้เดินทางมาเที่ยวชม เช่น “วัดเชียงทองวัดหลวงคู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบาง ซึ่งมีความงดงามและความสำคัญดุจอัญมณีล้ำค่า ที่พี่น้องชาวลาวหวงแหนยิ่งนัก

นอกจากวัดที่เลื่องชื่อเรื่องความงามแล้ว หลวงพระบางยังมีพระธาตุเจดีย์รูปทรงแปลกตา รูปร่างโค้งมนเหมือนผลแตงโม ซึ่งหาชมได้ที่ “วัดพระธาตุหมากโม” ซึ่งกระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรมของลาว ยกให้วัดนี้เป็นอีกหนึ่งศาสนสถานที่มีความสำคัญ เพราะวัดพระธาตุหมากโมเคยเป็นที่ประดิษฐาน “พระบาง” พระพุทธรูปสำคัญซึ่งอาราธนามาจากเมืองเวียงคำ

ความน่าสนใจของศาสนสถานในหลวงพระบาง ยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้นะครับ ฉบับหน้าผู้เขียนจะพาย้อนอดีตไปศึกษาประวัติศาสตร์ของวัดวาอาราม และสถานที่สำคัญในหลวงพระบาง เพื่อเป็นการอุ่นเครื่ององค์ความรู้ ก่อนที่เราจะเดินทางไปทักทายหลวงพระบาง บ้านพี่เมืองน้องสองฝั่งโขงของเราในเดือนธันวาคมนี้ครับ

สะบายดี … หลวงพระบาง

จาก http://dhammapiwat.com/ ธรรมาภิวัตน์/พุทธศาสนาในลาว/
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
สะบายดี หลวงพระบาง

เล่าย้อนกลับไป “หลวงพระบาง” เป็นอดีตเมืองหลวงเก่าของอาณาจักรล้านช้าง ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่ง “หัวใจแผ่นดินล้านช้าง” ที่มีทั้งความสำคัญทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งแต่ละปีจะมีผู้คนจากทั่วโลกเดินทางมาเยือนกันเป็นจำนวนมาก

ก่อนที่ยูเนสโกจะเข้ามามีบทบาทในเมืองหลวงพระบาง ครั้งหนึ่งเมืองนี้เคยได้ชื่อว่าเป็น “ยูโธเปียของนักอุดมคติ” และ “ธัมมิกสังคมแห่งสุดท้าย” ทว่าเวลาที่ผ่านมาล่วงจนถึงปัจจุบัน เมืองมรดกโลกอย่าง “หลวงพระบาง” กำลังก้าวสู่ความเป็น “เมืองท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ”แน่นอนว่า หลวงพระบางย่อมดำเนินตามรอยเฉกเช่นกับเมืองท่องเที่ยวชื่อดังหลายเมืองทั่วโลก เมื่อมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากมาย ก็ทำให้มนต์เสน่ห์บางอย่างได้ปรับเปลี่ยนไปตามสภาวการณ์ โดยที่ชาวหลวงพระบางเองก็อาจจะไม่ทันได้รู้ตัว ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีทางวัฒนธรรม



 วิถีหนึ่งในหลวงพระบางที่เราจะเห็นกันอย่างชินตา หลายท่านที่เดินทางมาหลวงพระบางก็ล้วนตั้งใจจะ “ใส่บาตรข้าวเหนียว” ตั้งแต่เช้าวันแรก เพื่อความเป็นสิริมงคล ถนนสายหลักอย่างถนนสีสะหว่างวงมักจะถูกจับจองโดยนักท่องเที่ยว ที่ปฏิบัติกันราวกับเป็นธรรมเนียมมากกว่าเป็นจารีตประเพณี

ใส่บาตรเช้าเสร็จแล้ว นักท่องเที่ยวก็จะเดินไปต่อกันที่ “ตลาดเช้า” ในซอยข้างวัดโพนชัย เพื่อดื่มด่ำกับชีวิตสโลว์ไลฟ์ (Slow Life) กันให้เต็มที่ บ้างก็ถือโอกาสทานอาหารเช้าแบบหลวงพระบาง ทานเฝอกันสักชาม หรือเลือกจิบกาแฟคู่ขนมอบสไตล์ตะวันตก ซึ่งก็มีร้านรวงให้เลือกใช้บริการอยู่ไม่น้อยครับ

บางคนก็จัดอยู่ในกลุ่มสังคมนิยมซื้อ ไม่ว่าจะเป็นอาหารพื้นเมือง ขนม ของกิน ของฝากหรือสินค้าพื้นเมือง พืชผลทางการเกษตรต่างๆ ซื้อหิ้วกันเท่าที่แรงจะถือไหว นับเป็นความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ซึ่งจะพบได้บนถนนสายนี้

เมื่อกินอิ่มแล้วก็ได้เวลาสำรวจเมืองหลวงพระบางกันครับ สถานที่แรกที่มักนิยมไปกันคือ “วัดเชียงทอง” สุดยอดแห่งสถาปัตยกรรมล้านช้างที่งดงามที่สุด เป็นที่รู้จักกันดีของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เปรียบเหมือนมาเที่ยวเมืองไทยต้องไปวัดพระแก้ว แต่สำหรับที่หลวงพระบางแล้ว การไม่ได้ไปวัดเชียงทองก็เหมือนกับว่ายังมาไม่ถึงนะครับ



 วัดเชียงทอง สร้างขึ้นในช่วง พ.ศ. 2102 ในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เป็นวัดสำคัญวัดเดียวที่ไม่ถูกเผาทำลายในศึกฮ่อธงดำบุกปล้นเมืองหลวงพระบาง เมื่อ พ.ศ. 2428

วัดเชียงทองมี “สิม” หรือ “พระอุโบสถ” เป็นหัวใจของวัด มีขนาดไม่ใหญ่นัก ได้รับการยกย่องว่าเป็นสิมแบบล้านช้างสมบูรณ์ที่สุด หลังคาสิมสร้างโค้งอ่อนช้อยทรงปีกนก 3 ชั้น ลดหลั่นปกคลุมต่ำลงมา บนสันกลางหลังคามี “โหง่” หรือช่อฟ้า 17 ช่อ มีนัยยะบ่งบอกว่าเป็นวัดที่กษัตริย์สร้างขึ้น

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างของพระอุโบสถ คือ สีมา เป็นรูปดอกบัวกลีบสีเขียวซ้อนกันเป็นชั้นขึ้นไป ส่วนผนังพระอุโบสถด้านหลังประดับลาย “ดอกดวง” หรือลายกระจกสี ทำเป็นรูป “ต้นทอง” ซึ่งเจ้าศรีสว่างวัฒนาได้ให้ช่างทำไว้ที่ด้านหลังสิม เมื่อครั้งบูรณปฏิสังขรณ์วัดเชียงทอง เพื่อระลึกถึงต้นทองยักษ์ขนาดหลายคนโอบในวัดแห่งนี้

ใกล้กับพระอุโบสถเป็น “พระวิหารแดง” หลังเล็ก ประดับประดาด้วยกระจกสี มีเนื้อหาสื่อถึงวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาวลาว อาทิ ภาพขบวนแห่ คนฟ้อนรำนำขบวน ภาพชาวนาที่กำลังช่วยกันเกี่ยวข้าว ฝัดข้าว เป็นต้น

ถัดไปเป็น “หอพระม่าน” และ “หอพระพุทธไสยาสน์” ตั้งอยู่คู่กัน หอพระม่านนั้นปิดใส่กุญแจไว้ แต่บริเวณประตูจะมีช่องเล็กๆ ให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปดูพระพุทธรูปภายใน พระม่านเป็น 1 ใน 3 พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพระบาง(อีก 2 องค์ คือ พระบางและพระเจ้าองค์แสน) พระม่านจะอัญเชิญออกมาให้ประชาชนได้สักการะในช่วงสงกรานต์เช่นเดียวกับพระบาง

ขณะที่หอพระพุทธไสยาสน์นั้นเปิดให้เข้าชมได้ ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ตะแคงขวาหนุนหมอนสองใบซ้อนกัน อายุกว่า 400 ปี ฉากที่อยู่ด้านหน้าเป็นไม้แกะสลักโค้งลงมาได้กึ่งกลางระดับสายตา ปิดทองล่องชาดเอาไว้งดงามยิ่งนัก ลวดลายเป็นกิ่งที่ขดกันเป็นวงกลม มีใบและดอกประดับอยู่ รูปแบบศิลปะของพระพุทธรูปปางไสยาสน์คล้ายปางสุโขทัย ทำจากทองเหลือง พระพักตร์นุ่มนวลและงดงาม เก่าแก่ไปตามกาลเวลา ทว่ามีคุณค่าในเชิงศิลปะอย่างยิ่ง

วัดเชียงทองยังมี “โรงเมี้ยนโกศ” หรือ “โรงราชรถ” ภายในเก็บราชรถที่เคยใช้ในการอัญเชิญพระโกศของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ มีลวดลายเป็นพญานาคจำนวน 2 พระโกศ ด้านหน้าของโรงเมี้ยนโกศ ตั้งแต่จั่วจรดพื้นเป็นไม้แกะสลักปิดทอง เรื่องราวจากรามายณะ (รามเกียรติ์) งดงามทั้งยักษ์ พระ นาง และลิง ส่วนประตูและหน้าต่างด้านนอกเต็มไปด้วยลวดลายแกะสลักไม้สีทองที่วันนี้สีเริ่มหมองไปตามกาลเวลา ฝีมือของ “เพียตัน” (ศักดิ์เทียบเท่าเจ้าพระยา-ผู้เขียน) หนึ่งในสุดยอดช่างของลาวที่หาใครเปรียบได้ยาก



ออกจากวัดเชียงทอง เราไปต่อกันที่ “วัดวิชุนราช”” หรือวัดหมากโม (แตงโม) ในอดีตเป็นวัดที่เคยประดิษฐานพระบาง ซึ่งอาราธนามาจากเมืองเวียงคำ สร้างโดยพระเจ้าวิชุนราชใน พ.ศ. 2057 และถูกบูรณะขึ้นใหม่อีกครั้งใน พ.ศ.2475 ในสมัยพระเจ้าสักกะริน ภายหลังจบศึกฮ่อธงดำบุกปล้นเมืองหลวงพระบาง โดยมีอองรี มาร์แซล นายช่างฝรั่งเศสผู้เคยบูรณะนครวัดเป็นแม่งาน

พระอุโบสถวัดวิชุนราช เป็นรูปทรงไทลื้อสิบสองปันนา มีจุดเด่นคือส่วนคอชั้นสองจะยกระดับสูงขึ้นไป ส่วนบนหลังคาประดับด้วยโหง่ หน้าต่างพระอุโบสถประดับด้วยลูกมะหวด บานประตูด้านหน้าทั้งสามช่องแกะสลักลงรักปิดทอง ทั้งลวดลายพราหมณ์ และงานศิลปะแบบเชียงขวาง



  ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานขนาดใหญ่ที่สุดในหลวงพระบาง นอกจากนี้ ยังมีโบราณวัตถุที่เก็บรวบรวมมาจากวัดร้างต่างๆ ภายในหลวงพระบางอีกด้วย เช่น พระพุทธรูปสำริด งานจำพวกไม้แกะสลักลวดลายต่างๆ พระพุทธรูปไม้แกะสลักลงรักปิดทองสูงเท่าคนจริงจำนวนมากที่เก็บรักษาเอาไว้

เหตุที่วัดวิชุนราชถูกเรียกขานกันว่าวัดหมากโม เพราะมีพระธาตุหมากโม เป็นเจดีย์ปทุมหรือพระธาตุดอกบัว ซึ่งชาวลาวเห็นว่ามีรูปทรงคล้ายแตงโมผ่าครึ่งหรือทรงโอคว่ำ ยอดพระธาตุมีลักษณะคล้ายรัศมีแบบเปลวไฟของพระพุทธรูปแบบลังกาหรือสุโขทัย บริเวณมุมฐานชั้นกลางและชั้นบนมีเจดย์ทิศทรงดอกบัวตูมทั้งสี่มุม

ไม่ไกลจากวัดวิชุนราชนัก จะนำพาทุกท่านขึ้นเขาไปยัง “พระธาตุพูสี” ตั้งอยู่บนยอดเขาที่มีความสูงราว 150 เมตร มีบันไดขึ้นยอดพูสี 328 ขั้น

“พูสี” มีความหมายว่า ภูเขาของพระฤาษี เดิมชื่อว่า “ภูสรวง” ครั้นเมื่อมีฤาษีไปอาศัยอยู่ ชาวบ้านจึงเรียกว่าภูฤาษี หรือภูษีมาจนถึงปัจจุบัน แต่ยังมีนักโบราณคดีบางคนเชื่อว่าภูษี อาจหมายถึง ศรีหรือความเป็นมงคลของเมืองหลวงพระบาง ดังนั้น พูสีจึงเปรียบเสมือนหลักเมืองของหลวงพระบางนั่นเองครับ

พระธาตุพูสีสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอนุรุท ประมาณพ.ศ. 2337 ตัวพระธาตุเป็นทรงดอกบัวสี่เหลี่ยมทาสีทอง ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมยอดประดับด้วยเศวตฉัตรทองสำริดเจ็ดชั้น สูงประมาณ 21 เมตร

การเดินขึ้นยอดพูสีถือว่าเหนื่อยเอาเรื่องครับ แต่ตลอดทางขึ้นร่มรื่นไปด้วยต้นจำปา (ดอกไม้ประจำชาติลาว) หรือที่บ้านเราเรียกว่าต้นลั่นทม เมื่อขึ้นไปถึงบนยอดพูสีจะเห็นเมืองหลวงพระบางได้โดยรอบ และมองเห็นอาคาร “หอพิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง” ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ริมฝั่งโขง

หอพิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง เป็นพระราชวังหลวงเดิมของเจ้ามหาชีวิต พอเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2519 ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศสผสมล้านช้าง มีลักษณะเป็นหมู่อาคารทรงเตี้ยชั้นเดียว ตั้งอยู่บนพื้นยกสูง มีความงดงามลงตัวตามแบบฉบับของศิลปะยุคอาณานิคม สภาพโดยรอบมีความร่มรื่น

ทางเข้าอาคารด้านหน้า เป็นมุขยื่นออกมา มีหน้าบันเป็นรูปช้าง 3 เศียร อันหมายถึง อาณาจักรล้านช้างทั้งสาม (หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาสัก) มีฉัตรกางอยู่ตรงกลางข้างบน อันเป็นสัญลักษณ์ของราชอาณาจักรลาวล้านช้างในระบอบเดิม

ตรงเข้าไปเป็นห้องฟังธรรมของเจ้ามหาชีวิตและท้องพระโรง หลังท้องพระโรงเป็นอาคารที่มีหลังคาเป็นยอดปราสาทหลังเดียว มองเห็นเป็นสง่าเด่นชัดจากภายนอกตัวอาคาร แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ปีกทางด้านซ้ายเป็นห้องรับแขกของพระมเหสี ส่วนปีกทางด้านขวาเป็นห้องรับแขก ประดับด้วยรูปหล่อบรอนซ์ครึ่งองค์ คือ เจ้ามหาชีวิตอุ่นคำ เจ้ามหาชีวิตสักรินทร์ เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ และเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของลาว รูปปั้นเหล่านี้ล้วนหล่อมาจากประเทศฝรั่งเศสทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ยังมีภาพเขียนบนผ้าใบผืนใหญ่แขวนบนผนัง เป็นภาพเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของชาวลาว ภาพฮีตประเพณีลาวที่สำคัญ ลักษณะงานศิลปะแบบ Impressionism ฝีมือของจิตรกรหญิงของชาวฝรั่งเศสชื่อ อลิซ เดอ โฟเตอโร



ส่วนของห้องสุดท้ายของปีกด้านขวา ได้ถูกจัดให้เป็นห้องพระโดยเฉพาะ ภายในเป็นที่ประดิษฐานของ “พระบาง” หรือ “พระบางพุทธลาวรรณ” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบางอันศักดิ์สิทธิ์และสำคัญที่สุดของลาวอีกด้วย ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “เมืองหลวงพระบาง” อันหมายถึงเมืองที่มี “พระบาง” ประดิษฐานอยู่นั่นเอง

พระบางเป็นพระพุทธรูปประทับยืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองข้างขึ้น หันฝ่าพระหัตถ์ออก ซึ่งชาวลาวเรียกกันว่า “ปางประทานอภัย” เป็นศิลปะเขมรสมัยหลังบายน อายุราว 300 ปี หล่อด้วยทองคำบริสุทธิ์ 90%

ภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีโบราณวัตถุชิ้นสำคัญอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปสำริด กลองมโหระทึก ภาพเก่าแก่ บัลลังก์ ธรรมาสน์ และข้าวของเครื่องใช้อีกหลากหลายสาธยายแทบจะไม่หมด

หลวงพระบางยังมีเรื่องที่น่าเขียนถึงอีกหลายแง่มุมมาก หากแต่ว่าหน้าพื้นที่กระดาษไม่เอื้ออำนวย ถ้ามีโอกาสจะเล่าให้ฟังใหม่พร้อมกับเก็บภาพแห่งความประทับใจมาฝากครับ

สะบายดี

จาก http://dhammapiwat.com/ ธรรมาภิวัตน์/สะบายดี-หลวงพระบาง/
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...