ผู้เขียน หัวข้อ: จิตวิวัฒน์ : เรือเปล่า  (อ่าน 1473 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ แก้วจ๋าหน้าร้อน

  • สิ่งใดคือธรรมะ สิ่งนั้นย่อมดีแล้วสูงสุด
  • ทีมงานกวาดลานดิน
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 6503
  • พลังกัลยาณมิตร 1741
  • ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครอง
    • kaewjanaron
    • facehot
    • ดูรายละเอียด
    • ใต้ร่มธรรม
จิตวิวัฒน์ : เรือเปล่า
« เมื่อ: กรกฎาคม 11, 2010, 10:39:29 pm »



จิตวิวัฒน์ ตุลาคม ๒๕๔๘
เรือเปล่า

พระไพศาล วิสาโล
_________________________

จางจื๊อเป็นปราชญ์จีนโบราณซึ่งมักนำเสนอปรัชญาที่ลึกซึ้งโดยอาศัยเรื่องเล่าที่ง่าย ๆ เรื่องหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงคือเรื่อง “เรือเปล่า” จางจื๊อเริ่มต้นด้วยการเล่าว่า ชายคนหนึ่งกรรเชียงเรืออยู่ในแม่น้ำ ถ้าหากมีเรือเปล่าลำหนึ่งมาชนเข้า แม้เจ้าของเรือกรรเชียงจะเป็นคนเจ้าโทสะ เขาก็คงโกรธไม่ได้มาก แต่ถ้าเห็นคนอยู่ในเรือนั้น เขาคงต้องตะโกนบอกให้พายเรือหนีไปให้พ้น ถ้าอีกฝ่ายยังไม่ได้ยิน ก็ต้องตะโกนดังขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจถึงต้องร้องด่า ทั้งนี้ก็เพราะมีคนอยู่ในเรือลำนั้น แต่อากัปกิริยาดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าหากไม่มีคนอยู่ในเรือลำนั้น ดังนั้นจางจื๊อจึงแนะให้เราทำเรือของเราให้ว่างเปล่า หรือทำตนเป็น “เรือเปล่า” เพื่อจะได้ข้าม “แม่น้ำ”อย่างสะดวกสบาย ไม่มีใครมาขัดขวางหรือกระทบกระทั่งด้วย

มองอย่างพุทธ “เรือเปล่า” ก็คือจิตที่ว่างเปล่าจากตัวตน หรือพูดให้ถูกต้องกว่านั้นก็คือจิตที่ว่างเปล่าจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนนั่นเอง ผู้ที่มีจิตว่างเปล่าตามนัยดังกล่าวย่อมอยู่ในโลกนี้ได้อย่างราบรื่นและผาสุก แม้จะไม่ถึงกับปลอดพ้นจากการถูกตะโกนด่าว่าดังเรือเปล่าของจางจื๊อ แต่คำตะโกนด่าว่านั้นย่อมไม่อาจทำให้ทุกข์ได้ เพราะไม่มี “ตัวตน”ออกไปรับคำด่า ใช่หรือไม่ว่า ถ้ามีตัวตนหรือยึดมั่นถือมั่นใน “ตัวกู”เมื่อไร ก็อดไม่ได้ที่จะเอาคำด่านั้นมาเป็น “ของกู” เกิดความสำคัญมั่นหมายว่า “ตัวกู”ถูกด่า หรือมี “ตัวกู”เป็นเป้าให้คำด่าว่านั้นเข้ามากระทบกระแทก

ตัวตนหรือความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนนั้นเป็นที่มาแห่งความทุกข์ทั้งหลายของมนุษย์ ไม่ใช่แค่ทุกข์เพราะถูกต่อว่าเท่านั้น หากยังทุกข์เมื่อประสบกับความสูญเสียพลัดพราก เพราะไปสำคัญผิดว่าสิ่งที่สูญเสียไปหรือบุคคลที่พลัดพรากไปนั้นล้วนเป็น “ ของกู” แม้แต่เวลาเจ็บปวดทางกาย ก็ยังทุกข์ไปถึงใจเพราะไปสำคัญมั่นหมายว่า “กูเจ็บ” ท่านอาจารย์พุทธทาสเปรียบ เทียบให้เห็นง่าย ๆ ว่า เมื่อมีดบาดนิ้ว ถ้าไปสำคัญมั่นหมายว่า “มีดบาดฉัน”เมื่อไร จะเจ็บยิ่งกว่าเวลารู้สึกว่า “มีดบาดนิ้ว”เสียอีก

ทั้ง ๆ ที่สมัยนี้เต็มไปด้วยความสะดวกสบายและความพรั่งพร้อมทางวัตถุมายมาย แต่
เหตุใดผู้คนจึงทุกข์กันง่ายและทุกข์กันมากเหลือเกิน คำตอบก็คือเพราะไม่รู้เท่าทันความจริงข้อนี้ แถมยังเน้นตัวตนกันมากขึ้น จึงเกิดความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนอย่างสูง อะไรก็ตามที่ปรนเปรอ พะเน้าพะนอ หรือตอบสนองความต้องการของตัวตน เป็นต้องทำหรือหามาให้ได้ ดังนั้นจึงเกิดความต้องการไม่รู้จักหยุดหย่อน ผลคือเกิดความเร่าร้อน เครียด กระสับกระส่าย และเกิดความขัดแย้งกระทบกระทั่งกับผู้คนมากมาย ไม่เว้นแม้แต่คนใกล้ตัว ความขัดแย้งนี้บ่อยครั้งก็ลุกลามเป็นการประหัตประหารระหว่างกลุ่มชน เพราะการแบ่งเขาแบ่งเรา ใครก็ตามที่ไม่ใช่ “พวกกู”ก็ถือเป็นศัตรูไปหมด

ตัวตนนั้นไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริง แต่เกิดจากการปรุงแต่งขึ้นมาเองของจิต (ซึ่งตัวมันเองก็ไม่มีตัวตนอยู่เช่นกัน) เมื่อปรุงแต่งแล้วก็เข้าไปยึดมั่นถือมั่นซ้ำเข้าไปอีก (เหมือนคนที่คิดเอาเองว่าแฟนนอกใจแล้วก็ยึดมั่นกับความคิดความเชื่อนั้นจนไม่ยอมเปิดใจรับความจริง) แต่ไม่ว่าจะยึดมั่นตัวตนอย่างไร มันก็ไม่สามารถเป็นไปตามใจเราได้ อาการอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำก็คือ ความเป็น “ฉัน” นั้นแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เมื่อประสบความสำเร็จก็สำคัญว่า “ฉันเป็นคนเก่ง” แต่เมื่อล้มเหลวก็เปลี่ยนมารู้สึกว่า “ฉันเป็นคนไม่เก่ง” บางคนรู้สึกว่า “ตัวตนของฉันคือชายชาติทหาร” แต่พอโดนโรคร้ายเกาะกินติดต่อกันหลายปี ความรู้สึกว่า “ฉันเป็นผู้ป่วยใกล้ตาย”ก็เข้ามาแทนที่ อันที่จริงในวันหนึ่ง ๆความสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นนั่นเป็นสามารถ
เปลียนแปลงไปได้นับสิบ ๆ อย่าง เช่นเป็นพ่อแม่เมื่ออยู่กับลูก เป็นอาจารย์เมื่อพบหน้าศิษย์ และเป็นลูกน้องเมื่อไปหาเจ้านาย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือความเป็นฉันนั้นเป็นสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้นเอง หาได้มีจริงไม่

อะไร ก็ตามที่ไม่มีอยู่จริง ย่อมชวนให้เราฉุกคิดสงสัยในความมีอยู่ของมัน ตัวตนก็เช่นกัน ความเกิดดับและแปรเปลี่ยนอยู่เสมอของ “ตัวกู” หรือความเป็นฉัน ทำให้ในส่วนลึกของจิตใจเราย่อมอดสงสัยไม่ได้ว่าตัวตนมีจริงหรือ ความไม่มั่นใจว่าตัวตนมีอยู่จริงนั้นคอยรบกวนจิตใจของเราเป็นครั้งคราว แต่คนเรานั้นยากที่จะยอมรับได้ว่าตัวตนไม่มีอยู่จริง กล่าวได้ว่าเป็นสัญชาต ญาณของคนเราที่ต้องการมีตัวตนให้เป็นที่ยึดมั่น ดังนั้นจึงพยายามกดความลังเลสงสัยนี้เอาไว้ลึกลงไปถึงจิตไร้สำนึก แต่ไม่มีอะไรที่เราสามารถกดเอาไว้ในจิตไร้สำนึกได้ตลอด ความลังเลสงสัยดังกล่าวก็เช่นกัน มันไม่ได้หายไปไหน แต่ผุดออกมาสู่จิตสำนึกโดยแสดงตัวในรูปลักษณ์อื่น เช่น ความรู้สึกพร่อง คับข้องใจ กระสับกระส่าย ไม่เป็นสุข หรือความรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างที่ขาดหายไปในชีวิต เกิดความรู้สึกว่าชีวิตนี้ว่างเปล่าพิกล อาการเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกทุกข์อยู่ลึก ๆ แต่หาไม่พบว่าคืออะไร

เป็นเพราะเกิดอาการดังกล่าว คนจำนวนไม่น้อยจึงพยายามแสวงหาวัตถุมาครอบครองให้มากที่สุด ไม่ใช่เพื่อความสะดวกสบายหรือเพื่อปรนเปรอตัวตนเท่านั้น จุดหมายที่ลึกลงไปกว่านั้นก็คือเพื่อถือเอาสิ่งเหล่านี้มาเป็น “ตัวกู ของกู” หรือเพื่อยืนยันความมีอยู่ของตัวตน อะไรที่เป็นวัตถุรูปธรรม จิตก็อยากเข้าไปยึดถือเป็นตัวตน ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ตัวตน และเพื่อความมั่นคงของจิตใจ

พฤติกรรม อีกประเภทที่แสดงออกมาก็คือการเข้าไปผูกพันยึดติดกับสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเอง อาทิ ชุมชน แก๊ง ตลอดจนชาติ (หรือแม้แต่บริษัท) การไปผูกพันกับสิ่งเหล่านี้ก็เพื่อถือเอาเป็นตัวกูของกูและเพื่อสร้างความ มั่นคงของตัวตนเช่นกัน ยิ่งยึดถือมากเท่าไรก็ยิ่งมั่นใจในความมีอยู่ของตัวตน ทำให้ชีวิตไม่รู้สึกว่างเปล่าอีกต่อไป

อันที่จริงแม้กระทั่งการดิ้นรนอยากมีชื่อเสียงหรือ “อยากดัง” ซึ่งเป็นพฤติกรรมยอดนิยมของคนยุคปัจจุบัน ก็อธิบายได้ด้วยสาเหตุเดียวกัน การที่ผู้คนอยากให้ตนเองเป็นที่รู้จัก ลึกลงไปแล้วก็เพื่อยืนยันว่าตัวฉันมีอยู่จริง เพราะถ้าไม่มีคนรู้จัก ก็เท่ากับเป็น “ nobody” คือนอกจากชีวิตจะไม่มีความหมายแล้ว ยังหมายถึงการไม่มีตัวตนในสังคม ลึกไปกว่านั้นยังตอกย้ำความสงสัยในความไม่มีตัวตนให้หนักขึ้น

แต่ไม่ว่าจะครอบครองทรัพย์สมบัติมากมายเพียงใด มีกลุ่มก้อนสังกัดยิ่งใหญ่หรือรักชาติแค่ไหน มีชื่อเสียงขจรขจายอย่างไร ก็ไม่สามารถขจัดความรู้สึกพร่อง คับข้องใจ กระสับกระส่ายในส่วนลึกไปได้ ความรู้สึกว่าชีวิตว่างเปล่าก็ยังจะมารบกวนอยู่เรื่อย ๆ ทั้งนี้เพราะไม่ว่าจะทำอย่างไรเราก็ไม่สามารถมีตัวตนที่เที่ยงแท้ยั่งยืนอยู่ได้

ทางออก จากทุกข์ที่แท้จริงนั้นไม่ได้อยู่ที่การแสวงหาตัวตนที่เที่ยงแท้ยั่งยืนหรือ มั่นคงให้ได้ แต่อยู่ที่การยอมรับความจริงเสียแต่แรกว่าตัวตนนั้นหามีอยู่จริงไม่ รวมทั้งขจัดความกลัวที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง การยอมรับดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการคิดเอง แต่เกิดจากการประจักษ์ถึงมายาภาพของตัวตน เห็นถึงอาการของจิตที่ปรุงแต่งความเป็นตัวฉันขึ้นมา รวมทั้งตระหนักถึงโทษของการยึดมั่นถือมั่นในตัวตนว่าทำให้เป็นทุกข์เพียงใด

การมีปัญญาเห็นความจริงดังกล่าวอย่างถึงที่สุดอาจเป็นกระบวนการที่ใช้เวลายาวนาน แต่เราก็สามารถฝึกฝนตนเองได้ในชีวิตประจำวัน เริ่มจากการสังเกตถึงความเป็นตัวฉันที่ผันแปรตลอดเวลา และอาการ “ตัวกู”ที่ชอบแล่นออกมารับคำตำหนิหรือสิ่งไม่พึงปรารถนาที่มากระทบ มองให้เห็นถึงความทุกข์ที่เกิดขึ้นตามมา และเปลี่ยนมาใช้สติและปัญญาออกรับสิ่งกระทบดังกล่าว ไม่ว่าจะทำอะไรก็ไม่สนใจว่า “ตัวกู” จะได้รับการปรนเปรอหรือถูกกระทบ จำคำของซุนวูได้หรือไม่ที่ว่า “บุกต้องมิหวังคำยกย่อง ถอยต้องมิกลัวอับอาย” จะรุกหรือถอยก็เพราะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมหรือ “ความถูกต้อง”เป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เพราะเอาตัวตนหรือ “ความถูกใจ”เป็นใหญ่

ด้วยวิธีนี้แหละ เราจึงจะค่อย ๆ กลายเป็น “เรือเปล่า” ที่ข้ามฝั่งได้อย่างราบรื่นและปลอดภัย



ขอบคุณที่มา
http://www.visalo.org/article/jitvivat254810.htm
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 11, 2010, 11:34:27 pm โดย แก้วจ๋าหน้าร้อน »
การโพสภาพโดยใช้เว็บฝากไฟล์ภาพ imageshack.us/ (เว็บกบ)
การปรับแต่งห้องสมาชิกไร้ขีดจำกัด Ultimate Profile + ห้องเพลงส่วนตัว
การตั้งกระทู้และการโพสกระทู้ในเว็บใต้ร่มธรรมครับ
การแก้ไข้ข้อมูล ชื่อ ระหัส ส่วนตัวของสมาชิกใต้ร่มธรรมครับ
การใส่รูปประจำตัวเรา Avatar รวมทั้งลายเซ็นต์ ในกระทู้หรือโพสของเราครับ
เพิ่มไอคอน ทวิสเตอร์ เฟชบุ๊ค ยูทูบ ในโปรโปรไฟล์ของเรา
การสร้างอัลบั้มภาพส่วนตัวในห้องสมาชิก Profile Pictures
การเพิ่มเพื่อน กัลยาณมิตรใต้ร่มธรรม ในห้องสมาชิกส่วนตัว
การดูกระทู้ทั้งหมดที่เรายังไม่ได้อ่านครับ
โค้ดสี bb color code ไว้สำหรับโพสกระทู้ครับ
*วิธีเคลียร์แคชในทุกเว็บเบราว์เซอร์ครับ เมื่อคอมอืด*

ห้องประชุมของทีมงาน
~ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครองครับ~