ผู้เขียน หัวข้อ: รู้จัก “วัดของพ่อ” วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก  (อ่าน 1024 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


รู้จัก “วัดของพ่อ” วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก


        วัดเป็นสถานที่ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของบุคคลทั่วไปตั้งแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้วัดยังเป็นที่ประกอบศาสนพิธีของคนทุกชนชั้น ตั้งแต่บุคคลธรรมดาทั่วไป จนถึงระดับพระมหากษัตริย์ ซึ่งวัดถือเป็นศูนย์รวมของทุกคน การสร้างวัดจึงต้องสร้างวัดให้มีความสวยงามน่าสนใจเพื่อเป็นการดึงดูดความสนใจให้ผู้คนอยากเข้าวัดทำบุญ ซึ่งในแต่ละยุคแต่ละสมัยของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ก็ได้มีการทำนุบำรุงวัดต่างๆ รวมถึงสร้างวัดขึ้นมาในแต่ละรัชกาล

 

วัดประจำรัชกาลที่ ๙

            “วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก” เป็นวัดที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริเริ่มแรกของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙  ที่ทรงให้แก้ปัญหาน้ำเน่าเสียในชุมชนริมคลองลาดพร้าวย่านพระราม ๙ เริ่มมาจากที่แต่ก่อนนี้ชุมชนริมคลองลาดพร้าวย่านพระราม ๙ นี้ ต้องประสบกับปัญหาน้ำเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น ซึ่งน้ำในคลองนั้นเป็นน้ำที่ไหลมาจากคลองรังสิต ผ่านสะพานใหม่ดอนเมือง บางซื่อ สามเสน และมารวมที่คลองลาดพร้าว ก่อนที่จะไหลลงคลองแสนแสบต่อไป จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงมีพระราชดำริให้แก้ปัญหาน้ำเน่าเสียด้วยวิธีการเติมอากาศที่บึงพระราม ๙ ซึ่งเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  จากแนวพระราชดำรินี้เองทำให้ชาวชุมชนริมคลองลาดพร้าวย่านพระราม ๙ มีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น

          ต่อมาได้มีพระราชดำริเพิ่มเติมให้ทำการปรับปรุงพื้นที่และพัฒนาชุมชนบริเวณบึงพระราม ๙ และมีพระราชประสงค์ให้ดำเนินการจัดตั้งวัดขึ้นในบริเวณชุมชนบึงพระราม ๙ เพื่อเป็นทั้งพุทธสถานในการประกอบกิจของพระสงฆ์ในการสืบทอดและเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในขณะเดียวกันก็เป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจของราษฎรในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ทั้งที่เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องทางศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนการพัฒนาชุมชนบริเวณบึงพระราม ๙ ร่วมกับทางโรงเรียนหรือส่วนราชการต่าง ๆ





วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก

            เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช วัดนี้มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากวัดอื่นหลายประการ ที่สังเกตเห็นได้ชัดก็คือวัดนี้เป็นวัดขนาดเล็ก ใช้งบประมาณอย่างประหยัด และเรียบง่ายที่สุด โดยยึดหลักความพอดีและพอเพียงเป็นพื้นฐาน เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของวัดนี้คือ อาคารทุกหลังจะทาด้วยสีขาวทั้งหมด เพื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์ สะอาด สวยงาม
 

รูปแบบทางศิลปกรรม

           “พระอุโบสถ” วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ถือว่าเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนิกชนที่เข้ามาปฏิบัติธรรม หรือมาร่วมกิจกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาและวันสำคัญของชาติ นับว่าเป็นพระอุโบสถเพียงวัดเดียวในกรุงเทพมหานคร ที่ปลูกสร้างแบบสมัยใหม่ เป็นการผสมผสานรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยสมัยโบราณกับสถาปัตยกรรมร่วมสมัย เน้นความเป็นเฉพาะตัวในแบบอย่างสถาปัตยกรรมปัจจุบัน โดยได้ต้นเค้าของการออกแบบพระอุโบสถมาจากพระอุโบสถ ๓ แห่งในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้แก่

           พระอุโบสถ วัดราชาธิวาส ราชวรวิหาร กรุงเทพฯ ในเรื่องรูปเสาของพระอุโบสถสำหรับความเรียบง่าย

           ส่วนมุขประเจิดจำลองแบบมาจาก พระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม

          และได้นำเอาต้นแบบในการผูกลายปูนปั้นประดับหน้าบันมาจาก พระอุโบสถ วัดเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนนทบุรี วัสดุก่อสร้างทั้งหมดเป็นของที่ผลิตภายในประเทศ

          โครงสร้างพระอุโบสถ หลังคาพระอุโบสถมุงกระเบื้องทำด้วยแผ่นเหล็กสีขาว องค์ประกอบเครื่องบนหลังคาเป็นปูนปั้นลายดอกพุดตาน ประดับหน้าบันด้วยลายปูนปั้น สำหรับการประดับ ตราพระราชลัญจกร ประจำพระองค์รัชกาลที่ ๙ ที่หน้าบันพระอุโบสถนั้น เป็นพระราชกระแสรับสั่งในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและแสดงถึงพระราชอำนาจแห่งองค์พระมหากษัตริย์ รวมถึง เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษกอีกด้วย



พระประธานในพระอุโบสถ

             สำหรับพระประธานที่ประดิษฐานภายในพระอุโบสถวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษกนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเลือกแบบพระพุทธรูปปางมารวิชัย (ปางชนะมาร) จากการออกแบบเสนอโดย “นาวาอากาศเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น” อธิบดีกรมศิลปากร (ในขณะนั้น) และศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม ทั้งหมด ๗ แบบ โดยพระองค์ทรงแก้ไขแบบเล็กน้อยด้วยพระองค์เอง





       พระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์นี้ มีลักษณะแบบรัตนโกสินทร์ มีขนาดความสูงจากทับเสร็จ (หน้ากระดาน) ถึงปลายรัศมี ๑๘๐ เซนติเมตร ขนาดหน้าพระเพลา ๑๒๐ เซนติเมตร โดยมีพระพุทธสาวกเบื้องซ้าย และเบื้องขวาของพระประธาน ฐานชุดชีทำด้วยหินอ่อน ส่วนองค์พระพุทธรูปทำด้วยทองเหลือผสมทองที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างอุดมคติ และเหมือนจริงด้วยการห่มจีวรแบบพระสงฆ์ แต่มีพระเกศาแบบอุดมคติ สวยงาม กลมกลืนและปราณีตยิ่งนัก และทรงพระราชทานนามว่า พระพุทธกาญจนธรรมสถิต





วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
ตั้งอยู่เลขที่ 999 ซอยพระราม 9 กาญจนาภิเษก 19 ถนนพระราม 9 เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร

 

จาก  http://dichan.mthai.com/story/9985.html

https://watthaithai.wordpress.com/category/ วัดประจำรัชกาล/

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19317

https://th.wikipedia.org/wiki/ วัดพระราม_๙_กาญจนาภิเษก
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...