ผู้เขียน หัวข้อ: "ชุมชนบ้านบาตร" หนึ่งหัตถศิลป์ที่ยังมีชีวิตแห่งเมืองกรุง  (อ่าน 1939 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด

คุณลุงกำลังเชื่อมประสานรอยตะเข็บบาตร

"ชุมชนบ้านบาตร" หนึ่งหัตถศิลป์ที่ยังมีชีวิตแห่งเมืองกรุง

    ในเมืองหลวงของเรานั้น ชื่อของชุมชนหลายๆ แห่งล้วนบ่งบอกถึงอาชีพของคนในชุมชนนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้านบุ บ้านช่างหล่อ บ้านพานถม บ้านตีทอง ฯลฯ ถึงแม้ว่าชื่อชุมชนเหล่านั้น คนในชุมชนจะห่างหายจากการประกอบอาชีพไปก็ตาม แต่ชุมชน "บ้านบาตร" ก็ยังเป็นชุมชนแห่งหนึ่งที่ยังคงมีการอนุรักษ์สืบทอดอาชีพตามชื่อชุมชนอยู่ แม้ในตอนนี้จะเหลือผู้ประกอบอาชีพการทำบาตรอยู่เพียงไม่กี่ราย ฉันจึงขอเดินเยี่ยมชมสัมผัสคุณค่าและลมหายใจของชุมชนที่ยังมีวิถีชีวิตที่บ้านบาตรนี้สักหน่อย
       
     “บ้านบาตร” ชื่อชุมชนบ้านบาตรนั้นมีความเป็นมาตั้งแต่เมื่อการย้ายราชธานีมายังกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ได้มีการกวาดต้อนประชาชนลงมาตั้งถิ่นฐานที่ราชธานีใหม่ ผู้คนในชุมชนเดิมๆ ที่ถูกต้อนก็ยังคงเกาะกลุ่มกันประกอบอาชีพแบบเดิมที่เคยทำมากันในอดีต รวมไปถึงชุมชนบ้านบาตรนี้ก็เช่นกัน



ป้ากฤษณา แสงไชย เจ้าของร้านหัตถกรรมไทยโบราณประจำชุมชนบ้านบาตร

ชุมชนบ้านบาตรนั้นตั้งอยู่ใกล้กับประตูผี บนถนนบริพัตร ไม่ไกลจากวัดสระเกศฯ หากเดินเข้ามาในชุมชนช่วงกลางวันก็จะได้ยินเสียงตีเหล็กดังแว่วๆ มาแต่ไกลให้ได้ยิน โดยฉันได้พูดคุยกับ ป้ากฤษณา แสงไชย เจ้าของร้านหัตถกรรมไทยโบราณประจำชุมชนบ้านบาตร ได้อธิบายหลักการทำบาตรให้ได้ฟังว่า บาตรนั้นไม่ได้มีความสำคัญเพียงแค่เป็นภาชนะใส่อาหารของพระภิกษุสงฆ์เท่านั้น ยังนับเป็นหนึ่งในเครื่องอัฐบริขาร หรือเครื่องใช้สอยที่จำเป็นของสงฆ์ และในพระวินัยยังบอกไว้ว่าพระสงฆ์จะสามารถใช้บาตรดิน และบาตรเหล็กได้เท่านั้น


รูปทรงบาตรแต่ละขั้นตอนการทำ

ส่วนบาตรที่ห้ามใช้คือบาตรทอง เงิน แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ แก้วผลึก แก้วหุงทองแดง ทองเหลือง ดีบุก สังกะสี และบาตรไม้ แต่ในปัจจุบันนี้ก็มีบาตรแสตนเลสใช้กันบ้างตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป และพระสงฆ์ที่เคร่งมากๆ บางรูปก็จะใช้บาตรที่ทำด้วยมือ ซึ่งมีตะเข็บ 8 ชิ้นด้วยกัน ซึ่งหากเป็นบาตรปั๊มที่ทำจากโรงงานก็จะไม่มีตะเข็บเลย ดังนั้นพระสงฆ์ที่ต้องการบาตรทำมือที่มีตะเข็บจึงต้องมาสั่งทำที่บ้านบาตรนี้
       
       เพราะว่าบาตรของที่นี่นั้นจะตีขึ้นอย่างถูกต้องตามพระวินัยกำหนด คือ ประกอบด้วยโลหะ 8 ชิ้น มีโครงบาตร 1 ฝาข้าง 2 หน้าวัว 4 และขอบบาตร 1 เชื่อมรอยต่อด้วยเหล็กหรือทองแดง แล้วนำไปตีขึ้นรูปทรงกลม แต่ พอตีจนได้รูปทรงตามต้องการแล้ว จึงนำบาตรมารมดำด้วยการเผาไฟ



เสียงทุบบาตรดังกังวานทั่วตรอก

ป้ากฤษณา เล่าให้ฟังถึงขั้นตอนการทำบาตรให้ฟังว่า ขั้นตอนแรกต้องเริ่มจากการทำขอบบาตรก่อน ขอบบาตรจะเป็นตัวกำหนดว่าบาตรนี้จะมีขนาดและรูปทรงเป็นอย่างไร จากนั้นจึงทำตัวบาตรโดยใช้แผ่นเหล็กรูปกากบาทมาดัดโค้งขึ้นเป็นโครงบาตร และนำไปประกอบกับแผ่นเหล็กชิ้นเล็กๆ อีก 4 ชิ้น ที่เรียกว่า "หน้าวัว" หรือ "กลีบบัว" ซึ่งเมื่อประกอบกันแล้วจะได้บาตรที่มีตะเข็บ 8 ชิ้นพอดี


ตะไบบาตรให้รูปทรงเรียบร้อย

  จากขั้นตอนการประกอบบาตร ก็มาถึงขั้นประสานรอยตะเข็บด้วยการเป่าแล่น ซึ่งวิธีในสมัยโบราณจะใช้ผงทองแดงและน้ำประสานทองประสานรอยต่อ แต่ในปัจจุบันใช้ความร้อนเพื่อทำให้เหล็กประสานกัน เรียบร้อยแล้วนำบาตรไปเผาให้เนื้อเหล็กประสานกัน เรียกว่า "แล่นบาตร" ก่อนที่จะนำมาตีบนกะล่อน หรือท่อนเหล็กที่มีหัวกลมมนเพื่อยุบมุมยุบเหลี่ยม รวมทั้งตีให้รอยตะเข็บที่ยังขรุขระนั้นเรียบเสมอกัน แค่นั้นยังไม่เสร็จต้องนำไป "ตีลาย" บนทั่งไม้เพื่อให้ได้รูปทรง แล้วยังต้องนำไปเจียรและตะไบให้เรียบร้อยเป็นขั้นสุดท้าย แต่ยังไม่ท้ายสุด เพราะต้องเอาบาตรไปบ่มหรือรมควันเพื่อไม่ให้ขึ้นสนิม และทำให้เกิดเป็นสีสันต่างๆ


การทำบาตรเป็นวิถีของชุมชนมาแต่ดั้งเดิม

ฟังดูแล้ววิธีการทำหลายขั้นหลายตอนไม่ใช่ง่ายๆ บาตรลูกหนึ่งนั้นต้องใช้เวลาราวประมาณอาทิตย์หนึ่งถึงจะเสร็จ แต่ก็ไม่ได้ทำเองทุกขั้นตอน เพราะในแต่ละส่วนของการทำบาตรก็จะจ้างให้คนในชุมชนที่ถนัดในการทำบาตรส่วนไหนก็จะเป็นคนทำแทนเพื่อให้ได้บาตรที่มีคุณภาพ
       
       นั่นทำให้ฉันสังเกตเห็นตลอดทางเดินเข้ามาในตรอกบ้านบาตร จะมีอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการตีบาตรตั้งอยุ่ตามบ้านนั้น นั่นก็คือ กะล่อน ลักษณะเป็นเสาเหล็กฝังลงในดิน ปักหัวหมุดเหล็กทรงกลมไว้รองรับก้นบาตรเวลาตี เหมือนเป็นสัญลักษณ์ว่าชุมชนแห่งนี้ตีบาตรกันจริงๆ



ตีลาย เพื่อให้ได้รูปทรง

ในกรุงเทพ จึงไม่มีที่ไหนที่จะเป็นสุดยอดของการทำบาตรเท่ากับที่ชุมชนบ้านบาตรแห่งนี้อีกแล้ว แต่บาตรพระที่ทำด้วยมืออย่างประณีตในวันนี้กลับถูกบาตรปั๊มจากโรงงานที่ผลิตได้มาก รวดเร็ว และราคาถูกกว่าแย่งตลาดไป จึงทำให้หัตถกรรมทำบาตรพระในชุมชนลดลงเหลือเพียงแค่เป็นของที่ระลึก และรับทำตามจำนวนที่มีผู้มาสั่งเท่านั้น


บาตรที่กำลังถูกเผา


คุณป้ามีหน้าที่ในการเผาบาตร

แต่บาตรของชุมชนบ้านบาตรก็ยังถือเป็นสินค้าคุณภาพ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปเข้าหูนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่ง ที่นี่จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเข้ามาชมบ่อย และก็มักจะซื้อบาตรพระขนาดเล็กๆ ติดไม้ติดมือไปเป็นของที่ระลึก แต่ก็น่าแปลกใจว่า ชาวต่างชาติบางคนก็เลือกเป็น โดยการลูบดูตะเข็บข้างในก้นบาตรว่าเรียบหรือขรุขระอย่างไรบ้าง บางคนก็ใช้วิธีใช้ไม้เคาะฟังเสียง เพราะบาตรทำมือนี้เมื่อเคาะแล้วจะมีเสียงกังวานเหมือนเสียงระฆัง บาตรแต่ละลูกก็จะมีเสียงไพเราะไม่เหมือนกัน บางคนก็เคาะดูว่าบาตรลูกไหนให้เสียงเพราะที่สุด แล้วก็ซื้อใบนั้นไป


เผาบาตรเพื่อให้เนื้อเหล็กประสานกัน

แม้ชุมชนบ้านบาตรในวันนี้จะยังเหลือครอบครัวที่ทำบาตรไม่กี่รายเท่านั้น แต่เสียงตีบาตรก็ยังคงดังกังวานอยู่ในชุมชน ทำให้ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมายังรู้สึกว่า ชุมชนบ้านบาตรนี้เป็นชุมชนที่มีชีวิตอยู่ มิได้เหลือแต่เพียงชื่อเหมือนกับชุมชนอื่นๆ อีกหลายๆ แห่งในเมืองหลวงแห่งนี้


บาตรที่ขายเป็นที่ระลึกของชุมชน

      ชุมชนบ้านบาตร กลุ่มอนุรักษ์ไทยและภูมิปัญญาไทย(ชุมชนบ้านบาตร) ตั้งอยู่ ซอยบ้านบาตร ถนนบำรุงเมือง แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ โทร.08-6104-9639 ,09-9224-7864
       
        การเดินทาง ไปยังชุมชนบ้านบาตร จากเสาชิงช้าเดินไปตามถนนบำรุงเมืองมุ่งหน้าไปทางแยกสำราญราษฎร์ เมื่อข้ามสะพานสมมติอมรมารคให้เลี้ยวขวาเข้าไปในถนนบริพัตร เดินไปประมาณเกือบกลางซอยจะเห็นซอยบ้านบาตรอยู่ทางซ้ายมือ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการมาชมอยู่ที่เวลา11.00-15.00 เนื่องจากชาวชุมชนจะกำลังทำบาตรกันพอดี



จาก http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9590000098494
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...