ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมะกับชีวิตประจำวัน : “กฎ” ที่ต้องจำให้ขึ้นใจ “โลกนี้ไม่มีสิ่งบังเอิญ”  (อ่าน 1083 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



ธรรมะกับชีวิตประจำวัน : “กฎ” ที่ต้องจำให้ขึ้นใจ “โลกนี้ไม่มีสิ่งบังเอิญ”

     “โลกไม่ใช่ลูกเต๋า จึงไม่จำเป็นต้องทอดหรือเขย่า
       เพื่อแทงเสี่ยงทายโดยการคาดเดา
       แล้วหวังว่ามันจะถูกตรงเผงด้วยความบังเอิญ
       แต่โลกมี “กฎ” อยู่ในตัวเอง ซึ่งเป็นเหตุ เป็นปัจจัย
       โยงใยชักนำให้ปรากฏการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น”

       
       คนที่อยากประสบความสำเร็จ แต่ไม่ยอมศึกษา ไม่ลงมือทำ ไม่ยอมสร้างเหตุปัจจัย หรือคนที่อยากมั่งคั่งร่ำรวยเป็นเศรษฐี แต่ไม่ยอมลงทุนทำธุรกิจ ไม่ลงมือทำอะไรสักอย่าง เอาแต่คิดหวัง สร้างภาพ ว่าความสำเร็จจะวิ่งเข้ามาหา เพราะเชื่อว่า เดี๋ยวความคิดนี้จะดึงดูดความสำเร็จเข้ามาให้
       
       เช่นนี้มันจะต่างอะไรกับคนที่อยากถูกหวย แต่ไม่ยอมลงทุนซื้อหวย อย่าไปหวังเลยว่า บังเอิญหวยรางวัลที่หนึ่ง หรือความสำเร็จนั้น มันจะถูกสายลมพัดปลิวมาให้
       
       พุทธศาสนาสอนให้เชื่อเรื่องเหตุและผล ให้เชื่อมั่นและศรัทธาในการกระทำของตัวเอง เพราะทุกอย่างล้วนมีเงื่อนไข มีเหตุปัจจัยในการเกิดขึ้น ถ้าเงื่อนไขตรง สิ่งนั้นย่อมเกิดขึ้น ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า
       
      “เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นจึงมี”
       
       อยากมั่งคั่ง ต้องรู้จักเสียสละ แบ่งปันออกไปเป็น “ทาน” เพื่อสร้างเหตุปัจจัยของความมั่งคั่ง
       
       อยากมีรูปร่างหน้าตาสวยงาม สมส่วนชวนมอง ต้องรู้จักรักษา “ศีล” มีเจตนาเป็นกุศล ปักธงไว้ที่การกระทำ แสดงออกมาแต่พฤติกรรมที่ดี คือ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เพื่อสร้างเหตุปัจจัยในการมีรูปร่างหน้าตาสมส่วน สวยงาม
       
       อยากมีความสุขสงบเย็น เป็นผู้รู้ ทรงภูมิปัญญา เป็นอัจฉริยะ เป็นพระอริยะ ต้อง “ภาวนา” ทำสมาธิ เจริญสติ ให้ต่อเนื่อง ด้วยความรัก ด้วยความสุขจากการปฏิบัติ และหมั่นศึกษาหาความรู้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างเหตุปัจจัยแห่งความสุขสงบสันติ ทรงภูมิปัญญา
       
       ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดขึ้นมาตามเหตุปัจจัยที่เราสร้าง มันเป็น “กฎ” เป็น “กุญแจ” หรือเป็น “เงื่อนไข” ของการเกิดขึ้นสำหรับทุกสรรพสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสำเร็จ เรื่องความมั่งคั่ง หรือเรื่องอะไรก็ตาม นักปราชญ์ท่านจึงกล่าวว่า “โลกนี้ไม่มีสิ่งบังเอิญ”
       
       การที่คนสองคนได้มาพบกัน ได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน นั่นเพราะทั้งคู่เคยสร้างเหตุปัจจัยในการได้มาพบกัน จึงทำให้ได้มาอยู่ร่วมกัน ดังที่คนโบราณท่านว่าไว้ “ทำบุญร่วมชาติ ตักบาตรร่วมขัน” อะไรทำนองนี้
       
       ในทางกลับกัน ถ้ามิได้เคยสร้างเหตุปัจจัย อันเป็นเงื่อนไขในการได้อยู่ร่วมกันมาก่อน ต่อให้พลิกแผ่นดินตามหา หรือพยายามแค่ไหน ที่จะค้นหาใครบางคน ให้มาใช้ชีวิตร่วมกัน ก็เหมือนกับฝันกลางวัน ที่ได้แต่ฝัน แต่ไม่อาจเป็นจริงขึ้นมา เพราะไม่มีเหตุปัจจัยหรือเงื่อนไขของการได้มาอยู่ร่วมกันเป็นคู่บุญ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า
       
      “เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนั้นจึงดับ”
       
      ดับ ก็คือ สูญ หรือไม่มี ไม่เกิดขึ้นเพราะหตุปัจจัยไม่มี สิ่งต่างๆ จึงไม่อาจเกิดขึ้น นี่คือกฎแห่งการอิงอาศัยกันเกิดขึ้น ภาษาธรรมะเรียกว่า “ปฏิจจสมุปบาท” ซึ่งอธิบายได้ด้วยนิทานธรรมชวนอ่าน เรื่องต่อไปนี้


       
       ครั้งหนึ่ง หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ แห่งหมู่บ้านพลัม ถามลูกศิษย์ขณะที่กำลังยกแก้วชาขึ้นดื่มว่า
       
      “เวลาดื่มชา เห็นก้อนเมฆไหม?”
       
       ที่จริงนั้น หากลองจินตนาการตามคำของหลวงปู่ไปเรื่อยๆ แล้วจะรู้ว่ามันยังมีอะไรอื่น ที่ลึกซึ้งกว่าแค่ก้อนเมฆในแก้วชาเป็นไหนๆ
       
       เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นที่ภูเขาลูกหนึ่งในภาคเหนือ ฝนตกกระหน่ำลงมาบนไร่ชาที่ยอดเขา ทำให้ต้นชาชุ่มฉ่ำเพราะได้น้ำฝนในตอนกลางคืน ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่เกื้อหนุนกันเองโดยธรรมชาติ ฝนตก ดินดำ น้ำชุ่ม ต้นไม้เติบโต ผลิตออกซิเจน ผู้คนก็ได้สูดอากาศบริสุทธิ์
       
       พอรุ่งเช้า ฝนหยุดตก คนงานในไร่ชาก็แบกตะกร้าใส่หลังออกมาเก็บยอดชาอ่อนๆ แต่เช้าตรู่ เพื่อนำไปบ่มในโรงงาน
       
       เก็บชาเสร็จ พ่อค้าคนกลางก็มารับใบชาสดไปเข้าโรงงานบ่ม เมื่อบ่มเสร็จ คนงานอีกชุดก็บรรจุใส่กล่อง แล้วคนขับรถก็นำกล่องชาไปส่งที่ร้านค้าในเมือง ตามห้าง หรือในตลาด
       
       จากนั้นพระภิกษุนิกายเซนรูปหนึ่งก็ไปซื้อมา เพื่อนำกลับมาไว้เลี้ยงต้อนรับแขกที่มาเยือน เมื่อกลับถึงวัด ท่านก็จัดแจงต้มน้ำเพื่อชงชา แล้วก็นึกถึงว่า
       
       “น้ำนี้เดินทางมาจากแม่น้ำ ก่อนจะมาให้เราดื่ม และก่อนที่จะอยู่ในแม่น้ำ ก็ต้องเป็นน้ำฝน ก่อนเป็นน้ำฝนก็คือก้อนเมฆ แต่ก้อนเมฆก็มีการเดินทาง ก่อนที่จะกลายเป็นน้ำเข้ามาอยู่ในแก้วชาของเรา ดังนั้น ทุกครั้งที่ดื่มชา หากพิจารณาอย่างลึกซึ้ง เราก็จะเห็นก้อนเมฆในนั้นทุกครั้ง”
       
       ทันใดนั้น...ความลึกซึ้งดื่มด่ำในการเห็นก้อนเมฆในแก้วชา ที่เชื่อมโยงเหตุปัจจัยต่างๆ เข้าด้วยกันของท่านก็ต้องยุติลง เมื่อศาสตราจารย์ชาวตะวันตกท่านหนึ่ง เข้ามาขอพบ เขาสนใจใคร่รู้ในหลักธรรมเกี่ยวกับเรื่องปฏิจจสมุปบาท แต่ทว่าในหัวของเขาอัดแน่นไปด้วยทฤษฎีแบบตะวันตก ทำให้การสนทนาธรรม กลายเป็นสงครามแห่งการโต้แย้ง ศาสตราจารย์อ้างเหตุผลที่ตนรู้ไปต่างๆนานา สารพัด
       
       ในที่สุดพระเซนก็คิดได้ จึงคว้ากาน้ำชามารินใส่ถ้วย ท่านรินชาไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะเต็มจนล้นออกมานอกถ้วย ก็ยังไม่ยอมหยุด ศาสตราจารย์เห็นดังนั้นจึงทนไม่ไหว ทักขึ้นว่า “เดี๋ยวๆ พระคุณเจ้า หยุดรินได้แล้ว ไม่เห็นหรือไง ชามันล้นถ้วยแล้ว”
       
       พระเซนเงยหน้าขึ้นสบตา พร้อมเอ่ยด้วยรอยยิ้ม “ท่านเองก็เช่นกัน ในหัวของท่านเปี่ยมล้นไปด้วยทฤษฎีวิชาการ แบบนี้อาตมาคงรินชา คือ หลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ให้ท่านไม่ได้แน่ๆ”
       
       …..
       
       พระพุทธเจ้ามิได้มุ่งเน้นที่การศึกษาหลักธรรมเพียงอย่างเดียว โดยปราศจากการปฏิบัติตามด้วยความเพียร เพราะทั้งสองอย่างนี้ต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกัน จึงจะบันดาลให้ผลสัมฤทธิ์เกิดขึ้น โดยที่ความเพียร หรือวิริยะ จักเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อน
       
       ที่อเมริกามีงานวิจัยทำการทดลอง โดยการตั้งโจทย์คำถามที่แสนท้าทายว่า “ใครจะประสบความสำเร็จและทำไม?”
       
       คณะทีมวิจัยไปที่วิทยาลัยทหารเวสท์พอยท์ พยายามที่จะพยากรณ์ว่านายร้อยคนใดจะยังอยู่ฝึกต่อ และใครจะลาออก นอกจากนี้ ยังไปเยือนเวทีการแข่งขันสะกดคำแห่งชาติ อีกทั้งยังทำการศึกษาคุณครูมือใหม่ และได้ร่วมมือกับบริษัทเอกชน ด้วยคำถามในทำนองเดียวกันนี้ว่า “เซลส์คนไหนจะยังคงรักษางานไว้ได้ และใครจะเป็นผู้ที่ทำรายได้สูงสุด”
       
       จากบริบทที่แตกต่างกันทั้งหมดนี้ พบว่า มีคุณสมบัติหนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมา ซึ่งจะช่วยพยากรณ์ความสำเร็จได้ชัดเจนมาก ซึ่งมันไม่ใช่ความฉลาดในการเข้าสังคม ไม่ใช่รูปลักษณ์ที่ดูดี ไม่ใช่ความแข็งแรงของสุขภาพ และก็ไม่ใช่ไอคิว แต่มันคือ “ความเพียร”
       
       โลกนี้ไม่มีสิ่งบังเอิญ ดังนั้น ถ้าอยากถูกหวย อันดับแรกสุด ก็ต้องลงทุนซื้อหวย เพื่อสร้างเหตุปัจจัยให้ตรงก่อน เช่นเดียวกับคนที่อยากประสบความสำเร็จ อยากมั่งคั่ง ต้องไม่ใช่เอาแต่นั่งงอมืองอเท้า แล้วคิดสร้างภาพ มโนว่าตนใช้กฎแห่งแรงดึงดูดเพียงอย่างเดียวแล้วมันจะสำเร็จ
       
       ทางที่ถูก หันมาใช้กฎที่พระพุทธเจ้าค้นพบดีกว่า นั่นคือกฎแห่งการอิงอาศัยกันเกิดขึ้น ด้วยการสร้างเหตุปัจจัย และเหตุปัจจัยแห่งความสำเร็จก็คือ ศึกษา และลงมือทำ ภาษาพระเรียกว่า “ปัญญา” และ “ความเพียร”
       
       (จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 190 ตุลาคม 2559 โดย ทาสโพธิญาณ)

จาก http://astv.mobi/ALGECk4
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...