ผู้เขียน หัวข้อ: “ธรรมราชา” กษัตริย์ผู้ศรัทธาพระพุทธศาสนาจากหัวใจ  (อ่าน 1063 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



“ธรรมราชา” กษัตริย์ผู้ศรัทธาพระพุทธศาสนาจากหัวใจ

     “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม” นับตั้งแต่พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประกาศก้องออกไปในวันเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ สยามประเทศแห่งนี้ก็ร่มเย็นไปด้วยพระบารมี จากกษัตริย์ผู้ปกครองแผ่นดินโดยยึดหลัก “พระพุทธศาสนา” เป็นที่ตั้งตลอดมา ด้วยพระราชศรัทธาในหลักธรรมขององค์พ่อหลวง ปวงชนชาวไทยจึงเดินตามรอยความดีที่พระองค์หว่านเอาไว้ได้มาจนถึงทุกวันนี้...


ทรงปฏิบัติธรรม ขณะมีพระราชกรณียกิจ


[ในหลวง - หลวงปู่โต๊ะ อินทสุวัณโณ]

      "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิบัติพระราชกิจทางพระพุทธศาสนาอย่างสมบูรณ์มาตั้งแต่พระชนมพรรษายังน้อย ดังที่ได้เคยทราบว่า ได้ทรงพอพระราชหฤทัยในการฟังเทศน์ที่มีอยู่เป็นประจำ ในคราวบำเพ็ญพระราชกุศลถวายที่พระบรมศพรัชกาลที่ ๘ แม้จะเป็นเทศน์กัณฑ์ยาว ก็ทรงพอพระราชหฤทัยฟัง ทรงเริ่มสนพระราชหฤทัยในพระพุทธศาสนา
       
        เมื่อได้ทรงพบปะกับพระมหาเถระผู้ใหญ่ ก็มีพระราชปุจฉาและทรงสดับข้อธรรมนั้นๆ อยู่เนืองๆ โดยเฉพาะได้มีโอกาสเฝ้า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว. ชื่น นพวงศ์) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้ทรงสดับฟังธรรมเป็นครั้งคราวตลอดมา ทำให้ทรงเข้าพระราชหฤทัยในธรรมและสนพระราชหฤทัยในพุทธศาสนามากขึ้น"
       
        สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวัฑฒโน) เคยยืนยันเรื่องความสนพระราชหฤทัยในพระพุทธศาสนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเอาไว้อย่างชัดเจน ถ้อยคำที่พสกนิกรเรียกแทนพระองค์ว่า “ธรรมราชา” อันแปลว่าราชาผู้ทรงธรรม จึงไม่ใช่เพียงคำแทนพระองค์จากความคุ้นชินเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องหมายสะท้อนความจริงในสิ่งที่พระองค์เป็นอีกด้วย
       
        “จะเห็นว่า ความสนพระราชหฤทัยในพระพุทธศาสนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีมานานแล้ว และไม่เคยจางหายไปจากพระราชหฤทัยของพระองค์จวบจนถึงปัจจุบัน ความศรัทธาที่แน่วแน่ในพระพุทธศาสนานี้เองที่ทำให้พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปกราบนมัสการพระอาจารย์ต่างๆ แม้ท่านเหล่านั้นจะอยู่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดารก็ตาม
       
        พระอริยสงฆ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปกราบนมัสการนั้นมีหลายองค์ เช่น พระป่าวิปัสสนากรรมฐานสาย พระอาจารย์มั่น ที่พระองค์ทรงนับถือเป็นพระอาจารย์ นอกจากนี้ก็มี หลวงปู่โต๊ะ อินทสุวัณโณ, พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ) เป็นต้น
       

[พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ)]

      ซึ่งในการเสด็จพระราชดำเนินไปกราบนมัสการพระอริยสงฆ์ทั้งหลายนั้น พระองค์ทรงมีพระราชปฏิสันถารสนทนาธรรมกับพระอริยสงฆ์อยู่เสมอๆ เนื้อหาในการสนทนาธรรมระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับพระอริยสงฆ์ทั้งหลายนั้น เป็นธรรมะที่ลึกซึ้ง เพียงแค่นั้นก็เพียงพอที่จะทำให้เราได้รู้ว่า ในหลวงของเรานั้นทรงเป็น 'พระธรรมราชา' อย่างแท้จริง” ถ้อยความจากหนังสือเรื่อง "มหาบพิตร : ในหลวงทรงถาม พระอรหันต์ตอบ" ช่วยยืนยันด้วยหลักฐานเอาไว้อีกแรงหนึ่ง
       
        แม้จะเป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่บทสนทนาพระราชปุจฉาวิสัชนาธรรม ระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับพระอริยสงฆ์หลายต่อหลายครั้ง ไม่ได้ถูกบันทึกด้วยเสียงหรือภาพเคลื่อนไหวใดๆ เอาไว้มากนัก แต่เท่าที่พอจะค้นคว้าหามาได้เพียงเสี้ยวหนึ่ง ก็ช่วยสะท้อนพระราชศรัทธาอันแรงกล้าของพระองค์ได้เป็นอย่างดีทีเดียว


[กราบนมัสการ “หลวงพ่อเกษม เขมโก”]

        เช่นเดียวกับหนึ่งในบทสนทนาทางธรรมของพระองค์ เมื่อครั้งเสด็จกราบนมัสการ “หลวงพ่อเกษม เขมโก” สำนักสุสานไตรลักษณ์ (ป่าช้าศาลาดำ) บ้านท่าคร่าวน้อย ต.สบตุ๋ย อ.เมืองฯ จ.ลำปาง ซึ่งตรัสถามถึง “วิธีปฏิบัติธรรม” เอาไว้ ขณะทรงเจริญพระชนมายุได้ 50 พรรษา เพราะต้องการคำตอบที่แท้จริงว่า การปฏิบัติธรรมสำหรับผู้ไม่มีเวลามากนักอย่างพระองค์ จะกระทำได้อย่างไรบ้าง
       
       ในหลวง : การปฏิบัติอย่างพระมีเวลามากย่อมจะได้ผลเร็ว ส่วนผู้ที่มีเวลาน้อยมีภารกิจมาก จะปฏิบัติอย่างหลวงพ่อก็ไม่อาจทำได้ แล้วจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไร เราจะหั่นแลกช่วงเวลาช่วงเช้าให้สั้นเข้าจะได้ไหม คือซอยเวลาออกจากหนึ่งชั่วโมงเป็นครึ่งชั่วโมง จากครึ่งชั่วโมงเป็น 10 นาที หรือ 5 นาที แต่ให้ได้ผล คือได้รับความสุขเท่ากัน
       
        ยกตัวอย่างเช่น นั่งรถยนต์จากเชียงใหม่มาลำปางก็สามารถปฏิบัติได้ หรือระหว่างที่มาอยู่ในพิธีนี้ มีช่วงที่ว่างอยู่ ก็ปฏิบัติเป็นระยะไป อย่างนี้จะถูกหรือเปล่าก็ไม่ทราบ อยากจะเรียนถาม
       
        อุปมาเหมือนช่างทาสีผนังโบสถ์ เขาทาทางนี้ดีแล้วพัก ทาทางโน้นดีแล้วพัก ทำอยู่อย่างนี้ก็เสร็จได้ แต่ต้องใช้เวลาหน่อย จึงอยากเรียนถามว่าปฏิบัติอย่างนี้จะมีผลสำเร็จไหม... คือใช้สติอยู่ทุกขณะจิตที่เกิดดับ ทำงานด้วยความรอบคอบให้สติตั้งอยู่ตลอดเวลา
       
        หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร มหาบพิตรทรงปฏิบัติอย่างนั้นถูกแล้ว การที่มหาบพิตรเสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติงานอย่างนี้ ก็เรียกว่าได้ทรงเจริญเมตตาในพรหมวิหารอยู่”



นมัสการเกจิอาจารย์เพื่อทรงเสวนาธรรม



      “...เมื่อเสด็จฯ ไปทั้งในและนอกวัดในสมัยทรงพระผนวช ในหลวงไม่ทรงสวมฉลองพระบาท และทรงพระดำเนินไปด้วยพระบาทเปล่าทุกแห่ง ทรงปฏิบัติกิจวัตรต่างๆ อย่างสมบูรณ์และทรงรักษาเวลา

        เมื่อตีระฆังลงโบสถ์ในวันปกติทุกเช้าเย็นก็จะทรงพระดำเนินลงโบสถ์ทันที ทำให้พระภิกษุสามเณรทั้งวัดพากันรักษาเวลาอย่างเคร่งครัด…”

       
        นี่คือคำบอกเล่าที่ได้ฝากเอาไว้ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระผนวช ในวันที่ 22 ต.ค.2499 โดยมีสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ให้ และทรงดำรงตนอยู่ในธรรมเป็นเวลา 15 วัน ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งถือเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ที่ทรงขอลาพระผนวชในขณะครองสิริราชสมบัติอยู่ ด้วยชื่อทางธรรมว่า “ภูมิพโล”


[สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงจรดพระกรรไกร ปลงพระเกษาให้]


[พระ "ภูมิพโล"]

      ด้วยพระราชศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาอันแรงกล้าเป็นแรงผลักครั้งใหญ่ เป็นเหตุให้ต้องทรงแต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ทรงอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ ซึ่งถือเป็นภาพประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญสำหรับปวงชนชาวไทย โดยเฉพาะวินาทีที่พระองค์ทรงพระดำเนินออกทรงรับบิณฑบาตจากพสกนิกร บริเวณหน้าวัดบวรนิเวศวิหารโดยไม่ได้มีการแจ้งจากสำนักราชวังมาก่อนแต่ประการใด


[ภาพประวัติศาสตร์ ทรงพระดำเนินออกทรงรับบิณฑบาตจากพสกนิกร]





        ครั้นลาพระผนวชแล้ว ทรงกลับมาเป็นมิ่งขวัญแก่ปวงชนชาวไทยในฐานะพระมหากษัตริย์ พระองค์ก็มิได้เอาใจออกห่างจากหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาแม้แต่น้อย ยังคงเสด็จฯ เข้ากราบนมัสการพระวัดป่าตามจังหวัดต่างๆ อยู่มิได้ขาดสาย เช่นเดียวกับข้อความบางช่วงบางตอน ที่ได้ตีพิมพ์เอาไว้ใน หนังสือ “ชีวประวัติหลวงพ่อทวี จิตฺตคุตฺโต วัดป่าอรัญญวิเวก (ป่าลัน) ต.ปงน้อย กิ่ง อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย” ความว่า
       
        “อันนี้คือด้วยพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมที่เป็นพระมหากษัตริย์ไทยของเรา ได้เข้าไปถึงประชาชนทุกที่ทุกแห่งหนตำบลใดก็ตาม มีพระเจ้าพระสงฆ์ที่ท่านได้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในป่าในเขาที่ไหนๆ ก็ตาม ท่านก็ย่อมเข้าถึงที่ทุกๆ แห่ง


[ นมัสการและสนทนาธรรมกับ “หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ” บ่อยครั้ง]


[เมื่อครั้งหลวงปู่แหวนอาพาธหนัก]



      เมื่อครั้งหลวงปู่แหวนอาพาธหนัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้อาราธนาให้หลวงปู่ ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ตึกสุจิณฺโณ ในหลวงทรงรับหลวงปู่ไว้เป็นคนไข้ของพระองค์เอง ที่สุดเมื่อวันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พุทธศักราช 2528 หลวงปู่แหวนก็ได้ละสังขารอย่างสงบนิ่ง ในเวลา 21.53 น.
       
        ข่าวการมรณภาพของหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณ ในหลวงของเราและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เหมือนกับว่าดินฟ้าถล่มไปทั่วเมืองไทย
       
        ในหลวงก็ได้พระราชทานโกศหลวง และน้ำหลวงอาบศพ ที่สถานพระราชทานปริญญาบัตรแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น ก็ได้มีบุคคลทั่วทิศานุทิศไปเคารพศพหลวงปู่แหวน เป็นครั้งสุดท้าย แล้วก็ได้นำศพของหลวงปู่มาตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดดอยแม่ปั๋งตามเดิม”


[พระราชทานโกศหลวง และน้ำหลวงอาบศพ "หลวงปู่แหวน"]

       จากอดีตถึงยุคปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า ยังไม่มีพระคณาจารย์รูปใด ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเท่า “หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ” ศิษย์เอกหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต วัดดอยแม่ปั๋ง ต.แม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ในระหว่างที่ท่านยังมีชีวิตอยู่

        นอกเหนือจากการเสด็จพระราชดำเนินถึงวัดดอยแม่ปั๋ง เพื่อนมัสการและสนทนาธรรมกับหลวงปู่หลายครั้งหลายครา แล้วยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจัดสร้างสิ่งมงคล โดยใช้รูปของหลวงปู่ นำมาแจกในพระราชพิธีสำคัญอีกด้วย ถ้อยความในหนังสือ “ตามรอยพระอริยเจ้า หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ พระอริยสงฆ์แห่งวัดดอยแม่ปั๋ง” ระบุเอาไว้เช่นนั้น
       
        เช่นเดียวกับ "หลวงปู่ขาว อนาลโย" วัดถ้ำกลองเพล ต.โนนทัน อ.เมืองฯ จ.หนองบัวลำภู ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จเข้ากราบนมัสการเป็นการส่วนพระองค์อยู่บ่อยๆ ทั้งยังทรงพระกรุณาเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมอาการอาพาธหลายต่อหลายครั้ง


[นมัสการ "หลวงปู่ขาว อนาลโย"]

        ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระอุตสาหะประกอบพิธี “ยืดอายุ” ของหลวงปู่ โดยทรงถือขัน (อย่างขันน้ำ) บรรจุดอกไม้ห้าสี เข้าไปประเคน พอหลวงปู่รับแล้ว ก็ทรงไม่ให้หลวงปู่ “ทิ้งขันธ์” (เล่นคำ ขัน กับ ขันธ์) ขอให้หลวงปู่อยู่ไปอีกนานๆ
       
        อีกหนึ่งเรื่องเล่าจากผู้อยู่ในเหตุการณ์การเสด็จฯ ไปนมัสการหลวงปู่ขาว เมื่อครั้งอยู่ร่วมกับ “หลวงปู่ชอบ ฐานสโม” วัดป่าสัมมานุสรณ์ ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย ซึ่งทั้งสองรูปเป็นพระวัดป่า จึงไม่เคยติดตามข่าวสาร และไม่ทราบว่าพระมหากษัตริย์หน้าตาเช่นไร ทราบเพียงว่าพระองค์จะเสด็จฯ มานมัสการ แต่รออยู่นานสองนานยังไม่มีขบวนเสด็จใดๆ ให้เห็น จึงอดบ่นไม่ได้ว่า “ไม่เห็นมา มีแต่ทหารสองพ่อลูก มาคุยอยู่เป็นนานสองนาน”



        มารู้ภายหลังว่า “ทหารสองพ่อลูก” ที่กล่าวถึงคือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ” พระครูทั้งสองท่านกล่าวแก้เขินว่า “ไม่เห็นมีขบวนแห่” และ “นึกว่าจะใส่ชฎา”
       
        จึงกลายเป็นเรื่องขบขันที่เล่าต่อกันมา ผ่านงานเขียนของ “คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า การเสด็จนมัสการของพระองค์ในทุกครั้ง เกิดขึ้นเพราะพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ทรงย่ำไปถึงถิ่นไกลปืนเที่ยง ไปถึงพระวัดป่าจริงๆ เพื่อเสด็จฯ ไปสนทนาธรรม โดยไม่มีพิธีรีตอง หรือถือตัวว่าเป็นพระมหากษัตริย์แม้แต่นิดเดียว...


[เสด็จฯ มานมัสการ "หลวงตามหาบัว"]


["หลวงพ่อคูณ"]


[เสด็จฯ มาเยี่ยม "หลวงปู่แหวน"]


[เสด็จฯ ทรงสรงน้ำศพหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ณ วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร]




[สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก]



จาก http://astv.mobi/AYjKUpg
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...