บารมี 6 : จริยศาสตร์ภาคปฏิบัติการของพระโพธิสัตว์การบำเพ็ญบารมีเป็นหลักจริยศาสตร์ของพระโพธิสัตว์ที่มุ่งพระโพธิญาณ บารมีธรรมที่พระโพธิสัตว์ควรบำเพ็ญให้บริบูรณ์จึงจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า มีทั้งหมด 6 บารมีธรรม คือ ทานบารมี ศีลบารมี กษานติบารมี(ขันติบารมี)วิริยบารมี สมาธิบารมี และปัญญาบารมี ดังที่ ลังกาวตารสูตร กล่าวว่า “ความเป็นพระพุทธเจ้าจะบรรลุได้ก็ด้วยการบำเพ็ญบารมีธรรมทั้ง 6 ให้บริบูรณ์” อัษฏสาหสริกาปรัชญาปารมิตา กล่าวว่า บารมี 6 เหล่านี้ เป็นกัลยาณมิตรของพระโพธิสัตว์ เป็นครู เป็นทางเดิน เป็นแสงสว่าง เป็นคบเพลิง เป็นดวงประทีป เป็นที่พักพิง เป็นที่พึ่งพา เป็นที่พักผ่อน เป็นสิ่งบรรเทาทุกข์ เป็นเกาะ เป็นมารดา เป็นบิดา และช่วยให้พระโพธิสัตว์ได้เข้าใจตามเป็นจริง จนได้ตรัสรู้ในที่สุด
พระสูตรมหายานแทบทั้งหมด ต่างพรรณนาถึงความสำคัญของบารมีเหล่านี้ และภายหลังได้เพิ่มเข้ามาอีก 4 บารมีคือ อุปายบารมี ปณิธานบารมี พลบารมี และญาณบารมี และเมื่อรวมกับของเดิมจะมีบารมีธรรม 10 บารมีด้วยกัน บารมีเหล่านี้ต่างสนับสนุนกันและกัน แต่ละข้อมีความสัมพันธ์กันและเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความสมบูรณ์ของชีวิต
ซึ่งก็คล้ายกับของฝ่ายเถรวาท
บารมี 10 หรือ ทศบารมี (ปฏิปทาอันยวดยิ่ง, คุณธรรมที่ประพฤติปฏิบัติอย่างยิ่งยวด คือ ความดีที่บำเพ็ญอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุซึ่งจุดหมายอันสูง เช่น ความเป็นพระพุทธเจ้า และความเป็นมหาสาวก เป็นต้น — perfections)
1. ทาน (การให้ การเสียสละ — giving; charity; generosity; liberality)
2. ศีล (การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย, ความประพฤติดีงามถูกต้องตามระเบียบวินัย — morality; good conduct)
3. เนกขัมมะ (การออกบวช, ความปลีกตัวปลีกใจจากกาม — renunciation)
4. ปัญญา (ความรอบรู้, ความหยั่งรู้เหตุผล เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง — wisdom; insight; understanding)
5. วิริยะ (ความเพียร, ความแกล้วกล้า ไม่เกรงกลัวอุปสรรค พยายามบากบั่นอุตสาหะ ก้าวหน้าเรื่อยไป ไม่ทอดทิ้งธุระหน้าที่ — energy; effort; endeavour)
6. ขันติ (ความอดทน, ความทนทานของจิตใจ สามารถใช้สติปัญญาควบคุมตนให้อยู่ในอำนาจเหตุผล และแนวทางความประะพฤติ ที่ตั้งไว้เพื่อจุดหมายอันชอบไม่ลุอำนาจกิเลส — forbearance; tolerance; endurance)
7. สัจจะ (ความจริง คือ พูดจริง ทำจริง และจริงใจ — truthfulness)
8. อธิษฐาน (ความตั้งใจมั่น, การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว วางจุดหมายแห่งการกระทำของตนไว้แน่นอน และดำเนินตามนั้นแน่วแน่ — resolution; self-determination)
9. เมตตา (ความรักใคร่, ความปรารถนาดี มีไมตรี คิดเกื้อกูลให้ผู้อื่นและเพื่อนร่วมโลกทั้งปวงมีความสุขความเจริญ — loving-kindness; friendliness)
10. อุเบกขา (ความวางใจเป็นกลาง, ความวางใจสงบราบเรียบสม่ำเสมอ เที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงไปด้วยความยินดียินร้ายชอบชังหรือแรงเย้ายวนยั่วยุใดๆ — equanimity; indifference to praise and blame in the performance of duty)
บารมี 6 ของพระโพธิสัตว์ มีดังนี้
1. ทานบารมี
พระพุทธศาสนาเน้นคุณธรรมเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้อื่น เช่น เมตตา กรุณา และทานเป็นพิเศษ จนเห็นว่าแตกต่างจากศาสนาอื่น ๆ ในอินเดียยุคเดียวกัน การให้หรือทานในที่นี้จึงมีนัยที่น่าพิจารณาอย่างน้อย 2 ประการคือ 1) เพื่อสลัดความเห็นแก่ตัว สร้างความอ่อนโยนให้กับจิตใจ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำหรับคุณธรรมขั้นสูงต่อไป และ 2) แสดงว่าในสังคมมีคนยากจนที่ควรแก่การได้รับความช่วยเหลือ และมีผู้ที่ทำประโยชน์แก่สังคม เช่น นักบวช บุคคลเช่นนี้ไม่มีอาชีพ หากได้รับการอุปถัมภ์แล้ว จะทำหน้าที่ของตนได้อย่างดี เมื่อมหายานอุบัติขึ้นมา ได้รับเอาทานบารมีที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกมาเป็นบารมีธรรมข้อหนึ่งของพระโพธิสัตว์ด้วย พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีข้อนี้จะมีสภาพจิตใจกว้างขวาง เผื่อแผ่ไปยังผู้ขัดสนและตกทุกข์ได้ยากทั้งมวล ดังที่คัมภีร์โพธิจรรยาวตารกล่าวว่า
พระโพธิสัตว์ปรารถนาที่จะเป็นยาและเป็นแพทย์รักษาผู้เจ็บป่วยให้หายป่วย ปรารถนาที่จะเป็นอาหารและน้ำให้ผู้อดอยากหิวโหยได้ดื่มกิน ทั้งในยามปกติและเมื่อคราวประสบทุพภิกขภัย ปรารถนาเป็นขุมทรัพย์ที่ไม่มีวันหมดสำหรับคนขัดสนสิ้นเนื้อประดาตัว และเป็นแหล่งบรรเทาทุกข์อื่น ๆ สำหรับผู้ต้องการความช่วยเหลือ
นอกจากการให้วัตถุสิ่งของแล้ว แม้ผลแห่งกรรมดีที่ได้กระทำลงไปทั้งในอดีต ปัจจุบัน และก็อนาคต พระโพธิสัตว์ก็ยินดีสละให้ หากจะช่วยให้ผู้รับพ้นจากความทุกข์ ซึ่งนับว่าแตกต่างพระพุทธศาสนายุคแรกที่สอนว่า ทุกคนต่างมีกรรมเป็นของตน ไม่สามารถจะโอนถ่ายไปยังผู้อื่นได้ แต่เป็นเพราะรักในพระโพธิญาณ พระโพธิสัตว์จึงยอมเสียสละทุกอย่างแม้กระทั่งผลกรรมดีของตนให้ผู้อื่น อย่างไรก็ดี เช่นเดียวกับเถรวาท มหายานถือว่าทานที่ล้ำเลิศยิ่งกว่าทานทั้งปวงคือ ธรรมทานดังพระสูตรที่แปลเป็นภาษาจีนกล่าวไว้ดังนี้
อุบายที่ต่ำ (อนุปาย) คืออะไร พระโพธิสัตว์ขณะที่บำเพ็ญทานบารมี ให้การช่วยเหลือผู้อื่นด้วยวัตถุสิ่งของอย่างเดียว แต่ไม่เคยยกพวกเขาจากความชั่วให้เข้าใจอรรถ เข้าใจธรรม นี้คืออุบายที่ต่ำ
ทำไม? เพราะการช่วยเหลือด้วยวัตถุยังไม่นับว่าเป็นการช่วยเหลือจริง ๆ มูลสัตว์ไม่ว่ากองใหญ่หรือเล็ก อย่างไรเสียก็ย่อมส่งกลิ่นเหม็นอยู่วันยังค่ำ นัยเดียวกัน เหล่าสัตว์ล้วนประสบความทุกข์จากรรมและพื้นเพอุปนิสัยของตน เป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้พวกเขามีความสุขด้วยการป้อนวัตถุให้อย่างเดียว วิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยเหลือพวกเขาคือการให้ธรรม (อ้างใน Lubac, 1953 : 24)
กล่าวโดยสรุป แนวคิดเรื่องทานบารมีเป็นของพระพุทธศาสนายุคแรก เพียงแต่มหายานได้นำมาเน้นเป็นพิเศษ
2. ศีลบารมี
ศีลหมายถึงปกติหรือการประพฤติที่อยู่ในครรลองคลองธรรม ในพระไตรปิฎกของเถรวาทมักมาร่วมกับสมาธิและปัญญาที่เป็นหลักไตรสิกขา พระพุทธโฆษาจารย์แบ่งศีลออกเป็น 2 ประการคือ วารีตศีล ได้แก่ข้อห้าม และจารีตศีล ได้แก่ ข้ออนุญาต (วิสุทธิมรรคแปล ภาค 3 ตอน 1 ; 2536 : 22) วัตถุประสงค์ของศีล คือ การรักษาตนเองเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น (æikŒ±samuccaya, 1960 : 23) ด้วยอำนาจของศีล กิเลสอย่างหยาบจะอยู่ภายใต้การควบคุม อย่างน้อยก็ชั่วคราว ส่วนประเภทของศีลมีแตกต่างกันไปตามภูมิของผู้ปฏิบัติ เช่น ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 วินัย 227 ข้อ สำหรับพระภิกษุ และ 250 ข้อ สำหรับภิกษุณี ศีลเหล่านี้ปรากฏในพระไตรปิฎกของพระพุทธศาสนายุคแรก สำหรับมหายานได้แก้ไขดัดแปลงไปบ้าง และขณะที่ยังคงสาระสำคัญเดิมไว้ พระโพธิสัตว์อาจละเมิดศีลได้ หากพิจารราแล้วว่าจะเป็นการแสดงความเมตตาและความกรุณาต่อผู้อื่น (The Bodhic±ryavat±ra, 2004-2007 : V. 84) โพธิสัตวภูมิได้แสดงว่า เหตุการณ์ใดบ้างที่พระโพธิสัตว์อาจละเมิดศีลได้ แต่ทุกสถานการณ์จะต้องเกี่ยวข้องกับความเมตตาและความกรุณา ต้องการช่วยเหลือผู้อื่นทั้งสิ้น ฉะนั้น พระโพธิสัตว์อาจปลิดชีวิตทุรชนที่กำลังจะก่อกรรมทำเข็ญ ฆ่าพระอรหันตสาวก พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ โดยตั้งเจตนาดังนี้ว่า ผลจากการกระทำนี้ แม้จะทำให้ต้องตกนรกหมกไหม้ก็ไม่เป็นไร เพราะจะทำให้มีโอกาสได้ช่วยเหลือสัตว์นรกต่อไป พระโพธิสัตว์อาจยึดทรัพย์สมบัติที่ได้มาโดยทุจริตของพระราชา เสนาบดี และของอาชญากรที่ก่อกรรมทำเข็ญแก่ประชาชนแล้วนำมาอุปถัมภ์บำรุงพระศาสนา อาจมีเพศสัมพันธ์กับหญิงสาวเพื่อหันเหหล่อนจากการกระทำอันชั่วร้าย อาจพูดคำหยาบเพื่อตักเตือนและป้องกันไม่ให้คนชั่วประพฤติบาปอกุศล อาจพูดเท็จเมื่อจำเป็นต้องช่วยเหลือผู้อื่น อาจมีส่วนร่วมในกิจกรรมบันเทิงทางโลกเพื่อผ่อนคลายทุกข์โศกของมหาชน และกิจกรรมอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน (Asangap±da’s Yog±c±rabh³mi, 1966 : 112-116) ข้อผ่อนคลายในศีลเหล่านี้เป็นที่ตั้งข้อสังเกตของนักปราชญ์พระพุทธศาสนาสมัยต่อมาว่า จะไม่มีหลักจริยธรรมสากลที่ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ และเป็นที่มาของความประพฤติย่อหย่อนของบรรพชิตมหายานบางกลุ่มในนามของ “ความเมตตากรุณาต่อผู้อื่น” ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำหรับพัฒนาการแบบพุทธตันตรยานในสมัยต่อไป
3. กษานติบารมี
บารมีธรรมข้อที่ 3 คือ กษานติบารมี กษานติ แปลว่า อดทน เป็นธรรมที่เป็นข้าศึกต่อโทสะและความพยาบาท พระธรรมบทขุททกนิกาย กล่าวว่า “ความอดทนเป็นตบะอย่างยิ่งยวด” (พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา, เล่มที่ 25, 2530 : 58) ศึกษาสมุจจัย แบ่งความอดทนออกเป็น 3 ชนิดคือ 1) อดทนต่อความทุกข์ 2) อดทนต่อคำสอน และ 3) อดทนต่อความเจ็บปวดและการดูถูกเหยียดหยาม (æikŒ±samuccaya, 1960 : 100) ความทุกข์มีอยู่ในสังสารวัฏ ควรที่ทุกคนจะเผชิญหน้ากับมันด้วยความกล้าหาญ นอกจากนั้น ความทุกข์ยังช่วยให้เจริญก้าวหน้าในธรรมหลายประการ เช่น ทำให้ไม่ประมาทมัวเมาในชีวิต ทำให้รู้จักเห็นใจผู้อื่น และเพิ่มพูนศรัทธาในพระพุทธเจ้า เป็นต้น อนัตตา เป็นคำสอนสำคัญในพระพุทธศาสนา สำหรับสามัญชนที่มีปกติยึดถือในตัวตนแล้วยากที่จะเข้าใจได้ จะต้องอาศัยการศึกษาอบรมและพอกพูนเพาะบ่มอุปนิสัยด้วยความอดทนจึงจะเข้าใจได้ ส่วนความอดทนข้อที่สามหมายถึงความอดกลั้นต่อคำด่าว่า และการทำร้ายทุบตีของผู้อื่น ไม่ถือโทษโกรธตอบและพร้อมที่จะให้อภัย เป็นการแสดงความรักและความเมตตาตอบแทน ทั้งนี้เพราะพิจารณาเห็นว่า ผู้ที่กำลังด่าว่าทำร้ายตนนั้น ในอดีตชาติ อาจเป็นมิตรสหาย ญาติพี่น้องหรือครูอาจารย์กันมาก่อน จริง ๆ แล้ว ไม่มีผู้ด่าและผู้ถูกด่า ทุกอย่างสักว่าแต่เป็นธาตุ จึงไม่มีประโยชน์อะไรจะต้องโกรธ เพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน เพราะต่างร่วมชะตากรรมเดียวกันทั้งหมด
4. วิริยบารมี
วิริยะ คือความขยันและกล้าหาญ คำสอนของพระพุทธเจ้า นอกจากจะเป็น “กรรมวาที” แล้ว ยังเป็น “วิริยวาที” อีกด้วย ซึ่งหมายความว่า การจะบรรลุจุดหมายสูงสุดทางศาสนานั้น ต้องอาศัยความเพียรพยายาม ไม่ใช่อาศัยความเกียจคร้าน วิริยะหรือความเพียรอย่างไม่ย่อท้อ จึงจำเป็นต่อการบรรลุพระโพธิญาณ นอกจากจะมั่นคงไม่เบื่อหน่ายในเป้าหมายแล้ว ผู้บำเพ็ญวิริยบารมีจะต้องเพียรป้องกันตนเองจากบาปอกุศลต่าง ๆ ด้วย จะหักห้ามใจตนเองจากความเพลิดเพลินในกาม เพราะกามสุข เป็นเสมือนหนึ่งคมมีดอาบน้ำผึ้ง ที่พร้อมจะบาดผู้ที่หลงระเริงดื่มกินได้ทุกเมื่อ พระโพธิสัตว์จะกระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความระมัดระวังรอบคอบเสมอ แต่เมื่อได้ตัดสินใจกระทำสิ่งใดแล้ว จะทำด้วยความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อจนกว่าจะบรรลุผลสำเร็จ (The Bodhic±ryavat±ra, 2004-2007 : VII. 47)
5. สมาธิบารมี
หลังจากบำเพ็ญวิริยบารมีจนเต็มกำลังแล้ว พระโพธิสัตว์ควรทำใจให้สงบ การสั่งสมบารมีของพระโพธิสัตว์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเมตตากรุณาต่อผู้อื่นอย่างเดียว แต่ความสงบภายในตน ไม่ว่าจะเป็นกายวิเวก จิตวิเวก และอุปธิวิเวก พระโพธิสัตว์ต้องสั่งสมให้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์เช่นกัน เพราะความสุขสงบภายในตน ย่อมทำให้เข้าใจธรรม เอาชนะกิเลสในใจตนและมองเห็นความเท่าเทียมกันระหว่างตนกับผู้อื่น ช่องทางการทำใจให้สงบมี 2 ประการคือ สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา อารมณ์ของทั้ง 2 ภาวนา จะทำให้เกิดดวงปัญญา และคลายความลุ่มหลงมัวเมาในกามและสมบัติทางโลกทั้งมวล
6. ปัญญาบารมี
ปัญญาคือความเห็นแจ้งในกุศลและอกุศล ซึ่งถือว่าเป็นบูรณาการขั้นสุดท้ายของทุกบารมีดังกล่าวมาแล้ว “พระตถาคตเจ้าทรงตรัสรู้และทรงได้รับพระสมยานามเช่นนั้นก็ด้วยพระปัญญาบารมี” จะเห็นว่าปัญญาบารมีที่เต็มเปี่ยมยังประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่เทพและมนุษย์ทั้งหลาย ดังที่อัษฏสาหสริกาปรัชญาปารมิตา กล่าวว่า
มารและเสนามารจะไม่สามารถทำร้ายผู้บำเพ็ญปัญญาบารมีได้เลย... ผู้บำเพ็ญปัญญาบารมีเป็นผู้องอาจแกล้วกล้าท่ามกลางบริษัท 4 ไม่มีอาการประหวั่นพรั่นพรึงต่อคำถามของผู้ประสงค์ร้าย... เป็นที่รักของมารดา บิดา มิตรสหาย ญาติพี่น้อง และสมณพราหมณ์ทั้งปวง... สามารถข่มเสียซึ่งคำถามและคำตอบของปรวาทีด้วยวิถีแห่งธรรมะ (AŒµas±hasrika – Prajñ±p±rmit±, 1958 : 109-110)
ความรู้ที่พระโพธิสัตว์ได้ตรัสรู้ ได้แก่ อนัตตา กล่าวคือสิ่งทั้งหลายดำรงอยู่ในสภาพศูนย์ ประเด็นที่น่าสนใจของบารมีธรรมทั้ง 6 สามารถสรุปได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้
ความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์เป็นศูนย์กลางของทุกบารมีธรรม นี้คือเหตุผลว่าทำไมคำสอนของมหายานจึงให้ความสำคัญแก่สังคมเป็นอันดับแรก และทำให้ละเมิดศีลได้หากจะเป็นการช่วยเหลือผู้อื่น ธรรมเนียมปฏิบัติอย่างเข้มงวดแบบนักบวชของพระพุทธศาสนายุคแรกได้ผ่อนคลายลง แม้ว่าหลักกรุณาจะเป็นคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนายุคแรกเช่นกัน แต่ท่าทีที่ไม่เห็นด้วยกับการคลุกคลีอันไม่สมควรกับคฤหัสถ์ ดูเหมือนว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการนำคำสอนนี้ไปสู่ภาคปฏิบัติให้เป็นอุดมการณ์ทางสังคม มหายานสามารถแก้ไขภาวะขัดแย้งนี้ด้วยการสอนเรื่องสังสารวัฏและนิพพานว่าเป็นคนละด้านของเหรียญเดียวกัน ฉะนั้น นิพพานสามารถบรรลุได้ด้วยจริยธรรมเชิงบวก ซึ่งในที่นี้คือความกรุณาที่มีมิติทางสังคม
การเมตตาต่อผู้อื่นก็เช่นกัน ให้ผลดีต่อคุณภาพชีวิตอย่างยิ่ง เพราะหมายถึงการขจัดความโกรธและความพยาบาทออกจากจิตใจ ช่วยบรรเทาความเครียด และมีชีวิตอย่างผาสุก ผลลัพธ์คือบุคลิกภาพอันสงบเยือกเย็นของผู้มีคุณธรรมข้อนี้ แต่มหายานได้ทำให้คุณธรรมข้อนี้มีลักษณะทางสังคม ด้วยหลักมหากรุณาดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
อาศัยความกรุณาต่อผู้อื่นเป็นอันดับแรก แม้กระทั่งว่าสามารถถ่ายโอนความดีของตนให้ผู้อื่นได้ ซึ่งตรงข้ามกับคำสอนของพระพุทธศาสนายุคแรก จริยธรรมดังกล่าวนี้ทำให้มหายานเป็นที่สะดุดใจของประชาชน โดยเฉพาะระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 7-12
มหายานยังคงวิถีชีวิตแบบบรรพชิตไว้ได้โดยเฉพาะ 2 บารมีธรรมข้อสุดท้ายจะเห็นว่ามีลักษณะเป็นปัจเจก และตัดขาดจากกิจกรรมทางโลก ข้อนี้แสดงให้เห็นว่าขณะที่มหายานทำให้พระพุทธศาสนาเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม และแพร่หลายไปอย่างกว้างขวางนั้น มหายานยังคงอภิปรัชญาของพระพุทธศาสนาไว้ได้ ฉะนั้น หลักบารมีธรรมของพระโพธิสัตว์จึงเป็นหลักเชื่อมวิถีชีวิตแบบฆราวาส และแบบบรรพชิตเข้าด้วยกัน และทำให้พระพุทธศาสนาไม่เป็นกิจกรรมของบรรพชิตแต่อย่างเดียว แต่เป็นของฆราวาสด้วย ตัวอย่างนี้สามารถหาดูได้จากมหายานใน จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ธิเบต เนปาล ภูฐาน และไต้หวันในปัจจุบัน หรือในประเทศไทย เช่นกิจกรรมขององค์กรการกุศลของชาวไทยเชื้อสายจีน เช่นมูลนิธิร่วมกตัญญูและป่อเต็กตึ๊ง เป็นต้น
Cr.บ้านจอมยุทธ