“เศรษฐกิจพอเพียง” โมเดลของพ่อที่ทั่วโลกยังทึ่ง “...คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่พอมีพอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้...” พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในปี พ.ศ.๒๕๑๗ เป็นปีที่เราชาวไทยได้เริ่มรู้จักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” และถูกพูดถึงอีกครั้งโดยหลายคนนำไปปฏิบัติในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ หลังเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจดิ่งเหวคนไทยทุกข์ยาก พอเพียงกับตัวเอง เศรษฐกิจพอเพียง คือ ปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้แนวทางการดำเนินชีวิตให้แก่ปวงชนชาวไทยมาเป็นเวลากว่า ๓๐ ปี ในช่วงตั้งแต่ก่อนการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อมุ่งให้ชาวไทยได้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ที่มีการแข่งขันสูง
“...ฉันพูดเศรษฐกิจพอเพียงความหมายคือ ทำอะไรให้เหมาะสมกับฐานะของตัวเอง คือทำจากรายได้ ๒๐๐-๓๐๐ บาท ขึ้นไปเป็นสองหมื่น สามหมื่นบาท คนชอบเอาคำพูดของฉัน เศรษฐกิจพอเพียงไปพูดกันเลอะเทอะ เศรษฐกิจพอเพียง คือทำเป็น Self-Sufficiency มันไม่ใช่ความหมายไม่ใช่แบบที่ฉันคิด ที่ฉันคิดคือเป็น Self-Sufficiency of Economy เช่น ถ้าเขาต้องการดูทีวี ก็ควรให้เขามีดู ไม่ใช่ไปจำกัดเขาไม่ให้ซื้อทีวีดู เขาต้องการดูเพื่อความสนุกสนาน ในหมู่บ้านไกลๆ ที่ฉันไป เขามีทีวีดูแต่ใช้แบตเตอรี่ เขาไม่มีไฟฟ้า แต่ถ้า Sufficiency นั้น มีทีวีเขาฟุ่มเฟือย เปรียบเสมือนคนไม่มีสตางค์ไปตัดสูทใส่ และยังใส่เนคไทเวอร์ซาเช่ อันนี้ก็เกินไป...” พระราชดำรัส ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล ๑๗ มกราคม ๒๕๔๔
Self-Sufficiency นั้นหมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอยืมคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง ฉะนั้น เมื่อเติมคำว่า Economy เข้าไป กลายเป็น Self-Sufficient Economy แล้วนั้น จะมีความหมายว่า เศรษฐกิจแบบพอเพียงกับตัวเอง คือ การที่สามารถอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างไม่เดือดร้อน ไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น แต่ในทุกวันนี้ ประเทศไทยเรายังเดือดร้อน ยังมีความจำเป็นต้องพึ่งพาผู้อื่นอยู่ ที่ในความเป็นจริงที่เราจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ก็ตาม ดังนั้น Self-Sufficient Economy จึงหมายถึง เศรษฐกิจแบบพอเพียงกับตัวเอง ที่แตกต่างจาก Sufficiency Economy ซึ่งหมายถึง เศรษฐกิจพอเพียงที่ยังคงมีการพึ่งพากันและกันอยู่ ดังพระราชดำรัสเพิ่มเติมที่ว่า
“คือพอมีพอกินของตัวเองนั้นไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเศรษฐกิจสมัยหิน สมัยหินนั้นเป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน แต่ว่าค่อยๆ พัฒนาขึ้นมา ต้องมีการแลกเปลี่ยนกัน มีการช่วยระหว่างหมู่บ้าน หรือระหว่าง จะเรียกว่าอำเภอ จังหวัด ประเทศ จะต้องมีการแลกเปลี่ยน มีการไม่พอเพียง จึงบอกว่าถ้ามีเศรษฐกิจพอเพียง เพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็จะพอแล้ว จะใช้ได้”
“พ่อ” เป็นแบบอย่างทำ “โลก” ให้เห็น 
จากพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระองค์ นับตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ เป็นต้นมา จะพบว่าพระองค์ท่านได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการพัฒนาที่อยู่บนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง ความพอมีพอกิน พอมีพอใช้ การรู้จักความพอประมาณ การคำนึงถึงความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว และทรงเตือนสติประชาชนคนไทยไม่ให้ประมาท เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้หมายถึงการให้ทุกคนปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ปลูกข้าวไว้กินเอง แต่เป็นแนวคิดที่คนทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ และทุกชนชั้นนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตได้
พระองค์ทรงเป็นต้นแบบของความเรียบง่าย ความประหยัด และความพอเพียงมา โดยตลอด อย่างที่เราเคยได้ยินเรื่องราวของพระจริยวัตรอันเรียบง่ายของพระองค์ท่าน โดยผ่านการปลูกฝังจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีตั้งแต่สมัยทรงพระเยาว์ ทรงได้รับค่าขนมสัปดาห์ละครั้ง แต่แม้จะได้ค่าขนมทุกสัปดาห์ ก็ยังทรงรับจ้างเก็บผักและผลไม้ไปขาย เมื่อได้เงินมาก็นำไปซื้อเมล็ดผักมาปลูกเพิ่ม
เรื่องราวพระจริยวัตรอันเรียบง่ายถูกเล่าถ่ายทอดจาก
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ครั้งตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปที่เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ในปี พ.ศ.๒๕๒๗ ว่า ในวันนั้นได้มีข้าราชการหลายคนกลับมาจากทำภารกิจและได้เข้าไปในโรงครัวเพื่อกินข้าวผัดแห้ง ๆ ติดก้นกระทะ แต่มีข้าวผัดอยู่ 1 จาน ถูกวางไว้และมีคนจะหยิบไปกิน

ทันใดนั้นก็มีเสียงตะโกนบอกว่า จานนั้นเป็นของพระเจ้าอยู่หัว ท่านรับสั่งให้มาตัก ซึ่งประโยคดังกล่าวได้สะท้อนเข้ามาในหัวใจ พร้อมกับคิดว่า ท่านเป็นถึงพระเจ้าแผ่นดินจะรับสั่งให้ทำถวายใหม่เท่าใดก็ได้ แต่ทรงรับสั่งแค่ให้ตักเพียงข้าวผัดติดก้นถาด 1 จาน ทำให้พระองค์ทรงเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนรู้คุณค่าของทุกสิ่ง สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงใช้ฉลองพระองค์ชุดเดิมมาเป็นเวลาหลายปี โปรดผ้าเนื้อนิ่ม ไม่โปรดผ้ายับง่าย ใช้ผ้าที่ทอในประเทศไทย กรณีที่ฉลองพระองค์ชำรุดเล็ก ๆ น้อย ๆ พระองค์ท่านจะโปรดให้ชุนบ้าง เปลี่ยนยางยืดบ้าง ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ พระองค์ท่านจะไม่ตัดใหม่ บางชุดตัดมา 8-9 ปีแล้ว บางชุดที่พระองค์โปรดมากก็ใช้นานถึง 12 ปี ส่วนใหญ่โปรดให้นำฉลองพระองค์เดิมมาปรับปรุงแก้ไขใหม่ อย่างฉลองพระองค์ชุดบรรทมที่ทรงใช้แล้ว พอนานปีเข้ายางที่บั้นพระองค์ยืด ก็พระราชทานมาให้เปลี่ยนยางใหม่
พระองค์ทรงใช้พลังงานอย่างประหยัดด้วยการ “นั่งรถหารสอง” เมื่อครั้งทรงออกตรวจงานภายนอก จะทรงรับสั่งกับข้าราชบริพารเสมอ ๆ ว่า ให้นั่งรถร่วมกัน เพราะการนั่งรถคนละคันนั้นเป็นการสิ้นเปลือง อีกทั้งไม่โปรดให้มีขบวนรถยาวเหยียดด้วย
ทั่วโลกยกย่อง...ยึดแบบอย่าง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้รับการเชิดชูเป็นอย่างสูงจากองค์การสหประชาชาติ โดย
นายโคฟี อันนัน ในฐานะเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๖ พ.ค. ๒๕๔๙ และได้ปาฐกถาถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่า เป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ และสามารถเริ่มได้จากการสร้างภูมิคุ้มกันในตนเอง สู่หมู่บ้าน และสู่เศรษฐกิจในวงกว้างขึ้นในที่สุด

นอกจากนี้ ทั่วโลกยังปฏิบัติตามแนวทางที่พระองค์ทรงเป็นผู้ริเริ่มไว้
สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก กษัตริย์แห่งภูฏาน กษัตริย์ที่มีพระจริยวัตรเรียบง่ายติดดินตามแบบอย่างพ่อหลวงของไทย ทรงยึดแนวทางของในหลวงเป็นแบบอย่างในการพัฒนาภูฏาน
ทว่า เมื่อย้อนไป
สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ประมุขคนก่อน ซึ่งเป็นพระบิดาของกษัตริย์จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ทรงมีแนวทางในการพัฒนาประเทศคล้ายคลึงกับในหลวงของไทย โดยพระองค์เป็นบุคคลแรกในโลกก็ว่าได้ที่กล้าประกาศแนวทางการพัฒนาประเทศ โดยไม่ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP-Gross Domestic Product) แต่ให้ความสำคัญกับความสุขมวลรวมแห่งชาติ (GNH-Gross National Happiness) ของประชาชนเป็นหลัก

หลายต่อหลายคนที่น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เช่นเดียวกับ
นายมาร์ติน วิลเลอร์ เกษตรกร และปราชญ์ชาวบ้านสัญชาติอังกฤษที่ทิ้งความสุขสบายจากบ้านเกิดเมืองผู้ดี มาสร้างครอบครัวเล็ก ๆ ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงกับภรรยา และลูกอีก 3 คน เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า คนไทยโชคดีมากที่ได้ในหลวงเป็นผู้นำ หากษัตริย์ในประเทศอื่นไม่มี
“ปัญหาคือคนไทยส่วนมากนับถือในหลวง แต่ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสอนของในหลวง พระองค์ท่านบอกมาหลายปี ถึงเศรษฐกิจพอเพียง แต่คนไทยก็ไม่รู้จักพอเพียง เอาอย่างเดียวคือ ยกมือไหว้ในหลวง แต่เวลาดำรงชีวิตไม่ได้ทำตามในหลวง
ก็ในหลวงบอกไว้แล้วว่าไม่จำเป็น ที่จะต้องเป็นเสือ ขอให้มีอยู่มีกินไว้ก่อน ถ้าทุกคนเริ่มคิดจริงๆ ถึงสิ่งที่ในหลวงพูด เราน่าจะช่วยให้ประเทศไทยอยู่ได้เพราะความคิดของในหลวง เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงต้องอาศัยพลังแผ่นดิน ทำได้เฉพาะประเทศไทยนะ เศรษฐกิจพอเพียงที่อื่นทำไม่ได้หรอก เพราะเขาไม่มีที่ดิน ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติเยอะเหมือนประเทศไทย”

ล่าสุด สมัชชาสหประชาชาติจัดประชุมเพื่อสดุดีและถวายพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดไม่บ่อยนัก หลังจากการกล่าวถวายราชสดุดีของประธานในที่ประชุมก็มีการยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 1 นาที เพื่อไว้อาลัยแด่พระองค์ท่าน
โอกาสนี้ นาย
บัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ รวมถึงเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ และประธานกลุ่มภูมิภาคต่าง ๆ ได้กล่าวคำถวายสดุดีเพื่อแสดงความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
โดยย้ำถึงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงอุทิศพระองค์เพื่อประโยชน์และความสุขของประชาชน ทรงนำทางและเป็นศูนย์รวมจิตใจ สร้างความเจริญทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างทึ่งของประเทศไทย ตลอดระยะเวลาครองราชย์ ๗๐ ปี ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนาที่ประจักษ์ได้จากโครงการที่ทรงริเริ่มกว่า ๔,๐๐๐ โครงการ และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสั่งสมจากประสบการณ์ด้านการพัฒนาที่ทรงดำเนินการมาตลอดพระชนม์ชีพ และเป็นแนวทางที่สามารถนำไปใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศต่างๆทั่วโลก การสูญเสียครั้งนี้จึงมิใช่การสูญเสียของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการสูญเสียของโลก
...เชื่อว่า คำสอน “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพ่อ จะเป็นมรดกตกทอดต่อยอดสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกหลานชาวไทยและชาวโลกปฏิบัติตาม “พ่อ” สืบต่อไป 
จาก
http://astv.mobi/AOAUHv6