เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ผ่านเรื่องเล่าอนิเมชั่นของ ‘โฮโซดะ มาโมรุ’เดือนพฤษภาคมนี้มีข่าวเกี่ยวกับผู้กำกับอนิเมชั่นญี่ปุ่นคนดังออกมาอย่างต่อเนื่อง อย่าง ชินไค มาโคโตะ หลังภาพยนตร์เรื่อง ‘หลับตาฝัน…ถึงชื่อเธอ’ (Your Name) ออกฉายไปเมื่อปีที่แล้วจนสร้างกระแสฟีเวอร์แถมยังกวาดรางวัลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ก็มีข่าวว่าเขาไม่ได้ไปรับรางวัลที่งาน Japan Movie Critics ด้วยเหตุผลที่ว่า ‘เขากำลังยุ่งกับผลงานชิ้นใหม่อยู่’ ส่วน มิยาซากิ ฮายาโอะ ผู้กำกับระดับตำนานจากสตูดิโอ จิบลิก็ออกประกาศว่าจะกลับมาทำภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องใหม่อีกครั้งหนึ่ง (เราไม่มีข้อมูลว่าคุณฮายาโอะพูดเช่นนี้มากี่รอบแล้ว)
ภาพจาก : Tokyo International Film Festival
และก็มีข่าวของ โฮโซดะ มาโมรุ ที่แจ้งข่าวว่าผลงานเรื่องใหม่ของเขาจะออกฉายภายในปี 2018 และจะใช้ชื่อเรื่องว่า Mirai (อนาคต) และภาพยนตร์เรื่องนี้จะใช้ธีม ‘ความเป็นพี่น้อง’ หลังจากที่เรื่องก่อนหน้านี้เขาเคยใช้ธีมอื่นๆ มาแล้ว
อาจเพราะผลงานภาพยนตร์แต่ละเรื่องของโฮโซดะ มาโมรุ มีธีมที่ชัดเจนทำให้สังเกตได้ว่าบางทีอนิเมะของผู้กำกับท่านนี้อาจจะเล่าเรื่องวัฐจักรชีวิตได้มากกว่าที่เราคาด แม้ว่าภายนอกอาจจะเป็นอนิเมชั่นที่ดูแล้วได้รับความสุขกับความประทับใจกลับไปก็ตามที
กว่าจะกลายเป็น โฮโซดะ มาโมรุ ในปัจจุบัน
โฮโซดะ มาโมรุ มีความฝันที่จะเป็นผู้กำกับอนิเมชั่นมาตั้งแต่วัย 12 ขวบ ซึ่งว่ากันว่าเป็นผลพวงจากการที่เขาได้ชมภาพยนตร์อนิเมชั่น Lupin The 3rd : The Castle of Cagliostro (ผลงานการกำกับเรื่องแรกของ มิยาซากิ ฮายาโอะ) ก่อนที่เขาจะเดินทางไปเรียนด้านการวาดภาพสีน้ำมันที่วิทยาลัยศิลปะคานาซาว่า แม้ว่าตอนแรกเขาตั้งใจจะสมัครเข้าทำงานที่สตูดิโอจิบลิทันที แต่เขาก็ถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่า “อยากให้เก็บประสบการณ์เสียก่อน” ซึ่งเขาก็ไปฝึกตนที่ Toei Animation ในตำแหน่งงานอนิเมเตอร์ ก่อนที่จะโยกย้ายไปสู่ฝ่ายผลิตที่ดูแลส่วนอื่นๆ ของการทำอนิเมชั่นในเวลาต่อมา และเขาก็มีโอกาสกำกับภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องแรกในชีวิต นั่นก็คือ Digimon Adventure ฉบับภาพยนตร์สั้นที่ออกฉายในงาน Toei Animation Fair ในปี 1999
เมื่อมีประสบการณ์แก่กล้าแล้ว โฮโซดะ มาโมรุ ก็มีโอกาสได้ทำงานกับทางสตูดิโอจิบลิเป็นการชั่วคราว ในช่วงแรกของการทำภาพยนตร์เรื่อง ปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์ แต่ก็ถอนตัวออกมาหลังจากที่คอนเซปท์ของเรื่องเปลี่ยนแปลงไปด้วยหลายๆ สาเหตุ เขาจึงกลับไปทำงานกับทาง Toei อีกครั้ง และได้กำกับภาพยนตร์ ดิจิมอนแอดเวนเจอร์ วอร์เกมส์ของพวกเรา ก่อนที่จะสร้างความโดดเด่นในแนวทางการกำกับ กับอนิเมชั่น One Piece ฉบับภาพยนตร์ภาคที่ 6 ซึ่งแตกต่างจากเนื้อหาภาคอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด
The Girl Who Leapt Through Time อนิเมชั่นที่เป็นผลงานสร้างชื่อให้โฮโซดะ มาโมรุ เป็นที่จดจำในระดับนานาชาติ / ภาพจาก : Nippon.com
ช่วงหลังจากนั้นเองที่ทำให้ โฮโซดะ มาโมรุ เริ่มอิ่มตัวกับการทำงานกับอนิเมชั่นสำหรับเด็กที่ต้องทำให้สปอนเซอร์พึงพอใจ เขาจึงโยกย้ายไปทำงานร่วมกับทาง Madhouse สตูดิโอมีชื่อของญี่ปุ่นอีกเจ้าหนึ่งในปี 2006 พร้อมกับกำกับภาพยนตร์อนิเมชั่น กระโดดจั๊มพ์ทะลุข้ามเวลา (The Girl Who Leapt Through Time) ที่ทำให้เราได้เห็นว่า โฮโซดะ มาโมรุ สามารถเล่าเรื่องให้สนุกทั้งยังแฝงแนวคิดเรื่องวงจรชีวิต หรือ พูดคุยเล่าเรื่อง เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย อย่างแยบยล
เกิดWolfchildrenmovie.com
ในปัจจุบันผลงานของโฮโซดะ มาโมรุ ที่เล่าเรื่องการ ‘เกิด’ ชัดเจนที่สุดก็คงไม่พ้น ‘คู่จี๊ดชีวิตมหัศจรรย์’ (Wolf Children) เมื่อนางเอกของเราตัดสินใจให้กำเนิดลูกชายกับลูกสาวที่มีความสามารถแปลงร่างเป็นหมาป่าได้ การถือกำเนิดของเด็กทั้งสองคนไม่ได้นำพาแค่ความสุขมาเท่านั้น ภายในอนิเมชั่นเรื่องดังกล่าวยังทำให้เห็นว่าการเกิดนำทุกสิ่งมาสู่การปรับตัวของนางเอกแลพตัวละครผู้เป็นพ่อ ทั้งการใช้ชีวิตและจิตใจ
หรือถ้าไปดูอนิเมชั่น ศิษย์มหัศจรรย์ กับ อาจารย์พันธุ์อสูร (The Boy And The Beast) แม้ตัวเอกอย่าง คิวตะ จะไม่ได้เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขโดยตรงของอสูรร่างหมี คุมะเท็ตสึ แต่การที่หนึ่งคนกับหนึ่งตนต้องมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันก็ทำให้ความสัมพันธ์แบบพ่อ-ลูกถือกำเนิดขึ้นไปโดยปริยาย
และภาพยนตร์เรื่อง Mirai ที่จะเข้าฉายในปี 2018 น่าจะเป็นเรื่องที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับการเกิดมากกว่าเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้า เพราะภาพยนตร์ดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับเด็กชายวัย 4 ขวบ ที่กำลังรอการมาถึงของน้องสาวที่กำลังจะคลอด แล้วเรื่องมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้นทำให้เด็กชายได้ย้อนเวลาไปเจอแม่ของเขาตอนเด็ก กับ ทวดของเขาตอนหนุ่มๆ ซึ่งจะกลายเป็นบทเรียนให้เด็กชายยอมรับการถือกำเนิดของน้องแล้วกลายเป็นพี่ชายที่ดี
‘แก่’ภาพจาก : stat.ameba.jp
ประเด็นนี้เราคงไม่ได้หมายถึงคนชราเพียงเท่านั้น แต่เราอยากจะหมายรวมถึงการ ‘เติบโต’ ของบุคคลที่แปรผันตรงตามห้วงเวลา แม้ว่าจะเป็นหลักการตามปกติของสื่อภาพยนตร์หรือละครที่ตัวละครควรจะมีการเติบโตเพื่อให้เห็นได้ชัดว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด เกิดไปแล้วมีใครได้รับบทเรียนอะไรไปบ้าง กระนั้น โฮโซดะ มาโมรุ เลือกที่จะค่อยๆ เล่าเรียงเหตุที่ทำให้ตัวละคร ‘เติบโต’ นับตั้งแต่จุดยากเย็นที่สุด จนถึงจุดที่ตัวละครโตมากขึ้นจนแทบจะกลายเป็นอีกคนกับตอนแรกแบบเห็นชัดแต่ไม่เกินจริง กรณีของ คู่จี๊ดชีวิตมหัศจรรย์ หรือ ศิษย์มหัศจรรย์ กับ อาจารย์พันธุ์อสูร จะสะท้อนเรื่องนี้ได้ดี (เรื่องแรก คุณแม่ที่ทำอะไรไม่เป็นกลายเป็นคุณแม่ที่ทำสวนทำไร่ ซ่อมบ้าน จนถึงงานบ้านแทบทุกอย่าง ส่วนเรื่องหลังจากเดิมที่ศิษย์อาจารย์แทบไม่รู้สึกสัมพันธ์กัน กลับสนิทสนมกลมเกลียวไม่แพ้พ่อผู้ให้กำเนิด)
หรือแม้แต่ในเรื่องที่มีตัวละครแก่ชราอยู่จริงๆ ตัวละครเหล่านั้นก็ไม่ได้ปรากฏขึ้นมาเพื่อเล่าเรื่องสั่งสอนแล้วจบไปเท่านั้น ทุกตัวละครแม้แต่ตัวละครที่ชราภาพแล้วพร้อมจะเติบโตขึ้นไปอีกจากประสบการณ์ที่ได้เกิดขึ้นในภาพยนตร์แต่ละเรื่อง
‘เจ็บ’ภาพจาก :
https://twitter.com/kinro_ntvเรื่องเจ็บในผลงานของ โฮโซดะ มาโมรุ อาจจะไม่ได้ออกมาในลักษณะโรคภัยหรืออาการบาดเจ็บเท่าใดนัก (แต่เราขอยอมรับว่าอนิเมชั่นของโฮโซดะหลายเรื่องมักจะวาดฉากตัวละครล้มกลิ้งไปกับพื้นได้อย่างน่าดูชม) อาจจะยกเว้นส่วนของ คู่จี๊ดชีวิตอัศจรรย์ ที่ตัวละครลูกสาวเผลอทำร้ายเพื่อนร่วมห้องจนได้รับบาดเจ็บ และนั่นทำให้ตัวละครดังกล่าวต้องตัดสินใจว่าเธอควรจะเลือกเส้นทางของมนุษย์หรือเส้นทางของหมาป่า
ส่วนในผลงานเรื่องอื่นๆ มักจะเป็นความเจ็บที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ และแผลใจเหล่านั้นก็กลายเป็นประเด็นหลักที่จะผลักดันเนื้อเรื่องให้ไปยังทิศทางอื่นๆ ต่อไป เหมือนกับคนเราที่อาจจะต้องเคยผิดหวัง เคยอกหัก เคยเสียใจกับสิ่งที่ไม่ได้ทำ ก่อนที่คนเราจะเอาเรื่องเฮิร์ตๆ แบบนี้มาบอกกับตัวเองว่าเราจะไม่ทำพลาดซ้ำ
หรือต่อให้เราทำพลาดไปแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าเราควรจะจมกับปัญหาให้มันเจ็บตัวไปเรื่อยๆ แบบที่ตัวละคร อิจิโระฮิโกะ ที่ยึดติดกับความคิดว่าตนเองด้อยกว่า คิวตะ ที่เป็นตัวเอก และความด้อยกว่านี้ทำให้เขาคิดเพิ่มไปว่าเขาไม่สามารถเป็นอสูรที่สง่างามได้ จนสุดท้ายแผลเล็กๆ ที่เป็นการทำร้ายตัวเองก็เปิดเป็นแผลใหญ่จนอิจิโระฮิโกะเริ่มทำร้ายคนอื่นไปด้วย
ความเจ็บปวดนั้นอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าพิสมัย แต่โฮโซดะก็บอกเราผ่านภาพยนตร์ของเขาทุกเรื่องว่าถ้าไม่รู้จักเจ็บแล้วเข้าใจมันเสียบ้าง มันก็อาจจะกลายเป็นเรื่องใหญ่จนเกินเลยก็เป็นได้
‘ตาย’ความตายเป็นอีกปัจจัยสำคัญต่อชีวิต เฉกเช่นเดียวกับเนื้อเรื่องจากภาพยนตร์อนิเมชั่นของ โฮโซดะ มาโมรุ ที่จุดเปลี่ยนใหญ่ของเรื่องจะมีความตายมาช่วยผลักดัน
ใน กระโดดจั๊มพ์ทะลุข้ามเวลา หากไม่มีเหตุที่ทำให้ตัวละครสำคัญต้องเสียชีวิต ก็คงจำไม่มีฉากที่สร้างความจดจำให้กับอนิเมชั่นเรื่องนี้ที่เล่าเรื่องความสำคัญของการใช้ชีวิตได้ หากการตายไม่เกิดขึ้นกับตัวละครที่เป็นสามีของนางเอกในเรื่อง คู่จี๊ดชีวิตมหัศจรรย์ เราก็คงไม่ได้เห็นการพัฒนาการอันเข้มแข็งของแม่ผู้เลี้ยงมนุษย์หมาป่าถึงสองตนเอาไว้ได้ ถ้าไม่ใช่เพราะความตายได้พรากชีวิตของเจ้าตระกูลใหญ่ที่เป็นคนแสนสำคัญของครอบครัว คงไม่มีการพยายามจนช่วยเหลือระบบไซเบอร์ของโลกเอาไว้ได้ใน Summer Wars
ถึงความตายจะสร้างความเสียใจให้กับผู้คนจำนวนมาก เมื่อเวลาผ่านพ้นไปจุดหนึ่งความตายนี้เองก็ช่วยผลักดันให้คนที่ยังอยู่สามารถเดินหน้าต่อไปหรืออาจจะทำอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อนได้สำเร็จ อนิเมชั่นของโฮโซดะ มาโมรุ เล่าเรื่องนี้อยู่หลายต่อหลายครั้ง ไม่ใช่เพียงเพื่อการเดินเรื่องแต่พร้อมเป็นคำสอนให้กับทั้งตัวละครในเรื่อง รวมถึงตัวของผู้ชมให้ยอมรับความตายแล้วนำมันมาเป็นพลังส่วนหนึ่งในชีวิตของเราในวันต่อๆ ไปแทน อาจจะมีเวลาเศร้าโศกกับสิ่งที่ไม่สามารถกลับมาได้อยู่บ้าง แต่สุดท้ายก็ต้องยอมรับมันเพื่อเดินหน้าต่อไปในอนาคต
แม้ว่า โฮโซดะ มาโมรุ อาจจะยังไม่ได้ถูกจดจำในวงกว้างมากๆ อย่างที่ ชินไค มาโคโตะ ทำสำเร็จไปแล้ว (อย่างในบ้านเราเอง เขาก็ถูกพูดถึงน้อยกว่า ชินไค มาโคโตะ) แต่ความโดดเด่นของผู้กำกับโฮโซดะ ก็คงไม่พ้นการแทรกซึมแนวคิดในการใช้ชีวิตแบบที่คนอื่นยากจะเลียนแบบได้
และโฮโซดะก็เป็นคนที่คอยเตือนผู้ชมอย่างเราให้จำได้เสมอว่า แม้จะเป็นการ์ตูนซึ่งหลายคนมองว่าเป็นเรื่องราวเพื่อเด็กกับวัยรุ่น แต่มันก็เป็นสื่อที่เล่าปรัชญาการใช้ชีวิตได้ดีไม่ต่างกับสื่อประเภทอื่นใดเลย ขึ้นอยู่กับว่าคนรับสารปลายทางจะพร้อมเปิดใจความนัยที่มีอยู่ในการ์ตูนเหล่านั้นหรือเปล่าเท่านั้น
จาก
https://thematter.co/rave/a-circle-of-life-in-hosoda-mamoru-aniamtions/24772