ผู้เขียน หัวข้อ: ตามรอยพระบาทยาตรา จาก ‘ฟ้า’ สู่ ‘ดิน’  (อ่าน 952 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



ตามรอยพระบาทยาตรา จาก ‘ฟ้า’ สู่ ‘ดิน’

“โครงการหลวงเกิดขึ้นเพราะท่านไปเที่ยว”

นี่คือข้อความที่หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ทรงตรัสแก่เหล่าเจ้าหน้าที่โครงการหลวง ซึ่งคำว่า “ไปเที่ยว” นั้น หมายถึง การเสด็จประพาสต้นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั่นเอง

การท่องเที่ยวสำหรับคนทั่วไปอาจหมายถึงการพักผ่อนกายใจเพื่อความรื่มรมย์ หากทว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จประพาสต้นเพื่อทอดพระเนตรทุกข์สุขของประชาชน ฉะนั้นไม่ว่าจะห่างไกลหรือทุรกันดารแค่ไหน พระองค์ก็จะเสด็จดั้นด้นไปให้ถึงทุกที่ที่ราษฎรของพระองค์อยู่

พระราชนิพนธ์ของหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ระบุว่า เมื่อปีพุทธศักราช 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ รัชกาลที่ 9 พระราชดำเนินแบบ “ทรงเดินไป” ทอดพระเนตรชีวิตของชาวเขาที่ “บ้านดอยปุย” ใกล้พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์

“ท่านรับสั่งถามแม้วที่นั่นว่า นอกจากปลูกฝิ่นขายแล้ว เขามีรายได้จากพืชพันธุ์อื่นอีกหรือเปล่า ซึ่งเรื่องนี้ถ้าเป็นคนอื่น ถึงจะไม่ต้องเป็นตำรวจก็ตาม เขาคงบอกว่า “เปล่าๆ ฝิ่นบ่ดี เฮาบ่ปลูก”...แต่สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เขาเห็นได้ชัดว่า ท่านทรงสนพระทัย ทรงเห็นใจเขา มีพระราชประสงค์จะช่วย จึงไม่ปิดบังความจริงอะไร ทำให้ทรงทราบว่า นอกจากฝิ่นแล้ว เขายังเก็บท้อพื้นเมืองขาย ซึ่งแม้แต่ลูกจะเล็กก็ตาม แต่ก็ยังได้เงินเท่าๆ กัน”

หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานเงินจำนวน 2 แสนบาท ให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำหรับจัดหาที่ดินสำหรับดำเนินงานวิจัยไม้ผลเขตหนาวเพิ่มเติมจากสถานีวิจัยดอยปุย ซึ่งมีพื้นที่คับแคบ โดยเรียกพื้นที่นี้ว่า “สวนสองแสน” ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้ง “โครงการหลวง” ขึ้น เพื่อช่วยเหลือชาวเขา และลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนเป็นการกำจัดการปลูกฝิ่น รวมถึงรักษาดิน น้ำ ป่า อย่างเป็นระบบ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา โครงการหลวงทำให้เกิดการพัฒนาสังคมและชุมชนบนที่สูง ตลอดจนมีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้คงความอุดมสมบูรณ์ ที่สุดแล้วก็นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันมีโครงการหลวงทั้งสิ้น 38 แห่ง ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง และพะเยา

ด้วยสภาพความสวยงามของพื้นที่และเต็มเปี่ยมไปด้วยเทคโนโลยีการเกษตรที่ได้รับการพัฒนา โครงการหลวงจึงกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเดินทางไปสัมผัสพร้อมๆ กับเรียนรู้ตามรอย “พ่อของแผ่นดิน”

สำหรับสถานีวิจัยและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทั้ง 38 แห่งนั้น ได้แก่ 1.สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ 2.สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ 3.สถานีเกษตรหลวงหลวงปางดะ จังหวัดเชียงใหม่ 4.สถานีวิจัยและส่งเสริมกาแฟอราบิก้าแม่หลอด จังหวัดเชียงใหม่ 5.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง จังหวัดเชียงใหม่ 6..ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแกน้อย จังหวัดเชียงใหม่ 7.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก จังหวัดเชียงใหม่ 8.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว จังหวัดเชียงใหม่ 9.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 10.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย จังหวัดเชียงใหม่

11.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง จังหวัดเชียงใหม่ 12.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก จังหวัดเชียงใหม่ 13.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ 14.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ จังหวัดเชียงใหม่ 15.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะป๊อก จังหวัดเชียงใหม่ 16.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง จังหวัดเชียงใหม่ 17.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ จังหวัดเชียงใหม่ 18.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง จังหวัดเชียงใหม่ 19.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 20.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ จังหวัดเชียงใหม่

21.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม จังหวัดเชียงใหม่ 22.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง จังหวัดเชียงใหม่ 23.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเรา จังหวัดเชียงใหม่ 24.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยเสี้ยว จังหวัดเชียงใหม่ 25.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง จังหวัดเชียงราย 26.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ จังหวัดเชียงราย 27.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง จังหวัดเชียงราย 28.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน จังหวัดเชียงใหม่ 29.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ปูนหลวง จังหวัดเชียงราย 30.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น จังหวัดเชียงราย

31.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม จังหวัดลำพูน 32.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน 33.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 34.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า จังหวัดพะเยา 35.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แพะ จังหวัดเชียงใหม่ 36.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยส้มบ่อย จังหวัดเชียงใหม่ 37.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่โถ จังหวัดเชียงใหม่ และ 38.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้ง จังหวัดเชียงราย


การท่องเที่ยวในพื้นที่สถานีวิจัยและศูนย์พัฒนาโครงการหลวง สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ นักท่องเที่ยวจะได้เห็นงานทางด้านส่งเสริมการเกษตรที่สูง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงวางรากฐานเอาไว้จนประสบความสำเร็จอย่างงดงามในปัจจุบัน ได้เรียนรู้และเห็นการทำงานวิจัยของนักวิจัยและเจ้าหน้าที่โครงการหลวงในการ ค้นคว้า พันธุ์ผักและผลไม้ที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกในพื้นที่ ได้เห็นและเรียนรู้การพัฒนาส่งเสริมของชาวเขาทำการเพาะปลูกพืชใหม่ๆ ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวของพวกเขา ตลอดจนได้เห็นแปลงปลูกพืชผักและผลไม้เมืองหนาวนับร้อยชนิด รวมถึงไม้ดอกที่สวยงามหลากพันธุ์หลากสีสัน

นอกจากนั้น นักท่องเที่ยวยังจะได้สัมผัสกับธรรมชาติที่สวยงามของป่าไม้ ป่าต้นน้ำลำธารที่ได้รับการอนุรักษ์เอาไว้ ทั้งป่าธรรมชาติ และป่าที่ได้รับการฟื้นฟูสภาพ ที่ปลูกขึ้นมาใหม่ อย่างอุดมสมบูรณ์ จนปัจจุบันไม่เห็นร่องรอยของป่าเสื่อมโทรมอีกต่อไป

ขณะเดียวกันศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุกแห่ง ได้ส่งเสริมให้ประชาชนคนในพื้นที่รักษาขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน เองไว้ไม่ให้สูญหาย สนับสนุนให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ผลักดันและสนับสนุนให้เกิดศูนย์วัฒนธรรมของชนเผ่า ซึ่งจะเป็นสถานที่จัดแสดงวัฒนธรรมต่างๆ ตลอดจนขายของที่ระลึกที่มาจากผลผลิตทางการเกษตรหรือหัตถกรรมที่มาจากในหมู่บ้าน อีกทั้งยังฝึกฝนให้เด็กๆ ในพื้นที่เป็นมัคคุเทศก์น้อย เพื่อพานักท่องเที่ยวเยี่ยมชมหมู่บ้านของตนเองหรือสถานที่ทางธรรมชาติรอบๆ หมู่บ้าน นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่สวยงามของชนเผ่าต่างๆ ที่อยู่พื้นที่ของโครงการหลวงซึ่งมีมากถึง 15 กลุ่มชาติพันธุ์ 15 วัฒนธรรม ซึ่งน่าสนใจและน่าศึกษาเป็นอย่างมาก

ปัจจุบันการท่องเที่ยวในโครงการหลวง สามารถเดินทางได้สะดวกมากขึ้นแม้ว่าบางเส้นทางยังไม่ค่อยจะสะดวกมากนักก็ตาม แต่ก็ทำให้การท่องเที่ยวมีรสชาติมากขึ้น หลายๆ คนเลือกที่จะเดินทางในช่วงหน้าหนาว เพราะชอบความหนาวเย็น ท้องฟ้าใส ดอกไม้สวย หลายคนก็ชอบเดินทางในหน้าฝน เพราะชอบความชุ่มฉ่ำของสายฝน ความเขียวชะอุ่มของทุ่งนา ป่าไม้ และความสวยงามของลำธาร น้ำตก และบางคนที่ชอบเที่ยวในหน้าร้อน เพราะอากาศกำลังสบาย ไม่หนาวเกินไป ชอบสีสันสดสวยของดอกไม้ป่าหลายชนิดที่แข่งกันกันออกดอกบานสะพรั่ง การเดินทางก็ไม่ยากลำบากนัก

โครงการหลวงทุกแห่งสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี แต่ละฤดูก็มีเสน่ห์และความสวยงามแตกต่างกันออกไป เช่น ในช่วงหน้าหนาว ดอยต่างๆ จะสดใสไปด้วยไม้ดอกที่เบ่งบาน แข่งขันกันชูช่อสวย ส่วนในหน้าร้อนไม้ผลขนาดใหญ่ก็จะเริ่มออกดอกบานสะพรั่งแต้มสีสันทั้งหุบเขา สร้างความประทับใจให้กับผู้พบเห็นได้อย่างไม่รู้ลืม แต่ถ้าเป็นหน้าฝน ผลไม้หลายชนิดก็เริ่มผลิลูกออกผล ลูกพลับสีส้มสดแข่งกันออกสลับกับลูกสาลี่สีเหลืองอ่อนเต็มต้น ท่ามกลางสีเขียวชะอุ่มของดงดอย และความฉ่ำเย็นของสายฝน รวมถึงพืชผักเมืองหนาวสดๆ ที่มีให้ชมและให้ชิมกันตลอดทั้งปี

สำหรับโครงการหลวงที่ได้รับความนิยมมาก เช่น สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง มีจุดเที่ยวชมที่น่าสนใจ ได้แก่ “สวนแปดสิบ” เป็นสวนกลางแจ้งตรงข้ามสโมสรอ่างขาง เป็นสวนตกแต่งสวนสไตล์อังกฤษมีดอกไม้ ไม้ประดับปลูกหมุนเวียนตลอดทั้งปี ด้านบนยังเป็นลานต้นซากุระญี่ปุ่นจะบานช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม นอกจากนี้ยังมี “สวนหอม” ที่รวบรวมพันธุ์ไม้ที่มีกลิ่นหอมทั้งในและต่างประเทศ ไว้มากมาย “สวนบอนไซอ่างขาง” จัดแสดงพันธุ์ไม้หลากชนิดยุคแรกเริ่มก่อตั้งสถานีในรูปแบบการปลูกเลี้ยงในกระถางแบบบอนไซ รวมถึงโรงเรือนดอกไม้ กุหลาบตัดดอก พันธุ์ผัก แปลงบ๊วย และแปลงไม้ผลอีกมากมาย

สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ มีสถานที่สำคัญ คือ “สวน 80 พรรษา” ซึ่งจัดในปี พ.ศ.2550 เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระชนมพรรษา ครบ 80 พรรษา และเป็นสถานที่จัดแสดงขึ้นเพื่อรองรับการศึกษาดูงานของผู้มีความสนใจศึกษาเกี่ยวกับพรรณไม้ดอกเมืองหนาว “สวนหลวงสิริภูมิ” เป็นสวนที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อใช้เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์เฟิน ภายในมีน้ำตกขนาดเล็ก ซึ่งเป็นน้ำตกชั้นล่างของน้ำตกสิริภูมิ มีลำธารไหลไปตามบริเวณสวนตลอดปี เป็นแหล่งเก็บรวมรวมเฟินทั้งของไทยและต่างประเทศไว้มากมาย “สวนกุหลาบพันปี” ที่เกิดจากการศึกษาและขยายพันธุ์กุหลาบพันปีพืชในสกุล Rhododendron จากแหล่งต่างๆ ที่มีการกระจายพันธุ์อยู่ตามพื้นที่สูง ทั้งในและต่างประเทศเช่น พม่า มาเลเซีย ทิเบต นอกจากนี้ยังมีโรงเรือนพืชพรรณอีกหลายชนิด

สถานีเกษตรหลวงหลวงปางดะ เป็นแปลงวิจัยทดสอบสาธิตไม้ผล เช่น กีวี่ฟรุ๊ต โลควัท ไม้ผลขนาดเล็ก เช่น มะเดื่อฝรั่ง องุ่นไร้เมล็ด เสาวรส ราสพ์เบอรี่ มัลเบอรี่ และไม้ผลเขตร้อน เช่น อาโวคาโด้ มะม่วง ลิ้นจี่ มะเฟือง นอกจากนี้ก็มีแปลงวิจัยทดสอบสาธิตผัก เช่น มะระหัวใจ มันเทศญี่ปุ่น สลัดรวม ถั่วแขก, แปลงทดสอบพืชสมุนไพร เช่น จิงจูฉ่าย เลมอนทาร์ม เสจ หญ้าหวาน ชาหอม มิ้นต์ รวมถึงแปลงวิจัยทดสอบสาธิตไม้ดอก เช่น ยูโคมิส กอลิโอซ่า เฮลิโคเนีย ดอกกุหลาบสายพันธุ์ต่างๆ และยังมีแปลงทอดสอบไผ่หวาน ไผ่หยก และพืชนำเข้า เช่น ทับทิมเมล็ดนิ่ม เชอรี่สเปน

สถานีวิจัยและส่งเสริมกาแฟอราบิก้าแม่หลอด นักท่องเที่ยวสามารถชมแปลงสาธิตกาแฟพันธุ์อาราบิก้าหลายสายพันธุ์ภายใต้ร่มเงาร่มรื่นของต้นไม้ ตลอดจนขั้นตอนการเพาะกล้าและเก็บเกี่ยวเมล็ดช่วงเดือนธันวาคม รวมถึงพืชที่สามารถปลูกร่วมกับแปลงกาแฟ เช่น พริกไท กระวาน ชมแปลงปลูกสมุนไพร เช่น ยูเอสเอมิ้นต์ ออริกาโน จิงจูฉ่าย และชมแปลงสาธิตผัก เช่น ซูกินี แตงกวาหนาม พริกซุปเปอร์ฮอท

ชมโรงเรือนปลูกดอกเบญจมาศหลากสีสัน ทั้งแบบดอกเดี่ยว ดอกช่อ และดอกลิเซียทัส คาร์เนชั่น ลิลลี่ ที่ โครงการหลวงขุนวาง หรือจะชมแปลงปลูกชาจีนเบอร์ 12 พันธุ์หยวนจืออู่หลง ดูขั้นตอนการผลิตชาพร้อมชิมชา (ขั้นตอนการผลิตชาอยู่ในโรงผลิตชาซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่บ้านขุนแม่วาก) แปลงไม้ผล เช่น องุ่นไร้เมล็ด กีวีฟรู้ท พี้ช พลับ เครปกูสเบอรี่ เสาวรสหวาน สตรอเบอรี่ และบ๊วย โรงเรือนสาธิตการปลูกวานิลลา ออกฝักพร้อมเก็บเกี่ยวเดือนมีนาคม โรงเรือนเห็ดเมืองหนาว เช่น เห็ดโพโตเบลโล เห็ดแชมปิญอง

อีกแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ คือ โครงการหลวงตีนตก ที่มีมุมนั่งเล่นพักผ่อนริมสายธารน้ำ กิจกรรมให้อาหารปลา สามารถชมสวนกาแฟใต้ร่มเงาต้นไม้ ช่วงเดือนธันวาคม จะเห็นเมล็ดกาแฟสุกสีแดงสด พร้อมเก็บเกี่ยวส่งไปยังโรงงานแปรรูปในศูนย์ ผ่านขั้นตอนกะเทาะเปลือก ตากแห้ง และคั่ว ให้เป็นเมล็ดกาแฟคุณภาพ ไม่เพียงเท่านี้ ตีนตกยังมีโรงเรือนกล้วยไม้ฟาแลนนอปซิสหลากสีให้ชื่นชมด้วย

โครงการหลวงทุ่งเรา มีแปลงสาธิตการปลูกผักและดอกไม้ทั้งแปลงดอกเยอบีร่าบนไหล่เขาของชาวม้งบ้านบวกจั่น หรือแปลงปลูกสตรอเบอรี่และผักปลอดสารพิษ เช่น ยอดชาโยเต้ ลูกฟักชาโยเต้ พริกหวานหลากสี มะเขือเทศ ฯลฯ แปลงสมุนไพร เช่น ยูเอสมิ้นต์ เจแปนนิสมิ้นต์ ฯลฯ หรือแปลงกุหลาบบ้านบวกเต๋ย

ส่วน โครงการหลวงทุ่งเริง มีสวนกุหลาบห้วยผักไผ่ เป็นหน่วยย่อยที่อยู่ในความรับผิดชอบของโครงการหลวงทุ่งเริง โดยเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยแปลงกุหลาบ กว่า 200 สายพันธุ์ มีทั้งกุหลาบทั่วไป กุหลาบเลื้อย หรือกุหลาบแบบไม้ประดับสวน กุหลาบกระถางให้เลือกซื้อนำไปปลูก ภายในสวนมีร้านกาแฟ อาหารว่างไว้จำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีแปลงสาธิตการปลูกอาโวคาโดหลากสายพันธุ์ ซึ่งเป็นไม้ผลหลักที่ปลูกเยอะในพื้นที่ ช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม ชิมไอศกรีมเสิร์ฟในผลอาโวคาโด

เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการหลวงที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริที่ว่า “ช่วยเขาให้ช่วยตนเองในการปลูกพืชที่มีประโยชน์ และมีมาตรฐานความเป็นอยู่ดีขึ้น” นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้

......................

"เรื่องที่จะช่วยชาวเขาและโครงการชาวเขานั้น มีประโยชน์โดยตรงกับชาวเขา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถเพาะปลูกสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นรายได้กับเขาเอง จุดประสงค์อย่างหนึ่งคือมนุษยธรรม หมายถึงให้ผู้อยู่ในถิ่นทุรกันดารสามารถมีความรู้พยุงตัวให้มีความเจริญได้ อีกอย่างหนึ่งเป็นเรื่องช่วยในทางที่ทุกคนเห็นว่าควรจะช่วย เพราะเป็นปัญหาใหญ่คือปัญหาเรื่องยาเสพติด ถ้าช่วยชาวเขาปลูกพืชที่เป็นประโยชน์บ้างเขาจะเลิกปลูกยาเสพติด คือ ฝิ่น ทำให้นโยบายการระงับการปราบปรามการสูบฝิ่นและค้าฝิ่นได้ผลดี อันเป็นผลอย่างหนึ่ง...

... อีกอย่างคือชาวเขาตามที่รู้เป็นผู้ทำการเพาะปลูกโดยวิธีที่จะทำให้บ้านเมืองของเราสู่หายนะได้ ที่ถางป่าและปลูกโดยวิธีไม่ถูกต้อง ถ้าพวกเราทุกคนไปช่วยเขาก็เท่ากับช่วยบ้านเมืองให้มีความดี อยู่ดี กินดีและปลอดภัยได้อีกทั่วประเทศ ถ้าสามารถทำโครงการนี้สำเร็จให้ชาวเขาอยู่เป็นหลักแหล่ง และสนับสนุนนโยบายจะรักษาป่า รักษาป่าให้เป็นประโยชน์ต่อไปและยั่งยืนมาก”


พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่องช่วยชาวเขาและโครงการชาวเขา เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2517



















จาก http://bit.ly/2e2C7Wf
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...