บริการคงสิทธิเลขหมาย "เคราะห์กรรมผู้บริโภค" !?!
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 21 สิงหาคม 2553 12:48 น.
ท่ามกลางความหวังของใครหลายคนที่อยากจะย้ายค่ายผู้ให้บริการ โทรศัพท์มือถือโดยไม่ต้องกังวลว่าต้องทิ้งเบอร์เดิมที่ใช้มานาน ไม่ต้องอดทนกับโปรโมชันที่ไม่เป็นธรรม หรือคุณภาพบริการที่ยอดแย่อีกต่อไป ด้วยการเปิดให้บริการ"การคงสิทธิเลขหมาย" หรือนัมเบอร์พอร์ทิบิลิตี้ ซึ่งบอร์ดกทช.ได้เร่งผลักดันและยืนยันแล้วว่าเอกชนจะต้องเปิดให้บริการในวัน ที่ 1 ก.ย.ที่จะถึงนี้แม้จะสามารถเปิดได้เพียงบ้างส่วนก็ต้องทำ และหากล่าช้าก็คาดโทษปรับวันละ 20,000 บาท
บริการคงสิทธิเลขหมายเป็นเรื่องที่เฝ้ารอกันมานาน กทช.ได้ประกาศกฎเกณฑ์เรื่องการคงสิทธิเลขหมายตั้งแต่เดือนส.ค.2552 ซึ่งตามประกาศผู้ให้บริการจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลา 3 เดือนหรือราวเดือนพ.ย.2552 แต่ปรากฎว่าผู้ให้บริการได้ยื่นอุทธรณ์กับกทช. เพราะทำไม่ทันโดยอ้างเหตุผลว่าไม่สามารถสร้างระบบมารองรับการโอนย้ายเลขหมาย ได้ภายในระยะเวลาที่กทช.กำหนด
การอุทธรณ์ครั้งนั้นส่งผลให้การเปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมายเลื่อน เวลาออกมากว่า 6 เดือน ส่งผลให้กทช.ต้องลงแรงทุบโต๊ะอีกครั้งกำหนดให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ทั้งหลาย เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน31 ส.ค. 53 และเปิดให้บริการได้ทันทีแบบไม่ข้อแม้ในวันที่ 1 ก.ย.ที่จะถึงนี้
การเร่งเปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมายภายใต้ความไม่พร้อมและ ไม่สมบูรณ์ของเอกชนเป็นเสมือนทาง 2 แพร่งที่มีทั้งแง่บวกและแง่ลบ ในมุมมองที่แตกต่างกัน
แน่นอนที่สุดประชาชนผู้บริโภคย่อมมีทางเลือกมากขึ้นในการเลือกใช้ บริการที่ดีถูกใจมากที่สุดเพราะหากไม่พอใจบริการค่ายมือถือที่ใช้อยู่ก็ สามารถขอย้ายค่ายได้ในเวลาไม่เกิน 3 วันโดยยังใช้เบอร์เดิมอยู่ ดังนั้นการคงสิทธิเลขหมาย ถือเป็นเครื่องมือต่อรองขนานเอกของผู้บริโภค
ถึงตอนนั้นผู้ให้บริการจะต้องสรรหาบริการเป็นเลิศพร้อมโปรโมชันที่ คุ้มค่าเหมาะสมประเคนให้ลูกค้าเพื่อพยายามรักษาลูกค้าให้อยู่ในระบบอย่าง เหนียวแน่นเพราะหากลูกค้าพากันหนีหายไปซบอกคู่แข่งนั่นเท่ากับผู้ประกอบการ ต้องสูญเสียรายได้ที่กอดไว้ในพริบตา ในแง่การแข่งขันก็เชื่อได้ว่าผู้ให้บริการมือถือแต่ละค่ายจะต้องงัดกลยุทธ์ ทุกรูปแบบออกมามัดใจลูกค้าไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตราค่าบริการ บริการเสริมพิเศษทั้งวอยซ์ และดาต้า รวมทั้งสิทธิประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อทำให้ลูกค้ารู้สึกได้ถึงความเป็นอภิสิทธิ์ชนได้รับบริการเหนือลูกค้า คู่แข่ง
ในมุมบวกของการคงสิทธิเลขหมาย เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ สภาผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เข้ายื่นหนังสือสนุบสนุนให้กทช.เร่งให้เอกชนให้บริการคงสิทธิเลขหมาย โดยด่วนเพราะเห็นว่าการดำเนินการของผู้ให้บริการที่ผ่านมาล่าช้าไปมากแล้ว โดยระบุว่าในต่างประเทศใช้เวลาการดำเนินการน้อยกว่าไทยพร้อมทั้งสนับสนุนให้ ไม่คิดค่าบริการในการย้ายระบบจากที่กทช.กำหนดค่าธรรมเนียมไว้ที่ 99 บาท เพราะมองว่าบริการดังกล่าวเป็นสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคทั้งยังเรียกร้อง ไม่ให้ผู้ให้บริการฟ้องร้องกทช.ในการดำเนินการที่เฉียบขาดครั้งนี้
แต่สำหรับมุมมองด้านลบก็ยังมี อยู่มากมาย เนื่องจากการเปิดให้บริการของผู้ให้บริการยังไม่สมบูรณ์ 100 % เพราะค่ายมือถือทั้ง 3 ราย ทั้งเอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ ยังเหลือการดำเนินการขั้นตอนสุดท้ายคือการทดสอบระบบหลังบ้านระหว่างผู้ให้ บริการด้วยกัน เพื่อให้ระบบสามารถเชื่อมโยงโอนย้ายผู้ใช้บริการสมบูรณ์ที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากระทบกระเทือนถึงผู้บริโภคในภายหลัง
เนื่องจากขั้นตอนดำเนินการให้บริการคงสิทธิเลขหมายมี 3 ขั้นตอนคือ 1.การปรับระบบหลังบ้านของผู้ให้บริการแต่ละรายเพื่อรองรับการโอนย้ายเบอร์ ของลูกค้า พร้อมทั้งทดสอบระบบให้สมบรูณ์ในส่วนนี้ผู้ให้บริการดำเนินการเรียบร้อยแล้ว 2.การติดตั้งระบบเคลียริ่งเฮาส์พร้อมทั้งทดสอบระบบให้สามารถใช้งานสมบรูณ์ ซึ่งจะดำเนินการแล้วเสร็จปลายเดือนส.ค.นี้ และ3.ขั้นตอนสุดท้ายการทดสอบระบบหลังบ้านของแต่ละรายระหว่างผู้ให้บริการ ด้วยกัน ซึ่งส่วนนี้ยังไม่ได้มีการดำเนินการ
จะเห็นได้ว่าขั้นตอนที่ 1 เสร็จสมบูรณ์แล้วในขณะที่ขั้นตอนที่ 2 จะเสร็จภายในสิ้นเดือนส.ค.นี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กทช.ขีดเส้นตายให้เอกชนทั้งหมดเปิดให้บริการคงสิทธิเลข หมายให้ได้ โดยย้ำว่าแม้จะเป็นการเปิดให้บริการเพียงบางส่วนก็ตาม แต่ขั้นตอนสุดท้ายซึ่งเป็นการทดสอบระบบหลังบ้าน เพื่อให้ระบบมีความเสถียรมากที่สุด รวมทั้งเพื่อทดสอบปัญหาต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นซึ่งถือว่ามีความสำคัญไม่ยิ่ง หย่อนกว่า 2 ขั้นตอนแรก และอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง หากรีบร้อนเปิดบริการให้ได้ในวันที่ 1 ก.ย.นี้
ปรีย์มน ปิ่นสกุล ผู้ช่วยรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการเงินและบัญชี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ในฐานะประธานคณะทำงานการคงสิทธิเลขหมาย ระบุไว้ชัดเจนว่า 'เอกชนทั้ง 3 ราย ไม่สามารถเปิดให้บริการได้แน่นอน เพราะเราจะไม่เปิดให้บริการไปทั้งที่ระบบยังไม่มีความพร้อม เพราะนั่นหมายถึงผู้บริโภคต้องแบกรับปัญหาไม่เว้นแต่ละวัน และการข้ามขั้นตอนสุดท้ายจะทำให้ไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่าปัญหาที่จะเกิด ขึ้นจะเป็นรูปแบบใด การไม่ทดสอบระบบจะทำให้ไม่รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น และยืนยันว่าที่ผ่านมาเอกชนได้ใช้ความพยายามในการดำเนินการอย่างเต็มที่ แล้ว'
เขาย้ำว่าในส่วนขั้นตอนสุดท้ายนี้มีตัวอย่างให้เห็นในประเทศอินเดีย ที่ล่าสุดได้ออกมาประกาศเลื่อนการเปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมายออกไป เพราะการทดสอบในขั้นตอนสุดท้ายยังไม่แล้วเสร็จ กรณีในประเทศไทยอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งในขั้นตอนนี้ในต่างประเทศต้องใช้เวลาทดสอบระบบราว 3-4 เดือนเป็นอย่างน้อย
ถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีการอ้างเหตุผลว่าไทยน่าจะดำเนินการได้เร็วกว่า เพราะมีกรณีตัวอย่างจากต่างประเทศให้เห็น ทำให้สามารถเรียนรู้และแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น แต่การให้บริการคงสิทธิเลขหมายในไทยใช้ระบบปฏิบัติการแบบ Batch ซึ่งเป็นระบบการทำงานแบบเป็นชุด ทำให้การทดสอบระบบต้องใช้ระยะเวลา ไม่เหมือนกับต่างประเทศที่ใช้ระบบออนไลน์ซึ่งทำให้การให้บริการทำได้เร็ว กว่า
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่อง ระบบหลังบ้านของผู้ให้บริการแต่ละรายใช้ต่างกัน โดยบางรายก็เขียนซอฟต์แวร์ขึ้นมาใช้เอง ทำให้ปัญหาในประเทศไทยต่างจากต่างประเทศ ดังนั้นการทดสอบระบบขั้นตอนสุดท้ายจึงสำคัญมาก และไม่ควรรีบร้อนให้บริการในขณะที่ไม่มีใครยืนยันถึงความเสถียรของระบบ เพราะเท่ากับการลอยแพผู้บริโภคให้เผชิญปัญหาเบื้องหน้าที่ไม่สามารถคาดเดา ได้ นั่นหมายถึงลูกค้าอาจจะไม่สามารถโทร.เข้า โทร.ออกได้ หรือเกิดการคิดค่าบริการที่ผิดพลาดจากการย้ายเครือข่ายผู้ให้บริการก็เป็นไป ได้
บริการคงสิทธิเลขหมาย นาทีนี้ไม่มีใครบอกว่าไม่ดี แต่มุมมองที่แตกต่างระหว่าง กทช.ที่หลังพิงกฎเกณฑ์อ้างแต่กฎหมาย โดยละเลยความห่วงใยของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่ขอยืดเวลาออกไปเล็กน้อย ไม่กี่เดือน เพื่อทดสอบระบบให้แน่ใจว่าจะเกิดปัญหาน้อยที่สุด เพื่อไม่เป็นการผลักปัญหาไปให้ผู้ใช้บริการ
เป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก หากเกิดปัญหาขึ้นจริงเพราะพวกหัวดื้อยอมหักไม่ยอมงอ เนื่องจากกทช.คงปัดความรับผิดชอบอ้างว่าเป็นความผิดของผู้ให้บริการ ในขณะที่ผู้ให้บริการ ค่ายมือถือ อาจจะอ้อมแอ้มพูดไม่เต็มเสียงเพราะเกรงใจกทช.ว่าก็บอกแล้วไม่เชื่อ
แต่สุดท้ายเคราะห์กรรมก็ตกกับผู้บริโภคซ้ำซากอีกครั้ง
http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9530000116424