ตามรอยพระราชา ที่ “วัดบวรนิเวศ”...เมื่อครั้ง ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงพระผนวชพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระผนวชในปี พ.ศ.2499 ระหว่างวันที่ 22 ต.ค.-5 พ.ย. (ภาพจากอินเตอร์เน็ต) ...ทุกคนที่ถือตัวว่าเป็นชาวพุทธ จะต้องสนใจศึกษาพระพุทธศาสนาตามภูมิปัญญา ความสามารถ และโอกาสของตนที่มีอยู่ เพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจที่กระจ่างถูกต้องในหลักธรรม และเมื่อศึกษาเข้าใจแล้ว เห็นประโยชน์แล้ว ก็น้อมนำมาปฏิบัติ ทั้งในกิจวัตรและในกิจการงานของตน เพื่อให้ได้รับผล คือความสุข ความสงบร่มเย็น และความเจริญงอกงามในชีวิตเพิ่มพูนขึ้นเป็นลำดับ ตามขีดความสามารถและความประพฤติปฏิบัติของแต่ละคน... พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเชิญไปอ่านในวันเปิดประชุมใหญ่ขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ครั้งที่ 15 ณ กรุงกาฏมันฑุ ประเทศเนปาล วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤศจิกายน 2529
สมเด็จพระราชชนนี ถวายบาตรสำหรับพระราชพิธีอุปสมบทกรรม(ภาพจากอินเตอร์เน็ต) 1… ปีพุทธศักราช 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชประสงค์ที่จะทรงพระผนวชในพระบวรพุทธศาสนาตามโบราณราชประเพณี นายกรัฐมนตรี(จอมพล ป. พิบูลสงคราม)ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอรับพระราชภาระ สนองพระเดชพระคุณในการทรงพระผนวชในนามของรัฐบาลและประชาชนชาวไทย โดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทน ราษฎร
สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงจรดพระกรรไกรบิดเปลื้องพระเกศาเป็นปฐมฤกษ์(ภาพจากอินเตอร์เน็ต) วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2499 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และคณะทูตานุทูตเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลี พระบาท ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เพื่อทรงแถลงพระราชดำริในการที่จะเสด็จออกทรงพระผนวช และโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ราษฎรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท เพื่อมีพระราชดำรัสแก่ประชาราษฎร ความตอนหนึ่งว่า
“ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ท่านทั้งปวงมาร่วมประชุมกัน ณ ที่นี้ ขอถือโอกาสแจ้งดำริที่จะบรรพชาอุปสมบทให้บรรดาอาณาประชาราษฎรทราบทั่วกัน” ระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศ พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระราชกิจ เช่นเดียวกับพระภิกษุทั้งหลายอย่างเคร่งครัด(ภาพจากอินเตอร์เน็ต) วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2499 เวลา 14.00 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากทรงเจริญพระเกศาโดยสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงจรดพระกรรไกรบิดเปลื้องพระเกศาเป็นปฐมฤกษ์แล้ว ทรงเครื่องเศวตพัสตรีทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี และพระพุทธรูปฉลองพระองค์รัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 ทรงรับผ้าไตรจากสมเด็จพระราชชนนีแล้วทรงเข้าบรรพชาอุปสมบทในท่ามกลางสังฆสมาคม ซึ่งมีสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน เมื่อเสร็จพิธีแล้วพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงได้รับสมญานามจากพระราชอุปัชฌาจารย์ว่า“ภูมิพโล” ในระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศ ทรงรับประเคนผ้าไตรจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และทรงรับไทยธรรมจากสมเด็จพระบรมราชชนนี ตามลำดับ
พระแท่นหน้าพระอุโบสถ เป็นพระแท่นที่ประทับสำหรับพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งมาจำประทับที่วัดบวรฯ 2… พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระผนวชเมื่อพระชนมายุ 29 พรรษา เป็นเวลา 15 วัน ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม-5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 โดยระหว่างทรงพระผนวชพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาประทับ ณ “พระตำหนักปั้นหย่า”(พระตำหนักปั้นหยา) วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
พระตำหนักปั้นหย่า เป็นตึก 3 ชั้น สถาปัตยกรรมแบบยุโรป เดิมเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งที่ทรงพระผนวช หลังจากนั้นที่นี่เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงพระผนวชและเสด็จมาประทับที่วัดนี้ โดยในวันลาสิขาบท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปลูกต้นสักไว้ที่ด้านหลังพระตำหนักปั้นหย่า ที่วันนี้เติบโตสูงใหญ่ให้ร่มเงาร่มรื่น
ต้นสักที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปลูกในวันลาผนวชเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2499 ระหว่างที่ทรงดำรงสมณเพศ พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระราชกิจ เช่นเดียวกับพระภิกษุทั้งหลายอย่างเคร่งครัด เช่น เสด็จลงพระอุโบสถทรงทำวัตรเช้า-เย็น ตลอดจนทรงสดับพระธรรมและพระวินัย ออกรับบิณฑบาตเหมือนพระภิกษุทั่วไป เป็นต้น
“สมเด็จพระวันรัต”(จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวรวิหาร เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ในฐานะที่เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) ได้เล่าย้อนรำลึกถึงพระจริยวัตรอันงดงามเมื่อครั้งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระผนวช ผ่านบทความ “ทรงพระผนวชด้วยพระราชศรัทธา” หน้าจุดประกาย นสพ. กรุงเทพธุรกิจ(ฉบับวันที่ 21 ต.ค.59) ดังความตอนหนึ่งว่า
“อาตมาเคยอยู่ร่วมวัดเดียวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตอนพระองค์ทรงพระผนวชในปี พ.ศ. 2499 ตอนนั้นอาตมาเป็นพระใหม่ พระองค์ทรงพระผนวชปี พ.ศ.2499 ตอนนั้นอาตมาเป็นพระใหม่ พระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยปฏิบัติด้วยความศรัทธา ทรงเสด็จฯ ออกบิณฑบาตทั้งในวัง ส่วนราชการ และทั่วไป ซึ่งประชาชนก็ไม่คิดว่าจะได้ใส่บาตร เพราะไม่รู้ว่าพระภิกษุสงฆ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจะทรงออกบิณฑบาตวันไหน เมื่อไหร่”
คุณยายสุมน ภมรสูตร บุคคลในภาพเมื่อครั้งพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกรับบิณฑบาต ด้านคุณยาย
“สุมน ภมรสูตร” คุณยาย ปัจจุบันอายุ 90 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลผู้โชคดีที่มีโอกาสได้ใส่บาตรในหลวงรัชกาลที่ 9 และถูกบันทึกภาพความทรงจำเก็บไว้ ได้เล่าว่า
ตอนนั้นคุณยายสุมน อาศัยอยู่ที่ซอยกิ่งเพชร ถนนเพชรบุรี เช้าวันนั้นเป็นวันที่คุณยายจะไปทอดกฐินต่างจังหวัด และได้ไปยืนเป็นเพื่อนคุณยายข้างบ้านที่มารอใส่บาตรพระ เมื่อมีขบวนตำรวจนำรถมาจอดและเห็นพระรูปหนึ่งลงมาและใส่แว่นตาดำ เมื่อทราบว่าเป็นในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็ก้มลงกราบทันที ซึ่งภาพนี้ถูกติดไว้ที่กลางบ้านและในห้องนอนของคุณยายสุมน ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของครอบครัวนี้
3... วันที่ 22 ต.ค. ปีนี้(2559) ถือเป็น 60 ปีที่ทรงพระผนวช ซึ่งหลังการเสด็จสวรรคตนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทางวัดบวรนิเวศฯ ได้เปิดให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความอาลัยต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขณะทรงผนวช พ.ศ.2499 และขอเชิญพุทธศาสนิกชนร่วมพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสวดพระอภิธรรม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทุกวันเป็นเวลา 1 เดือน ในเวลา 20.00 น. ณ พระอุโบสถ และเพิ่มรอบในวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 15.00 น. ณ ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร
ตำหนักเพ็ชรทั้งนี้ผู้มาแสดงความอาลัยที่วัดบวรนิเวศฯ ยังสามารถตามรอยพระราชาเมื่อครั้งทรงผนวชได้ที่ พระตำหนักปั้นหย่า ชมต้นสักที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปลูกที่หลังพระตำหนัก ชมและสักการะพระแท่น(หน้าพระอุโบสถ)ที่พระองค์ท่านเคยเสด็จประทับ
นอกจากนี้ผู้มาเยือนวัดบวรนิเวศยังสามารถเที่ยวชมสิ่งน่าสนใจอันหลากหลายภายในวัดแห่งนี้ อาทิ
พระอุโบสถ -พระอุโบสถ ที่ชวนมองด้วยผนังหินอ่อนสีขาวตัดกับสีทองของประตูและหน้าต่าง ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธาน 2 องค์ คือ
“พระสุวรรณเขต” หรือ
“พระโต” (พระประธานองค์หลัง)เป็นพระประธานสมัยแรก และ “พระพุทธชินสีห์”(พระประธานองค์หน้า) พระประธานที่สร้างขึ้นมาในสมัยหลัง
-พระมหาเจดีย์ใหญ่ สีทองสุกใสสูงโดดเด่นเป็นสง่า เป็นเจดีย์ทรงกลมกลม ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
พระมหาเจดีย์ใหญ่ -พระเจดีย์ไพรีพินาศ อันเป็นที่ประดิษฐาน พระไพรีพินาศ พระพุทธรูปปางประทานพร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญและมีชื่อเสียงของวัดบวรฯ
-ศาลาพระพุทธบาท ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง เป็นแผ่นศิลาสลักรอยพระพุทธบาทคู่ ซึ่ง กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ นำมาจากจังหวัดชัยนาท
-ประตูเซี่ยวกาง ที่มีทวารบาลสร้างตามคตินิยมแบบจีน โดยประตูทางเข้าวัดที่ตรงกับโบสถ์ (ฝั่งตรงข้ามร้านข้าวต้มวัดบวรฯ) ที่ปากของทวารบาลจะดูดำเป็นปื้นและมีพวงมาลัย ถุงโอยัวะแขวนห้อยอยู่ในบริเวณนั้น ซึ่งชาวบ้านได้มาบนบานศาลกล่าวตามความเชื่อที่เล่าสืบต่อกันมาว่า ชาวจีนคนหนึ่งติดฝิ่นงอมแงมได้มาเสียชีวิตที่นี่ และได้มาเข้าฝันท่านเจ้าอาวาส(สมัยนั้น)ว่า ดวงวิญญาณของเขาจะขอสิงสถิตเฝ้าวัดบวรนิเวศให้
ประตูเซี่ยวกาง 4… สำหรับการทรงผนวชของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อปี พ.ศ. 2499 นั้น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้เคยตรัสเอาไว้ว่า
“พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะได้ทรงผนวชตามราชประเพณีอย่างเดียวเท่านั้นหามิได้ แต่ทรงพระผนวชด้วยพระราชศรัทธาที่ตั้งมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างแม้จริง มิได้ทรงเป็นบุคคลจำพวกที่เรียกว่าหัวใหม่ ไม่เห็นศาสนาเป็นสำคัญ แต่ได้ทรงเห็นคุณค่าของพระศาสนา ฉะนั้นถ้าเป็นบุคคลธรรมดาสามัญก็กล่าวได้ว่า บวชด้วยศรัทธา เพราะทรงพระผนวชด้วยพระราชศรัทธาประกอบด้วย พระปัญญา และได้ทรงปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด” *****************************************
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com
จาก
http://astv.mobi/AXTbliZ