ผู้เขียน หัวข้อ: เซียนสู พรหมเชยธีระ ผู้ทรงฌานสมาบัติชั้นสูง ศิษย์หลวงปู่เชย  (อ่าน 5098 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
<a href="https://www.youtube.com/v/-yt-VQOvqdI" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/-yt-VQOvqdI</a>



การปฏิบัติธรรมของ อาจารย์สู พรหมเชยธีระ

เตี่ยสนใจในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ตอนหนุ่ม ๆ โดยได้ออกจากบ้านมาท่องเที่ยวหาความรู้ตามสำนักเต๋า ขงจื๊อ และพุทธ โดยเฉพาะได้สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนิกานลุกจง (นิกายพระวินัย) และนิกายเซี่ยงจง (นิกายฌาน หรือ นิกายเซน) จากพระอาจารย์ผู้มีชื่อเสียง ๒ ท่าน แห่งนิกายลุกจงและนิกายเซี่ยงจง เตี่ยมีความเลื่อมใสเป็นอย่างมากในคำสอนของท่านเว่ยหล่าง พระสังฆปรินายกองค์ที่ ๖ แห่งนิกายเซน และได้ใช้คำสอนของท่านเป็นแนวทางในการปฏิบัติธรรมและอบรมสั่งสอนธรรมให้แก่ผู้อื่นเสมอมา เมื่อเตี่ยเข้ามาอยู่ในเมืองไทยก็มีความสนใจไปเรียนกัมมัฏฐานตามสำนักต่าง ๆ ในที่สุดก็ต้องมาศึกษาและปฏิบัติด้วยตนเอง เพราะเมื่อไปถามจากอาจารย์ต่าง ๆ ที่สอนอยู่


ก็ได้คำตอบที่ไม่สามารถให้ความกระจ่างได้ และรู้สึกว่า อาจารย์ผู้สอนเองก็ยังไม่รู้แจ้งเห็นจริงตามที่พูด เตี่ยต้องค่อย ๆ คลำหาหนทางปฏิบัติเอาเองไปทีละขั้น ตอนไหนที่รู้สึกว่าผิดทางก็กลับไปเริ่มต้นใหม่ ทำให้เสียเวลาไปมาก เตี่ยได้ลองปฏิบัติกัมมัฏฐานตามวิธีต่าง ๆ เพื่อหาหนทางที่ถูกต้อง ที่จะทำให้เกิดการรู้แจ้งเห็นจริง และหาวิธีที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง (แม้นกระทั่งในภายหลัง เตี่ยได้เรียนอานาปานสติจากหลวงพ่อเชย เตี่ยก็ยังต้องค่อย ๆ คลำไปเอง เพราะหลวงก๋งเพียงแต่บอกวิธีขึ้นต้นให้ และให้เตี่ยไปฝึกเอาเอง เมื่อรู้สึกว่าเตี่ยชักจะปฏิบัติผิดทาง ท่านก็จะเตือน เตี่ยก็ต้องย้อนกลับไปตั้งต้นปฏิบัติใหม่ เพื่อหาหนทางที่ถูกต้อง โดยที่หลวงก๋งจะไม่บอกให้เตี่ยก่อนเลย)


ด้วยเหตุนี้ เตี่ยจึงมีความเข้าใจในการปฏิบัติกัมมัฏฐานวิธีต่าง ๆ อย่างละเอียดลึกซึ้งทุกขั้นตอน
ในที่สุด เตี่ยได้เลือกใช้วิธีภาวนา โดยภาวนาคาถา “งานมานีปะมีฮง” คาถาหกคำนี้ เตี่ยบอกว่า หมายถึง อายตนะหก คือเราใช้ภาวนาเพื่อควบคุมอายตนะหก ไม่ให้มีหวั่นไหว กระทบกระเทือน การภาวนาทำให้ใจไม่ฟุ้งซ่าน และมีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา เตี่ยพยายามฝึกภาวนา ไม่ให้ขาดตอน แรก ๆ รู้สึกว่ายากมาก พอพูดเข้าคำหนึ่ง หรือตักข้าวใส่ปากทีหนึ่งก็ลืมภาวนาเสียแล้ว กว่าจะรู้ตัวว่าลืมภาวนา บางทีผ่านไปวันหนึ่งแล้ว เตี่ยเล่าว่า การภาวนาให้มีสติอยู่ตลอดเวลานั้น จะต้องต่อสู้กับใจของเราไม่ให้หวั่นไหวไปตามเรื่องราวต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบ รวมทั้งอารมณ์และความนึกคิดปรุงแต่งต่างๆ ที่คอยจะชักจูงใจให้ลืมตัว เพลินตามกับสิ่งเหล่านั้นไป เมื่อที่ฝึกอย่างนี้ทำให้รู้เท่าทันอารมณ์ต่าง ๆ อย่างเช่น อารมณ์โกรธ ตอนแรกโกรธแล้วถึงรู้ตัวว่าโกรธ แต่ก็พยายามต่อต้านมันไว้ ไม่ให้โกรธต่อไป จนวันหนึ่งรู้ขึ้นมาว่า มันเกิดขึ้นมาอย่างไร เวลาเราดีใจอยู่ มันไปซ่อนอยู่ที่ไหน และเมื่อเราโกรธ ที่เราดีใจนั้นหายไปอยู่ไหน ทีนี้พอมีอะไรมากระทบใจช่วงที่มันเหมือน ๆ กับจะเกิด จะเกิดไม่เกิดตอนนั้นรู้ทันทีกับมัน ต่อต้านมันไว้ มันก็ไม่มีอะไรจะให้เราโกรธอีก

ต่อมาเตี่ยเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า หลับเป็นอย่างไร ทำไมจึงภาวนาได้เฉพาะเวลาตื่น ส่วนเวลาหลับภาวนาไม่ได้ เตี่ยจึงพยายามจะเอาชนะหลับโดยใช้วิธีนอนภาวนา ได้รู้ว่า ที่เราหลับไปเพราะเราขาดสติ สังเกตจากตอนที่เราหลับนั้น เราจะไม่รู้ว่าหลับไปตั้งแต่เมื่อไหร่ และหลับไปได้อย่างไร แรก ๆ เตี่ยก็ขาดสติ แพ้เจ้าตัวหลับ พอฝึกนาน ๆ เข้า ชักรู้ทาง ก็พยายามตั้งสติเกี่ยง จนในที่สุดก็สามารถเอาชนะหลับได้ เตี่ยเล่าว่า ตอนแรก ๆ ใจก็สงบเพราะภาวนาอยู่ พอประเดี๋ยวจะหลับ มันวูบเข้ามา ใจก็ดิ้นไปดิ้นมา พอตั้งสติอยู่ ใจก็สงบ พอครั้งที่สอง มันก็มาอีก ก็เหมือนเดิม ทีนี้พอครั้งสุดท้าย หนักกว่าเดิม ง่วงก็ง่วง แต่ใจก็ยังภาวนาอยู่ พอมันวูบเข้ามา จะเอาให้หลับให้ได้ เราก็ยิ่งภาวนา ใจก็ดิ้นไปดิ้นมาอยู่พักหนึ่ง จนในที่สุด ใจกับกายก็แยกออกจากกัน ใจก็คงภาวนาต่อไปเรื่อย ๆ ไม่มีดิ้นไปดิ้นมาแล้ว ส่วนกายก็หลับไปตามธรรมชาติ จนรุ่งเช้าตื่นขึ้น ไม่มีเพลียเลย กลับสดชื่นแจ่มใสกว่าเดิมด้วยซ้ำไป อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าชนะหลับ เตี่ยบอกว่า นักปฏิบัติจะต้องผ่านตรงนี้ เกี่ยงให้ชนะหลับให้ได้ แล้วถึงจะรู้ว่า ร่างกายที่เงียบ เงียบด้วยอย่างนี้ จิตใจอารมณ์ที่เงียบแล้ว ก็เงียบอยู่อย่างนี้ ได้รู้ว่า กายเที่ยง ใจเที่ยงเป็นอย่างไร ต่อไปก็ค่อย ๆ ฝึกเงียบอย่างนี้ ทีหนึ่งให้ได้ครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมง หรือสองชั่วโมง



จากนั้นเตี่ยก็ฝึกต่อไป โดยใช้วิธีตามแบบของนิกายเซน ที่ให้พิจารณาว่า “ใครคิด ใครเห็น ใครได้ยิน” เมื่อเข้าที่เงียบอยู่ เตี่ยก็จะพิจารณาว่า เราเองคือใคร ใครนี่ที่รู้ ใครเป็นคนเห็น ใครเป็นคนคิด ใครเป็นคนภาวนา เตี่ยเล่าว่า ทีแรกพิจารณา ชี้ไปที่หัว ก็เรียกว่าหัว ชี้มือ ชี้ตีน ก็เรียกว่ามือ ว่าตีน ไม่มีชิ้นเล็กชิ้นน้อยตรงไหน ที่เรียกว่า “กูเอง” พอพิจารณาถึงตรงนี้ก็ตกใจ หากูเองต่อไปอีก คิดว่า ใจของกูรู้ ใจของกูเห็น ใจบางครั้งบางคราวยังจะคิดอย่างนั้น คิดอย่างนี้ ใจก็เป็นโกหก ใจก็ยังไม่ใช่ อย่างนี้ วิญญาณของกูเห็น วิญญาณก็อนัตตา ก็ไม่ใช่อีก คิดว่าปัญญาของกูเห็น ปัญญาก็อนัตตา อย่างนี้ก็ไม่ใช่ อย่างนั้นก็ไม่ใช่ ไม่รู้ว่าใครเห็นกับใคร ใครรู้กับใคร เกิดสติคิดขึ้นมา หัดมาตั้งนมตั้งนานอย่างนี้แล้วยังไม่รู้เรื่องเลย


ทีนี้ก็เลยหันมาพิจารณาอยู่ตลอดเวลาว่า ใครทำปาท่องโก๋ ใครทำขนมปัง ใครนั่งสมาธิ ใครเข้าที่ พิจารณาอยู่อย่างนี้ ไม่ช้าไม่เร็วได้ ๑๗ ปี เกิดวันหนึ่งกำลังจะนอนเกิดรู้ขึ้นมา รู้สึกเหมือนตัวได้แยกออกจากร่างไปและลอยอยู่ในสูญญากาศ มีความเบาและสงบอย่างบอกไม่ถูก ทำให้มองเห็นว่าโลกเราถูกถ่วงอยู่ด้วยแรงดึงดูดฉันใด มนุษย์เราก็ถูกถ่วงอยู่ด้วยกิเลสฉันนั้น หากปลดเปลื้องตนเองจากความนึกคิดปรุงแต่ง ระหว่างนั้นก็จะได้พบกับหน้าตาดั้งเดิมของเรา ตอนนี้เตี่ยดีใจจนร้องไห้ ยกมือขึ้นไหว้ว่า “สาธุพุทธะ สาธุโพธิสัตว์ สาธุครูบาอาจารย์ สาธุพ่อแม่” เตี่ยบอกว่า ดีใจที่ได้เห็นทาง เรียกว่า เรียนปฏิบัติได้เริ่ม ก. ไก่ ข. ไข่ กับเขาบ้างแล้ว เมื่อลูก ๆ ถามว่าถึงขั้นนี้แล้วยังไม่เรียกว่าสำเร็จอีกหรือ ทำไมเรียกว่าเพิ่งพบต้นทางเท่านั้น เตี่ยบอกว่าเพิ่งพบต้นทางเพราะเพิ่งพบเครื่องมือที่จะใช้มาล้างผลาญกิเลสให้หมดสิ้นไปเท่านั้น กิเลสหมดเมื่อไหร่ ถึงจะเรียกว่าสำเร็จ
เมื่อเตี่ยถวายตัวเป็นลูกศิษย์ของหลวงก๋ง ได้เรียนการเล่นลม เตี่ยบอกว่าเป็นวิธีที่ละเอียดลึกซึ้งมาก แต่ผู้ฝึกจะต้องใช้ความพยายามและความอดทนอย่างมาก ซึ่งก็มีจุดหมายปลายทางอย่างเดียวกัน คือใช้มาล้างผลาญกิเลส

เมื่อเตี่ยบวช ได้ขึ้นไปบำเพ็ญธรรมอยู่บนเขา เพราะไม่คุ้นที่จะอยู่วัดและต้องการที่สงบ ๆ ในการปฏิบัติ สำหรับบทสวดต่าง ๆ ของพระนั้น เตี่ยปรารภว่า น่าจะใช้ภาษาไทยให้เหมาะสมกับที่อยู่ในประเทศไทย เพื่อที่คนไทยฟังแล้วจะได้รู้และเข้าใจด้วย ไม่อย่างนั้น พระสวดไปก็เท่ากับไม่มีความหมายอะไร นอกจากทำไปตามประเพณีเท่านั้น การจะได้บุญหรือไม่นั้นขึ้นอยู่ที่ใจ เมื่อที่ฟังพระสวดแล้วเข้าใจ สามารถนำไปปฏิบัติดัดสันดานตนเองได้จึงจะเรียกว่าได้บุญ นอกจากนี้เตี่ยยังได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับพระบางรูปที่ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เอาแต่สะสมทรัพย์ หมกมุ่นอยู่ในทางโลก ละเลยทางธรรม เตี่ยบอกว่า การที่พระพุทธเจ้าบัญญัติให้พระโกนผมโกนคิ้วทิ้งก็เพื่อให้โกนกิเลสทิ้งไปด้วย ไม่ใช่มาพอกพูนกิเลสให้มากขึ้น ทุกครั้งที่โกนผมโกนคิ้ว ก็ควรจะถามตนเองว่า ได้โกนกิเลสให้เบาบางลงบ้างหรือยัง และการที่ชาวบ้านต้องลำบากในการเอาอาหารและข้าวมาถวายพระนั้น ถ้าพระปฏิบัติไม่ดี ก็เท่ากับกินถ่านไฟที่กำลังลุกไหม้ เมื่อออกบิณฑบาต ก็ไม่เรียกว่าออกไปโปรดสัตว์ น่าจะเรียกว่าออกไปขอทานมากกว่า ซึ่งพระเหล่านี้จะต้องชดใช้อาหารที่ชาวบ้านให้ในภายหลัง เตี่ยยังได้เล่านิทานเรื่องหนึ่งเพื่อเป็นคติสอนใจในเรื่องนี้ว่า ในครั้งที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน พวกมารก็พากันมาแสดงความร่าเริงยินดีว่า เมื่อสิ้นพระองค์แล้ว ศาสนาของพระองค์ก็จะเสื่อมลง ผู้คนก็จะมาเป็นพวกมารมากขึ้น พระพุทธเจ้าก็ทรงบอกกับพวกมารว่า ถึงแม้นพระองค์จะปรินิพพานไปแล้ว ก็ยังมีพระธรรมที่เป็นเหมือนตัวแทนของพระองค์อยู่และไม่มีวันที่จะสูญสิ้นไปได้ แต่พวกมารกลับแย้งว่า ถ้าพวกมารพากันไปแต่งเครื่องแบบอย่างพระพุทธเจ้าแล้วไม่ทำตามคำสอนของพระองค์ เท่านี้ศาสนาของพระองค์ก็จะเสื่อมลงไปทุกวัน ๆ เมื่อพวกมารกล่าวเช่นนี้ พระพุทธเจ้าก็ทรงนิ่งอึ้ง ไม่สามารถที่จะโต้แย้งได้

เตี่ยเองก็ยังเคยพูดว่า อีกหน่อยศาสนาพุทธจะไปเจริญทางตะวันตก เพราะชาวตะวันตกจะหันมาศึกษาหลักธรรมในศาสนาพุทธและนำไปปฏิบัติตามอย่างจริงจัง ส่วนเมืองไทยศาสนาพุทธก็จะเสื่อมลงไปทุกทีเหลือแต่โครง เตี่ยเล่าว่า ในสมัยก่อนนั้น พระที่เพิ่งบวชก็สามารถสำเร็จโสดาบันได้แล้ว เพราะตามวิธีการที่บวชกันมีอยู่ตอนหนึ่งกล่าวถึงอาการ ๓๒ และกัมมัฏฐาน ๕ ซึ่งกล่าวไว้เผื่อว่าผู้บวชจะมีสติปลงตกว่า นี่ไม่ใช่ตัวกู มีแต่อาการ ๓๒ เมื่อที่เกิดปัญหาเห็นต้นทางอย่างนี้แล้ว ก็เรียกว่าได้โสดามรรค สมัยนี้ส่วนใหญ่บวชกันมะเทิ่ง ๆ ไม่เห็นได้เรื่องเลย นอกจากนี้เตี่ยยังอธิบายอีกว่า ศีลข้อที่หนึ่ง ทำไมจะต้องห้ามฆ่าสัตว์ก่อน เพราะพระพุทธเจ้าท่านเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า มนุษย์มีนิสัยอย่างหนึ่งติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดโดยไม่รู้สึกตัว ซึ่งจะเห็นได้จาก เมื่อเวลารถชนกัน มีคนตาย ไม่มีอะไรน่าดู ก็ขอให้เข้าไปมองดูหน่อยก็ยังดี เรายังมีชอบดูสัตว์แข่งขันกันบ้าง ฆ่ากัน ต่อสู้กันบ้าง ชอบดูคนต่อสู้กันบ้าง ถ้ารบกัน ตีตั๋วไปดูได้และมีการรับรองความปลอดภัย สงสัยคนจะแห่กันไปดูยิ่งกว่าไปดูหนังกันเสียอีก นิสัยอันนี้เกิดจากเมื่อตอนที่ผู้หญิงกับผู้ชายแต่งงานกัน ตอนจะมีลูก ไข่ของผู้หญิงต้องผสมกับน้ำอสุจิของผู้ชาย ในน้ำอสุจิของผู้ชาย กว่าที่จะผสมกับไข่ได้ ในนั้นมันก็ไม่รู้ไม่ชี้ ฆ่ากันเองอยู่ ฆ่าแล้วเหลือตัวหนึ่ง ออกมาเป็นคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย คนนั้นเรียกว่าชนะมาแล้วถึงได้เกิด พระพุทธเจ้าท่านเข้าใจข้อนี้ จึงห้ามฆ่าสัตว์ไว้เป็นศีลข้อหนึ่ง


เมื่อเตี่ยบวช ถึงแม้นว่าเตี่ยจะไม่สามารถอ่านภาษาไทยได้ แต่ก็มีความเข้าใจในหลักธรรมอย่างลึกซึ้ง ได้นำมาสั่งสอนลูก ๆ และผู้ที่สนใจอย่างละเอียด แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า ลูก ๆ ได้ช่วยกันอ้อนวอนขอร้องให้เตี่ยสึกมา เพราเห็นว่าเตี่ยอายุมากแล้ว ไม่อยากให้ลำบากไปอยู่บนเขาคนเดียว
ก่อนที่เตี่ยจะจากไปไม่นานได้พูดให้ลูก ๆ ฟังว่าเมื่อปฏิบัติมาถึงขั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นภาวะที่ยากที่จะอธิบาย จีนเรียกว่า “ฮุยเสียฮุย ฮุยเสี่ยเทียน” แปลได้ว่า ที่ไม่คิดนั้นก็ยังไม่ใช่สวรรค์ เมื่อนักปฏิบัติมาถึงขั้นนี้แล้วจะหยุดอีก ไม่รู้จะไปอย่างไรต่อ พระพุทธเจ้าถึงกล่าวคำหนึ่งว่า “ญาณขั้นสุดท้าย นักปฏิบัติให้รู้เอง” เตี่ยมาถึงตรงนี้แล้วหยุดอีกเป็นเวลาสิบปีกว่า เพราะไม่มีใครจะบอกได้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป สุดท้ายเตี่ยบอกว่า ต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้ว่า ใครเล่าที่ยังมีอารมณ์อันนี้อยู่ เหมือนอย่างที่เว่ยหล่างพูดคำหนึ่งว่า “เอ้งบ่อส่อจู๋ ยื่อแซขี่ซิม” หมายความว่า เมื่อไม่มียึดเหนี่ยวเกาะเกี่ยวจึงจะบังเกิดใจ เมื่อที่ไม่มีตัวกู อวิชชาก็จะหมด อันนี้แหละจึงจะเปิดประตูเข้าไปได้

การปฏิบัติธรรมของเตี่ยนี้รวบรวมขึ้นจากคำพูดของเตี่ยที่สอนลูกในเวลาต่าง ๆ นำมาปะติดปะต่อกันโดยไม่พยายามเปลี่ยนคำพูดของเตี่ย เพราะลูก ๆ เองก็ยังไม่ค่อยเข้าใจในธรรมะที่เตี่ยสอนดีนัก เกรงว่าจะทำให้ผิดใจความสำคัญไป ลูก ๆ ไม่ทราบว่าเตี่ยปฏิบัติธรรมได้ถึงเพียงใดแล้ว แต่ก็แน่ใจอยู่อย่างหนึ่งว่า เตี่ยมิได้จากไปอย่างคนธรรมดา สิ่งที่เราท่านทั้งหลายเห็นว่านอนหมดลมหายใจอยู่นั้น เป็นเพียงแต่ร่างกายที่เมื่อหมดเหตุปัจจัยปรุงแต่ง ก็กลับคืนไปสู่ดิน น้ำ ลม ไป ตามสภาพเดิมต่อไป



อาจารย์สู พรหมเชยธีระ เกิดในบ้านตระกูลชื้อ ที่ตำบลโปชั้งเฮี้ยว อำเภอเก็กเอี๊ยว จังหวัดแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เมื่อปีมะแม เดือนสี่ วันที่สิบสองของจีน ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๔๕๐ มีชื่อเดิมว่า สูเชียง แซ่ชื้อ
อาจารย์สู ได้จากบ้านเดิมมาเมื่อยังหนุ่ม เพื่อแสวงหาความรู้ทางธรรมและหมอโบราณตามสำนักเต๋าขงจื๊อและศาสนาพุทธ จากประเทศจีนได้เดินทางต่อมาในอินโดจีน ท่องเที่ยวหาความรู้ไปในประเทศเวียตนามและเขมร สุดท้ายได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเมื่ออายุได้ ๒๑ ปี โดยใช้ชื่อว่า นายเสียง แซ่ชื้อ ได้มาพำนักที่วัดจีนแห่งหนึ่งในจังหวัดฉะเชิงเทรา ต่อมาได้บวชเป็นเณร มีฉายาว่า “เสี่ยงลก” ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการสวดมนต์ ภาวนา มานานนักได้ย้ายมาอยู่ที่วัดเซียนฮุดยี่ จังหวัดชลบุรี

เมื่อมาอยู่เมืองไทยได้ ๓ ปี ก็เดินทางไปสิงคโปร์และสึกที่นั่น ท่องเที่ยวอยู่พักหนึ่ง ก็เดินทางกลับประเทศจีน อยู่ได้เดือนกว่า ก็เดินทางกลับมาเมืองไทยอีก โดยมอบสมบัติทั้งหมดให้น้องชายช่วยดูแลแม่ให้ดี เมื่อเข้ามาอยู่ในเมืองไทย ได้ไปทำงานอยู่กับคนขายก๋วยเตี๋ยวที่หัวหิน ได้ค่าจ้างเดือนละ ๑๕ บาท พอเก็บเงินได้ ๕๐ บาท ก็เข้าหุ้นกับคนจีนไหหลำคนหนึ่ง ทำขนมปังขาย โดยในขณะเดียวกัน ก็รับจ้างทำงานกับคนขายก๋วยเตี๋ยวไปด้วย ทำงานอยู่หัวหินได้ ๖ – ๗ เดือน ก็มอบกิจการทำขนมปังให้เพื่อนร่วมงานทั้งหมด แล้วเดินทางมาจังหวัดชลบุรี และอยู่ที่นี่ จวบจนบั้นปลายของชีวิต ท่านอาจารย์ได้ประกอบอาชีพทอดปาท่องโก๋และขายขนปังเป็นอาชีพหลัก ในบางครั้ง ก็เดินทางไปค้าขายตามภาคเหนือ แถวจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก



เมื่ออายุประมาณ ๓๔ ปี ได้แต่งงานกับ นางสาวสุนันท์ บุญประเวศ มีบุตร-ธิดา ทั้งหมด ๖ คน คือ
๑.      นางฉวีวรรณ จงรุ่งเรือง
๒.      นายอรรณพ พรหมเชยธีระ
๓.      นายอภิชาติ พรหมเชยธีระ
๔.      นางกาญจนา ยงศ์สิริกุล
๕.      นางสาวมาลินี พรหมเชยธีระ
๖.      เด็กหญิงฐิติมา พรหมเชยธีระ
นับแต่ท่านอาจารย์แต่งงาน ก็ได้ภรรยามาช่วยเหลือในการประกอบอาชีพ และแบ่งเบาภาระในบ้าน ทำให้ท่านอาจารย์มีเวลาในการฝึกกัมมัฏฐาน และสงเคราะห์ผู้อื่น นับว่าภรรยาท่านอาจารย์เป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยให้ท่านอาจารย์ได้ปฏิบัติกัมมัฏฐานและบำเพ็ญบารมีตามที่ท่านมุ่งหวัง
เมื่อท่านอาจารย์อายุได้ ๔๑ ปี ได้พบหลวงพ่อเชย และได้ถวายตัวเป็นลูกศิษย์เรียนกัมมัฏฐาน ต่อมาเมื่อท่านอาจารย์อายุได้ราว ๔๔ ปี ก็เริ่มปฏิบัติกัมมัฏฐานอย่างจริงจัง โดยการแยกที่นอนกับภรรยาของท่านอย่างเด็ดขาด เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ ตอนนั้นภรรยาของท่านเพิ่งตั้งครรภ์ลูกคนสุดท้องได้ราว ๓ เดือน ซึ่งจากนั้นท่านอาจารย์ก็แต่งชุดขาวตลอดมา

เมื่อท่านอาจารย์อายุได้ประมาณ ๕๐ ปี หลังจากหลวงพ่อเชยมรณภาพไม่นานนัก ท่านอาจารย์และครอบครัวได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านที่สร้างขึ้นใหม่ในที่ดินที่เช่าจากวัดกำแพง และได้เลิกประกอบอาชีพทำขนมปัง ท่านอาจารย์ได้เริ่มให้การรักษาโรคแก่คนทั่วไปตามแบบตำรายาจีน ซึ่งถ่ายทอดมาจากต้นตระกูลของท่านที่เมืองจีน และท่านได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอีกด้วยตนเอง ท่านอาจารย์จะเขียนตั๋วยาให้ผู้ป่วยแต่ละคนที่มาขอรับการรักษา ไปซื้อยาต้มกินเอาเอง นอกจากนี้ท่านอาจารย์ยังได้สอนธรรมะ และวิธีการปฏิบัติกัมมัฏฐานให้แก่ผู้ที่สนใจมาซักถามทั้งยังให้คำแนะนำช่วยเหลือแก่ผู้ที่มีเรื่องเดือดร้อนมาปรึกษาท่านด้วยวิธีการที่แยบยลไม่ซ้ำแบบใคร นับเป็นที่พึ่งอันเอกอุของลูกๆ และบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย



ในปี ๒๕๑๔ ท่านอาจารย์ได้อุปสมบทตามปณิธานสุดท้ายที่ท่านตั้งไว้ เมื่อเห็นว่าได้ทำหน้าที่ทุกอย่างสมบูรณ์แล้ว และได้ขึ้นไปบำเพ็ญธรรมอยู่บนเขาปากแรด จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ที่หลวงพ่อเชยได้บำเพ็ญธรรมอยู่จนมรณภาพ ไม่นานนักท่านอาจารย์ก็ป่วยเป็นมาเลเรียอย่างร้ายแรง ถึงขั้นขึ้นสมองต้องลงมารักษาอยู่ที่บ้าน เมื่อหายดีแล้วก็กลับขึ้นไปอยู่บนเขาอีก ท่านอาจารย์บวชอยู่ได้ ๑ พรรษาก็ต้องสึก เพราะลูก ๆ และบรรดาศิษย์ ช่วยกันอ้อนวอนขอร้อง เนื่องจากเห็นว่าท่านมีอายุมากแล้ว ไม่อยากให้ท่านไปลำบากอยู่คนเดียวและก็กลัวว่าท่านจะกลับเป็นมาเลเรียอีก

ในบั้นปลายของชีวิต ท่านอาจารย์ได้ใช้เวลาอบรมสั่งสอนลูกหลานและศิษย์ทั้งทางโลกและทางธรรม ท่านได้สงเคราะห์ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่นด้วยดีเสมอมา โดยไม่ต้องการทั้งชื่อเสียงเกียรติยศและอามิสใด ๆ ท่านปฏิบัติเช่นนี้อย่างสม่ำเสมอ แม้นกระทั่งในวันสุดท้ายที่ท่านจากไป

ท่านอาจารย์จากไปด้วยอาการอันสงบ อย่างนักปฏิบัติ เมื่อเวลาประมาณ ๒๐.๔๕ น. ในวันอังคารที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒ ในขณะที่ท่านกำลังนั่งสมาธิอยู่ที่หน้ารูปจำลองของหลวงพ่อเชยในบ้านของท่าน นับเป็นการจากไปอย่างปัจจุบันทันด่วนสำหรับลูกหลาน เนื่องจากไม่มีอาการของโรคใดปรากฏเป็นสัญญาณให้ทราบก่อนเลย

อย่างไรก็ดี ท่านอาจารย์ได้เคยสั่งลูก ๆ ของท่านไว้ว่า "เมื่อท่านจากไปก็ขอให้เผาศพของท่านเสียใน ๓ วัน” ทั้งนี้เพื่อไม่ต้องการให้การจากไปของท่านสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใด และท่านอาจารย์ยังให้ลูก ๆ จดกลอนบทหนึ่งของท่านไว้สำหรับติดไว้ที่รูปในงานศพของท่านด้วย คือ


ละครปิดฉาก
ลงเรือข้ามฟาก
ที่นี่เรียบเรียบ
ฝากให้รู้ข่าว


จาก http://www.baanjompra.com/webboard/thread-2744-1-1.html

http://www.panoramio.com/photo/55545957


เจดีย์ท่านอาจารย์สู พรหมเชยธีระ

เรื่องเล่านี้เอามาจากหนังสือของคุณทองทิว สุวรรณทัต เขียนถึงเซียนสู พรหมเชยธีระ ผู้เสมือนเป็นบิดาของ "ทมยันตี"

เมื่อประมาณเกือบยี่สิบปีมาแล้ว ผู้เขียนได้อ่านพบประวัติชีวิตของ ท่านอาจารย์สู ในนิตยสาร "แสงเทียน" ของสภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ และต่อมาได้พบชีวประวัติของท่านอีกครั้งหนึ่งในหนังสือ "ปูชนียบุคคล" ซึ่งเขียนโดย คุณสมพร เทพสิทธา จึงมีความในใจในตัวท่านอาจารย์สูเป็นอย่างยิ่ง ใคร่จะได้กราบไหว้ท่านที่จังหวัดชลบุรี แต่ก็หาโอกาสไม่ได้สักครั้ง

จนกระทั่งปี 2510 ลูกชะนีที่ภรรยาของผู้เขียนนำมาเลี้ยงดูตั้งแต่ขนยังเปียก เติบโตพอจะรู้ภาษาหลายอย่าง เกิดป่วยกะทันหัน ไม่ยอมกินอาหาร เวลานอนก็สะดุ้งผวา น่าเวทนาแท้ๆ อันเป็นเหตุให้กลัดกลุ้ม จำเป็นต้องหาทางช่วยเหลือป่วยไข้ให้จงได้

เมื่อคิดได้ดังนั้นผู้เขียนก็มุ่งเดินทางไปยังจังหวัดชลบุรี ทันทีเพื่อจะไปขอความกรุณาจากท่านอาจารย์สู ให้ท่านรักษาลูกชะนีของเรา โดยที่ผู้เขียนเองยังไม่เคยรู้จักกับท่านมาก่อน และไม่ทราบว่าบ้านของท่านอยู่ที่ไหน แต่ขณะที่นั่งรถ บขส.ไปนั้นได้ตั้งจิตภาวนาว่าขอให้ได้พบท่านอาจารย์สูสมความปรารถนาเถิดอย่าได้เสียเที่ยวเลย นึกไปเช่นนี้ ภาวนาไปเช่นนี้ตลอดทาง

พอรถถึงชลบุรี ผู้เขียนก็เที่ยวสอบถามสามล้อที่มาคอยรับผู้โดยสารอยู่ 3-4 ราย ถึงบ้านของท่านอาจารย์สู ไปได้ความเอาคนสุดท้ายที่เป็นชายวัยกลางคน ก็ดีใจเป็นที่สุด จึงว่าจ้างไปส่งที่บ้านท่าน

บ้านของท่านอาจารย์เป็นตึก 2 ชั้น ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณที่ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ บรรยากาศภายในบ้านมีแต่ความสงัด ไม่มีเสียงผู้คนเอะอะแม้แต่น้อย ผู้เขียนกดกริ่งที่หน้าประตู ชั่วครู่เดียวก็มีผู้หญิงวัย 40 เศษ ออกมาถามความประสงค์ของผู้เขียน ผู้หญิงคนนั้นก็เปิดประตูเชิญให้เข้าไปข้างในแล้วบอกให้ขึ้นไปขั้นบนของตึก
ชั่วครู่เดียวเท่านั้น ชายจีนวัยหกสิบ รูปร่างสูงใหญ่ ใบหน้ากลม ศีรษะโล้นเกรียน ผิวขาวสะอาด ในชุดเสื้อขาว กางเกงขาว แววตาเต็มไปด้วยความเมตตา ก็เปิดประตุเดินออกมาหาผู้เขียน พลางถามเป็นภาษาไทยที่ไม่สู้ชัดเจนนักว่า "คุณมีอะไร"

ผู้เขียนรีบทำความเคารพ เพราะแน่ใจว่าท่านผู้นี้คือท่านอาจารย์สูที่ตนปรารถนาจะมาพึ่งท่าน แล้วเล่าความทุกข์ของผู้เขียนกับภรรยาที่เกิดจากการเจ็บป่วยของลูกชะนีให้ท่านฟัง

ท่านอาจารย์สูฟังจบท่านก็ยิ้มบอกว่า

"รักสัตว์ทั้งผัวทั้งเมีย"
ผู้เขียนรับคำแล้วนิ่งอยู่ จากนั้นท่านอาจารย์ก็สั่งผู้เขียนว่า
"ชูนิ้วของคุณมาซิ นิ้วไหนก็ได้ เอานิ้วเดียว"
ผู้เขียนงง เพราะยังไม่ทราบว่าอะไรเป็นอะไร แข็งใจถามไปว่า
"มือไหนครับ"
"มือขวา"
ผู้เขียนกลั้นใจยกนิ้วชี้ ท่านอาจารย์สูเห็นแล้วหัวเราะบอกว่า
"ไม่มีอะไร ลูกชะนีของคุณไม่ได้เจ็บป่วยเป็นอะไร เขาอยากเที่ยว กลับไปนี้ คุณพาเขาออกเที่ยวตามสวนที่มีต้นไม้มากๆ เดี๋ยวก็หาย"

ผู้เขียนกลับมากรุงเทพฯ ในบ่ายวันนั้น รุ่งเช้าก็พาภรรยากับลูกชะนีขึ้นรถขับไปเที่ยวบ้านคนรู้จัก ที่ในสวนบางขุนนนท์

พอลูกชะนีเห็นต้นไม้ที่มีอยู่ดาษดื่นก็ร้องกรี๊ดกร๊าด ลงจากสะเอวแม่ได้ก็ปราดเข้าไปปีนป่ายด้วยความสนุกสนานสำราญใจจนเย็นค่ำจึงกลับบ้าน นับแต่นั้นมาลูกนีของเราก็หายป่วยเป็นปลิดทิ้ง กินได้นอนหลับเป็นอันดี เมื่อผู้เขียนไปสำรวจป่าเขาเขียว ชลบุรี เพื่อหาเนื้อที่สำหรับก่อตั้งสวนสัตว์เปิดขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ก็ได้แวะไปกราบท่านอาจารย์อีกหลายครั้ง และทุกครั้งท่านได้ให้ความเมตตาต้อนรับ สนทนาปราศรัยเป็นอย่างดี ถึงขนาดเคยชักชวนให้ผู้เขียนพาผู้ใต้บังคับบัญชาไปขุดสมบัติบนเขาเขียวกับท่าน แต่วาสนาของผู้เขียนมีน้อย จึงไม่สามารถพาใครไปร่วมกับท่านได้ ก็เป็นอันล้มเลิกไป

บัดนี้ท่านอาจารย์สูสิ้นแล้ว ถึงกระนั้นผู้เขียนยังอดคิดไม่ได้ว่า จะหาฆราวาสปฏิบัติธรรมและได้ผลระดับท่านนั้นคงจะยากยิ่งนัก อีกประการหนึ่ง คุณวิมล ศิริไพบูลย์ เจ้าของนามปากกา "ทมยันตี" อดีตวุฒิสมาชิกหญิง ซึ่งรักนับถือกับผู้เขียน ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังถึงความสัมพันธ์ระหว่างท่านอาจารย์สูกับเธอ ทีมีความเคารพเสมือนพ่อกับลูกเกี่ยวกับประสบการณ์แปลกๆที่เธอได้พบมาด้วนตัวเองอีกด้วย จึงขอถือโอกาสนำชีวประวัติของท่านอาจารย์มาเผยแพร่เพื่อเป็นกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติทั่วไป และเพื่อเป็นการบูชาพระคุณที่ท่านได้เมตตากรุณาต่อผู้เขียนดังต่อไปนี้

ท่านอาจารย์สู พรหมเชยธีระ เป็นคนจีนโดยแท้ ท่านเกิดที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2450 ท่านได้ออกจากบ้านเพื่อแสวงหาความรู้ทางธรรมและแพทย์แผนโบราณตามสำนักเต๋าขงจื้อและศาสนาพุทธ โดยมอบสมบัติให้น้องชายดูแล แล้วออกจากประเทศจีนท่องเที่ยวหาความรู้ต่างๆ ในอินโดจีน จนในที่สุดได้เข้ามาตั้งรกรากที่จังหวัดชลบุรี ด้วยการประกอบอาชีพทอดปาท่องโก๋และขายขนมปังเป็นหลัก เมื่ออายุ 34 ปี ได้แต่งงานกับ คุณสุนันท์ บุญประเวศ จึงได้ภรรยามาแบ่งเบาภาระ ทำให้ท่านมีเวลาฝึกกรรมฐาน และช่วยเหลือผู้อื่นได้เต็มที่



ครั้นท่านมีอายุ 41 ปีก็ได้พบพระรูปหนึ่งอยู่วัดราษฏร์บำรุง ชื่ออาจารย์เชย ซึ่งมากำกับท่านขณะนั่งกรรมฐานในนิมิตอยู่เสมอมิเคยขาด เมื่ออาจารย์สูได้พบกับท่านอาจารย์เชยที่ตรงกับที่ท่านฝันเห็นในนิมิต จึงเกิดความเลื่อมใสได้เข้ามอบตัวเป็นศิษย์แต่นั้นมา

พระอาจารย์เชยมีวัตรปฏิบัติแปลกกว่าภิกษุอื่นๆ ปกติ ท่านไม่ค่อยพูด ในบางครั้งขุดดินอยู่ใต้พื้นดินขังตัวเอง ทำแต่ปล่องอากาศสำหรับหายใจเหมือนเรือดำน้ำ ท่านจะครองแต่จีวรเก่าๆ จำวัดอยู่ในโกดังเก็บศพและชอบนอนในโลงศพเป็นนิจศีล บางทีก็ออกไปนั่งอยู่กลางทุ่งนา ฝนจะตก แดดจะออกขนาดไหน ท่านก็นั่งเฉยอยู่อย่างนั้น วันหนึ่งเด็กเลี้ยงควายไปเห็นพื้นที่ที่อาจารย์นั่งอยู่ท่ามกลางแสงแดดกลับร่มเป็นวงกลมคล้ายมีกลดมาบัง ครั้นถึงคราวฝนตกเด็กก็ไปเห็นฝนไม่ตกเฉพาะพื้นที่ที่พระอาจารย์เชยนั่ง เด็กๆจึงโวยวายเอาไปเล่าให้ผู้ใหญ่ฟัง เลยมีผู้คนแห่ไปขอหวยเป็นการใหญ่ จนโดนท่านด่าเปิงไปตามๆกัน

เมื่อท่านอาจารย์สูไปขอมอบตัวเป็นศิษย์นั้น พระอาจารย์เชยสั่งให้นำดอกไม้ 5 ชนิดไปถวาย แล้วท่านได้สอนวิชากำหนดลมหายใจเข้าออก หรืออานาปานสติ แล้วไล่ให้อาจารย์สูไปปฏิบัติเอง

ท่านอาจารย์สูเคยเล่าว่า พระอาจารย์เชยชอบทำอะไรแผลงๆ เช่น คราวหนึ่งท่านปืนขึ้นไปบนยอดตาลแล้วเอาใบตาลเสียบแขน 2 ข้างเป็นปีกกระพือขึ้นลง พลางตะโกนว่า "กูจะเหาะแล้วโว้ย ! กูจะเหาะแล้วโว้ย!"

ทันใดนั้นก็กระโดลงมาจากยอดตาลถึงพื้นดินเดินขึ้นกุฏิหน้าตาเฉย ถ้าเป็นคนธรรมดาขาคงหักป่นปี้กองอยู่ตรงนั้น


มีอยู่อีกคราวหนึ่งอาจารย์สูไปเห็นพระอาจารย์เชยนั่งตกปลาอยู่ พอได้ปลาก็เอาขึ้นมาทุบหัว เลือดสาดกระจาย แล้วขอดเกล็ดหั่นลงหม้อทั้งๆ ที่ปลายังดิ้นกระแด่วๆอยู่ พอแกงสุกก็ตักฉัน ปากก็บอกว่า "อร่อยๆ" แล้วเรียกอาจารย์สูให้ไปกิน อาจารย์สูชิมดูรู้สึกมีรสฝาด พอพระอาจารย์เชยไปแล้วจึงเข้าไปเปิดฝาหม้อดู เห็นมีแต่ใบไม้ลอยเต็มไปหมด!



วันหนึ่งอาจารย์สูเที่ยวตามหาอาจารย์เชยทั่ววัดก็ไม่พบ ไปเจอท่านกำลังยืนพิงเจดีย์ หัวเราะอยู่คนเดียว อาจารย์สูเข้าไปถามว่ามาทำอะไรอยู่ที่นี่ พระอาจารย์ตอบว่ากำลังดูละครสนุก สนุก อาจารย์สูสงสัยถามว่าละครที่ไหน ท่านบอกว่าละครที่กรุงเทพฯ อยากดูไหม

ว่าแล้วพระอาจารย์ก็ชี้ให้อาจารย์สูดูที่กำแพง ปรากฏว่าท่านยกละครมาทั้งโรงมาแสดงให้ดูจริงๆ เป็นภาพปรากฏออกมาเหมือนเขาถ่าย ทีวีกระนั้น

ครั้งท่านอาจารย์สูไปค้างกับพระอาจารย์เชยบนเขาปากแรดนั้น ท่านเล่าว่าเมื่อพระอาจารย์เชยฉันข้าวเสร็จ ท่านจะเอาข้าวสุกกองไว้กลางแจ้งปากก็เรียก "หนูจ๋า มากินข้าว" สักครู่เห็นหนูนับร้อยๆตัวออกมาแย่งกินข้าวกันให้เจี๊ยวจ๊าวไปหมด พระอาจารย์เชยเห็นดังนั้นก็สั่ง "เข้าแถวเรียงหนึ่งกินทีละตัว" พวกหนูก็จะเข้าแถวกินทีละตัวจนอิ่ม ฯลฯ

เมื่ออาจารย์สูปฏิบัติอานาปานสติสำเร็จแล้ว เช้าวันหนึ่งพระอาจารย์เชยก็เรียกเข้าไปหาแล้วบอกว่า "ภารกิจของอาตมาเสร็จสิ้นแล้ว" พลางชูนิ้ว 3 นิ้วให้ดู
ท่านอาจารย์สูได้ฟังดังนั้นก็ก้มลงกราบ แล้วรีบลงจากภูเขาเป็นการด่วน เที่ยวไปซื้อจีวรครองทั้งชุดมาเปลี่ยนให้พระอาจารย์ของตน

พอครบ 3 วันตามที่ท่านบอก พระอาจารย์เชยก็ถึงแก่มรณภาพในท่านั่งสมาธิ ป่าทั้งป่าที่เคยมีสัตว์ร้องวุ่นวายไปทั้งดงก็เงียบกริบ เหมือนไม่มีสิ่งที่มีชีวิตอาศัยอยู่ แม้แต่ใบไม้ก็ไม่ไหวติง

หลังจากเผาศพท่านแล้ว อัฐิของท่านกลายเป็นพระธาตุหมด
มีอยู่ชิ้นหนึ่งเป็นสามกษัตริย์ คือ เงิน นาค ทองทั้งแท่ง

เมื่ออาจารย์สูฝากตัวเป็นศิษย์กับพระอาจารย์เชยแล้ว ท่านก็หมั่นกระทำความเพียรโดยมานะ

ครั้นมีอายุ 44 ปี ก็เริ่มปฏิบัติอย่างจริงจัง ด้วยการแยกที่นอนกับภรรยาอย่างเด็ดขาด
เพื่อประพฤติพรหมจรรย์แต่นั้นมา

ต่อมาท่านอายุได้ประมาณ 50 ปีเศษ หลังจากระอาจารย์เชยมรณภาพไม่นานนัก

อาจารย์สูได้พาครอบครัวย้ายมาอยู่บ้านที่สร้างขึ้นใหม่ในที่ดินที่เช่าจากวัดกำแพง ทั้งเลิกประกอบอาชีพทำขนมปัง และเริ่มให้การรักษาโรคแก่คนทั่วไปตามตำรายาจีน ซึ่งถ่ายทอดมาจากตระกูล ประกอบกับการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเอง นอกจากนั้นยังได้สอนธรรมะและวิธีปฏิบัติกรรมฐานแก่ผู้ที่สนใจ ทั้งยังแนะนำช่วยเหลือผู้อื่นที่แบกทุกข์มาหาท่าน นับเป็นที่พึ่งแก่คนทั้งปวงแต่บัดนั้น

ซึ่งเรื่องนี้ คุณวิมล ศิริไพบูลย์ เจ้าของนามปากกา "ทมยันตี" ได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า

"อาเตีย" เป็นอาจารย์คนแรกที่สอนอี๊ดให้ปฏิบัติในทางที่ถูกต้อง เพราะเดิมอี๊ดชอบเล่นกสิณ แต่อาเตียสอนให้อี๊ดจับลมหายใจเข้าออก อันเป็นแบบอานาปานสติกำหนดจิตดูลมหายใจของตนเอง"

คำว่า "อาเตีย" นี้เป็นสรรพนามที่คุณวิมลเรียกท่านอาจารย์สูด้วยความเคารพรักอย่างลึกซึ้ง ทั้งนี้เพราะในบั้นปลายชีวิตของท่านอาจารย์สูได้ใช้เวลาอบรมสั่งสอนลูกหลาน และบรรดาศิษย์เป็นส่วนใหญ่ และในบรรดาศิษย์ทั้งหมดนั้น คุณวิมลเป็นศิษย์ที่ท่านยอมรับเป็นลูกสาวของท่านเพียงคนเดียวเท่านั้น

คุณวิมลได้เล่าให้ฟังว่า ท่านอาจารย์สูได้สงเคราะห์ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่นด้วยดีเสมอมา โดยไม่ต้องการชื่อเสียงเกียรติยศหรืออามิสใดๆ ท่านปฏิบัติเช่นนี้จนกระทั่งท่านจากไป

"ทมยันตี"ได้เล่าถึงเรื่องของเธอที่อาจารย์สูเคยช่วยเหลือว่า วันหนึ่ง ติ๊ก ลูกสาวคนเล็กของท่าน นั่งสมาธิตรวจอาการปวดศีรษะของเธอซึ่งเป็นมานาน แล้วก็หันไปพูดกับท่านด้วยภาษาจีนอยู่นาน พอจับใจความได้ว่าเธอกำลังเป็นเนื้องอกในสมอง

ครั้นท่านอาจารย์สูทราบจากลูกสาวแล้วก็เรียก "ทมยันตี" ให้ออกไปกลางแจ้งกับท่านเพียง 2 คน สั่งให้เธอนั่งคุกเข่า ตัวท่านอาจารย์เองยืนเพ่งดวงอาทิตย์จนนัยน์ตาแดงดังนกกรดแล้วก้มลงใช้สายตาของท่านเพ่งที่หน้าผากของเธอครู่ใหญ่ เสร็จแล้วบอกว่าท่านช่วยได้แต่เพียงแค่นี้ คือหมายถึงเนื้องงอกที่กำลังจะเป็นในสมองไม่มีโอกาสจะงอกอีก หากทว่าโรคปวดศีรษะยังคงมีต่อไป แต่ไม่มากเหมือนก่อน

"ทุกวันนี้อี๊ดปวดหัวเกือบทุกวัน แต่ไม่ค่อยรุนแรงพอทนได้" เธอบอก

ท่านอาจารย์สูได้ให้ความรักและความเมตตาแก่ "ทมยันตี" เหมือนลูกในไส้ ขนาดถ่ายทอดวิชาให้แก่เธอ แต่มีข้อแม้ว่า ถึงจะมีใครมาปลุกในเวลาตี 1 ตี 2 เพื่อขอความช่วยเหลือก็จะต้องตื่นไปช่วยเหลือเขา

"อี๊ดตื่นไม่ไหวจ๊ะ เลยไม่ขอรับวิชานั้น แต่ท่านก็ให้วิชาแก่อื๊ดมาพอสมควร"


ด้วยความเคารพรักอย่างสุดใจที่"ทมยันตี"มีต่อ "อาเตีย" ของเธอนั้น ทำให้เธอทนดูสภาวการณ์บางอย่างไม่ไหว

เพราะผู้ที่ไปพึ่งท่านอาจารย์สูนั้น ไม่เคยคิดเลยว่าท่านต้องการจะพักผ่อนบ้าง โดยเฉพาะต้องรับประทานอาหารเช่นเดียวกับมนุษย์ทั้งหลาย ฉะนั้น ท่านอาจารย์จึงต้องรับแขกตั้งเช้าจนถึงบ่าย โดยไม่มีข้าวตกถึงท้องสักเม็ด ในขณะที่แขกหมุนเวียนเปลี่ยนกับไปออกหาอาหารรับประทานกันได้ตลอดเวลา


เมื่อ "ทมยันตี" เห็นเหตุการณ์เกิดขึ้นเช่นนี้อยู่เนื่องๆ วันหนึ่งเธอหมดความอดทน จึงเดินขึ้นบันไดปังๆไปหา "อาเตีย" ของเธอ แล้วบอกด้วยสำเนียงที่เฉียบขาดว่า

"อาเตีย ไปทานข้าว! ตั้งแต่เข้าจนถึงบ่าย อาเตียไม่ได้หยุดเลย แต่พวกคุณๆ ผลัดกันลงไปทานกันทุกคน ฉะนั้นขอหยุดให้อาเตียได้พักผ่อนบ้าง"


แขกทุกคนที่นั่งอยู่ถึงแก่ตะลึง ส่วน "อาเตีย" ก็ยอมลุกเดินตาม "ทมยันตี"  ไปรับประทานข้าวแต่โดยดี

และแล้ววันหนึ่งหัวใจของ "ทมยันตี" นักเขียนสตรีนามอุโฆษก็แทบจะแตกสลาย เมื่อทราบว่า "อาเตีย" ที่เคารพรักประดุจบิดาบังเกิดเกล้าของเธอ ถึงแก่กรรมด้วยการนั่งสมาธิแล้วถอดจิตออกจากสังขาร เช่นเดียวกับท่ามรณภาพของพระอาจารย์ท่าน ในคืนวันที่ 17 เมษายน 2522 เวลาประมาณ 20.45 น.


โดยมีคำกลอนที่เขียนบนกระดาษชิ้นน้อยติดไว้ใต้เสื่อที่ท่านนั่งเพียง 4 ประโยคว่า


ละครปิดฉาก
ลงเรือข้ามฟาก
ที่นี่เรียบเรียบ
ฝากให้รู้ข่าว
สู พรหมเชยธีระ

" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...