ก๊วยเจ๋ง เอี้ยก่วย เตี่ยบ่อกี้ เหล่งฮู้ชง ขงจื้อ เต๋า พุทธ และเซนเนื่องด้วยสหายคนสนิทของข้าพเจ้า นำบทความบางส่วนเมื่อช่วงต้นปีนี้ไปแชร์ในกรุ๊ปจึงมีการสอบถามผ่านทาง Inbox มามากมายว่า ตัวละครเอกของท่านกิมย้งแต่ละตัวนั้น ล้วนเป็นภาพแทนจากอะไร ข้าพเจ้าจึงต้องเรียบเรียงทั้งหมดแด่เหล่ามิตรสหายอีกครา
เนื่องด้วยท่านกิมย้งนั้นเป็นยอดปราชญ์ตะวันออก อย่างที่มิเคยมีมาก่อนตั้งแต่สมัยโบราณกาลจวบจนอนาคตกาล ตัวละครแต่ละตัวของท่านนั้นสะท้อนภาพประวัติศาสตร์ ยุคสมัย อีกทั้งการปฎิบัติตน จารีต ประเพณี ตัวละครที่โดดเด่น เฉกเช่น ก๊วยเจ๋ง เอี้ยก่วย เตี่ยบ่อกี้ และ เหล่งฮู้ชงนั้น สะท้อนอุปนิสัย การปฎิบัติตนในรูปแบบ ศาสนา หรือลัทธิความเชื่อต่างๆ
ก๊วยเจ๋งนั้นจะเป็นตัวแทน จริยธรรมแบบขงจื้อ ขงจื๊อวางรากฐานไว้ ได้แก่ วัฒนธรรม ความประพฤติ ความจงรักภักดี และ ความซื่อสัตย์ โดยวัฒนธรรมเน้นถึงการเคารพบรรพบุรุษและพิธีการโบราณ ยึดถือผู้อาวุโสเป็นหลัก ส่วนด้านแปดหลักการพื้นฐานในการเรียนรู้ อันได้แก่ สำรวจตรวจสอบ ขยายพรมแดนความรู้ จริงใจ แก้ไขดัดแปลงตน บ่มความรู้ ประพฤติตามกฎบ้านเมือง ประเทศต้องได้รับการดูแล นำความสงบสุขมาสู่โลก ทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อนพฤติกรรมของก๊วยเจ๋ง ที่เน้นความตั้งใจ พยายาม มีคุณธรรม ความเมตตา และจงรักภักดี
เอี้ยก่วยจะเป็นผู้คล้อยวิถีตามธรรมชาติแบบเต๋า เต๋า คือ “ธรรมชาติ หรือธรรมชาติผู้สร้างที่ยิ่งใหญ่” ด้วยความที่เต๋านั้นเป็นศาสนาที่เนื่องด้วยธรรมชาติ ศาสนาเต๋านี้เริ่มต้นในฐานะเป็นปรัชญา คือไม่มีพิธีกรรม ไม่มีข้อปฏิบัติอะไรมากไปกว่าข้อคิดและคำสอน ดังนั้น การที่เอี้ยก่วย มิยอมรับจารีต ประเพณี นั่นล้วนสะท้อนหลักแห่งธรรมชาติ เน้นไปในส่วนของความอารมณ์ความรู้สึก จิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ สัจธรรมที่ไร้การปรุงแต่ง มากกว่า ธรรมเนียมข้อปฏิบัติทางสังคม
เตี่ยบ่อกี้ จะเป็นภาพลักษณ์ของพุทธศาสนา ด้านความกล้าหาญ เสียสละ และให้อภัย เตี่ยบ่อกี้เคยพูดถึงเรื่องที่ 6 สำนักที่ใหญ่ร่วมกันกดดันบีบบังคับ ให้เตี่ยชุ่ยซัว และ ฮึงซูซู่ บิดามารดาให้บ่งบอกที่ซ่อนของเจี่ยซุ่นจนเสียชีวิต กับเตี่ยเมี่ยงว่า
“บิดามารดาข้าพเจ้าถูกผู้คนบีบบังคับให้กระทำอัตวินิบาตกรรม ผู้คนที่บีบบังคับ ล้วนมีคนของเส้าหลิน คงท้ง ฮั้วซัว ภายหลังข้าพเจ้าเติบใหญ่ เข้าใจอะไรมากขึ้น แต่กลับไม่เข้าใจกว่าเดิมว่าผู้ใดกันทำให้บิดามารดาข้าพเจ้าเสียชีวิต และต่อให้ผู้คนเหล่านั้นเป็นฆาตกรจริงๆ ฆ่าพวกเขาหมดสิ้น ข้าพเจ้าจะได้ประโยชน์อันใด จะอย่างไรบิดามารดาข้าพเจ้าก็มิอาจคืนชีพได้ เตี่ยโกวเนี้ย หลายวันมานี้ข้าพเจ้าครุ่นคิด ถ้าทุกผู้คนมิมีความคิดแค้นต่อกัน จะประเสริฐเลิศสักเพียงไหน ท่านฆ่าคนผู้หนึ่งเพิ่มความเคียดแค้นในใจกันอีกส่วนหนึ่ง ตนเองก็เพิ่มบาปกรรมไปอีกส่วนหนึ่ง ท่านฆ่าเราเราฆ่าท่านจะมีประโยชน์ใด อย่างเช่นงี่แป๋ (บิดาบุญธรรมเจี่ยซุ่น) เข่นฆ่าผู้คนมากมายเพียงนี้ ถึงแม้ท่านไม่เอ่ยวาจา ในใจคงสำนึกเสียใจยิ่ง ในชีวิตข้าพเจ้าบุคคลที่ข้าพเจ้าเคียดแค้นที่สุด คือมืออัสนีบาตจักรวาลเซ้งคุณ แต่ตอนนี้เขาตายแล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกเวทนาอยู่บ้าง คล้ายมุ่งหวังอย่าให้เขาเสียชีวิต”
คุณธรรมของเตี่ยบ่อกี้ เปรียบเหมือนตัวแทนความดีอันบริสุทธิ์ แม้จะมิได้มีความเป็นผู้นำอันเด่นล้ำ แต่กลับรวบรวมจิตใจของคนรอบข้างด้วยคุณธรรม ความเมตตา ซึ่งสะท้อนภาพลักษณ์ทางพุทธศาสนา
ส่วนเหล่งฮู้ชงจะเป็นการประพฤติอย่างเซน ตามคติของนิกายเซน ถือว่าธรรมเนียมของนิกายนี้ได้รับการสืบทอดจากพระศากยมุนีพุทธเจ้า ผ่านทางพระอริยสงฆ์สาวกในสายของพระมหากัสสปะ โดยได้รับการถ่ายทอดธรรมะด้วยวิถีแห่ง "จิตสู่จิต" เปรียบเสมือน ฟงชิงหยาง ถ่ายทอด เคล็ดเก้ากระบี่เดียวดาย ปากเปล่า ให้ เหล่งฮู้ชงรู้แจ้ง ด้วยตนเอง
ยิ่งเคล็ด เก้ากระบี่เดียวดาย ยิ่งสะท้อนแก่นของเซน
คำของปรมาจารย์รุ่นแรกสุดของเซน มีอยู่ 4 ประโยค
1. "พ้นจากการบัญญัติ" ฟงชิงหยาง ให้เหล่งฮู้ชงใช้สามสิบกระบวนท่าของสำนักหัวซานให้ชมดู แต่กระบวนท่านี้มิร้อยเรียง ฟงชิงหยางจึงกล่าว “การฝึกปรือของเจ้าในตอนนี้ ไยใช้สามสิบกระบวนให้ร้อยเรียงมิได้ เมื่อใช้ท่ารุ้งขาวพุ่งหาอาทิตย์ ปลายกระบี่ชี้ขึ้น หรือมิรู้จักลากลงมา”
2. "เข้าถึงไม่ได้ด้วยการเรียนตามตำรา" ยามที่เถียนป๋อกวงบีบคอเหล่งฮู้ชง ฟงชิงหยางแนะนำ ให้ใช้ ดรรชนีแทนกระบี่ “กระบวนท่ากิมเง็กมั่งตึ๊ง (ทองหยกเต็มบ้านเรือน) ต้องมีกระบี่จึงใช้ออกหรือ?”
3. "ลัดตรงเข้าสู่ใจ" ฟงชิงหยางยังสอน ให้เหล่งฮู้ชงหัดใช้ให้เป็น
4. "มองดู (รู้) พุทธะก็เกิด" ไร้ซึ่งกระบวนท่า จะทำลายได้อย่างไร?
สี่หลักแห่งเซนนี้เอง นำพา เหล่งฮู้ชงสู่แก่นแท้ของ เก้ากระบี่เดียวดาย
นอกจากหลักวิชา เก้ากระบี่เดียวดาย ใน สันดานของเหล่งฮู้ชง ก็เป็นเซน อย่างยิ่ง
“อะไรเกิดขึ้นที่จิตก็ให้รู้ไป ไม่ต้องไปแบ่งแยกให้ค่าว่า อันนี้ถูก อันนี้ผิด ถ้าหลุดพ้นจากการให้ค่าพวกนี้ได้ ก็จะเข้าใจจิตได้” อาจารย์เค็งเซ็น ได้กล่าวไว้ ช่างตรงกับ อุปนิสัยของเหล่งฮู้ชง อย่างยิ่ง ใจเหล่งฮู้ชง มิแบ่ง ฝ่ายธรรมะ อธรรมะ เพียงแต่เหล่งฮู้ชงมองเนื้อแท้ มากกว่าป้ายยี่ห้อสำนักธรรมะ อย่างจ้อแน้เซียง คนผู้นี้เป็นผู้นำห้าสำนักกระบี่ ฝ่ายธรรมะ แต่ละโมบโลภมาก จิตใจชั่วช้าอำมหิต เปรียบกับ เถียนป๋อกวง โจรปล้นสวาทชื่อเสียงอื้อฉาว ฉายา โดดเดี่ยวหมื่นลี้ เหล่งฮู้ชงยอมคบกับเถียนป๋อกวงเป็นสหาย เพราะ มันเป็นคนที่มีสัจจะวาจา พูดคำไหนคำนั้น ดีกว่าให้คบค้าสมาคม กับ จ้อแน้เซียงและพวก
เซนในสันดาน ของ เหล่งฮู้ชง สอนให้ตัวมันเอง มองเห็นผู้คนที่แก่น มิใช่ เปลือก เมื่อในสายตาท่านมิแบ่งสีขาว สีดำ แต่ท่านเข้าใจแก่นแท้ของมันว่า ในขาวนั้นลึกๆอาจมีดำซ่อน ในดำบางคราก็มีสีขาว และขาวมีข้อดีของขาว ดำก็มีข้อดีของดำ ใจที่วัดดำขาวนั้นมีมาตราฐานอันใดไปวัด จับต้อง ใจของเหล่งฮู้ชง มิจับต้อง มิถ่วงวัด เมื่อเป็นอิสระต่อตัวตน ทุกสรรพสิ่งย่อมเท่าเทียม มีเพียง "แก่น" เท่านั้นที่แตกต่าง
ส่วน “แก่น” ของท่านกิมย้ง นั่นคือ ไม่ว่าลักษณะใดล้วนสามารถมุ่งสู่จุดสูงสุด คือ อนัตตา เมื่อสู่สภาวะไร้ลักษณ์ ไร้ร่องรอยให้สืบสาว ท่านกิมย้งเขียน อุ้ยเสี่ยวป้อ ตัวละครเอกตัวสุดท้าย ซึ่งนับว่าสู่สภาวะที่ไร้ซึ่ง ขงจื้อ เต๋า พุทธ หรือ เซน นับเป็นยการยิ้มเย้ยยุทธจักร ก่อนแขวนกระบี่ ล้างมือในอ่างทองคำ มิได้ปรากฏตนในบรรณพิภพกำลังภายใน สู่สภาวะอนัตตาทางยุทธภพอย่างแท้จริง
ปล. บทความนี้เรียงเรียงจากบทความเก่าๆของข้าพเจ้าเอง สหายท่านใดอยากอ่านอย่างเฉพาะเจาะจง กรุณาติดตามย้อนในเพจนะขอรับ ต้องขออภัยมิมีเวลาหาจากทางเพจ เลยต้องเขียนเรียบเรียงใหม่ให้ครอบคลุมอีกครา
จาก
https://m.facebook.com/9independentswords/