ขุนลุงขุนไลถัดจากตำนานการสร้างโลก เรามาฟังตำนานกำเนิดคนไทยเวอร์ชันอาหมกันต่อ ซึ่งอย่างที่กล่าวแล้วว่าเนื้อหานั้นคล้ายกับตำนานของไทยเผ่าอื่นๆ
นั่นคือผีแถนบนสวรรค์ได้ส่งชาวไทยลงมาเป็นเจ้าปกครองทุกชนชาติบนโลก (แรง!)
ตามตำนานกล่าวว่าวันหนึ่งเลงดอนได้สอดส่องดูพื้นโลกแล้วเห็นว่าไม่มีความสงบสุขเนื่องจากขาดผู้นำที่ดี จึงปรึกษากับเจ้าสายฝนใหญ่ใหญ่ และย่าเสียงฟ้าว่าควรส่งใครไปช่วยเหลือชาวโลก
ย่าเสียงฟ้าบอกว่าควรส่งญาติวงศ์ของตัวเลงดอนเองลงไป เพราะถ้าเป็นคนอื่นก็เกรงว่าจะปกครองมนุษย์ให้ดีไม่ได้
เลงดอนจึงไปถามแถนคำซึ่งเป็นญาติสนิท แถนคำยินดีให้ลูกทั้งสองของตนชื่ออ้ายขุนลุง (ลุงคือหลวงหรือพี่ใหญ่) กับอ้ายขุนไล (แปลว่าน้อง) ทำหน้าที่นี้
การบูชาแถนยังเห็นอยู่ได้ในคนไทยบางเผ่า และในละครไทยบางเรื่องเมื่อได้ผู้นำแล้ว เลงดอนก็ให้โอวาทให้ผู้นำทั้งสองอยู่ในศีลสัตย์ ปกครองพวกมนุษย์ด้วยความยุติธรรม แล้วคัดเลือกเทวดาที่มีความสามารถอีกจำนวนหนึ่งติดตามเป็นบริวาร ให้ขุนเดือนขุนวันเป็นเสนาใหญ่ช่วยปกครอง กลุ่มของขุนลุงขุนไลและผู้ติดตามทั้งหมดนี้ถูกเรียกเป็นชนชาติใหม่ ชื่อว่า “ชาวไทย”
เลงดอนยังให้ของวิเศษแก่ขุนลุงขุนไลหลายอย่าง ได้แก่:
1. ผีเสื้อเมือง เอาไว้ดูแลรักษาอาณาจักร
2. ช้างงางามให้เป็นพาหนะ
3. ไก่แสนเมืองไว้ขันบอกเหตุการณ์ดีร้าย
4. เสื้อคนละชุด
5. กลองวิเศษ ถ้าฝนแล้งตีแล้วฝนจะตก ถ้าไม่มีแดดตีแล้วแดดจะออก ถ้ามีข้าศึกศัตรูตีแล้วพวกแถนบนฟ้าจะยกทัพลงมาช่วยกระทืบ
6. ดาบวิเศษชื่อเฮงดาน หากลับให้คมอยู่เสมอจะไม่มีวันพ่ายแพ้
7. รูปเทพีชื่อจุ้มฟ้ารุ่งแสงเมือง เป็นของศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง
รูปเทพีจุ้มฟ้ารุ่งแสงเมืองเมื่อเตรียมตัวพร้อมสรรพ ขุนลุงขุนไลได้พาบริวารไต่บันไดลงจากสวรรค์มายังพื้นโลก จึงตั้งค่ายขึ้นชั่วคราวระหว่างหาทำเลสร้างเมือง
ขณะนั้นพวกเขานึกได้ว่าลืมของวิเศษคือไก่ ดาบ และกลองไว้บนฟ้า มีเทวดาในกลุ่มคนหนึ่งชื่อหลังคู้อาสาปีนบันไดกลับขึ้นไปเอา
พอหลังคู้ได้ของวิเศษกลับมาก็เกิดความโลภ เขาแอบอ้างคำปรึกษาของย่าเสียงฟ้าให้ขุนลุงขุนไลมอบดาบวิเศษแก่ตน และให้ตนแยกไปตั้งประเทศใหม่อีกแห่งหนึ่ง พวกขุนลุงขุนไลหลงเชื่อก็จัดการให้ตามประสงค์ หลังคู้จึงนำชาวไทยบางส่วนเดินทางไปสร้างเมืองใหม่ ชื่อเมืองแคะ หรือคือประเทศจีนในสายตาคนไทยนั่นเอง
ดาบเฮงดานจำลองหลังแบ่งคนให้หลังคู้ ขุนลุงขุนไลได้สร้างประเทศของตนชื่อ “เมืองรีเมืองรำ” ซึ่งนักประวัติศาสตร์ประมาณว่าเกิดขึ้นราวคริสต์ศตวรรษที่หก ตอนแรกขุนลุงเป็นกษัตริย์ก่อน ต่อมาขุนไลมีโลภจริต อยากชิงอำนาจกับพี่ชาย ขุนลุงไม่ต้องการขัดแย้งจึงแยกไปสร้างเมืองอีกแห่งชื่อ “เมืองคูเมืองยาว” ปกครองได้สี่สิบปีก็สิ้นบุญ
บุตรของขุนลุงเจ็ดคนแยกย้ายออกไปตั้งเมืองที่เรารู้จักมากมาย เช่นลูกคนโตได้ไปตั้งเมืองก๋อง (เรียกอีกอย่างว่าเมืองเมาหลวง เป็นอาณาจักรแรกๆของพวกไทใหญ่) ลูกอีกคนหนึ่งได้ไปครองเมืองอังวะ ส่วนลูกคนสุดท้องชื่อขุนชูครองเมืองคูเมืองยาวต่อ
ข้างฝ่ายขุนไลครองเมืองรีเมืองรำสืบต่อมาถึงรุ่นลูก แต่ลูกของขุนไลตายไปโดยไม่มีทายาท ญาติวงศ์จากเมืองคูเมืองยาวจึงส่งคนมาปกครองแทน
จะเห็นว่าแม้เรื่องนี้เป็นตำนาน แต่ในทางหนึ่งก็พอสะท้อนเรื่องราวที่ชาวไทใหญ่อพยพลงมาสร้างอาณาจักรในบริเวณรัฐฉานทางตอนเหนือของพม่า ในยุคที่ยังไม่มีการบันทึกอย่างเป็นระบบได้
ภาพหญิงสาวชาวไทใหญ่ที่ผมเซฟรูปมาจาก Facebook สมาคมคนรักสาวไทใหญ่ส่วนนี่รูปหญิงสาวชาวไทน้อยฝ่ายไทน้อยเองมีตำนานที่คล้ายกัน คือแถนได้ส่งบุตรของตนชื่อขุนบุลมลงมาปกครองโลก ขุนบุลมให้บุตรทั้งเจ็ดของตนแยกย้ายออกไปครองเมืองต่างๆได้แก่:
1. ขุนลอ ปกครองเมืองชวา (คือเมืองหลวงพระบางในลาว)
2. ขุนผาล้าน ปกครองเมืองสิบสองปันนา
3. ขุนจุลง ปกครองเมืองโกดแท้แผนปม (ปัจจุบันอยู่ในเวียดนาม)
4. ขุนคำผง ปกครองเมืองเชียงใหม่
5. ขุนอิน ปกครองเมืองอยุธยา
6. ขุนกม ปกครองเมืองหงสาวดี
7. ขุนเจือง ปกครองเมืองพวน (คือเมืองเชียงขวางในลาว)
การที่กษัตริย์ส่งลูกออกไปสร้างเมืองใหม่เรื่อยๆจนเกิดเครือข่ายอาณาจักรบ้านพี่เมืองน้องหลายแห่งนี้ เป็นวิธีการขยายดินแดนของชาวไทยโบราณ เหมือนการที่พญามังรายซึ่งเป็นเจ้าชายของเมืองเชียงแสนได้ออกไปสร้างเมืองเชียงราย และเชียงใหม่นั่นแหละครับ
กลับมาที่เรื่องของไทใหญ่ หลังจากชาวไทยตั้งถิ่นฐานในบริเวณรัฐฉานมาได้หลายร้อยปี ก็มาถึงรุ่นของกษัตริย์ชื่อเจ้าช้างญุ่นผู้ครองเมืองก๋อง
เจ้าช้างญุ่นมีบุตรสามคน ชื่อเสือซัดฟ้า เสือขานฟ้า และเสือก่าฟ้า (ก่าแปลว่ามา) ต่อมาเสือก่าฟ้ามีเหตุขัดแย้งกับพี่น้อง ไม่อยากแย่งชิงอำนาจด้วย จึงนำสมัครพรรคพวกอัญเชิญเทพีจุ้มฟ้ารุ่งแสงเมืองออกเดินทางไปตั้งเมืองใหม่ ในปี ค.ศ. 1216
เสือก่าฟ้าการเดินทางของเสือก่าฟ้านี้ หากไปเพียงสั้นๆก็คงจะสร้างหัวเมืองขึ้นในบริเวณนั้นอีกเมืองหนึ่ง เป็นเครือข่ายบ้านพี่เมืองน้องกับหัวเมืองอื่นๆของชาวไทย
แต่ครั้งนี้เสือก่าฟ้าเดินทางไปไกลมาก จนพลัดเข้าสู่ดินแดนอันพิลึกพิสดารเป็นดินแดนแห่งเลือด นรก และเซ็กส์ ซึ่งกำลังถูกรุกรานโดยชาติมหาอำนาจของโลกยุคนั้นหลายชาติ มีภยันอันตรายมากมายทั้งจากธรรมชาติและจากมนุษย์ ผิดจากถิ่นเดิมของเขาโดยสิ้นเชิง
กลุ่มคนไทยที่หลุดเข้าไปสู่ดินแดนอันแปลกประหลาดดังกล่าว ได้เผชิญเหตุปัจจัยต่างๆ เกิดการพลิกผันวิวัฒน์เป็นไทยกลุ่มใหม่ เรียกว่า "ไทยอาหม”
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่กลุ่มคนไทน้อยทางใต้นำโดยพ่อขุนบางกลางหาว และพ่อขุนผาเมือง ร่วมมือกันยืนหยัดต่อสู้กับจักรวรรดิเขมรซึ่งขณะนั้นมีขนาดและกำลังพลเหนือกว่าพวกเขามาก กลายเป็นจุดเริ่มต้นของอาณาจักรสุโขทัย
ภาพกองทัพไทย หรือเสียมกุก ขณะที่ยังเป็นเมืองขึ้นของเขมรเสือก่าฟ้าขบวนของเสือก่าฟ้าประกอบด้วยภรรยาของเสือก่าฟ้าสามคน ได้แก่นางอ้ายแม่เจ้าลื้อ นางเจนจุมฟ้า และนางยี่ลื้อเวงสีสุมฟ้า มีเสนาบดีสองคน คือ ท้าวเมืองบ้านรุย และท้าวเมืองสามงาน มีขุนนางห้าคนชื่อ ขุนบา ขุนฟรอง ขุนริง ขุนเจ็ง และขุนฟูกิน มีนักบวชเอกสี่คน คือ ท้าวเมืองหลวงกาน ท้าวเข็นลุนครัม ท้าวฟรองและท้าวเมืองไมโซ (ชื่อพวกนี้และพวกชื่อเทพทั้งหลายข้างบน ไม่ต้องจำเลยแม้แต่ชื่อเดียวนะครับ คงไม่มีต่อในอนาคต ผมเอามาลงให้ได้อารมณ์ไทยโบราณเท่านั้น)
นอกจากนั้นยังมีช้างสองเชือก ม้าสามร้อยตัว ชาวบ้านชายหญิงติดตามมารวมทั้งสิ้นเก้าพันคน ในจำนวนนี้มีทหารอยู่กี่คนไม่ทราบ แต่เข้าใจว่าชาวบ้านไทยในยุคนั้นทุกคนถูกเลี้ยงดูมาให้ทำงานเอนกประสงค์ คือยามสงบทำนาได้ ก่อสร้างได้ ยามศึกสงครามจับอาวุธสู้ได้
...จริงๆจำนวนไม่ถึงเก้าพันนี้ถ้าเทียบกับอาณาจักรอื่นที่เกณฑ์พลรบกันทีเป็นหมื่นเป็นแสนก็ถือว่าจิ๊บจ๊อยมาก...
แผนที่แสดงการเดินทางของเสือก่าฟ้าเสือก่าฟ้าได้เดินทางข้ามทิวเขาปาดไก่ซึ่งกั้นพรมแดนระหว่างพม่ากับอินเดีย ที่นั่นเขาพบชนเผ่าไม่เป็นมิตรกลุ่มแรกคือพวกนาค
พวกนาคเป็นชาวเขาที่กล้าหาญดุร้าย เชื่อว่าเมื่อตนเองตื่นนั้นยังเป็นคน แต่เมื่อหลับแล้ววิญญาณจะเข้าไปสิงร่างเสือ กลายเป็นเสือออกล่าสัตว์
นาคผู้ชายมักพกหอกดาบเล่มใหญ่ นิยมทำสงคราม มีชื่อเสียงในความชื่นชอบล่าศีรษะมนุษย์จนเป็นที่กลัวเกรงไปทั่ว สันนิษฐานว่าพวกนาคถูกเรียกเช่นนี้เพราะสมัยโบราณเคยนับถืองู และได้ต่อสู้กับอีกชนเผ่าที่นับถือนกจนเป็นที่มาของตำนาน ครุฑ-นาค
นักรบนาคพวกนาคในปัจจุบันเมื่อเสือก่าฟ้าได้ทำศึกกับพวกนาค พบว่าคนเหล่านี้มีนิสัยดุร้ายสู้อย่างไม่กลัวตาย จึงรุกตีอย่างรุนแรง เอาชนะด้วยกำลังเฉียบขาด
ครั้นเอาชนะได้แล้วเสือก่าฟ้าก็จับนาคที่เป็นเชลยฆ่าทิ้งหลายคน เอาเนื้อมาย่างไฟ แล้วบังคับให้พวกนาคที่เหลือกินเนื้อญาติตัวเอง
...ใครไม่กินต้องถูกฆ่าตาย...การกระทำครั้งนี้สร้างความหวาดกลัวให้แก่พวกนาคอย่างมาก เพราะพวกตัวเองว่าเถื่อนแล้ว แต่คนไทยที่บุกมานี้ยังเถื่อนกว่า!ตั้งแต่นั้นเสือก่าฟ้าเคลื่อนขบวนไปเจอนาคกลุ่มใดก็มักได้รับการสวามิภักดิ์โดยง่าย เขาจึงเกณฑ์พวกนาคมาเป็นทหาร ให้ฝึกปรือกระบวนยุทธตามแบบไทย ทำให้มีกำลังพลเพิ่มอีกมาก
หลังจากข้ามเขาปาดไก่มาพวกไทยก็ตีได้บริเวณลุ่มแม่น้ำดีฮิง ซึ่งเป็นแควของแม่น้ำพรหมบุตร จึงจัดการเปลี่ยนชื่อแม่น้ำดีฮิงเป็น "น้ำหก"
เสือก่าฟ้าพยายามตั้งเมืองขึ้นในบริเวณนี้หลายครั้ง แต่อยู่ได้ไม่กี่ปีก็ประสบภัยน้ำท่วม ทำให้ต้องอพยพหนีไปเรื่อยๆ
พวกไทยอพยพตามแม่น้ำพรหมบุตรไปถึงบริเวณปากแควดีขูค่อยพบทำเลดี จึงตั้งเมืองหลวงแห่งแรกขึ้น ชื่อเมือง “เจ้รายดอย” และเรียกอาณาจักรที่กำลังขยายออกไปเรื่อยๆของตนว่า “เมืองถ้วนสวนคำ” (แปลว่าอาณาจักรแห่งสวนผลไม้ทองคำ) นอกจากนั้นยังเปลี่ยนชื่อแม่น้ำพรหมบุตรเป็น “น้ำดาวผี” (แปลว่าแม่น้ำแห่งดวงดาวของพระเจ้า)
เมด้ำหรือที่ฝังศพกษัตริย์อาหมในเมืองเจ้รายดอยในบันทึกพงศาวดารอาหม มีกล่าวถึงเหตุการณ์ในการสร้างเมืองเจ้รายดอย ผมแปลเองประมาณว่ามีการเอาทองคำไปประดับต้นมะปรางจนเต็มต้น เอาดินเงินใส่หม้อ และเอาม้ามายืนเท่ห์ๆสองตัวเพื่อฉลองการสร้างเมืองใหม่ ใครอยากอ่านฉบับเต็ม (ซึ่งอ่านยากหน่อยเพราะเป็นภาษาไทยเก่า) มีอยู่ย่อหน้าถัดไปครับ
“ในวันลักนี ปีเมืองแก้ว ก็ได้ทำการก่อสร้างเมืองหนึ่งบนที่ดอน เมืองนี้สวยงามและใหญ่โตมาก มีม้าตัวหนึ่งเอาไปไว้ทางทิศเหนือ ม้าอีกตัวหนึ่งเอาไปอยู่ทางทิศใต้ มีทองคำ แจ้ลองแล ห้อยอยู่บนต้นปาง (มะปราง) ทองคำที่ห้อยอยู่นี้มีเป็นชั้นๆเรื่อยลงมาถึงโคนต้น และได้ใส่ดินเงินก้อนหนึ่งไว้ในหม้อใบหนึ่ง ให้นำไปตั้งไว้บนที่เนิน เพื่อใช้ประกอบในพิธี แม่เมืองแม่บาน ที่แจ้หลวงแจ้คำ”
ใกล้ๆเมืองเจ้รายดอยมีอาณาจักรเล็กๆของชนเผ่าตระกูลทิเบตพม่าอยู่สองเผ่า ชื่อเผ่าโมรานกับบาราฮี เสือก่าฟ้าเห็นว่าพวกบาราฮีนั้นไม่มีชื่อทางการต่อสู้มาก แต่พวกโมรานเป็นนักรบที่มีชื่อเสียงว่าเก่งฉกาจ จึงยกทัพไปตีอาณาจักรโมราน ได้ชัยชนะจับผู้ชายโมรานเป็นทาส และเอาผู้หญิงโมรานมาเป็นของเล่น
พอพวกโมรานแตก เสือก่าฟ้าก็ส่งทูตไปขอเจริญไมตรีกับพวกบาราฮี เวลานั้นชื่อเสียงความโหดร้ายของชาวไทยได้แผ่ไปทั่วแล้วพวกบาราฮีกำลังกลัวมาก พอมีทูตมาเช่นนี้ก็รีบสวามิภักดิ์ ทำให้เสือก่าฟ้าสามารถผนวกอีกสองแคว้นเล็กมาเป็นกำลังให้อาณาจักรอาหมโดยง่าย
เจ้าหลวงเสือก่าฟ้าและวังอาหมโบราณเสือก่าฟ้ายังจัดระเบียบราชการให้สอดรับกับอาณาเขตที่กว้างขึ้น โดยเพิ่มอำนาจแก่เสนาบดีที่ทั้งสองที่ติดตามมาให้คอยดูแลอาณาจักรคนละส่วน
เขายกให้ท้าวเมืองบ้านรุย เป็น “เจ้ากว้างเมือง” และท้าวเมืองสามงานเป็น “เจ้าเฒ่าหลวง” ซึ่งเป็นตำแหน่งขุนนางสูงสุดของชาวไทใหญ่ (ประมาณสมุหนายก สมุหกลาโหมในสมัยอยุธยา รัตนโกสินทร์) ตำแหน่งนี้สืบต่อในตระกูล แต่หากเหล่าเสนาบดีรุ่นนั้นๆไร้ความสามารถก็จะคัดเลือกจากลูกหลานขุนนางอื่นๆ
จากนั้นเสือก่าฟ้าใช้เวลาที่เหลือในชีวิตขยายอำนาจต่อจนบ้านเมืองเป็นปึกแผ่น เขาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1268 กลายเป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรไทยอาหม รวมระยะเวลาที่เร่ร่อนสร้างประเทศนาน 52 ปี
หลังยุคเสือก่าฟ้าอาณาจักรพวกอาหมยังคงเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จนเป็นที่หวาดกลัวของอาณาจักรอื่นๆ เพราะแม้มีขนาดเล็กแต่รบโหดมาก
นอกจากการทำสงครามแล้ว อีกปัจจัยที่ทำให้อาหมเจริญเร็ว คือเทคโนโลยีที่เหนือกว่าชาติรอบข้าง เช่นการตีเหล็กเพื่อทำอาวุธชั้นสูง หรือการทำนาดำที่เรียกว่า “เฮ็ดนาเมืองลุ่ม” ด้วยเทคโนโลยีอย่างหลังนี้ พวกอาหมสามารถใช้การสร้างทำนบคันนา ขุดคูทดน้ำ กั้นน้ำและระบายน้ำเปลี่ยนที่หนองบึงรกร้างในดินแดนอัสสัมกลายเป็นแหล่งผลิตข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ
เทคโนโลยีเฮ็ดนาเมืองลุ่มเป็นสิ่งที่ชาวไทยมีร่วมกันมาแต่โบราณ นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวไทยมีความมั่นคงทางอาหาร และก้าวสู่การเป็นชาติมหาอำนาจในหลายท้องที่อาหมรุ่งเรืองทั้งทางเศรษฐกิจ และทางทหารมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเหลนของเสือก่าฟ้าชื่อเสือห้างฟ้าครองบัลลังค์ในค.ศ. 1293 พวกอาหมก็มีกำลังมากพอจะวัดรอยเท้ากับอาณาจักรใหญ่ได้
เสือห้างฟ้าตัดสินใจเกณฑ์ไพร่พลยกทัพไปตีแคว้นกามตะ รบกันหลายปีไม่ปรากฏผลแพ้ชนะจึงตกลงเป็นไมตรีกัน โดยราชากามตะยกเจ้าหญิงชื่อราชานีให้เป็นมเหสีของเสือห้างฟ้า
พันธมิตรนี้ทำให้อาณาจักรข้างๆคือกะจารี และชุติยะต้องหวั่นเกรง เพราะนั่นหมายถึงมีอาณาจักรใหญ่เกิดขึ้นในอัสสัมเป็นคู่แข่งของพวกเขาเพิ่มอีก
เป็นที่แน่ชัดว่าเสือก่าฟ้าได้เปลี่ยนชนชาติของตนจาก “คนแปลกหน้าที่เดินทางเข้าสู่ดินแดนอันตราย” เป็น “คนอันตรายที่เดินทางเข้าสู่ดินแดนแปลกหน้า” โดยสมบูรณ์แล้วศึกชุติยะชาวไทยอาหมรุ่นแรกๆที่เข้ามายังดินแดนอัสสัมนั้นเปรียบเหมือนไก่หนุ่มที่พึ่งลอกเดือยหนามทอง มีความฮึกหาญลำพอง มีฝีมือเก่งฉกาจ เจอศัตรูแข็งแกร่งจากไหนก็มักบุกตลุยเข้าไปซึ่งหน้า สยบด้วยกำลังเหนือกว่าอย่างกล้าหาญ
แต่ถึงเก่งขนาดไหนชาวไทยก็มีจำนวนน้อย อาณาจักรพึ่งตั้ง ระบบการปกครองยังไม่นิ่ง
กลุ่มชนที่อยู่มาก่อนอย่างพวกชุติยะซึ่งมีชื่อเสียงในด้านกล้าหาญดุร้ายเหมือนกันย่อมตระหนักว่า หากไม่ปราบชาวอาหมเสียตั้งแต่ยังเล็กนี้ ต่อไปคงหาโอกาสยาก
พวกชุติยะนี้นับถือเจ้าแม่กาลีเป็นเทพประจำเผ่า มีนิสัยชื่นชอบการจับคนมาฆ่าบูชายัญเจ้าแม่มาก เดิมพวกเขาอาศัยอยู่บริเวณทะเลสาบสวัต ถูกชาวกามรูปเรียกว่าสวติยะ พวกเขารับคำดังกล่าวมาเรียกตัวเองเพี้ยนเป็นชุติยะ และเชื้อสายพวกชุติยะในปัจจุบันยังเรียกตนเองเพี้ยนไปอีกเป็นโชตะ
ปัจจุบันจังหวัดหนึ่งของแคว้นพิหารในอินเดียยังมีชื่อว่า โชตะนาคปุระ เพื่อระลึกถึงคนชาตินี้
เจ้าแม่กาลีปี ค.ศ. 1376 ในยุคของเสือตัวฟ้าผู้เป็นบุตรเสือห้างฟ้าได้มีกษัตริย์ชุติยะคนหนึ่งจึงเดินทางมาเมืองอาหมกับองครักษ์ไม่กี่คนบอกว่าขอเป็นไมตรี เสือตัวฟ้าเห็นว่าคนๆนี้เป็นชายชาตินักรบถึงกับเข้าสู่ถ้ำเสือวังมังกรโดยไม่กลัวอันตราย จึงให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติ
กษัตริย์ชุติยะบอกว่าขณะนี้ราษฎรอาหมกำลังมีเทศกาลแข่งเรือในลำน้ำซาฟราย ตนอยากดู จึงขอเชิญเสือตัวฟ้าไปชมด้วยกันในเรือที่กษัตริย์ชุติยะล่องมา เสือตัวฟ้าเห็นงานเทศกาลนั้นอยู่ในอาณาเขตตนก็ไม่ระแวง จึงยอมลงเรือไปกับกษัตริย์ชุติยะ
ประเพณีแข่งเรือในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียยังมีอยู่จนปัจจุบันปรากฏว่านี่เป็นอุบาย! กษัตริย์ชุติยะอาศัยจังหวะที่เสือตัวฟ้ากำลังสนใจกับการแข่ง ชักดาบมาตัดหัวเสือตัวฟ้า แล้วรีบสั่งบริวารให้ล่องเรือหนีโดยเร็ว
การตายของกษัตริย์ทำให้พวกไทยอาหมระส่ำระสาย เพราะท้าวคำที่ซึ่งเป็นน้องชายและทายาทคนสุดท้ายของเสือตัวฟ้านั้นไม่เข้มแข็งเหมือนพี่
แต่ด้วยศักดิ์ศรีของชาวไทย ถึงระส่ำระสายอย่างไรก็ต้องแก้แค้น เจ้ากว้างเมืองและเจ้าเฒ่าหลวงจึงเชิญท้าวคำที่เป็นแม่ทัพไปออกศึกกับพวกชุติยะ
ท้าวคำที่มีมเหสีสองคนเป็นฝ่ายซ้ายฝ่ายขวา เมื่อเขาออกไปรณรงค์สงครามนั้นบ้านเมืองกลับตกอยู่ในมือของมเหสีฝ่ายขวาผู้โหดร้าย
มเหสีฝ่ายขวาเกลียดฝ่ายซ้ายมานานแล้ว จึงหาเหตุจับไปฆ่า เคราะห์ดีที่พวกขุนนางมีใจเมตตาแอบปล่อยไป ขณะนั้นมเหสีฝ่ายซ้ายกำลังตั้งครรภ์อยู่
ท้าวคำที่กลับจากการศึกพบว่ามเหสีฝ่ายซ้ายถูกประหารไปแล้วก็โศกเศร้าไม่รู้ทำอย่างไรเพราะกลัวเมียฝ่ายขวามาก ต่อมามเหสีฝ่ายขวาใช้ความอารมณ์ร้ายบงการท้าวคำที่ต่างๆทำให้บ้านเมืองวิปริตแปรปรวน ท้าวคำที่ก็ไม่อาจทัดทานได้ พวกขุนนางทนไม่ไหวจึงลอบสังหารท้าวคำที่ ยึดอำนาจเสีย
พอสิ้นท้าวคำที่บ้านเมืองก็ว่างกษัตริย์อยู่พักหนึ่ง จนมีการพบร่องรอยของมเหสีฝ่ายซ้ายและลูกที่ตั้งครรภ์ระหว่างหนี
เด็กคนนั้นเติบโตเป็นหนุ่มท่าทางกล้าหาญ พวกขุนนางจึงอัญเชิญขี้นเป็นกษัตริย์ ตั้งชื่อว่า “เสือดั้งฟ้า”
เสือดั้งฟ้าครองราชย์เมื่ออายุเพียงสิบห้าปี ความที่ตอนเด็กๆมารดาหนีไปอยู่ชุมชนพราหมณ์ เขาจึงมีความเลื่อมใสในศาสนาพราหมณ์ และนำพิธีกรรมต่างๆเข้ามาใช้ในราชสำนักไทย
แต่นั้นอาหมก็ค่อยๆกลายเป็นชาตินับถือพราหมณ์ปนผี มีวัฒนธรรมประเพณีสำคัญแบบฮินดูหลายอย่าง
...อ่านถึงตรงนี้ท่านอาจสงสัยว่าหากไม่มีเสือดั้งฟ้า อาหมจะยังมีวัฒนธรรมแบบไทยโบราณมากกว่านี้หรือไม่?...
คำตอบคือธรรมดาวัฒนธรรมนั้นเหมือนน้ำ ย่อมไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ แม้ในสงครามฝ่ายที่วัฒนธรรมต่ำกว่าอาจเป็นผู้ชนะ แต่เมื่อเวลาผ่านไปวัฒนธรรมซึ่งมีความละเอียดซับซ้อนมากกว่าก็ต้องเป็นฝ่ายกลืนกินในที่สุด เหมือนการที่ชาวแมนจูพิชิตเมืองจีนแล้วรับวัฒนธรรมฮั่น หรือชาวเติร์กพิชิตตะวันออกกลางแล้วรับวัฒนธรรมอาหรับ
ในลักษณะนี้วัฒนธรรมอินเดียซึ่งมีการสั่งสมพัฒนามายาวนานจึงแพร่เข้าสู่ชาวไทยอาหม ตรงกับสมัยอยุธยาตอนต้นที่ศาสนาพุทธประดิษฐานในกลุ่มชนไทน้อยมานานแล้ว นับว่าพวกอาหมเริ่มรับอิทธิพลอินเดียช้ากว่าชาวไทยอื่นๆด้วยซ้ำ
ถึงจะรับวัฒนธรรมอินเดียมา แต่บางส่วนของศาสนาผีก็ยังคงอยู่ในสังคมไทยจนปัจจุบันรัชกาลเสือดั้งฟ้ามีเหตุพลิกผันสำคัญเมื่อเสือดั้งฟ้าแต่งพระราชินีชื่อขุนไต
กล่าวคือก่อนแต่งนั้นขุนไตเคยมีคู่รักอยู่ก่อนเป็นขุนนางชื่อไตสุไล ในงานเลี้ยงครั้งหนึ่งไตสุไลเห็นพระราชินีแล้วระลึกถึงความหลัง จึงถอดแหวนส่งให้
เสือดั้งฟ้าจับได้ก็โกรธจะลงอาญา แต่ไตสุไลไหวตัวทันรีบหนีออกจากอาณาจักรอาหมเสียก่อน
ขุนนางผู้มากรักหนีข้ามไปถึงแผ่นดินรัฐฉาน กราบทูลยุยงให้เสือรำฟ้ากษัตริย์แห่งเมืองก๋องยกทัพปราบอาหม เสือรำฟ้าเชื่อก็ทำตาม
เครื่องแต่งกายชาวไทใหญ่เสือดั้งฟ้าเห็นทัพเมืองก๋องยกมาจึงกะเกณฑ์ไพร่พลยกออกไปรบด้วยตนเอง เขาขี่ช้างสู้ในแนวหน้าอย่างกล้าหาญ จนถูกหอกบาดเจ็บ แต่สามารถต้านรับศัตรูได้
เสือรำฟ้าเห็นเสือดั้งฟ้ามีความเป็นชายชาตินักรบก็นับถือ เขาค่อยระลึกว่าจริงๆทั้งสองอาณาจักรนับเป็นบ้านพี่เมืองน้อง แทนที่จะรบต่อจึงขอเป็นไมตรี
พิธีสงบศึกทำโดยให้เจ้าเฒ่าหลวงของทั้งสองฝ่ายมาพบกันที่ทิวเขาปาดไก่ เจ้าเฒ่าหลวงเชือดไก่สังเวยเลงดอนแล้วก็ตกลงให้ทิวเขานี้เป็นพรมแดนระหว่างสองเมือง (เขาปาดไก่เดิมชื่อดอยเก้าหลัง สันนิษฐานว่าเปลี่ยนชื่อเป็นปาดไก่เพราะเหตุการณ์นี้)
เทือกเขาปาดไก่ไตสุไลเห็นอาหมกับเมืองก๋องเป็นพันธมิตรกันก็กลัวโทษ รีบหนีต่อไปยังแคว้นกามตะ เสือดั้งฟ้าขอให้ราชากามตะส่งตัวนักโทษให้ แต่ราชากามตะเห็นไตสุไลเป็นผู้มาพึ่งพิงก็ไม่ยอมส่ง
เสือดั้งฟ้าโกรธเกณฑ์พลจะออกรบ ราชากามตะเห็นฝ่ายอาหมเอาจริงก็ไม่กล้าสู้ จึงส่งพระราชธิดาพร้อมช้างม้าข้าทาสมาเป็นบรรณาการ การศึกจึงระงับไปด้วยดี สำหรับไตสุไลผู้สร้างเรื่องราวมากมายจะมีชะตากรรมเป็นอย่างไรต่อไปนั้นผมหาไม่เจอ แต่คิดว่าเขาควรภูมิใจที่สามารถทำให้ตัวเองมีราคาแพงเพียงนี้
หลังยุคเสือดั้งฟ้า แผ่นดินสืบต่อมาถึงยุคเสือฮุ่งเมือง (ครองราชย์ ค.ศ. 1497 ฮุ่งมาจากคำว่ารุ่ง เรียกแบบไทยภาคกลางคือ เสือรุ่งเมือง) เกิดเหตุกษัตริย์ชุติยะชื่อธีระนารายันยกมาตีอาหม
เสือฮุ่งเมืองระลึกว่าก่อนหน้านี้ที่ไทยอาหมระส่ำระสาย สาเหตุหนึ่งมาจากเสือตัวฟ้าถูกกษัตริย์ชุติยะสังหาร หลังจากนั้นแผ่นดินเกิดปัญหาทั้งภายนอกภายใน ทำให้ไม่มีความสามารถรบแตกหักกับอาณาจักรใหญ่อย่างชุติยะได้ ครั้งนี้เมื่อธีระนารายันกำเริบมาเองก็ดี เขาจะถือเป็นโอกาสชำระแค้นให้บรรพบุรุษอย่างเด็ดขาด!
นักรบไทใหญ่คิดดังนั้นเสือฮุ่งเมืองจึงจัดทัพต้านรับเต็มที่ การศึกอาหมชุติยะเป็นไปอย่างดุเดือดถึงขั้นตะลุมบอน มีการผลัดกันแพ้ชนะ แต่ในที่สุดทัพชุติยะเสียหายมากต้องถอยกลับ เสือฮุ่งเมืองตามตียึดได้เมืองชายแดนชุติยะ จึงให้สร้างป้อมอันแข็งแรงขึ้นเพื่อป้องกันอาณาเขตใหม่
ธีระนารายันเสียดินแดนก็เจ็บใจ เขาใช้อุบายส่งสารไปหายุยงเมืองก๋องให้ร่วมกันตีกระหนาบอาหม แต่เจ้าเมืองก๋องคิดถึงความเป็นบ้านพี่เมืองน้อง นอกจากไม่ช่วยธีระนารายันแล้วยังส่งกำลังไปสนับสนุนเสือฮุ่งเมือง เป็นการกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นกว่าเดิม
เมื่อพวกไทยสามัคคีกัน ธีระนารายันจำต้องรบด้วยตัวเอง ชุติยะกับอาหมผลักกันแพ้ชนะหลายครั้ง แต่สรุปอาหมได้อาณาเขตชุติยะมากขึ้น ในช่วงระหว่างนี้ธีระนารายันรู้สึกว่าตนแก่แล้วไม่สามารถรบอย่างมีประสิทธิภาพ จึงสละบัลลังค์ให้บุตรเขยชื่อนิตยพล
อ่านชื่อนิตยพลแล้วรู้สึกหิว เพราะฟังคล้ายๆนิตยาไก่ย่าง ถ้าขายดีขึ้นขอค่าโฆษณาผมด้วยนะครับ
นิตยพลรับไม้จากพ่อตามาแล้ว ก็จัดทัพสู้กับอาหมเป็นสามารถ แต่กลับพ่ายแพ้อย่างหนัก ต้องขอยอมแพ้ส่งเครื่องบรรณาการให้
เสือฮุ่งเมืองบอกนิตยพลว่าอยากยอมแพ้ก็ได้ แต่เครื่องบรรณาการที่จะส่งมานั้นต้องเป็นแมวทอง ช้างทอง ฉัตรทอง และหูกทอผ้า ซึ่งเป็นสมบัติคู่บ้านคู่เมือง ของเหล่านี้เหมือนพระแก้วมรกตของประเทศไทย พวกชุติยะยอมตายไม่ยอมยกให้ใครเด็ดขาด การศึกจึงดำเนินต่อ
หลังเจรจาล้มเหลวฝ่ายชุติยะทราบว่ารบตรงๆยาก มีการคิดแผนสู้พลางถอยพลางไปจนถึงดอยชื่อ “ชาวตัน” อันเป็นสมรภูมิที่เลือกมาแล้ว เมื่อทัพชุติยะถอยขึ้นดอยสำเร็จก็ปล่อยก้อนหินใส่พวกอาหมที่กำลังตามมา ยังผลให้ต้องบาดเจ็บล้มตายลงมาก
ทัพไทยรุกขึ้นดอยกี่ครั้งก็ถูกก้อนหินกลิ้งทับจึงหยุดชะงักอยู่ตีนดอย พิจารณาแล้วเห็นว่าดอยชาวตันนั้นด้านหนึ่งเป็นทางลาดชันสำหรับกลิ้งหิน อีกด้านหนึ่งเป็นผาชะลูด ไม่มีทางที่จะปีนขึ้นได้ นับเป็นชัยภูมิอันยอดเยี่ยม
คิดว่าดอยชาวตันน่าจะเป็นอะไรคล้ายๆแบบนี้ คิดมีด้านที่ชันแต่พอปีนได้ กับด้านที่ไม่น่าจะปีนได้เลย
ฝ่ายไทยรู้ตัวว่าต้องกลศึก ถูกล่อเข้ามาในแดนศัตรู รุกไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องถอยกลับ ซึ่งพวกชุติยะคงวางแผนตามตีไว้แล้ว
แต่ทหารอาหมนั้นฉกาจนัก เมื่อพบคำว่า “เป็นไปไม่ได้” ก็ทำให้ “เป็นไปได้”พวกเขาเสี่ยงปีนขึ้นดอยชาวตันด้านผาชะลูด! บางคนตกผาตาย แต่ส่วนใหญ่ขึ้นถึงยอดดอยสำเร็จ!
พวกชุติยะคิดว่าคงยากที่ใครจะโง่ปีนผา จึงละเลยการจัดเวรยามด้านนี้ พอพวกเขาเห็นอาหมโผล่มายอดเขาก็แตกตื่นวุ่นวาย ด้วยไม่ทราบว่าใช้กลศึกอะไรถึงปรากฏกายขึ้นมาได้ (หรือจริงๆแล้วมันนับเป็นกลศึกหรือเปล่า?)
เดนตายอาหมบุกไล่พวกชุติยะ ต่างคนต่างสังหารข้าศึกอย่างสนุกมือ เหลือชุติยะไม่กี่รายหนีกลับเมืองหลวงอย่างทุลักทุเล
ทัพไทยไม่ปล่อยให้ศัตรูพักหายใจ พวกเขาตามตีเข้าเมืองหลวงชุติยะ กวาดล้างผู้ต่อต้านอย่างเฉียบขาด นิตยพลกับราชโอรสถูกฆ่าตายกลางที่รบ พระราชินีพอจวนตัวก็เอาหอกแทงตัวตายเช่นกัน ราชวงศ์ที่เหลือถูกจับเป็นเชลยเอาไปถวายเสือฮุ่งเมืองพร้อมกับแมวทอง ช้างทอง และของคู่แผ่นดินอื่นๆ
เพื่อฉลองชัยชนะเสือฮุ่งเมืองได้ทำพิธี “เรียกขวัญ” ซึ่งเป็นประเพณีฉลองเหตุการณ์สำคัญแบบไทย คือให้กษัตริย์แต่งกายเต็มยศนั่งบนตั่ง ให้พวกเทพไทรดน้ำมนต์เสกเป่า ทำนองเดียวกับพิธีบายศรี
จากนั้นกษัตริย์แห่งอาหมจึงโปรดให้กวาดปัญญาชนและช่างฝีมือชาวชุติยะไปไว้เมืองอาหม และตัดหัวนิตยพลกับโอรสไปฝังไว้ตรงบันไดทางเข้าวัดในเมืองเจ้รายดอย (หลังจากเสือก่าฟ้าตั้งเมืองหลวงแรกที่เจ้รายดอยแล้วพวกอาหมก็เปลี่ยนเมืองหลวงอีกหลายครั้ง แต่ยังถือเมืองเจ้รายดอยเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์)
จากนี้ใครเดินผ่านไปมาที่วัดเมืองเจ้รายดอยจะต้องเหยียบข้ามหัวนิตยพลกับลูกอยู่ร่ำไป
...สาสมกับความแค้นที่อาหมและชุติยะมีต่อกัน...มีต่อ ............