พุทธศาสนสถาน หรือวัด 10 แห่งทั่วโลก ที่แซบเวอร์ ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาอเทวนิยม คือ เชื่อว่าไม่มีพระเจ้า โดยถือนำเอาพระธรรมคำสั่งสอนมาถือปฏิบัติพัฒนาจิตใจเป็นสำคัญ และอาจด้วยเพราะศาสนาพุทธเน้นแต่เรื่องคำสอนที่เป็นแกนหลัก ไม่เน้นทางวัตถุ ดังนั้น สถานที่ที่ใช้ในการประกอบกิจของชาวพุทธแต่ละพื้นที่จึงมีความหลากหลาย แต่งเติม และแตกต่างกันออกไปตามจินตนาการ และศิลปะวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ให้เกิดเป็นพุทธศาสนสถานที่งดงามกระจายอยู่หลายพื้นที่ อาทิ พุทธศาสนสถานต่อไปนี้ 10 แห่งที่โดดเด่นและได้รับความนิยมไปเยี่ยมชมมาฝาก
1. บุโรพุทโธ Borobudur หรือ โบโรบูดูร์ ตั้งอยู่บนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย อยู่ห่างไป 40 กม.(25 ไมค์) ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองย็อคยาการ์ต้า บุโรพุทโธ จัดว่าเป็นพุทธศาสนาสถานที่มีชื่อเสียงและยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ใช้เวลาก่อสร้างยาวนานกว่า 70 ปีในช่วงศตวรรษที่ 8-9 (ระหว่างปี ค.ศ.775 - ค.ศ. 847) โดยกษัตริย์แห่งราชวงศ์ไศเลนทร์ (the kingdom of Sailendra) บุโรพุทโธ ถูกสร้างด้วยหินภูเขาไฟประมาณ 2 ล้านตารางฟุตบนฐานสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ 121 เมตร สูง 403 ฟุต เป็นรูปทรงปิรามิต ต่อมาในช่วงราวๆ ปีศตวรรษที่ 19 ได้ถูกทิ้งร้างเป็นป่ารก โดนแผ่นดินไหว และน้ำท่วม จนพุทธสถานแห่งนี้เกิดการทรุดตัวลงไปบางส่วน จนกระทั่งได้ถูกกลับมาเริ่มบูรณะอีกครั้งหนึ่ง โดยนายสแตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์ ผู้สำเร็จราชการของอังกฤษที่ขณะนั้นได้เข้าปกครองอาณานิคมชาวชวา ในช่วงปี ค.ศ.1855 จนสามารถเปิดเข้าชมได้อีกครั้ง ต่อมาอินโดนีเซียได้ขอความช่วยเหลือจากองค์การยูเนสโกในการบูรณะอย่างละเอียดอีกหลายครั้ง เพื่อที่จะแก้ปัญหาโครงสร้างที่เป็นโพรงเพราะภูเขาดินภายในทรุดถล่มจากสาเหตุอุทกภัย การบูรณะแล้วเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1983 ด้วยงบประมาณ 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
2. พุกาม Bagan พุกาม แห่งริมแม่น้ำอิระวดี ประเทศพม่า สถานที่ที่มีการก่อสร้างพุทธศานสถาน เรียงรายไปด้วย วัด เจดีย์ สถูป และร่อยรอยซากปรักหักพัง ที่มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ที่สุดในโลก พุกาม ถือเป็นอาณาจักรและราชวงศ์แห่งแรกในประวัติศาสตร์พม่า ในช่วงพ.ศ. 1587- พ.ศ.1830 ในช่วงเวลากษัตริย์ผู้ปกครองในราชวงศ์นี้ล้วนมีความศรัทธาในศาสนาพุทธเป็นอย่างมาก กษัตริย์หลายพระองค์นิยมสร้างเจดีย์ เพื่อเป็นการสร้างเสริมสิริมงคลในรัชกาลของพระองค์ นับรวมกว่า 4,400 องค์ จนทำให้เดนแดนพุกามแห่งนี้ได้ขึ้นชื่อว่า เป็นดินแดนแห่งทะเลเจดีย์ 4,000 องค์ จนกระทั่งถูกรุกรานเข้าทำลายโดยกองทัพแห่งมองโกล นำโดยกุ๊บไลข่าน (Kublai Khan) ในปี พ.ศ.1830 อาณาจักรพุกามแห่งนี้จึงล่มสลายลง ทิ้งเหลือไว้เพียงร่องรอยความรุ่งเรืองแห่งพุทธศาสนาบนผืนดินแห่งนี้
3. พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง, เมียร์ม่า Shwedagon Pagoda พระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง หรือ Golden Pagoda แห่งนครย่างกุ้ง เป็นเจดีย์คู่บ้านคู่เมืองที่สำคัญยิ่งของชาวพม่า ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวพม่าให้ความเคารพนับถือมากที่สุด คำว่า ชเว (Shwe) หมายถึง ทองคำ ส่วน ดากอง มาจากคำว่า Dagon หรือ ตะเกิง ซึ่งเป็นนามเดิมของนครย่างกุ้ง “ชเวดากอง” แปลว่า “เจดีย์ทองแห่งเมืองดากอง” มีประวัติการสร้างเก่าแก่ยาวนานกว่า 2,500ปี ตั้งแต่ครั้งนครย่างกุ้งยังเป็นของชาวมอญ ชาวพม่าเชื่อว่า เป็นสถานที่บรรจุพระเกศาธาตุจำนวน 8 เส้น ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเครื่องอัฐบริขาร ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีตอีก 3 พระองค์ องค์สถูปหุ้มด้วยทองคำทั้งหมด 8,688 แท่ง แต่ละแท่งมีค่ามากกว่า 400 ยูเอสดอลลาร์ ปลายยอดสถูปประดับด้วยเพชร 5,448 เม็ด ทับทิม นิล และบุษราคัมอีก 2,317 เม็ด มีมรกตเม็ดเขื่องอยู่ตรงกลาง เพื่อรับลำแสงแรกและลำแสงสุดท้ายของดวงอาทิตย์ ทั้งหมดนี้ประดับอยู่ด้านบนเหนือฉัตรขนาด 10 เมตร ซึ่งสร้างขึ้นบนไม้หุ้มทองเจ็ดเส้น ประดับด้วยกระดิ่งทองคำ 1,065 ลูก และกระดิ่งเงิน 420 ลูก รอบองค์สถูปรายล้อมไปด้วยสิ่งปลูกสร้างกว่า 100 หลัง มีทั้งสถูปบริวาร วิหารทิศ วิหารราย และศาลาอำนวยการ โดยประดับเพชรพลอยรวมถึง 4,351 เม็ดรวม น้ำหนัก 2,000 กะรัต เพชรเม็ดใหญ่ที่สุดบนยอดฉัตรมีฐานกว้าง 2 ฟุต ยาว 1 ฟุต 10 นิ้ว และหนัก 76 กะรัต
เจดีย์ชเวดากองพระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง ตั้งอยู่บริเวณเนินเขาเชียงกุตระ เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า ตามตำนาน เจดีย์ชเวดากองนั้นถูกสร้างขึ้นในสมัยพวก บะกัน เรืองอำนาจ เมื่อ 2,500 ปีที่แล้ว แต่นักโบราณคดีเชื่อกันว่าสร้างระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 6-10 โดยชาวมอญ ตามตำนานนั้นเริ่มจากว่า มีพี่น้องพ่อค้า 2 คน ได้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์จึงประทานพระเกศามา 8 เส้น สำหรับให้พ่อค้าทั้งสองรับไว้บูชา
พระเจดีย์ได้ถูกทิ้งร้างจนมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 14 พระเจ้าพินยาอู ได้ทรงสร้างพระเจดีย์ใหม่สูง 18 เมตร พระเจดีย์ได้ถูกซ่อมแซมเรื่อยมา จนมามีความสูง 98 เมตร หนังสือ Guinness Book of Records ได้จัดให้พระเจดีย์ชเวดากองเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดและเก่าแก่ที่สุดในโลก
4. พระมหาโพธิ์เจดีย์ , อินเดีย Mahabodhi Temple วัดมหาโพธิ์ หรือ พุทธคยา (Bodh Gaya) เป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญที่สุด 1 ใน 4 สังเวชนียสถาน สถานที่ตัสสรู้แห่งองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งอยู่ที่จังหวัดคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ด้านตะวันตกของแม่น้ำเนรัญชรา ไกลจากฝั่งแม่น้ำประมาณ 350 เมตร (นับจากพระแท่นวัชรอาสน์) พุทธคยามีสัญลักษณ์ที่สำคัญคือองค์เจดีย์สี่เหลี่ยมที่สูงใหญ่ โดยสูงถึง 51 เมตร ฐานวัดโดยรอบได้ 121.29 เมตร ล้อมรอบด้วยโบราณวัตถุ โบราณสถานสำคัญ เช่น ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระแท่นวัชรอาสน์ ที่ประทับตรัสรู้ และอนิมิสสเจดีย์ เป็นต้น พุทธคยา นับเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญที่สุดของนักแสวงบุญชาวพุทธทั่วโลกที่ต้องการมาสักการะสังเวชนียสถานสำคัญ 1 ใน 4 แห่งของพระพุทธศาสนา โดยในปี พ.ศ. 2545 วัดมหาโพธิ (พุทธคยา) แห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ขององค์การยูเนสโก
5. มหาเจดีย์โพธนาถ หรือ พุทธนาถ , เนปาล Boudhanath มหาเจดีย์โพธินาถ หรือ พุทธนาถ เป็นสถูปที่ตั้งอยู่ห่างไป 8 กิโลเมตร ทางทิศตะวันออกของเมืองกาฐมาณฑุ สถูปแห่งนี้ถือเป็นสถูปที่ใหญ่มากแห่งหนึ่งของโลก และใหญ่ที่สุดในเนปาล ศาสนสถานแห่งนี้ ถือเป็นศูนย์กลางของชาวทิเบต ที่นับถือศาสนาพุทธในประเทศเนปาล และมีผู้ลี้ภัยจากทิเบตจำนวนมากที่ย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากอยู่แถบบริเวณนี้ ตั้งแต่ราวๆ ช่วงต้นพ.ศ.2502 นอกจากนี้ มหาสถูปพุทธนาถแห่งนี้ ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งในการแสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรือง และความศรัทธาอันแรงกล้าของชาวพุทธ นิกายมหายานในอดีตได้อย่างชัดเจนที่ร่วมกันสร้างพุทธศาสนสถานแห่งนี้ บนเจดีย์มีดวงตาเห็นธรรมของพระพุทธเจ้า (Wisdom Eyes) จากทั้งสี่ทิศ พระมหาเจดีย์แห่งนี้ถือเป็นหนึ่งพุทธศาสนาสถานที่รอดพ้นมาจากการถูกเผาทำลาย โดยจักรวรรดิโมกุล ผู้นับถือศาสนาอิสลามในราวๆ ปีศตวรรษที่ 14 ตามประวัติศาสตร์พระถังซัมจั๋งก็เคยเดินทางมาแสวงบุญที่แห่งนี้ มหาเจดีย์พุทธนาถ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยยูเนสโก้ ในปี 2522
6. วัดโทได-จิ ,ญี่ปุ่น Todaiji Templeวัดโทได-จิ เป็นวัดพุทธในเมืองนะระ ประเทศญี่ปุ่น หอไดบุทสึ (Daibutsuden) ที่ตั้งอยู่ในบริเวณวัดได้รับการบันทึกว่าเป็นอาคารไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไดบุสึขนาดใหญ่หล่อจากทองสัมฤทธิ์ มีความสูง ถึง 15 เมตร นอกจากนี้ วัดนี้ยังเป็นศูนย์กลางของโรงเรียนศาสนาในสายเคงอนอีกด้วย วัดนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในทะเบียนเดียวกับวัด ศาลเจ้า และสถานที่สำคัญอื่นๆอีก 7 แห่งในเมืองนะระ
วัดโทได-จิ ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1286 และสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.1294 และภายหลังยังได้มีบูรณะสร้างใหม่อีก 2 ครั้ง เนื่องจากได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว และเหตุเพลิงไหม้
ความโดดเด่นอีกอย่างของวัดโทได-จิแห่งนี้อยู่ที่ความอลังกาลทางสถาปัตยกรรม ที่ซุ้มประตูทางเข้าวัด ที่ใช้เสาท่อนซุงขนาดใหญ่มากถึง 18 ต้นในการค้ำยันรองรับหลังคา ด้านล่างของซุ้มประตูยังมี "ทวารบาล" 2 ตน ที่แกะสลักจากไม้อย่างวิจิตรงดงามเฝ้ารักษาอยู่ ที่สำคัญซุ้มประตูแห่งนี้ยังไม่เคยโดนไฟไหม้เลย แม้ว่าตัววิหารใหญ่ของวัดแห่งนี้จะเคยถูกไฟไหม้ใหญ่ไปแล้วถึง 2 ครั้ง 2 คราก็ตาม จึงนับได้ว่าซุ้มประตูใหญ่แห่งนี้เป็นสถาปัตยกรรมชิ้นงามและดั้งเดิมจากสมัยคามาคุระอย่างแท้จริง รวมไปถึงวิหารไม้หลังใหญ่ที่สุดในโลกที่สามารถรอดพ้นจากความเสียหายได้เช่นกัน
7. วัดโจคัง, ทิเบต Jokhang วัดโจคัง หรือวัดต้าเจ้าซื่อ วัดที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของนครลาซาและเขตปกครองตนเองทิเบต ตั้งอยู่ห่างจากพระราชวังโปตาลาราว 1 กิโลเมตร ภายในอารามโจคัง (Rimpoche Monastery) ประดิษฐาน โจโว ริมโปเช สีทองอร่าม ทรงเครื่องกษัตริย์ ประดับด้วยเพชรพลอยอัญมณีล้ำค่า สูง 1.5 เมตร เป็นองค์สำคัญที่สุด นอกจากนั้น ภายในวิหารอันขรึมขลังศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ยังประดิษฐานพระศรีอริยเมตไตรย (หรือพระซัมบา) พระรูปของ ท่านปัทมสัมภาวะ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสหัสหัตถ์ (หรือ พระเซ็นเรซี) เป็นต้น
ภายนอกด้านหน้าวิหารมี แผ่นศิลาจารึก การเจรจาสันติภาพระหว่าง ทิเบต กับ จีน ในปี ค.ศ.821-822 สมัยพระเจ้าตรีซุกเตเซ็น จารึกเป็นภาษาทิเบตและภาษาจีน รวมถึงยังมี ก๊อกน้ำ ที่ชาวทิเบตเชื่อถือว่า เป็นสายน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ไหลขึ้นมาจากหนองน้ำในอดีตทำให้ชาวทิเบตและผู้มาเยือนต่างเข้าแถวยืนรองน้ำจากก๊อกดังกล่าว เพื่อใช้ชำระร่างกายก่อนเข้าไปสวดมนต์สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด ขึ้นไปบนยอดหลังคาปีกหน้าวิหาร มี กงล้อพระธรรมจักร และ กวางหมอบคู่หนึ่ง เป็นสัญลักษณ์การปฐมเทศนา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน.
8. พระธาตุหลวง , ลาว Pha That Luang พระธาตุหลวงเวียงจันทน์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง..."ส.ป.ป.ลาว" เป็นพระธาตุที่ประดิษฐานพระอุรังคธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนหัวเหน่า 27 องค์ ตั้งอยู่กลางกรุงเวียงจันทน์ รูปแบบสถาปัตยกรรมเหมือนกับพระธาตุพนม และสร้างขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน.
ตามตำนานอุรังคนิทานได้กล่าวไว้ว่า พระธาตุหลวงสร้างขึ้นคราวเดียวกับการสร้างเมืองนครเวียงจันทน์ หลังจากก่อสร้างพระธาตุพนมแล้ว ผู้สร้างคือ บุรีจันอ้วยล้วย หรือ พระเจ้าจันทบุรีประสิทธิศักดิ์ เจ้าเหนือหัวผู้ครองนครเวียงจันทน์พระองค์แรก พร้อมกับพระอรหันต์ 5 องค์ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนหัวเหน่า 27 พระองค์ ซึ่งได้อัญเชิญมาจากเมืองราชคฤห์ ประเทศอินเดีย โดยก่อเป็นอุโมงค์หินคร่อมไว้ อุโมงค์นั้นกว้างด้านละ 5 วา ผนังหนา 2 วา และสูงได้ 4 วา 3 ศอก เมื่อได้ทำการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแล้ว พระเจ้าจันทบุรี จึงได้มีพระราชดำรัสให้เสนาอำมาตย์สร้างวิหารขึ้นในเมืองจันทบุรีหรือนครเวียงจันทน์ 5 หลัง เพื่อให้เป็นที่อยู่จำพรรษาของ พระอรหันต์ทั้ง 5 องค์นั้นด้วย ตามตำนานดังกล่าวระบุศักราชการสร้างว่าอยู่ในช่วง พ.ศ. 238
9. วัดอรุณ Wat Arun วันแห่งนี้ชาวไทยรู้จักกันดี เพราะตั้งตระหง่านอวดสายตาให้ประจักแก่สายตามชาวโลกมายาวนาน ด้วยสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ ละเอียด งดงามและโดดเด่นมากๆ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งท่าศิริราช หรือท่าวังหลังนี่เอง
วัดอรุณ (ชื่อเต็ม วัดอรุณราชวราราม) หรือที่นิยมเรียกกันในภาษาพูดว่า วัดแจ้ง หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า วัดอรุณ เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยอยุธยา ว่ากันว่าเดิมเรียกว่า วัดมะกอก เป็นวัดที่สวยโดดเด่นริมน้ำเจ้าพระยา มีพระปรางค์ที่สูงที่สุดในประเทศไทย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ความสูงของพระปรางค์ในอดีตนั้นสูงประมาณ 8 วา ต่อมาพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระราชประสงค์จะย้ายกรุงศรีอยุธยาราชธานีมาที่ กรุงธนบุรีภายหลังเสร็จภาระกิจจากการกอบกู้เอกราชเมื่อปี 2310 จึงได้เสด็จมาทางชลมารค เพื่อหาทำเลที่ตั้งราชธานีใหม่ จนมาถึงเวลารุ่งแจ้งที่วัดนี้ จึงได้ทรงเปลี่ยนชื่อว่า"วัดแจ้ง" ซึ่งมีความหมายว่าอรุณรุ่ง อันเป็นนิมิตหมายแห่งมงคลฤกษ์ ในการย้ายราชธานีมาตั้งยังกรุงธนบุรี ณ บริเวณวัดแจ้งแห่งนี้.
10. วัดแฮอินซา, เกาหลีใต้ Haeinsa Temple วัดแฮอินซา เป็นวัดในพระพุทธศาสนานิกายมหายานเป็นที่ตั้งของตู้พระไตรปิฎกที่ใหญ่ที่สุดโดยวัดแห่งนี้สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยชิลลาเมื่อ พ.ศ. 1346 ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าแอจังโดยพระภิกษุ 2 รูปที่เดินทางกลับมาจากจีนวัดแห่งนี้ได้ถูกไฟไหม้ในปี พ.ศ. 2360 และได้รับการบูรณะ ในปี พ.ศ. 2361 วัดแห่งนี้และตู้พระไตรปิฎกได้เป็นมรดกโลกในปี พ.ศ. 2538
วัดแฮดินซา ตั้งอยู่บริเวณอุทยานแห่งชาติคาซาน จังหวัดคย็องซาใต้ ประเทศเกาหลีใต้ ถือเป็นวัดพุทธที่เก่าแก่ และสำคัญมากแห่งหนึ่ง เป็นที่เก็บรักษาศิลปะวัตถุจำนวนมาก ในบริเวณวัดมีอาคารย่อยมากถึง 90 อาคาร ทั้งศาลเจ้า กฎิ และอาคารย่อยต่างๆ ถูกสร้างครั้งแรกในปี ค.ศ.802 และถูกบูรณะใหม่อีกครั้งในช่วงศตวรรษที่ 19 จนกระทั้งมาถูกเผาทำลายในปี ค.ศ. 1817 ทำให้วัดถูกทำลายไปหลายส่วน แต่ก็ยังคงหลงเหลือไว้ซึ่งเอกลักษณ์อันเก่าแก่ทรงคุณค่าที่ถูกเก็บรักษาไว้ได้นั่นคือ แผ่นไม้แกะสลักสำหรับพิมพ์พระไตรปิฎกที่บันทึกไว้เป็นภาษาเกาหลี(The Tripitaka Koreana) จำนวน 81,258 แผ่น โดยแผ่นไม้เหล่านี้ทำขึ้นในปี ค.ศ. 1251 เพื่อเป็นการร้องขอให้พระพุทธเจ้าคุ้มครองประชาชนในช่วงที่กองทัพมองโกเลียกำลังรุกรานประเทศ ในปัจจุบันแผ่นไม้เหล่านี้ยังอยู่ใน สภาพดีและเป็นหลักฐานในการรวบรวมและเผยแพร่พระคัมภีร์ในพุทธศาสนาที่น่าเชื่อถือที่สุด
ในปี ค.ศ.1995 องค์การยูเนสโก้ได้จัดให้แผ่นไม้แกะสลักพระไตรปิฎก หรือชางเกียง พันจอน เป็นหนึ่งในมรดกอันมีค่าของโลก
จาก :
http://www.touropia.com/