ผู้เขียน หัวข้อ: ร.๙ “พระองค์ผู้ทรงทำ” ความทรงจำที่ไม่มีวันเลือนจาง : ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์  (อ่าน 1436 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด

<a href="https://www.youtube.com/v/trEbnXsGYYw" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/trEbnXsGYYw</a>

ร.๙ “พระองค์ผู้ทรงทำ” ความทรงจำที่ไม่มีวันเลือนจาง : ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

        “อย่ายึดติดกับแนวคิดให้มาก เพราะพระองค์เป็นนักปฏิบัติ” ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ พูดจากใจ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ คือคนที่รักที่สุดในชีวิต ในแผ่นดิน พร้อมตั้งจิตเขียนหนังสือ “พระองค์ผู้ทรงทำ” หวังเตือนความทรงจำ ถึงสิ่งที่พระองค์ได้ทรงทำเพื่อพสกนิกรไทย ตลอดระยะเวลา ๗๐ ปีที่ครองราชย์



        “น้อมรำลึกพระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย” คือถ้อยคำสั้นๆ บนปกหนังสือเล่มใหม่ที่เขียนโดย “ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” หรือ “อาจารย์ธรณ์” ตามคำเรียกขานด้วยความคุ้นเคยของใครต่อใคร และหากได้กดติดตาม “Follow” อาจารย์ธรณ์ทางเฟซบุ๊ก ทุกๆ คนก็คงได้เห็นข้อความจากใจที่อาจารย์ธรณ์ได้แชร์ไว้ในสเตตัส ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนเกี่ยวเนื่องกับพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙
       
       จากบทความสั้นๆ ที่มีคนสนใจ ทั้งกดไลค์และแชร์ไปอย่างมากมาย “อาจารย์ธรณ์” ได้สัญจรความสนใจสู่ข้อมูลเชิงลึก ทั้งที่เคยศึกษารู้มาแล้ว และค้นคว้าเพิ่มเติมอย่างจริงจังตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมา กระทั่งตกผลึกเป็นงานเขียนเล่มใหม่ในชื่อว่า “พระองค์ผู้ทรงทำ” ที่อาจารย์ใช้คำว่า เขียนแบบ “สุดฝีมือ” เพื่อคนที่รักที่สุดในชีวิต ในแผ่นดิน ...



      “ มีสิ่งที่พระองค์ทรงทำมากมายที่ทำให้คุณมาเป็นวันนี้
       ทำให้ประเทศของเราเป็นประเทศที่เราภาคภูมิใจ และเรารักที่สุด ”


       • แรงบันดาลใจที่มาของหนังสือ “พระองค์ผู้ทรงทำ”
       
       จริงๆ ตอนแรก หลังจากที่พระองค์จากพวกเราไป ผมตั้งใจว่า อาจจะชวนหลายๆ คนมาเขียนหนังสือกันสักเล่มหนึ่ง ตอนนั้นก็กะว่าจะเขียนอีกสัก ๖ เดือน หรือ ๑๐ เดือน แต่พอพระองค์จากไปได้ประมาณ ๓ - ๔ วัน ผมก็ได้เขียนบทความโพสต์ทางเฟซบุ๊ก ปรากฏว่ามีผู้คนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก เช่น บทความเรื่องโลกร้อน บทความเรื่องปลานิล ในที่สุดก็เลยตัดสินใจว่าเราเขียนเองเลยดีกว่า เพราะหนังสือส่วนใหญ่ที่มีอยู่ก็จะเป็นพวกหนังสือภาพ หนังสือที่เป็นข้อความค่อนข้างหายาก ผมเลยทำตรงนี้ขึ้นมา
       
       ตอนที่เขียน ผมมีความชัดเจนมากว่า หลายต่อหลายครั้ง เวลาผมทำงานบางงานผมก็สงสัยว่าผมจะทำไปทำไม เพราะไปทำอย่างอื่น ผมได้เงินเยอะกว่า ทำหนังสือบางเล่ม ได้เงินนิดเดียว ผมเขียนอย่างอื่น ได้เงินเร็วกว่าเยอะ แล้วมันเหนื่อยมาก บางเล่มเป็นปี เวลานั่งทำงานตอนกลางคืนตีหนึ่งตีสอง ผมถามตัวเองเสมอว่าทำไปทำไม ลูกเมียก็มี ต้องเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียไหม คำตอบมันก็คือว่า เรามีคนคนหนึ่งซึ่งทำงานหนักกว่าเรา คนคนหนึ่งซึ่งทำทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง เวลาทำงานอย่างนั้น แรงบันดาลใจและแรงผลักดัน มันมีค่ามากที่สุด เพราะคุณไม่สามารถจะคิดถึงผลตอบแทนได้ คุณต้องใช้อะไรสักอย่างมาเป็นแรงผลักดันให้คุณทำให้จบ ซึ่งมีอยู่คนเดียวเท่านั้นในประเทศไทยที่ทุกคนคิดถึงได้โดยปราศจากข้อกังขาว่าคนคนนี้เป็นคนดีร้อยเปอร์เซ็นต์หรือเปล่า
       
       ผมไม่เคยคิดถึงนายกรัฐมนตรีท่านไหน ไม่เคยคิดถึงรัฐมนตรี ไม่เคยคิดถึงนักการเมืองท่านไหนทั้งสิ้น มีอยู่คนเดียวที่ผมคิดถึงว่าท่านยังทำได้ เราก็ต้องทำได้ แต่ตอนนี้ท่านไม่อยู่แล้ว ปัญหาที่สำคัญที่สุดก็คือเราจะซื่อสัตย์ต่อความทรงจำในวันแรกๆ ได้แค่ไหน เวลามันจะทำลายความทรงจำของเราไปเรื่อยๆ จนสักวันหนึ่ง เราก็อาจจะจำได้เพียงผิวเผินว่ามีกษัตริย์พระองค์หนึ่งเคยมีพระราชดำรัสอะไรเยอะแยะมากมาย
       
       เพราะฉะนั้น ความต้องการจะทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาก็เพื่อชี้ให้เห็นชัดว่ามันมีเรื่องราวมากมาย มีสิ่งที่พระองค์ทรงทำมากมายที่ทำให้คุณมาเป็นวันนี้ ทำให้ประเทศของเราเป็นประเทศที่เราภาคภูมิใจ และเรารักที่สุด ผมไม่ทราบว่าคนอื่นคิดยังไง แต่ผมรักประเทศนี้ และประเทศนี้ที่ผมรักก็ด้วยเหตุว่า ๗๐ ปี ประเทศนี้มีพระองค์ นั่นก็คือสิ่งที่อยากเขียนในหนังสือครับ
       
       • ในหนังสือเล่มนี้เห็นว่าอาจารย์ได้ชี้แจงไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า จะทำให้พวกเราโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้ทราบว่าพระองค์ทรงทำอะไรให้กับเราบ้าง และแนวทางที่เราจะดำเนินรอยตาม ซึ่งคำคำหนึ่งที่อาจารย์เน้นย้ำมากก็คือคำว่า “วิสัยทัศน์”
       
       วิสัยทัศน์ของพระองค์ก็คือ “กินดี อยู่ดี” ต้องอ่านครับ ให้ผมพูด ผมพูดไม่ได้จริงๆ ผมพยามมาหลายหนแล้ว เรื่องวิสัยทัศน์ของพระองค์ ให้พูดด้วยปาก ไม่มีทางเข้าใจ ต้องอ่าน เพราะ ๗๐ ปี เกือบ ๕,๐๐๐ โครงการ เฉพาะโครงการพระราชดำรินะ ไม่รวมนู่นนี่นั่นอีก
       
       “วิสัยทัศน์กินดี อยู่ดี” ที่เห็นได้ชัดเจน ก็เช่น เรื่องปลานิล หกบ่อวางเรียงรายกันเพื่อเลี้ยงปลานิล เพราะฉะนั้น คนยิ่งอ่าน ก็จะยิ่งพบว่า นี่วังเหรอ เหมือนกับไม่ใช่วัง แต่เป็นเหมือนโรงงานทดลองทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเป้าหมายให้ประชาชนของพระองค์ซึ่งก็คือพวกเรากินดีอยู่ดี พระองค์พูดกับพวกเราเป็นคำมั่นสัญญามาตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ว่าพระองค์จะทำเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม ประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยามคืออะไร ไม่ใช่เรารวยขึ้น ไม่ใช่มีเงินเยอะมากมายมหาศาล
       
       ทีนี้ คำว่า “กินดี” คืออะไร อย่างไรถึงเรียกว่ากินดี ตัวอย่างง่ายๆ เช่น เด็กทุกคนสามารถที่จะมีโปรตีนราคาถูกกินได้ ไม่ใช่ต้องไปเข้าร้านฟาสต์ฟู้ดซื้อเนื้อซื้อไก่จากต่างประเทศ ทีนี้ อย่าเพิ่งคิดแต่เฉพาะเด็กในเมืองนะครับ เรายังมีเด็กต่างจังหวัดที่เขายังจะต้องการโปรตีน เขาจะกินอะไร กินแต่ขนมกรุบกรอบแล้วเด็กจะฉลาดขึ้นไหม หนังสือเรียนจะดีให้ตาย จะปฏิรูปการศึกษาให้ตาย แต่ถ้าหัวคนมันไม่ไป ไม่มีโปรตีนเลี้ยงสมอง ไม่เติบโต จะเก่งขึ้นไหม
       
       เพราะฉะนั้น พระองค์พิจารณาแล้วว่าจริงๆ แล้ว โปรตีนลักษณะนี้ก็คือปลา คนไทยกินปลา “ในน้ำมีปลา” เป็นคำคุ้นเคยของเรา แต่สมัยก่อนนะ มีแต่ปลาหมอ เอามาทำปลาร้า คนภาคเหนือ ภาคอีสาน อาจจะบอกว่ามีปลาสวายเยอะแยะที่อยู่ในแม่น้ำ แต่คนส่วนใหญ่เขาไม่ได้อยู่ติดแม่น้ำ หนองน้ำแห้งบางทีแล้งด้วยซ้ำ เหลือน้ำอยู่หน่อยเดียว ปลาสวายที่ไหนจะไปอยู่ในน้ำลึกแค่ศอกสองศอก เพราะฉะนั้น พระองค์ก็ทรงใช้การทูตหยุดโลก เพื่อที่จะเอาปลานิลมา เรื่องปลานิลนี่ผมเขียนไปแล้วก็มีคนอ่านเยอะ แต่ในหนังสือ ผมมานั่งเขียนใหม่หมด พบอะไรอีกหลายอย่างที่น่าสนใจครับ

       
      “อยู่ดี” ในความหมายของพระองค์ท่าน
       คืออยู่ในโลกที่สงบ โลกที่สามารถอยู่คู่กับธรรมชาติได้
       ไม่ว่าคุณจะรวยแค่ไหน แต่ถ้าลูกคุณอยู่ในรถสามชั่วโมงเพราะน้ำท่วม
       อันนั้นเรียกว่า "อยู่ดี" ไหม”


        ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่พระองค์ได้ปลานิลมาจากญี่ปุ่นเรียบร้อยแล้ว ๕๐ ตัว ตัวหนึ่งความยาวแค่ ๙ เซ็นติเมตรเท่านั้น พระองค์เอามาที่วังสวนจิตรลดา ทุกอย่างมาที่วังสวนจิตรลดาหมด เสร็จแล้วก็ให้บ่อ บ่อขนาดใหญ่ประมาณ ๑๐ ตารางเมตร เล็กนิดเดียว แล้วก็นำปลานิล ๕๐ ตัวไปเลี้ยงในบ่อนั้น เลี้ยงไปเลี้ยงมา เวลาผ่านไปห้าเดือน ปลานิลเพิ่มจำนวนเต็มบ่อ พระองค์ทรงโปรดฯ ให้ขุดบ่อในสวนจิตรลดาเพิ่มอีก ขุดบ่อเลี้ยงกันอีก ๖ บ่อ บ่อละ ๗๐ ตารางเมตร เอาปลานิลย้ายไปปล่อยทีละบ่อ “ด้วยพระองค์เอง” อันนี้เป็นข้อมูลยืนยันจากกรมประมงนะครับ มีเอกสารชัดเจน ไม่ได้พูดเอาเอง หลังจากนั้นหนึ่งปี พระองค์จึงพระราชทานปลานิล ๑๐,๐๐๐ ตัว และตลอดระยะเวลา ๕๐ ปี พระองค์ทรงต่อสู้มาตลอดเพื่อให้พวกเรามีปลานิลกิน
       
       หลายต่อหลายคนบอกว่าโตมาด้วยปลานิล ผมไปถามชาวบ้านที่เลี้ยงปลานิลตามฟาร์ม ตามกระชัง แต่ละคนล้วนแต่ร้องไห้ บอกว่ามีกินมีใช้ หาเงินได้ทุกวันนี้ ก็เพราะปลาของพระราชา และปลานิลก็ต่อยอดเป็นประเด็นอื่นทางเศรษฐกิจ เช่น ปลาทับทิมก็คือปลานิลเช่นกัน เพราะฉะนั้น เฉพาะเรื่องปลานิล จะทำให้เราได้เห็นภาพของคำว่า “กินดี” ซึ่งยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมหาศาลที่พระองค์ทรงทำ ผมเอาแค่เฉพาะเรื่องปลานิล
       
       ขณะที่คำว่า “อยู่ดี” เรามักจะคิดว่าการมีไฟฟ้าใช้ มีเฟอร์นิเจอร์สวยๆ มีแอร์ นั่นคืออยู่ดี แต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะ “อยู่ดี” ในความหมายของพระองค์ท่าน คืออยู่ในโลกที่สงบ โลกที่สามารถอยู่คู่กับธรรมชาติได้ ไม่ว่าคุณจะรวยแค่ไหน แต่ถ้าลูกคุณอยู่ในรถสามชั่วโมงเพราะน้ำท่วม อันนั้นเรียกว่าอยู่ดีไหม คนที่อยู่ตามภาคเหนือภาคอีสาน ป่าไม้ที่หมดไป เกิดพายุ โคลนถล่ม มันก็ไม่ใช่อยู่ดี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เรายังพูดถึงภัยแล้งกันอยู่เลย เดือนนี้พูดถึงน้ำท่วม ปีหนึ่งมีสองอย่างสองภัยให้ดูเลย เพราะฉะนั้น ตรงนั้นก็กลับมาที่เรื่อง “ภาวะโลกร้อน” ซึ่งเป็นภัยพิบัติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับธรรมชาติ แล้วเราจะทำยังไง
       
       เรื่องโลกร้อน พระองค์พูดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๒ แต่พระองค์เริ่มทำตอนปี พ.ศ.๒๕๑๔ ท่านเป็นประมุขคนแรกที่พูดเรื่องโลกร้อนให้ประชาชนฟัง พูดในวันเกิดตัวเองด้วย ท่านพูดก่อน “อัล กอร์” (อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา) ๑๗ ปี แต่จริงๆ ผมได้ค้นพบว่าพระองค์ทรงเริ่มทำสิ่งที่เรียกว่า “พลังงานทดแทน” และ “เชื้อเพลิงชีวภาพโรงแกลบ” ในสวนจิตรลดาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๔ เมื่อ ๔๕ ปีที่แล้ว
       
       หรืออย่างเรื่องอื่นๆ เช่นเรื่องแก๊สโซฮอล์ซึ่งพวกเราใช้กันทั้งประเทศในปัจจุบันพระองค์ท่านก็ประทานคุณทรัพย์ส่วนพระองค์ ๙๐๐,๐๐๐ กว่าบาท ตั้งโรงงานแอลกอฮอล์เพื่อที่จะมาผลิตแก๊สโซฮอล์เป็นครั้งแรก ตั้งแต่ราวๆ ปี พ.ศ.๒๕๒๓ แล้วก็ทำมาตลอดจนประสบความสำเร็จ รถในวังทุกคันใช้แก๊สโซฮอล์หมด พระองค์ถึงมาพูดให้พวกเราได้ฟังว่าแก๊สโซฮอล์มันดีนะในปี พ.ศ.๒๕๔๓ ในวันเฉลิมฯ อีกเช่นกัน
       
       • ในข้อเขียนของอาจารย์ มีการใช้คำคำหนึ่งว่า “ทรงจำ” เพราะ “ทรงทำ” นี่คือแก่นของหนังสือเล่มนี้เลยหรือเปล่าครับ
       
       ใช่ครับ เพราะว่าผมไม่ได้คิดเอง ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ครับ ผมเขียนหนังสือทุกเล่ม ผมไม่เคยคิดเอง ไม่เคยวิเคราะห์ตัวหนังสือสี่ห้าตัวอักษรแล้วมาเขียน เขียนไปร้อยพันตัวอักษร ผมมีข้อมูลมีสถิติเป๊ะ “ทรงทำ” คืออะไร ต้องมีตัวเลข ต้องมีสิ่งที่พระองค์ทรงทำชัดเจน ต้องมีข้อมูลที่อ้างอิงได้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ มานั่งฝันเอา เพ้อเอาว่าทำอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่มีครับ
       
       หนังสือเล่มนี้ที่ชื่อว่า “พระองค์ผู้ทรงทำ” ด้วยเหตุผลว่าพระองค์ทำ แต่คุณรู้ไหมพระองค์ทำเพราะเหตุผลอะไร พระองค์ทรงเดินทางไปทำโครงการต่างๆ มากมาย กว่า ๔- ๕ พันโครงการ แต่ทั้งหมดนี้เพื่ออะไร ก็มีเหตุมีผลในการทำทั้งหมด เพราะฉะนั้น เรื่องของเหตุผลนี้ก็คือสิ่งที่ผมจะเขียนบอกเล่าในหนังสือด้วยครับ



     “ ประเทศไทยโชคดีที่โดนล้างสมอง
       ด้วยเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุด
       นั่นคือ สิ่งที่พระองค์ทรงทำ


        • จากสิ่งต่างๆ ที่พระองค์ได้ทรงทำ ทำให้นึกถึงคำพูดของอาจารย์คำหนึ่งก็คือคำว่า “อย่ายึดติดกับแนวคิดให้มาก เพราะพระองค์ทรงเป็นนักปฎิบัติ”
       
       อันนี้เป็นที่รู้กันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราอยากกล่าวย้ำต่อคนรุ่นใหม่ ผมมีคำพูดคำหนึ่งซึ่งเขียนไว้ในหนังสือแล้วผมชอบมาก จริงๆ ไม่อยากบอก เพราะมันอยู่ในหนังสือ แต่บอกหน่อยก็ได้ ผมมีคำถามว่าเรามีปัญหากันอยู่ข้อหนึ่งคือลูกหลานของเรารู้จักในหลวงกันจากไหน ก็ในโรงหนัง ในแบบเรียน ไม่เหมือนคนรุ่นผมที่โตมากับการวิ่งถือธงไปรับ โตมากับการใช้เพลงพระราชนิพนธ์เป็นเพลงประกวดร้องตั้งแต่ ป.๔ อะไรอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ที่สำคัญที่สุดก็คือความทรงจำ เราต้องสร้างความทรงจำให้ลูกหลานเรา
       
       เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ที่ผ่านมา พอจบจากการไปพูดบนเวทีที่งานหนังสือ ผมพาลูกสองคนขึ้นรถ ขับไปที่สนามหลวง วันนั้นคนยังน้อยอยู่ ไปตอนเที่ยงคืนกว่า แล้วพอขับไปถึงแถวๆ กำแพงวัง ผมไม่ได้สอนอะไรลูกผมเลย พอเห็นวัง ผมก็ร้องไห้ ร้องอยู่นั่นแหละ ไปถึงกำแพงก็ยังร้อง ความทรงจำมันก็จะไปสอนให้ลูกได้รู้ว่าพ่อแม่พาเขาไปวังแล้วก็ร้องไห้ ซึ่งเขาก็จะได้ติดใจว่าทำไมถึงมีเหตุการณ์เช่นนั้น ทำไมถึงมีคนเช่นนั้น ไม่ใช่ญาติสนิทมิตรสหาย ไม่ใช่พ่อแม่พี่น้องแล้วทำไมเราต้องร้องไห้ให้คนคนนั้น
       
       ในหนังสือ ผมก็เขียนอธิบายถึงว่า การที่มีคนบอกว่าคนไทยถูกล้างสมองนั้นมันแปลว่าอะไร มันอยู่ในหนังสือ ซึ่งตรงนั้นเป็นข้อความที่ผมชอบมากที่สุดแล้วว่า “ประเทศไทยโชคดีที่โดนล้างสมองด้วยเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุด นั่นคือ สิ่งที่พระองค์ทรงทำ”
       
       อย่างหน้าปกนี้ ผมก็เลือกเอง เป็นหน้าปกที่มีแผนที่ ผมไม่เคยเห็นกษัตริย์พระองค์ใด หรือแม้กระทั่งประมุขประเทศไหนไปหาประชาชนพร้อมแผนที่ นี่แหละคือความหมายทั้งหมด พระองค์ไปหาประชาชนพร้อมแผนที่ ไม่ใช่รับปากไปเรื่อยๆ คนนี้เดือดร้อนด้านโน้นก็รับปาก แล้วตอนจบมีอะไรเกิดขึ้น แต่พระองค์มีแผนที่อยู่ในมือ นั่งถามคุณป้าคุณยายว่าเดือดร้อนเรื่องไหน บ้านเรือนอยู่ตรงไหน วาดมาสิ ที่เดือดร้อนเพราะอะไร มันไม่มีฝาย ตรงนี้ไม่มีบ่อน้ำ กรมชลประทานมาดูนี่สิ “แผนที่” นี่แหละคือความหมายของพระองค์ “ผู้ทรงทำ” ไม่ใช่ “ทรงรับปาก” ต่างกันเยอะ
       
       เพราะฉะนั้น นี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมเลือกภาพที่มีแผนที่... แล้วลองดูภาพนี้ ผมชอบแววตาของคุณป้าคนนี้มาก มันคือความหวัง ถ้าพระองค์ไม่ทรงทำ ไม่มีใครมานั่งมองทำตาอย่างนี้หรอก นั่นคือการความหวัง แววตาของการฝากความหวังทั้งมวลให้คนที่ดีที่สุดของประเทศไทย คนที่ทำงานมากที่สุดของประเทศไทย
       
       อย่างไรก็ตาม ผมก็ต้องการจะแค่เขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อได้อธิบายบางส่วนที่ผมรู้เท่านั้น มันไม่มีทางได้ทุกส่วน เป็นแค่บางส่วนและเป็นเพียงเศษเสี้ยวส่วนน้อย หนึ่งในหมื่นๆ แสนๆ อย่าง ของสิ่งที่พระองค์ทรงทำ คือจริงๆ แล้ว เวลาเราพูดถึงพระองค์ท่าน เรามักจะบอกว่าเอาแนวคิดไปใช้ไหม จดจำพระราชดำรัสไปใช้ไหม นั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น คือพระองค์ไม่ใช่เป็นแบบเรียน การที่จะดำเนินรอยตามพระองค์ และการที่จะทำให้โครงการต่างๆ ที่พระองค์ทำมาตลอด ๗๐ ปีคงอยู่ต่อไปและเจริญก้าวหน้าต่อไป เราก็ต้องเข้าใจแก่นแท้ พระองค์ไม่ใช่เป็นนักพูด ตอนผมค้นคว้าทำหนังสือเล่มนี้ ผมเห็นภาพชัดเจนเลยว่าเกือบทุกเรื่อง พระองค์ทำเสร็จแล้วค่อยพูด ทุกอย่างที่พระองค์ทำ พระองค์ทรงทำก่อนจนสำเร็จ ทดลองจนมั่นใจ แล้วจึงค่อยพูด



    • ในฐานะคนเขียนหนังสือมามากกว่า ๓๐ เล่ม เห็นว่าเล่มนี้ทำสุดฝีมือเลยใช่ไหมครับ
       
       ผมเขียนหนังสือมากว่า ๑๔ ปี ผมเขียนเพื่อคนคนนี้ ถ้าเกิดไม่มีท่าน ผมก็คงไปทำงานอย่างอื่นแล้ว แรงบันดาลใจสำคัญที่สุด จะมานั่งหลังขดหลังแข็งเขียนหนังสือเพื่อตอบแทนสังคม ผมไม่ทำอย่างนั้น ผมเขียนเพราะว่ามีคนคนหนึ่งที่ทำให้ประเทศทุกสิ่งทุกอย่าง ผมก็อยากช่วยแบ่งเบาตรงนั้นบ้าง นั่นคือเหตุผลทั้งหมด
       
       หนังสือเล่มแรกๆ ที่ผมอ่าน คือสารานุกรมสำหรับเยาวชนเล่มที่หนึ่ง พ.ศ.๒๕๑๖ โดยพระราชประสงค์ของพระองค์ท่าน นั่นก็คือ ๔๓ ปีแล้ว จนวันนี้ คนที่ทำหนังสือเล่มนั้นไม่อยู่แล้ว แล้วผมจะไม่เขียนหนังสือเล่มนั้นเพื่อ ๔๓ ปีที่ผ่านมาหรือ? คำว่า “สุดฝีมือ” ก็คือว่า ถ้าไม่มีหนังสือเล่มแรกที่พระองค์ทำ ก็ไม่มีผมวันนี้ ไม่มีหนังสือที่เขียน การที่เราทำหนังสือเพื่อคนที่ทำหนังสือให้เราอ่านเล่มแรกๆ มันควรจะเป็นหนังสือที่ใช้คำว่า “สุดฝีมือ” หรือไม่
       
       ผมบอกตามตรง หนังสือเล่มนี้ที่ผมทำ ไม่ใช่ทำเพื่อหวังกำไร เพราะผมมีงานอีกเยอะแยะมากมาย ไม่จำเป็นจะต้องมานั่งเขียนหนังสือตอนห้าทุ่มถึงตีสี่ทุกวัน แล้วร้องไห้อยู่ทุกวัน ซึ่งพูดตามตรง ก็คงจะเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวและคงเป็นครั้งสุดท้ายที่จะสามารถเขียนหนังสือถึงคนที่ผมรักที่สุดในชีวิต ในแผ่นดิน


จาก http://astv.mobi/AbCqWlh
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...