ธรรมบันเทิง : Doctor Strange ลด “อัตตา” แล้วโลกจะกว้างขึ้น “Doctor Strange” เป็นภาพยนตร์แนวแฟนตาซีของค่ายมาร์เวล ที่นำเสนอเรื่องของซูเปอร์ฮีโร่ยอดนิยมต่างๆมาแล้วมากมาย แต่สำหรับผลงานล่าสุดเรื่องนี้ สามารถเชื่อมโยงกับหลักพุทธศาสนาได้ดีไม่น้อย
เรื่องราวเริ่มต้นที่
สตีเฟ่น เสตรนจ์ หรือ
“ดร.สเตรนจ์” ศัลยแพทย์ชื่อดังระดับแนวหน้าของนิวยอร์ก ซึ่งมีความเชี่ยวชาญการผ่าตัดชนิดที่ว่า สามารถผ่าเอากระสุนออกจากหัวของผู้ป่วยได้อย่างสบายๆ แถมเป็นผู้คิดค้นทฤษฎีการผ่าตัดรักษาโรค และได้รับเกียรติตั้งทฤษฎีเป็นชื่อของตัวเองอีกต่างหาก
ความสำเร็จในวงการแพทย์ ส่งผลให้คุณหมอสเตรนจ์ ค่อนข้างอวดเก่ง มั่นใจในตัวเอง มองตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง และไม่ค่อยให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน โดยเฉพาะการมองว่าหมออื่นมีทักษะด้อยกว่าตน แม้แต่ “
แพทย์หญิงคริสทีน” เพื่อนสาวคนสนิท ก็ยังโดนหมอสเตรนจ์บ่นว่าอยู่บ่อยๆ
จุดเปลี่ยนในชีวิตครั้งสำคัญของสุดยอดศัลยแพทย์เกิดขึ้นในค่ำคืนหนึ่ง เมื่อเขาต้องไปบรรยายพิเศษในงานแห่งหนึ่ง เขาแต่งตัวสวมสูทเนี้ยบ สวมนาฬิการาคาแพง ซึ่งบ่งบอกความคิดเชิงวัตถุนิยม จากนั้นก็บึ่งรถสปอร์ตสุดหรู ทะยานออกไปสู่ถนนนอกเมืองอันคดเคี้ยว
ระหว่างการขับรถที่เร่งเครื่องจนน่าหวาดเสียว หมอสเตรนจ์โทรศัพท์สนทนากับทีมงาน เกี่ยวกับผู้ป่วยในรายชื่อที่จะรักษา ทำให้ผู้ชมได้เห็นเบื้องหลังที่ไม่น่าชื่นชมของคุณหมอรายนี้ เมื่อเขาเลือกคนไข้ที่คิดว่า มีอาการน่าสนใจ และสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับเขาได้เท่านั้น หากรายใดมีอาการป่วยไม่เป็นที่น่าสนใจมากพอ เขาก็ปฏิเสธที่จะรักษา
แล้ววินาทีชีวิตก็เกิดขึ้น เมื่อจังหวะที่เขาเหลือบตาไปมองข้อมูลผู้ป่วย รถสปอร์ตที่มีกำลังเร่งเหลือเฟือ จึงเสียหลักปะทะแนวกั้นสะพาน ร่วงลงเนินผา ก่อนตกลงไปสู่แม่น้ำด้านล่าง
ช่วงเวลาวิกฤตผ่านไปกว่า 11 ชั่วโมง การผ่าตัดเป็นที่น่าพอใจในแง่ของการรักษาชีวิตให้คุณหมอสเตรนจ์ แต่สิ่งหนึ่งที่เขารู้ว่า มันจะไม่มีทางเหมือนเดิม คือ อาการบาดเจ็บของสองมือที่ได้รับการกระแทกอย่างรุนแรง ทำให้ระบบประสาทมือทั้งสองข้างของเขาสูญเสียไป มือที่เคยผ่าตัดคนไข้ได้อย่างแม่นยำราวกับเครื่องจักรกล ในวันนี้กลับกลายเป็นสองมืออันสั่นเทา ไม่สามารถแม้แต่จะโกนหนวดเคราของตัวเองด้วยซ้ำ
วันเวลาผ่านไป หมอสเตรนจ์ผู้ต้องกลายเป็นเพียงอดีตสุดยอดแพทย์ศัลยกรรม ได้ทุ่มเทเวลาไปกับการรักษาทุกวิถีทาง เพื่อหวังให้สองมือของเขากลับมาหายเป็นปกติ แต่ก็ดูเหมือนว่าความหวังจะค่อยๆเลือนหายไป และความเครียด ความเย่อหยิ่งโมโหร้าย ยังส่งผลให้ความสัมพันธ์ของเขากับคุณหมอสาว ย่ำแย่จนต้องบอกลากันไป
แต่แล้วแสงแห่งความหวังของหมอสเตรนจ์ ก็ปรากฏขึ้นในวันที่เขาไปทำกายภาพบำบัด ด้วยความปากร้ายของเขา จึงได้พูดจาดูถูกนักกายภาพบำบัดในเชิงว่า คงไม่มีทางรักษาใครหายจากอาการบาดเจ็บได้ แต่นักกายภาพได้โต้กลับว่า เคยรักษาผู้ป่วยรายหนึ่งซึ่งแทบจะเป็นอัมพาต ให้กลับมาวิ่งได้ด้วยซ้ำ หมอสเตรนจ์จึงออกตามหาบุคคลนั้นว่า มีเคล็ดลับอะไรที่ทำให้อาการทางประสาทกลับคืนมาได้เป็นปกติ
แล้วหมอสเตรนจ์ก็ตามไปจนเจอคนไข้รายนั้น
“โจนาธาน แพงบอร์น” และพบว่า เคยเป็นคนไข้ที่ตนเองเคยปฏิเสธการรักษามาก่อน แต่สุดท้าย แพงบอร์นก็ยอมให้คำแนะนำว่า จงเดินทางไปยังเมืองกาฐมัณฑุ ประเทศเนปาล เพื่อตามหาสถานที่ที่มีชื่อว่า
“คามาร์ทาช” อดีตศัลยแพทย์ฝีมือดี จึงตัดสินใจซื้อตั๋วเดินทางแบบเที่ยวเดียว ตั้งใจว่าการเดินทางไปเนปาลครั้งนี้ นานแค่ไหนก็ยอม เพื่อแลกกับการรักษาให้สองมือหายเป็นปกติ เขาถามผู้คนไปทั่ว กระทั่งไปเจอ “มอร์โด” ชายผิวสีที่นำเขาไปยังสถานที่ที่เรียกว่า “คามาร์ทาช” ซึ่งเสมือนเป็นสำนักฝึกวิชาตามศาสตร์แบบโลกตะวันออก
ที่สำนักแห่งนี้หมอสเตรนจ์ได้พบกับอาจารย์ประจำสำนัก เป็นสตรีที่คล้ายนักบวช สำรวม และเต็มไปด้วยความสุขุม เธอมีนามว่า
“The Ancient One” เธอกล่าวต้อนรับหมอสเตรนจ์อย่างเป็นมิตร พร้อมอธิบายองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อให้เขาเห็นภาพรวมว่า สำนักคามาร์ทาชนั้นทำอะไร มีความเชื่ออย่างไร โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องเวทมนต์คาถา กำลังภายใน การรักษาตนเองจากสภาพจิต เป็นต้น เพราะเป็นสิ่งที่แตกต่างจากวิทยาศาสตร์ในแบบที่แพทย์เรียนมา
แต่ทุกครั้งที่เธอพูด หมอสเตรนจ์ก็จะพูดจาโอ้อวด ยกตนข่ม พร้อมทั้งดูถูกดูแคลนความเชื่อเหล่านั้น จนเธอต้องใช้พลังจิตนำจิตของหมอสเตรนจ์ ท่องไปในมิติอื่น เพื่อให้รู้ว่าเป็นเรื่องจริง
หมอสเตรนจ์ได้รับรู้พลังอันเร้นลับที่ซ่อนอยู่ในจักรวาลอีกมากมาย เขาจึงยอมรับขอเข้าเป็นศิษย์ในสำนักคามาร์ทาช แต่ด้วยความอวดดี ถือตัว และมองตนเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล ที่ฝังอยู่ในตัวของเขา ทำให้การฝึกวิชากำลังภายในของเขาในระยะแรกนั้น ไม่ได้ผลเอาเสียเลย
อย่างไรก็ตาม อาจเป็นเพราะพื้นฐานของหมอสเตรนจ์ ไม่ใช่คนเลวร้ายอะไร The Ancient One จึงแนะเส้นทางความสำเร็จว่า จงลดอัตตาของตนเองลงเสียบ้าง และเมื่อหมอสเตรนจ์เปิดใจรับ การฝึกฝนวิชาเวทย์ของเขาจึงค่อยๆดีขึ้นตามลำดับ และด้วยพื้นฐานทักษะความเป็นหมอที่มีความเฉลีย;ฉลาด ใฝ่รู้ และมุ่งมั่นตั้งใจในการศึกษา เขาจึงทุ่มเทให้กับการฝึก ทั้งภาคปฏิบัติ และภาคทฤษฎีจากตำราโบราณในห้องสมุดของคามาร์ทาช
หลังจากนั้นไม่นาน หมอสเตรนจ์ก็ต้องเผชิญหน้ากับ
“ไคซิเลียส” อดีตศิษย์ก้นกุฏิของ The Ancient One ซึ่งแปรพักตร์ไปเข้าสู่วิชาอาคมด้านมืด นั่นคือการเรียนรู้วิชาเพื่อคงชีวิตที่เป็นอมตะ และเปิดโอกาสให้เจ้าแห่งด้านมืดจากมิติอื่น เข้ามาทำลายล้างโลกมนุษย์
หมอสเตรนจ์ซึ่งฝึกฝนวิชาต่างๆ จนมีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงต้องกลายเป็นกำลังหลักในการรับมือ เพื่อปกป้องโลกมนุษย์ให้รอดพ้นจากอันตราย และด้วยความฉลาดเรียนรู้ของเขา ที่ปลดเปลื้องอัตตาของตนไปหมดสิ้น จึงสามารถเอาชนะศัตรูได้ในที่สุด
บทสรุปส่งท้ายในภาพยนตร์นั้น มือทั้งสองข้างของหมอสเตรนจ์อาจยังไม่หายสนิท และจุดประสงค์หลักในการหวนคืนสู่วงการแพทย์ก็ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ แต่หมอสเตรนจ์ก็ตัดสินใจเลือกแล้วว่า เขายังสามารถทำหน้าที่อื่นทดแทนได้ และก็ยังเป็นภารกิจที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้เช่นกัน
แม้ว่า Doctor Strange จะเป็นเพียงภาพยนตร์แนวแฟนตาซี ว่าด้วยการต่อสู้ด้วยพลังเวทมนตร์เหนือจริง แต่ทว่าแก่นบางด้านที่แฝงไว้ในหนัง ก็เป็นสาระที่ประยุกต์ใช้กับพุทธศาสนาได้ดี โดยเฉพาะเนื้อหาของภาพยนตร์ที่มีฉากสำคัญ ที่ประเทศเนปาล ดินแดนต้นกำเนิดพุทธศาสนาอีกด้วย
เราจะเห็นว่า ก่อนที่หมอสเตรนจ์จะกลายเป็นยอดฝีมือ ที่เต็มไปด้วยพลังเหนือมนุษย์ เขาเคยเป็นคนที่ไม่น่าคบหาสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะการมี
“อัตตา” หรือการยึดมั่นถือมั่นในตัวเองอย่างมาก มองตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง ว่าตนมีความสำคัญที่สุด
“อัตตา” ในทางพุทธศาสนา ก่อนจะกำเนิดพุทธกาล เราเรียกว่า “
สัสสตทิฐิ” อันเป็นมิจฉาทิฐิที่ยึดว่าตัวตนเป็นสิ่งเที่ยงแท้ไม่เปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกัน เมื่ออัตตาถูกนำมาสื่อความหมายในเชิงร่วมสมัย ก็มักสื่อถึงการยึดถือ เชื่อมั่นตนเองเป็นหลัก โดยไม่เปลี่ยนแปลงอะไรง่ายๆ
ผลร้ายของการมีอัตตาอยู่ในจิต จึงก่อให้เกิดการไม่ยอมรับ ไม่เปิดใจกว้าง เพื่อศึกษาเรียนรู้ ในสิ่งที่หลากหลายกว่าเดิม เพราะคิดว่าตนเก่งแล้ว ดีเพียงพอแล้ว เหนือกว่าผู้อื่นแล้ว เสมือนนิทานแฝงปรัชญาเรื่องน้ำเต็มแก้วนั่นเอง ดังนั้น สิ่งตรงข้ามที่จะช่วยลดอัตตา คือ หนึ่งในหลักไตรลักษณ์อย่าง “อนัตตา” หรือความไม่ใช่ตัวตน ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน ไม่มีลักษณะอันใดที่จะทำให้เรายึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเรา
หลักอนัตตา จึงเป็นการเปิดใจ ยอมรับในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ เพราะสิ่งเดิมที่ดีอยู่แล้ว ก็อาจเปลี่ยนแปลงไปได้ ไม่มีอะไรคงที่เที่ยงแท้แน่นอนสักอย่างในโลกกลมๆใบนี้
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 193 มกราคม 2560 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)
จาก
http://astv.mobi/A526A6Yhttps://www.youtube.com/v/HSzx-zryEgM