ออกจากวังไกลกังวลในฉลองพระองค์สบายๆโดยไม่มีผู้ติดตาม“หุบกะพง” ชีวิตแตกต่างจากวันบุกเบิกราวฟ้ากับดิน ผลิตตั้งแต่ไวน์ถึงไข่เค็ม! จากบ้านไม้ไผ่กลายเป็นตึก!! “หุบกะพง” ที่เราๆได้ยินชื่อนี้กันมากว่า ๕๐ ปีแล้ว เป็นโครงการพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์ ที่ทรงช่วยเหลือราษฎรผู้ทุกข์ยากแสนเข็ญ จนมีโอกาสเงยหน้าอ้าปาก ให้มีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมากใน จนเป็นโครงการตัวอย่างที่เกษตรกรทั่วประเทศมาดูกันไม่ขาดสาย และราษฎรที่เข้าบุกเบิกโดยปลูกบ้านด้วยไม้ไผ่อยู่อาศัย กลายมาอยู่ตึกกันเป็นแถว
ที่มาของโครงการนี้เริ่มขึ้นเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จแปรพระราชฐานประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนทุกข์สุขของราษฎรในท้องที่ใกล้เคียง ได้ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรกลุ่มชาวสวนผักในอำเภอชะอำกลุ่มหนึ่ง จำนวน ๘๓ ครอบครัว ซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์ในการประกอบอาชีพ จึงทรงรับเกษตรกรเหล่านี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมทั้งพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กู้ยืมไปลงทุนเป็นจำนวนเงิน ๓ แสนบาท
แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดนำเงินที่กู้ยืมไปถวายคืนแม้แต่รายเดียว ความได้ทราบฝ่าละอองพระบาทว่า เกษตรกรเหล่านี้ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง เช่าที่ของกรมประชาสงเคราะห์เฉลี่ยครอบครัวละไม่เกิน ๒ ไร่ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ ฯพณฯ องคมนตรี ม.ล.เดช สนิทวงศ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดหาพื้นที่ในเขตจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรเหล่านั้น ซึ่งได้ข้อสรุปที่บริเวณหุบกะพง ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ด้วยเหตุผลว่า ที่ดินบริเวณนี้เป็นป่าคุ้มครองของกรมป่าไม้ มีราษฎรเข้าไปจับจองอยู่บ้าง แต่การทำมาหากินไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เนื่องจากสภาพที่ดินส่วนใหญ่เป็นดินเลวขาดแคลนน้ำ และเมื่อรัฐบาลอิสราเอลซึ่งมีประสบการณ์ด้านปลูกพืชบนพื้นทราย ได้ทราบพระราชประสงค์ จึงขออาสาร่วมโครงการด้วยในฐานะผู้เชี่ยวชาญ
โครงการนี้จึงได้เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๐๙ กำหนดระยะเวลาดำเนินการ ๕ ปี ใช้ชื่อว่า “โครงการไทย-อิสราเอล เพื่อพัฒนาชนบท (หุบกะพง)” คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ และกระทรวงเกษตร ร่วมมือกันเป็นเจ้าของเรื่อง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระราชดำริให้กันพื้นที่จำนวน ๑๒,๐๗๙ ไร่ ออกจากป่าคุ้มครองของกรมป่าไม้ ภายหลังพระองค์ทรงจับจองพื้นที่ดังกล่าวเยี่ยงสามัญชน โดยปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายป่าไม้และกฎหมายที่ดินทุกประการ เพื่อพัฒนาจัดทำระบบน้ำแล้วจัดสรรให้ราษฎรผู้เดือดร้อนจากไม่มีที่ทำกิน เข้าอยู่อาศัยและทำกินต่อไป
หลังจากนั้นหลายหน่วยงานได้ร่วมกันเข้าดำเนินการ จัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ และสำรวจแหล่งเก็บกักน้ำและดิน ตลอดจนสำรวจแหล่งน้ำใต้ดิน มีการขุดเจาะพบน้ำบาดาล แต่มีปริมาณน้อย จากการสำรวจปรากฏว่าดินส่วนใหญ่มีคุณภาพเลวประมาณ ๖,๕๐๐ ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นดินเลวปนดีพอที่จะทำกสิกรรมได้บ้าง
เมื่อได้มีการพัฒนาที่ดินและจัดระบบชลประทานในพื้นที่ ๕๐๐ ไร่แล้ว ได้ตั้งเป็นศูนย์สาธิตทดลองการเกษตร อพยพเกษตรกรเพียง ๒ ครอบครัวมาก่อน ครอบครัวหนึ่งเป็นเกษตรกรสวนผักชะอำซึ่งได้ขอพระบรมราชานุเคราะห์เป็นรายแรก กับอีกครอบครัวหนึ่งเป็นเกษตรกรเดิมที่อาศัยทำกินในเขตโครงการมาก่อน โดยจัดที่ดินให้ครอบครัวละ ๒๕ ไร่ ให้ปลูกพืชอาศัยน้ำชลประทาน ๗ ไร่ อีก ๑๘ ไร่ ให้ปลูกพืชไร่อาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ มีหน่วยงานราชการเป็นผู้วางแผนการปลูก และกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติให้เกษตรกร ๒ ครอบครัวกู้ยืมเงินเป็นทุน ครอบครัวละ ๑๐,๐๐๐ บาทโดยไม่คิดดอกเบี้ย ทั้งนี้เพื่อหาข้อมูลทางด้านต่างๆ เช่น ในด้านรายได้ รายจ่าย ความเหมาะสมของการใช้แรงงานในครัวเรือนกับขนาดของพื้นที่ที่จัดให้ ตลอดจนการจัดบริการในด้านสินเชื่อและการตลาด รวมทั้งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การเกษตร ปัญหาด้านสังคมของเกษตรกร สำหรับใช้ในการประกอบการพิจารณาแก้ไขปรับปรุง เพื่ออพยพครอบครัวของเกษตรกรที่เหลือเข้ามาอยู่ต่อไป
เมื่อครบรอบปีการผลิต เกษตรกรทั้ง ๒ ครอบครัว สามารถใช้หนี้คืนกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติได้ และยังมีเงินเหลือเป็นทุนสำรองสำหรับประกอบอาชีพในปีต่อไปอีก
เมื่อได้รับข้อมูลจากครอบครัวเกษตรกรตัวอย่างทั้ง ๒ ครอบครัวแล้ว ในปี ๒๕๑๑ จึงอพยพครอบครัวเกษตรกรที่เหลืออีก ๘๒ ครอบครัว และเกษตรกรที่ทำกินอยู่เดิมอีก ๔๖ ครอบครัว เข้าอาศัยในพื้นที่ที่จัดสรรให้ครอบครัวละ ๒๕ ไร่ โดยโครงการได้ให้กู้ยืมเงินครอบครัวละ ๖,๐๐๐ บาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการปลูกบ้านเรือน ๑,๕๐๐ บาท ส่วนที่เหลืออีก ๔,๕๐๐ บาทเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับวัสดุการเกษตร และค่าใช้จ่ายในครอบครัว ในปีแรกไม่ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ ๖
การอพยพครอบครัวเกษตรกรเหล่านี้ ได้จัดให้สร้างที่อยู่อาศัยรวมเป็นหมู่บ้าน โดยมีทางราชการคอยช่วยเหลือแนะนำการบริหารงานหมู่บ้าน ขณะเดียวกันให้การศึกษาอบรมเกี่ยวกับวิธีการของสหกรณ์ จนเห็นว่าสมาชิกของหมู่บ้านเกษตรกรมีความเข้าใจดีพอแล้ว จึงให้เข้าชื่อกันขอจดทะเบียนเป็นสหกรณ์การเกษตร ใช้ชื่อว่า “สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด” เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๑๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯโปรดเกล้าพระราชทานทะเบียนให้ผู้แทนสหกรณ์ กับได้พระราชทานโฉนดที่ดินบริเวณหุบกะพง จำนวน ๓ ฉบับ รวมพื้นที่ ๑๒,๐๗๙ ไร่ ๑ งาน ๘๒ ตารางวา ให้กับกรมส่งเสริมสหกรณ์และสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบ
ทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานแก่สมาชิกสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง ณ สำนักงานสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๑ ว่า
“...ส่วนที่สำคัญก็ขอย้ำและถ้าทุกคนทำ การเปรียบเทียบสหกรณ์กับร่างกายของตัว แต่ละคน มีคนมีความต้องการ มีความจำเป็นที่จะทำให้ส่วนต่างๆของร่างกายของตัวช่วยกันทำ เห็นได้ขัด รู้ได้ดีว่า ถ้าส่วนใดของร่างกายเดือดร้อน ทั้งร่างก็เดือดร้อน ถ้าขาไม่ดีเดินไปไหนไม่ได้ งานก็ทำไม่ได้ แม้แขนจะแข็งแรงก็ทำยาก ฉะนั้น ก็ขอให้ทุกคนในสหกรณ์พยายาม ถ้าสงสัยเมื่อใดก็ดูที่ร่างกายของตัว ให้ทุกคนพยายามทำหน้าที่ของตัวให้ปรองดองกัน....ก็คือตัวมีความคิดอย่างหนึ่ง ก็บอกความคิดของตัวและยอมฟังความคิดของอีกคนหนึ่ง ถ้าไม่สามารถที่จะปรองดองกันระหว่างสองคน ก็หาอีกคนมาให้ฟังข้อคิดของแต่ละคน และอธิบายกันว่าทำไมมีความคิดอย่างนั้น ถ้าขัดกันจริงๆก็ต้องหาทางที่จะปรองดองจนได้ ไม่ใช่ว่าคนหนึ่งจะชนะ หรือคนหนึ่งจะแพ้ ต่างคนต่างชนะถ้าปรองดองกัน ถ้าไม่ปรองดองกัน ต่างคนต่างจะแพ้ ความแพ้ชนะนี้ ถ้าจะเอาแต่ชนะ มันก็ต้องมีแพ้ แต่ถ้าเราปรองดองกัน มีแต่ชนะไม่มีแพ้ ถ้าเราทะเลาะกันมีแต่แพ้.....ก็ขอให้ทุกคน เมื่อมีปัญหาอะไร กลับมาดูร่างกายของตัวว่า ต้องปรองดองอย่างไรสำหรับให้แข็งแรง ให้มีความสุข แล้วนึกถึงสหกรณ์ว่าจะต้องปรองดองกัน ช่วยกันสร้าง ทำให้สหกรณ์แข็งแรงมีความก้าวหน้า เมื่อสหกรณ์ก้าวหน้าแข็งแรง แต่ละคนที่เป็นสมาชิกก็มีความสุข มีความภูมิใจได้ว่าสร้างตัวเองขึ้นมา เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ทุกคนจงอย่าลืมและระลึกอยู่เสมอ คิดอยู่เสมอ ในความสำคัญของการมีความสามัคคี มีความขยันหมั่นเพียร มีความปรองดองกันดี”
ต่อมาในปี ๒๕๑๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จฯ เยี่ยมเยียนสมาชิกในหมู่บ้านสหกรณ์หุบกะพง สมเด็จพระราชินี ทรงเห็นว่าในพื้นที่หุบกะพง มีต้นป่านศรนารายณ์ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก หากได้รับการส่งเสริมฝึกอบรมให้ราษฎรมีความรู้ด้านจักสานป่านแล้ว จะทำให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง จึงทรงแนะนำให้แม่บ้านนำเส้นใยป่านศรนารายณ์มาจักสานเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆออกสู่ตลาด โดยใช้เวลาว่างหลังจากเลิกงานด้านการเกษตรแล้ว ทำในรูปแบบอุตสาหกรรมในครัวเรือน
สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง มีกลุ่มสตรีในสังกัด ๖ กลุ่ม คือ
๑. กลุ่มสตรีสหกรณ์สาขาศิลปาชีพป่านศรนารายณ์
๒. กลุ่มสตรีสหกรณ์สาขาแปรรูปน้ำผลไม้
๓. กลุ่มหุบกะพงไวน์ไทย
๔. กลุ่มสตรีสหกรณ์สาขาทำขนม
๕. กลุ่มสตรีผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน
๖. กลุ่มเยาวชนสหกรณ์พัฒนา (หุบกะพงไข่เค็ม)
ผลิตผลของสมาชิกสหกรณ์หุบกะพง จึงมีตั้งแต่ไวน์จนถึงไข่เค็ม
ในวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๑๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนสมาชิกสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทกับเหล่าสมาชิกสหกรณ์ว่า
“...อย่างที่เคยบอกเอาไว้เมื่อประมาณสิบปี สิบห้าปีมาแล้วว่า เริ่มต้นอย่างไร บ้านเป็นไม้ไผ่ พื้นเป็นดินธรรมดา ต่อไปเราจะมีบ้านเป็นไม้กระดาน เราจะมีพื้นเป็นซีเมนต์ เป็นคอนกรีต แล้วต่อไปเราก็คงมีบ้านเป็นตึกได้อย่างดี เรื่องบ้านเป็นไม้ไผ่ หรือเป็นตึก หรือว่าเป็นอิฐนั้น เป็นสิ่งภายนอก แต่เป็นสิ่งแสดงให้เราเห็นว่าเรามีความเจริญขึ้น และความเจริญนี้สร้างด้วยความตั้งใจ สร้างด้วยความขยัน สร้างด้วยความสามัคคีของเหล่าสมาชิก สร้างด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยความสุจริตใจ...”
ในวันนี้ โครงการพระราชประสงค์หุบกะพงเริ่มมาครบ ๕๐ ปีแล้ว ขับรถวนเข้าไปดู แม้แต่ตามซอย ก็หาบ้านไม้ไผ่ไม่พบแล้ว หลายหลังก็เป็นตึกในระดับโอ่อ่า ทั้งโครงการเขียวชอุ่มไปด้วยต้นไม้ ไม่มีแผ่นดินกันดารแห้งแล้งจนต้องให้ผู้เชี่ยวชาญจากอิสราเอลมาช่วย แต่ชุ่มชื่นไปด้วยน้ำพระทัยของพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ชีวิตของเกษตรกรที่นี่ แตกต่างจากวันที่เริ่มมาบุกเบิกราวฟ้ากับดิน
คุณฉวีวรรณ ดวงวิเชียร ลูกจ้างประจำคนหนึ่งของศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง เล่าความหลังให้ฟังว่า ได้เข้ามาอยู่ในโครงการหุบกะพงกับครอบครัวตั้งแต่อายุ ๑๐ ขวบ ยุคแรกของหุบกะพงปลูกหน่อไม้ฝรั่งกันมาก และปลูกได้คุณภาพดี จึงมีครัวการบินไทยเป็นตลาดรองรับ นักท่องเที่ยวก็เข้ามาซื้อผลิตผลของโครงการกันมาก ไม่กี่ปีก็ปลูกบ้านใหม่เป็นตึกกันเป็นแถว
ในระยะแรกๆ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทอดพระเนตรโครงการบ่อย ส่วนมากมากับพระราชินีเพียง ๒ พระองค์ ไม่มีตำรวจทหารติดตาม พอเจ้าหน้าที่ของโครงการทราบว่าทั้งสองพระองค์เสด็จมาก็วิ่งกันพล่าน สักครู่จึงมีตำรวจทหารองครักษ์ติดตามมา
ในปี ๒๕๔๙ ซึ่งเป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี กรมส่งเสริมสหกรณ์สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย จึงจัดทำ “ศูนย์เรียนรู้โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง” ขึ้น เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ เผยแพร่พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในด้านการเกษตรและสหกรณ์ เปิดให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้สนใจได้ศึกษา และนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมต่อไป
นิทรรศการในศูนย์เรียนรู้โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง ได้จำลองศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง ๖ แห่งทุกภูมิภาคของประเทศไทยมาไว้ รวมทั้งการแสดงนวัตกรรมเพื่อการเกษตรที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ อาทิ ความมหัศจรรย์ของหญ้าแฝก กังหันชัยพัฒนา โครงการหลวง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ และโครงการฝนหลวง ซึ่งนำเสนอในรูปแบบของการ์ตูนแอนิเมชั่น ทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใจถึงขั้นตอนทำฝนหลวงอย่างง่ายๆ ใช้เวลาประมาณ ๕๐ นาที
ด้านการพัฒนางานสหกรณ์ ได้นำเสนอถึงวิวัฒนาการสหกรณ์ไทยที่มีความเจริญก้าวหน้ามาเป็นระดับ และด้วยน้ำพระทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้สหกรณ์ของไทยได้รับการส่งเสริมและพัฒนาขยายเป็นวงกว้างไปทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ
นอกจากนี้ ในหมู่บ้านของสมาชิกชาวหุบกะพง ยังมีศูนย์เรียนรู้จากแปลงสาธิตของเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ และได้รับการเลือกเป็นเกษตรกรตัวอย่างในอาชีพเกษตรกรรมแขนงนั้นๆ ๖ ศูนย์เรียนรู้ โดยเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จจะเป็นผู้ถ่ายทอดประสบการของตัวโดยตรง คือ
ศูนย์เรียนรู้การปลูกหน่อไม้ฝรั่ง ของ นายตี๋ คล่องแคล่ว
ศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงโคขุน ของ นายออด พรมรักษา
ศูนย์เรียนรู้ปลูกผักปลอดภัย ของ นายสด นิจก
ศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงโคนม ของ นายดำเนิน เทียนชัย
ศูนย์เรียนรู้ป่านศรนารายณ์ ของ กลุ่มสตรีศิลปาชีพพิเศษป่านศรนารายณ์
ศูนย์เรียนรู้ผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน ของ นางปิ่นรัตน์ ตันหยง
ศูนย์เรียนรู้เหล่านี้ จึงเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยให้เกษตรกรและผู้สนใจเข้ามาศึกษาความรู้จากของจริง และจากผู้มีประสบการณ์ที่ผ่านอุปสรรคทั้งหลายใยอาชีพเกษตรแขนงนั้นๆมาจนประสบความสำเร็จ เป็นแบบอย่างได้อย่างดีแก่ผู้จะนำไปเป็นอาชีพหรือเป็นงานอดิเรก ไม่ต้องไปเสียเวลาเดินวกวนไปสู่ความสำเร็จ
เพราะเกษตรกรตัวอย่างเหล่านี้ เป็นผู้อยู่ตึกจากอาชีพเกษตรกรในหุบกะพงทั้งนั้น
เสด็จเยี่ยมไต่ถามทุกข์สุขของชาวหุบกะพงเสมอๆหนังสือพิมพ์ยุคนั้นติดตามข่าวหุบกะพงตลอดไวน์หุบกะพงจากผลิตผลในโครงการที่ระลึกในวันเสด็จเปิดสหกรณ์ฯที่หุบกะพงมีราคาจนต้องประกาศเตือนว่าขายไม่ได้จาก
http://astv.mobi/A5rIx1T