คลังธรรมปัญญา > หนอนหนังสือ

อสุราอาหม : ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ของญาติเรา คนไทย ใน อินเดีย

(1/2) > >>

มดเอ๊กซ:

*** The Wild Chronicles "อสุราอาหม" Part I: The Tribe ***

ในห้องเรียนห้องหนึ่งในประเทศ “ไทย” เด็กนักเรียนน่ารักยกมือถามคุณครูว่า “คุณครูครับ ทำไมเราต้องเชิดชูบรรพบุรุษไทยด้วยล่ะครับ?”



คุณครูใจดี มองฝ่ายตรงข้ามด้วยความเมตตา



เธอตอบด้วยน้ำเสียงอ่อนหวานว่า “อ๋อ ก็เพราะบรรพบุรุษไทยของเรานั้น เป็นผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารี ธรรมะธัมโม มีความสามารถอย่างยอดเยี่ยม สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่บ้านเมือง ซ้ำยังปกป้องประเทศของเราจากข้าศึกศัตรูอย่างกล้าหาญมาหลายครั้ง เราจึงควรสำนึกบุญคุณพวกท่านน่ะซีจ๊ะ”



“แต่หนูขี้เกียจทำบอร์ดสรรเสริญบรรพบุรุษไทยนี่คะ หนูต้องเอาเวลาไปเล่นเกมส์เฟสบุค” เด็กผู้หญิงคนหนึ่งร้องขึ้น

“ใช่... บรรพบุรุษไทยไม่เห็นเป็นคนดีเลย ตอนสงครามโลกครั้งที่สองก็ทำตัวน่าเกลียด เป็นนกสองหัว เลียแข้งเลียขาทั้งฝรั่ง ทั้งญี่ปุ่น” เด็กอีกคนกล่าว จนคุณครูอึ้ง

“ใช่ๆ แล้วก็ไม่ใช่คนเก่งด้วย ถ้าเก่งนะ มันต้องยึดครองโลกได้แบบพวกฝรั่ง ขี่เครื่องบินไปทิ้งบอมประเทศด้อยพัฒนาดังตู้มๆ” เด็กคนที่สามพูด คุณครูอึ้งอีก

“แล้วก็ใครว่าพวกนั้นปกป้องบ้านเมืองได้ คิดดู ตกเป็นเมืองขึ้นพม่าตั้งสองครั้ง น่าอดสูใจจริงๆ” เด็กคนที่สี่ซ้ำเติม แล้วสรุปว่า
“มีบรรพบุรุษกากๆแบบนี้ สู้ไปสรรเสริญเกาหลีดีกว่า คิดดูเกาหลีน่ะเป็นถึงผู้ให้กำเนิดอารยธรรมเมโสโปเตเมีย นอกจากนั้นยังเป็นผู้ประดิษฐ์ตัวอักษรจีน การฝังเข็ม และศัลยกรรมพลาสติก แล้วรู้ไหมมวยไทยน่ะไปลอกมาจากมวยเกาหลีชื่อ จุคทูกี ด้วยนะ”

“เย้ เราไปทำศัลยกรรมให้ตี๋ขึ้น แล้วเปลี่ยนสัญชาติเป็นเกาหลีตามกระแส K-Pop กันเถอะ!” เด็กทั้งห้องร้องพร้อมกัน



พวกเขาไม่ได้สังเกตเลยว่าบัดนี้เส้นเลือดได้เดือดปึ๊ดขึ้นที่ขมับของคุณครูใจดีเสียแล้ว...



ฉับพลันนั้น แปรงลบกระดานที่วางอยู่หน้าครูก็บินฉวัดเฉวียนไปฟาดหัวเด็กนักเรียนทั้งชั้น เลือดกระฉูด นอนร้องโอดโอยกลาดเกลื่อน!



คุณครูเดินช้าๆไปกระชากคอเสื้อเด็กคนแรกที่กล้าพูดกวนตีนขึ้นมา

“บรรพบุรุษไทยรักษาแผ่นดินให้อยู่พวกแกก็ว่ากาก ชอบความป่าเถื่อนนักใช่มั้ย ...ได้เลยเดี๋ยวข้าจะเล่าประวัติศาสตร์ไทยเวอร์ชันฮาร์ดคอร์ให้ฟังเอง” (เด็กเลือดกบปาก หายใจไม่ออกเลยตอบโต้ไม่ได้)

“นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในดินแดนแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของอินเดีย...” คุณครูเอ่ย “มันชื่อว่ารัฐอัสสัม... ได้ยินไหมรัฐอัสสัม!”

“...รัฐอัสสัมของอินเดียเกี่ยวอะไรกับไทยล่ะครับ...” เด็กที่ถูกกระชากคอเสื้อครางพะงาบๆ

ครูเบ่งพลังขว้างเด็กนั้นปลิวไปทะลุกำแพง ตึกสั่น “ก็ไทยอาหมไงล่ะอ้ายพวกโง่! พวกแกนั่งลงซะ แล้วข้าจะเล่าให้ฟัง!” เธอตวาด พวกเด็กจึงพากันคลานกลับมานั่งด้วยความหวาดกลัว

...คุณครูใจดีจึงเริ่มเล่า...

คำเตือน เรื่องนี้จัดอยู่ใน "เรท อ"



เรียนผู้อ่านทุกท่าน นี่เป็นสารคดีสงครามชุด The Wild Chronicles ตอน "อสุราอาหม" หากชื่นชอบสามารถกดไลค์เพจผมได้ที่ https://www.facebook.com/pongsorn.bhumiwat นะครับ




------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ดินแดนแห่งเซ็กส์

เรื่องราวที่จะเล่านี้เป็นเรื่องของคนไทยกลุ่มหนึ่ง ชื่อว่า “ไทยอาหม” ที่เข้าไปตั้งอาณาจักรอยู่ ณ บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียระหว่างปี ค.ศ.  1228–1826 สร้างความสะท้านสะเทือนหลายประการ จนชื่อของเขาถูกนำมาตั้งเป็นชื่อรัฐอัสสัมตราบทุกวันนี้

แต่ก่อนกล่าวถึงเรื่องคนไทย จะขอปูพื้นเกี่ยวกับประวัติโดยสังเขปของดินแดนอัสสัมให้ท่านฟังเสียก่อน

อัสสัมเป็นดินแดนภูเขา อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร แร่ธาตุ มีสัตว์ป่าเช่นช้างอยู่มาก และมีแม่น้ำพรหมบุตรไหลผ่านกลาง ประดุจมารดาหล่อเลี้ยงกลุ่มชนทั้งหลาย


รัฐอัสสัม

ประมาณสามพันปีก่อน ชนอารยธรรมสูงกลุ่มแรกที่มีบันทึกว่าเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในดินแดนอัสสัมคือพวกกิราตะ และจีนะ (กิราตะเป็นเชื้อสายทิเบตพม่า ส่วนจีนะคือจีน) ประวัติศาสตร์ในช่วงแรกนี้ยังไม่มีการบันทึกเป็นกิจจะลักษณะ มีแต่เทพนิยายซึ่งอาจแฝงประวัติศาสตร์จริงบ้าง และเนื่องจากชาวอินเดียเป็นผู้เขียนเทพนิยายดังกล่าว ชื่อทุกชื่อจะฟังดูแขกๆหน่อยนะครับ


หญิงสาวชาวกิราตะ

ชาวอินเดียหรืออารยันมองพวกกิราตะและจีนะเป็นอสูรกลุ่มหนึ่ง มีผิวเหลืองคล้ายทอง ชอบกินอาหารเนื้อ ดื่มเหล้าจัด และดุร้ายมาก พวกนี้ตั้งอาณาจักรของตนเองขึ้น ชื่อ “ปคาร์ชุห์ติก” แปลว่าดินแดนภูเขาสูง ต่อมาคำนี้ถูกเอามาบวชอย่างไพเราะเป็นภาษาสันสฤตว่า “ปราคโชยติษ”แปลว่าดาวตะวันออก

ลัทธิที่พวกกิราตะนับถือคือลัทธิบูชาเจ้าแม่กามาขยา พวกเขาสร้างวิหารใหญ่ให้แก่เจ้าแม่ ซึ่งกลายเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวอัสสัมมาจนปัจจุบัน โดยหลายชาติที่เข้ามาปกครองอัสสัมจะบวชเจ้าแม่กามาขยาให้เป็นเทพในศาสนาตน แล้วนับถือเป็นวัดนี้ว่าสำคัญที่สุด


วัดเจ้าแม่กามาขยา

เจ้าแม่กามาขยาสมัยกิราตะดั้งเดิมเป็นอย่างไรนั้นหารายละเอียดไม่ได้แล้ว ทราบแต่ภายหลังศาสนาฮินดูได้แผ่เข้าไปกลืนลัทธินี้จนสิ้น แล้วบอกว่าเจ้าแม่กามาขยาก็คือปางหนึ่งของพระอุมาเทวีนั่นแหละ

วัดกามาขยามีความแปลกกว่าวัดอื่นตรงที่เน้นการบูชาเซ็กส์ ตามตำนานกล่าวว่าเมื่อนางสตี มเหสีของพระศิวะสิ้นชีพลง พระศิวะได้ยกศพนางขึ้นทูนเหนือหัวแล้วร้องไห้คร่ำครวญอย่างรุนแรงจนโลกแทบถล่มทลาย ปวงเทพต้องพากันวิงวอนให้พระนารายณ์ทำลายศพนางสตีเสีย เพื่อให้พระศิวะปลงตกเร็วๆ ไม่งั้นร้องโลกแตกแน่

พระนารายณ์จึงปล่อยกงจักรออกไปตัดศพนางสตีเป็น 51 ท่อน เฉพาะส่วนเป็นอวัยวะเพศของนางสตีนั้นลอยตกไปยังจุดที่เป็นวัดเจ้าแม่กามาขยา ทุกวันนี้ก็ยังมีหินรูปอวัยวะเพศหญิงปรากฏอยู่ตรงนั้น เรียกว่าโยนิ และมีน้ำพุธรรมชาติไหลรินๆให้ความชุ่มฉ่ำแก่โยนิอยู่ตลอดเวลา


โยนิอันนี้เป็นของจำลองจากวัดเจ้าแม่กามาขยานะครับ ของจริงห้ามถ่ายรูป

ต่อมานางสตีกลับชาติมาเกิดเป็นพระอุมาเทวี นางมีความต้องการกลับไปถวายการรับใช้พระศิวะอีก ลำบากที่พระศิวะในขณะนั้นชาด้านต่อเรื่องทางโลกแล้วจึงต้องขอความช่วยเหลือจากกามเทพ

เพื่อตอบสนองคำขอ กามเทพได้พาพระอุมาไปหาศิวะซึ่งกำลังนั่งสมาธิ แล้วแผลงศรปักอกให้เกิดความรัก พระศิวะถูกยิงก็โกรธ ลืมดวงตาที่สามขึ้นเผากามเทพจนกลายเป็นผุยผง (ดวงตาที่สามบนหน้าผากพระศิวะ คือดวงตาแห่งการทำลายล้าง ปกติจะปิดอยู่ แต่ถ้าเปิดขึ้นมองอะไร สิ่งนั้นจะต้องแหลกสลาย) ครั้นได้สติ มองเห็นพระอุมาก็หลงรักรับเป็นมเหสีอีกครั้ง จึงให้พรให้กามเทพกลับมีชีวิตโดยปราศจากรูปร่าง


พระศิวะเผากามเทพ

ชาวอินเดียเชื่อว่าจุดที่พระศิวะเผากามเทพ ก็คือเมืองเกาฮาตีที่เป็นเมืองหลวงของปราคโชยติษ และเป็นที่ตั้งของวัดเจ้าแม่กามาขยานี้เอง และเมื่อวัดดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับเซ็กส์ถึงสองประการ เซ็กส์จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะถือเป็นพลังของเพศหญิง

เจ้าแม่เป็นผู้หญิงก็ต้องชอบผู้ชาย วิธีบูชาเจ้าแม่ที่ดีที่สุดนั้นคือการหาผู้ชายมาฆ่าสังเวยเจ้าแม่ ว่ากันว่าหากสังเวยผู้ชายหนึ่งคน เจ้าแม่จะมีความสุขไปหนึ่งพันปี และหากสังเวยผู้ชายสามคน เจ้าแม่จะมีความสุขถึงหนึ่งแสนปีทีเดียว (ปัจจุบันใช้แพะสังเวยแทนแล้ว)


รูปเจ้าแม่กามาขยา

การบูชาเจ้าแม่อีกทางหนึ่งคือการบูชาด้วยเซ็กส์ โดยจะต้องทำกันที่ป่าช้า เพราะป่าช้าถือเป็นสัญลักษณ์ของความตาย ส่วนเซ็กส์เป็นสัญลักษณ์ของการเกิด การที่คู่ชายหญิงมีเซ็กส์กันในป่าช้าจึงเป็นการบำเพ็ญภาวนาเพื่อรับรู้ถึงธรรมชาติของการเกิดและการตายไปในคราวเดียวนั่นเอง

ตามความเชื่อของชาวฮินดูในรัฐอัสสัมนั้น หากผู้หญิงมีความต้องการจะมีเซ็กส์กับชายใด ทำการร้องขอต่อชายผู้นั้นเป็นการลับ ผู้ชายคนนั้นห้ามปฏิเสธเด็ดขาด เพราะถือเป็นบาปมาก จะต้องตกนรกหมกไหม้มีจำนวนปีเท่ากับขนบนร่างกายตน (สิ่งที่น่ากลัวคือคนแขกต้องตกนรกนานเป็นพิเศษเพราะขนดกกว่าชาติอื่น)

ตำนานที่กำกับเรื่องนี้คือครั้งหนึ่งนางฟ้าชื่อโมหินีเกิดหลงรักพระพรหม จึงได้ไปขอความรัก พระพรหมได้ตอบปฏิเสธอย่างเย็นชาว่า “โมหิณีเอย ข้าเป็นนักพรตคนหนึ่ง การร่วมสังวาสกับเจ้านั้นจะทำให้ข้าเสื่อมจากศีลวัตร ...นอกจากนั้นนะ ส่วนใหญ่เขามีแต่ผู้ชายเป็นฝ่ายขอความรักไม่ใช่เหรอ ผู้หญิงมาขอความรักแบบนี้มันไม่ค่อยน่าดูนะ”


นางฟ้าอินเดีย

นางโมหิณีเห็นพระพรหมตอบอย่างเย็นชาเช่นนั้นจึงร้องไห้กอดขาพระพรหม “ท่านคะ ฉันรักท่านจริงๆ”

พอดีเวลานั้นมีคณะฤๅษีมาเยี่ยมพระพรหม นางโมหิณีจึงจำต้องหลบไปยืนข้างๆ พวกฤๅษีเห็นสาวงามมาอยู่กับพระพรหมก็แปลกใจถามว่า “นี่ใครหรือครับ?”

พระพรหมตอบว่า “อ๋อ นางเป็นนางฟ้า เบื่อการร้องรำทำเพลง เลยมาขอพักที่นี่ เราก็รับไว้เหมือนลูกสาวน่ะ”


พระพรหม

นางโมหิณีเห็นพระพรหมพูดจาทำร้ายน้ำใจแบบนั้นก็โกรธ “ท่านดูถูกฉันเหลือเกิน ทำเหมือนกับฉันเป็นบ่าวไพร่ที่มาอาศัยใบบุญ ฉันขอสาปให้พวกมนุษย์เสื่อมความนิยมในตัวท่าน ให้ไม่มีใครนับถือท่านอีก!” นางร้องแล้วผลุนผลันออกไปจากที่ประทับของพระพรหมเพื่อไปขอความรักจากกามเทพ (ตอนนั้นน่าจะยังมีร่างอยู่) และได้รับความรักจากกามเทพสมประสงค์

จนทุกวันนี้เราอาจเคยได้ยินชื่อไศวะนิกายคือลัทธิบูชาพระศิวะ และไวษณพนิกายหรือลัทธิบูชาพระวิษณุ แต่เคยมีใครได้ยินลัทธิบูชาพระพรหมบ้าง? ลองไปถามหาที่อินเดียดูนะครับ จะพบว่าหาวัดที่บูชาพระพรหมเป็นหลักยากมากเลย เมื่อเทียบกับวัดที่บูชาเทพองค์อื่นๆ

คิดดูแล้วก็น่าสงสารพระพรหมเหมือนกัน...

----------------------------------------------------------------------------------------------------------

นรก

ตามตำนานฮินดู กษัตริย์อสูรกิราตะคนแรกที่ปกครองอาณาจักรปราคโชยติษนั้นมีนามว่า มหิรังค์สูร ได้ตั้งราชวงศ์ทานวะสืบต่อมาห้ารัชกาล จนถึงกษัตริย์ชื่อฆตะกาสูร


กษัตริย์กิราตะ

บัดนั้นมีองค์ชายชาวอารยันคนหนึ่งเดินทางผ่านมายังดินแดนอัสสัม มีชื่อไพเราะมากว่า “นรก” องค์ชายนรกนี้ไม่ใช่มนุษย์ปกติ เพราะเป็นลูกของพระวิษณุกับพระแม่ธรณี มีฤทธิ์เดชปราบได้ทั้งจักรวาล และยังเคยขอพรพระพรหมว่า อย่าให้ใครฆ่าตัวได้เว้นแต่พระแม่ธรณีเอง

เมื่อได้พรดังนี้องค์ชายนรกก็ย่ามใจเพราะทราบว่าไม่มีแม่ที่ไหนจะฆ่าลูกลง เขาบุกไปทำสงครามกับพวกกิราตะ สังหารฆตะกาสูรตาย แล้วตั้งตัวเป็นกษัตริย์แห่งปราคโชยติษ ครั้นได้เมืองแล้ว องค์ชายนรกซึ่งตอนนี้กลายเป็นพระเจ้านรกก็เกิดเห่อเหิมในอำนาจ จึงนำพวกอสูรบุกขึ้นสวรรค์ ทำสงครามเอาชนะพระอินทร์ พร้อมทั้งชิงนางฟ้า 160,000 คนมาเข้าฮาเร็ม ไม่แค่นั้นเขาเห็นนางอทิติมารดาของพระอินทร์ใส่ตุ้มหูสวยดีก็กระชากมาเป็นสมบัติด้วย

นางอทิติเจ็บแค้นไปร้องทุกข์กับพระกฤษณะ (อวตารของพระนารายณ์) และภรรยาคือนางสัตยภามะ (อวตารของพระแม่ธรณี) พระกฤษณะจึงยกทัพไปปราบนครปราคโชยติษ รบกับนรกอยู่นาน ในที่สุดนรกสามารถซัดอาวุธชื่อศักติไปต้องพระกฤษณะสลบกลางสนามรบ!


พระกฤษณะรบนรก

กษัตริย์แห่งปราคโชยติษเห็นอาวุธของตนได้ผลก็ดีใจ หารู้ไม่ว่าการสลบนั้นเป็นเพียงอุบายของพระกฤษณะที่จะทำให้นางสัตยภามะโกรธ และซัดอาวุธใส่นรกเพื่อปกป้องสามี

ครั้นอาวุธของนางสัตยภามะต้องอกนรก เขาก็รับรู้ได้ว่านี่คือการบาดเจ็บถึงตายแล้ว “เฮ้ย... นี่ข้าจะต้องตายเหรอ! แต่ข้ามีพรให้ถูกแม่ฆ่าได้คนเดียวนี่นา?” นรกมองไปเห็นพระกฤษณะนั้นกลายร่างเป็นพระนารายณ์สี่กร ส่วนนางสัตยภามะกลายร่างเป็นพระแม่ธรณีมารดาของตน เขาตกใจมากจึงรีบยกมือไหว้ขอโทษ นางสัตยภามะก็ประทานอภัย

นรกจึงขอพรว่า “ไหนๆข้าจะตายแล้ว ขอให้พวกมนุษย์จัดงานฉลองทุกปีเพื่อระลึกถึงข้าได้ไหม” นางสัตยภามะก็ตกลง ตั้งแต่นั้นมาวันที่สองของเทศกาลดิวาลีซึ่งเป็นงานรื่นเริงสำคัญของอินเดียจึงมีชื่อว่า “นรกจตุรทสี” เพื่อระลึกถึงเขา


พระแม่ธรณีให้พรลูก

สำหรับนางฟ้า 160,000 คนที่นรกลักพามาตั้งฮาเร็มนั้น พระกฤษณะได้ทำการปลดปล่อยออกมาเข้าฮาเร็มของพระกฤษณะเอง จากนั้นจึงตั้งลูกของนรกชื่อภัครทัตต์ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งปราคโชยติษ

ลูกหลานของนรกกลายเป็นกษัตริย์ปกครองดินแดนอัสสัมต่อมา มีการเปลี่ยนชื่ออาณาจักรจากปราคโชยติษเป็น “กามรูป” นัยหนึ่งเพื่อแสดงความสำคัญของเจ้าแม่กามาขยานั่นเอง

มีต่อ ................

มดเอ๊กซ:
กามรูป กามตะ และการรุกรานของเติร์ก

หลังตำนานของนรก อัสสัมก็เริ่มเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ มีกษัตริย์ชาวอารยันซึ่งสืบเชื้อสายจากนรกปกครองกามรูปติดต่อกันถึงสามราชวงศ์ กินระยะเกือบหนึ่งพันปี (ระหว่าง ค.ศ. 350-1140) อาณาจักรนี้มีความสำคัญ คือเป็นดินแดนเชื่อมต่อระหว่างจีนกับอินเดีย และมีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งสองกลุ่มวัฒนธรรมใหญ่


กามรูป

ภิกษุชาวจีนชื่อพระถังซัมจั๋งได้เคยเดินทางมาถึงแคว้นกามรูปนี้ และบันทึกว่าที่นี่อากาศเย็นสบาย แผ่นดินอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านปลูกขนุนและมะพร้าวมาก มีน้ำจากแม่น้ำและทะเลสาบไหลรอบตัวเมือง ชาวบ้านล้วนแต่เป็นคนร่างเล็ก ผิวเหลืองแก่ค่อนข้างดำ มีนิสัยซื่อสัตย์ อยู่ง่ายกินง่าย มีความขวนขวายในการศึกษาเล่าเรียน ภาษาพูดเพี้ยนจากอินเดียกลางเล็กน้อย (การเดินทางจาริกอินเดียของพระถังซัมจั๋งนี้ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ปราชญ์จีนในยุคหลังเอาไปแต่งเป็นนิยายไซอิ๋วโดยพิสดาร)


ถึงพระถังซัมจั๋งจะเคยเดินทางไปกามรูป แต่ศาสนาพุทธก็ไม่เคยเข้าไปประดิษฐานอย่างจริงจังในอัสสัมเลย

ธรรมดาสรรพสิ่งในโลกนี้มิได้จิรังยั่งยืน ในที่สุดอาณาจักรกามรูปก็เสื่อมอำนาจลง พร้อมๆกับที่ชนเผ่าตระกูลทิเบตพม่าหลายเผ่าซึ่งสืบเชื้อสายจากพวกกิราตะโบราณกลับเจริญขึ้นแทน (ทิเบตกับพม่าเป็นชาติเดียวกัน เหมือนกับที่ไทยเป็นชาติเดียวกับลาว หรือมอญเป็นชาติเดียวกับเขมร เราเรียกชนพวกนี้ว่าทิเบตพม่า เพราะเป็นสองสายที่โดดเด่นที่สุด แต่จริงๆแล้วยังมีสายย่อยอีกมากมาย เช่นพวกภูฏานก็ใช่)

ครั้นชาวอารยันสูญเสียอำนาจให้แก่ชาวทิเบตพม่าแล้ว กามรูปก็แตกเป็นเสี่ยงๆ มีอาณาจักรเล็กๆเกิดขึ้นมากมาย โดยในจำนวนนั้นมีอาณาจักรใหญ่สามแห่งของชาวทิเบตพม่ากลุ่มที่เข้มแข็งที่สุด คือทางตะวันตกมีอาณาจักรกามตะของชาวเฆง ตอนกลางมีอาณาจักรกะจารีของชาวดิมาสะ และทางตะวันออกมีอาณาจักรชุติยะของชาวชุติยะ


ชาวดิมาสะ

เหมือนเคราะห์มาซ้ำกรรมมาซัด ในช่วงใกล้เคียงกันนี้เกิดเหตุชนเผ่าที่นับถือศาสนาอิสลามนำโดยชาวเติร์กจากตะวันออกกลางบุกเข้าอินเดีย พวกนี้เป็นชนเผ่านักรบซึ่งมีเทคโนโลยีทางทหารสูง เคยรุกไปพิชิตอาณาจักรไบแซนไทน์ซึ่งเป็นผู้สืบทอดโดยตรงของโรมัน และทำสงครามครูเสดกับพวกฝรั่งอย่างสูสี พวกเขามีกำลังเหนือกว่าชาวชมพูทวีปมาก พอเข้ามาก็พิชิตอาณาจักรอารยันต่างๆ หาผู้ต้านทานมิได้


นักรบเติร์ก

พวกเติร์กยึดภาคเหนือของอินเดียแทบทั้งหมดโดยง่าย แล้วตั้งเมืองหลวงขึ้นที่นครเดลฮี ต่อมาแม่ทัพคนหนึ่งชื่ออิลยาสบุกเข้ายึดบังคลาเทศสำเร็จ จึงตั้งตัวเป็นสุลต่านแห่งบังคลาเทศ เป็นอิสระจากเดลฮีอีกทีหนึ่ง

ตำแหน่งสุลต่านบังคลาเทศสืบต่อมาถึงยุคของฮุสเซน ชาห์ ก็มีการจัดทัพประกอบด้วยทหารราบ ทัพม้า ทัพเรือบุกเข้าตีอาณาจักรกามตะในปี 1498 สามารถล้มราชวงศ์ของชาวเฆงลงได้ ฮุสเซน ชาห์จึงตั้งบุตรชื่อดาณีญัลขึ้นปกครองกามตะ

ทัพเติร์กพิชิตทั่วพิภพจบแดน กำลังฮึกเหิมลำพอง พวกเขาวาดฝันว่าจะบุกต่อไปปราบอาณาจักรกะจารี และชุติยะ เมื่อครอบครองดินแดนอัสสัมได้หมดแล้วก็จะบุกเข้าพม่า พิชิตเอเชียอาคเนย์ต่อ

พิจารณาจากกำลังความสามารถแล้ว ความฝันของพวกเติร์กมิใช่เรื่องไกลเกินเอื้อมเลย

หากเวลานั้นได้มีคนเผ่าหนึ่งรุกเข้ามาในดินแดนอัสสัมทางทิศตะวันออก และกำลังเติบโตขึ้นเป็นอุปสรรคต่อพวกเติร์ก


...คนเผ่านั้นมีชื่อว่า...


“คนไทย”


คนไทย


..........................................................................

คนไทย

เมื่อพูดถึงบรรพบุรุษไทย คำถามแรกที่เรามักถามกันคือ “คนไทยมาจากไหน?”

มีทฤษฎีหลายทฤษฎีระบุถึงต้นกำเนิดของชาวไทย กลุ่มทฤษฎีหลักๆได้แก่:

1.    คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต
2.    คนไทยมาจากตอนใต้ของจีน
3.    คนไทยอยู่ตรงนี้แหละ
4.    คนไทยมาจากอินโดนีเซีย

ตามที่ผมศึกษามา ทฤษฎีคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไตนั้นผิด ส่วนผิดอย่างไร และทำไมผิดไปเช่นนั้นจะเก็บไว้กล่าวในตอนท้ายของสารคดีชุดนี้

นอกจากทฤษฎีเทือกเขาอัลไตแล้ว อีกสามทฤษฎีล้วนถูกในบางแง่มุมทั้งสิ้น ขึ้นกับคำนิยามของคำว่า “คนไทย” นั้นหมายถึงอะไร

ทฤษฎีคนไทยมาจากตอนใต้ของจีนจะอธิบายได้ดี หาก “คนไทย” หมายถึงคนที่พูดภาษาตระกูลไตกะได

เนื่องจากปัจจุบันมีชนเผ่าที่พูดภาษาตระกูลนี้กระจายอยู่ทั่วไปในจีนตอนใต้ตลอดไปจนถึงเกาะไหหลำ ชนเผ่าเหล่านี้มีประเพณี เทคโนโลยี และระบบการเมืองบางอย่างใกล้เคียงกันทำให้น่าเชื่อว่าเป็นเผ่าเดียวกันมาก่อน

ด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่นๆ เช่นบันทึกของอาณาจักรโบราณต่างๆเกี่ยวกับคนไทย และตำนานการอพยพของคนไทยที่ตกทอดกันมา ล้วนแต่สนับสนุนว่าคนไทยอพยพจากเหนือลงใต้ มิใช่ใต้ขึ้นเหนือ (มีบันทึกเรื่องคนไทยในตอนใต้ของจีน ก่อนดินแดนสุวรรณภูมินานมาก)

โดยคนไทยที่อพยพมาจากตอนใต้ของจีนนั้นแบ่งเป็นสองสายหลัก สายหนึ่งไปทางพม่าเรียกว่าพวกไทใหญ่ (ไทยอาหมนั้นจัดเป็นไทใหญ่กลุ่มหนึ่ง) อีกสายไปทางลาวและประเทศไทยเรียกว่าพวกไทน้อย (คนในประเทศไทยส่วนมากจัดเป็นไทน้อยกลุ่มหนึ่ง)


การกระจายตัวของคนไทย

ทฤษฎีคนไทยอยู่ตรงนี้จะอธิบายได้ดี หาก “คนไทย” หมายถึงคนที่มีวัฒนธรรมแบบในประเทศไทยปัจจุบัน

ทั้งนี้พึงระลึกว่าในประเทศไทยประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ เช่น ไทย จีน เขมร พม่า มลายู แต่ละชาติก็มีวัฒนธรรมเป็นของตนเองมาก่อน เมื่อมาผสมปนเปกันในดินแดนแหลมทองแล้วก็เกิดวัฒนธรรมใหม่ เรียกว่า “วัฒนธรรมอุษาคเนย์”

วัฒนธรรมชุดนี้ทั้ง ไทย จีน เขมร พม่า มลายูในดินแดนแหลมทองต่างรับมาใช้คล้ายกันสิ้น มีเอกลักษณ์แปลกจากวัฒนธรรมในภูมิภาคอื่นๆของโลก ดังนั้นหากถามว่า “คนไทยนั้นมาจากไหน?” ก็ต้องตอบว่าร้อยพ่อพันแม่ แต่หากถามว่า “คนไทยเกิดที่ใด?” ก็ต้องตอบว่าเกิดขึ้นที่ประเทศไทยนี้ หาใช่ที่อื่นไม่

ทฤษฎีคนไทยมาจากอินโดนีเซียจะอธิบายได้ดี หาก “คนไทย” หมายถึงยีนส์

มีการศึกษาพบว่ากลุ่มเลือดของคนไทยคล้ายคลึงกับคนอินโดนีเซีย และคนไทยมีหน้าตาคล้ายคลึงกับคนอินโดนีเซียและคนฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตาม ซึ่งถ้าพูดถึงยีนส์แล้ว คนไทยก็มีความคล้ายกับลาว เขมร พม่าด้วย


คนไทยและคนฟิลิปปินส์

ปัจจุบันผู้ศึกษาเรื่องชนชาติไทยจะนับถือทฤษฎีคนไทยมาจากตอนใต้ของจีนเป็นหลัก ทั้งนี้เพราะหากนับตามวัฒนธรรมอุษาคเนย์แล้ว ก็จะไม่สามารถแยกเอกลักษณ์ของพม่า เขมร ไทย ฯลฯ ออกจากกันได้ และหากนับตามสายเลือด คนในประเทศเพื่อนบ้านย่อมมีการผสมปนเปแต่งงานข้ามไปมาอยู่แล้ว เหมือนชาวทมิฬศรีลังกามีสายเลือดใกล้เคียงกับชาวสิงหล มากกว่าชาวทมิฬอินเดีย

สำหรับชื่อชนชาตินั้น นักประวัติศาสตร์มักเชื่อว่าชื่อแนวซาม-เซียม นั้นเป็นชื่อที่ชนชาติอื่นเรียกคนไทย กล่าวคือ:

•    คนจีนเรียกคนไทยว่า “เสียม”
•    คนมอญเรียกคนไทยว่า “เซม”
•    คนเขมรเรียกคนไทยว่า “ซีเอม”
•    คนมลายูเรียกคนไทยว่า “ซีแย”
•    คนพม่าเรียกคนไทยว่า “เซี๊ยน” ภาษาอังกฤษเขียนเป็น Shan และคนไทยอ่านตามภาษาอังกฤษว่า “ฉาน”
•    คนอินเดียเรียกคนไทยว่า “สยาม”
•    พอคนไทยอพยพไปดินแดนตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียก็ถูกเรียกเพี้ยนจากสยามเป็น “อาหม” และจากอาหมก็เพี้ยนเป็น “อัสสัม”


คนไทยในจีน

ส่วนคนไทยนั้นไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็เรียกตัวเองว่า ไต-ไท มาตลอด แต่รับการเรียกแนว ซาม-เซียม มาจากชาติอื่นเช่นกัน

•    ในยุคที่ประเทศไทยเปลี่ยนเป็นรัฐชาติ รัชกาลที่สี่เลือกใช้คำว่าสยามซึ่งเป็นคำที่อินเดียเรียกไทยมาเป็นชื่อประเทศ เพราะเห็นว่าภาษาอินเดียเป็นภาษาสูง
•    ต่อมาจอมพล ป. เปลี่ยนชื่อสยามเป็นไทย เพราะต้องการเชิดชูเชื้อชาติไทย
•    คำว่า “ไท” และ “ไทย” เป็นคำเดียวกัน สาเหตุที่เราสะกดคำว่า “ไทย” มี “ย.ยักษ์” เพราะเราอยากสะกดแบบอินเดีย คือภาษาอินเดียนั้นไม่มีสระไอ ใกล้เคียงที่สุดต้องเขียนเป็น “เทยยะ” จึงกลายเป็นสะกดว่า “ไทย” ในที่สุด





กำเนิดโลก

คนไทยเคยมีศาสนาดั้งเดิมคือศาสนาผี ซึ่ง “ผี” ในที่นี้มีความหมายครอบคลุมทั้งคำว่า “God” และ “Spirit”

“พระผู้เป็นเจ้าบนสวรรค์” ก็เป็น “ผี”
“เจ้าป่าเจ้าเขา” ก็เป็น “ผี”
“คนตาย” ก็เป็น “ผี”
“อะไรที่มองไม่เห็น” ส่วนใหญ่ก็เป็น “ผี”

ทั้งชาวไทใหญ่ไทน้อยต่างมีตำนานศาสนาผีว่าด้วยการสร้างโลกและกำเนิดชนชาติไทยที่คล้ายคลึงกัน ในที่นี้ผมจึงจะเล่าตำนานสร้างโลกเวอร์ชันไทยอาหมให้ฟังนะครับ

...ตามตำนาน แต่แรกนั้นมีแต่ “น้ำ”...

มีท้องน้ำกว้างใหญ่ไพศาลสุดลูกหูลูกตา จากน้ำนั้นจึงมี “ฟ้า” ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตอย่างแรก

ฟ้ามีลักษณะเป็นก้อนเนื้อ ลอยอยู่เฉยๆ ไม่มีหัว ไม่มีขา ไม่มีปาก

ต่อมาฟ้ามีความปรารถนาจะรู้จักโลก ความปรารถนานั้นแรงกล้าจนบังเกิดเป็น “ตา” ขึ้นบนตัวฟ้า


เวลานึกภาพฟ้า ผมชอบนึกถึงตัวนี้

เมื่อฟ้าลืมตามองโลกแล้ว พบว่าไม่มีอะไรน่าดู จึงเกิดความปรารถนาที่จะสร้างสิ่งน่าดูขึ้นบนโลก ความปรารถนานั้นทำให้เกิด “ขุนทิวคำ” (แปลว่า ความน่าดู) แยกออกมาจากตัวฟ้า

ขุนทิวคำนอนหงายบนน้ำ บังเกิดดอกบัวงอกออกมาจากสะดือ จากบัวเกิดปู จากปูเกิดเต่า จากเต่าเกิดงูใหญ่มีแปดพังพานแผ่ไปแปดทิศ จากงูนั้นจึงเกิดพญาช้างเผือก

จากนั้นขุนทิวคำจึงเนรมิตภูเขาทางเหนือและใต้ของโลก มีเสาใหญ่ปักอยู่บนยอดเขา แล้วเนรมิตแมงมุมทองคู่หนึ่งให้ชักใยเชื่อมเสาเข้าด้วยกัน

ใยของแมงมุมกลายเป็นท้องฟ้า และกลายเป็นสวรรค์ ขี้แมงมุมตกลงมาบนน้ำกลายเป็นพื้นโลก

จากนั้นฟ้าได้มีลูกเป็นไข่อีกสี่ฟอง เมื่อไข่สี่ฟองฟักตัวก็แตกออก

ลูกที่เกิดจากไข่คนแรกชื่อ ฟ้าสางดินขุนญิว ฟ้าให้ไปครองพื้นโลก

ลูกคนที่สองชื่อแสนเจ้าฟ้าผาคำ ให้ไปครองพิภพงูแปดแสนตัวในน้ำ

ลูกคนที่สามชื่อแสนกำฟ้า ให้ไปครองสายฟ้าแปดล้านสาย

ลูกคนที่สี่ มีชื่อที่ฉลาดมาก ชื่อ “งี่เง่าคำ” ฟ้าให้อยู่ช่วยธุระของตน


งี่เง่าคำ เกิดจากการรวมตัวของสัตว์ห้าชนิด คือ งู สิงโต เต่า ม้า และ นก เป็นสัญลักษณ์แห่งพลังธรรมชาติซึ่งชาวอาหมใช้เป็นตราแผ่นดินเรื่อยมาจนปัจจุบัน

หลังจากฟ้าสร้างโลกแล้ว สรรพชีวิตต่างๆก็ค่อยๆบังเกิดขึ้นบนพื้นแผ่นดิน และสวรรค์

กล่าวคือบนแผ่นดินนั้นเกิดสิ่งมีชีวิต พืชพันธุ์ต่างๆ รวมทั้งมนุษย์ซึ่งมีบ้านเมือง มีอารยธรรมขึ้น
ส่วนบนสวรรค์นั้นเกิดเผ่าพันธุ์ของผีแถนซึ่งคือเทวดาที่มีฤทธิ์ ผีแถนเหล่านี้มีผู้นำชื่อ “เลงดอน” เลง แปลว่าแห่งเดียว ดอนแปลว่าที่สูงน้ำไม่ท่วม เลงดอนจึงแปลว่าที่ดอนเพียงแห่งเดียวซึ่งสรรพสิ่งใต้หล้ามาพึ่งพาอาศัย ผมสงสัยว่าถ้าแปลไทยเป็นไทยมันจะเป็นคำว่า “แหล่งดอน” น่ะครับ

เลงดอนปกครองผีแปดแสนตัวบนสวรรค์ มีผีเด่นๆเช่น เจ้าสายฝนใหญ่ใหญ่ (เทพแห่งหมอก) และย่าเสียงฟ้า (เทพแห่งการศึกษาเล่าเรียน) ผีเหล่านี้ทำหน้าที่ให้คุณให้โทษกับมนุษย์ตาม category ของตน

อนึ่งฟ้ากับลูกทั้งสี่เป็นตัวแทนของ “ธรรมชาติ” หรือเป็นผีอีกชั้นหนึ่งที่อยู่เหนือกว่าผีแถนอีก

มีต่อ .................

มดเอ๊กซ:
ขุนลุงขุนไล

ถัดจากตำนานการสร้างโลก เรามาฟังตำนานกำเนิดคนไทยเวอร์ชันอาหมกันต่อ ซึ่งอย่างที่กล่าวแล้วว่าเนื้อหานั้นคล้ายกับตำนานของไทยเผ่าอื่นๆ

นั่นคือผีแถนบนสวรรค์ได้ส่งชาวไทยลงมาเป็นเจ้าปกครองทุกชนชาติบนโลก (แรง!)

ตามตำนานกล่าวว่าวันหนึ่งเลงดอนได้สอดส่องดูพื้นโลกแล้วเห็นว่าไม่มีความสงบสุขเนื่องจากขาดผู้นำที่ดี จึงปรึกษากับเจ้าสายฝนใหญ่ใหญ่ และย่าเสียงฟ้าว่าควรส่งใครไปช่วยเหลือชาวโลก

ย่าเสียงฟ้าบอกว่าควรส่งญาติวงศ์ของตัวเลงดอนเองลงไป เพราะถ้าเป็นคนอื่นก็เกรงว่าจะปกครองมนุษย์ให้ดีไม่ได้

เลงดอนจึงไปถามแถนคำซึ่งเป็นญาติสนิท แถนคำยินดีให้ลูกทั้งสองของตนชื่ออ้ายขุนลุง (ลุงคือหลวงหรือพี่ใหญ่) กับอ้ายขุนไล (แปลว่าน้อง) ทำหน้าที่นี้


การบูชาแถนยังเห็นอยู่ได้ในคนไทยบางเผ่า และในละครไทยบางเรื่อง

เมื่อได้ผู้นำแล้ว เลงดอนก็ให้โอวาทให้ผู้นำทั้งสองอยู่ในศีลสัตย์ ปกครองพวกมนุษย์ด้วยความยุติธรรม แล้วคัดเลือกเทวดาที่มีความสามารถอีกจำนวนหนึ่งติดตามเป็นบริวาร ให้ขุนเดือนขุนวันเป็นเสนาใหญ่ช่วยปกครอง กลุ่มของขุนลุงขุนไลและผู้ติดตามทั้งหมดนี้ถูกเรียกเป็นชนชาติใหม่ ชื่อว่า “ชาวไทย”

เลงดอนยังให้ของวิเศษแก่ขุนลุงขุนไลหลายอย่าง ได้แก่:

1.    ผีเสื้อเมือง เอาไว้ดูแลรักษาอาณาจักร
2.    ช้างงางามให้เป็นพาหนะ
3.    ไก่แสนเมืองไว้ขันบอกเหตุการณ์ดีร้าย
4.    เสื้อคนละชุด
5.    กลองวิเศษ ถ้าฝนแล้งตีแล้วฝนจะตก ถ้าไม่มีแดดตีแล้วแดดจะออก ถ้ามีข้าศึกศัตรูตีแล้วพวกแถนบนฟ้าจะยกทัพลงมาช่วยกระทืบ
6.    ดาบวิเศษชื่อเฮงดาน หากลับให้คมอยู่เสมอจะไม่มีวันพ่ายแพ้
7.    รูปเทพีชื่อจุ้มฟ้ารุ่งแสงเมือง เป็นของศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง


รูปเทพีจุ้มฟ้ารุ่งแสงเมือง

เมื่อเตรียมตัวพร้อมสรรพ ขุนลุงขุนไลได้พาบริวารไต่บันไดลงจากสวรรค์มายังพื้นโลก จึงตั้งค่ายขึ้นชั่วคราวระหว่างหาทำเลสร้างเมือง

ขณะนั้นพวกเขานึกได้ว่าลืมของวิเศษคือไก่ ดาบ และกลองไว้บนฟ้า มีเทวดาในกลุ่มคนหนึ่งชื่อหลังคู้อาสาปีนบันไดกลับขึ้นไปเอา

พอหลังคู้ได้ของวิเศษกลับมาก็เกิดความโลภ เขาแอบอ้างคำปรึกษาของย่าเสียงฟ้าให้ขุนลุงขุนไลมอบดาบวิเศษแก่ตน และให้ตนแยกไปตั้งประเทศใหม่อีกแห่งหนึ่ง พวกขุนลุงขุนไลหลงเชื่อก็จัดการให้ตามประสงค์ หลังคู้จึงนำชาวไทยบางส่วนเดินทางไปสร้างเมืองใหม่ ชื่อเมืองแคะ หรือคือประเทศจีนในสายตาคนไทยนั่นเอง


ดาบเฮงดานจำลอง

หลังแบ่งคนให้หลังคู้ ขุนลุงขุนไลได้สร้างประเทศของตนชื่อ “เมืองรีเมืองรำ” ซึ่งนักประวัติศาสตร์ประมาณว่าเกิดขึ้นราวคริสต์ศตวรรษที่หก ตอนแรกขุนลุงเป็นกษัตริย์ก่อน ต่อมาขุนไลมีโลภจริต อยากชิงอำนาจกับพี่ชาย ขุนลุงไม่ต้องการขัดแย้งจึงแยกไปสร้างเมืองอีกแห่งชื่อ “เมืองคูเมืองยาว” ปกครองได้สี่สิบปีก็สิ้นบุญ

บุตรของขุนลุงเจ็ดคนแยกย้ายออกไปตั้งเมืองที่เรารู้จักมากมาย เช่นลูกคนโตได้ไปตั้งเมืองก๋อง (เรียกอีกอย่างว่าเมืองเมาหลวง เป็นอาณาจักรแรกๆของพวกไทใหญ่) ลูกอีกคนหนึ่งได้ไปครองเมืองอังวะ ส่วนลูกคนสุดท้องชื่อขุนชูครองเมืองคูเมืองยาวต่อ

ข้างฝ่ายขุนไลครองเมืองรีเมืองรำสืบต่อมาถึงรุ่นลูก แต่ลูกของขุนไลตายไปโดยไม่มีทายาท ญาติวงศ์จากเมืองคูเมืองยาวจึงส่งคนมาปกครองแทน

จะเห็นว่าแม้เรื่องนี้เป็นตำนาน แต่ในทางหนึ่งก็พอสะท้อนเรื่องราวที่ชาวไทใหญ่อพยพลงมาสร้างอาณาจักรในบริเวณรัฐฉานทางตอนเหนือของพม่า ในยุคที่ยังไม่มีการบันทึกอย่างเป็นระบบได้


ภาพหญิงสาวชาวไทใหญ่ที่ผมเซฟรูปมาจาก Facebook สมาคมคนรักสาวไทใหญ่


ส่วนนี่รูปหญิงสาวชาวไทน้อย

ฝ่ายไทน้อยเองมีตำนานที่คล้ายกัน คือแถนได้ส่งบุตรของตนชื่อขุนบุลมลงมาปกครองโลก ขุนบุลมให้บุตรทั้งเจ็ดของตนแยกย้ายออกไปครองเมืองต่างๆได้แก่:

1.     ขุนลอ ปกครองเมืองชวา (คือเมืองหลวงพระบางในลาว)
2.     ขุนผาล้าน ปกครองเมืองสิบสองปันนา
3.     ขุนจุลง ปกครองเมืองโกดแท้แผนปม (ปัจจุบันอยู่ในเวียดนาม)
4.     ขุนคำผง ปกครองเมืองเชียงใหม่
5.     ขุนอิน ปกครองเมืองอยุธยา
6.     ขุนกม ปกครองเมืองหงสาวดี
7.     ขุนเจือง ปกครองเมืองพวน (คือเมืองเชียงขวางในลาว)

การที่กษัตริย์ส่งลูกออกไปสร้างเมืองใหม่เรื่อยๆจนเกิดเครือข่ายอาณาจักรบ้านพี่เมืองน้องหลายแห่งนี้ เป็นวิธีการขยายดินแดนของชาวไทยโบราณ เหมือนการที่พญามังรายซึ่งเป็นเจ้าชายของเมืองเชียงแสนได้ออกไปสร้างเมืองเชียงราย และเชียงใหม่นั่นแหละครับ

กลับมาที่เรื่องของไทใหญ่ หลังจากชาวไทยตั้งถิ่นฐานในบริเวณรัฐฉานมาได้หลายร้อยปี ก็มาถึงรุ่นของกษัตริย์ชื่อเจ้าช้างญุ่นผู้ครองเมืองก๋อง

เจ้าช้างญุ่นมีบุตรสามคน ชื่อเสือซัดฟ้า เสือขานฟ้า และเสือก่าฟ้า (ก่าแปลว่ามา) ต่อมาเสือก่าฟ้ามีเหตุขัดแย้งกับพี่น้อง ไม่อยากแย่งชิงอำนาจด้วย จึงนำสมัครพรรคพวกอัญเชิญเทพีจุ้มฟ้ารุ่งแสงเมืองออกเดินทางไปตั้งเมืองใหม่ ในปี ค.ศ. 1216


เสือก่าฟ้า

การเดินทางของเสือก่าฟ้านี้ หากไปเพียงสั้นๆก็คงจะสร้างหัวเมืองขึ้นในบริเวณนั้นอีกเมืองหนึ่ง เป็นเครือข่ายบ้านพี่เมืองน้องกับหัวเมืองอื่นๆของชาวไทย
   
แต่ครั้งนี้เสือก่าฟ้าเดินทางไปไกลมาก จนพลัดเข้าสู่ดินแดนอันพิลึกพิสดารเป็นดินแดนแห่งเลือด นรก และเซ็กส์ ซึ่งกำลังถูกรุกรานโดยชาติมหาอำนาจของโลกยุคนั้นหลายชาติ มีภยันอันตรายมากมายทั้งจากธรรมชาติและจากมนุษย์ ผิดจากถิ่นเดิมของเขาโดยสิ้นเชิง

กลุ่มคนไทยที่หลุดเข้าไปสู่ดินแดนอันแปลกประหลาดดังกล่าว ได้เผชิญเหตุปัจจัยต่างๆ เกิดการพลิกผันวิวัฒน์เป็นไทยกลุ่มใหม่ เรียกว่า "ไทยอาหม”

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่กลุ่มคนไทน้อยทางใต้นำโดยพ่อขุนบางกลางหาว และพ่อขุนผาเมือง ร่วมมือกันยืนหยัดต่อสู้กับจักรวรรดิเขมรซึ่งขณะนั้นมีขนาดและกำลังพลเหนือกว่าพวกเขามาก กลายเป็นจุดเริ่มต้นของอาณาจักรสุโขทัย


ภาพกองทัพไทย หรือเสียมกุก ขณะที่ยังเป็นเมืองขึ้นของเขมร


เสือก่าฟ้า

ขบวนของเสือก่าฟ้าประกอบด้วยภรรยาของเสือก่าฟ้าสามคน ได้แก่นางอ้ายแม่เจ้าลื้อ นางเจนจุมฟ้า และนางยี่ลื้อเวงสีสุมฟ้า มีเสนาบดีสองคน คือ ท้าวเมืองบ้านรุย และท้าวเมืองสามงาน มีขุนนางห้าคนชื่อ ขุนบา ขุนฟรอง ขุนริง  ขุนเจ็ง และขุนฟูกิน มีนักบวชเอกสี่คน คือ ท้าวเมืองหลวงกาน ท้าวเข็นลุนครัม ท้าวฟรองและท้าวเมืองไมโซ (ชื่อพวกนี้และพวกชื่อเทพทั้งหลายข้างบน ไม่ต้องจำเลยแม้แต่ชื่อเดียวนะครับ คงไม่มีต่อในอนาคต ผมเอามาลงให้ได้อารมณ์ไทยโบราณเท่านั้น)

นอกจากนั้นยังมีช้างสองเชือก ม้าสามร้อยตัว ชาวบ้านชายหญิงติดตามมารวมทั้งสิ้นเก้าพันคน ในจำนวนนี้มีทหารอยู่กี่คนไม่ทราบ แต่เข้าใจว่าชาวบ้านไทยในยุคนั้นทุกคนถูกเลี้ยงดูมาให้ทำงานเอนกประสงค์ คือยามสงบทำนาได้ ก่อสร้างได้ ยามศึกสงครามจับอาวุธสู้ได้

...จริงๆจำนวนไม่ถึงเก้าพันนี้ถ้าเทียบกับอาณาจักรอื่นที่เกณฑ์พลรบกันทีเป็นหมื่นเป็นแสนก็ถือว่าจิ๊บจ๊อยมาก...


แผนที่แสดงการเดินทางของเสือก่าฟ้า

เสือก่าฟ้าได้เดินทางข้ามทิวเขาปาดไก่ซึ่งกั้นพรมแดนระหว่างพม่ากับอินเดีย ที่นั่นเขาพบชนเผ่าไม่เป็นมิตรกลุ่มแรกคือพวกนาค

พวกนาคเป็นชาวเขาที่กล้าหาญดุร้าย เชื่อว่าเมื่อตนเองตื่นนั้นยังเป็นคน แต่เมื่อหลับแล้ววิญญาณจะเข้าไปสิงร่างเสือ กลายเป็นเสือออกล่าสัตว์

นาคผู้ชายมักพกหอกดาบเล่มใหญ่ นิยมทำสงคราม มีชื่อเสียงในความชื่นชอบล่าศีรษะมนุษย์จนเป็นที่กลัวเกรงไปทั่ว สันนิษฐานว่าพวกนาคถูกเรียกเช่นนี้เพราะสมัยโบราณเคยนับถืองู และได้ต่อสู้กับอีกชนเผ่าที่นับถือนกจนเป็นที่มาของตำนาน ครุฑ-นาค


นักรบนาค


พวกนาคในปัจจุบัน

เมื่อเสือก่าฟ้าได้ทำศึกกับพวกนาค พบว่าคนเหล่านี้มีนิสัยดุร้ายสู้อย่างไม่กลัวตาย จึงรุกตีอย่างรุนแรง เอาชนะด้วยกำลังเฉียบขาด

ครั้นเอาชนะได้แล้วเสือก่าฟ้าก็จับนาคที่เป็นเชลยฆ่าทิ้งหลายคน เอาเนื้อมาย่างไฟ แล้วบังคับให้พวกนาคที่เหลือกินเนื้อญาติตัวเอง

...ใครไม่กินต้องถูกฆ่าตาย...

การกระทำครั้งนี้สร้างความหวาดกลัวให้แก่พวกนาคอย่างมาก เพราะพวกตัวเองว่าเถื่อนแล้ว แต่คนไทยที่บุกมานี้ยังเถื่อนกว่า!

ตั้งแต่นั้นเสือก่าฟ้าเคลื่อนขบวนไปเจอนาคกลุ่มใดก็มักได้รับการสวามิภักดิ์โดยง่าย เขาจึงเกณฑ์พวกนาคมาเป็นทหาร ให้ฝึกปรือกระบวนยุทธตามแบบไทย ทำให้มีกำลังพลเพิ่มอีกมาก

หลังจากข้ามเขาปาดไก่มาพวกไทยก็ตีได้บริเวณลุ่มแม่น้ำดีฮิง ซึ่งเป็นแควของแม่น้ำพรหมบุตร จึงจัดการเปลี่ยนชื่อแม่น้ำดีฮิงเป็น "น้ำหก"

เสือก่าฟ้าพยายามตั้งเมืองขึ้นในบริเวณนี้หลายครั้ง แต่อยู่ได้ไม่กี่ปีก็ประสบภัยน้ำท่วม ทำให้ต้องอพยพหนีไปเรื่อยๆ

พวกไทยอพยพตามแม่น้ำพรหมบุตรไปถึงบริเวณปากแควดีขูค่อยพบทำเลดี จึงตั้งเมืองหลวงแห่งแรกขึ้น ชื่อเมือง “เจ้รายดอย” และเรียกอาณาจักรที่กำลังขยายออกไปเรื่อยๆของตนว่า “เมืองถ้วนสวนคำ” (แปลว่าอาณาจักรแห่งสวนผลไม้ทองคำ) นอกจากนั้นยังเปลี่ยนชื่อแม่น้ำพรหมบุตรเป็น “น้ำดาวผี” (แปลว่าแม่น้ำแห่งดวงดาวของพระเจ้า)


เมด้ำหรือที่ฝังศพกษัตริย์อาหมในเมืองเจ้รายดอย

ในบันทึกพงศาวดารอาหม มีกล่าวถึงเหตุการณ์ในการสร้างเมืองเจ้รายดอย ผมแปลเองประมาณว่ามีการเอาทองคำไปประดับต้นมะปรางจนเต็มต้น เอาดินเงินใส่หม้อ และเอาม้ามายืนเท่ห์ๆสองตัวเพื่อฉลองการสร้างเมืองใหม่ ใครอยากอ่านฉบับเต็ม (ซึ่งอ่านยากหน่อยเพราะเป็นภาษาไทยเก่า) มีอยู่ย่อหน้าถัดไปครับ

“ในวันลักนี ปีเมืองแก้ว ก็ได้ทำการก่อสร้างเมืองหนึ่งบนที่ดอน เมืองนี้สวยงามและใหญ่โตมาก มีม้าตัวหนึ่งเอาไปไว้ทางทิศเหนือ ม้าอีกตัวหนึ่งเอาไปอยู่ทางทิศใต้  มีทองคำ แจ้ลองแล  ห้อยอยู่บนต้นปาง (มะปราง) ทองคำที่ห้อยอยู่นี้มีเป็นชั้นๆเรื่อยลงมาถึงโคนต้น และได้ใส่ดินเงินก้อนหนึ่งไว้ในหม้อใบหนึ่ง ให้นำไปตั้งไว้บนที่เนิน  เพื่อใช้ประกอบในพิธี  แม่เมืองแม่บาน ที่แจ้หลวงแจ้คำ”

ใกล้ๆเมืองเจ้รายดอยมีอาณาจักรเล็กๆของชนเผ่าตระกูลทิเบตพม่าอยู่สองเผ่า ชื่อเผ่าโมรานกับบาราฮี เสือก่าฟ้าเห็นว่าพวกบาราฮีนั้นไม่มีชื่อทางการต่อสู้มาก แต่พวกโมรานเป็นนักรบที่มีชื่อเสียงว่าเก่งฉกาจ จึงยกทัพไปตีอาณาจักรโมราน ได้ชัยชนะจับผู้ชายโมรานเป็นทาส และเอาผู้หญิงโมรานมาเป็นของเล่น

พอพวกโมรานแตก เสือก่าฟ้าก็ส่งทูตไปขอเจริญไมตรีกับพวกบาราฮี เวลานั้นชื่อเสียงความโหดร้ายของชาวไทยได้แผ่ไปทั่วแล้วพวกบาราฮีกำลังกลัวมาก พอมีทูตมาเช่นนี้ก็รีบสวามิภักดิ์ ทำให้เสือก่าฟ้าสามารถผนวกอีกสองแคว้นเล็กมาเป็นกำลังให้อาณาจักรอาหมโดยง่าย


เจ้าหลวงเสือก่าฟ้าและวังอาหมโบราณ

เสือก่าฟ้ายังจัดระเบียบราชการให้สอดรับกับอาณาเขตที่กว้างขึ้น โดยเพิ่มอำนาจแก่เสนาบดีที่ทั้งสองที่ติดตามมาให้คอยดูแลอาณาจักรคนละส่วน

เขายกให้ท้าวเมืองบ้านรุย เป็น “เจ้ากว้างเมือง” และท้าวเมืองสามงานเป็น “เจ้าเฒ่าหลวง” ซึ่งเป็นตำแหน่งขุนนางสูงสุดของชาวไทใหญ่ (ประมาณสมุหนายก สมุหกลาโหมในสมัยอยุธยา รัตนโกสินทร์) ตำแหน่งนี้สืบต่อในตระกูล แต่หากเหล่าเสนาบดีรุ่นนั้นๆไร้ความสามารถก็จะคัดเลือกจากลูกหลานขุนนางอื่นๆ

จากนั้นเสือก่าฟ้าใช้เวลาที่เหลือในชีวิตขยายอำนาจต่อจนบ้านเมืองเป็นปึกแผ่น เขาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1268 กลายเป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรไทยอาหม รวมระยะเวลาที่เร่ร่อนสร้างประเทศนาน 52 ปี

หลังยุคเสือก่าฟ้าอาณาจักรพวกอาหมยังคงเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จนเป็นที่หวาดกลัวของอาณาจักรอื่นๆ เพราะแม้มีขนาดเล็กแต่รบโหดมาก

นอกจากการทำสงครามแล้ว อีกปัจจัยที่ทำให้อาหมเจริญเร็ว คือเทคโนโลยีที่เหนือกว่าชาติรอบข้าง เช่นการตีเหล็กเพื่อทำอาวุธชั้นสูง หรือการทำนาดำที่เรียกว่า “เฮ็ดนาเมืองลุ่ม” ด้วยเทคโนโลยีอย่างหลังนี้ พวกอาหมสามารถใช้การสร้างทำนบคันนา ขุดคูทดน้ำ กั้นน้ำและระบายน้ำเปลี่ยนที่หนองบึงรกร้างในดินแดนอัสสัมกลายเป็นแหล่งผลิตข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ


เทคโนโลยีเฮ็ดนาเมืองลุ่มเป็นสิ่งที่ชาวไทยมีร่วมกันมาแต่โบราณ นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวไทยมีความมั่นคงทางอาหาร และก้าวสู่การเป็นชาติมหาอำนาจในหลายท้องที่

อาหมรุ่งเรืองทั้งทางเศรษฐกิจ และทางทหารมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเหลนของเสือก่าฟ้าชื่อเสือห้างฟ้าครองบัลลังค์ในค.ศ. 1293 พวกอาหมก็มีกำลังมากพอจะวัดรอยเท้ากับอาณาจักรใหญ่ได้

เสือห้างฟ้าตัดสินใจเกณฑ์ไพร่พลยกทัพไปตีแคว้นกามตะ รบกันหลายปีไม่ปรากฏผลแพ้ชนะจึงตกลงเป็นไมตรีกัน โดยราชากามตะยกเจ้าหญิงชื่อราชานีให้เป็นมเหสีของเสือห้างฟ้า

พันธมิตรนี้ทำให้อาณาจักรข้างๆคือกะจารี และชุติยะต้องหวั่นเกรง เพราะนั่นหมายถึงมีอาณาจักรใหญ่เกิดขึ้นในอัสสัมเป็นคู่แข่งของพวกเขาเพิ่มอีก

เป็นที่แน่ชัดว่าเสือก่าฟ้าได้เปลี่ยนชนชาติของตนจาก “คนแปลกหน้าที่เดินทางเข้าสู่ดินแดนอันตราย” เป็น “คนอันตรายที่เดินทางเข้าสู่ดินแดนแปลกหน้า” โดยสมบูรณ์แล้ว



ศึกชุติยะ

ชาวไทยอาหมรุ่นแรกๆที่เข้ามายังดินแดนอัสสัมนั้นเปรียบเหมือนไก่หนุ่มที่พึ่งลอกเดือยหนามทอง มีความฮึกหาญลำพอง มีฝีมือเก่งฉกาจ เจอศัตรูแข็งแกร่งจากไหนก็มักบุกตลุยเข้าไปซึ่งหน้า สยบด้วยกำลังเหนือกว่าอย่างกล้าหาญ

แต่ถึงเก่งขนาดไหนชาวไทยก็มีจำนวนน้อย อาณาจักรพึ่งตั้ง ระบบการปกครองยังไม่นิ่ง
กลุ่มชนที่อยู่มาก่อนอย่างพวกชุติยะซึ่งมีชื่อเสียงในด้านกล้าหาญดุร้ายเหมือนกันย่อมตระหนักว่า หากไม่ปราบชาวอาหมเสียตั้งแต่ยังเล็กนี้ ต่อไปคงหาโอกาสยาก 

พวกชุติยะนี้นับถือเจ้าแม่กาลีเป็นเทพประจำเผ่า มีนิสัยชื่นชอบการจับคนมาฆ่าบูชายัญเจ้าแม่มาก เดิมพวกเขาอาศัยอยู่บริเวณทะเลสาบสวัต ถูกชาวกามรูปเรียกว่าสวติยะ พวกเขารับคำดังกล่าวมาเรียกตัวเองเพี้ยนเป็นชุติยะ และเชื้อสายพวกชุติยะในปัจจุบันยังเรียกตนเองเพี้ยนไปอีกเป็นโชตะ

ปัจจุบันจังหวัดหนึ่งของแคว้นพิหารในอินเดียยังมีชื่อว่า โชตะนาคปุระ เพื่อระลึกถึงคนชาตินี้


เจ้าแม่กาลี

ปี ค.ศ. 1376 ในยุคของเสือตัวฟ้าผู้เป็นบุตรเสือห้างฟ้าได้มีกษัตริย์ชุติยะคนหนึ่งจึงเดินทางมาเมืองอาหมกับองครักษ์ไม่กี่คนบอกว่าขอเป็นไมตรี เสือตัวฟ้าเห็นว่าคนๆนี้เป็นชายชาตินักรบถึงกับเข้าสู่ถ้ำเสือวังมังกรโดยไม่กลัวอันตราย จึงให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติ

กษัตริย์ชุติยะบอกว่าขณะนี้ราษฎรอาหมกำลังมีเทศกาลแข่งเรือในลำน้ำซาฟราย ตนอยากดู จึงขอเชิญเสือตัวฟ้าไปชมด้วยกันในเรือที่กษัตริย์ชุติยะล่องมา เสือตัวฟ้าเห็นงานเทศกาลนั้นอยู่ในอาณาเขตตนก็ไม่ระแวง จึงยอมลงเรือไปกับกษัตริย์ชุติยะ


ประเพณีแข่งเรือในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียยังมีอยู่จนปัจจุบัน

ปรากฏว่านี่เป็นอุบาย! กษัตริย์ชุติยะอาศัยจังหวะที่เสือตัวฟ้ากำลังสนใจกับการแข่ง ชักดาบมาตัดหัวเสือตัวฟ้า แล้วรีบสั่งบริวารให้ล่องเรือหนีโดยเร็ว

การตายของกษัตริย์ทำให้พวกไทยอาหมระส่ำระสาย เพราะท้าวคำที่ซึ่งเป็นน้องชายและทายาทคนสุดท้ายของเสือตัวฟ้านั้นไม่เข้มแข็งเหมือนพี่

แต่ด้วยศักดิ์ศรีของชาวไทย ถึงระส่ำระสายอย่างไรก็ต้องแก้แค้น เจ้ากว้างเมืองและเจ้าเฒ่าหลวงจึงเชิญท้าวคำที่เป็นแม่ทัพไปออกศึกกับพวกชุติยะ

ท้าวคำที่มีมเหสีสองคนเป็นฝ่ายซ้ายฝ่ายขวา เมื่อเขาออกไปรณรงค์สงครามนั้นบ้านเมืองกลับตกอยู่ในมือของมเหสีฝ่ายขวาผู้โหดร้าย

มเหสีฝ่ายขวาเกลียดฝ่ายซ้ายมานานแล้ว จึงหาเหตุจับไปฆ่า เคราะห์ดีที่พวกขุนนางมีใจเมตตาแอบปล่อยไป ขณะนั้นมเหสีฝ่ายซ้ายกำลังตั้งครรภ์อยู่

ท้าวคำที่กลับจากการศึกพบว่ามเหสีฝ่ายซ้ายถูกประหารไปแล้วก็โศกเศร้าไม่รู้ทำอย่างไรเพราะกลัวเมียฝ่ายขวามาก ต่อมามเหสีฝ่ายขวาใช้ความอารมณ์ร้ายบงการท้าวคำที่ต่างๆทำให้บ้านเมืองวิปริตแปรปรวน ท้าวคำที่ก็ไม่อาจทัดทานได้ พวกขุนนางทนไม่ไหวจึงลอบสังหารท้าวคำที่ ยึดอำนาจเสีย

พอสิ้นท้าวคำที่บ้านเมืองก็ว่างกษัตริย์อยู่พักหนึ่ง จนมีการพบร่องรอยของมเหสีฝ่ายซ้ายและลูกที่ตั้งครรภ์ระหว่างหนี

เด็กคนนั้นเติบโตเป็นหนุ่มท่าทางกล้าหาญ พวกขุนนางจึงอัญเชิญขี้นเป็นกษัตริย์ ตั้งชื่อว่า “เสือดั้งฟ้า”

เสือดั้งฟ้าครองราชย์เมื่ออายุเพียงสิบห้าปี ความที่ตอนเด็กๆมารดาหนีไปอยู่ชุมชนพราหมณ์ เขาจึงมีความเลื่อมใสในศาสนาพราหมณ์ และนำพิธีกรรมต่างๆเข้ามาใช้ในราชสำนักไทย

แต่นั้นอาหมก็ค่อยๆกลายเป็นชาตินับถือพราหมณ์ปนผี มีวัฒนธรรมประเพณีสำคัญแบบฮินดูหลายอย่าง

...อ่านถึงตรงนี้ท่านอาจสงสัยว่าหากไม่มีเสือดั้งฟ้า อาหมจะยังมีวัฒนธรรมแบบไทยโบราณมากกว่านี้หรือไม่?...

คำตอบคือธรรมดาวัฒนธรรมนั้นเหมือนน้ำ ย่อมไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ แม้ในสงครามฝ่ายที่วัฒนธรรมต่ำกว่าอาจเป็นผู้ชนะ แต่เมื่อเวลาผ่านไปวัฒนธรรมซึ่งมีความละเอียดซับซ้อนมากกว่าก็ต้องเป็นฝ่ายกลืนกินในที่สุด เหมือนการที่ชาวแมนจูพิชิตเมืองจีนแล้วรับวัฒนธรรมฮั่น หรือชาวเติร์กพิชิตตะวันออกกลางแล้วรับวัฒนธรรมอาหรับ

ในลักษณะนี้วัฒนธรรมอินเดียซึ่งมีการสั่งสมพัฒนามายาวนานจึงแพร่เข้าสู่ชาวไทยอาหม ตรงกับสมัยอยุธยาตอนต้นที่ศาสนาพุทธประดิษฐานในกลุ่มชนไทน้อยมานานแล้ว นับว่าพวกอาหมเริ่มรับอิทธิพลอินเดียช้ากว่าชาวไทยอื่นๆด้วยซ้ำ


ถึงจะรับวัฒนธรรมอินเดียมา แต่บางส่วนของศาสนาผีก็ยังคงอยู่ในสังคมไทยจนปัจจุบัน

รัชกาลเสือดั้งฟ้ามีเหตุพลิกผันสำคัญเมื่อเสือดั้งฟ้าแต่งพระราชินีชื่อขุนไต

กล่าวคือก่อนแต่งนั้นขุนไตเคยมีคู่รักอยู่ก่อนเป็นขุนนางชื่อไตสุไล ในงานเลี้ยงครั้งหนึ่งไตสุไลเห็นพระราชินีแล้วระลึกถึงความหลัง จึงถอดแหวนส่งให้

เสือดั้งฟ้าจับได้ก็โกรธจะลงอาญา แต่ไตสุไลไหวตัวทันรีบหนีออกจากอาณาจักรอาหมเสียก่อน

ขุนนางผู้มากรักหนีข้ามไปถึงแผ่นดินรัฐฉาน กราบทูลยุยงให้เสือรำฟ้ากษัตริย์แห่งเมืองก๋องยกทัพปราบอาหม เสือรำฟ้าเชื่อก็ทำตาม


เครื่องแต่งกายชาวไทใหญ่

เสือดั้งฟ้าเห็นทัพเมืองก๋องยกมาจึงกะเกณฑ์ไพร่พลยกออกไปรบด้วยตนเอง เขาขี่ช้างสู้ในแนวหน้าอย่างกล้าหาญ จนถูกหอกบาดเจ็บ แต่สามารถต้านรับศัตรูได้

เสือรำฟ้าเห็นเสือดั้งฟ้ามีความเป็นชายชาตินักรบก็นับถือ เขาค่อยระลึกว่าจริงๆทั้งสองอาณาจักรนับเป็นบ้านพี่เมืองน้อง แทนที่จะรบต่อจึงขอเป็นไมตรี

พิธีสงบศึกทำโดยให้เจ้าเฒ่าหลวงของทั้งสองฝ่ายมาพบกันที่ทิวเขาปาดไก่ เจ้าเฒ่าหลวงเชือดไก่สังเวยเลงดอนแล้วก็ตกลงให้ทิวเขานี้เป็นพรมแดนระหว่างสองเมือง (เขาปาดไก่เดิมชื่อดอยเก้าหลัง สันนิษฐานว่าเปลี่ยนชื่อเป็นปาดไก่เพราะเหตุการณ์นี้)


เทือกเขาปาดไก่

ไตสุไลเห็นอาหมกับเมืองก๋องเป็นพันธมิตรกันก็กลัวโทษ รีบหนีต่อไปยังแคว้นกามตะ เสือดั้งฟ้าขอให้ราชากามตะส่งตัวนักโทษให้ แต่ราชากามตะเห็นไตสุไลเป็นผู้มาพึ่งพิงก็ไม่ยอมส่ง

เสือดั้งฟ้าโกรธเกณฑ์พลจะออกรบ ราชากามตะเห็นฝ่ายอาหมเอาจริงก็ไม่กล้าสู้ จึงส่งพระราชธิดาพร้อมช้างม้าข้าทาสมาเป็นบรรณาการ การศึกจึงระงับไปด้วยดี สำหรับไตสุไลผู้สร้างเรื่องราวมากมายจะมีชะตากรรมเป็นอย่างไรต่อไปนั้นผมหาไม่เจอ แต่คิดว่าเขาควรภูมิใจที่สามารถทำให้ตัวเองมีราคาแพงเพียงนี้

หลังยุคเสือดั้งฟ้า แผ่นดินสืบต่อมาถึงยุคเสือฮุ่งเมือง (ครองราชย์ ค.ศ. 1497 ฮุ่งมาจากคำว่ารุ่ง เรียกแบบไทยภาคกลางคือ เสือรุ่งเมือง) เกิดเหตุกษัตริย์ชุติยะชื่อธีระนารายันยกมาตีอาหม

เสือฮุ่งเมืองระลึกว่าก่อนหน้านี้ที่ไทยอาหมระส่ำระสาย สาเหตุหนึ่งมาจากเสือตัวฟ้าถูกกษัตริย์ชุติยะสังหาร หลังจากนั้นแผ่นดินเกิดปัญหาทั้งภายนอกภายใน ทำให้ไม่มีความสามารถรบแตกหักกับอาณาจักรใหญ่อย่างชุติยะได้ ครั้งนี้เมื่อธีระนารายันกำเริบมาเองก็ดี เขาจะถือเป็นโอกาสชำระแค้นให้บรรพบุรุษอย่างเด็ดขาด!


นักรบไทใหญ่

คิดดังนั้นเสือฮุ่งเมืองจึงจัดทัพต้านรับเต็มที่ การศึกอาหมชุติยะเป็นไปอย่างดุเดือดถึงขั้นตะลุมบอน มีการผลัดกันแพ้ชนะ แต่ในที่สุดทัพชุติยะเสียหายมากต้องถอยกลับ เสือฮุ่งเมืองตามตียึดได้เมืองชายแดนชุติยะ จึงให้สร้างป้อมอันแข็งแรงขึ้นเพื่อป้องกันอาณาเขตใหม่

ธีระนารายันเสียดินแดนก็เจ็บใจ เขาใช้อุบายส่งสารไปหายุยงเมืองก๋องให้ร่วมกันตีกระหนาบอาหม แต่เจ้าเมืองก๋องคิดถึงความเป็นบ้านพี่เมืองน้อง นอกจากไม่ช่วยธีระนารายันแล้วยังส่งกำลังไปสนับสนุนเสือฮุ่งเมือง เป็นการกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นกว่าเดิม

เมื่อพวกไทยสามัคคีกัน ธีระนารายันจำต้องรบด้วยตัวเอง ชุติยะกับอาหมผลักกันแพ้ชนะหลายครั้ง แต่สรุปอาหมได้อาณาเขตชุติยะมากขึ้น ในช่วงระหว่างนี้ธีระนารายันรู้สึกว่าตนแก่แล้วไม่สามารถรบอย่างมีประสิทธิภาพ จึงสละบัลลังค์ให้บุตรเขยชื่อนิตยพล


อ่านชื่อนิตยพลแล้วรู้สึกหิว เพราะฟังคล้ายๆนิตยาไก่ย่าง ถ้าขายดีขึ้นขอค่าโฆษณาผมด้วยนะครับ

นิตยพลรับไม้จากพ่อตามาแล้ว ก็จัดทัพสู้กับอาหมเป็นสามารถ แต่กลับพ่ายแพ้อย่างหนัก ต้องขอยอมแพ้ส่งเครื่องบรรณาการให้

เสือฮุ่งเมืองบอกนิตยพลว่าอยากยอมแพ้ก็ได้ แต่เครื่องบรรณาการที่จะส่งมานั้นต้องเป็นแมวทอง ช้างทอง ฉัตรทอง และหูกทอผ้า ซึ่งเป็นสมบัติคู่บ้านคู่เมือง ของเหล่านี้เหมือนพระแก้วมรกตของประเทศไทย พวกชุติยะยอมตายไม่ยอมยกให้ใครเด็ดขาด การศึกจึงดำเนินต่อ

หลังเจรจาล้มเหลวฝ่ายชุติยะทราบว่ารบตรงๆยาก มีการคิดแผนสู้พลางถอยพลางไปจนถึงดอยชื่อ “ชาวตัน” อันเป็นสมรภูมิที่เลือกมาแล้ว เมื่อทัพชุติยะถอยขึ้นดอยสำเร็จก็ปล่อยก้อนหินใส่พวกอาหมที่กำลังตามมา ยังผลให้ต้องบาดเจ็บล้มตายลงมาก

ทัพไทยรุกขึ้นดอยกี่ครั้งก็ถูกก้อนหินกลิ้งทับจึงหยุดชะงักอยู่ตีนดอย พิจารณาแล้วเห็นว่าดอยชาวตันนั้นด้านหนึ่งเป็นทางลาดชันสำหรับกลิ้งหิน อีกด้านหนึ่งเป็นผาชะลูด ไม่มีทางที่จะปีนขึ้นได้ นับเป็นชัยภูมิอันยอดเยี่ยม


คิดว่าดอยชาวตันน่าจะเป็นอะไรคล้ายๆแบบนี้ คิดมีด้านที่ชันแต่พอปีนได้ กับด้านที่ไม่น่าจะปีนได้เลย

ฝ่ายไทยรู้ตัวว่าต้องกลศึก ถูกล่อเข้ามาในแดนศัตรู รุกไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องถอยกลับ ซึ่งพวกชุติยะคงวางแผนตามตีไว้แล้ว

แต่ทหารอาหมนั้นฉกาจนัก เมื่อพบคำว่า “เป็นไปไม่ได้” ก็ทำให้ “เป็นไปได้”

พวกเขาเสี่ยงปีนขึ้นดอยชาวตันด้านผาชะลูด! บางคนตกผาตาย แต่ส่วนใหญ่ขึ้นถึงยอดดอยสำเร็จ!

พวกชุติยะคิดว่าคงยากที่ใครจะโง่ปีนผา จึงละเลยการจัดเวรยามด้านนี้ พอพวกเขาเห็นอาหมโผล่มายอดเขาก็แตกตื่นวุ่นวาย ด้วยไม่ทราบว่าใช้กลศึกอะไรถึงปรากฏกายขึ้นมาได้ (หรือจริงๆแล้วมันนับเป็นกลศึกหรือเปล่า?)

เดนตายอาหมบุกไล่พวกชุติยะ ต่างคนต่างสังหารข้าศึกอย่างสนุกมือ เหลือชุติยะไม่กี่รายหนีกลับเมืองหลวงอย่างทุลักทุเล

ทัพไทยไม่ปล่อยให้ศัตรูพักหายใจ พวกเขาตามตีเข้าเมืองหลวงชุติยะ กวาดล้างผู้ต่อต้านอย่างเฉียบขาด นิตยพลกับราชโอรสถูกฆ่าตายกลางที่รบ พระราชินีพอจวนตัวก็เอาหอกแทงตัวตายเช่นกัน ราชวงศ์ที่เหลือถูกจับเป็นเชลยเอาไปถวายเสือฮุ่งเมืองพร้อมกับแมวทอง ช้างทอง และของคู่แผ่นดินอื่นๆ

เพื่อฉลองชัยชนะเสือฮุ่งเมืองได้ทำพิธี “เรียกขวัญ” ซึ่งเป็นประเพณีฉลองเหตุการณ์สำคัญแบบไทย คือให้กษัตริย์แต่งกายเต็มยศนั่งบนตั่ง ให้พวกเทพไทรดน้ำมนต์เสกเป่า ทำนองเดียวกับพิธีบายศรี

จากนั้นกษัตริย์แห่งอาหมจึงโปรดให้กวาดปัญญาชนและช่างฝีมือชาวชุติยะไปไว้เมืองอาหม และตัดหัวนิตยพลกับโอรสไปฝังไว้ตรงบันไดทางเข้าวัดในเมืองเจ้รายดอย (หลังจากเสือก่าฟ้าตั้งเมืองหลวงแรกที่เจ้รายดอยแล้วพวกอาหมก็เปลี่ยนเมืองหลวงอีกหลายครั้ง แต่ยังถือเมืองเจ้รายดอยเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์)

จากนี้ใครเดินผ่านไปมาที่วัดเมืองเจ้รายดอยจะต้องเหยียบข้ามหัวนิตยพลกับลูกอยู่ร่ำไป

...สาสมกับความแค้นที่อาหมและชุติยะมีต่อกัน...


มีต่อ ............

มดเอ๊กซ:

ศึกเติร์ก

ดังที่กล่าวมาก่อนว่าหลังสิ้นอาณาจักรกามรูป พวกเติร์กได้ทำการรุกรานยึดครองภาคเหนือของอินเดียเอาไว้หมดสิ้น ต่อมาตีอาณาจักรกามตะแตกในต้นสมัยเสือฮุ่งเมือง กำลังวางแผนจะยึดดินแดนอัสสัมทั้งหมด เหมือนที่เคยพิชิตมาแล้วทั้งเอเชียยุโรป


ภาพภาคเหนือของอินเดียภายใต้การยึดครองของเติร์กแต่ละสมัย จริงๆแล้วที่มาไม่ใช่เติร์กอย่างเดียว แต่เป็นทัพผสมของชาติที่นับถือมุสลิมเช่น เติร์ก อัฟกัน อาหรับ เปอร์เซีย ซึ่งหลักๆแล้วเป็นเติร์ก

เวลานั้นทั้งเติร์กและอาหมต่างเป็นขุมกำลังใหม่ที่แข็งกล้าขึ้นในอัสสัม แต่หากเอาเปรียบเทียบแล้วจะเห็นว่าต่างกันมาก เพราะพวกเติร์กมีระบบทหารอาชีพ มีพาหนะช้างม้ามากมาย มีไพร่พลมหาศาล มีอาวุธที่ดี มีเทคโนโลยีปืนแล้ว มีทุกสิ่งทุกอย่างครบครันพร้อมสำหรับการยึดครองโลก

ในขณะที่อาหมมีประชากรน้อย ที่ผ่านมาเป็นเมืองเล็กๆใช้ตีชาติอื่นมาเสริม เทคโนโลยีผลิตอาวุธเหล็กทำได้ดี แต่ไม่เคยรู้จักปืนผาหน้าไม้

นอกจากนั้นพวกไทยยังไม่มีระบบนักรบอาชีพ ...ทหารอาชีพมันคืออัลไล?

ประชากรไทยทุกคนถูกฝึกให้สารพัดประโยชน์อย่างยิ่ง ยามสงบสามารถทำนาให้ได้ผลผลิตดีกว่าชาติอื่นด้วยเทคโนโลยีดำนาอันเหนือล้ำ ยามสงครามสามารถกลายร่างเป็นสัตว์ประหลาดป่าเถื่อน มีความทรหดถึกทน สามารถบุกทะลวงป่า ปีนหน้าผาสูง จับศัตรูมาปิ้งกิน เผ่าต่างๆไม่ค่อยอยากสู้ด้วย

และด้วยความที่อาหมนั้นมีกำลังน้อย ยุทธวิธีต่างๆจะพัฒนาไปในทางใช้คนน้อยสยบคนมาก กล่าวคือเมื่อต้องเป็นฝ่ายรับก็มีการสร้างป้อมปราการที่แข็งแกร่ง จนศัตรูเข้ายึดได้ยาก และเมื่อต้องเป็นฝ่ายรุกก็มีพยุหะการพุ่งเข้าชาร์จที่ดุร้ายสาหัส เน้นฆ่าศัตรูให้มากที่สุด ทำให้กลัวที่สุด และจบสงครามให้เร็วที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการรบยืดเยื้อที่ฝ่ายกำลังน้อยจะเสียเปรียบ


การฝึกดาบแบบอาหม

ธรรมดาเสือสองตัวย่อมอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ ปี ค.ศ. 1527 อุปราชแห่งบังคลาเทศได้นำทัพบุกตีเมืองอาหม

ครั้งนั้นแม่ทัพเติร์กมีความกระหยิ่มยิ้มย่อง คิดว่ากำลังสู้กับพวกด้อยพัฒนาอุมบะๆ เอาปืนใหญ่ยิงไม่กี่นัดขี้คร้านจะหวาดกลัวแตกหนีกันไปหมด

ปรากฏว่าพอเขาตั้งกระบวนปืนใหญ่ยิงไป ทัพอาหมที่อยู่ตรงหน้าก็แตกหนีตามคาด

...แต่ไอ้ที่แตกนั้นเป็นกองล่อ...

...ฝ่ายไทยอาศัยจังหวะศัตรูเผลอ แยกเป็นทัพซ้ายขวาเข้ากระหนาบล้อม พอพวกเติร์กรู้สึกตัวอีกทีทหารอาหมก็เข้ามาถึงระยะที่ปืนไม่มีประโยชน์แล้ว!...

ชาวไทยร้องแฮ่! จับเติร์กกินหัว เติร์กกลัวพากันแตกหนี ทิ้งปืนใหญ่เอาไว้ดูต่างหน้าสี่สิบกระบอก

พวกอาหมเอาปืนใหญ่เหล่านั้นมาวิจัย ภายหลังจึงพัฒนาจนได้เทคโนโลยีผลิตปืนแบบของตัวเอง ปืนอาหมนั้นมีอานุภาพมากกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่เสริมความรุ่งเรืองของอาณาจักรในกาลต่อมา


หลังยุคเสือฮุ่งเมือง อุตสาหกรรมผลิตปืนของอาหมรุ่งเรืองมากจนมีโรงงานผลิตทั้งปืนใหญ่และปืนเล็กยาวโดยเฉพาะ

:::  :::  :::

...ตอนนี้จะขอแทรกถึงเหตุการณ์ที่ฝ่ายอาหมได้แม่ทัพสำคัญ คือในยุคของเสือปิ่มฟ้าซึ่งเป็นบิดาเสือฮุ่งเมืองนั้นได้มีนาคเผ่าหนึ่งมาขอสวามิภักดิ์ มเหสีเสือปิ่มฟ้าเห็นหัวหน้านาคมีร่างกายล่ำสันสมชายชาตรีก็เกิดจิตปฏิพัทธ์ เผลอเอ่ยปากชมความหล่อของหัวหน้านาคให้ผู้คนได้ยิน

เสือปิ่มฟ้าคิดว่าหากลงโทษใครด้วยสาเหตุนี้จะทำให้เสียบรรยากาศอันเป็นไมตรี จึงตัดใจยกมเหสีให้เป็นภรรยาหัวหน้านาคเสียเลย (อีกทางหนึ่งคือยกหัวหน้านาคให้เป็นสามีของมเหสี? หัวหน้านาคอาจจะกำลังคิดว่า "เมิงเอายายนี่มาให้ตู ถามตูหรือยัง?")

ขณะนั้นมเหสีเสือปิ่มฟ้ากำลังตั้งครรภ์อยู่  คลอดออกมาเป็นลูกของเสือปิ่มฟ้า เสือฮุ่งเมืองเห็นเป็นน้องก็มีความเมตตา จึงรับเด็กนี้มาทำราชการ ตั้งตำแหน่งให้ว่า “เจ้าแสนหลวง” ให้มีศักดิ์ศรีเทียบเท่า เจ้ากว้างเมืองกับเจ้าเฒ่าหลวง

ตอนแรกเจ้ากว้างเมืองกับเจ้าเฒ่าหลวงไม่พอใจ เพราะคิดว่าเจ้าแสนหลวงนี้จะมาแย่งอำนาจตน เสือฮุ่งเมืองแก้ปัญหาโดยการให้เจ้าแสนหลวงปกครองดินแดนชุติยะที่พึ่งยึดมาได้ พอเป็นเช่นนี้เจ้ากว้างเมืองกับเจ้าเฒ่าหลวงก็ไม่มีข้อโต้แย้ง เพราะตนไม่ได้ถูกแบ่งอำนาจ เพียงแต่มีคนที่มีศักดิ์เสมอกันเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งเท่านั้น

เจ้าแสนหลวงมีโอกาสแสดงฝีมือครั้งแรกเมื่อแม่ทัพเติร์กชื่อบิตมาลิกยกข้ามพรมแดนมาตีไทยอีก


นักรบอาหม

คราวนั้นเจ้าแสนหลวงบัญชาการรบ ณ ป้อมสิงหคีรี ต้านรับการโจมตีของบิตมาลิกอย่างเหนียวแน่น จนเห็นศัตรูเหนื่อยล้าเสียขวัญ ก็เปิดป้อมพุ่งเข้าชาร์จ สามารถตีพวกเติร์กแตกกระเจิง ฆ่าบิตมาลิกตาย ยึดม้า ยึดปืนมาได้มาก เสือฮุ่งเมืองยินดีนักจึงจัดพิธีเรียกขวัญให้เป็นเกียรติแก่เจ้าแสนหลวง

พวกเติร์กรู้สึกว่าถูกลูบคมครั้งแล้วครั้งเล่า ปีต่อมาก็จัดทัพมาปราบไทยอีก ให้ทหารกล้าชื่อตุรบัคเป็นแม่ทัพ มีช้างสามสิบเชือก ม้าหนึ่งพัน ปืนใหญ่และพลเดินเท้าอีกเหลือประมาณ


ทัพเติร์ก ไอ้ที่เห็นใหญ่ๆด้านขวานั้นคือปืนใหญ่

คราวนี้เสือฮุ่งเมืองนำทัพไปตั้งรับที่เมืองสลาด้วยตนเอง และให้ราชโอรสชื่อเสือเกลนแยกไปตั้งรับที่ป้อมสิงหคีรีอีกจุดหนึ่ง

เสือเกลนบัญชาการป้องกันป้อมสิงหคีรี เห็นพวกเติร์กตีมาประปรายก็รู้สึกเบื่อ อยากตีแตกหักตามแบบวีรกรรมของเจ้าแสนหลวง แม้โหรทัดทานว่าผิดฤกษ์ก็ไม่เชื่อ

เจ้าชายหนุ่มเปิดป้อมพุ่งเข้าชาร์จค่ายเติร์กที่ตั้งอยู่อีกฝั่งแม่น้ำพรหมบุตร หากคราวนี้พวกเติร์กยังไม่เหนื่อยอ่อน จึงสามารถโต้กลับเสือเกลนเป็นผลให้ฝ่ายอาหมพ่ายแพ้ยับเยิน เสียคนระดับแม่ทัพนายกองถึงแปดนาย ตัวเสือเกลนเองได้รับบาดเจ็บต้องถอยหนีทุลักทุเลไปยังเมืองสลา ป้อมสิงหคีรีที่เจ้าแสนหลวงอุตส่าห์รักษามาจึงเสียให้แก่ข้าศึก

พวกเติร์กชนะครั้งนี้ก็ได้ใจ จึงยกเข้าเมืองสลา เผาผลาญบ้านเรือนนอกป้อมราบเรียบ แล้วบุกป้อมเมืองสลาอย่างรุนแรงประดุจพายุร้าย

เสือฮุ่งเมืองก็เข้มแข็ง บัญชาการให้เพิ่มการป้องกันกำแพงป้อม ต้มน้ำเดือดราดศัตรูจนพวกเติร์กเสียหายหนัก ความฮึกเหิมเสื่อมโทรมลง

ครั้นเติร์กเสียขวัญ เสือฮุ่งเมืองจึงเปิดป้อมพุ่งเข้าชาร์จ สามารถฆ่าฟันศัตรูไปได้มาก แต่พวกเติร์กส่งกองปืนใหญ่มาแก้ไขสถานการณ์ ฝ่ายไทยถูกปืนยิงก็ต้องล่าถอยกลับค่าย


ดูภาพวังอาหมที่ยังเหลืออยู่ อาจทำให้จินตนาการภาพป้อมอาหมได้

ทัพสองฝ่ายตั้งยันกันอยู่ถึงหกเดือน พวกเติร์กยังหักเอาป้อมไม่ได้ ตุรบัคเห็นว่าหากปล่อยนานไปเสบียงจะร่อยหรอไม่เป็นผลดี จึงส่งทัพเรือเข้าตีอาหมอีกทางหนึ่ง

การโจมตีทางเรือนี้อยู่ในการคาดการณ์ฝ่ายไทยมาก่อน มีการเตรียมทัพเรือเข้ารับเป็นสามารถ ในที่สุดฝ่ายไทยก็ชนะ สามารถจมเรือข้าศึกได้ 22 ลำ สังหารแม่ทัพสองคน เฉพาะศึกครั้งนี้ศึกเดียวเติร์กเสียทหารไปมากถึง 2,500 คน

ขณะที่ตุรบัคกำลังคิดไม่ตกว่าจะแก้ไขอย่างไรต่อ พอดีตอนนั้นมีข่าวเจ้าแสนหลวงน้อยใจเสือฮุ่งเมืองได้ติดต่อขอนำทหารมาสวามิภักดิ์ ข่าวนี้เหมือนน้ำทิพย์ชโลมใจแม่ทัพเติร์ก เขาจึงเร่งต้อนรับเจ้าแสนหลวงกับบริวารด้วยความยินดี

ตอนเข้าพบตุรบัคนั้นเจ้าแสนหลวงไม่พกอาวุธติดตัวเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ แต่พอตกดึกพวกไทยก็ชักหอกดาบที่ซ่อนอยู่ออกมา เจ้าแสนหลวงสังหารตุรบัคด้วยมือตนเอง แล้วไล่ฆ่าฟันพวกเติร์กที่ไม่ทันระวังตัว เปิดประตูให้ทัพอาหมซึ่งเตรียมพร้อมอยู่แล้วบุกเข้า

ด้วยอุบายดังกล่าวค่ายหลวงเติร์กจึงถูกตีแตก ทัพไทยรุกไล่ไปจนยึดดินแดนที่เคยเป็นอาณาจักรกามตะได้ จับตัวฮุสเซนข่านซึ่งเป็นผู้นำในเวลานั้นประหารเสีย

ชัยชนะครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก เสือฮุ่งเมืองทำพิธีเรียกขวัญใหญ่โต ทั้งโปรดให้ฉลองชัยด้วยการสร้างวัดกับขุดบ่อน้ำเพื่อเป็นประโยชน์กับราษฎรตามพรมแดน

ชาวไทยจับเติร์กในกามตะเป็นทาส บังคับให้ทำนา กับเป็นตะพุ่นหญ้าช้าง (หรือคนเกี่ยวหญ้าเลี้ยงช้างซึ่งเป็นงานหนัก เพราะช้างแต่ละตัวกินหญ้าจุมาก)

พวกเติร์กไถหว่านไม่เป็น  ไม่มีความอดทน ก็ทำนาอย่างไร้ประสิทธิภาพ ชาวไทยรำคาญนักจึงจับไปทดลองทำอย่างอื่นอีกหลายอย่าง ปรากฏว่าพวกเติร์กสามารถทำเครื่องทองเหลืองได้ดี จึงได้ตั้งชุมชนผลิตเครื่องทองเหลืองขึ้นในเมืองอาหม

พวกเติร์กเหล่านี้เรียกตัวเองว่า “การิยา” เพื่อระลึกถึงเมืองกัวร์อันเป็นราชธานีโบราณของมุสลิมในบังคลาเทศ พวกเขายังคงยึดอาชีพทำเครื่องทองเหลืองเป็นสรณะมาจนทุกวันนี้


ช่างทำทองเหลืองชาวเติร์ก

:::  :::  :::

หลังสิ้นศึกเติร์กก็เกิดเรื่องกษัตริย์กะจารีชื่อเดตซุงฉวยโอกาสที่อาหมอ่อนล้าจากสงครามใหญ่ลอบเข้าตีเมืองอาหม

เสือฮุ่งเมืองยกทัพไปปราบเอง คราวนี้อาหมเรียนรู้เทคโนโลยีการใช้ปืนใหญ่จากพวกเติร์กมาแล้ว จึงยิงปืนถล่มพวกกะจารีแตกพ่าย สามารถยึดเมืองกะจารีโดยง่าย

เสือฮุงเมืองให้ตัดหัวเดตซุงเอาไปฝังไว้เจ้รายดอยตามหลังหัวของนิตยพล และตุรบัค เขาตรวจดูฝ่ายในของวังหลวงกะจารีเห็นมีแม่ของเดตซุงกับเจ้าหญิงอยู่สามคน จึงฆ่าแม่เดตซุงเสีย ส่วนเจ้าหญิงกะจารีทั้งสามนั้นจับเข้าฮาเร็ม

ในลักษณะนี้อาหมจึงสามารถยึดครองดินแดนที่เคยเป็นอาณาจักรกามรูปไว้ได้แทบทั้งหมดเมื่อ ค.ศ. 1536 กลายเป็นขั้วอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอัสสัมแต่เพียงผู้เดียว...



...ข้างฝ่ายเติร์กบังคลาเทศนั้นบอบช้ำอย่างหนักจนไม่สามารถกลับมาแก้แค้นอาหมอีก

แต่ถึงหายบอบช้ำแล้วพวกเขาก็คงมีความคิดโจมตีใครได้ยาก... นั่นเพราะอีกไม่นานพวกเขาจะต้องเผชิญกับมหันตภัยอันใหญ่หลวงที่กำลังก่อตัวขึ้นทางตะวันตก...


...ในตอนหน้ามหันตภัยนี้จะแผ่ขยายไปทั่วอินเดีย กวาดล้างทำลายพวกเติร์กจนราบคาบ...


...อาหมจะต้องเผชิญกับภัยที่ร้ายกาจกว่าเติร์กมาก...


...มันคือภัยที่เรียกว่า...


“มองโกล”




ณ ห้องเรียนห้องหนึ่งในประเทศ “ไทย” คุณครูใจดีได้หัวเราะขึ้น “ฮ่าฮ่าฮ่า เป็นไงล่ะ บรรพบุรุษไทยทั้งเก่ง ทั้งเถื่อน ทั้งชั่วได้ใจพวกแกหรือยัง!?”



เด็กน้อยน่ารักหันมองหน้ากัน เด็กคนหนึ่งจึงแบมือถอนหายใจกล่าวว่า “งั้นๆแหละ... ไม่เห็นจะเท่าไหร่เลย”

“อ้าว!” คุณครูอุทาน “เห็นบอกว่าอยากได้บรรพบุรุษเก่งๆ อย่างนี้ไม่เก่งแล้วเรียกว่าอะไร?”

“ไอ้เก่งน่ะมันก็จริงอยู่หรอก แต่เท่าที่ฟังมันมีแต่พวกถึกๆล่ำๆ บ้าพลัง” เด็กคนแรกพูด

“ใช่ๆ หนูจินตนาการพวกนี้เป็นชาวนา ลุยดินลุยโคลนทำนาทั้งวันจนกล้ามใหญ่ วิ่งไล่ทุบหัวชาวบ้าน ไม่เห็นจะเท่ห์ตรงไหนเลย” เด็กคนที่สองกล่าว

“ถูกต้อง สู้พวกโอ๊ปป้าเกาหลีทรงผมแหลมๆเปรี้ยวๆก็ไม่ได้ ในละครน่ะพวกโอ๊ปป้าหุ่นสะแอ๋งทั้งหลายใช้ยอดวิชาเทควันโดถีบพวกล่ำๆล้มตายมากมาย ไม่เห็นจำเป็นต้องเล่นกล้ามให้เหนื่อยเลย ...แล้วรู้ไหมกังฟูจีนกับคาราเต้ญี่ปุ่นยังลอกแบบมาจากเทควันโดอีกด้วยนะ!” เด็กคนที่สามเสริมด้วยความกระตือรือร้น

คุณครูใจดีฟังแล้วเลือดขึ้นหน้า “ย๊าก ไอ้พวกเด็กเกรียน! จงรับไปเถิด ท่าไม้ตายที่สิบสาม เปลือกทุเรียนตบหน้า นางอิจฉาปากซอย!”



เกิดเปลือกทุเรียนจากไหนไม่รู้บินมาฟาดหน้าเด็กทั้งชั้นล้มระเนระนาด

“ทีนี้พวกแกเห็นความน่ากลัวของบรรพบุรุษไทยหรือยัง!?” คุณครูใจดีตวาด

“ครับ... ค่ะ...” พวกเด็กร้องครวญครางท่ามกลางกองเลือด

คุณครูใจดีหัวเราะจึงเล่าเรื่องการรุกรานของมองโกลให้พวกเด็กๆฟังต่อ...

...ตามตำนานนั้นเจงกีสข่านเคยกล่าวว่า...



ในตอนหน้าเราจะมาดูกันว่า...





ใต้หล้าจะเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ของชาวมองโกล...





...หรือชาวมองโกลจะมาเป็นตะพุ่นหญ้าช้างของชาวไทย?...



จาก http://pantip.com/topic/31726779

มีต่อ ..................................

มดเอ๊กซ:

...เรื่องที่ท่านอ่านนี้เป็นเรื่องของมหาสงครามครั้งหนึ่ง...



มันเป็นเรื่องของการต่อสู้ระหว่างคนสองฝ่าย

ฝ่ายหนึ่งมีจำนวนมาก มีความร่ำรวย มีสติปัญญาดี มีอาวุธที่ทันสมัย มีวัฒนธรรมที่รุ่งเรือง มีแสนยานุภาพอันเกรียงไกร...



อีกฝ่ายมีจำนวนน้อย ยากจน ป่าเถื่อน ...ไม่มีอะไรเลย ...เว้นแต่ความมุ่งมั่น...



...ทั้งสองฝ่ายแตกต่างกันมาก...



...แต่พวกเขาก็คล้ายกันมาก...



...ต่างถูกพัดพาไปในทิศทางเดียวกัน...



..ต่างรุ่งเรืองและพินาศด้วยสาเหตุเดียวกัน...



...ต่างต่อสู้เพื่อของอย่างเดียวกัน...

นั่นคือ “ชาติ”



...มันเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์นัก...

...มนต์วิเศษของมันบันดาลให้ผู้คนมีกำลังเรี่ยวแรง ต่อสู้ฝ่าฟันภยันตรายที่ไม่น่าจะสู้ได้ เสียสละแม้กระทั่งชีวิตของตน เพื่อก่อเกิดปาฏิหาริย์ พลังสร้างสรรค์สรรพสิ่งอันยอดเยี่ยมขึ้นบนโลก...



มันจะได้บันดาลให้มนุษย์รุ่งเรืองขึ้นถึงจุดถึงสูงสุด



และมันจะบันดาลให้มนุษย์เพลี่ยงพล้ำ...



...ท่านจะได้เห็นว่ามันดลให้เกิดความชั่วร้ายบ้าคลั่ง ทำให้คนดีกลายเป็นคนเลว ทำให้ความผิดกลายเป็นความถูกต้อง และนำไปสู่ความตกต่ำเสื่อมทราม...



...ผมมีคำถามหนึ่ง ...อยากให้หาคำตอบไปร่วมกันระหว่างอ่านเรื่องราวนี้

ชาติคืออะไร?

...ชาติคืออะไร?



:::  :::  :::

เรียนผู้อ่านทุกท่าน นี่เป็นสารคดีสงครามชุด The Wild Chronicles ตอน "อสุราอาหม" หากชื่นชอบสามารถกด Like เพจผมได้ที่ https://www.facebook.com/pongsorn.bhumiwat นะครับ





“โมกุล”

หากท่านเคยอ่าน The Wild Chronicles ชุด “เชือดเช็ดเชเชน” http://pantip.com/topic/31253996 ท่านอาจจะจำชื่อ “ติมูร์” ผู้นำมองโกลซึ่งมอบดาบแก่นักเล่านิทานชื่ออิลลันชา ทำให้ชาวเชเชนพ้นจากการสิ้นชาติได้


ติมูร์

ติมูร์นี้เป็นมหาราชมองโกลคนหนึ่ง ที่สืบเชื้อสายจากเจงกิสข่าน เขาได้แผ่อิทธิพลยึดครองดินแดนกว้างใหญ่ในเอเชียกลาง และตะวันออกกลาง โดยยึดเอาอิหร่านเป็นฐานสำคัญ ชาวมองโกลซึ่งสืบทอดต่อจากติมูร์ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอิหร่าน ก็เปลี่ยนชื่อตัวเองเป็นภาษาเปอร์เซีย แม้แต่คำว่า “มองโกล” ก็เพี้ยนตามภาษาเปอร์เซียไปเป็น “โมกุล” พวกเขากลายเป็นชนชาติใหม่ที่มีทั้งความสามารถในทางทหารของชาวมองโกล และอารยธรรมของเปอร์เซีย


ศิลปะโมกุล

ลุถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ลูกหลานของติมูร์ชื่อเหมือนช่างตัดผมชื่อบาเบอร์ ได้นำทัพบุกตีชมพูทวีป สามารถปราบพวกเติร์ก และมุสลิมกลุ่มอื่นๆลงอย่างราบคาบ สถาปนาราชวงศ์โมกุลขึ้นในอินเดีย ต่อมาทายาทของบาเบอร์ชื่ออักบาร์ขยายดินแดนออกไปอีก ใช้นโยบายให้ความยุติธรรมกับประชาชนทุกชาติทุกศาสนา ทำให้สามารถปกครองแผ่นดินอย่างสงบร่มเย็น กลายเป็นยุคทองของโมกุล


บาเบอร์

โมกุลเจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นชาติมหาอำนาจชาติหนึ่งของโลกยุคนั้น จนถึงรัชสมัยของชาห์จาฮันกษัตริย์ผู้มากรัก

ชาห์จาฮันมีมเหสีชื่อพระนางมุมตัสมาฮาล ซึ่งมีสิริโฉมงดงามจนกวีร่วมสมัยของนางยังสรรเสริญนางว่าสวยกว่าใครในแดนดิน ชาห์จาฮันทั้งรักทั้งหลงมเหสีคนนี้มาก ทั้งสองมีลูกกันถึง 14 คน


ชาห์จาฮัน และพระนางมุมตัสมาฮาล

เมื่อพระนางมุมตัสมาฮาลตายขณะคลอดลูกคนที่ 14 ชาห์จาฮันก็โศกเศร้าเสียใจมาก ไม่เป็นอันกินอันนอน ในที่สุดจึงตัดสินใจว่าจะแสดงความอาลัยให้โลกรู้ โดยสร้างอนุสรณ์ให้ชายาอย่างยิ่งใหญ่ ชนิดที่ว่า “หากคนบาปมาเห็นสิ่งนี้จะถูกความสวยงามทำให้พ้นบาปไปเลยทีเดียว!”

ชาห์จาฮันสร้างหลุมศพให้ชายา เป็นวิหารศิลปะโมกุล ทำด้วยหินอ่อน เพชร พลอย และหินมีค่ามากมาย ทำอย่างวิจิตรงดงามกว้างยาวด้านละ 100 เมตร สูง 60 เมตร พอสร้างเสร็จแล้วก็จับสถาปนิกใหญ่ฆ่า เพื่อไม่ให้สร้างอะไรสวยแบบนี้ได้อีก อนุสรณ์ดังกล่าวมีชื่อว่า “ทัชมาฮาล” กลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่และสวยงามที่สุดในโลกยุคนั้น และเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์เจ็ดอย่างของโลก


ทัชมาฮาล

ลูกคนที่หกของชาห์จาฮันและพระนางมุมตัสมาฮาลชื่อโอรังเซบ มีความแตกต่างจากบรรพชนโดยเป็นมุสลิมที่เคร่งครัด


โอรังเซบ

เขาเชื่อว่ามุสลิมที่ดีควรจะมีชีวิตที่สะอาด สมถะ ประหยัด แต่มองย้อนไปแล้วอดีตกษัตริย์โมกุลนั้นยิ่งเจริญก็ยิ่งอู้ฟู่ หลายคนเป็นอิสลามแต่ติดทั้งเหล้า ทั้งฝิ่น มีเมียเยอะ มักมากในกามคุณ พ่อของเขาเองยังเอาเงินประเทศไปสร้างหลุมศพให้แม่อย่างเวอร์ ทำให้ประเทศจนลง แทนที่จะเอาเงินไปทำสงครามขยายดินแดน อาณาจักรจะได้ยิ่งใหญ่ๆ


ความเหลวแหลกในสมัยโมกุล

พอถึงปลายรัชกาลชาห์จาฮันป่วยลง จึงแต่งตั้งลูกคนหนึ่งเป็นทายาท ลูกคนอื่นๆไม่ชอบก็ทำสงครามฆ่าฟันกันเอง โอรังเซบเป็นผู้ชนะจับพี่น้องฆ่าหมด แล้วจับพ่อขังจนตาย

เขาดำเนินนโยบายชำระล้างประเทศจากสิ่งของสกปรก โดยสั่งห้ามเหล้า ฝิ่น การเต้นรำ การเล่นดนตรี และอิสลามนิกายที่ไม่ชอบ นอกจากนั้นยังทำลายวัดวาอารามของศาสนาอื่น จับนักบวชฆ่า บังคับให้ประชาชนที่ไม่ใช่อิสลามเสียภาษีอย่างหนักเพื่อบีบคั้นให้เปลี่ยนศาสนา (ได้ยินว่าประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้นับถืออิสลาม)


สมัยเป็นเจ้าชาย โอรังเซบเคยแสดงความสามารถปราบพญาช้างตกมันที่อาละวาดล่วงมาถึงค่ายกษัตริย์ โดยเอาหอกแทงงวงจนช้างสิ้นฤทธิ์

แม้มองด้านนี้โอรังเซบจะดูชั่วร้าย แต่อีกด้านหนึ่งเขามีความน่านับถือในการแบ่งแยกท้องพระคลังหลวงกับสมบัติของตัวเองอย่างเด็ดขาด ไม่ใช่เงินหลวงมาเพื่อความสบายส่วนตัว โอรังเซบหาเลี้ยงชีพโดยการเย็บหมวกกับคัดลอกคัมภีร์อัลกุรอานขาย มีชีวิตอย่างสมถะตลอดรัชกาล

นอกจากนั้นโอรังเซบยังเป็นผู้มีความสามารถในการรบ ในยุคของเขาโมกุลรับเทคโนโลยีอาวุธจากตะวันตกมาพัฒนา จนกลายเป็นมหาอำนาจทางทหาร โอรังเซบขยายดินแดนทั่วทิศ สร้างโมกุลเป็นประเทศที่กว้างใหญ่และมีอิทธิพลมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก


อาณาจักรโมกุลยุคโอรังเซบ

อานุภาพของโอรังเซบนั้นอาจเห็นจาก ครั้งหนึ่งทัพโมกุลเคยพิพาทกับอังกฤษ สามารถรบชนะ อังกฤษต้องส่งคนมาขอโทษ และจ่ายบรรณาการให้


อังกฤษยอมแพ้โมกุล

เมื่อโอรังเซบมีอำนาจมากเข้า เขาก็เริ่มมองหาการขยายอำนาจไปยังดินแดนแปลกๆที่ไม่เคยลองอย่างจริงจังมาก่อน



อาหมเสียเมือง

ในการเขียนเรื่องอาหมต่อไปผมอยากชี้แจงในเรื่อง “ชื่อ” คือในช่วงนี้อาหมได้รับอิทธิพลของอินเดียมากขึ้น จึงมีการตั้งชื่อบุคคลเป็นภาษาอินเดีย เหมือนกับคนประเทศไทยปัจจุบันที่มาจากหลากเชื้อสายทั้งฝรั่ง จีน เขมร แต่ล้วนใช้ชื่อจริงเป็นภาษาอินเดียทั้งสิ้น

สำหรับชื่ออาหมที่เคยมาก่อนนั้นมักจะถูกบวชเป็นภาษาอินเดียสำเนียงอัสสัม เช่นตำแหน่ง “เจ้าเฒ่าหลวง” นั้นแปลงเป็น “บาร์โคหาย” “เจ้ากว้างเมือง” แปลงเป็น “บุรหาโคหาย” และ “เจ้าแสนหลวง” แปลงเป็น “บาร์ปาตราโคหาย” (บาร์ คือ บรม ส่วน โคหาย อาจจะมาจากคำว่า คำแหง)

นอกจากนั้นชื่อกษัตริย์ก็มีการบวชเรียกกันเป็นแบบแขก เช่น “เสือปาดฟ้า” บวชชื่อเป็น “คธาธรสิงห์” (ปาดแปลว่าไม้พลองก็คือคธา) “เสือคลั่งฟ้า” บวชชื่อเป็น “รุทรสิงห์” (คลั่งแปลคลั่ง รุทรแปลว่าคลุ้มคลั่งดุร้าย) ในที่นี้พวกชื่อตำแหน่งผมจะเรียกแบบไทย เพราะเคยใช้มาแต่กระทู้ก่อนจะได้ไม่งง ส่วนชื่อกษัตริย์ผมจะเรียกแบบอินเดีย เพราะหลังๆเขาใช้แบบนี้กันมากกว่านะครับ

อาหมเริ่มมีปัญหากับโมกุลในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 เมื่อดินแดนระหว่างอาหมกับโมกุลนั้นมีอาณาจักรเกิดใหม่ชื่ออาณาจักรกอช เป็นลูกผสมพม่าทิเบต กับอารยันอินเดีย

...ตัวเลือกหนึ่งที่เด่นขึ้นมาคือดินแดนอัสสัมของพวกอาหมนั่นเอง...


วีรบุรุษกอชชื่อจิลาไรเคยเอาชนะอาหมได้

อาณาจักรกอชรุ่งเรืองอยู่ไม่นานก็เกิดการแตกแยกเป็นสองฝ่าย เรียกว่ากอชพิหาร กับกอชฮาโช กอชพิหารนั้นเข้าสวามิภักดิ์โมกุล ขอกำลังมาตีกอชฮาโช ส่วนกอชฮาโชสวามิภักดิ์อาหม ขอกำลังมาตีกอชพิหาร โมกุลกับอาหมจึงมีการกระทบกระทั่งกันอยู่เรื่อยๆ

ปี 1658 กษัตริย์อาหมยุคนั้นชื่อเสือตำลา หรือชัยธวัชสิงห์เห็นชาห์จาร์ฮันป่วย บ้านเมืองโมกุลไม่เรียบร้อยจึงฉวยโอกาสยกทัพตีกอช แล้วถือโอกาสขับไล่ราชวงศ์กอชออกจากแคว้น เป็นรางวัลของการทะเลาะเบาะแว้งกันเองแล้วหวังว่าคนนอกจะมาช่วยด้วยความจริงใจ

อาหมปกครองแคว้นกอชอยู่ไม่กี่ปี โอรังเซบก็จัดการปราบแผ่นดินจนสงบราบคาบ จึงเริ่มมองการขยายอำนาจไปอาหม

แม่ทัพที่โอรังเซบส่งมาทำการนี้ชื่อมีรชุมลา แต่เดิมเขาเป็นเพียงลูกพ่อค้าขายน้ำมันจนๆ ต่อมาทำธุรกิจจนร่ำรวย และกลายเป็นขุนนางคนสำคัญ ในศึกชิงบัลลังค์นั้นโอรังเซบเคยมอบหมายให้มีรชุมลารบกับทัพพี่ชายของเขา มีรชุมลาสามารถเอาชนะขับไล่พี่ชายโอรังเซบไปได้ ทำให้โอรังเซบโปรดปรานมาก


มีรชุมลา

ทัพโมกุลครั้งนี้เป็นทัพใหญ่ มีเรือปืนที่ทันสมัยควบคุมด้วยกัปตันชาวโปรตุเกส พอมีรชุมลาออกคำสั่ง เรือปืนก็ยิงถล่มด้วยอานุภาพรุนแรงอย่างที่ฝ่ายไทยไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้พวกเขาต้องแตกพ่ายกระจัดกระจาย


เรือรบโมกุล

มีรชุมลาได้แคว้นกอชแล้วก็รุกเข้าแดนอาหมอย่างรวดเร็ว พบการต่อต้านที่ใดก็ใช้ปืนยิงถล่มจนราบคาบ อาหมไม่อาจต้านทานได้ ในที่สุดชัยธวัชสิงห์เห็นว่าหากสู้ตรงๆคงแพ้แน่ จึงอพยพผู้คนหนีเข้าป่า ทิ้งเมืองหลวงยุคนั้นคือกรุงกาหะกอนให้มีรชุมลาเข้ายึดโดยแทบไม่เสียแรง

...ในลักษณะนี้ พวกอาหมที่เคยต่อสู้อย่างสาหัส พิชิตทั้งพวกนาค โมราน บาราฮี กะจารี กามตะ ชุติยา จนถึงเติร์ก แต่พอเจอเทคโนโลยีที่เหนือกว่าจริงๆ ก็พ่ายแพ้ถึงเสียเมืองหลวงไปโดยง่าย...


มีต่อ.............

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

ตอบ

Go to full version