ผู้เขียน หัวข้อ: “สังฆราชา” ประมุขสงฆ์ผู้ “สมถะ-ตงฉิน” แต่เปี่ยมด้วยเมตตา ผู้ใฝ่วิปัสสนากัมมัฏฐาน  (อ่าน 2013 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


สังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประมุขสงฆ์ผู้ “สมถะ-ตงฉิน” สังฆราชาผู้ใฝ่วิปัสสนากัมมัฏฐาน

“เราไม่มีแม้สักแดงเดียวนะ เราไม่สะสม
       “แม้แต่เหรียญอาจารย์ฝั้นสักเหรียญเรายังไม่มี
       “รถเราก็ไม่มี”

       
      ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถือเป็นเรื่องที่น่าปลื้มปีติยินดีอย่างหาที่สุดไม่ได้ เมื่อ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” โปรดเกล้าฯ สถาปนา “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์(อัมพร อมฺพโร)” แห่งวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ขึ้นเป็น “สมเด็จพระสังฆราช” พระองค์ใหม่ สืบแทน “สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช(เจริญ สุวฑฺฒโน)” สมเด็จพระสังฆราชพระองค์เดิมที่เสด็จละจากธาตุขันธ์ไปเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556
       
        สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ถือเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และใช้พระนามว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ”
       
        สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ(อัมพร อมฺพโร)” ถือเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 3 ของวัด ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามฯ โดยพระองค์แรกคือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 13 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ องค์ที่ 2 คือสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 18 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
       
        ทั้งนี้ ก่อนที่จะโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ และก่อนที่จะมีการแก้ไข “พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505(แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535)” เพื่อถวายคืน “พระราชอำนาจ” ในการสถาปนา หลังการสิ้นพระชนม์และหลังพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพ “สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช(เจริญ สุวฑฺฒโน)” ปรากฏรายนาม “สมเด็จพระราชาชั้นสุพรรณบัฏ” ทั้งมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย” ที่เป็น “ตัวเต็ง” มาเป็นลำดับ
       
        ลำดับแรกสุดที่สามารถใช้คำว่าเต็งหามก็คือ “สมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) แห่งวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เนื่องเพราะ “อาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์” ตามกฎหมายปกครองคณะสงฆ์ในขณะนั้นได้ตราเอาไว้ถึงผู้มีสิทธิที่จะได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช แต่แล้วในที่สุดสมเด็จเกี่ยวก็ละสรีระสังขารไปเสียก่อนเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2556
       
        จากนั้น เต็งหามก็ตกมาเป็นของ “สมเด็จวัดปากน้ำ” คือ “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญฺโญ)” แห่งวัดปากน้ำภาษีเจริญ และเป็นเต็งหามมาโดยตลอดเนื่องจาก “อาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์” ตามที่กฎหมายปกครองคณะสงฆ์ได้บัญญัติเก่าไว้เช่นกัน
       
        อย่างไรก็ตาม การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชของสมเด็จวัดปากน้ำมีปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพราะถูกร้องเรียนในเรื่องของความเหมาะสม โดยเฉพาะกรณีการครอบครองรถ Mercedes Benz รุ่น W186 ทะเบียน ขม 99 รถยนต์คลาสสิกสุดหรู ซึ่งเลี่ยงภาษีและปัจจุบันคดีความก็ยังคงดำเนินอยู่ รวมทั้งปัญหาเรื่องความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับ “สมเด็จพระเทพญาณมหามุนี(ไชยบูลย์ ธมมฺชโย)” เจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์แห่งวัดพระธรรมกายที่ถูกออกหมายจับข้อหาฟอกเงินและรับของโจรในคดีทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น ในฐานะพระอุปัชฌาย์ ทำให้การนำรายชื่อสมเด็จวัดปากน้ำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชมีอันต้องชะงักลง
       
        กระทั่งสุดท้ายทุกอย่างก็คลี่คลายเมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีความเห็นพ้องต้องกันว่า ต้องแก้ “มาตรา 7” ของ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ฉบับปี พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 เพื่อถวายคืน “พระราชอำนาจ” ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชให้เป็นของพระมหากษัตริย์ เรื่องจึงมีอันยุติลง
       
        นั่นหมายความว่า การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์และมิได้ยึดโยงกับ “อาวุโสโดยสมณศักดิ์” เป็นสำคัญ หรือหมายความว่า พระสงฆ์ที่ทรงสมณศักดิ์สมเด็จพระราชาคณะ “ชั้นสุพรรณบัฏ” ในปัจจุบัน ทั้งมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย ทั้ง 8 รูปมีสิทธิได้รับการโปรดเกล้าฯ สถาปนา ประกอบด้วย
       
        หนึ่ง-สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) มหานิกาย เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ
        สอง-สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) ธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม
        สาม-สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) ธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
        สี่-สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) ธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร
        ห้า- สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) ธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส
        หก-สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) มหานิกาย เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการามวรวิหาร
        เจ็ด-สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) มหานิกาย เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร
        และแปด-สมเด็จพระพุทธโฆษจารย์(ประยุทธ์ ปยุตฺโต) มหานิกาย เจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม

       
        แต่จะอย่างไรก็ตาม สมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่ถือเป็น “ตัวเต็ง” มีอยู่ 3 คน โดยรูปแรกแม้หลายคนจะเชื่อว่าหมดสิทธิแต่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาก็ยังแอบลุ้นอยู่เหมือนเดิมนั่นคือ สมเด็จวัดปากน้ำ คนถัดมาก็คือสมเด็จพระ วันรัต(จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต ) แห่งวัดบวรนิเวศวิหารฯ และองค์ที่ 3 ก็สมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏองค์แรกที่โปรดเกล้าฯ สถาปนาโดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณฯ นั่นคือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ประยุทธ์ ปยุตฺโต)



 อย่างไรก็ดี กระแสข่าวเรื่องสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ก็ยังคงเป็นที่จับตาอย่างต่อเนื่อง และเริ่มมีระแคะระคายมากขึ้นในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เจ้าประคุณสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่จะได้รับการโปรดเกล้าฯ สถาปนาก็คือ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) กระทั่งในที่สุดความชัดเจนก็ปรากฏในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ว่าหลังจากมีการดำเนินการตามขั้นตอนพิจารณารายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 โดยพิจารณาเสนอรายชื่อไป 5 องค์ หลังจากมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไปแล้วนั้น ขณะนี้ได้รับแจ้งว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชในวันที่ 12 ก.พ. เวลา 11.00 น. ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
       
        “ขออย่าขัดแย้ง ไม่ใช่ว่าองค์อื่นดีหรือไม่ดี เคยบอกไปว่าต้องดูเรื่องงานและเรื่องต่างๆ และเป็นไปตามพระราชอัธยาศัยที่พระองค์ท่านทรงพิจารณาเอง” พล.อ.ประยุทธ์อธิบาย
       
        การโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ ถือเป็นการสถาปนาตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ที่สภานิติบัติญัติแห่งชาติได้แก้ไขโดยการถวายคืนพระราชอำนาจโดยแท้ เนื่องเพราะหากยึดตามกฎหมายเดิมจะเห็นได้ว่า สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์เป็นลำดับที่ 3 และไม่เข้าข่ายที่จะได้รับการสถาปนา
       
        โดยสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่มีความอาวุโสสูงสุด เป็นลำดับที่ 1 ก็คือ “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญฺโญ)” ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ปี 2538
       
        ลำดับที่ 2 ได้แก่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ เมื่อปี 2544
        ลำดับที่ 3 ได้แก่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ เมื่อปี 2552
        ลำดับที่ 4 ได้แก่ สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) ธรรมยุตได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อปี 2552
        ลำดับที่ 5 ได้แก่ สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ เมื่อปี 2553
        ลำดับที่ 6 ได้แก่ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ เมื่อปี 2554
        ลำดับที่ 7 ได้แก่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2557
        และลำดับที่ 8 ได้แก่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2559
       
        ทั้งนี้ การสถาปนา สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) ขึ้นเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกยังความปลื้มปีติแก่พุทธศาสนิกชนชาวไทยเป็นอย่างมาก เนื่องเพราะมีความเหมาะสม และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ด้วยสาเหตุไม่ได้มีข้อครหาใดๆ มาทำให้เสื่อมพระเกียรติสกลมหาสังฆปริณายก ผู้เป็นประมุขของคณะสงฆ์ไทย
       
        นอจากนี้ ยังคงให้ความสำคัญกับอาวุโสทางสมณศักดิ์อยู่เหมือนเดิม กล่าวคือสำหรับสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์หรือสมเด็จวัดปากน้ำนั้น แม้จะ มีอาวุโสทางสมศักดิ์ แต่ก็ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า มีปัญหาในเรื่องของความเหมาะสม ขณะที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) ก็ทรงชราภาพมากและไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ส่วนสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) มีอาวุโสสูงสุดทางสมณศักดิ์เป็นลำดับที่ 3
       
        ขณะที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า “มาแรง” พอสมควรในระยะหลัง และหลายคนมุ่งหวังให้ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น มีอายุพรรษา “อ่อนกว่า” สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) ถึง 10 ปี และมีปัญหาในเรื่องของสุขภาพเช่นกัน
       
        และเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้เข้าถวายสักการะสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ที่วัดปากน้ำ ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช พร้อมกับ “ขอลา” เพื่อไปรักษาอาการอาพาธที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งวงการสงฆ์ตีความว่า เป็นการส่งสัญญาณเพื่อหลีกทางให้ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร)
       
       แต่ก็ไม่วายที่บรรดาศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายจะตีความเข้าข้าตนเองว่า เจ้าคุณปยุทร์ยอมหลีกทางให้สมเด็จวัดปากน้ำขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช
        เว็บไซต์ “อะลิตเติ้ลบุดดาดอทคอม” (www.alittlebuddha.com)ได้วิเคราะห์เส้นทางการขึ้นสู่สมเด็จพระสังฆราชของสมเด็จพระมหามุนีวงศ์(อัมพร อมฺพโร) เอาไว้ก่อนหน้าที่จะได้รับการโปรดเกล้าฯ สถาปนาเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร) นั้น คุ้นเคยงานทั้งในมหาเถรสมาคมและในพระบรมมหาราชวัง มาแทบว่าชั่วชีวิต นับตั้งแต่สนองงานสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร) อดีตเจ้าอาวาสวัดราชบพิธ พระองค์ก่อน ก่อนจะขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชบพิธ ควบกับกรรมการมหาเถรสมาคม…”



 “ด้านอุปนิสัยใจคอ ว่ากันว่า สมเด็จพระมหามุนีวงศ์-อัมพร นั้น ท่านเป็นคนตงฉินพอๆ กับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ก่อน ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดก็คือ ปัญหาในมหามกุฎราชวิทยาลัย-มมร. ซึ่งเรื้อรังนานหลายปี ... สุดท้ายได้สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย ฟันธงเปรี้ยงเดียว สนามกีฬาหน้า มมร. เรียบเป็นหน้ากลอง ไม่มีขยะให้ขัดหูขัดตามาจนบัดนี้ ดังนั้น ถ้าได้สมเด็จพระมหามุนีวงศ์เข้ามาดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ก็เชื่อว่า จะสามารถบังคับบัญชาสังฆมณฑล ได้อย่างน่าไว้วางใจ”
        นอกจากนี้ ยังเป็นที่รับรู้กันว่า วัตรปฏิบัติหรือปฏิทาของสมเด็จพระสังฆาราชพระองค์นี้นั้น ดำเนินไปด้วยความ “สมถะ-เรียบง่าย” เจ้าประคุณสมเด็จไม่มี “รถยนต์ส่วนตัว” บางครั้งเวลารับกิจนิมนต์ก็ยังเดินทางด้วยแท็กซี่เสียด้วยซ้ำไปและมักเดินทางไปปฏิบัติธรรมกับสหธรรมิกตามวัดต่างๆ เสมอวมารโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าเป็นธรรมยุตหรือมหานิกาย
       
        แต่ที่สำคัญและต้องขีดเส้นใต้สองเส้นเอาไว้ก็คือ เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ไม่มีประวัติใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย แถมเป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิของ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร แห่งวัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร โดยปัจจุบันเจ้าประคุณสมเด็จยังคงเป็นประธานมูลนิธิพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร อีกด้วย
       
        “เจ้าประคุณสมเด็จชอบสนทนาธรรมกับพระสายวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในวัยหนุ่มท่านเดินทางไปสักการะและสนทนาธรรมกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่ดุล อตุโล หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี พระสายวิปัสสนากัมมัฏฐานชื่อดังเป็นประจำ มีเรื่องเล่าว่า เวลาท่านเดินทางไปภาคอีสาน ท่านจะฉันในบาตรเพียงมื้อเดียว เหมือนสายพระป่า และชอบปฏิบัติกัมมัฏฐาน ใช้ชีวิตเรียบง่ายสมถะ ท่านไม่มีรถยนต์ส่วนตัว ทาง พ.ศ.จะจัดรถยนต์ถวายเวลาท่านเดินทาง เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่มีวัตรปฏิบัติเรียบง่าย”พระพรหมเมธี(จำนงค์ ธัมมจารี) โฆษกและกรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) บอกเล่า
       
        เฉกเช่นเดียวกับ หลวงปู่อุทัย สิริธโร เจ้าอาวาสวัดเขาใหญ่(เจริญธรรม) ญาณสัมปันโน ที่บอกว่า เมื่อครั้งที่ยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระมหามุนีวงศ์ ได้เคยร่วมธุดงด์ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2503 ที่วัดถ้ำขาม หลังเทือกเขาภูพาน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร มีพระมหามุนีวงศ์และพระมหาสาครร่วมธุดงค์ปฏิบัติธรรมในสถานที่ด้วยกัน ครั้งนั้นได้ศึกษาธรรมะ เช่น หลวงปู่ขาว หลวงปู่หลุย หลวงตามหาบัวและเกจิจำนวนหลายองค์….ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ หมั่นปฏิบัติธรรมเป็นนิจ มีนิสัยอ่อนโยน มีเมตตา ปฏิบัติตนเคร่งครัด”
       
        ทั้งนี้ เจ้าประคุณสมเด็จได้เคยแสดงพระธรรมเทศนา เนื่องในวันแสดงมุทิตาจิตแด่หลวงปู่อุทัย สิริธโร ณ วัดเขาใหญ่ญาณสัมปันโน ต.โป่งตาลอง จ.นครราชสีมา โดยกล่าวถึงหลวงปู่ฝั้นในบางช่วงบางตอนว่า “...อาตมาได้เคยฟังธรรมจากท่านอาจารย์ใหญ่ฝั้น อาจาโร ตั้งแต่ครั้งที่ได้มากราบท่าน ท่านกล่าวว่า ทำใจให้สบาย ซึ่งยังปรากฏติดอยู่ในใจจนป่านนี้ คำว่า ทำใจให้สบาย ในสำเนียงของท่าน รู้สึกว่า จับใจ ฟังแล้วทำให้ใจมันสบายตาม ซึ่งจะไม่ทราบว่าจะถ่ายทอดคำนี้ออกมาให้ท่านทั้งหลายทราบกันได้อย่างไร ถ้าเราศึกษาค้นคว้า ปฏิบัติธรรม เราคงจะได้อย่างที่อาจารย์ใหญ่ท่านบอกให้ฟังว่า ทำใจให้สบายได้ ก็ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จ คือความสบายใจ ทำใจให้สบาย”
       


นอกจากนี้ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณพระองค์นี้ยังป็น “สัทธิวิหาริก” หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็น “ศิษย์” ของ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 18 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แห่งวัดราชบพิธฯ ที่ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์อีกด้วย
       
        คำสอนที่ลูกศิษย์จำขึ้นใจคือ อยู่ให้เขาเบาใจ ยามจากไปให้เขาอาลัยถึง ไม่ใช่อยู่ให้เขาหนักใจ จากไปให้เขาไล่ส่ง อย่าทำเป็นตากระทู้ หูกระทะ เปรียบเทียบถึงหูกระทะที่มีหู แต่ไม่ได้ยิน ส่วนตากระทู้ คือ ต้นไม้มีตาเป็นปุ่มๆ แต่มองไม่เห็น จงตาดู หูฟัง นำแบบอย่างที่ดีงามมาปฏิบัติ หรือคำสอนที่ว่า เขาสอนก็ฟัง เขาทำก็ดู เรียนรู้แล้วปฏิบัติ ลงท้ายกลายเป็นสัตบุรุษ แต่ถ้าเขาสอนก็ไม่จำ เขาทำก็ไม่ดู เรียนรู้ก็ไม่ปฏิบัติ ลงท้ายกลายเป็นควาย
       
        แม้ในเดือนมิถุนายนนี้จะมีพระชันษา 90 ปี แต่พระพลานามัยแข็งแรง ทรงเคร่งครัดเรื่องการฉัน เน้นผักผลไม้ เนื้อปลา เน้นหลักที่ว่า ข้าว 1 คำ เคี้ยวนาน 36 ครั้ง ไม่เป็นภาระกับกระเพาะ ลำไส้ และพระองค์จะเดินจงกรมรอบพระอุโบสถทุกเช้ามืด ทุกวันไม่เคยว่างเว้น
       
        ส่วนญาติโยมเลื่อมใสศรัทธาจะนำทรัพย์สินมีค่าต่างๆ มาถวาย เจ้าประคุณสมเด็จจะไม่ขอบรับ แต่หากใครมีจิตสาธารณกุศลก็จะนำเข้ามูลนิธิหลวงปู่ฝั้น อาจาโร เพื่อนำไปใช้ในสาธารณกุศลเช่น สร้างโรงพยาบาลหรือจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ต่างๆ เป็นต้น
       
        “เราได้มีสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้มีโอกาสกราบท่านอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง เวลาทำบุญให้น้องพุ่ม เพราะอัฐิของน้องพุ่มบรรจุอยู่ที่นั่น ท่านเมตตาใจดีมาก สาธุ”ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี โพสต์ข้อความความอินสตราแกรมส่วนพระองค์ “nichax” โดยเป็นภาพสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ พร้อมทรงแสดงความยินดีและทรงโพสต์สัญลักษณ์พนมมือไหว้ด้วย
       
        นี่คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่พุทธศาสนิกชนสามารถ “กราบ” ได้อย่างสนิทใจ
       
       ขอขอบคุณข้อมูลและภาพบางส่วนจาก ม.ล. ชัยนิมิตร นวรัตน และเว็บไซต์
       www.dhammajak.net











อัตโนประวัติและชาติภูมิ
       
        สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) นามเดิมว่า อัมพร ประสัตถพงศ์ เป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม และแม่กองงานพระธรรมทูต เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2470 ณ ตำบลบางป่า อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี โยมบิดาชื่อนายนับ ประสัตถพงศ์ โยมมารดาชื่อนางตาล ประสัตถพงศ์ ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 ตำบลโคกกระเทียม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
       
        บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. 2480 ณ วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 ณ พัทธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เมื่อครั้งมีสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์
       
        สามเณรอัมพร ประสัตถพงศ์ เคยไปอยู่จำพรรษาที่วัดตรีญาติ ต.พงสวาย เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม พ.ศ. 2483 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี จากนั้น พ.ศ. 2484 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นโท และ พ.ศ. 2486 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก และสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค เมื่อ พ.ศ. 2488 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค
       
             เมื่อ พ.ศ. 2490 ได้ย้ายมาอยู่จำพรรษา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี นำมาฝากกับสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สกลมหาสังฆปริณายก
       
          ภายหลังอุปสมบทเมื่อ พ.ศ. 2491 ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ จน พ.ศ. 2491 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และ พ.ศ. 2493 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค
       
              ต่อมา เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 จบศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. 2500 และได้เดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2512 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี
       
            ปี พ.ศ. 2552 สภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ถวายศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์ ปี พ.ศ. 2553 สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ และปัจจุบัน พ.ศ. 2560 เจ้าประคุณสมเด็จมีอายุ 89 ปี 68 พรรษา
       

จาก http://astv.mobi/A5kgZCA
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



“สังฆราชา” พระผู้เคร่งครัด แต่เปี่ยมด้วยเมตตา

        พระผู้ทรงเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ฝั้น, พระผู้ไม่มีรถส่วนตัวใช้, พระผู้ทรงฉันภัตตาหารในบาตรเหมือนพระวัดป่าทั่วๆ ไป, พระผู้ทรงถือพรรษา แต่ไม่ทรงถือสมณศักดิ์สูงใหญ่, พระผู้ทรงละทางโลก-ใฝ่ทางธรรม, พระผู้ทรงนำปัจจัยจากญาติโยมไปสร้างโรงเรียน-หนุนมูลนิธิ, พระผู้ทรงได้รับการสรรเสริญว่าเป็น “พระแท้-พระจริง” แห่งยุคสมัย

        พระผู้ทรงเป็น “ราชาแห่งคณะสงฆ์” องค์ใหม่ “สมเด็จอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร)” สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระผู้ทรงพร้อมนำความสงบร่มเย็นมาสู่ผืนแผ่นดินธรรม-ผืนแผ่นดินไทยโดยแท้...


พระสายวัดป่า ผู้เปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรม



        [สมเด็จพระสังฆราช เมื่อครั้งยังทรงเป็น “พระมหาอัมพร อมฺพโร” บิณฑบาตร่วมกับ “หลวงปู่ฝั้น” ณ วัดถ้ำขาม จ.สกลนคร]

        “เราได้มีสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีโอกาสกราบท่านอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง เวลาทำบุญให้น้องพุ่ม เพราะอัฐิของน้องพุ่มบรรจุอยู่ที่นั่น ท่านเมตตาใจดีมาก สาธุ”
       
        ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงโพสต์ข้อความผ่านอินสตาแกรมส่วนพระองค์ @nichax ด้วยภาพของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ แนบสัญลักษณ์ “พนมมือไหว้” เพื่อร่วมแสดงความปลื้มปีติในวาระที่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 โดยมีพระราชทินนามว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก”



[จากอินสตาแกรมของ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ]

       ผู้ได้เคยมีโอกาสนมัสการหรือนิมนต์สนทนาธรรมต่อเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันถึงคุณสมบัติเรื่อง “ความสมถะ” ที่ปรากฏเด่นชัดของพระองค์ท่าน เนื่องด้วยสมเด็จพระอริยสงฆ์ผู้นี้ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว หลายต่อหลายครั้งจึงต้องเดินทางด้วยแท็กซี่เพื่อไปรับกิจนิมนต์ บางครั้งเดินด้วยเท้าเปล่า และมักจะถือฉันในบาตรเหมือนพระกรรมฐานสายวัดป่าทั่วๆ ไป
       
        เมื่อว่างเว้นจากภาระธุระทางธรรมคราใด พระองค์มักจะเสด็จไปเยือนวัดป่าสายกรรมฐานตามจังหวัดต่างๆ อยู่เสมอๆ ทั้งยังเป็นพระผู้ไม่เคยแบ่งแยกถือตัว สนทนาธรรมได้ทั้งพระสายธรรมยุติและมหานิกาย แม้ในคราวที่ได้ขึ้นเป็น “สมเด็จ” แล้ว ท่านก็ยังคงกราบพระเถระผู้ใหญ่ที่มีอายุพรรษามากกว่าท่านเสมอๆ ด้วยจิตใจที่นอบน้อม จึงเป็นที่มาของคำสรรเสริญที่ว่า พระสมเด็จผู้นี้คือพระผู้ถือพรรษา ไม่ถือสมณศักดิ์ ช่างน่าชื่นชม
       
        “เจ้าพระคุณสมเด็จชอบสนทนาธรรมกับพระสายวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในวัยหนุ่ม ท่านเดินทางไปสักการะและสนทนาธรรมกับ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่ดูล อตุโล, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ฯลฯ พระสายวิปัสสนากัมมัฏฐานชื่อดังเป็นประจำ


[ทรงฉันในบาตร เดินตามทางธรรมพระวัดป่า พ.ศ.2508]


[ช่วงหยุดพัก ถวายน้ำปานะระหว่างทางเดินธุดงค์ จากวัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ไปวัดถ้ำขาม จ.สกลนคร เพื่อภาวนากับ "หลวงปู่ฝั้น"]

  มีเรื่องเล่าว่า เวลาท่านเดินทางไปภาคอีสาน ท่านจะฉันในบาตรเพียงมื้อเดียว เหมือนสายพระป่า และชอบปฏิบัติกัมมัฏฐาน ใช้ชีวิตเรียบง่ายสมถะ ท่านไม่มีรถยนต์ส่วนตัว ทาง พศ. (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) จะจัดรถยนต์ถวายเวลาท่านเดินทาง เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่มีวัตรปฏิบัติเรียบง่าย” พระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) โฆษกและกรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) บอกเล่าเอาไว้เช่นนั้น


[สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 (รูปที่ 1 จากซ้าย) ทรงถือ “หนังสือวินัยมุข” ไว้ในมือเพื่อใช้ตรวจสอบความถูกต้องในการสวดสมมติสีมา เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ "พระเทพเมธาภรณ์" ร่วมกับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19]

เช่นเดียวกับ “หลวงปู่อุทัย สิริธโร” เจ้าอาวาสวัดเขาใหญ่ (เจริญธรรม) ญาณสัมปันโน ที่ย้อนรอยอดีตเอาไว้ ถึงเมื่อครั้งเคยธุดงค์ปฏิบัติธรรมร่วมกันกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร และสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ ตั้งแต่สมัยที่ยังดำรงสมณศักดิ์เป็น “พระมหามุนีวงศ์” ว่า “ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ หมั่นปฏิบัติธรรมเป็นนิจ มีนิสัยอ่อนโยน มีเมตตา ปฏิบัติตนเคร่งครัด”

    ศิษย์หลวงปู่ฝั้น “ทำใจให้สบาย”



  "...เราไม่มีแม้สักแดงเดียวนะ เราไม่สะสม แม้แต่เหรียญท่านอาจารย์ฝั้น สักเหรียญเรายังไม่มี รถเราก็ไม่มี..."
       
       นี่คือส่วนหนึ่งจากโอวาทธรรมของสมเด็จพระสังฆราช ในช่วงที่ยังถูกเรียกว่า “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร)” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสมถะเรียบง่ายของพระองค์เป็นอย่างมาก ประชาชนสายธรรมพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เหมาะสมแล้วที่เป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิของ “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร” แห่งวัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร ซึ่งเป็นพระอริยสงฆ์ที่ประชาชนทั่วทั้งแผ่นดินเคารพศรัทธาในข้อวัตรปฏิบัติโดยแท้

       
        ในฐานะหนึ่งในศิษย์ของหลวงปู่ฝั้น เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช เคยได้กล่าวถึงพระอาจารย์ใหญ่เอาไว้ ระหว่างแสดงพระธรรมเทศนาเนื่องในวันแสดงมุทิตาจิตแด่หลวงปู่อุทัย สิริธโร ณ วัดเขาใหญ่ญาณสัมปันโน ต.โป่งตาลอง จ.นครราชสีมา เอาไว้ดังนี้
       
        “...อาตมาได้เคยฟังธรรมจากท่านอาจารย์ใหญ่ฝั้น อาจาโร ตั้งแต่ครั้งที่ได้มากราบท่าน ท่านกล่าวว่า “ทำใจให้สบาย” ซึ่งยังปรากฏติดอยู่ในใจจนป่านนี้ คำว่าทำใจให้สบายในสำเนียงของท่าน รู้สึกว่าจับใจ ฟังแล้วทำให้ใจมันสบายตาม ซึ่งไม่ทราบว่าจะถ่ายทอดคำนี้ออกมาให้ท่านทั้งหลายทราบกันได้อย่างไร
       
        ถ้าเราศึกษาค้นคว้า ปฏิบัติธรรม เราคงจะได้อย่างที่อาจารย์ใหญ่ท่านบอกให้ฟังว่า ทำใจให้สบายได้ ก็ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จ คือความสบายใจ ทำใจให้สบาย”
       


       ไม่ใช่เพียงคำบอกเล่าจากพระสงฆ์องค์เจ้าเท่านั้นที่คอยย้ำถึงคุณงามความดีของสมเด็จพระสังฆราชลำดับที่ 20 พระองค์นี้ แม้แต่ประชาชนผู้เคยมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับท่านยังบอกเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า พระองค์เหมาะสมกับคำว่า “พระแท้” มากเพียงใด เรื่องราวจาก “ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน” ที่บอกเล่าผ่านแฟนเพจเอาไว้ คืออีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นเรื่องราวที่เล่าจากประสบการณ์ตรง เมื่อครั้งเคยบวชเณรใหม่ๆ และเคยมี “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” หรือชื่อเรียกในสมัยนั้นคือ “พระมหาอัมพร” มาเป็นพระพี่เลี้ยง
       
        “ผมยังจำครั้งแรกที่ท่านมหาอัมพรพาออกบิณฑบาตได้ หลังจากบวช 2-3 วัน ท่านเห็นว่าเดินไกลๆ แล้วจีวรไม่หลุดลุ่ยแน่ จึงนำวนไปทางวัดสุทัศนฯ มีโยมรายหนึ่งตั้งโต๊ะใหญ่มากหน้าบ้าน พระเณรยืนล้อมวงอยู่ห่างๆ เพื่อผลัดกันเข้าไปรับบาตรทีละองค์
       
        รอสักครู่หนึ่ง พอเมื่อยก็ถึงคิวท่านอัมพร รับบาตรเสร็จ ผมเห็นพี่สองคนรีรออยู่ กลัวจะชักช้าก็เลยก้าวออกไปรับบาตรต่อทันที เสร็จแล้วก็เดินไปสมทบกับท่าน
       
        โดนท่านดุว่าเณรไปตัดคิวพระท่านทำไม พอผมได้สังเกตจึงเห็นว่า พระท่านยืนแยกสายกันตามใครมาซ้ายมาขวา แล้วสลับเข้ารับบาตรซ้ายทีขวาที ผมไปเบิลเป็นขวาๆ ท่านมหาอัมพรเลยต้องเดินไปขอโทษพระองค์นั้น ซึ่งท่านก็ไม่ว่าอะไร...

อ้างถึง
รำลึกถึงความจำดีๆแต่ครั้งอดีต
.
.
ผมเป็นเด็กข้างวัดมกุฎกษัตริยาราม เติบโตในบ้านคุณตาซึ่งเคยเป็นไวยาวัจกรของวัด ญาติพี่ๆน้องๆของผมที่เป็นหลานคุณตาคุณยายจึงล้วนใกล้ชิดพระสงฆ์องค์เจ้าโดยไม่เคอะเขิน แต่ผมพิเศษกว่าเขา เพราะท่านเจ้าคุณสาสนโสภณ (จวน อุฎฺฐายี) เจ้าอาวาสวัดมกุฏเป็นผู้ตั้งชื่อให้ผม ท่านเจ้าคุณสาฯได้เลื่อนขึ้นเป็น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ และสมเด็จพระสังฆราชในที่สุด
.
แต่ด้วยเหตุบังเอิญที่ในฤดูร้อนปีหนึ่งครอบครัวเราไปเที่ยวหัวหินกัน ผมและพี่สองคนได้ขึ้นไปเที่ยวเขาไกรลาศโดยพ่อแม่ของเรามิได้ไปด้วย จึงได้พบท่านพระครูวิสิษฐ์ศีลาจารย์เจ้าอาวาส แล้วท่านให้ชวนพ่อแม่ของเราขึ้นไปเที่ยวบ้าง ครั้นไปแล้วจึงได้ทราบว่าวัดเขาไกรลาสนี้ เป็นสาขาของวัดราชบพิธ มีท่านเจ้าคุณจินดา รองเจ้าอาวาสเป็นผู้มาบุกเบิกก่อสร้าง
.
ท่านเจ้าคุณจินดากรมุนี (ทองเจือ) ท่านเป็นพระที่มีวาทะศิลป์ยอดเยี่ยม เมื่อพ่อแม่พาเราไปกราบท่านที่วัดราชบพิธ ท่านชักชวนให้เราเด็กๆทั้งสามคนบวชเณรในช่วงปิดเทอมใหญ่ พ่อแม่ก็สนับสนุนให้เราบวช ผมอายุสักสิบปีเท่านั้นเองเมื่อบวชครั้งแรก ที่ยอมก็เพราะวัดราชบพิธไม่มีงานเผาผี ถ้าวัดมกุฏขอบาย ครั้งนั้นท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์(วาสน์) เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านเจ้าคุณจินดากรมุนีเป็นพระกรรมวาจาจารย์ บวชแล้วท่านมอบหมายให้พระมหาอัมพรเป็นพระพี่เลี้ยง
.
ผมยังจำครั้งแรกที่ท่านมหาอัมพรพาออกบิณฑบาตได้ หลังจากบวชสองสามวันท่านเห็นว่าเดินไกลๆแล้วจีวรไม่หลุดรุ่ยแน่ จึงนำวนไปทางวัดสุทัศน์ มีโยมรายหนึ่งตั้งโต๊ะใหญ่มากหน้าบ้าน พระเฌรยืนล้อมวงอยู่ห่างๆเพื่อผลัดกันเข้าไปรับบาตรทีละองค์ รอสักครู่หนึ่งพอเมื่อยก็ถึงคิวท่านอัมพร รับบาตรเสร็จ ผมเห็นพี่สองคนรีรออยู่ กลัวจะชักช้าก็เลยก้าวออกไปรับบาตรต่อทันที เสร็จแล้วก็เดินไปสมทบกับท่าน โดนท่านดุว่าเณรไปตัดคิวพระท่านทำไม พอผมได้สังเกตุจึงเห็นว่า พระท่านยืนแยกสายกันตามใครมาซ้ายมาขวา แล้วสลับเข้ารับบาตรซ้ายทีขวาที ผมไปเบิ้ลเป็นขวาๆ ท่านมหาอัมพรเลยต้องเดินไปขอโทษพระองค์นั้น ซึ่งท่านก็ไม่ว่าอะไร
.
อยู่วัดราชบพิธสักสัปดาห์เดียวก็ตามท่านเจ้าคุณจินดาไปวัดเขาไกรลาศเพื่ออยู่ต่อแล้วสึกที่นั่น ไม่กี่วันพวกเราก็มีเด็กหนองแกมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ พาเฌรเมืองกรุงเที่ยวผจญภัยไปทั่วย่าน วันหนึ่งไปไกลถึงหัวเขาตะเกียบด้านที่เป็นป่าสน แล้วลงเล่นน้ำทะเลที่นั่น สบงจีวรเปียกหมดทั้งตัว ขากลับนายพักตร์ลูกศิษย์หาไม้ไฝ่ให้คนละท่อน เอาจีวรผูกแล้วเดินชูตากแดดตากลม กะจะให้แห้งก่อนถึงวัด ถึงตีนเขาไกรลาศเดินขึ้นกระไดไปอีกร้อยกว่าขั้นเหนื่อยแทบแย่ เห็นท่านเจ้าคุณจินดาท่านยืนรออยู่แล้ว โดนหยิกที่ท้องแขนคนละทีทั้งเณรทั้งลูกศิษย์ก่อนนั่งฟังเทศนา ท่านบอกว่าไม่รักษาสมณสารูป ทำตัวเป็นลิงเป็นค่าง เอาจีวรมาทำธงเดินแห่กันมาเหมือนทหาร แลเห็นแต่ไกล
.
ก็ตามที่ท่านว่าแหละครับ ผมคิดอยู่ตลอดเวลาว่าบวชครั้งนั้นเป็นการไปตดรดผ้าเหลืองตามสำนวนโบราณแท้ๆ แต่แม่ผมก็เป็นปลื้มมากเพราะท่านจัดให้ลูกๆผลัดวันกันขึ้นไปเทศน์โปรดโยม พอโตขึ้นมาหน่อยก็เอาใหม่ ขอบวชเณรอีกครั้งแบบบวชเดี่ยวเลยที่วัดราชบพิธ ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์เช่นเคย องค์นี้ต่อมาไม่นานท่านได้เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และเป็นสมเด็จพระสังฆราชในที่สุด
.
บวชเณรครั้งที่ ๒ นี้ อายุประมาณสิบห้าสิบหกแล้ว ท่านเจ้าคุณจินดาท่านมอบให้ท่านมหาอัมพร พระอุปัฏฐากของท่านเป็นผู้ดูแลสั่งสอนผมเช่นเคย ความใกล้ชิดครั้งนี้มีมาก จนสังเกตุได้ว่า แทบทุกเพลที่ท่านเจ้าคุณจินดาจะมาฉันเพลที่กุฏิปริยชาติของท่าน นอกจากญาติโยมสองสามคนจะเปลี่ยนหน้ามาถวายภัตตาหารแล้ว จะมีขาประจำ คือน้องชายของท่านมหาอัมพร และหญิงสาวสวยคนหนึ่งมานั่งสงบเสงี่ยมไม่พูดไม่จาอยู่ด้วย แต่เธอก็ทำตัวเรียบร้อย เวลานั่งก็จะมีผ้าพันคอผืนโตๆมาคลุมหัวเข่ามิดชิด ตอนแรกๆผมก็นึกว่าเป็นแฟนน้องชายท่าน แต่ไม่นานก็สังเกตุว่าชายหญิงทั้งสองมิได้มาด้วยกัน เวลาไปก็ไปกันคนละทาง
.
ผมละนึกเป็นห่วงเสียจริงๆ ท่านมหาอัมพรนั้นที่เป็นพระรูปงาม ราศีเปล่งปลั่ง ใครเห็นใครนิยมมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เวลาโอภาปราศัยก็นุ่มนวล ยิ้มแย้มตลอดเวลา วันหนึ่งฉันเพลเสร็จเรียบร้อยใครๆไปกันหมดแล้ว ผมกำลังจะเดินกลับกุฎิของผม พอออกมาพ้นประตูกุฏิของท่านแลเห็นแม่หญิงคนนั้นเดินมาแต่ไกล เสียงท่านอัมพรตะโกนเรียกผมจากหน้าต่างขั้นบนว่า เณรๆ กลับมาก่อน ผมขึ้นมาหาท่านแล้วท่านก็บอกว่า อยู่เป็นเพื่อนกันหน่อย แล้วท่านก็ครองจีวรเรียบร้อยไปนั่งเตรียมตัวอยู่บนอาสนะของท่าน
.
แม่หญิงคนสวยคนนั้นก็ขึ้นมานั่งอยู่หัวกระไดแล้วกราบเบญจางคประดิษฐ์อย่างงดงาม ผมจำไม่ได้ว่าเธอพูดอะไรแล้วท่านตอบว่าอย่างไร แต่ท่านไม่แสดงสีหน้าว่าไม่พอใจที่จะรับแขก พูดไปคุยไปด้วยรอยยิ้มบนใบหน้าเหมือนกับเวลาพูดกับโยมทุกคน ผมก็ง่วงสิครับ ค่อยถอยตนเองเข้าไปในห้องนอนของท่าน ตอนแรกก็นั่งคาประตูอยู่ สักพักก็ล้มตัวลงนอนหลับตาแต่เงี่ยหูให้ได้ยินเสียงตลอด อยู่ๆเสียงสนทนาก็สะดุดลง แล้วเปลี่ยนเป็นเสียงของท่านที่พูดข้างหูผม “ เณรนี่ บอกให้นั่งเป็นเพื่อนกันหน่อยก็ไม่ได้”
.
ผมทะลึ่งพรวดขึ้นทันที ท่านก็เดินกลับไปนั่งที่อาสนะเดิมห่างจากโยมสาวห้าหกเมตร แต่ยังหันมาบอกผมว่า “ออกมานั่งข้างนอกนี่” ในจังหวะที่กระอักกระอ่วนนี้เอง แม่หญิงคนงามก็กราบลาท่านด้วยความรู้สึกอย่างไรผมก็ไม่อยากเดา แล้วเธอผู้นั้นก็เดินจากออกไปจากทางโคจรของท่านเมื่อไหร่อย่างไร ผมก็ไม่ทราบอีกเลย
.
ในช่วงเวลาเหล่านี้ ครอบครัวของผมรู้สึกถูกจริตกับปฏิปทาของพระวัดราชบพิธมาก ทุกองค์น่ารักน่าเคารพ ไม่มากไปน้อยไป แทบจะทุกคืนหลังอาหารเย็น จะขับรถไปซื้อน้ำอ้อยที่ถนนวิสุทธิกษัตริย์ แล้วนำไปถวายเป็นน้ำปาณะ สนทนากับพระพอสมควรแก่เวลาแล้วก็กราบลา
.
แล้วก็เลยมีเรื่องสำคัญผมอดที่จะเล่าไม่ได้
เริ่มจากญาติผู้ใหญ่ของผมคนหนึ่งได้ไปค้นพบรู้จักกับอาจารย์สมัย วงศาโรจน์ โหราจารย์ผู้โด่งดังแห่งยุค แต่ตอนนั้นเราเรียกว่าหมอหมัย หมอหมัยดูดวงแม่นมาก ปากคอสำบัดสำนวนก็ไม่เหมือนใคร เวลาฟันเปรี้ยงออกไปบางคนถึงกับผงะ หมอหมัยดูป้าของผมคนหนึ่งว่า ภายในช่วงวันนั้นวันนี้ให้ระวังอุบัติเหตุ ป้าเชื่อมากขนาดไม่ยอมออกไปไหนเลย เกือบจะพ้นช่วงนั้นอยู่แล้วก็ให้บังเอิญสะดุดขาตนเอง ตกกระไดลงมาแขนหักในบ้าน พวกเรายังล้อกันว่าป้าคงกลังว่าหมอดูจะไม่แม่น เลยโดดบันไดลงมาให้ต้องตามคำทำนาย กิตติศัพท์ของหมอหมัยไม่ทราบใครไปเล่าให้ท่านเจ้าคุณจินดาฟัง ท่านบอกว่า “เราอยากดู ช่วยพาเราไปบ้าง”
.
แม่และผมกับเพื่อนบ้านสนิทกันคนหนึ่ง เป็นผู้ขับรถพาท่านเจ้าคุณจินดาและท่านมหาอัมพรไปหาหมอหมัยที่บ้านซอยโปโลตามนัดในช่วงค่ำวันหนึ่ง โอภาปราศัยเสร็จแล้ว หมอหมัยก็ผูกดวงท่านเจ้าคุณ แล้วก็บอกว่า ดวงนี้อยู่ไม่สุข อยู่เฉยๆไม่เป็น ชอบหางานยากๆหนักๆมาให้ตัวเอง ท่านก็หัวเราะแล้วถามว่า แล้วมันจะสำเร็จไหม หมอหมัยบอกพอจะสำเร็จงานหนึ่งก็ไปจับงานใหม่เข้ามาอีกอย่างนี้เรื่อยไป แล้วพูดต่อว่า ดวงของท่านนี้ ต่อไปต้องได้เป็นสมเด็จแน่ ถ้าไม่ได้เป็นก็ให้เอาตีนหมามาเหยียบหน้าผมได้ นี่ครับ หมอหมัยของแท้ต้องสำนวนอย่างนี้ ว่าแล้วก็ส่งดวงให้ "ท่านเจ้าคุณ เก็บไว้เลย ดวงของท่านไม่จำเป็นต้องดูหมอ"
.
พอถึงตาท่านอัมพร ดูเหมือนท่านสนใจจะถามเรื่องการศึกษาที่ดูเหมือนท่านจะต้องไปเรียนต่อที่อินเดีย หมอหมัยผูกดวงแล้วก็นิ่งไปชั่วครู่ มีแถมเพ่งพินิจโหวงเฮ้งท่านด้วยก่อนจะพูดว่า “ดวงของท่านมหา สมเด็จผมก็ว่ายังน้อยไป ผมจะไม่ดูเรื่องอะไรเล็กๆน้อยๆละ ท่านเอาดวงนี้เก็บไปเลย”
.
พระทั้งสององค์หัวเราะอย่างไม่เชื่อถือ ก็มันตลกไหมล่ะนั่น อาจารย์กับลูกศิษย์มาด้วยกัน หมอดูบอกว่าจะเป็นสมเด็จด้วยกันทั้งคู่ อีกองค์หนึ่งสมเด็จก็ยังน้อยไปอีกด้วย
ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์คืนนั้นที่ยังมีชีวิตอยู่มีแค่สมเด็จอัมพรกับผม ความจำของผมส่วนฝอยๆอาจจะเพี้ยนไปบ้าง แต่หลักๆแล้วไม่ผิดแน่ ตอนที่ท่านเจ้าคุณอัมพรได้เป็นสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ผมได้เรียนถามว่ายังจำเรื่องนี้ได้หรือไม่ ท่านบอกว่าไหนๆเขาว่าอย่างไร พอผมกราบเรียนแล้วท่านก็หัวเราะ บอกว่า เหรอ ๆ คือผมว่าท่านไม่ได้สนใจอะไรกับคำทำนายนี้ตั้งแต่แรกแล้วละครับ เรื่องนี้จึงไม่ได้อยู่ติดสมองท่านเลย ส่วนผมนั้น ถ้าไม่เล่าก็คงจะอกแตกตาย
.
เรื่องราวที่ท่านจำได้แม่นก็คือ คราวที่ผมเป็นสารถีขับรถพาท่านเจ้าคุณจินดาและท่านกับพระอีกสององค์ไปวัดป่าทางอิสานนั่นแหละ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วท่านเห็นรูปยังบอกว่า ท่านเคยไปวัดป่าบ้านตาดมาครั้งหนึ่งแล้ว ปีต่อมาก็ไปกับผมเป็นครั้งที่ ๒ ได้พบครูบาอาจารย์องค์นั้นองค์นี้ แต่วัดถ้ำขามของท่านอาจารย์ฝั้นท่านไม่ได้พูดว่าท่านเคยไปมาก่อน เข้าใจจะเป็นตามที่ผมเคยทราบว่าท่านไปเป็นครั้งแรกและได้ฝากตนเป็นศิษย์กรรมฐานของท่านอาจารย์ฝั้นในครั้งนั้น เรื่องนี้ผมเขียนไปแล้วคงไม่ต้องเล่าซ้ำอีก
เมื่อบวชครั้งสำคัญในชีวิต ผมได้บวชนาคหลวงในพระอุโบสถวัดพระแก้ว สมเด็จพระสังฆราชวาสน์ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ แต่ไปจำพรรษาวัดบวรนิเวศวิหาร ท่านเจ้าคุณสา(เจริญ สุวฑฺฒโน) พระกรรมวาจาจารย์เป็นเจ้าอาวาส ในปีนั้นเองท่านได้เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระญาณสังวร และต่อมาเป็น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ในที่สุด
.
ออกพรรษาแล้ว ผมลาท่านไปอยู่วัดราชบพิธระยะหนึ่งก่อนลาสิกขา ได้มีโอกาสเข้าร่วมปาฏิโมกข์ ซึ่งสงฆ์จะมอบหมายให้พระองค์หนึ่งเป็นผู้สวดบาลีเป็นเวลาร่วมชั่วโมง โดยจะต้องไม่ผิดแม้แต่คำเดียว ซึ่งหน้าที่นี้เป็นของท่านอัมพรแต่ไหนแต่ไรมา ว่ากันว่าสมองและความจำของท่านเป็นเลิศกว่าพระทุกรูปในวัดราชบพิธ ผมรู้สึกเป็นบุญที่มีคุณสมบัติครบที่จะได้ร่วมในพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ของสงฆ์และได้ฟังท่านอัมพรหลับตาท่องรวดเดียวไม่มีพักยก ตั้งแต่ต้นจนจบ
.
นั่นเป็นโอกาสสุดท้ายท่านที่ผมได้ใกล้ชิดครูบาอาจารย์องค์ปฐม หลังจากสึกออกมาทำงานทำการแล้วก็จำเป็นต้องห่างเหิน แต่ทุกครั้งที่มีงานบุญ บ้านผมก็นิมนต์พระวัดราชบพิธทุกครั้ง ท่านเจ้าคุณจินดาได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นตามลำดับ จนได้เป็นสมเด็จพุทธปาพจนบดี ส่วนท่านมหาอัมพร ครั้งสุดท้ายที่ไปกราบนั้น ท่านเป็นสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ซึ่งทั้งสององค์ท่านได้ให้ความเมตตาสม่ำเสมอจนกระทั่งชั้นลูกชั้นหลาน สิ้นสมเด็จพุทธปา สมเด็จอัมพรท่านก็เป็นหลักในทางธรรมให้พวกเราได้ยึดเหนี่ยวต่อ เวลาเรากราบท่านทุกครั้ง เราสำนึกอยู่เสมอว่าเราโชคดีที่มีสงฆ์อย่างท่านเป็นเนื้อนาบุญ นำทางชีวิตให้ตั้งแต่เด็กจนแก่ ตลอดเวลาที่ผ่านมาผมยังไม่เห็นจริยวัตรของท่านเปลี่ยน นอกจากจะงดงามขึ้น ท่านไม่เคยหลุดกิริยาวาจาอันใดเลยที่จะทำให้ใจเราสะดุดแม้แต่นิดเดียว ท่านเป็นพระที่สำนึกของเราบอกว่า พระแท้คือพระอย่างนี้
.
เล่าให้ใครฟังเขาก็มักจะบอกว่าผมโชคดีที่มีโอกาสใกล้ชิดพระผู้ใหญ่หลายองค์ แต่ขอเรียนว่า ทุกองค์ตั้งแต่ท่านได้เป็นสมเด็จ โอกาสที่จะผมจะได้ใกล้ชิดท่านก็ไม่เท่าเดิม สมเด็จอัมพรนั้น หากผมคิดถึงท่านก็จะต้องไปแต่เช้าตรู่ก่อนจะออกจากห้องเล็กๆที่ท่านจำวัด พอใกล้เวลาฉันเช้า โยมก็มานั่งกันหนาตาแล้ว เห็นอย่างนั้นทีไรก็สังเวช ไม่อยากเอาตัวไปเพิ่มความไร้สาระให้ท่านอีก ดังนั้น หลังๆนี้ถ้าไม่มีธุระจำเป็นจริงๆ หรือท่านเรียกใช้มาก็จะไม่ไป
อยากจะถนอมสังขารของท่านให้ดำรงอยู่ นานที่สุดเท่าที่ท่านจะดำรงได้ เพื่อให้เป็นที่พึงทางใจให้ชาวพุทธคนไทย ไปอีกนานเท่านาน



จาก fb : ม.ล. ชัยนิมิตร นวรัตน https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1352204618176566&id=1174884455908584


       จนมาเมื่อบวชครั้งสำคัญในชีวิต ผมได้บวชนาคหลวงในพระอุโบสถวัดพระแก้ว... ออกพรรษาแล้ว ผมลาท่านไปอยู่วัดราชบพิธฯ ระยะหนึ่งก่อนลาสิกขา ได้มีโอกาสเข้าร่วมปาติโมกข์ ซึ่งสงฆ์จะมอบหมายให้พระองค์หนึ่งเป็นผู้สวดบาลีเป็นเวลาร่วมชั่วโมง โดยจะต้องไม่ผิดแม้แต่คำเดียว ซึ่งหน้าที่นี้เป็นของ “ท่านอัมพร” แต่ไหนแต่ไรมา
       
        ว่ากันว่าสมองและความจำของท่านเป็นเลิศกว่าพระทุกรูปในวัดราชบพิธ ผมรู้สึกเป็นบุญที่มีคุณสมบัติครบที่จะได้ร่วมในพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ของสงฆ์และได้ฟังท่านอัมพรหลับตาสวดรวดเดียวไม่มีพักยก ตั้งแต่ต้นจนจบ

       
        ครั้งสุดท้ายที่ไปกราบ (ท่านมหาอัมพร) นั้น ท่านเป็นสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ สมเด็จอัมพรท่านก็เป็นหลักในทางธรรมให้พวกเราได้ยึดเหนี่ยวต่อ เวลาเรากราบท่านทุกครั้ง เราสำนึกอยู่เสมอว่าเราโชคดีที่มีสงฆ์อย่างท่านเป็นเนื้อนาบุญ นำทางชีวิตให้ตั้งแต่เด็กจนแก่
       
        ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมยังไม่เห็นจริยวัตรของท่านเปลี่ยน นอกจากจะงดงามขึ้น ท่านไม่เคยหลุดกิริยาวาจาอันใดเลยที่จะทำให้ใจเราสะดุดแม้แต่นิดเดียว ท่านเป็นพระที่สำนึกของเราบอกว่า พระแท้คือพระอย่างนี้”
       
        ไม่ต่างไปจากแฟนเพจ "พระอริยเจ้า" ที่เขียนเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระสังฆราชพระองค์ใหม่เอาไว้ด้วยความเคารพจากใจ โดยตั้งชื่อบทความว่า “เมื่อครั้งคนบุญน้อยได้เข้าใกล้สมเด็จท่าน” บอกเล่าความประทับใจจากประสบการณ์ตรงของตัวเอง กับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นปีที่แล้ว เมื่อครั้งได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมในงานพระราชทานเพลิงสรีรสังขารหลวงปู่บุญมี โชติปาโล ณ วัดสระประสานสุข จ.อุบลราชธานี

อ้างถึง


:: เมื่อครั้งคนบุญน้อยได้เข้าใกล้สมเด็จท่าน ::
เรื่องนี้ เป็นประสบการณ์จริงของชีวิตแอดมิน ที่ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสอยู่ใกล้ๆกับสมเด็จท่าน
เรื่องราวที่จะเล่าต่อไปนี้ แอดมินประสพมาด้วยตนเอง หากภาษาบางภาษา ศัพท์บางศัพท์ใช้ไม่เหมาะกับสถานะเนื่องด้วยแอดมินเป็นคนเบาปัญญาก็ต้องกราบขออภัยทุกท่านมา ณ ที่นี้
เมื่อต้นปีพุทธศักราช ๒๕๕๙ ผมได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมในงานพระราชทานเพลิงสรีระสังขารหลวงปู่บุญมี โชติปาโล ณ วัดสระประสานสุข จ.อุบลราชธานี
ในวันงานนั้น อากาศหนาวมากครับ ผมเลยได้เข้าไปหลบอากาศหนาวใต้ฐานพระใหญ่บริเวณนั้น โดยผมก็หาที่นั่งเงียบๆอยู่มุมหนึ่งโดยใต้ฐานพระใหญ่ก็มีพ่อแม่ครูอาจารย์บางส่วนเข้ามานั่งหลบหนาวสนทนาธรรมกันตามประสาพระเถระที่ท่านเป็นสหธรรมิกกัน
จนเวลาล่วงไปถึงช่วงที่ประธานสงฆ์จะเดินทางมาร่วมในงาน ก็ได้มีพระเถระผู้เฒ่าหน้าตาแจ่มใสยิ้มแย้มองค์หนึ่งเข้ามาภายในพิพิธภัณฑ์แล้วเข้ามานั่งอยู่ตรงเก้าอี้ติดกับตรงที่ผมนั่งอยู่ ท่านยิ้มแย้มแจ่มใสมากหากแต่มีระเบียบเคร่งครัด
และสิ่งที่แอดมินได้พบกับตนเองคือ พระองค์นี้ท่านมิรับของถวายใดๆเลย แล้วยังกล่าวกับคนที่มาถวายด้วยน้ำเสียงเปี่ยมเมตตาว่า "ที่วัดมีแล้ว ไม่เอาหรอก"
ผลคือท่านมิรับสิ่งใดเลยครับ ท่านเข้ามาท่านก็นั่งสนทนากับพระที่เข้ามากราบท่าน สนทนากับญาติโยมบริเวณนั้นอย่างเป็นกันเอง
และภาพที่ทุกคนในบริเวณนั้นรวมถึงแอดมินที่ได้นั่งอยู่เงียบๆใกล้ๆท่านได้เห็น ก็คือใบหน้าของพระองค์นี้จะยิ้มแย้มตลอด เคร่งครัดหากแต่เมตตา
และพระองค์ที่แอดมินกล่าวถึงนั้นแล คือ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุณีวงศ์
ที่ในวันพรุ่งนี้จะได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เพจ พระอริยเจ้า https://www.facebook.com/Buddhistarhat/posts/1285964551483174:0

“เวลาล่วงไปถึงช่วงที่ประธานสงฆ์จะเดินทางมาร่วมในงาน ก็ได้มีพระเถระผู้เฒ่าหน้าตาแจ่มใสยิ้มแย้มองค์หนึ่งเข้ามาภายในพิพิธภัณฑ์แล้วเข้ามานั่งอยู่ตรงเก้าอี้ติดกับตรงที่ผมนั่งอยู่ ท่านยิ้มแย้มแจ่มใสมาก หากแต่มีระเบียบเคร่งครัด และสิ่งที่แอดมินได้พบกับตนเองคือ พระองค์นี้ท่านมิรับของถวายใดๆ เลย แล้วยังกล่าวกับคนที่มาถวายด้วยน้ำเสียงเปี่ยมเมตตาว่า "ที่วัดมีแล้ว ไม่เอาหรอก"
       
        ผลคือท่านมิรับสิ่งใดเลยครับ ท่านเข้ามาท่านก็นั่งสนทนากับพระที่เข้ามากราบท่าน สนทนากับญาติโยมบริเวณนั้นอย่างเป็นกันเอง และภาพที่ทุกคนในบริเวณนั้น รวมถึงแอดมินที่ได้นั่งอยู่เงียบๆ ใกล้ๆ ท่านได้เห็น ก็คือใบหน้าของพระองค์นี้จะยิ้มแย้มตลอด เคร่งครัดหากแต่เมตตา
       
        และพระองค์ที่แอดมินกล่าวถึงนั้นแล คือท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์”


       
[สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์]

       
       ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
       ขอบคุณภาพและข้อมูล: แฟนเพจ “ม.ล. ชัยนิมิตร นวรัตน”, fb.com/buddhistarhat, fb.com/luangtatang และ www.dhammajak.net


จาก http://astv.mobi/A5kglDs
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...