ผู้เขียน หัวข้อ: ดอกบัวหมื่นดอก บานในดวงจิต ( ท่านธรรมาจารย์ เจิ้งเหยียน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิฉือจี )  (อ่าน 2412 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


 สุดสัปดาห์ที่แล้วอ.รัศมี กฤษณมิศ จากภาควิชาภาษาสเปน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นญาติธรรมจากสันติอโศก และเป็นพันธมิตรฯ ที่เหนียวแน่นจากองทัพธรรมคนหนึ่ง พาไปพบกับ “โลกของฉือจี้” ที่เมืองฮวาเหลียน ซึ่งอยู่ทางภาคอีสานของเกาะไต้หวัน
       
          โชคดีเป็นของพวกเรา...ได้พบกับท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน เจ้าของรางวัลแมกไซไซ พ.ศ. 2534 วัย 74 ปี ผู้ก่อตั้งมูลนิธิฉือจี้มา 40 กว่าปีแล้ว ขณะที่กำลังจะออกเดินทางพาลูกศิษย์ไปช่วยประชาชนนับแสนคนทางภาคใต้ของไต้หวัน ผู้กำลังประสบกับมรสุมชีวิตจากเหตุ “มรสุมมรกต”
       
          นี่เป็นภารกิจของท่านธรรมาจารย์ และชาวฉือจี้กว่า 10 ล้านคนทั่วโลกที่ยึดถือเรื่องการช่วยเหลือผู้อื่นคือกุศลกิจ และถือเป็นเรื่องปกติสำหรับคนเหล่านี้ ที่พร้อมตระเวนออกไปช่วยคนผู้ตกทุกข์ได้ยากทั้งในไต้หวันและทั่วโลกอยู่เสมอๆ ด้วยรอยยิ้ม และเรื่องปกติเหล่านี้นี่เองที่ “คนฉือจี้” เรียกว่า “เมตตา”
       
          มูลนิธิฉือจี้เกิดขึ้นด้วย “ความรักอันยิ่งใหญ่” ที่มนุษย์พึงมีให้กับมนุษย์ด้วยกันใน พ.ศ. 2509 โดยเริ่มต้นที่หัวใจใสสะอาดบริสุทธิ์ของสุภาพสตรีผอมบางผู้แน่วแน่ภายใต้เสื้อคลุม “ภิกษุณี” ร่วมกับแม่บ้านแห่งเมืองฮวาเหลียน 30 คน และเงินทุนก้อนแรกที่ออมมาจากค่ากับข้าวในแต่ละวัน วันละ 50 เซ็นต์ โดยการหยอดใส่กระบอกไม้ไผ่
       
          ภารกิจของมูลนิธิฉือจี้เริ่มด้วยการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่อ่อนแอ เจ็บป่วยและยากไร้ให้พ้นทุกข์ จากนั้นก็พยุงเขาให้ลุกขึ้นยืนได้ใหม่อย่างเข้มแข็ง ด้วยอ้อมกอดแห่งรักที่เปี่ยมไปด้วยความซื่อสัตย์ จริงใจ เป็นการช่วยเหลือที่ไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ และทำด้วยหัวใจยืดมั่นพรหมวิหาร 4 “เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา”
       
          เวลานี้สำนักพุทธฉือจี้ จึงยิ่งใหญ่เป็น 1 ใน 4 ศูนย์กลางแห่งจิตวิญญาณที่เข้มแข็งของไต้หวัน
       
          ว่ากันว่า 1 ใน 4 ของคนไต้หวันจะเป็นคนฉือจี้ และนักเรียนมัธยมปลายระดับหัวกะทิ 3 ใน 5 คนที่เข้ามหาวิทยาลัยชื่อดังได้มาจากครอบครัวฉือจี้ รวมถึงนักธุรกิจใหญ่ผู้กุมเส้นเลือดของไต้หวัน 6 ใน 10 คนเป็นสมาชิกฉือจี้ด้วย
       
          “ฉือจี้” แปลว่า เมตตา กำเนิดมาจากสุภาพสตรีใจบุญจากชนชั้นกลางนางหนึ่ง นาม ชิงหยุน ในวัย 25 ปี ที่ตัดสินใจออกบวชเพื่อตามหาความจริงแท้ และหนทางดับทุกข์ ภายหลังบิดาบุญธรรมเสียชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บ และตั้งปณิธานจะสร้างสังคมสงบเข้มแข็ง ด้วยการสอนให้คนช่วยคนโดยไม่หวังผลตอบแทน
       
          ท่ามกลางอดีตของไต้หวันที่ยังจนยาก ภิกษุณีเจิ้งเหยียนจึงกำหนดจิตใจแน่วแน่ว่า “วันใดไม่ทำงาน วันนั้นไม่กินข้าว”...งานของท่านในวันนั้นเริ่มด้วยการเยี่ยมเยียนผู้คนตามบ้าน และให้ความช่วยเหลือไม่เลือกหน้า เป็นภิกษุณีที่ไม่รับประกอบพิธีกรรม ไม่รบกวนอาหารจากชาวบ้าน แต่ปลูกผักกินเองพร้อมแจกจ่าย และเย็บรองเท้าเด็กอ่อนขาย เพื่อหารายได้จากคนมีไปช่วยคนขาดแคลนให้พ้นทุกข์
       
          แต่แล้ววันหนึ่งชีวิตภิกษุณีรูปนี้ก็เปลี่ยน เมื่อได้พบกับแม่ชี 3 คนจากสำนักคาทอลิกแห่งหนึ่ง การพูดคุยครั้งนั้นเพิ่มพูนแนวคิด และเปลี่ยนโฉมหน้าสมณารามเล็กๆ ของท่านอย่างสิ้นเชิง
       
          วันนั้นหัวใจแน่วแน่ของภิกษุณีท่านนี้บอกกับร่างกายของตนเอง และเหล่าสานุศิษย์ว่า การทำงานหนักตลอดชีวิตเพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้ยากไร้ให้พ้นทุกข์กำลังเริ่มต้นแล้ว ด้วยการประกาศ “ลงมือทำเดี๋ยวนี้เลย” กับการก่อตั้งมูลนิธิฉือจี้ ที่มีแนวร่วมรุ่นแรกเป็นแม่บ้านในตลาดเมืองฮวาเหลียน 30 คน ซึ่งเห็นดีเห็นงามกับงานบุญใหญ่ จนเป็นที่มาของคำขวัญว่า
       
          “ออมเงินวันละ 50 เซ็นต์จากตะกร้ากับข้าวเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้”
       
          ด้วยทุนก้อนน้อยกับใจที่ยิ่งใหญ่ ธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนเดินหน้าพาแม่บ้านกลุ่มนี้เดินเท้าออกเยี่ยมเยียนผู้คนตามบ้านเรือนทั่วทุกหนแห่งทุกวันไม่หยุดหย่อน เริ่มที่เมืองฮวาเหลียนและเรื่อยไปไม่สิ้นสุด
       
          ที่ไหนมีคนอดอยากจะได้รับอาหาร ที่ไหนขาดแคลนเครื่องนุ่งห่มจะตัดเย็บเอามาให้ คนไหนมีที่พักสกปรกโกโรโกโสจะช่วยกันชะล้างและซ่อมแซม ใครเจ็บไข้ได้ป่วยจะช่วยกันพยุงรักษา และถ้าใครขืนร่างกายไปไม่ไหว เขาจะได้รับธรรมะบริสุทธิ์จนลมหายใจสุดท้ายหลุดลอย
       
          กุศลกิจของท่านธรรมาจารย์ และเหล่าแม่บ้านแห่งฮวาเหลียนจึงเลื่องลือปากต่อปาก ชั่วเวลาไม่นานนักขบวนบุญของท่านธรรมาจารย์ก็ยาวขึ้น และกองทุนในมูลนิธิฉือจี้ก็ใหญ่ขึ้น แต่สมณารามท่านก็ยังคงยืนหยัดหาเลี้ยงตัวเองด้วยความสงบ สมถะไม่รบกวนประชาชนเช่นเดิม
       
          วันนั้นเมืองฮวาเหลียนที่เคยเงียบสงัดจึงพลุกพล่านไปด้วยผู้คนทั้งหญิง-ชายที่หลั่งไหลมาทั่วทั้งไต้หวัน พวกเขามาสนทนาธรรมและร่วมขบวนบุญกับธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนที่สมณารามจิ้งซือ บางคนมาช่วยปลูกผักปลูกพืชกับภิกษุณีเพื่อใช้บริโภค และ แจกจ่ายคนจน ขณะที่บางส่วนพากันไปเก็บด้ายเหลือทิ้งจากโรงงานมาถักเป็นเสื้อกันหนาว –รองเท้าเด็กอ่อน-เย็บถุงสำหรับอาหารสัตว์-ทำเทียนไข-โม่แป้ง เพื่อนำออกขายเป็นรายได้ช่วยสมณารามให้ยืนหยัดสง่างาม และช่วยเหลือคนยากไร้ตามเจตนาคติของท่านธรรมาจารย์
       
          คนเหล่านี้ปวารณาตัวถือศีล กินมังสวิรัติ และช่วยคนทุกข์ในนาม อาสาสมัครฉือจี้
       
          แต่แล้วรอยเท้านักบุญของท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนก็ถึงคราวสะดุดกับ “กองเลือดกองหนึ่ง” ในโรงพยาบาลฮวาเหลียนที่จอแจด้วยคนเจ็บ เลือดกองนี้มาจากหญิงชาวเขาครรภ์แก่ใกล้คลอด ที่เดินทางมาไกลและถูกปฏิเสธการรักษา เพียงเพราะไม่มีเงินประกันล่วงหน้า ด้วยเลือดกองเดียวแต่สร้างความปวดร้าวหัวใจแก่ธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนยิ่งนัก จึงได้กำหนดปณิธานขึ้นว่า “จะต้องสร้างโรงพยาบาลเพื่อช่วยชีวิตคนเจ็บป่วยทุกคนให้จงได้”
       
          ท่านธรรมาจารย์จึงเริ่มป่าวประกาศระดมทุนจากลูกศิษย์ทุกชนชั้นทั่วไต้หวัน คนละเล็กละน้อยค่อยๆ สะสม ในที่สุดกองบุญเพื่อโรงพยาบาลก็แล้วเสร็จในเวลา 6 ปี
       
          มูลนิธิฉือจี้ได้ก่อสร้างโรงพยาบาลฉือจี้แห่งแรกในเมืองฮวาเหลียนโดยไม่หวังผลกำไร ด้วยแรงบุญของทุกคนทำให้โรงพยาบาลฉือจี้เติบใหญ่ ทันสมัย ครอบคลุมทุกด้าน ปัจจุบันมีกระทั่งศูนย์มะเร็ง และศูนย์ไขกระดูกที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก
       
          เวลานี้โรงพยาบาลฉือจี้ขยายออกไป 6 แห่งทั่วไต้หวัน และผลิตบุคลากรขึ้นมาเอง ด้วยการเปิดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และการพยาบาลฉือจี้ที่โด่งดังในฐานะแหล่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานและเปี่ยมคุณธรรม
       
          เมื่อมูลนิธิฉือจี้เติบใหญ่ขึ้น ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนจึงประกาศภารกิจฉือจี้ 4 ประการแก่เหล่าสานุศิษย์ คือ ทำการกุศลช่วยเหลือผู้อื่น รักษาพยาบาล ให้การศึกษา และสร้างเสริมวัฒนธรรมดีงาม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของมนุษย์เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
       
          ภายใต้กองทัพอาสาสมัครฉือจี้นับล้านๆ คนที่มีสมณารามจิ้งซือเป็นศูนย์กลางจิตวิญญาณกับธงธรรมสัญลักษณ์เรือสำเภากลางดอกบัวบานที่โบกสะบัดรอคอยการเดินทางเพื่อหยิบยื่นความช่วยเหลือผู้คนอยู่ ณ ศาลาประชาคมจิ้งซือ กลางเมืองฮวาเหลียน ที่อยู่ห่างจากไทเปไป 500 กว่ากิโลเมตร
       
          ทุกๆ ปีสมาชิกฉือจี้จะนัดหมายกันมาสวดมนต์ภาวนาและฟังธรรมะดีๆ จากท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนยังศาลาประชาคมแห่งนี้ ซึ่งธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนจะเน้นย้ำให้คนฉือจี้ทุกคนทำบุญด้วยการช่วยคนยากไร้อย่างเร่งรีบแข่งกับเวลาที่เพิ่มพูนคนทุกข์ไปทั่วโลก
       
          อาสาสมัครฉือจี้จึงมีทั่วทุกหนแห่งในโลกใบนี้ และชีวิตปกติของพวกเขาจะเปลี่ยนไปทันทีเมื่อสวมเครื่องแบบ “ฉือจี้” ออกไปค้นหาผู้ระทมทุกข์ และยื่นมือไปช่วยปัดเป่า โดยไม่เลือกชนชั้นวรรณะหรือผิวสี คนฉือจี้จึงแตกตัวออกไปเรื่อยๆ สร้างสมาชิกกลุ่มดอกบัวบานที่พร้อมช่วยเหลือกันและกันอย่างไม่ลังเล
       
          บัดนี้ปณิธานของท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน ก่อกำเนิดเครือข่ายคนทำดีมากกว่า 10 ล้านคนแล้ว ช่วงเวลา 40 ปีก็มีสำนักงานฉือจี้ทั่วโลก มีโรงพยาบาลชั้นดีเยี่ยม-มีมหาวิทยาลัยฉือจี้ที่มีการเรียน การสอนครอบคลุมทุกสาขา-มีโรงเรียนประถมและมัธยมที่ได้มาตรฐานสากลอุดมด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ กำลังขยายไปทั่วทุกหนแห่งรวมถึงที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ด้วย...ทั้งหมดนี้ไม่หวังสิ่งตอบแทนและผลกำไร
       
          ท่ามกลางภัยพิบัติที่ถาโถมมาสู่โลกมนุษย์ไม่หยุดหย่อน ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนจึงมีดำริส่งเสริมงานด้านวัฒนธรรมด้วยการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์-วิทยุต้าอ้าย กับสื่อสิ่งพิมพ์ทุกรูปแบบหลายภาษา เพื่อเผยแผ่ธรรมะและเป็นสื่อกลางชักจูงจิตใจผู้คนให้โน้มเอียงสู่ทางธรรม
       
          สถานีโทรทัศน์แห่งนี้มีเครื่องมือเครื่องไม้ทันสมัย รายการ 24 ชั่วโมงอัดแน่นไปด้วยข่าวสาร- สารคดี-รายการเด็ก- เพลง และละครสอนคุณธรรมที่แสนสนุกสนานไม่น่าเบื่อ
       
          ที่นี่จึงเป็นโทรทัศน์ทางเลือกสีขาวที่ดึงดูดดาราดังๆ ในไต้หวันให้มาร่วมงานไม่น้อย และสามารถยืนหยัดเข้มแข็งได้ด้วยเงินบริจาคของสมาชิกฉือจี้ทุกคน คนละ 100 เหรียญต่อเดือน
       
          ภายในสถานีโทรทัศน์-วิทยุต้าอ้ายยังเป็นที่ตั้งของ “ศูนย์แยกขยะ” ที่มีสถานีเครือข่ายอีก 5,000 แห่งทั่วไต้หวัน ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาสังคม-สิ่งแวดล้อม และหารายได้จากการขายขยะไปรีไซเคิล ไปช่วยพยุงสื่อต่างๆ ของฉือจี้ให้ทำงานเป็นสื่อสีขาวได้อย่างยั่งยืน สง่างาม
       
          ทุกๆ เช้าหลังทำวัตรเรียบร้อย ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนจะเผยแผ่ธรรมะบริสุทธิ์จากสมณารามจิ้งซือ เมืองฮวาเหลียน ผ่านการถ่ายทอดสดจากสถานีโทรทัศน์ และวิทยุ ต้าอ้ายไปยังผู้ชม 38 ประเทศทั่วโลกพร้อมกัน
       
          หลายปีมานี้สื่อมวลชนยักษ์ใหญ่ทั่วโลกให้ความสนใจองค์กรฉือจี้ถ้วนหน้า พวกเขาส่งทีมงานมุ่งหน้าสู่ฮวาเหลียนเพื่อติดตามโลกของฉือจี้แบบก้าวต่อก้าวด้วยความสงสัยใคร่รู้ว่าเพราะอะไร ภิกษุณีร่างเล็กผอมบางผู้น้ำหนักเพียง 41 กิโลกรัม จึงกลายเป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ และทุกเพศ ทุกวัย ได้ถึงเพียงนี้
       
          ทุกย่างก้าวของเธอคือ แนวทาง ทุกการกระทำ คือ แบบอย่าง และธงธรรมสัญลักษณ์ดอกบัวของเธอโบกสบัดไปทั่วทุกหัวระแหง ครอบคลุมกุศลกิจทุกด้านอย่างเข้มแข็งช่วยเหลือผู้คนไปแล้วนับล้านๆ คน
       
         วันนี้วาทธรรมแห่งธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน กำลังกึกก้องว่าด้วย “เมล็ดพันธุ์ตกลงพื้น ย่อมงอกเงย” เราทุกคนต่างเกิดและดับ เมื่อมีลมหายใจต้องยืนหยัดช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เป็นกุศลกิจบนรากฐานของความซื่อสัตย์ จริงใจ สัจจะ และสมถะ...ช่างเหมือนกับกองทัพธรรม และพันธมิตรฯ อย่างเหลือเกิน.

จาก http://astv.mobi/A8PI40b

เพิ่มเติม : แนวคิดพุทธฉือจี้ โดย ท่านเดิมแท้ http://www.tairomdham.net/index.php/topic,12228.msg42308/topicseen.html#msg42308

https://www.youtube.com/playlist?list=PLaYUHSCW5r_6S4IA-1rgWQPjkKUsd_GTZ
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



พระโพธิสัตว์แห่งไต้หวัน ธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน

โดย มนทิรา จูฑะพุทธิ


โลกนี้ไม่มีอะไรเป็นเรื่องบังเอิญ

15 ปีมาแล้ว...

ฉันได้อ่านนิตยสารเล่มหนึ่งที่ตีพิมพ์เรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่ง

ขณะพลิกหนังสือทีละหน้า...ทีละหน้า สายตาก็ต้องมาหยุดอยู่ที่ภาพของผู้หญิงคนหนึ่ง

มองด้วยสายตาทางโลก เธอเป็นผู้หญิงสวย ร่างโปร่งระหง ชวนมอง

มองด้วยสายตาทางธรรม ภิกษุณีพุทธชาวไต้หวันท่านนั้น มีใบหน้าสงบงามด้วยความเมตตา จีวรสีเทาที่ท่านสวมใส่ทำให้ท่านดูสำรวมและเคร่งขรึม

ทว่าสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันไม่ว่าจะมองจากมุมไหน คือแววตาที่ฉายความมุ่งมั่น

ชื่อของท่าน คือ ธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน

เนื้อเรื่องในบทความบรรยายถึงการอุทิศตนเพื่อสาธารณกุศลของท่าน ทั้งเรื่องของการช่วยเหลือคนยากไร้ การให้การศึกษา การพยาบาลผู้เจ็บป่วย และการสร้างสื่อคุณธรรมเพื่อใช้พุทธธรรมนำสังคม ภายใต้องค์กรทางศาสนา ชื่อ "มูลนิธิเมตตาสงเคราะห์ (ฉือจี้) พุทธศาสนาไต้หวัน"

ฉันหวังว่าสักวันคงมีโอกาสได้กราบภิกษุณีรูปนี้ และได้ไปไต้หวันเพื่อเรียนรู้วิธีการทำงานของท่าน

เช้าวันหนึ่ง ฉันได้รับโทรศัพท์จากท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ถามว่า

"ยังสนใจที่จะไปไต้หวันอยู่หรือเปล่า"

"แล้วเราจะได้พบ "ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน" หรือเปล่าคะ"

"แน่นอน" คือคำตอบรับทั้งของท่านและของฉัน

และแล้ววันนั้นก็มาถึง

พระโพธิสัตว์แห่งไต้หวัน ธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน

ห้องรับรองภายในโรงพยาบาลไถจง

ห้องสี่เหลี่ยมนั้นกว้างขวาง ชุดรับแขกใหญ่วางอยู่กลางห้อง อาสาสมัคร เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฉือจี้ และอาคันตุกะจากประเทศไทยยืนเรียงแถวเป็นระเบียบ

ห้องแบบนี้ บรรยากาศแบบนี้ ให้ความรู้สึกคุ้นเคยยิ่งนัก

ฉันเคยผ่านประสบการณ์แบบนี้มาแล้ว เมื่อครั้งเข้าเฝ้าองค์ทะไล ลามะ ที่ 14 ที่ประเทศอินเดียเมื่อ 9 ปีก่อน

แต่กระนั้น ฉันก็ยังคงรู้สึกตื่นเต้นซะไม่มี

ไม่เกินสิบนาที ภิกษุณีที่ฉันตั้งตารอคอยมา 15 ปี ก็ก้าวเท้าออกมาจากช่องประตู "ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน"

ฉันทราบมาก่อนหน้านี้แล้วว่าท่านธรรมาจารย์อายุ 71 ปี เข้าแล้ว จึงคาดหวังว่าจะได้เห็นนักบวชหญิงซึ่งชราตามวัย ที่ไหนได้ ร่างบอบบางหากสูงโปร่งที่เดินมาทักทายผู้มาเยือนนั้น ดูกระฉับกระเฉง แข็งแรง และมีพลังเหลือเกิน ท่านเดินหลังตรง สง่า และใบหน้ายังคงสงบงามด้วยความเมตตา

ไม่ต่างจากภาพในหนังสือที่ฉันเคยเห็นมาก่อน แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานแล้วก็ตาม

ฉันอ่านหนังสือชีวประวัติและคำสอนของท่านหลายเล่ม กระนั้น ก็ยังมีคำถามในใจว่า นักบวชหญิงร่างโปร่งบางท่านนี้สร้างงานมหากุศลที่ยิ่งใหญ่ที่ช่วยเหลือผู้คนนับล้านได้อย่างไร

ยอมรับอย่างไม่อายว่า ฉันไม่รู้จักมูลนิธิฉือจี้มาก่อน ไม่รู้ว่ามูลนิธินี้ยิ่งใหญ่แค่ไหน ไม่รู้ว่ามูลนิธินี้ทำอะไรบ้าง ไม่รู้แม้กระทั่งว่ามีมูลนิธิฉือจี้ที่ประเทศไทยด้วย (เชยจริงๆ ค่ะ)

มารู้ก็เมื่อมาเห็นดีวีดีพรีเซ้นเทชั่นที่ไต้หวัน เป็นเรื่องราวว่าด้วยการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของมูลนิธิฉือจี้ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ภาพเก่าเล่าเรื่องเปิดฉากดังนี้…

ต้นฤดูฝน ปี พ.ศ.2506 (ท่านธรรมาจารย์อายุ 26)

ท่านมหาเถระอิ้นซุ่นได้รับลูกศิษย์ไว้ท่านหนึ่ง และได้ตั้งฉายาว่า "เจิ้งเหยียน" พร้อมให้โอวาทลูกศิษย์ว่า

"ทำเพื่อพุทธศาสนา เพื่อมวลชีวัน"

นับแต่นั้นมา ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนก็ทำงานสงเคราะห์ที่ชนบทภาคตะวันออกของไต้หวันอย่างจริงจัง

เดือนมีนาคม ปีพ.ศ.2509 (อายุ 29)

มูลนิธิพุทธฉือจี้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จากเงินบริจาคของแม่บ้านที่เป็นลูกศิษย์ 30 คน โดยการประหยัดเงินค่ากับข้าววันละ 50 สตางค์ทุกวันมาเป็นทุนการกุศล

หลังสั่งสมประสบการณ์นับ 10 ปี ท่านธรรมาจารย์ค้นพบว่าการเจ็บป่วยเป็นรากเหง้าแห่งความทุกข์ และเป็นสาเหตุของความยากจน

เมื่อล่วงรู้ปัญหาแล้ว...

ในฤดูร้อนปีพ.ศ.2522 (อายุ 42)

ท่านธรรมาจารย์รายงานมหาเถระอิ้นซุ่นว่า ท่านอยากก่อสร้างโรงพยาบาลที่สมบูรณ์แบบที่ฮวาเหลียน มหาเถระอิ้นซุ่นได้ฟังปณิธานของลูกศิษย์ด้วยความสงบ ได้เตือนด้วยเสียงเบาๆ ว่า

"งานนี้เปรียบเสมือนทางลำบากและยาวไกลมาก"

ท่านธรรมาจารย์รับฟังด้วยคัมภีรภาพ มั่นใจในปณิธานไม่คลอนแคลน ไม่คิดว่าตั้งแต่อิฐก้อนแรก...งานก่อสร้างโรงพยาบาลจะต้องพบกับอุปสรรคอย่างมาก หากท่านธรรมาจารย์ก็ไม่ย่อท้อ ปณิธานอันแรงกล้าทำให้เศรษฐีและชาวบ้านนับจำนวนไม่ถ้วนซาบซึ้งใจในมหาเมตตาของท่าน จึงได้ชักชวนผู้คนให้มาร่วมกันสร้างโรงพยาบาล

วันนี้ โรงพยาบาลฉือจี้ทั่วทั้ง 6 แห่งในไต้หวัน ได้ใช้วิทยาการและเมตตาจิตถักทอเป็นเครือข่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งไม่เพียงจะบำบัดความทุกข์ที่ไต้หวันเท่านั้น หากยังเยียวยาความเจ็บปวดของชาวโลกด้วย

พลังความรักที่ยิ่งใหญ่นี้มีต้นกำเนิดจากประเทศไต้หวัน แถมส่งมอบความรักต่อไปยัง 5 ทวีป ใน 39 ประเทศทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย...

ความรักความเมตตาของท่านธรรมาจารย์มิได้จำกัดเพียงแค่การช่วยเหลือชีวิตผู้คนด้วยการสร้างโรงพยาบาลเท่านั้น หากท่านยังสร้างชีวิตด้วยการสร้างโรงเรียนด้วย

ท่านธรรมาจารย์เชื่อว่า...

ความหวังของสังคมอยู่ที่เด็กๆ ความหวังของเด็กๆ อยู่ที่การศึกษา

ปัจจุบันโรงเรียนของฉือจี้มีตั้งแต่ระดับอนุบาล จนถึงมหาวิทยาลัย และเป็นการศึกษาที่ให้ความสำคัญด้านความรู้ควบคู่จริยธรรม


จากงานการกุศลเมื่อ 10 ปีแรก มาถึงงานด้านรักษาพยาบาลใน 10 ปีที่สอง จนถึงงานให้การศึกษาใน 10 ปีที่สาม และงานด้านจริยศาสตร์คืองานใน 10 ปีที่สี่ของมูลนิธิฉือจี้

1 มกราคม ปีพ.ศ.2548 (อายุ 68)

ศูนย์จริยธรรมฉือจี้ได้เปิดทำการที่ไทเป ท่านธรรมาจารย์หวังว่า การปลูกฝังด้านจริยธรรมนี้จะสร้างกระแส "จริง ดี งาม" ให้แก่มวลมนุษย์ไปทั่วโลก

ไม่มีใครล่วงรู้ว่า...

เมื่อ 40 ปีก่อน ฝีก้าวที่ไร้เสียงและสั้นๆ ฝีก้าวนั้น จะทำให้ฝีก้าวคนจำนวนมากทั่วโลกต่างพากันก้าวเดินตาม หากด้วยดวงจิตที่มุ่งมั่น และด้วยปณิธานที่ไม่เคยคลอนแคลนของท่านธรรมาจารย์ ทำให้มูลนิธิพุทธฉือจี้กลายเป็นตำนานแห่งความจริงที่ปรากฏแก่สายตาชาวโลกตราบจนทุกวันนี้

ฉันมีโอกาสได้ฟังธรรมบรรยายที่ท่านธรรมาจารย์กล่าวกับคณะแพทย์ พยาบาล และอาสาสมัครของท่าน ความว่า

"มูลนิธิฉือจี้เริ่มต้นเมื่อ 42 ปีที่ผ่านมา จนมาถึงปัจจุบัน จากจุดเริ่มต้นก็ค่อนข้างที่จะลำบาก ตอนที่เริ่มต้นจะเป็นรุ่นบุกเบิกที่ลำบากมากๆ เราเริ่มต้นจากไม่มี...กระทั่งมี บางคนบอกว่าฉือจี้ใหญ่โตมาก แต่เขาไม่รู้ว่าตอนที่เริ่มต้นนั้นฉือจี้ไม่มีอะไรเลย

"องค์กรของฉือจี้ใหญ่ขนาดนี้แล้วเป็นระเบียบเรียบร้อยได้อย่างไร ก็ด้วยการใช้ศีลเป็นตัวกำหนด และใช้ความรักเป็นตัวปกครอง

"ทุกๆ การกระทำจะต้องเริ่มจากจิตใจที่งดงาม เราต้องรู้จักอดกลั้น และรู้จักมารยาทเพื่อที่จะถ่ายทอดสิ่งที่ดีงามของฉือจี้ให้สืบเนื่องต่อๆ ไป เพื่อให้มีจิตวิญญาณของความเป็นฉือจี้"

"ตอนนี้มีมูลนิธิพุทธฉือจี้ 45 ประเทศทั่วโลก เราจะบริหารให้คนมีจริยธรรมได้ ก็ด้วยการใช้ศีลเป็นตัวกำหนด ใช้ศีลเป็นหลักในการบริหาร คนของฉือจี้ไม่ว่าจะอยู่ที่นี่หรือที่ต่างประเทศ จิตใจต้องงดงาม ความดี ความงาม ความจริงจะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดจากการอบรม การอุทิศตนเป็นพื้นฐานของอาสาสมัคร และต้องการการศึกษามาช่วยพัฒนาด้วย การช่วยเหลือผู้คนต้องเกิดจากจิตใจอย่างแท้จริง ความซื่อสัตย์สามารถทำให้จิตวิญญาณของฉือจี้เป็นหนึ่งเดียว

"ขอบคุณแพทย์พยาบาลทุกคนที่เดินมาเส้นทางนึ้ เราไม่ได้ช่วยเหลือผู้คนแค่ชาวไต้หวันเท่านั้น แต่ช่วยคนทั้งโลก ช่วยมนุษยชาติ คือต้องช่วยให้คนมีความสุข นี่คือภารกิจที่เราต้องแบกเอาไว้ โรงพยาบาลเป็นของพวกเรา ผู้ป่วยเป็นญาติของเรา เป็นครอบครัวของเรา จงดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจกรุณา เราต้องช่วยคนยากไร้ด้วยหัวใจ ต้องร่วมมือร่วมใจกัน ทำได้มั้ย"

มีเสียงตอบรับจากแพทย์พยาบาลโดยพร้อมเพรียงกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

สุดท้าย ท่านธรรมาจารย์กำชับว่า ต้องตั้งใจนะ...ต้องตั้งใจ

จากนั้น ท่านธรรมาจารย์ได้มอบของที่ระลึกให้กับคณะแพทย์และพยาบาล ความเมตตาของท่านเผื่อแผ่มายังทุกคน ด้วยการมอบของที่ระลึกให้คณะจากเมืองไทย

ฉันซึ่งกำลังกดชัตเตอร์เก็บภาพอยู่ ได้รับการเรียกให้เข้าไปรับของ ฉันแบมือออกทั้งสองมือด้วยความเคารพ ท่านวางของที่ระลึกให้ ครั้นถึงสร้อยข้อมือ ท่านสวมให้เรียบร้อย

ใจกระหวัดไปถึงตอนรับของที่ระลึกจากองค์ทะไล ลามะ ฉันแบมือออกทั้งสองข้างด้วยความเคารพเพื่อรับมอบพระพุทธรูปองค์เล็กจากท่าน พระองค์เห็นสายสิญจน์ทิเบตที่ฉันผูกอยู่ที่ข้อมือ ท่านจึงชี้แล้วสรวลเล็กน้อยเป็นทำนองว่าเราเป็นชาวทิเบตเหมือนกัน

ฉันยิ้มด้วยความปลื้มใจ...ต่อทั้งสองเหตุการณ์ ที่แม้จะเกิดขึ้นต่างกรรม ต่างวาระ แต่ก็ให้ความรู้สึกเต็มตื้น

พบเพื่อพราก จากเพื่อเริ่มต้น

ฉันยังคงรู้สึกประทับใจไม่หายแม้ขณะนั่งอยู่บนเครื่องบินในยามค่ำคืนที่เครื่องกำลังทะยานขึ้นจากพื้นมองจากช่องหน้าต่าง เกาะเล็กๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกที่กำลังวิบวับด้วยแสงไฟค่อยๆ กลายเป็นจุดเล็กๆ และมืดหายไปในที่สุด

หลับตาพลางนึกถึงบ่ายวันสุดท้ายในไต้หวัน

นึกถึงความตรากตรำของท่านที่ต้องเดินทางไปทั่วทั้งเกาะไต้หวันเพื่อช่วยเหลือผู้คน แม้ว่าท่านจะขึ้นเครื่องบินไม่ได้ ด้วยว่าเป็นโรคหัวใจ กระนั้นเมตตาธรรมของท่านก็ยังแผ่ไพศาลไปยังประเทศต่างๆ

นึกถึงปณิธานอันแรงกล้าของท่าน นับแต่การก้าวสู่เส้นทางธรรม การเริ่มต้นก่อตั้งมูลนิธิฉือจี้ตั้งแต่ไม่มีอะไร ทั้งชื่อเสียง สานุศิษย์ หรือเงินทอง จวบจนกระทั่ง "หนึ่งก้าวย่างแปดภารกิจ" อันได้แก่ การกุศล การรักษาพยาบาล การศึกษา การบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศ การบริจาคไขกระดูก การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อาสาสมัครชุมชน และการมีมนุษยธรรม-จริยธรรม กลายเป็นรูปธรรมของการทำงานที่ยิ่งใหญ่ที่ก่อเกิดประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติบนโลกใบนี้

นึกถึงภาพท่านธรรมาจารย์ขอบคุณผู้คนด้วยการส่งภาษามือโดยการยกแขนแล้วชูนิ้วโป้งกระดกขึ้นลง ก่อนจะขึ้นรถกลับสมณาราม

นึกถึงแล้วก็รู้สึกศรัทธาท่านเหลือเกิน

เสียงสัญญาณไฟดับลง หากฉันลืมตาขึ้น สร้อยข้อมือเนื้อเขียวใสราวหยกที่ได้รับจากท่านธรรมาจารย์สว่างท่ามกลางความมืด ฉันยกข้อมือขึ้นเพื่อดูใกล้ๆ มารู้ (ความจริง) ในภายหลังว่าเป็นสร้อยรีไซเคิล ทำมาจากหน้าจอโทรทัศน์

มิน่า ถึงได้เรืองแสงได้!

ฉันจับลูกปัดกลมๆ บนสร้อยเส้นนั้นหมุนไปมา

แล้วยิ้ม

หมายเหตุ : บทความนี้มาจากส่วนหนึ่งของหนังสือ "บันทึกแห่งรักและเมตตา ธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน" โดย มนทิรา จูฑะพุทธิ รายได้จาการจำหน่ายหนังสือเล่มนี้มอบให้ "เสถียรธรรมสถาน" และ "มูลนิธิพุทธฉือจี้ ในประเทศไทย" หาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไป

หน้า 20 มติชนออนไลน์
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...