ผู้เขียน หัวข้อ: วิถีทางแห่งการดับทุกข์ในแบบต่าง ๆ (ธรรมะ ท่านอาจารย์ “ พุทธทาส อินทปัญโญ “)  (อ่าน 1881 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


วิถีทางแห่งการดับทุกข์

           เมื่อเกิดเป็นปุถุชนคนธรรมดา ทั้งหลาย ย่อมมีทั้งความสุข และทุกข์ คลุกเคล้ากันไปในชีวิต แล้วแต่ว่า แต่ละคนจะมีวิธี เสาะแสวงหา หรือ หลีกเลี่ยง ความสุข – ทุกข์ ได้พบกับหนทางแห่งความสุขในชีวิตได้มากขึ้น

ความทุกข์  10 ประการ

1. สภาวทุกข์ ทุกข์ประจำสังขาร คือ เกิด แก่ เจ็บ และตาย

2. ปกิณณกทุกข์ ทุกข์จร คือ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส

3. นิพัทธทุกข์ ทุกข์อันเนืองนิตย์ คือ หนาว ร้อน หิว กระหาย ปวดอุจจาระ ปัสสาวะ

4. พยาธิทุกข์ ทุกข์เพราะโรคต่าง ๆ

5. สัตาปทุกข์ ทุกข์เกิดจากกิเลส คือ โลภ โกรธ และหลง

6. วิปากทุกข์ ทุกข์เกิดจากกรรมเก่าตามมาให้ผล

7. สหคตทุกข์ ( วิปริณามทุกข์ ) ทุกข์เกิดจากโลกธรรม 8

8. อาหารปริเยฎฐิทุกข์ ทุกข์เกิดจากการหาอาหาร

9. วิวาทมูลกทุกข์ ทุกข์เกิดจากการทะเลาะวิวาท

10. ทุกขขันธ์ ทุกข์รวบยอด คือความมั่นในขันธ์ 5

ผลของกรรมเก่า เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก

เหตุแห่งกรรมใหม่ เป็นเรื่องที่สร้างได้ไม่ยาก




วิธีการดับทุกข์ เพราะ พ่อ-แม่

             พ่อ-แม่จัดได้ว่าเป็นปูชนียบุคคล ของลูกทุกคน   พระพุทธเจ้าทรงเทียบฐานะของพ่อแม่ เท่ากับเป็น “ พระ “ ด้วยเหตุที่พ่อ-แม่ เป็นผู้มีพระคุณมากล้น ผู้ที่ปฏิบัติต่อพ่อแม่อย่างถูกต้อง จึงมีแต่ “ สิริมงคล “ เป็นที่ยกย่องสรรเสริญของคนดีทั่วไป ในทางตรงกันข้ามถ้าปฏิบัติต่อพ่อ-แม่ไม่ถูกต้อง ก็ย่อมจะเกิด “ อัปมงคล “ หาความเจริญทางจิตใจมิได้ และจะได้รับกรรมอันนี้สนองในชาตินี้ เป็นส่วนมาก กล่าวคือลูกของเรา ก็จะทำต่อเราเช่นนี้เหมือนกัน

               ดังนั้น ในฐานะลูกที่ดี จึงควรมีความกตัญญูและกตเวทีต่อพ่อแม่ของตน สนองคุณด้วยการเลี้ยงดูตามธรรม อย่าให้ท่านได้รับความทุกข์กายและใจ และผลแห่งกุศลกรรมอันนี้ ก็ย่อมจะสนองเราทันตาเห็นเช่นเดียวกัน ทั้งรูปธรรมและนามธรรม การที่พ่อ-แม่ ทำผิดทำชั่ว อันเป็นผลพวง ที่ตกมาถึงเราเป็นเพราะอกุศลกรรมของเรา ดลจิตใจให้ท่านทำเช่นนั้น อย่าได้เอาความชั่ว ไปตอบแทนพระคุณที่ท่านให้กำเนิดเรา

               การที่เราได้เกิดมาเป็นลูกท่าน ก็เป็นผลแห่งบาปกรรมที่เราทำเอาไว้เองให้เป็นไป ถ้าเราไม่ต้องการมาเกิดเช่นนี้อีก ก็ควรเร่งทำความดีให้มากขึ้น ในชาติต่อไป เราก็ย่อมจะพ้นสภาพเช่นนี้ ถ้าเป็นกรณีที่ลูกให้คำแนะนำให้พ่อ-แม่ ไม่ได้

                ทางปฏิบัติก็มีอยู่ 2 ประการ คือ การวางอุเบกขา ปล่อยให้เป็นไปตามกรรมของท่านเอง หรือหาผู้ที่พ่อ-แม่เคารพนับถือ ช่วยแนะนำตักเตือนให้ อาจจะเลิกได้ถ้าหมดเวร ขอแต่ว่าให้เราพยายามทำหน้าที่ลูกให้ดีที่สุดก็แล้วกัน ถ้าท่านไม่รีบตายจากเราไปเสียก่อนหมดเวรกรรมท่านก็ต้องเลิกไปเอง

ทางแก้

1.ต้องปฏิบัติหน้าที่ ระหว่างลูกกับพ่อ-แม่ให้ถูกต้อง คือมีความกตัญญูกตเวที พยายามให้พ่อ-แม่มีศีลธรรมให้ได้ อย่าได้เอาความชั่วไปต่อความชั่ว มิฉะนั้นในชาติหน้า เราจะต้องไปเกิดและชดใช้บาปกรรมร่วมกันอีก

2.การทำให้พ่อ-แม่ทุกข์กายและใจ บ่น ด่า ทุบตี หรือ ฆ่า เป็นการปิดทางสวรรค์และนิพพานของลูกพร้อมกันนั้นก็เปิดทางอบายทุคิต วินิบาต และนรกไว้รอด้วย

3.การที่เราอยู่กับพ่อ-แม่ที่ขี้บ่นหรือด่านั้น ถ้าเจาะให้ลึกถึง “ ก้นบึ้งหัวใจ “ ปล่อยให้เรา ขึ้นช้างลงม้า คอหักตาย “ ไป มิดีกว่าหรือ คำด่าให้ถือว่าเป็นพรอันประเสริฐ ที่ลูกควรรับฟังและพิจารณาด้วยใจเป็นกลาง คือ

3.1 ถ้าท่านด่าหรือบ่น โดยเราไม่ผิดหรือไม่จริง ก็อย่าได้สวนขึ้นในขณะนั้น รอให้ท่านอารมณ์ดี แล้วค่อยชี้แจงเหตุผลให้ฟังภายหลัง

3.2 ถ้าท่านด่าหรือบ่น โดยเราเป็นฝ่ายผิด ก็ต้องรีบแก้ไข ปรับปรุงตนอย่าได้ทำเช่นนั้นอีก ท่านก็จะเลิกบ่นไป เอง

3.3 ถ้าท่านบ่นหรือด่า โดยหาสาระไม่ได้ ก็ควรสงบใจ วางอุเบกขาเสีย มันเป็นการระบายอารมณ์ ของคนที่มีภาระมาก และวางไม่ลง ได้บ่นหรือด่าใครนิดหน่อย อารมณ์ก็จะดีขึ้น เป็นธรรมดาของคนที่ห่างวัดขาดธรรมะจะต้องเป็นเช่นนั้น

3.4 คำบ่นหรือด่าของพ่อ-แม่ ไม่มีพิษภัยเท่ากับคำเยินยอของหนุ่มสาว ถ้าเราทนได้ ปล่อยวางอุเบกขาได้ ก็เป็นการบำเพ็ญ “ ขันติบารมี “ ไปในตัว ควรหัดทำใหม่



วิธีดับทุกข์ เพราะ เพื่อน

                ในมงคล 38 ได้วาง หรือจัดการเรื่องการไม่คบคนพาลไว้เป็นข้อแรก และจัดเรื่องการคบบัณฑิตไว้เป็นข้อที่ 2 ทั้งนี้เพราะ การคบเพื่อนเหมือนกับการเริ่มต้น ของการเดินทาง การคบเพื่อนที่ไมีดีก็เหมือนการเดินทางผิด ยิ่งเดินก็ยิ่งผิด ทางที่ถูกก็คือ ต้องตั้งต้นเดินใหม่ นั้นคือการเลือกคบแต่คนดี

              การดูว่าคนดี หรือคนชั่ว เรามีจุดที่จะดูอยู่ 3 จุด คือ ที่กาย วาจา และที่ใจของเขา โดยมีศีลและธรรม เป็นมาตรวัดดังนี้

ทางกาย 4 คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม และ ไม่ดื่มสุราเมรัย

ทางวาจา 4 คือ ไม่พูดปด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด และ ไม่พูดเพ้อเจ้อ

               ทางใจ 3 คือ ไม่โลภอยากได้ในทางที่ผิด มีจิตเมตตาไม่ปองร้ายหรือพยาบาท และมีความเห็นชอบและถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

             มีข้อที่ดูยากคือทางใจ แต่ก็พอจะดูได้ เพราะเมื่อใจคิดแล้วมันก็ต้องพูดหรือทำ ไม่ช้าก็เร็วออกมาจนได้ การคบกันนาน ๆ จึงจะรู้ธาตุแท้หรือสันดานของคนได้แท้จริง การคบเพื่อนที่ดี ย่อมจะนำแต่ความสุข และความเจริญมาให้ ในทางตรงข้าม

              ถ้าคบเพื่อนชั่วหรือพาล ย่อมจะนำแต่ความทุกข์เดือดร้อนและความเสื่อมนานาประการมาให้ ดังนั้นใครมีเพื่อนที่ดีอยู่แล้ว ก็ควรจะถนอมน้ำใจด้วยการปฏิบัติตาม “ สังคหวัตถุ 4 “ อย่างสม่ำเสมอ ก็ย่อมจะผูกน้ำใจเพื่อนที่ดีไว้ได้ตลอดกาล ถ้ามีเพื่อนชั่วควรรีบถอนตัว ตีจากเสียให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันทุกข์ภัย ที่จะมีในปัจจุบัน และในอนาคต

ทางแก้

1. พิจารณาให้เห็นโทษของการคบคนชั่ว และคุณของการคบคนดี อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน และต้องตัดสินใจเลิกคบกับคนชั่วให้ได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น

1.1 เลิกคบทันทีทันใด

1.2 ค่อย ๆ แยกหรือปลีกตัวออกมา โดยไม่ให้เขารู้ตัว

1.3 ตัดสายสัมพันธ์ เป็นสื่อเชื่อมโยงออกให้หมด

1.4 ถ้าอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน หรือทำงานร่วมกัน ก็อาจขอย้ายโรงเรียน หรือเปลี่ยนงานใหม่ ก็แล้วแต่กรณี

1.5 ย้ายบ้าน อย่าอยู่ใกล้ชิดกันอีกต่อไป

1.6 เลือกคบหาคนดีไว้ทดแทน

                เป็นธรรมดาอยู่เอง เมื่อเราคบคนชั่ว คนดีก็ย่อมรังเกียจไม่คบหาด้วย และเมื่อเราเลิกคบกับคนชั่ว คนดีก็ย่อมคบหาด้วย ไม่ต้องกลัวว่าจะหาคนดีคบไม่ได้ ขอแต่ว่าให้เราเป็นคนดี จริง อย่าเป็นคนประเภท “ ปากปราศรัย น้ำใจเชือดคอ “ ก็แล้วกัน



วิธีดับทุกข์ เพราะ สามี-ภรรยา

          ผู้ที่ครองเรือน ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าสามี-ภรรยาทั่วไปมีกัลยาศีล และกัลยาธรรม คือ ศีล และ ธรรม 5 แล้ว ครอบครัวนั้น ก็ย่อมมีความสุขตามโลกีย์วิสัยไม่มีปัญหา สามี-ภรรยาที่อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข หรือมีความทุกข์นั้น อยู่กับเหตุ 2 ประการคือ เสน่ห์ กับ เสนียด

1. เสน่ห์ คือ สื่อที่ทำให้สามี-ภรรยา รักกัน เช่น พูดจาไพเราะ อ่อนหวาน พูดจริง พูดแต่ในเรื่องที่ควรพูด การแต่งกายให้ดูดีอยู่เสมอ ขยันในกิจการบ้านเรือน

2. เสนียด คือ มีแต่จัญไร และอัปมงคล พบกันก็มีแต่บ่นหรือด่า ฝ่ายที่ถูกบ่นถูกด่าก็ไม่อยากอยู่ใกล้ ไม่อยากเข้าบ้าน ก็ต้องไปหาบ้านอยู่ใหม่

ทางแก้ ก็คือ ควรใช้หลักธรรม 3 ชุด คือ มีศีล 5 , ละเว้นอบายมุขและมีฆราวาสธรรมอีก 4 ข้อ คือ

           ชุดศีล 5 และ ธรรม 5 ควรฝึกทำให้ได้ และชุดอบายมุข 6 ก็ต้องเว้นให้ขาด การประพฤติ ฆราวาสธรรม 4 ควรมีประจำ คือ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ

          การจู้จี้ พูดมาก ขี้บ่น ต้นเหตุเพราะ คนในบ้านไม่ให้ความร่วมมืออะไร ๆ จึงมาตกแก่แม่บ้านหมด ทั้งงานนอกงานใน ขี้เยี่ยวไม่ออกก็แม่บ้านคนเดียวถ้า “ ทำใจ “ ไม่ได้ โรคประสาทก็จะถามหาทันที

ทางแก้

           ทั้งพ่อบ้าน แม่บ้าน และลูกบ้าน ควรร่วมมือกันอะไรพอทำได้ก็ช่วยกัน และแม่บ้านที่ฉลาด ก็ไม่ควรจะผูกขาดงานในบ้านเสียคนเดียว ใคร ๆ ทำให้ก็ไม่ถูกใจ ควรฝึกให้ลูก ๆ ขยันและช่วยตนเองให้มาก การเอาแต่ใจตัว คือ ชอบทำอะไรเผด็จการ ไม่ปรึกษาหารือกันก่อนสามี-ภรรยามีสองร่าง (ตัว) แต่ควรมีหัวใจเดียวกันบ้านจึงจะสันติสุขควรเป็นคนมีเหตุผล

            อย่าทำอะไรตามอารมณ์แม้ว่าการทำเช่นนั้นจะไม่ทำให้ครอบครัวแตกแยกก็จริง แต่ต้องนอนหันหลังให้กัน ย่อมไม่มีความสุข ควรควบคุมอารมณ์ ก่อนทำหรือพูดควรมีสติ และปัญญา ควรมีความสันโดษ หรือพอใจในสิ่ง ที่มีและได้

          อย่าเทียบฐานะกับคนที่เหนือกว่า ควรเทียบกับคนที่ด้อยกว่าแล้วชีวิตจะมีสุข ครอบครัวที่แสนสุข คือ อยู่ในศีลธรรมทางศาสนา มีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้การหย่าร้าง ควรนึกถึงลูกให้มาก ๆ

         ควรมอบความรักให้กับลูกให้มาก ๆ ยากนักที่ลูกจะได้รับความรักความอบอุ่นจากคนอื่น เทียบเท่า พ่อ-แม่ เด็กมักเป็นปัญหาแก่สังคม อย่าได้ทิ้งเวรกรรมไว้กับลูกเพราะเขายังอ่อนต่อโลกและชีวิตนัก



วิธีดับทุกข์ เพราะ ลูก

           ลูกคนใด เป็นลูกที่เชื่อฟัง ลูกคนนั้น นับว่าเป็นลูกที่ประเสริฐสุดกว่าลูกทั้งปวง ส่วนมากพ่อ-แม่ มักจะไม่สนใจคุณธรรมในตัวของลูกเลย ผลก็คือพ่อแม่ส่วนมากในยุคนี้ ต้องผิดหวังน้ำตาตก เป็นโรคประสาท ทั้งที่มีเงินทองเหลือล้น

           ทางที่ถูก ควรมุ่งปลูกฝังคุณธรรม หรือศีลธรรมในจิตใจของลูก เสียแต่ยังเล็ก ๆ เพราะเมื่อเด็กมีศีลธรรมหรือคุณธรรมในใจแล้ว ย่อมเป็นลูกที่มีกตัญญูกตเวทีต่อพ่อ-แม่และเชื่อฟังพ่อ-แม่ย่อมทำให้ในสิ่งที่ดีงาม นำความชื่นใจและปลื้มใจมาให้พ่อ-แม่

          สาเหตุประการหนึ่ง ที่ลูกไม่ให้ความเคารพหรือเชื่อฟังพ่อ-แม่ เกี่ยวกับการประพฤติตัวของพ่อ-แม่เอง

1. ไม่ให้ความรักความอบอุ่นกับลูก ถือว่ามีเงินให้ใช้ มีข้าวให้กินอิ่มท้องก็เป็นบุญแล้ว ลืมไปว่าคนเรามีทั้งกายและใจ การให้อาหารควรให้ครบทั้งกาย และใจ

2. ทำตัวอย่างที่ไม่ดี เช่น ติดเหล้า ติดการพนัน ติดผู้หญิง หากินทางผิดกฎหมาย หรือเอาเปรียบสังคม

3. ถืออารมณ์มากกว่าเหตุผล ใช้อารมณ์ ใช้อำนาจเข้าข่มก็จะเอาชนะได้แต่กาย แต่ไม่ได้ชนะจิตใจของลูกเลย

4. รักลูกตามอารมณ์ คือ ต้องการให้ลูกทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทำตามความพอใจของพ่อ-แม่แต่เพียงฝ่ายเดียว

5. เลี้ยงลูกให้ขี้เกียจ กลัวว่าลูกจะลำบากเลยทำให้หมด เลยกลายเป็น “ เลี้ยงลูกไม่ให้โต “ ไป

การเลี้ยงลูกที่ดี ควรใช้หลัก 4 ขั้น คือ

            แม่น้ำ( เอาน้ำเย็นเข้าปลอบ ) , ลูกยอ ( ใช้วิธียกย่องชมเชย ) , กอไผ่ ( การใช้เรียวไผ่หวดกัน เมื่อใช้ไม้นวมมาสองขั้นไม่สำเร็จ ก็ต้องเปลี่ยนมาใช้ไม้แข็งบ้าง ) , ใส่เตา ( คือคิดเสียว่าเขาได้ตายจากเราไปแล้ว )

          ถ้าเป็นลูกล้างลูกผลาญ ก็ขอให้จบกันเท่านี้ เขาจะขึ้นช้างลงม้า เข้าคุก ก็ปล่อยให้เป็นไปตามกรรมของเขาเถิด

ทางแก้

1. ความกตัญญูและกตเวที เป็นพื้นฐานของคนดี ควรอบรมและปลูกฝังก่อนสิ่งอื่นใดทั้งหมด ติดตามด้วยความขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน เสียสละ และมีระเบียบวินัย เป็นต้น

2. ควรเลี้ยงลูกด้วยเหตุผล อย่าเลี้ยงลูกด้วยอารมณ์ ตามใจในสิ่งที่ถูก ยกย่องเมื่อเขาทำดี ตำหนิหรือลงโทษเมื่อเขาทำผิด

3. หัดให้ลูกเป็นคนรับผิดชอบตัวเอง เช่น หน้าที่ การงาน การเงิน เป็นต้น

4. ควร เลี้ยงลูกให้โต อย่าพยายาม เลี้ยงลูกให้เตี้ย ลง เพราะไม่อาจตามเลี้ยงเขาได้ตลอดชั่วชีวิต

5. คำพูดที่ว่า จงทำตามฉันสอน แต่อย่าทำตามฉันทำ ไม่ควรนำมาใช้กับลูก พ่อ-แม่ควรเป็นแบบพิมพ์ที่ดี

6. อย่าห้าม ลูกไม่ให้ทำอะไร ถ้าสิ่งนั้นไม่ผิด หรือไม่เป็นอันตรายเพราะเด็กย่อมอยากรู้และอยากเห็นเป็นทุนอยู่แล้ว

7. ควรรักลูกด้วยพรหมวิหาร คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

8. ควรหาโอกาสพาลูกไปวัด ฟังเทศน์ ฟังธรรม ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ตามสมควร

9. อย่าลืมว่า เรามีหน้าที่เลี้ยงลูกให้ดีเท่านั้น ถ้าเขาไม่รักดีก็เป็นกรรมของเขาเอง ทุกคนไม่อาจฝืนกฎแห่งกรรมของตนได้



วิธีการดับทุกข์ เพราะ จน

            หัวใจเศรษฐี ที่พระพุทธเจ้าทรงประทานแก่ ทีฆชาณุ ที่เราเอามาย่อว่า อุ อา กะ สะ มีคำอธิบายโดยย่อ ดังนี้

            อุ ย่อมาจาก อุฎฐานสัมปทา คือ การถึงพร้อมด้วยความหมั่นเพียร ในการประกอบอาชีพที่สุจริต ว่ากันตรง ๆ ก็คือ การไม่เกียจคร้านนั่นเอง

           อา ย่อมาจาก อารักขสัมปทา คือ การถึงพร้อมด้วยการรักษา คือ รักษาทรัพย์ที่หามาได้ ด้วยความหมั่น ไม่ให้เป็นอันตรายหรือหมดไปในทางที่ไม่เป็นประโยชน์

            กะ ย่อมาจาก กัลยาณมิตตา คือ การมีเพื่อนเป็นคนดี ไม่คบคนชั่ว

           สะ ย่อมาจาก สมชีวิตา คือ การมีความเป็นอยู่ที่พอเหมาะพอดีได้แก่การเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ ไม่ให้ฝืดเคืองนัก และไม่ให้ฟูมฟายนัก

             หากศึกษาและเข้าใจความมุ่งหมาย และนำไปปฏิบัติให้จริงจังสม่ำเสมอ ย่อมไม่อดอยากยากจนแน่นอน ขอเพียงแต่ว่า “ อย่าเลือกงาน “ เท่านั้นเอง คำว่า “ ตกงาน “ ก็จะไม่มีเลย เมื่อเงินเดือน หรือ รายได้ประจำไม่พอใช้จริง ๆ ก็ควรหารายได้เพิ่มเติม เป็นประเภทงานอดิเรก มะเร็งร้ายในสังคมปัจจุบัน คือการใช้ของเงินผ่อน การประหยัดจึงเป็นสิ่งจำเป็น และปลูกฝังให้ลูก ๆ เกิดค่านิยมนี้ให้ได้

              จากการปฏิบัติตามพุทธวจนะ ด้วยการเว้นอบายมุขทุกชนิด ไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงไปเปล่า เราก็พอมีกินมีใช้ ไม่ต้องเป็นหนี้ใคร

               สิ่งที่ถือได้ว่า ร้ายที่สุด ในบรรดา “ ความจน “ ทั้งหลาย ก็คือ “ จนใจ “ หรือ “ จนความคิด “ อันเป็นเหตุให้ “ จนปัญญา “ ตามมาด้วย ดังนั้นจงควรหมั่น “ เคาะความคิด “ คือใช้ความคิดที่ว่า ที่เรายากจนหรือรายได้ไม่พอรายจ่ายนั้น เกิดจากอะไร คนที่มีรายได้เท่ากับว่าเขาจนอย่างเราทุกคนใช่ไหม ในโลกนี้มีงานต่าง ๆ จนนับไม่ถ้วน

              เราไม่สามารถเปลี่ยนงานหรือหารายได้พิเศษ จากงานเหล่านั้นบ้างเลยหรือ แต่ถ้าเราไม่ “ จนใจ “ เพียงอย่างเดียว ก็อาจสามารถที่จะสร้างงานขึ้นมาใหม่ ๆ ไม่ซ้ำกับคนอื่น หรืองานอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้วด้วย เริ่มต้นด้วย “ ความคิด ที่จะทำงานก่อน “ แล้ว งานมันจะมารอให้ทำเอง ..นั้นเอง



วิธีดับทุกข์ เพราะ บุญ

          ในปุญญกิริยาวัตถุสูตร (22/215) พระพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องการทำบุญไว้ 3 ประการคือ

1.บุญกิริยาวัตถุ สำเร็จด้วยทาน

2.บุญกิริยาวัตถุ สำเร็จด้วยศีล

3.บุญกิริยาวัตถุ สำเร็จด้วยภาวนา

ส่วนในอรรถกถา ท่านได้ขยายออกไปอีก 7 ประการ คือ

4.อปจายนมัย ( ทำบุญด้วยการ ประพฤติอ่อนน้อม )

5.เวยยาวัจจมัย ( ทำบุญด้วยการ ขวนขวายรับใช้ )

6.ปัตติทานมัย ( ทำบุญด้วยการ ให้ความดีแก่ผู้อื่น )

7.ปัตตานุโมทนามัย ( ทำบุญด้วยการ ยินดีบุญของผู้อื่น )

8.ธัมมัสสวนมัย ( ทำบุญด้วยการ ฟัง อ่านธรรมะ )

9.ธัมมเทสนานัย ( ทำบุญด้วยการ สั่งสอนธรรมะ )

10.ทิฎฐุชุกัมม์ ( ทำบุญด้วยการ ทำความเห็นให้ตรง )

              หลักการทำความดีในพุทธศาสนา ทั้งหมดมีอยู่ 3 พวก ใหญ่ ๆ คือ ทาน ศีล และภาวนา แม้จะขยายออกไปอีก 7 ข้อ ก็ไม่มีทาน คือ ไม่ต้องใช้วัตถุสิ่งของหรือเงินเลย

การรักษาศีล การเจริญภาวนา ทำที่ใดวันใดก็ได้ ถ้าเราตั้งใจจริงที่จะทำ

ทางแก้

1.หลักใหญ่ของคำสอนทางพุทธศาสนา มีอยู่ 3 ขั้น คือ ทาน ศีล ภาวนา ควรทำให้ครบทั้ง 3 ขั้น ไม่ควรย่ำอยู่กับที่ เพราะจะไม่ได้พอสิ่งสูงสุดในพุทธศาสนา

2.พุทธศาสนาให้อิสระเสรีในการทำความดี

3.การทำความดี หรือบุญ ควรทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ อย่าเห็นแก่หน้าหรือค่านิยม จะได้บุญแรง

4.ไม่ว่าจะอยู่บ้านหรือที่ทำงาน ถ้ารู้จักตัวบุญแล้ว จะทำบุญได้ทุกที่ทุกเวลา

5.บุญยอดบุญ คือ การทำให้จิตใจสงบแลเย็น ด้วยการเจริญสติสมาธิและวิปัสสนา



วิธีดับทุกข์ เพราะ ปมด้อย

         คำว่า “ ปมด้อย “ ในที่นี้ หมายถึงความรู้สึกที่ “ ด้อยกว่า “ คนอื่น ในหลาย ๆ อย่าง เช่น ฐานะ รูปร่าง ผิวพรรณ การศึกษา ชาติตระกูล และอาชีพ เป็นต้น

            บางอย่างเราทำได้ เช่น ฐานะ การศึกษา หรือคุณธรรมความดี ต่าง ๆ  บางอย่างเราทำเองไม่ได้ เราก็อย่าไปสนใจมัน เช่น ชาติตระกูล ผิวพรรณ หรือรูปร่าง เป็นต้น ความคิดทำให้เกิดปัญญา ( โยคา เว ชายเต ภูริ – ธรรมบท 25/44 )

             แต่อย่าคิดให้ฟุ้งซ่าน จนเกิดความวุ่นวายหรือเป็นทุกข์มันก็ไม่เกิดโทษแก่จิตใจตนแต่ประการใด ในทางกลับกัน คนที่ไม่มีความคิด ปัญญาก็ไม่เกิด เมื่อขาดปัญญาเพียงอย่างเดียว คนเราไม่อาจจะพัฒนาตนให้ดีขึ้นได้ไม่ว่าในรูปธรรมหรือนามธรรม

            ในทางพระ ถือว่าคนเราไม่อาจแข่งบุญหรือวาสนากันได้ เพราะเป็นเรื่องของอดีตแต่เราก็สามารถที่จะ แข่งกันทำความดีได้ และจะเป็นต้นเหตุให้บุญวาสนาในอนาคตของเราเทียบเท่าหรือเหนือคนอื่นได้อย่างไม่ต้องสงสัย ความจริงอีกอย่างหนึ่ง

             คนที่มีฐานะดี รูปร่างดี ผิวพรรณดี การศึกษาดี ตระกูลดี มียศศักดิ์ และอาชีพที่สูงส่งนั้น ใช่ว่าจะมีความสุขไปหมดทุกคน บางคนก็มีความทุกข์เช่นเดียวกัน หรือบางทีอาจจะมากกว่าคนจน เสียอีก ถ้ามองให้ลึก จะเห็นสัจจะของชีวิตที่ว่า สิ่งเหล่านี้ ( ยศถาบรรดาศักดิ์ ) ยิ่งมีมากเท่าไร จิตใจของเราก็ยิ่งจะห่างไกล จากความสงบสุขมากขึ้น

ทางแก้

1.ควรปรับความคิด ให้มีจิตสันโดษ สมถะ พอใจในสิ่งที่ตนมี

2.คนเราแม้เลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะทำความดีได้

3.ความสุขที่แท้จริงของคนเรา ไม่ใช่อยู่ที่ ฐานะ ตระกูล รูปร่าง ผิวพรรณ การศึกษา ยศศักดิ์ หรืออาชีพ แต่อยู่ที่จิตใจที่สงบเย็น

4.ในโลกนี้ คนเขามิได้นับถือหรือบูชากันที่รูปร่างหรือตระกูลแต่ เขานับถือกันที่คุณธรรมความดีต่าง ๆ

5.คนเราควรสนใจในคุณธรรมความดี มากกว่าจะมาสนใจ เรื่อง รูปร่าง ผิวพรรณ ยศถาบรรดาศักดิ์ต่าง ๆ



วิธีดับทุกข์ เพราะ ฝืนธรรมชาติ

           ธรรมชาติ คือ ของ ที่เกิดเอง และเป็นไปเองตามวิสัยของโลก เช่น สิ่งมีชีวิต และสิ่งไม่มีชีวิต ต่าง ๆ ภายในโลกนี้ มันเป็นธรรมดาที่เกิดขึ้นเอง และก็ต้องเสื่อมสลายลงไปเมื่อถึงเวลา

ธรรมชาติ แยกออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่มีจิตใจ และฝ่ายที่ไม่มีจิตใจ

           ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ ย่อมจะต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ แต่ก็ไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงได้ถ้าปฏิบัติให้ถูกต้องตาม กฎของธรรมชาติก็จะไม่ก่อให้เกิดความทุกข์ได้ ตรงกันข้ามสิ่งเหล่านี้ อาจก่อให้เกิดคุณแก่เรา อย่างสูงสุดจนถึงพระนิพพานได้

            ถ้ามีสติและปัญญาพอ เหตุที่เกิดความทุกข์ก็เพราะเราไม่เข้าใจ ในกฎธรรมชาติหรือชอบ “ ฝืนธรรมชาติ “ ฝ่ายที่มีจิตใจ ได้แก่ คน และ สัตว์

            เหตุที่เกิดทุกข์ก็คือ อยากได้ อยากกิน หรือความอยากนั่นเอง และ ความไม่อยาก ความไม่อยากให้เกิด ต่าง ๆ คือการฝืนหรือบังคับ ธรรมชาติไม่ให้เกิด เมื่อไม่รับผลตอบแทนตามที่อยาก หรือไม่อยาก ก็เลย ทำให้ สุขภาพจิตเสื่อม

ทางแก้

1.อย่าฝืนโลก อย่าแบกโลก ให้คิดเสียว่า “ อะไรจะเกิดมันก็เกิด อะไรจะดับมันก็ดับ “ ไปตามเหตุปัจจัยของมัน หน้าที่ของเราคือ “ ทำเหตุที่ดีและถูกต้อง “ เท่านั้นเป็นพอ

2.ธรรมชาติจะไม่โหดร้าย ถ้าเราปรับใจได้ถูกต้อง แถมจะได้รับบทเรียนที่ล้ำค่าจากธรรมชาติ เป็นของขวัญเสียอีกด้วย

3.ถ้าอยากให้ธรรมชาติ ตอบปัญหาอันเร้นลับ ก็จงตั้งปัญหาถามธรรมชาติดูเถิด แล้วธรรมชาติจะตอบคำถามเอง ถ้าท่านไม่มีเชื้อ “ ปทปรมะ “ อย่างหนาแน่น ท่านจะได้ยินเสียงธรรมชาติตอบปัญหาเอง



วิธีดับทุกข์ เพราะ กลัวตาย

           ตาย คือ การหมดลมหายใจ ร่างกายกับจิตใจ หรือรูปกับนามแยกออกจากกัน ที่เรียกว่า “ศพ” หรือ “ผี” ซึ่งมีชีวิต เมื่อมีการเกิดแล้วก็มีการตายเสมอกันหมด ไม่มีการยกเว้น ต่างแต่ว่าจะเร็วหรือช้ากว่ากันเท่านั้น การกลัวตาย นั้น เป็นธรรมดาของปุถุชน ที่หนาด้วยกิเลสและตัณหาที่ปรารถนาความสุขความเกลียดความทุกข์ จึงต้องกลัวตาย เพราะการตายหมายถึงความสูญสิ้นแล้วทุกสิ่งแม้แต่ร่างกายของตนเองก็ต้องสูญสลาย

           คนที่ไม่กลัวความตาย มี 3 พวก คือ พระอรหันต์ ผู้ไม่ประมาท และผู้มีกิเลสตัณหาจัด

          การกลัวตายเป็นสิ่งที่ดี ทำให้เกิดการแสวงหาที่พึ่งที่ดีกว่า ประเสริฐกว่า ถ้าทำความชั่วไว้ ความชั่วก็ต้องตอบสนอง ทำความดีไว้ ความดีก็ต้องสนอง ไม่มีใครหลบหลีกพ้น

         ผู้มีปัญญาจึงไม่ควรประมาท รีบสะสมและกอบโกยเอาแต่ความดี หลีกหนีความชั่ว เพราะความชั่วมีผลเป็นทุกข์ ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต การระลึกถึงความตายจึงมีประโยชน์ที่ช่วยเหนี่ยวรั้งไม่ให้คนเราทำความชั่ว และกลับตัวเป็นคนดี เพื่อจะได้พบกับความสุขที่แท้จริง คือสุขที่ไม่เบียดเบียน ทั้งตนเอง และผู้อื่น

ทางแก้

1. อย่าประมาท จงรีบทำความดีไว้มาก ๆ จะเกิดความ “ อุ่นใจ “ จะไปเมื่อไหร่ก็ได้ พร้อมอยู่แล้วสำหรับความตาย

2. หัด “ ตายเทียม “ คือ เมื่อเห็นคนตาย ก็ให้น้อมเข้ามาเทียบกับตัวเอง จะทำให้เกิดความเคยชิน ความกลัวในเรื่องความตายจะน้อยลง

3. พูดถึงความตายบ่อย ๆ ทำพินัยกรรมเตรียมไว้ บอกลาตายเตรียมไว้ ทำบุญอุทิศส่วนกุศลเตรียมไว้ให้ตนเอง บางคนถึงกับต่อโลงเตรียมไว้ก่อน

4. เลิกความเชื่อที่ว่า เมื่อพูดถึงเรื่องความตายบ่อย ๆ ก็จำทำให้เป็นลาง และตายเร็ว ๆ

5. เจริญมรณัสสติ เป็นวิธีที่ดีที่สุด คือ มีสติระลึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าลมหายใจออก

         ถ้าทำได้ถูกวิธีแล้ว โลภะ ราคะ โทสะ โมหะ หรือตัณหา มานะ ทิฐิ และอุปทาน มันจเบาบาง เหมือนกับหมดไปหรือไม่มีเป็นบางครั้ง



ธรรมะ ท่านอาจารย์ “ พุทธทาส อินทปัญโญ “ แห่งวัดป่าสวนโมกข์พลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี  ให้ไว้ วันที่ 22 พฤษภาคม 2531



จาก http://www.mukdahannews.com/e-dubtook.htm
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...