ภิกษุณีนิรามิสา | แง่งามแห่งสติ เกื้อกูลและขัดเกลาใจเราให้อยู่กับความจริง ณ ปัจจุบันก่อนเริ่มสัมภาษณ์ เราบอกท่าน ภิกษุณีนิรามิสา ไปตรงๆ ว่ารู้สึกประหม่าและตื่นเต้นมากๆ ที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับนักบวช โดยที่เราแทบไม่เคยย่างกรายเข้าไปเฉียดธรรมะในรูปแบบไหนเลย บทสนทนาครั้งนี้จึงอาจเต็มไปด้วยคำถามแบบคนหนุ่มสาวใจร้อน ที่มีความสัมพันธ์แบบห่างเหินกับพุทธศาสนามาตลอดชีวิต
“ไม่เป็นไร คุยได้ตามสบายเลย” ภิกษุณีบอกกับเราด้วยน้ำเสียงแจ่มใส ใบหน้าเจือรอยยิ้มจางๆ บนหน้าจอวิดีโอคอลล์ ท่านสนทนากับเราผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพราะตอนนี้ท่านจำวัดและปฏิบัติธรรมอยู่ที่ประเทศเวียดนาม
นิรามิสา แปลว่าผู้ไม่ติดในเหยื่อล่อของวัตถุทางโลก ท่านมีชื่อเดิมว่า สมพร พันธจารุนิธิ เป็นภิกษุณีชาวไทยรูปแรกที่บวชในประเพณีพุทธแบบมหายานกับ ติช นัท ฮันห์ พระอาจารย์เซน ผู้นำเสนอแนวคิดว่าพุทธศาสนาต้องเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และพุทธธรรมเป็นสิ่งที่สามารถประยุกต์ใช้ให้เข้ากับวิธีชีวิตยุคปัจจุบันได้ (Engaged Buddhism)
ก่อนหน้านี้ ท่านเคยทำงานเป็นพยาบาล ผู้แทนผู้อำนวยการองค์กรช่วยเหลือผู้หญิง เด็ก ชนกลุ่มน้อย และคนชนบท รวมทั้งที่ปรึกษาขององค์การ UNICEF ในท้องถิ่นทุรกันดาร สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งล้วนเป็นงานที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นทั้งนั้น และแน่นอนว่าเจตนารมณ์ดังกล่าวยังคงดำเนินต่อเรื่อยมา จนถึงวันนี้ที่ท่านได้เติมเต็มชีวิตทางจิตวิญญาณในหมู่บ้านพลัมมาเกือบจะยี่สิบปีแล้ว
ในโลกสมัยใหม่ที่ใครต่อใครต่างเร่งรุดมุ่งหน้าไปสู่ความสุขความสำเร็จ คิดว่าเป้าหมายข้างหน้าคือสิ่งสำคัญ คิดว่าชีวิตที่ผ่านมานั้นยังไม่ใช่ ไม่ดี ไม่พอ จนดูเหมือนว่าเราลืมสนใจเวลาปัจจุบันไปโดยไม่รู้ตัว แต่หากเราลองนั่งนิ่งๆ หายใจเข้า หายใจออก ความสุขความสำเร็จอาจไม่ใช่เรื่องอนาคต ความเศร้าและความล้มเหลวอาจไม่ใช่เรื่องอดีต ไม่ต้องย้อนกลับ ไม่ต้องคิดไกล เพราะเรารู้ได้เองว่าความจริงมีแค่ตรงนี้ ตอนนี้
ท่านสนใจคำสอนของท่านติช นัท ฮันห์ ในเรื่องใด จึงมาบวชเป็นภิกษุณี
เราได้เจอท่านครั้งแรก เพราะไปเรื่องงานที่ประเทศเยอรมนี แล้วมีโอกาสเข้าร่วมงานภาวนาของท่าน ซึ่งนับว่าเป็นประสบการณ์ที่เปลี่ยนชีวิต เราประทับใจคำสอนเพราะรู้สึกว่ามันง่าย เข้าถึงได้ทุกคน เช่น เรื่อง I have arrived, I’m home. กลับมาแล้ว ถึงบ้านแล้ว ที่ทำให้ตระหนักอยู่เสมอว่าที่นี่ ขณะนี้ แม้จะเป็นเรื่องที่เราเคยเรียนรู้มาบ้าง แต่ด้วยความที่คำสอนของท่านได้ประยุกต์ให้เรียบง่าย ทำให้รู้สึกว่าได้อยู่กับปัจจุบันจริงๆ และสัมผัสกับความสุขที่ลึกซึ้ง พบว่าการปฏิบัติไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร เราไม่ได้ไปเข้าวัดเพราะเราเศร้าหมอง แต่เราไปเพราะมีความสุข ยิ่งไปก็ยิ่งมีความสุข ทำให้กลับมาฝึกปฏิบัติต่อเนื่องเรื่อยๆ จนถึงวันหนึ่งก็ตัดสินใจว่าอยากใช้ชีวิตแบบนี้แหละ เพราะเป็นวิถีชีวิตที่ทำให้เราเข้าถึงความหมายของชีวิตที่แท้จริง
การเข้าถึงความสุขนี้ ไม่ใช่ว่าเราเอาแต่ลั้นลา ลั้นลา โลกเป็นสีชมพู แต่หมายความว่าเราเข้าถึงการฝึกปฏิบัติที่เรียบง่าย และสัมผัสกับความสุขที่อยู่ในปัจจุบันขณะ ไม่พยายามวิ่งตามเพื่อให้ได้อะไรมาสักอย่างหนึ่งอยู่ตลอดเวลา ทั้งชื่อเสียง เงินทอง หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่เราคิดว่ามันจะทำให้เรามีความสุข แล้วก็ได้เยียวยาอะไรก็ตามที่ติดมาจากอดีต ทั้งบาดแผล ความเสียใจ ด้วยการฝึกให้ตัวเองอยู่ในขณะนี้ ทั้งยังทำให้เราเข้าใจความทุกข์ และสามารถแปรเปลี่ยนให้เป็นความสุขที่หอมหวานและงดงามมาก
บางคนอาจจะคิดแบบเหมารวมว่าคนที่ไปปฏิบัติธรรม เพราะเขาเจอเรื่องร้ายๆ ในอดีตและต้องการจะหลีกหนี
ความทุกข์ของพวกเราก็มีกันทุกคน แต่สำหรับเรา การมาบวช คือการได้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ จนถึงวันที่คิดว่าอยากจะดำเนินชีวิตแบบนี้ไปทุกวัน เป็นอีกก้าวที่อยากพัฒนาไป เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นนักบวชหรือฆราวาส เราก็สามารถปฏิบัติได้ เพียงแต่หลายคนในคณะสงฆ์ออกบวชเพราะอยากจะสละทุกอย่างและอยู่ตรงนี้อย่างเต็มที่ 24 ชั่วโมง ปล่อยวางเรื่องที่ยึดติดทางโลก ทุ่มกำลังกายและเวลาทั้งหมดให้กับการเดินตามทางของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น นักบวชจึงเป็นเส้นทางอาชีพอย่างหนึ่ง เป็นวิชาชีพแห่งพระพุทธองค์ ไม่ใช่การหนีเข้าวัดเพราะอกหัก หรือหนีเข้าวัดเพราะมีความทุกข์ เพราะเราเป็นพุทธที่เน้นการปฏิบัติ ต่อให้คุณอยากหนีเข้ามาในหมู่บ้านพลัม คุณก็ต้องปฏิบัติก่อน จนมีจิตที่ตื่นรู้และมีปัญญาอย่างชัดเจน ว่าทำไมอยากจะบวช ไม่ใช่จิตที่หมองเศร้าแล้วอยากเข้ามาอยู่ในชีวิตนักบวช
ถ้าเรามองว่าพุทธศาสนาเป็นการหลีกหนีบางสิ่งบางอย่าง หรือเพียงแค่ทำให้เรารู้สึกดีขึ้น นั่นคือเพียงแค่ระดับหนึ่ง เพียงแค่ผิวเผิน การฝึกปฏิบัติเท่านั้นที่จะทำให้เราแปรเปลี่ยนอย่างแท้จริงได้ และไม่ว่าเราจะบวชหรือเป็นฆราวาส เราก็สามารถอยู่ในวิถีชีวิตที่ตื่นรู้เบิกบาน สามารถช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่นได้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าพอเป็นนักบวชแล้วก็อาจจะมีความพร้อมมากขึ้น เพราะเราไม่มีลูก ไม่มีบ้านที่ต้องคอยผ่อน เรามีบ้านเดียวกันที่ช่วยกันดูแล แล้วเราก็ไม่มีสามีภรรยาที่ต้องเกาะไปด้วยกัน เราเกาะกันไปเป็นสังฆะ ทำอะไรก็ทำไปด้วยกัน ทำให้สะดวก มีเวลา มีอิสระ และมีพลังงานที่จะทุ่มเทให้กับวิชาชีพของพระพุทธองค์ได้เต็มร้อยเท่านั้นเอง
แปลว่าการปฏิบัติธรรมนั้นไม่ใช่การหลีกหนีเลย แต่เป็นการเผชิญหน้ากับตัวเองเสียด้วยซ้ำ หลวงปู่เองก็เคยบอกว่าคนที่มาร่วมปฏิบัติ คือนักปฏิวัติ คือเราเข้าสู่สนามรบของตัวเอง แล้วกล้าเผชิญหน้ากับสิ่งที่อยู่ในตัวเราและสิ่งรอบข้าง กล้าเผชิญ กล้ายอมรับ และแปรเปลี่ยน เขาเรียกว่าทวนกระแส
ในฐานะคนวัยทำงาน นึกไม่ออกเลยว่าคนคนหนึ่งจะสามารถฝึกปฏิบัติธรรม ไปพร้อมกับการทำงานและใช้ชีวิตอันแสนวุ่นวายได้อย่างไร
มีนักบวชหลายท่านที่เข้ามาแล้วก็ยังคิดถึงเรื่องข้างนอก เช่น คิดถึงไก่ทอดเคเอฟซี เพราะเรากินแต่อาหารเจ โดยเฉพาะตอนที่ร่างกายป่วยหรือจิตตก แต่พอเราตระหนักรู้ว่านี่คือกิเลส แล้วพยายามตามลมหายใจ ยิ้มให้กับความคิดนั้น สักพักเดียว เดี๋ยวมันก็เริ่มอ่อนตัวลงไปเอง ฆราวาสก็ฝึกแบบนี้ได้เหมือนกัน เพียงแต่ต้องจัดเวลา จัดสิ่งแวดล้อม เพื่อเข้าถึงวิถีปฏิบัติได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ทุกๆ วัน เราสามารถเข้าถึงสิ่งที่อยู่รอบตัวด้วยสายตาที่แจ่มใสเต็มร้อย สัมผัสกับความสดชื่นของดอกไม้ สัมผัสกับความมั่นคงของขุนเขาอย่างที่มันเป็นอยู่ สิ่งเหล่านี้หล่อเลี้ยงจิตใจของเราได้ ซึ่งถ้าเราปฏิบัติไป ก็จะเห็นว่าชีวิตนั้นเรียบง่าย ลึกซึ้ง และสงบสุข
ในชีวิตประจำวัน มันเหมือนว่าในมือข้างนี้ได้จับของที่งดงาม ดั่งเช่นเพชรที่มีคุณค่า มันให้ความจริงของชีวิต ให้ความสุขสันติอย่างมหาศาล แล้วในมืออีกข้างหนึ่ง เราก็จับอะไรที่ทำให้ร้อน กระวนกระวาย ทำให้หนักใจ พอเรารู้สึกแบบนี้ ถ้าที่ผ่านมา เราไม่เคยได้สัมผัสกับอะไรที่เป็นความสุข เบา เย็นสบายแบบนี้ เราก็จะไปยึดอยู่กับแต่ความร้อน ความหนักอึ้ง แล้วคิดไปเองว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้เรามีความสุข ความสำเร็จ ได้นู่นได้นี่ และนั่นแหละทำให้เราเป็นทุกข์ในชีวิตประจำวัน
เมื่อก่อนเราเคยพยายามแกะความทุกข์ออกจากมือ แต่ทำไม่ได้สักที เพราะต่อให้พยายามแกะออกเท่าไร แต่ในใจก็ยังอยากดึงไว้ เพราะเราไม่เข้าถึงความหมายที่แท้จริงว่าที่ทุกข์คืออะไร แต่เมื่อเราค้นพบสิ่งนี้ด้วยตัวเอง มันทำให้รู้สึกว่าชีวิตนั้นเรียบง่ายมากๆ ถ้าคนหนุ่มสาวได้ฝึกปฏิบัติมาบ้าง เราก็ปล่อยของที่ร้อนไปโดยธรรมชาติเลย ทำไมต้องไปจับอะไรที่มันนำความทุกข์มาให้เรา ในเมื่อเราค้นพบสิ่งที่มันเบาสบาย และเข้าถึงความสุขที่ลึกซึ้งแล้ว
ก่อนหน้านี้ ท่านเคยทำงานเป็นพยาบาลและอยู่ในองค์กรการกุศล ซึ่งน่าจะเป็นงานที่ให้ความสุขและได้ช่วยเหลือคนอยู่แล้ว อยากรู้ว่าความสุขในงานนั้น กับการบวชภิกษุณี ให้ความสุขที่แตกต่างกันอย่างไร
ก่อนจะช่วยเหลือคนอื่น เราก็ควรจะช่วยเหลือตัวเองได้ด้วย เราอาจจะได้ทำงานช่วยเหลือคนจน ทำโครงการอะไรเยอะแยะมากมาย แต่ถ้าไม่ระวัง เมื่อเราประสบความสำเร็จ ก็เกิดมีความหยิ่งทะนงตัว ภูมิใจในตัวเองมากจนเกินไป โดยเฉพาะประเทศเราที่มักจะชื่นชมคนแบบนี้อยู่แล้ว ก็ยิ่งทำให้อัตตาของเราสูง แต่พอกลับมาทบทวนดูก็จะเห็นว่าสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุด คือการเปลี่ยนแปลงที่จิตวิญญาณรากฐานของเราทุกคน ในฐานะที่เรากำลังช่วยคนมากมาย เราอาจจะกำลังเอาเปรียบพวกเขาโดยไม่รู้ตัวก็ได้ เพราะฉะนั้น ต่อให้เราไปช่วยใคร แต่ถ้าไม่ได้แปรเปลี่ยนตัวเองที่รากฐานจิตวิญญาณจริงๆ มันก็ไม่ใช่การช่วยเหลืออย่างแท้จริง ในทางกลับกัน พอเราเข้าใจตัวเอง เราก็จะเริ่มเข้าใจโลก เข้าใจคนรอบข้าง และก็สามารถช่วยเขาได้อย่างสมบูรณ์
ในโลกที่หนุ่มสาวแสวงหาความสำเร็จ การอยู่กับตัวเองในปัจจุบันขณะ จะทำให้เราคิดวางแผน หรือตั้งเป้าหมายในการทำงานได้อย่างไร
สิ่งสำคัญที่เราควรเข้าใจ คือเวลาที่เราฝึกสติและอยู่กับปัจจุบันขณะ ไม่ได้หมายความเราวางแผนอนาคตไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าต้องห้ามคิดทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งทำไม่ได้หรอก มันฝืนธรรมชาติของมนุษย์โดยทั่วไป เพียงแต่เมื่อเราคิด เราต้องรู้ตัวว่ากำลังคิดอยู่ หายใจเข้า… เรากำลังคิดเรื่องนี้อยู่… หายใจออก… เราคิดเรื่องนี้อยู่… รู้ว่าตัวเองอยู่กับขณะนี้เพื่อการทำงานและมีชีวิตอย่างดีที่สุด
ยกตัวอย่างการทำงานของเรา ตอนที่วัดมีประชุมกันเรื่องแผนงานกิจกรรมในอนาคต เรามีแผนเยอะแยะมากมาย และเราก็ต้องอยู่กับปัจจุบันไปด้วย โดยในที่ประชุม เราจะมีนาฬิกาปลุกที่ดังทุกๆ 15 นาที เพื่อเตือนให้ทุกคนหยุดและทบทวนลมหายใจ เพราะบางทีเราประชุมกันแล้วคิดนู่นคิดนี่ คนนู้นจะเอาอย่างนั้น คนนี้จะเอาอย่างนี้ จนเราไม่ได้รับฟังกันอย่างเต็มร้อย พอมีนาฬิกาปลุกแล้วทุกคนก็กลับมาตามลมหายใจ กลับมาฟังกัน คิดทบทวน ดังนั้น เวลาประชุม เวลาทำงาน ก็คือการฝึกปฏิบัติเหมือนกัน เมื่อเรามีสติและสมาธิอยู่ตรงนั้นเต็มร้อย จะช่วยทำให้เกิดปัญญาและความเข้าใจ เมื่อนิ่งพอจะทำให้เราเห็นชัดว่า ในอดีตที่ผ่านมาเราทำแบบนี้ มีเหตุปัจจัยเหล่านี้ แล้วมันทำให้ได้ผลลัพธ์ออกมาดี หรืออีกแง่คือถ้าทำอะไรไม่ดี สติจะช่วยทำให้ระลึกได้ว่าอย่าไปทำอีก
สิ่งสำคัญอีกประการ ด้วยความที่เราอยู่กับปัจจุบันขณะ เราจะไม่วิตกกังวล ไม่เช่นนั้น ถ้าเราไปอยู่แต่ในอนาคตตลอดเวลา เราก็คิดว่า เราจะได้ผลกี่เปอร์เซ็นต์ ได้ผลตามที่คาดไหม เดี๋ยวเจ้านายจะว่าไหม คนจะไม่ชอบเราไหม นี่แหละคือภาวะที่เราหลุดเข้าไปในอนาคต อยู่ในความวิตกกังวล สงสัย ลังเล แล้วมันก็จะทำให้เราวางแผนได้ไม่เต็มที่ เพราะฉะนั้น เมื่อเราอยู่ในปัจจุบันขณะ ก็จะทำให้เราเห็นเหตุปัจจัยต่างๆ ของทั้งอดีตและอนาคตอย่างชัดเจน รวมทั้งมองว่าในปัจจุบันมันมีเงื่อนไขเหตุปัจจัยอะไรอีก ที่จะประกอบกันและทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตนั้นดีที่สุด นี่คือการวางแผนอย่างมีสติ และจะส่งผลดีในอนาคต
ปัญหาของคนเราตอนนี้คือ ส่วนใหญ่เวลาวางแผน เราไม่ได้อยู่กับปัจจุบันขณะ ไม่ได้อยู่ตรงนี้ แต่เรามุ่งไปอยู่ในอนาคตแล้ว มีแต่การคุยกันว่าอีก 5 ปีต้องได้แบบนี้ อีก 10 ปีต้องได้แบบนั้น แต่ทำอย่างไรให้ได้แบบนี้ล่ะ เรามุ่งไปอยู่แต่ตรงนั้น และไขว่คว้ามันอยู่ตลอดเวลา แต่เราก็ไปไม่ถึง เพราะวิ่งตามอยู่ตลอดเวลา แล้วหลงเข้าไปในอนาคต โดยที่ไม่ได้วางแผนเพื่ออยู่กับความเป็นจริงในขณะนี้ เราจึงจำเป็นต้องมีสติ และมีความสามารถในการอยู่กับปัจจุบันขณะ เพื่อเกิดการประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง
แล้วมันจะผิดไหม ถ้าเรานึกถึงอดีตที่หอมหวานแล้วมีความสุข นึกอนาคตที่เต็มไปด้วยความหวังแล้วมีความสุข บางทีการนึกย้อนกลับหรือนึกไปไกลก็ทำให้เราเป็นสุข
ถ้านึกถึงอย่างมีสติก็ไม่ผิดอะไร เพราะไม่ใช่ว่าห้ามคิด แต่ขอให้รู้ตัวว่ากำลังคิดอยู่ อย่างตอนที่หลวงพี่ไปอยู่ฝรั่งเศสใหม่ๆ หลวงพี่ก็คิดถึงเมืองไทยนะ พอเห็นต้นไม้ต้นนี้ก็คิดว่าเราเคยเห็นตอนอยู่ในวัดที่โคราช เห็นต้นนั้นก็คิดว่าเหมือนที่นั่นที่นี่ คนนี้เหมือนคนที่เราเคยเจอที่เมืองไทย ก็คิดถึงเมืองไทยขึ้นมา ซึ่งมันไม่ได้ทำให้หลวงพี่เป็นทุกข์ เพราะพอคิดแล้วก็หายใจเข้า ต้นไม้ต้นนี้เหมือนที่เมืองไทยเลย พอคิดแล้วหายใจออก เมืองไทยอยู่กับฉันตรงนี้แล้ว ดังนั้น ก็ไม่ต้องซื้อตั๋วบินกลับบ้าน บ้านอยู่ตรงนี้ คือถ้าเราคิดอย่างมีสติ ความงดงามเหล่านี้ก็ช่วยหล่อเลี้ยงปัจจุบันของเรา
แต่ถ้าเราไม่มีสติ คิดถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้ด้วยความยึดติด โอยๆ ฉันไม่มีสิ่งนั้นอีกแล้ว ฉันไม่ได้อยู่ในบรรยากาศนั้นอีกแล้ว เสียดายที่ตอนนี้ฉันไม่ได้อยู่ตรงนั้น นี่เป็นตัวอย่างของการคิดอย่างไม่มีสติ แต่ถ้าเรารู้ว่าทุกอย่างยังอยู่ในเราเสมอ เพียงแค่ตามลมหายใจและอยู่กับปัจจุบัน เราก็กลับไปเยี่ยมอดีตได้ โดยอยู่ในปัจจุบันนะ (เน้นเสียง) เหมือนเรือในมหาสมุทรที่มีสมอเรือหย่อนลงไป มันก็จะยึดเรือไว้ตรงนั้น ถ้ามีมรสุมก็อาจจะแค่โคลงเคลง แต่จะไม่ถูกพัดลอยไปกับมรสุม สติก็เช่นกัน เรื่องอนาคตก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่มีสติอยู่กับปัจจุบัน เราก็อาจจะคิดไปไกลๆ ด้วยความหวังแบบลมๆ แล้งๆ แต่ถ้าเรามองปัจจุบันอย่างมีสติ เราก็จะมองอนาคตอย่างสมเหตุสมผล อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง
.....มีต่อ